คณะกรรมาธิการสามัญ
ผู้เรียบเรียง : นิพัทธ์ สระฉันทพงษ์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร พันธุ์เปรื่อง
กรรมาธิการ คือ บุคคลที่สภาแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ประกอบเป็นคณะกรรมาธิการเพื่อทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมาย กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวนหรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภา เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่ของสภา บุคคลเหล่านี้อาจจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรืออาจเป็นบุคคลธรรมดาทั่วไปที่มิได้เป็นสมาชิกสภาก็ได้ [1]
กรรมาธิการนี้จะทำงานกันเป็นคณะ ประกอบด้วยบุคคลตามจำนวนที่สภากำหนดและเมื่อคณะกรรมาธิการดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายเสร็จแล้ว ต้องรายงานต่อสภาเพื่อทราบหรือเพื่อมีมติตามกฎหมายต่อไป[2]
จุดเริ่มต้นของระบบกรรมาธิการไทยเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 มาตรา 26 บัญญัติว่า “สภามีอำนาจตั้งอนุกรรมการเพื่อทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือให้สอบสวนพิจารณาทำความเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นเสนอต่อที่ประชุมใหญ่เพื่อปรึกษาหารือตกลงอีกชั้น อนุกรรมการมีอำนาจเชิญบุคคลใด ๆ มาชี้แจงแสดงความเห็นได้ อนุกรรมการและผู้ที่เชิญมาได้รับสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ผู้หนึ่งผู้ใด จะว่ากล่าวฟ้องร้องมิได้ ”[3]
คณะกรรมาธิการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ประกอบกับข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2553 และข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 สามารถจำแนกประเภทของคณะกรรมาธิการตามคุณสมบัติของบุคคลที่ประกอบขึ้นเป็นคณะกรรมาธิการและตามกิจกรรมที่ได้รับมอบหมายให้กระทำได้เป็น 6 ประเภท คือ 1. คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภา 2. คณะกรรมาธิการวิสามัญ 3. คณะกรรมาธิการร่วมกัน 4. คณะกรรมาธิการเต็มสภา 5. คณะกรรมาธิการร่วมกันของรัฐสภา 6. คณะกรรมาธิการตามมาตรา 121 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อตรวจสอบประวัติความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง เช่น กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น [4]
สำหรับคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภา คือ คณะบุคคลที่สภาเลือกและแต่งตั้งขึ้นจากบุคคลผู้เป็นสมาชิกของสภานั้นเท่านั้น กล่าวคือ ถ้าเป็นคณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎรก็จะแต่งตั้งจากผู้ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ส่วนคณะกรรมาธิการสามัญของวุฒิสภา ก็จะแต่งตั้งจากผู้ซึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาเท่านั้น และถ้าเป็นคณะกรรมาธิการสามัญสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็จะแต่งตั้งจากผู้ซึ่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเท่านั้น คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาจะตั้งไว้เป็นการถาวรตลอดอายุของแต่ละสภา
คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภามีหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมาย กระทำกิจการ หรือพิจารณาสอบสวนหรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาแล้วรายงานต่อสภา[5]
ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญขึ้น 35 คณะ แต่ละคณะประกอบด้วยกรรมาธิการมีจำนวน 15 คน คือ
1. คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามแนวนโยบายด้านกฎหมาย การยุติธรรม สิทธิมนุษยชนและ การคุ้มครองสิทธิชุมชนในกระบวนการยุติธรรม
2. คณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาระบบและปรับปรุงการดำเนินกิจการของสภาผู้แทนราษฎร คำร้องเรียน ข้อเสนอแนะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประชาชนในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการของสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งเรื่องใด ๆ ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรและองค์กรรัฐสภาระหว่างประเทศ ตลอดจนตรวจสอบรายงานการประชุมพิจารณาให้ความเห็นเกี่ยวกับการเปิดเผยรายงาน การประชุมลับ และติดตามผลการปฏิบัติตามมติของสภาผู้แทนราษฎร
3. คณะกรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินงาน ของหน่วยงานขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งการบริหารจัดการ ขององค์การมหาชน และกองทุนต่าง ๆ
4. คณะกรรมาธิการกิจการชายแดนไทย มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาและการพัฒนาชายแดนไทย
5. คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุและผู้พิการ มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุและผู้พิการ รวมทั้งประสานกับองค์กรภายในประเทศ ต่างประเทศ ประชาคมนานาชาติเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือ เพื่อแก้ปัญหาและส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
6. คณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับหนี้สินทุกระดับ ได้แก่ ปัญหาหนี้สินของประเทศ หนี้สินภาคธุรกิจ หนี้สินภาคอุตสาหกรรมหนี้สินข้าราชการตลอดจนหนี้สินเกษตรกร
7. คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาการเกษตร การสหกรณ์ การพัฒนาการผลิต และการตลาด
8. คณะกรรมาธิการการคมนาคม มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการคมนาคมทั้งการจราจรทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ทางอวกาศ การขนส่งมวลชน การขนส่งสินค้า และการพาณิชย์นาวี
9. คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ โดยเฉพาะปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง ทั้งเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งการส่งเสริม สนับสนุน และการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับดินแดนและความมั่นคงของประชาชน
10. คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งปัญหาความเดือดร้อนของผู้บริโภค
11. คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการเงิน การคลัง การธนาคาร ตลาดเงิน ตลาดทุน และสถาบันการเงินของประเทศ
12. คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการต่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ภาพลักษณ์ของประเทศ รวมทั้งกระทำกิจการทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับชาวไทยซึ่งตั้งถิ่นฐานหรือไปประกอบอาชีพในต่างประเทศ
13. คณะกรรมาธิการการตำรวจ มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับกิจการตำรวจ การปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย การป้องกัน และรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ
14. คณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลในด้านงบประมาณติดตามและประเมินผลการรับการใช้จ่ายเงินงบประมาณประจำปีของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ
15. คณะกรรมาธิการการทหาร มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการพิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับกิจการทหาร การป้องกัน การรักษาความมั่นคง และการพัฒนาประเทศ
16. คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยวและกีฬา มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการพิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริม สนับสนุน การแก้ไขปัญหาอุปสรรค และการพัฒนาการท่องเที่ยวและการกีฬาของไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ
17. คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการใช้ที่ดิน การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนการส่งเสริม บำรุงรักษา และคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อม
18. คณะกรรมาธิการการปกครอง มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินส่วนกลางและส่วนภูมิภาค การพัฒนาระบบราชการและการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง
19. คณะกรรมาธิการการปกครองส่วนท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารราชการและการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
20. คณะกรรมาธิการการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด
21. คณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการและมาตรการการป้องกันภัยธรรมชาติและสาธารณภัย การแจ้งเตือนภัยพิบัติธรรมชาติ รวมทั้งติดตามการให้ความช่วยเหลือและดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยดังกล่าว
22. คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการและมาตรการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ
23. คณะกรรมาธิการการพลังงาน มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารการพัฒนา การจัดหา การใช้การอนุรักษ์พลังงาน และผลกระทบจากการจัดหาและการใช้พลังงาน
24. คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน การส่งเสริมและเผยแพร่การเมืองการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข วิถีคิดและวิถีปฏิบัติที่เป็นประชาธิปไตย รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ส่งเสริมการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน เสรีภาพและความรับผิดชอบในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน การคุ้มครองผู้เสียหายจากการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมือง และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ
25. คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับผลกระทบต่อการเศรษฐกิจของชาติ ธุรกิจภาคเอกชน ประชาชน สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศ และเศรษฐกิจของภูมิภาคต่าง ๆ ในสังคมโลกที่อาจส่งผลกระทบ ต่อเศรษฐกิจของไทย รวมทั้งนโยบายและแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐ
26. คณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการค้าการส่งออก ดุลการค้า ลิขสิทธิ์ ตราสาร ทะเบียน การประดิษฐ์หรือการค้นคิดเพื่อให้เกิดความรู้ใหม่และพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นและภูมิปัญญาไทย รวมทั้งการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
27. คณะกรรมาธิการการแรงงาน มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการแรงงานไทยและแรงงานด่างด้าวในประเทศ รวมทั้งแรงงานไทยในต่างประเทศ
28. คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
29. คณะกรรมาธิการส่งเสริมราคาผลิตผลเกษตรกรรม มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมราคาผลิตผลทางการเกษตรให้สามารถ คุ้มต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกรทุกประเภท และสามารถแข่งขันได้ในตลาดการค้า ตลอดจนมีความมั่นคงอย่างยั่งยืนในอาชีพ
30. คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการอุปถัมภ์ทำนุบำรุงและคุ้มครองศาสนาและโบราณสถาน การอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปะ ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น วัฒนธรรมประชาธิปไตย ภูมิปัญญาชาวบ้าน เอกลักษณ์ และแบบวิถีชีวิตไทย
31. คณะกรรมาธิการการศึกษา มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษา การพัฒนาการศึกษาของชาติ และการส่งเสริมวัฒนธรรมประชาธิปไตย รวมทั้งแนวทางการปรับฐานการเรียนรูของประชาชนสู่โลกยุคโลกาภิวัฒน์
32. คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการจัดสวัสดิการสังคมไม่น้อยกว่าสิทธิขั้นพื้นฐาน การสงเคราะห์ ดูแล เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะผู้ยากไรในเมืองและชนบท และผู้ด้อยโอกาสในสังคม
33. คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการแพทย์ การสาธารณสุข ในด้านการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสุขภาพตลอดจนการพัฒนาสุขภาพอนามัยของประชาชนและชุมชน
34. คณะกรรมาธิการการสื่อสารและโทรคมนาคม มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับกิจการสื่อสาร สารสนเทศ และโทรคมนาคม
35. คณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งศึกษาผลกระทบอันเกิดจากอุตสาหกรรม
หากมีความจำเป็นจะตั้งคณะกรรมาธิการสามัญคณะอื่นเพิ่มขึ้นอีกเมื่อใดก็ได้ สมาชิกคนหนึ่งจะดำรงตำแหน่งกรรมาธิการสามัญได้ไม่เกิน 2 คณะ[6]
ส่วนข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 กำหนดให้วุฒิสภาตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาขึ้นเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาหรือตามที่วุฒิสภามอบหมาย
คณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาแต่ละคณะประกอบด้วย กรรมาธิการจำนวนไม่น้อยกว่า 9 คน แต่ไม่เกิน 15 คน และให้มีจำนวน 22 คณะ คือ
1. คณะกรรมาธิการการกีฬา มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการกีฬาของชาติ รวมทั้งศึกษาปัญหาและอุปสรรคของการพัฒนาการกีฬาของไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
2. คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาเกษตรกรรม อุตสาหกรรมการเกษตร อาหาร การสหกรณ์การพัฒนาการผลิต การแปรรูป และธุรกิจการเกษตร แนวทางการแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการพัฒนาการเกษตร อาหาร การสหกรณ์ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
3. คณะกรรมาธิการการคมนาคม มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการคมนาคม ทั้งการจราจรทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ทางอวกาศ การขนส่งมวลชน การขนส่งสินค้า การพาณิชยนาวี และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
4. คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการเงิน การคลัง การธนาคาร ตลาดเงิน ตลาดทุน สถาบันการเงิน ของประเทศ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
5. คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับการต่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คนไทยโพ้นทะเลสถานการณ์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นอันอาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ รวมทั้งภาพลักษณ์ ของประเทศและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
6. คณะกรรมาธิการการทหาร มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับกิจการทหาร การป้องกัน การรักษาความมั่นคง การปกป้องผลประโยชน์ของชาติ การพัฒนาประเทศ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
7. คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว รวมทั้งศึกษาปัญหาและอุปสรรคของการพัฒนาการท่องเที่ยวของไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
8. คณะกรรมาธิการการปกครอง มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงการปกครองรูปแบบพิเศษ การพัฒนาระบบราชการ การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง การกระจายอำนาจ พิจารณาศึกษานโยบายในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน การป้องกันบรรเทาสาธารณภัย และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
9. คณะกรรมาธิการการพลังงาน มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการบริหาร การส่งเสริมพัฒนาการจัดหา การใช้การอนุรักษ์พลังงานการแสวงหาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก การศึกษาผลกระทบและแนวทางการแก้ไขปัญหาอุปสรรคจากการจัดหาและการใช้พลังงาน ความมั่นคงด้านพลังงาน และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
10. คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการเมืองและการดำเนินการอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคม และการเมือง และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
11. คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งประสานกับองค์กรภายในประเทศ ต่างประเทศ ประชาคมภายในประเทศและนานาชาติ และองค์กรปกครองท้องถิ่นเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส การส่งเสริมศักยภาพของชุมชนด้านการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ การคุ้มครองและดูแล ผู้ยากไร้ การพัฒนาสังคม การส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล การสร้างหลักประกันความมั่นคง และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยโดยรวม และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
12. คณะกรรมาธิการการยุติธรรมและการตำรวจ มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามนโยบายด้านการบริหารงานยุติธรรม กระบวนการยุติธรรม การตำรวจ อัยการ และราชทัณฑ์ การปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
13. คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวในประเทศ ทั้งในและนอกระบบแรงงานไทยในต่างประเทศ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ การให้สวัสดิการ การประกันสังคม และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
14. คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคม มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการบริหาร การส่งเสริมและการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร การสื่อสารสาธารณะ โทรคมนาคม และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
15. คณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับศาสนา การอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนา การอนุรักษ์และการสืบสานศิลปะประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่นและภูมิปัญญาชาวบ้าน การส่งเสริมศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม วัฒนธรรม เอกลักษณ์และอัตลักษณ์ไทย และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
16. คณะกรรมาธิการการศึกษา มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษา การพัฒนาการศึกษาในทุกระดับและทุกรูปแบบของชาติการให้บริการทางการศึกษาสำหรับประชาชน โดยคำนึงถึงความเป็นมาตรฐาน เป็นธรรมและทั่วถึงเน้นความเป็นเลิศทางปัญญา วินัย คุณธรรม จริยธรรม จิตสาธารณะ ความเป็นไทยบนพื้นฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และความเป็นอิสระทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษา และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
17. คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการสาธารณสุข การพัฒนาระบบสุขภาพ การบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน โดยรวมถึงการรักษาพยาบาล การควบคุมและป้องกันโรค การฟื้นฟู การส่งเสริมสุขภาวะและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
18. คณะกรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญและติดตามการบริหารงบประมาณ มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติกระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินการบริหารจัดการขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ และนโยบายของรัฐบาลในด้านงบประมาณ ติดตามและประเมินผลการรับการใช้จ่ายเงินงบประมาณประจำปีของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
19. คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการที่ดิน การจัดการทรัพยากรน้ำ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ตลอดจนการส่งเสริม บำรุงรักษา และคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อม ศึกษาปัญหาการใช้ การป้องกัน การแก้ไข การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
20. คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการ พิจารณาศึกษา และตรวจสอบเรื่องการกระทำการทุจริตประพฤติมิชอบในหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานอื่นการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน และศึกษาเรื่องใด ๆ เกี่ยวกับกลไกกระบวนการและมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
21. คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรม มีอำนาจหน้าที่พิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรม การส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
22. คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วยราชการ องค์กรเอกชน และองค์กรในด้านสิทธิมนุษยชน ติดตาม ตรวจสอบการกระทำหรือการละเว้นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ การคุ้มครองผู้บริโภค ปัญหาความเดือดร้อนของผู้บริโภคและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
หากมีความจำเป็นหรือเห็นสมควรวุฒิสภาจะตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาเพิ่มขึ้นหรือลดจำนวนคณะกรรมาธิการลงเมื่อใดก็ได้
สมาชิกคนหนึ่งจะดำรงตำแหน่งกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาได้ไม่เกิน 2 คณะ เว้นแต่สมาชิกที่ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา ให้ดำรงตำแหน่งกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาได้ 1 คณะ สำหรับสมาชิกผู้ดำรงตำแหน่งเลขานุการคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาจะดำรงตำแหน่งเลขานุการคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาอื่นอีกมิได้[7]
สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 กำหนดให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ซึ่งข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 กำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติมอบหมาย
คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาแต่ละคณะประกอบด้วยกรรมาธิการจำนวนไม่น้อยกว่า สิบเอ็ดคนแต่ไม่เกินยี่สิบหกคน และให้มีจำนวนสิบหกคณะ โดยให้มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
1. คณะกรรมาธิการการเมือง มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการเมืองภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ระบบการเลือกตั้ง และพรรคการเมือง รวมทั้งการดำเนินการบริหารจัดการขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ
2. คณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติกระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการปกครอง การบริหารราชการแผ่นดินการพัฒนาระบบราชการ รวมทั้งการจัดระบบบริหารราชการส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดจนการป้องกันและรักษาความมั่นคงของประเทศ และกิจการทหาร
3. คณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติกระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับระบบกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมตลอดจนสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งกิจการตำรวจ
4. คณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติกระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับ การปกครองท้องถิ่น การพัฒนาและส่งเสริมประสิทธิภาพในการบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การกำกับดูแล การส่งเสริม และการถ่ายโอนภารกิจตามกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับการพัฒนาจังหวัดและประเทศโดยส่วนรวม รวมทั้งการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ
5. คณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติกระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษา การวิจัย การพัฒนาการศึกษาของชาติ การส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา การศึกษาในส่วนสาระการเรียนรู้ การกู้ยืมเพื่อการศึกษาการประเมินคุณภาพการศึกษา รวมทั้งการส่งเสริมสนับสนุน การพัฒนากีฬาของชาติ ตลอดจนศึกษาปัญหาและอุปสรรคของการพัฒนาการกีฬา
6. คณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง มีอำนาจหน้าที่พิจารณา ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติกระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง การธนาคารตลาดเงิน ตลาดทุน และสถาบันการเงินของประเทศ รวมทั้งนโยบายของรัฐบาล ในด้านงบประมาณตลอดจนติดตามและประเมินผล การรับ การใช้จ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ
7. คณะกรรมาธิการการพลังงาน มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติกระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการพลังงาน การบริหาร การส่งเสริมพัฒนาการจัดหา การใช้ การอนุรักษ์พลังงาน รวมทั้งผลกระทบ จากการจัดหาและการใช้พลังงาน
8. คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติกระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับ การสาธารณสุข การรักษาพยาบาลการส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพอนามัยของประชาชนและชุมชน รวมถึงปัญหาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางประชากรและการพัฒนา
9. คณะกรรมาธิการการสื่อสารมวลชน การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสารสนเทศ มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติกระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับกิจการสื่อสารมวลชน การส่งเสริมและการพัฒนา ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กิจการสื่อสาร สารสนเทศ โทรคมนาคม และวิทยุโทรทัศน์
10. คณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติกระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งประสานกับองค์กรภายในประเทศ ต่างประเทศ ประชาคมนานาชาติเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส การส่งเสริมศักยภาพของชุมชน ด้านการพัฒนาชีวิต ความเป็นอยู่ การสงเคราะห์ดูแล ผู้ยากไร้ การสร้างหลักประกันและความมั่นคงในคุณภาพชีวิตของคนไทยโดยรวม รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
11. คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติกระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาเกษตรกรรม อุตสาหกรรมเกษตรการสหกรณ์ การพัฒนาการผลิต การแปรรูป และธุรกิจเกษตร รวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการพัฒนาการเกษตร
12. คณะกรรมาธิการการคมนาคม มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติกระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการคมนาคม ทั้งการจราจรทางบกทางน้ำ ทางอากาศ ทางอวกาศ การขนส่งมวลชน การขนส่งสินค้า และการพาณิชยนาวี
13. คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติกระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการต่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คนไทยโพ้นทะเล สถานการณ์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นอันอาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์รวมทั้งภาพลักษณ์ของประเทศและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
14. คณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีอำนาจหน้าที่พิจารณา ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติกระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมการส่งเสริม บำรุงรักษา และคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งศึกษาปัญหาการใช้ การป้องกันการแก้ไข และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
15. คณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติกระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการค้า การบริการ การส่งออกดุลการค้า ลิขสิทธิ์ ตราสาร ทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา การส่งเสริมและพัฒนาการพาณิชย์และอุตสาหกรรม ตลอดจนศึกษาปัญหา อุปสรรคของการพัฒนาการพาณิชย์ และอุตสาหกรรมของไทยรวมทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษและการแรงงาน
16. คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติกระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการอุปถัมภ์ และคุ้มครองศาสนาการอนุรักษ์ศิลปะ การรักษาประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน รวมทั้งการส่งเสริมศีลธรรมคุณธรรม จริยธรรม วัฒนธรรม อัตลักษณ์ไทย และการท่องเที่ยว
หากมีความจำเป็นสภาจะตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาเพิ่มขึ้นหรือลดจำนวนคณะกรรมาธิการลงเมื่อใดก็ได้
สมาชิกคนหนึ่งจะดำรงตำแหน่งกรรมาธิการสามัญประจำสภาได้ไม่เกินสองคณะ เว้นแต่สมาชิกที่ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภา ให้ดำรงตำแหน่งกรรมาธิการสามัญประจำสภาได้หนึ่งคณะ สำหรับสมาชิกผู้ดำรงตำแหน่งเลขานุการคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภา จะดำรงตำแหน่งเลขานุการคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาอื่นอีกมิได้[8]
คณะกรรมาธิการ นับเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่งขององค์กรนิติบัญญัติ ที่จะต้องกระทำกิจการตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากสภา เพื่อมุ่งเสริมสร้างภารกิจขององค์กรนิติบัญญัติให้มีความเข้มแข็ง นำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อาจกล่าวได้ว่า คณะกรรมาธิการเป็นกลไกสำคัญ ในการดำเนินการให้กับรัฐสภา ทั้งในด้านการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ การติดตามตรวจสอบและควบคุมการบริหารงานของฝ่ายบริหาร จึงถือได้ว่าบทบาทของกรรมาธิการมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย[9]
อ้างอิง
- ↑ สถาบันพระปกเกล้า, โครงการเฉลิมพระเกียรติสารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540). กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, 2544, หน้า 2.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 2 – 3.
- ↑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, คณะกรรมาธิการ. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์, 2551. หน้า 12 – 13.
- ↑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ระบบงานรัฐสภา 2552. กรุงเทพฯ: สำนักการพิมพ์, 2552, หน้า 118 – 128.
- ↑ อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 1, หน้า 4.
- ↑ อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 3, หน้า 15 – 26.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 27 – 36.
- ↑ “ข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557” (3 ตุลาคม 2557), ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 131 ตอนพิเศษ 196 ง, หน้า 14 – 17.
- ↑ อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 3, หน้า 62.
บรรณานุกรม
“ข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557” (3 ตุลาคม 2557). ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 131 ตอนพิเศษ 196 ง, หน้า 1 – 43.
สถาบันพระปกเกล้า. สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) 8. คณะกรรมาธิการ กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2544.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. ข้อบังคับ. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์, 2555.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. คณะกรรมาธิการ. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์, 2551.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. ระบบงานรัฐสภา 2552. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์, 2552.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์, 2555.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สรรสาระรัฐธรรมนูญไทย. กรุงเทพฯ : บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977), 2548.