กบฏ 56 ไม่ได้เป็นกันง่ายๆ
ผู้เรียบเรียง ฐิติกร สังข์แก้ว และดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศาสตราจารย์ นรนิติ เศรษฐบุตร
ความหมาย
“กบฏ 56 ไม่ได้เป็นกันง่ายๆ” เป็นคำกล่าวของ สินจัย เปล่งพานิช (หรือ นก สินจัย) ศิลปินและนักแสดงชื่อดังผู้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) โดยโพสต์ข้อความผ่านแอพลิเคชั่นอินสตาแกรม (Instagram—IG) ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 เพื่อปลุกขวัญกำลังใจผู้ชุมนุมต่อต้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ในปลายปี 2556 ก่อนที่จะยกระดับการชุมนุมด้วยยุทธศาสตร์ดาวกระจาย ตามมาด้วยการ “Shutdown กรุงเทพฯ” โดยปิดยึดสถานที่ราชการสำคัญๆ ในกรุงเทพฯ และเรียกร้องให้รัฐบาลรักษาการ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่ง พร้อมมีรัฐบาลคนกลางและจัดตั้งสภาประชาชนทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศทั้งระบบก่อนที่จะให้มีการเลือกตั้งขึ้น ผลจากการปิดล้อมและบุกยึดสถานที่ราชการหลายแห่ง ทั้งยังขัดขวางการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ซึ่งจัดให้มีขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แกนนำ กปปส. จึงถูกออกหมายจับข้อหาฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (มาตรา 11 (1), 12) และข้อหากบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญา (มาตรา 113, 215, 216) คำกล่าวที่ว่า “กบฏ 56 ไม่ได้เป็นกันง่ายๆ” ไม่เพียงแสดงออกถึงการฝ่าฝืนและละเมิดบทบัญญัติของกฎหมาย แต่ยังสื่อแสดงถึงความภาคภูมิใจที่ได้ “กบฏ” ต่อความเลวร้ายในสายตาของผู้ร่วมชุมนุมกลุ่ม กปปส. (ซึ่งก็คือ “ระบอบทักษิณ”) ในแง่นี้ การยอมตนว่าเป็น “กบฏ 56” จึงกระทำด้วยสำนึกคิดแห่งความรักชาติที่มุ่งหวังผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ ดังข้อความของ นก สินจัย ที่ว่า “กบฏ 56 ไม่ได้เป็นกันง่ายๆ ต้องคนรักชาติเท่านั้น ถึงจะได้เป็น”
สาระสำคัญของเหตุการณ์
การเมืองไทยช่วงปลายปี พ.ศ. 2556 ถึงกลางปี พ.ศ. 2557 ปรากฏความขัดแย้งที่ยิ่งตอกย้ำความแตกแยกทางความคิดจนนำไปสู่วิกฤติการเมือง ซึ่งด้านหนึ่งเป็นการอาศัยยุทธวิธีปลุกระดมมวลชนต่อต้านขับไล่รัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ดาวกระจายปิดล้อมสถานที่สำคัญในกรุงเทพมหานคร มาตรการอารยะขัดขืน ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณประกาศไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐและชี้ชวนให้มวลชนเป่านกหวีดขับไล่บุคคลในรัฐบาล ไปจนถึงยุทธศาสตร์ “Shutdown กรุงเพทฯ” บุกยึดสถานที่ราชการสำคัญเพื่อหวังให้รัฐบาลหมดความชอบธรรมเนื่องจากการเป็นรัฐล้มเหลว ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลซึ่งอยู่ในตำแหน่งได้เปรียบเพราะสามารถอาศัยอำนาจสั่งการหน่วยงานของรัฐและบังคับใช้กฎหมายเพื่อแก้ไขสถานการณ์ความขัดแย้ง ที่เริ่มต้นจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน ก่อนที่จะขยายไปสู่พื้นที่รอบนอก การประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อเพิ่มอำนาจให้รัฐสามารถจับกุมคุมขังผู้กระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย ตลอดจนอาศัยประมวลกฎหมายอาญา ส่งผลให้แกนนำ กปปส. จำนวนหนึ่งถูกตั้งข้อกล่าวหาและถูกหมายจับอย่างต่อเนื่อง
หมายจับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ข้อหา “กบฏ”
ในการชุมนุมเคลื่อนไหวต่อต้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมและขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปลายปี 2556 นายสุเทพ เทือกสุบรรณถือว่ามีบทบาทสำคัญทั้งในการปราศรัยบนเวทีเพื่อปลุกระดมมวลชน และนำมวลชนปิดยึดสถานที่ราชการ สถานีโทรทัศน์ และถนนสำคัญหลายแห่ง อาทิเช่น สำนักงานตำรวจนครบาล (บช.น.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง ศูนย์ราชการ ทำเนียบรัฐบาล อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นต้น อย่างไรก็ตามช่วงปลายปี 2556 รัฐบาลยังคงรับมือสถานการณ์การชุมนุมประท้วงด้วยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 โดยการจัดตั้ง ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) เพื่อมุ่งหวังให้เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการระงับยับยั้งพฤติการณ์ที่สื่อไปในทางคุมคามต่อความมั่นคง มากกว่าที่จะเป็นการแก้ไขสถานการณ์การชุมนุมประท้วงด้วยการห้ามชุมนุมหรือมีอำนาจจับกุมคุมขัง
ดังนั้นการดำเนินการกับการชุมนุมของรัฐบาลจึงต้องอาศัยกฎหมายปกติ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2556 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะ ผอ.ศอ.รส. แจ้งว่าศาลอาญารัชดา ได้อนุมัติออกหมายจับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ในข้อหากบฏตามความผิดกฎหมายอาญามาตรา 113, มาตรา 215, 216[1] เนื่องจากกระทำการให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแก่รัฐธรรมนูญ หรือ มิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริตเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นภายในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน มั่วสุมกัน ตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยมีอาวุธ โดยเป็นหัวหน้า หรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการ และเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแต่ไม่เลิก [2]
ขณะเดียวกันศาลอาญารัชดา มีคำสั่งอนุมัติหมายจับ นายนิติธร ล้ำเหลือ นายอุทัย ยอดมณี นายรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี และนายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ในข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ บุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้ายในเวลากลางคืน (ตามประมวลกฎหมาย มาตรา 215, 358 และ 365)[3] กรณีนายนิติธร ล้ำเหลือ และพวกพามวลชนบุกรุกเข้าไปในกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 เป็นเหตุให้ประตูเลื่อนไฟฟ้าเสียหาย 4 บาน
หมายจับ 19 แกนนำ กปปส. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ
ต่อมามีเหตุอันเชื่อได้ว่าการชุมนุมของ กปปส. จะมีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและกระบวนการใช้กฎหมายยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศและเกิดความเสียหาย หรือไม่ปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ ทั้งเป็นการชุมนุมโดยไม่สงบและมุ่งหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมาย รัฐบาลจึงตัดสินใจประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม -22 มีนาคม 2557 รวมเวลา 60 วัน [4] ด้วยเหตุนี้ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ยื่นคำร้อง เพื่อขอศาลอนุมัติหมายจับแกนนำ กปปส. ต่อมาวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2557 ศาลอาญา อนุมัติออกหมายจับ 19 แกนนำ กปปส. ข้อหากระทำความผิดตาม พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (มาตรา 11 (1) และมาตรา 12 ) ประกอบด้วย [5]
1. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
2. นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย
3. นายชุมพล จุลใส
4. นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์
5. นายอิสสระ สมชัย
6. นายวิทยา แก้วภราดัย
7. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ
8. นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
9. น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก
10. นายนิติธร ล้ำเหลือ
11. นายอุทัย ยอดมณี
12. เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์
13. พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ
14. นายรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี
15. นายถาวร เสนเนียม
16. นายกิตติชัย ใสสะอาด
17. นายสำราญ รอดเพชร
18. นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม
19. นายพานสุวรรณ ณ แก้ว
ต่อมาเมื่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ประกาศยุติยุทธศาสตร์ "Shutdown กรุงเทพฯ" ซึ่งจะเริ่มยุบรวมเวทีการชุมนุมทั้งหมดไปอยู่ที่สวนลุมพินีในวันที่ 3 มีนาคม 2557 คณะรัฐมนตรีจึงตัดสินใจยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 18 มีนาคม 2557 แต่ให้กลับไปใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 แทน จึงมีผลให้ข้อหาการกระทำความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของ 19 แกนนำ กปปส. สิ้นสภาพไปด้วย ดังนั้นวันที่ 3 เมษายน 2557 ศาลอาญาจึงเพิกถอนหมายจับแกนนำ กปปส. 18 คน[6] ยกเว้นในกรณีของนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ซึ่งถูกตำรวจควบคุมตัวไว้ได้ จึงมีผลให้หมายจับนั้นสิ้นสภาพไปก่อนหน้านี้แล้ว จากการเพิกถอนหมายจับครั้งนี้ส่งผลให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณเหลือหมายจับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113, 215, 216 ในข้อหาร่วมกันเป็นกบฏเพียงข้อหาเดียว ขณะที่นายนิติธร ล้ำเหลือ นายอุทัย ยอดมณี และนายรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี ยังเหลือเพียงหมายจับเดียวในข้อหามั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นหรือเข้าไปกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครอง ซึ่งเป็นความผิดฐานบุกรุก โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือมีอาวุธในเวลากลางคืนฯ ตามประมวลกฎหมาย มาตรา 215, 358 และ 365
หมายจับ 30 แกนนำ กปปส.ข้อหากบฏ
วันที่ 8 พฤษภาคม 2557 พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ชำนาญการพิเศษ (ดีเอสไอ) ยื่นคำร้องขอให้ศาลอนุมัติหมายจับ 43 แกนนำ กปปส. ข้อหากบฏ และความผิดอื่นอีกรวมทั้งสิ้น 8 ข้อกล่าวหา วันที่ 14 พฤษภาคม 2557 ศาลอาญาอ่านคำสั่งอนุมัติหมายจับ 3 แกนนำ กปปส.ข้อหากบฏ ส่วนอีก 13 คนนั้น ถือว่าอยู่ในความควบคุมตัวของศาลแล้ว เนื่องจากตกเป็นจำเลยในคดีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทั้ง 30 คน ประกอบด้วย [7] 1. นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย
2. นายชุมพล จุลใส
3. นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์
4. นายอิสสระ สมชัย
5. นายวิทยา แก้วภราดัย
6. นายถาวร เสนเนียม
7. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ
8. นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
9. นายนิติธร ล้ำเหลือ
10. นายอุทัย ยอดมณี
11. พลเอกปรีชา เอี่ยมสุพรรณ
12. นายยศศักดิ์ โกไศยกานนท์
13. พันตำรวจโทสุภวัฒน์ สุปิยะพาณิชย์
14. นางสาวจิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี (กฤดากร)
15. นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์
16. นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
17. นายเสรี วงษ์มณฑา
18. นายกิตติศักดิ์ ปรกติ
19. นายถนอม อ่อนเกตุพล
20. พระสุวิทย์ ทองประเสริฐ (พระพุทธอิสระ)
21. นายสาธิต เซกัล
22. นายคมสัน ทองศิริ
23. นายมั่นแม่น กะการดี
24. นายประกอบกิจ อินทร์ทอง
25. นายนัสเซอร์ ยีหมะ
26. นายพานสุวรรณ ณ แก้ว
27. นางสาวรังสิมา รอดรัศมี
28. นางทยา ทีปสุวรรณ
29. พลอากาศโทวัชระ ฤทธาคนี
30. พลเรือเอกชัย สุวรรณภาพ
ภายหลังจากที่ศาลอนุมัติหมายจับ 30 แกนนำ กปปส. ข้อหากบฏและข้อหาอื่นๆ รวม 8 ข้อหา เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ได้จัดทีมไล่ล่าบรรดาผู้ต้องหา ส่งผลให้ผู้ต้องหาบางคนถูกจับกุมในทันที เช่น นายสมบัติ ธํารงธัญวงศ์ และนายยศศักดิ์ โกไศยกานนท์ เป็นต้น [8] อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เจ้าหน้าที่ทหารได้นำตัวแกนนำ กปปส. (ซึ่งถูกกักตัวไว้ในช่วงปฏิบัติการยึดอำนาจ) เข้าพบพนักงานอัยการ ตามที่พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ นัดส่งตัวให้อัยการส่งฟ้องต่อศาล ซึ่งประกอบด้วย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายสาทิตย์ วงษ์หนองเตย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายชุมพล จุลใส นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ นายสุริยะใส กตะศิลา นายพิภพ ธงไชย นายนิติธร ล้ำเหลือ นอกจากนั้นแกนนำบางส่วนยังทยอยมอบตัวกับกรมสอบสวนคดีพิเศษในภายหลัง เช่น นายวิทยา แก้วภราดัย นางสาวรังสิมา รอดรัศมี นายถนอม อ่อนเกตุพล นายคมสัน ทองศิริ พลอากาศโทวัชระ ฤทธาคนี และ พลเรือเอกชัย สุวรรณภาพ เป็นต้น
ความหมายทางการเมืองของ “กบฏ 56”
- ผู้ต้องหาคดี “กบฏ” เป็นความภาคภูมิใจ ไม่เสียทีที่เกิดมาชาติหนึ่ง ทำอะไรมาก็มากแล้ว ไม่หนักเท่า “สู้กับระบอบทักษิณ” เพราะนี่คือตัวแทนของความเลวร้ายที่จะทำให้ประเทศชาติและประชาชนเกิดความหายนะอย่างไม่เคยมีมาก่อน...วันหนึ่งประวัติศาสตร์จะชี้ขาดว่า “การต่อสู้ครั้งนี้” คือภารกิจทางประวัติศาสตร์ที่ประชาชนคนไทยได้ร่วมกันเขียนขึ้น เพื่อชำระล้างความเลวร้ายให้หมดไปจากแผ่นดิน
- สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม [9]
บรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองนับตั้งแต่ปลายปี 2556 เต็มไปด้วยการประชันขันแข่งและการต่อสู้ขัดแย้งของกลุ่มฝ่ายต่างๆ หลากหลายมิติ ทั้งการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ของกลุ่ม กปปส. ด้วยการใช้ “นกหวีด” เป็นอุปกรณ์ขับไล่รัฐบาล ใช้ธงชาติไทยเป็นลวดลายประดับบนเสื้อผ้า ริสแบนด์ และในสถานที่ชุมนุม การสร้างอารมณ์สำนึกคิดให้ผู้ร่วมชุมนุมรู้สึกใกล้ชิดกับแกนนำ (เปลี่ยนชื่อเรียกจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไปเป็น “ลุงกำนัน”) ตลอดจนการต่อสู้ช่วงชิงเพื่อนิยามความหมายให้กับตนเอง (เช่น มวลมหาประชาชน) ทั้งนี้หลังจากที่แกนนำ กปปส. จำนวนหนึ่งถูกตั้งข้อหากบฏและมั่วสุมก่อการจลาจล (ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113, 215, 216) และฝ่าฝืนพระราชกำหนดกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 การสร้างความหมายทางการเมืองก็เริ่มเกิดขึ้นโดยประชาชนผู้ร่วมชุมนุม โดยเฉพาะในหมู่บุคคลสาธารณะ ศิลปินดารา นักแสดง และผู้มีชื่อเสียงในสังคม
ประการแรก บุคคลสาธารณะทั้งที่เป็นแกนนำและผู้เข้าร่วมชุมนุมทั่วไป มักให้คำอธิบายการเคลื่อนไหวของกลุ่มตนเองในฐานะ “ม็อบมีการศึกษา” และ “ม็อบคนรวย” เพื่อสะท้อนว่าการรวมตัวกันเป็นจนกลายเป็น “มวลมหาประชาชน” ชุมนุมประท้วงต่อต้านร่างพระราชบัญญัตินิโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง และขับไล่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้น ไม่ได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของนักการเมืองและพรรคการเมืองใด แต่เป็นไปอย่างมีมโนสำนึกและมีวิจารณญาณอิสระในการตัดสินถูกผิด ไม่ได้มาด้วยหวังอามิสสินจ้างรางวัล เพราะเมื่อมีการศึกษาและมีฐานะแล้ว (ตามมาตรฐานชนชั้นกลาง) เงินย่อมไม่อาจซื้อได้หรือจ้างได้ แต่ตัดสินใจออกมาแสดงออกทางการเมือง เพราะเห็นถึงความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลจนปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างกว้างขวาง กล่าวได้ว่าคนจำนวนน้อยที่มีคุณภาพ (เมื่อเทียบกับทั้งประเทศ) ย่อมมีความเหนือกว่าทางศีลธรรมและสถานภาพทางสังคมในการกระทำทางการเมือง ในทัศนะของ กปปส. แล้วการชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองครั้งนี้ ก็คือ “การประกาศความจริง” ให้สังคมไทยตระหนักรับรู้ ผู้มีดวงตาเป็นธรรมจึงพร้อมที่จะนำพาสังคมไปสู่อนาคตที่ดีกว่า ผ่านการชำระล้างความมลพิษที่ยึดติดเกาะกุมระบบสังคมการเมืองไทยมาอย่างยาวนาน (นักการเมืองอาชีพและพรรคการเมืองต่างๆ)
ประการที่สอง ตามปกติแล้ววิถีทางหนึ่งที่รัฐ-ชาติ จะปลุกเร้าความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติให้เกิดขึ้นได้ก็ด้วยการมีศัตรูภายนอกร่วมกัน ผลก็คือ ขบวนการชาตินิยมในประเทศชาติเช่นนี้จะเรียกร้องให้มวลหมู่สมาชิกผู้ภักดีต่อรัฐยอมสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อป้องป้องคุ้มครองความอยู่รอดปลอดภัยของเพื่อนร่วมชาติทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การเมืองไทยในรอบสองทศวรรษที่ผ่านก็ปรากฏกระบวนการสร้างศัตรูสาธารณะร่วมกัน (public enemy) แต่กลับเป็นศัตรูที่ฝังรากลึกอยู่ในระบบการเมืองแบบการเลือกตั้ง กล่าวได้ว่า “ระบอบทักษิณ” ได้กลายเป็นเสมือนเงาที่ทรงอิทธิพลมากพอจะหลอกหลอนชนชั้นนำทางการเมืองและชนชั้นกลางอย่างต่อเนื่อง ในทัศนะของ กปปส. แล้วหากปล่อยให้ระบอบนี้ดำรงอยู่ต่อไป ก็จะนำไปสู่การ “สิ้นชาติ สิ้นแผ่นดิน” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้เมื่อภัยคุกตามดังกล่าวสามารถสร้างความเสียหายและผลกระทบร้ายแรงต่อการดำรงร่วมกันของผู้คนในสังคมไทย (ทำลายความสงบร่มเย็นที่เคยเป็นมาในอดีต?) จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดวางตำแหน่งแห่งที่ศัตรูสาธารณะในฐานะ “ปฏิปักษ์” ที่ต้องขจัดปัดเป่าทำลายล้างให้สิ้นซาก (antagonistic position) การเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้จึงประนีประนอมกับความชั่วร้ายไม่ได้ ด้วยเหตุที่มีเจตนามุ่งสู่ผลดีสูงสุด (“เทหมดหน้าตัก” “ไม่ชนะไม่เลิก”) การบรรลุเป้าหมายโดยไม่สนใจวิธีการ (the end justifies the mean) ก็ย่อมเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลสำหรับผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมาก (เพราะวิธีการที่เป็นไปตามกฎกติกาปกติทั่วไปอย่างการเลือกตั้ง ก็ล้วนถูกเกาะกุมโดยระบอบทักษิณแทบทั้งสิ้น)
ประการที่สาม ความภาคภูมิใจที่เกิดขึ้นกับผู้ร่วมชุมนุม กปปส. ในข้อหาการกระทำในลักษณะอันเป็น “กบฏ” ต่อแผ่นดินนั้น ถึงขั้นสกีนข้อความ “กบฏ 56 ไม่ได้เป็นกันง่ายๆ” บนเสื้อผ้า ป้ายรณรงค์ประท้วง และโพสต์ข้อความในเครือข่ายสังคมออนไลน์ เป็นต้น เพราะ “ความยาก” ของการเป็นกบฏในครั้งนี้ก็คือต้องเป็นประชาชนผู้ตื่นรู้สามารถวินิจฉัยถูกผิดต่อผู้ใช้อำนาจรัฐอันแฝงเร้นไปด้วยวาระส่วนบุคคลของนักการเมืองและพรรคการเมือง ในแง่นี้การเป็น “พลเมืองดี” จะเป็นเรื่องเดียวกับการเป็น “คนดี” ที่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ดีของรัฐจะเกิดขึ้นได้ก็แต่เพียงในบริบทที่ผู้บังคับใช้กฎหมายมีสิทธิธรรม (moral authority) ซึ่งจะได้มาจากกระบวนการขึ้นอยู่อำนาจบริสุทธิ์ เสรี และเที่ยงธรรมเท่านั้น เมื่อเข้าสู่อำนาจแล้ว รัฐบาลก็ถูกคาดหวังให้บริหารราชการแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างมีสัมฤทธิผลเท่านั้น หากรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐไม่สามารถทำได้ตามบรรทัดฐานเหล่านี้ ก็เป็นการชอบธรรมที่ประชาชนพลเมืองจะต่อต้านแข็งขืนไม่ยินยอมปฏิบัติตามคำสั่งบัญชาอันมิชอบ การประกาศตนเองในฐานะ “กบฏ 56” ต่อต้านรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐที่ปราศจากสิทธิธรรม จึงสร้างความหมายของความเป็น “คนดี” ที่รักชาติบ้านเมืองอันเป็นเสมือนชุมนุมทางศีลธรรม แม้การกระทำดังกล่าวจะต้องกลายเป็น “พลเมืองเลว” ที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐ แต่เพื่อเป้าหมายอันสูงค่าทางศีลธรรมก็ย่อมเป็นเรื่องที่ยอมรับได้และน่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง
บรรณานุกรม
30 กปปส. โดนหมายจับข้อหากบฏ." ไทยรัฐ. (15 พฤษภาคม 2557), 15.
กปปส.เฮถอนหมายจับ." เดลินิวส์. (4 เมษายน 2557), 2.
ประกาศพรก.ฉุกเฉินสยบม็อบ." เดลินิวส์. (22 มกราคม 2557), 2.
รวบ 2 แกนนำกปปส. สมบัติ-ยศศักดิ์ได้ประกันชั้นศาล." เดลินิวส์. (17 พฤษภาคม 2557), 16.
ศาลอนุมัติหมายจับ “เทพเทือก” ฐานกบฏแล้ว." เดลินิวส์ออนไลน์. (2 ธันวาคม 2556). เข้าถึงจาก <http://www.dailynews.co.th/crime/199160>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2558.
ศาลอาญาอนุมัติจับเทือก18 แกนนำ กปปส.." ไทยรัฐ. (6 กุมภาพันธ์ 2557), 11.
สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม. (2557). บันทึกกบฏ. ชรินทร์ แช่มสาคร. (บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์กรีน ปัญญาญาณ.
อ้างอิง
- ↑ ตามความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ (1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ (2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ (3) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
มาตรา 215 ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ บรรดาผู้ที่กระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า หรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 216 เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุม เพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกไป ผู้ใดไม่เลิก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ↑ "ศาลอนุมัติหมายจับ “เทพเทือก” ฐานกบฏแล้ว," เดลินิวส์ออนไลน์, (2 ธันวาคม 2556). เข้าถึงจาก <http://www.dailynews.co.th/crime/199160>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2558.
- ↑ ตามความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำความผิดฐาน ทำให้เสียทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 365 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 362 มาตรา 363 หรือมาตรา 364 ได้กระทำ (1) โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย (2) โดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป หรือ (3) ในเวลากลางคืน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ↑ "ประกาศพรก.ฉุกเฉินสยบม็อบ," เดลินิวส์, (22 มกราคม 2557), 2.
- ↑ "ศาลอาญาอนุมัติจับเทือก18 แกนนำ กปปส.," ไทยรัฐ, (6 กุมภาพันธ์ 2557), 11.
- ↑ "กปปส.เฮถอนหมายจับ," เดลินิวส์, (4 เมษายน 2557), 2.
- ↑ "30 กปปส. โดนหมายจับข้อหากบฏ," ไทยรัฐ, (15 พฤษภาคม 2557), 15.
- ↑ "รวบ 2 แกนนำกปปส. สมบัติ-ยศศักดิ์ได้ประกันชั้นศาล," เดลินิวส์, (17 พฤษภาคม 2557), 16.
- ↑ สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม, “คำนำผู้เขียน,” บันทึกกบฏ, ชรินทร์ แช่มสาคร (บรรณาธิการ) (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์กรีน ปัญญาญาณ, 2557).