สภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี
ผู้เรียบเรียง : ต่อรัฐ สิงห์เรืองเดช
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร พันธุ์เปรื่อง
ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ถือเป็นยุคแห่งเสรีภาพทางความคิด กลุ่มผลประโยชน์ จึงเกิดขึ้นมากมาย การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมีได้อย่างเสรี จนเป็นเหตุให้กลุ่มพลังของนิสิตนักศึกษาเกิดความแตกแยกทางความคิดและแนวทางปฏิบัติ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ฝ่ายตรงข้ามใช้วิธีทั้งใน และนอกสภา ปลุกเร้าประชาชนให้เกิดความเสื่อมศรัทธาและลดความเชื่อมั่นในพลังของนิสิตนักศึกษา โดยเฉพาะวิธีโฆษณาชวนเชื่อโจมตีว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์ ซึ่งนับว่าได้ผลเป็นอย่างมากจนสมัยของรัฐบาล หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช สัญญาณแห่งความวุ่นวายในสังคมก็เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2519 จอมพลถนอม กิตติขจร พยายามจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยโดยการบรรพชาเป็นสามเณรมาจากวัดไทยในประเทศสิงคโปร์ เพื่อใช้เป็นข้ออ้างว่าจะกลับมาอุปสมบทที่วัดบวรนิเวศ กรุงเทพฯ [1] ทำให้เกิดกระแสต่อต้านและมีการเดินขบวนเรียกร้องให้รัฐบาลขับไล่จอมพลถนอม กิตติขจร ออกไปนอกประเทศ โดยมีการปักหลักชุมนุมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เวลา 18.00 นาฬิกา นายทหารคณะหนึ่งปรากฏตัวขึ้นในนาม “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” นำโดย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้า และพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นเลขาธิการ[2] พร้อมคณะนายทหาร 3 เหล่าทัพ และอธิบดีกรมตำรวจ ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาล หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช โดยให้เหตุผลในคำประกาศว่า “เพื่อกอบกู้สถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ให้พ้นจากสถานการณ์ อันเลวร้าย จึงยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2517 ยุบรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมือง ประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้ใช้คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองการปกครองแผ่นดินเป็นกฎหมายปกครองประเทศไปพลางก่อน
เนื่องจากการประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 มีผลให้รัฐสภา และคณะรัฐมนตรีสิ้นสุดพร้อมกับรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยรองรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 จึงให้มีสภาที่ปรึกษา นายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินและให้เลขาธิการรัฐสภา รองเลขาธิการรัฐสภา เป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินไปก่อน เป็นการชั่วคราว
ที่มาของสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2519 พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งให้ “นายธานินทร์ กรัยวิเชียร” เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน[3] คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินประกอบด้วย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะ นอกจากนี้ยังมี พลเอก บุญชัย บำรุงพงศ์ พลอากาศเอก กมล เตชะตุงคะ พลเอก เสริม ณ นคร และพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นต้น[4] ได้ยึดอำนาจ และได้มีการแต่งตั้งให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีคณะรัฐมนตรีรวม 17 คน พร้อมทั้งตั้ง”สภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี” มีจำนวน 24 คน ทำหน้าที่นิติบัญญัติ ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม 2519 ถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2519 และมี พลอากาศเอก กมล เดชะตุงคะ เป็นประธานสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน และประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ พ.ศ.2519 ในวันที่ 22 ตุลาคม 2519 มี 29 มาตรา เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 11ของไทย ให้มีสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งมีสมาชิก จำนวน 340 คน [5] ดังนี้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 มาตรา 10 ได้กำหนดว่า “ให้มีสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเพื่อทำหน้าที่นิติบัญญัติ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าสามร้อยคนแต่ไม่เกินสี่ร้อยคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และอยู่ในตำแหน่งสี่ปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง[6] และมาตรา 26 วรรคหนึ่ง ได้กำหนดว่า” การแต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ให้กระทำให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้ ในระหว่างยังไม่มีสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ให้สภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน”[7] ดังที่กล่าวมาในข้างต้น จะเห็นได้ว่ามีลักษณะพิเศษทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างหนึ่งคือ นอกจากรัฐธรรมนูญจะบัญญัติให้มีสภาที่ปฏิรูปการปกครองแผ่นดินแล้ว ยังมีบัญญัติให้มีสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีคณะหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยบุคคลเดียวกันกับคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เพื่อทำหน้าที่ สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ในระหว่างยังไม่มีสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
ความหมายของสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี
สภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีมีความหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร 2519 ในมาตรา 18 คือ “ให้มีสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีคณะหนึ่งซึ่งประกอบด้วยบุคคลในคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน มีหน้าที่ให้ความเห็นในเรื่องใด ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีปรึกษาและหน้าที่อื่นตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะรัฐมนตรีและสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีร่วมกันกำหนดแนวนโยบายเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ ในการบริหารราชการแผ่นดินเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติคณะรัฐมนตรีต้องบริหารไปตามแนวนโยบายที่กำหนดไว้ตามวรรคสอง ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีว่างลงหรือมีกรณีที่จะแต่งตั้งเพิ่ม ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งโดยความเห็นชอบของสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และในระหว่างยังไม่มีสภาปฏิรูป การปกครองแผ่นดิน ให้สภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินไปพลางก่อน”[8] และตามมาตรา 26 วรรคสอง ได้กำหนดว่า “ในระหว่างยังไม่มีสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ให้สภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” [9]
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2519 กำหนดให้สภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีมีองค์คณะประกอบด้วย บุคคลในคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินและปฏิบัติหน้าที่สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในลักษณะชั่วคราว และจะหมดหน้าที่นิติบัญญัติไปโดยทันที เมื่อได้มีการประกาศแต่งตั้งสภาปฏิรูปการปกครอง ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินที่สำคัญเป็นไปโดยอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง และในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่สภาที่ปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน สภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรียังได้รับความคุ้มครองตามหลักเอกสิทธิ์อีกด้วย เพราะมาตรา 26 วรรคสองได้กำหนดให้นำมาตรา 13 มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยมาตรา 13 ได้กำหนดให้ “ในการประชุมสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใด ๆ ในทางแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็น หรือออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวในทางใดมิได้ เอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง ให้คุ้มครองถึงการประชุมของกรรมาธิการและผู้พิมพ์ และผู้โฆษณารายงานการประชุมโดยคำสั่งของสภาด้วย” [10]
บทบาทของสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี
สภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินมีจำนวน 24 คน นำโดย พลเอก กมล เดชะตุงคะ เป็นประธานสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และ พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นรองประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินมีการประชุมสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีทั้งหมดจำนวน 5 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2519 ถึง 19 พฤศจิกายน 2519 โดยกำหนดวางแนวนโยบายของในการบริหารราชการแผ่นดินที่สำคัญต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. ให้รัฐบาลถือหลักประหยัดเป็นสำคัญและตระหนักว่า ความมั่นคงของประเทศเป็นรากฐานอันสำคัญ ในการเสริมสร้างการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
2. รัฐบาลต้องป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างจริงจังและเด็ดขาด
3. ต้องรักษาไว้ซึ่ง ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ผดุงไว้ซึ่งความเป็นอิสระของผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีต่างๆ
4. ในด้านต่างประเทศ รัฐบาลนี้จะดำเนินนโยบายอิสระ ยึดถือผลประโยชน์ของชาติ ความอยู่รอดและความมั่นคงของชาติเป็นหลักสำคัญ
5. ในด้านการคลัง จะใช้นโยบายการคลังเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา และเสริมสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจตามสถานการณ์
6. ในด้านการพาณิชย์ จัดให้ประชาชนได้มีสินค้าที่จำเป็นเพื่อการอุปโภคบริโภคในปริมาณที่เพียงพอ คุณภาพเหมาะสม และราคาพอสมควร
7. ในด้านอุตสาหกรรม มีการส่งเสริมและดำเนินการให้มีอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อผลิตปัจจัย 4 ที่จำเป็นแก่การดำรงชีพของประชาชน
8. ในด้านการคมนาคม จะดำเนินการเพื่อให้มีบริการด้านการสื่อสารและขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ อย่างเพียงพอ ในมาตรฐานอันควร
9. ในส่วนด้านการเกษตรและสหกรณ์รัฐบาลจะต้องยึดถือโครงการปฏิรูปที่ดินควบคู่ไปกับการพัฒนาสหกรณ์ทุกระดับ
10. ในด้านการศึกษา กระตุ้นให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วราชอาณาจักรตระหนักและเห็นคุณค่าของระบบประชาธิปไตย พร้อมทั้งปรับปรุงระบบการศึกษาทุกระดับทุกประเภททั้งในและนอกระบบโรงเรียน
11. ในด้านการสาธารณสุข รัฐบาลจะต้องปรับปรุงและขยายบริการด้านการรักษาพยาบาลให้เพียงพอ
สภาฯดังกล่าวยังได้ออกกฎหมายบังคับตนเองไว้คือ บังคับให้สภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีมีสภาพเป็น กรมๆ หนึ่งขึ้นต่อสำนักนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังได้แก้ไขคำสั่งคณะปฏิวัติชุดเดิมที่ใช้ประกาศตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2515 ให้เรียกชื่อสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แทนคำว่า “สำนักงานสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี”[11] ซึ่งนอกจากจะมีประธานสภาฯ ของตัวเองแล้ว ยังมีเลขาธิการสภาฯ เป็น หัวหน้าใหญ่บังคับบัญชาข้าราชการในสำนักงานที่ปรึกษาฯ รับผิดชอบในการปฏิบัติงานขึ้นตรงต่อประธานสภาที่ปรึกษา ที่กล่าวนี้ ต้องเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ และใช้กฎหมายว่าด้วยข้าราชการพลเรือนเดิมที่มีอยู่บังคับในการปฏิบัติข้าราชการ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สำนักงานสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นหน่วยราชการที่ขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี
การสิ้นสุดของสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี
ต่อมาได้มีประกาศ พระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2519 ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2519 มาตรา 26 มีผลให้การทำหน้าที่สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินของสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ภายหลังรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2519 ประกาศใช้ได้เพียง 1 ปี 12 วัน ก็มีการยึดอำนาจการปกครองโดยคณะปฏิวัติภายใต้การนำของพลเรือเอก สงัด ชะลออยู่ และคณะทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจและพลเรือน ก็ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากนายธานินทร์ กรัยวิเชียร อีกครั้ง เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินจึงสิ้นสุดลง จึงทำให้รัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ต้องพ้นจากตำแหน่งและคณะปฏิรูปก็กลายเป็นคณะปฏิวัติในที่สุด
ภายหลังการยึดอำนาจคณะปฏิวัติได้มีคำสั่งยกเลิกรัฐธรรมนูญฯ ที่ประกาศใช้อยู่ และประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2520 และให้พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นก็มีการแต่งตั้งสมาชิกนิติบัญญัติเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรต่อไป
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ถูกร่างเสร็จและประกาศใช้ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2521 และประกาศใช้แทน ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2520 อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็นรัฐธรรมนูญ “ระบบประชาธิปไตยครึ่งใบ” เพราะกำหนดให้วุฒิสมาชิกและนายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง และมีบทเฉพาะกาลอนุญาตให้ข้าราชการประจำสามารถดำรงตำแหน่งเป็นข้าราชการการเมืองได้ ซึ่งเป็นการกำหนดให้ยกเว้นการบังคับใช้บทบัญญัติ บางมาตราในรัฐธรรมนูญเป็นการชั่วคราวในช่วงสี่ปีแรก ที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย
อ้างอิง
- ↑ ลิขิต ธีรเวคิน, การเมืองการปกครองไทย. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543). หน้า 152.
- ↑ นคร พจนวรพงษ์ และ อุกกฤษ พจนวรพงษ์ ข้อมูลประวัติศาสตร์การเมืองไทย เหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญๆ พ.ศ. 2475 – ปัจจุบัน การเลือกตั้งทุกครั้งและการจัดตั้งรัฐบาลทุกสมัย. (กรุงเทพมหานคร : บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด, 2542), หน้า 75.
- ↑ ประกาศตั้งนายกรัฐมนตรี. ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 93 ตอนที่ 124. ฉบับพิเศษ. 10 ตุลาคม 2519, หน้า 1.
- ↑ ธิกานต์ ศรีนารา เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก : http://th.wikipedia.org (เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557). หน้า 8.
- ↑ อ้างแล้ว, เชิงอรรถที่ 2 , หน้า 76.
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 มาตรา 10
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 มาตรา 18
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 มาตรา 26 วรรคสอง
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 มาตรา 13
- ↑ หนังสือพิมพ์สยามรัฐฉบับวันที่ 20 พฤศจิกายน 2519, หน้า 5
บรรณานุกรม
ลิขิต ธีรเวคิน.การเมืองการปกครองไทย (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์2543). จักร พันธ์ชูเพชร. การเมืองการปกครองไทย “จากยุคสุโขทัยสู่สมัยทักษิณ”. (กรุงเทพมหานคร. 2549). อริน. “คณะปฏิรูปฯ” และ “รัฐบาลหอย” กับมรสุมลูกแรก กบฏ 26 มีนาคม 2520, [ออนไลน์]. สืบค้นจาก
13 กุมภาพันธ์ 2557). ประกาศตั้งนายกรัฐมนตรี. ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 93 ตอนที่ 124. ฉบับพิเศษ. 10 ตุลาคม 2519. ธิกานต์ ศรีนารา. เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก : http://th.wikipedia.org (เมื่อวันที่
13 กุมภาพันธ์ 2557) นคร พจนวรพงษ์. ข้อมูลประวัติศาสตร์การเมืองไทย เหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญๆ พ.ศ. 2475 – ปัจจุบัน
การเลือกตั้งทุกครั้งและการจัดตั้งรัฐบาลทุกสมัย. (กรุงเทพมหานคร : บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด. 2542) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519, ราชกิจจานุเบกษา (ฉบับพิเศษ), เล่มที่ 93 ,ตอนที่135,
ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2519 รายงานการประชุมสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีหน้าที่สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ครั้งที่ 1 ถึงครั้งที่ 5
พ.ศ. 2519 ยุทธวัฒน์ ภัทราภานุภัทร.รัฐสภาไทย:วิเคราะห์เปรียบเทียบภูมิหลังของสมาชิกสภา
นิติบัญญัติแห่งชาติ พุทธศักราช 2516 กับสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช 2519 หน้า 110 หนังสือพิมพ์สยามรัฐฉบับวันที่ 20 พฤศจิกายน 2519.
หนังสือแนะนำอ่านเพิ่มเติม
จักร พันธ์ชูเพชร. การเมืองการปกครองไทย “จากยุคสุโขทัยสู่สมัยทักษิณ”. (กรุงเทพมหานคร. 2549). นคร พจนวรพงษ์. ข้อมูลประวัติศาสตร์การเมืองไทย เหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญๆ พ.ศ. 2475 – ปัจจุบัน
การเลือกตั้งทุกครั้งและการจัดตั้งรัฐบาลทุกสมัย. (กรุงเทพมหานคร : บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด. 2542)