ข้าราชการฝ่ายรัฐสภาสามัญ
เรียบเรียง : นางสาวเรณุมาศ รักษาแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร พันธุ์เปรื่อง
บทนำ
[[ รัฐสภา]] เป็นสภาตัวแทนของประชาชนซึ่งมีหน้าที่ทางด้านนิติบัญญัติ ทั้งในการตรากฎหมาย การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน การให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญ ตลอดจนการแต่งตั้งและถอดถอนบุคคลตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด รัฐสภาจึงจำเป็นต้องมีบุคลากรผู้ปฏิบัติงานเพื่อสนับสนุนให้ภารกิจในด้าน ต่าง ๆ ดังกล่าวสำเร็จลุล่วงไปได้ ซึ่งได้แก่ “ข้าราชการฝ่ายรัฐสภา”
ความหมาย
คำว่า “ข้าราชการรัฐสภา” ตามมาตรา ๔ ของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๔ หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการตามพระราชบัญญัตินี้
ข้าราชการรัฐสภา ตามมาตรา ๗ ของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๔ แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ได้แก่
(๑) ข้าราชการรัฐสภาสามัญ คือ ข้าราชการรัฐสภาซึ่งรับราชการโดยได้รับบรรจุและแต่งตั้งตามที่บัญญัติไว้ในหมวด ๓ และ
(๒) ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง คือ ข้าราชการรัฐสภาซึ่งรับราชการในตำแหน่งการเมืองของรัฐสภาตามที่บัญญัติไว้ในหมวด ๔ ซึ่งมาตรา ๙๒ ได้กำหนดไว้ ๒๔ ตำแหน่ง เช่น ตำแหน่งที่ปรึกษาประธานรัฐสภา, ที่ปรึกษารองประธานรัฐสภา, ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร, ที่ปรึกษาประธานวุฒิสภา, ที่ปรึกษารองประธานสภาผู้แทนราษฎร, ที่ปรึกษารองประธานวุฒิสภา, ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น
ดังนั้น ข้าราชการฝ่ายรัฐสภาสามัญ จึงหมายถึง ข้าราชการรัฐสภาซึ่งรับราชการโดยได้รับการบรรจุและแต่งตั้งตามที่บัญญัติไว้ในหมวด ๓ ของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๔ ปฏิบัติงานประจำในส่วนราชการสังกัดรัฐสภา และไม่ใช่ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
ความเป็นมาของข้าราชการฝ่ายรัฐสภาในอดีต
นับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ผู้แทนราษฎรชั่วคราวชุดแรกจำนวน ๗๐คน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะราษฎร ได้ทำการประชุมกันเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๔๗๕ ณ ห้องโถงชั้นบนของพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นที่ประชุมชั่วคราว การประชุมในครั้งนี้มีมหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายพลตรีพระยาอินทรวิชิต เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ขออนุมัติต่อที่ประชุมให้หลวงประดิษฐมนูธรรมดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนแรก เพื่อปฏิบัติราชการประจำของสภาผู้แทนราษฎร จึงถือว่าสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้สถาปนาขึ้นในวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๔๗๕
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระยะเริ่มแรกนั้นยังไม่มีกฎหมายจัดตั้งมารองรับ ไม่มีงบประมาณและสถานที่ทำการเป็นของตนเอง เจ้าหน้าที่ของสำนักงานในขณะนั้นมีอยู่ทั้งหมด ๗ คนด้วยกัน คือ หลวงคหกรรมบดี นายปพาฬ บุญหลง นายสนิท ผิวนวล นายฉ่ำ จำรัสเนตร นายสุริยา กุณฑลจินดา นายน้อย สอนกล้าหาญ และนายประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้ง ๗ คนนี้ ได้อาศัยวังปารุสกวันใช้เป็นสถานที่ทำงาน โดยไม่ได้รับเงินเดือน เพราะสำนักงานฯ ไม่มีงบประมาณ นอกจากทางการได้จัดเลี้ยงอาหารแก่เจ้าหน้าที่ทุกมื้อเท่านั้น
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งกระทรวงและกรมแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้กิจการฝ่ายธุรการของสภาผู้แทนราษฎรดำเนินไปโดยสมบูรณ์ โดยจัดให้มีเจ้าหน้าที่ประจำขึ้นหน่วยหนึ่ง มีฐานะเป็นกรมขึ้นต่อสภาผู้แทนราษฎร เรียกว่า “กรมเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร” มีหน้าที่ดำเนินการเลขาธิการของ สภาผู้แทนราษฎรและอยู่ในบังคับบัญชาของประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงถือได้ว่ากรมเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๗๖ และในปีเดียวกันนี้ ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทะบวง กรม พุทธศักราช ๒๔๗๖ แก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อของ “กรมเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร” เป็น “สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร” มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการฝ่ายธุรการของสภาผู้แทนราษฎร ขึ้นต่อสภาผู้แทนราษฎรและอยู่ในบังคับบัญชาของประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยได้ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการภายในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช ๒๔๗๖ แบ่งส่วนราชการภายในเป็น ๓ กอง คือ สำนักงานเลขานุการ กองปฏิคม และกองบรรณารักษ์และกรรมาธิการ
จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้มีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรมขึ้นใหม่ ยกฐานะให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นทบวงการเมือง มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการฝ่ายธุรการของสภาผู้แทนราษฎร ขึ้นต่อสภาผู้แทนราษฎรและอยู่ในบังคับบัญชาของประธานสภาผู้แทนราษฎร
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ โดยนำเอาระบบสภาคู่มาใช้เป็นครั้งแรก กล่าวคือ รัฐสภาประกอบด้วย พฤฒสภา (สภาสูง) และสภาผู้แทน ซึ่งมีสถานที่ประชุมคนและแห่ง โดยสภาผู้แทนใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่ประชุม ส่วนพฤฒสภา ใช้พระที่นั่งอภิเศกดุสิตเป็นที่ประชุม ทำให้จำเป็นต้องมีสำนักงานเลขาธิการของแต่ละสภาแยกต่างหากจากกัน คือ “สำนักงานเลขาธิการพฤฒสภา” และ “สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทน” เพื่อรองรับการปฏิบัติหน้าที่ของสภาผู้แทนและพฤฒสภาตามรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๔๘๙ โดยยังไม่มีกฎหมายรองรับการจัดตั้ง แต่เมื่อมีการใช้บังคับพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ.๒๔๘๙ ประธานพฤฒสภาและประธานสภาผู้แทน ได้พิจารณาเห็นว่าถ้ารวมสำนักงานเลขาธิการพฤฒสภาและสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนเข้าด้วยกันแล้ว จะทำให้งานธุรการของทั้งสองสภาดำเนินไปด้วยความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น จึงเสนอความเห็นไปยังรัฐบาลให้รวมสำนักงานซึ่งทำหน้าที่ฝ่ายธุรการของทั้งสองสภาไว้ด้วยกัน ชื่อว่า “สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา” มีฐานะเป็นทบวงการเมือง ขึ้นต่อพฤฒสภาและสภาผู้แทน และอยู่ในบังคับบัญชาของประธานสภานั้น ๆ แล้วแต่กรณี โดยมีเลขาธิการสภาผู้แทนเป็นผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการรัฐสภา
หลังจากนั้น ก็ได้มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับการจัดระเบียบบริหารหน่วยธุรการของรัฐสภาอีกหลายครั้ง จนกระทั่ง วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๓๕ ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ กำหนดให้มีส่วนราชการสังกัดรัฐสภา ได้แก่ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น เป็นผลให้สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา แบ่งออกเป็น ๒ สำนักงาน คือ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาและสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยกำหนดให้เลขาธิการรัฐสภาและรองเลขาธิการรัฐสภา จัดแบ่งอัตรากำลัง กิจการทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ ข้าราชการ ลูกจ้าง และเงินงบประมาณของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาแก่ทั้งสองสำนักงานให้แล้วเสร็จ และเสนอผลการดำเนินการต่อ ก.ร. ภายใน ๑๘๐ วัน ส่งผลให้วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรมีหน่วยธุรการที่แยกจากกันมาจนถึงปัจจุบัน
เพื่อให้การปฏิบัติราชการประจำทั่วไปของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเหมาะสมกับสภาวการณ์ในแต่ละขณะ จึงได้มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับการจัดระเบียบบริหารหน่วยธุรการของรัฐสภามาโดยตลอด เพื่อพัฒนาโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบให้สอดคล้องกับระบบของรัฐสภาและเหมาะสมกับการปฏิบัติราชการยุคใหม่ อันจะทำให้การปฏิบัติราชการของข้าราชการฝ่ายรัฐสภา สามารถตอบสนองต่อภารกิจของฝ่ายนิติบัญญัติได้ตามเจตจำนงของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง
ข้าราชการฝ่ายรัฐสภาสามัญในส่วนราชการสังกัดรัฐสภาในปัจจุบัน
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้กำหนดให้มีส่วนราชการสังกัดรัฐสภา ได้แก่ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น ส่วนราชการเหล่านี้มีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น จากพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวข้างต้น เป็นผลให้ได้มีประกาศรัฐสภา เรื่อง การแบ่งส่วนราชการภายในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๔๕ (แก้ไขเพิ่มเติมล่าสุดเมื่อปี ๒๕๕๖) และประกาศรัฐสภา เรื่อง การแบ่งส่วนราชการภายในสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๔ ลงวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๔ (แก้ไขเพิ่มเติมล่าสุดเมื่อปี ๒๕๕๒) มีสาระสำคัญ คือ ข้าราชการฝ่ายรัฐสภาของส่วนราชการในสังกัดสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แบ่งออกเป็น ๒๒ สำนัก และ ๗ กลุ่มงาน ส่วน ข้าราชการฝ่ายรัฐสภาของส่วนราชการในสังกัดสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา แบ่งออกเป็น ๑๘ สำนัก และกลุ่มงานอิสระ ๓ กลุ่มงาน ปฏิบัติงานขึ้นตรงต่อเลขาธิการวุฒิสภาอีก ๓ กลุ่มงาน
การปฏิบัติงานของข้าราชการฝ่ายรัฐสภาสามัญ
ข้าราชการฝ่ายรัฐสภาสามัญ มีบทบาทอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการประจำทั่วไปของฝ่ายนิติบัญญัติ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๔ และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๔ เช่น
๑. รับผิดชอบงานด้านวิชาการและธุรการของรัฐสภา
๑.๑ งานด้านวิชาการและธุรการในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และการประชุมร่วมกันของรัฐสภา
๑.๒ งานด้านวิชาการและธุรการในการประชุมคณะกรรมาธิการต่าง ๆ
๒. สนับสนุน ส่งเสริม และเผยแพร่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยเฉพาะบทบาทการดำเนินงานทางด้านนิติบัญญัติตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของรัฐสภา
๓. ศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์และวิจัยในเรื่องต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับประกอบการพิจารณาดำเนินการงานของสมาชิกรัฐสภาตามบทบาทและอำนาจหน้าที่
๔. ศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์และวิจัย รวมทั้งการเปรียบเทียบข้อมูลของนานาอารยะประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับสนับสนุนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับวงงานรัฐสภาต่างประเทศของรัฐสภา
๕. ประสานงานกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานตามภารกิจของรัฐสภาและสมาชิกรัฐสภา
๖. ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ ประกาศและคำสั่งได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ในการสนับสนุนและส่งเสริมการปฏิบัติงานตามภารกิจของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เช่น ด้านงบประมาณ บุคลากร และวัสดุอุปกรณ์ เป็นต้น
ในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการฝ่ายรัฐสภาสามัญนั้น สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้บังคับบัญชา และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา มีเลขาธิการวุฒิสภาเป็นผู้บังคับบัญชา ตามลำดับ
นอกจากนี้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๔ ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา” เรียกโดยย่อว่า “ก.ร.” ประกอบด้วย ประธานรัฐสภาเป็นประธานกรรมการ รองประธานรัฐสภา เป็นรองประธานกรรมการ เลขาธิการ ก.พ. เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เลขาธิการวุฒิสภา ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนแปดคนซึ่งสภาผู้แทนราษฎรเลือกจำนวนสี่คน วุฒิสภาเลือกจำนวนสี่คน และผู้แทนข้าราชการรัฐสภาสามัญจำนวนสี่คนซึ่งข้าราชการรัฐสภาสามัญในสังกัดสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเลือกกันเองจำนวนสองคน และข้าราชการรัฐสภาสามัญในสังกัดสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเลือกกันเองจำนวนสองคน เป็นกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่ส่วนราชการสังกัดรัฐสภาเกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารทรัพยากรบุคคลในด้านมาตรฐานค่าตอบแทน การบริหารและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล รวมตลอดทั้งการวางแผนกำลังคนและด้านอื่น ๆ เพื่อให้ส่วนราชการสังกัดรัฐสภาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการ
(๒) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและมาตรฐานการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลของข้าราชการรัฐสภาเพื่อให้ส่วนราชการสังกัดรัฐสภาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการ
(๓) ออกกฎ ก.ร. และระเบียบเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ รวมตลอดทั้งการให้คำแนะนำหรือวางแนวทางในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้กฎ ก.ร. เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
(๔) ตีความและวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการใช้พระราชบัญญัตินี้ รวมตลอดทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติในกรณีที่เป็นปัญหาและแต่งตั้งเป็นข้าราชการรัฐสภา และการกำหนดอัตราเงินเดือนหรือค่าตอบแทน รวมทั้งระดับตำแหน่งและประเภทตำแหน่งสำหรับคุณวุฒิดังกล่าว
(๖) กำกับ ดูแล ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการบริหารทรัพยากรบุคคลของข้าราชการรัฐสภาในส่วนราชการสังกัดรัฐสภา เพื่อรักษาความเป็นธรรมและมาตรฐานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล รวมทั้งตรวจสอบและติดตามการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
(๗) พิจารณาจัดระบบทะเบียนประวัติและแก้ไขทะเบียนประวัติเกี่ยวกับวัน เดือน ปีเกิดและการควบคุมเกษียณอายุของข้าราชการรัฐสภา
(๘) กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการปฏิบัติการเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้
(๙) กำหนดเรื่องการจัดสวัสดิการ การสงเคราะห์อื่น และเงินค่าตอบแทนพิเศษแก่ข้าราชการรัฐสภา
(๑๐) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ ก.ร.
นอกจากการปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ข้อบังคับการประชุม กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว ข้าราชการฝ่ายรัฐสภาสามัญยังต้องรักษาวินัยตามที่กำหนดไว้ในกฎ ก.ร. และมาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่งกำหนดไว้ในประมวลจริยธรรมข้าราชการรัฐสภาอีกด้วย
ประเภทของข้าราชการรัฐสภาสามัญ
ตำแหน่งข้าราชการรัฐสภาสามัญ มี ๔ ประเภท ตามมาตรา ๒๖ ดังต่อไปนี้
(๑) ตำแหน่งประเภทบริหาร ได้แก่ ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการสังกัดรัฐสภา รองหัวหน้าส่วนราชการสังกัดรัฐสภา ผู้ช่วยหัวหน้าส่วนราชการสังกัดรัฐสภา และตำแหน่งอื่นที่ ก.ร. กำหนด
(๒) ตำแหน่งประเภทอำนวยการ ได้แก่ ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการภายในระดับสำนักผู้อำนวยการกลุ่มงาน และตำแหน่งอื่นที่ ก.ร. กำหนดเป็นตำแหน่งประเภทอำนวยการ
(๓) ตำแหน่งประเภทวิชาการ ได้แก่ ตำแหน่งที่จำเป็นต้องใช้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตามที่ ก.ร. กำหนด เพื่อปฏิบัติงานในหน้าที่ของตำแหน่งนั้น
(๔) ตำแหน่งประเภททั่วไป ได้แก่ ตำแหน่งที่ไม่ใช่ตำแหน่งประเภทบริหาร ตำแหน่งประเภทอำนวยการ และตำแหน่งประเภทวิชาการ ทั้งนี้ ตามที่ ก.ร. กำหนด
คุณสมบัติทั่วไปของผู้ที่เข้ารับราชการเป็นข้าราชการรัฐสภาสามัญ
ผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการรัฐสภาสามัญต้องมีคุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ (มาตรา ๓๗ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๔)
ก. คุณสมบัติทั่วไป
(๑) มีสัญชาติไทย
(๒) อายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปี
(๓) เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ
ข. ลักษณะต้องห้าม
(๑) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(๒) เป็นกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่รับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง
(๓) เป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคตามที่กำหนดในกฎ ก.ร.
(๔) เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักราชการหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น
(๕) เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีจนเป็นที่รังเกียจของสังคม
(๖) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๗) เป็นผู้เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๘) เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกจากรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
(๙) เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออกหรือปลดออก เพราะกระทำผิดวินัยตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น
(๑๐) เป็นผู้เคยถูกลงโทษไล่ออก เพราะกระทำผิดวินัยตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น
(๑๑) เป็นผู้เคยกระทำการทุจริตในการสอบเข้ารับราชการหรือเข้าปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ
การบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการรัฐสภาสามัญ
การบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการรัฐสภาสามัญ และการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนั้น เป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๔ มาตรา ๔๒ ซึ่งกำหนดให้ผู้มีอำนาจดังต่อไปนี้ เป็นผู้สั่งบรรจุและแต่งตั้ง
(๑) การบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ให้ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภา แล้วแต่กรณี นำเสนอ ก.ร. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ เมื่อได้รับความเห็นชอบจาก ก.ร. แล้ว ให้ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภา แล้วแต่กรณี เป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
(๒) การบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ ให้ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภา แล้วแต่กรณี นำเสนอ ก.ร. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ เมื่อได้รับความเห็นชอบจาก ก.ร. แล้ว ให้ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภา แล้วแต่กรณี เป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
(๓) การบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่นนอกจาก (๑) และ (๒) ให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เลขาธิการวุฒิสภา หรือหัวหน้าส่วนราชการสังกัดรัฐสภาที่เรียกชื่ออย่างอื่น แล้วแต่กรณี เป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง
การพ้นจากตำแหน่ง
ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๔ มาตรา ๘๐ ข้าราชการรัฐสภาสามัญออกจากราชการ เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) พ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
(๓) ลาออกจากราชการและได้รับอนุญาตให้ลาออก
(๔) ถูกสั่งให้ออก
(๕) ถูกสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออก
บทสรุปปิดท้าย
จากบทความข้างต้นจะเห็นได้ว่า ข้าราชการฝ่ายรัฐสภาสามัญ เป็นบุคลากรที่มีความสำคัญต่อการปกครองในระบบรัฐสภา เพราะเป็นกลไกสนับสนุนการทำงานของสมาชิกรัฐสภา ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ อันจะก่อให้เกิดผลสัมฤทธิในการปฏิบัติงาน ทั้งด้านนิติบัญญัติ ด้านการควบคุมการทำงานของฝ่ายบริหาร รวมถึงการทำงานในด้านอื่นๆ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
จันทมร สีหาบุญลี. ข้าราชการฝ่ายรัฐสภา , [ออนไลน์]. สืบค้นจาก: http://www.kpi.ac.th (เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗)
วิจักขณ์ นาควัชระ, คำบรรยาย เรื่อง โครงสร้าง ระบบงาน อำนาจหน้าที่และความก้าวหน้าของข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักบริหารงานกลาง สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ๒๕๔๖.
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๔
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๔
สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. ประวัติและพัฒนาการโครงสร้างหน้าที่ความ รับผิดชอบของหน่วยธุรการรัฐสภาไทย ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๕ - ๒๕๕๐ เล่มที่ ๑”. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๒๕๕๑.
สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. ประวัติและพัฒนาการโครงสร้างหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยธุรการรัฐสภาไทย ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๕ - ๒๕๕๐ เล่มที่ ๒”. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๒๕๕๑.
ศูนย์บริการทางวิชาการและกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา, สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา. กรุงเทพ : กองการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา, ๒๕๑๙.
บรรณานุกรม
วิจักขณ์ นาควัชระ, คำบรรยาย เรื่อง โครงสร้าง ระบบงาน อำนาจหน้าที่และความก้าวหน้าของข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักบริหารงานกลาง สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ๒๕๔๖.
สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. ประวัติและพัฒนาการโครงสร้างหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยธุรการรัฐสภาไทย ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๕ - ๒๕๕๐ เล่มที่ ๑”. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๒๕๕๑.
ศูนย์บริการทางวิชาการและกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา, สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา. กรุงเทพ : กองการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา, ๒๕๑๙.