หลวงคหกรรมบดี

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้แต่ง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


วันนี้มาคุยเรื่องคนการเมืองกันบ้าง ?? 

เอ่ยชื่อหลวงคหกรรมบดี วันนี้อาจมีคนรู้จักไม่มาก ด้วยเหตุนี้จึงขอหยิบยกเอามาเล่าถึงคนการเมืองคนนี้ ใครๆก็ทราบดีกันแล้วว่า ในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2475 เมื่อมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว ชุดแรก และมีประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของไทย คือ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีแล้ว สภาผู้แทนราษฎรก็มีเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนแรกคือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์

          งานแม่บ้านสภาผู้แทนราษฎรหรือเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่นายปรีดี พนมยงค์เป็นอยู่นี้มีคนที่ช่วยทำงานท่านหนึ่งที่สำคัญชื่อ หลวงคหกรรมบดี ซึ่งท่านได้เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรต่อมาเลยในวันรุ่งขึ้น ดังความที่ปรากฏในหนังสืองานศพของท่านว่า

" ..สำหรับเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรนั้น ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ขออนุมัติต่อที่ประชุมให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ( นายปรีดี พนมยงค์) ดำรงตำแหน่งเป็นการชั่วคราวไปก่อน แล้วให้หลวงคหกรรมบดี
(นายชม จารุรัตน์) ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนต่อไปในวันรุ่งขึ้น คือ ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา นายชวน จารุรัตน์  ได้ดำรงตำแหน่งนี้ จนถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2485 .."

          แต่ยังมีบางท่านระบุว่าหลวงคหกรรมบดีได้เป็นเลขาธิการสภาฯตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ถึงวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2485

หลวงคหกรรมบดีเป็นใครมาจากไหนจึงขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน อยู่ในกลุ่มผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯด้วยหรือไม่  เปิดประวัติท่านออกมาดูก็พอจะเห็นความสัมพันธ์ ท่านเป็นนักเรียนนอก ไปเรียนที่ประเทศฝรั่งเศสในช่วงเวลาเดียวกันกับที่นายควง อภัยวงศ์ และนายปรีดี พนมยงค์ ไปเรียนที่ประเทศฝรั่งเศส และมีที่พักอยู่ที่บริเวณ "การ์ติเอ ลาแตง" ดังที่ในประวัติระบุไว้

          "..นายชม จารุรัตน์ได้เช่าห้องพักอยู่ในเขต 'Quartier Latin นครปารีส มีห้องพักใกล้กับห้องพักของนายปรีดี พนมยงค์ นักศึกษากฎหมายทุนกระทรวงยุติธรรม และที่ห้องพักของคนใดคนหนึ่งในสองคนนี้ก็ได้มีนายควง อภัยวงศ์ เพื่อนที่ร่วมเดินทางมากับเรือ "มิเตา" และกำลังศึกษาวิชาวิศวกรรมอยู่ที่เมืองลีออง (Lyon) นั้นเมื่อมาปารีส ก็จะมาพักอยู่เป็นประจำโดยไม่ต้องไปเช่าโรงแรม ทำให้สามคนนี้เป็นเพื่อนรักสนิทสนมกันเป็นพิเศษ เที่ยวเตร่กินนอนอยู่ด้วยกัน"

          แต่ถึงจะเป็นนักเรียนฝรั่งเศสยุคนั้นและเป็นเพื่อนสนิทกับผู้ก่อการฯสำคัญทั้งสองท่าน หลวงคหกรรมบดีก็มิได้ร่วมเป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงฯ เพราะเมื่อเรียนจบทั้งทางด้านรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์กลับมาจากฝรั่งเศสแล้ว นายชม จารุรัตน์ ได้มาทำงานที่กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม และต่อมาได้เป็นอำมาตย์ตรี มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงคหกรรมบดี ที่สำคัญคือได้เป็น"เลขานุการเสด็จในกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน" ผู้ซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมอยู่ในตอนนั้น อาจเป็นเพราะมีตำแหน่งที่ใกล้ชิดมากกับกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน จึงทำให้เมื่อกลับมาเมืองไทยแล้ว เพื่อนๆไม่กล้าไปชวนหลวงคหกรรมบดี หรือ นายชม จารุรัตน์ ของเพื่อนเก่าสมัยที่ปารีสมาร่วมงานการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

กระนั้นเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ โดยยึดอำนาจได้สำเร็จในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475แล้ว วันรุ่งขึ้นหลวงคหกรรมบดีก็ถูกเพื่อนตามเข้ามาร่วมงานทันทีที่พระที่นั่งอนันตสมาคม และในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2475 เมื่อมีการประกาศรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว จำนวน 70 คน จึงมีชื่อหลวง
คหกรรมบดีเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ด้วย

แม้จะไม่ได้เป็นผู้ก่อการฯ แต่ก็เป็นคนที่คณะผู้ก่อการฯวางใจ และเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ในระยะเวลาที่คณะราษฎรมีอำนาจทางการเมืองอยู่ประมาณ 14 ปีนั้น หลวงคหกรรมบดีนั้นก็ได้เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรอยู่เป็นเวลานานเกือบ 9 ปี ทั้งตอนที่มีการประชุมพิจารณาเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ เมื่อปี 2476 โดยตั้งคณะ "กรรมานุการ" มาพิจารณานั้น ในจำนวนกรรมการ 14 คนซึ่งเป็นคนสำคัญทางการเมืองยุคนั้น ที่เข้าประชุมก็มีหลวงคหกรรมบดี ร่วมอยู่ด้วย

มีคนเชื่อกันว่าหลวงคหกรรมบดีน่าจะสนิทกับนายควง อภัยวงศ์ มาก เพราะต่อมาท่านได้ไปดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม ในสมัยที่นายควง อภัยวงศ์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตอนนั้นมีหลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2489 นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี หลวงคหกรรมบดีก็มาเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและเป็นรัฐมนตรีอยู่พร้อมกันไป

นายควง อภัยวงศ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี หลังการรัฐประหาร พ.ศ.2490 หลวงคหกรรมบดีก็กลับมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และหลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2491 ในรัฐบาลนายกรัฐมนตรี ควง อภัยวงศ์ ท่านก็ได้เปลี่ยนตำแหน่งมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นตำแหน่งการเมืองตำแหน่งสุดท้ายของท่าน เมื่อนายควง อภัยวงศ์ ถูกคณะรัฐประหารจี้ให้ลาออก ท่านจึงพ้นการเมืองตั้งแต่ พ.ศ.2491

ท่านออกมาทำงานที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ตั้งแต่ 14 ธันวาคม 2497 จนอายุ 65 ปี 15 กรกฎาคม 2516  และเสียชีวิต เมื่อ 10 มกราคม 2522

ที่มา

หนังสือ “คนการเมือง”