ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 10:23, 4 ตุลาคม 2554 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง สุมาลี พันธุ์ยุรา


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ

จอมพลสฤษดิ์ ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิวัติเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 11 ของประเทศไทยในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2502 ภายหลังจากที่คณะปฏิวัติได้บริหารประเทศด้วยการประกาศกฎอัยการศึกมาเป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ในช่วงที่จอมพลสฤษดิ์ปกครองประเทศ ทักษ์ เฉลิมเตียรณเห็นว่า ระบบการเมืองที่จอมพลสฤษดิ์และพรรคพวกนำมาใช้กับประเทศไทยนั้น เป็นการปฏิวัติในแง่ที่ว่าเป็นการล้มล้างระบบการเมืองทั้งระบบซึ่งตกทอดมาจากพ.ศ.2475 และได้สร้างระบบการปกครองที่สามารถจะเรียกได้ว่าเป็นแบบไทย ๆ มากขึ้น

อุดมการณ์ทางการเมืองพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นบุคคลที่เป็นผลผลิตภายในประเทศ คือ เป็นผู้ที่ไม่ได้รับการศึกษาจากประเทศตะวันตก ดังนั้นแนวคิดประชาธิปไตยแบบตะวันตกและลัทธิเสรีนิยมจึงเป็นสิ่งที่ไม่ได้ปลูกฝังอยู่ในจิตใจของจอมพลสฤษดิ์เหมือนดังเช่นผู้นำรุ่นการปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475 ประกอบกับอาชีพทหารและวิถีชีวิตทหารที่เน้นหนักไปในทางใช้อำนาจมาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และกล่าวได้ว่าความล้มเหลวของคณะราษฎรในพ.ศ.2475 ได้นำไปสู่ข้อสรุปขั้นต้นในจิตใจของจอมพลสฤษดิ์ว่า การเมืองไทยต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการเมืองไทยและความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมแบบไทยที่มิใช่แบบตะวันตก นั่นก็คือ การปกครองที่เป็นไปในรูปแบบของประชาธิปไตยแบบไทยนั่นเอง

รูปแบบของ “ระบอบประชาธิปไตยแบบไทย”นี้ เป็นผลสะท้อนมาจากแนวความคิดและความเข้าใจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ต่อสิ่งที่คิดว่าเป็นระบบการเมืองที่ถูกต้อง และเนื่องจากจอมพลสฤษดิ์เป็นผู้หนึ่งที่เลื่อมใสในประวัติศาสตร์มาก ตลอดจนความเข้าใจของจอมพลสฤษดิ์เกี่ยวกับระเบียบสังคมการเมืองที่ได้รับอิทธิพลมาจากหลวงวิจิตรวาทการหลังสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งเป็นเรื่องของการแสวงหารูปแบบของการปกครองในสมัยโบราณที่อาจนำมาใช้ได้กับการพัฒนาประเทศ ความคิดดังกล่าวผนวกเข้ากับภูมิหลังทางการศึกษาภายในประเทศและประสบการณ์ทางการเมืองในฐานะนายทหารผู้ค่ำหวอดกับการใช้กำลังของจอมพลสฤษดิ์ ทำให้พอสรุปถึงความเข้าใจทางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ต่อรูปแบบของสังคมการเมืองไทยว่าประกอบขึ้นด้วยรัฐ/รัฐบาล ข้าราชการ และประชาชน[1]

ในทัศนะของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยควรที่จะเป็นไปในรูปแบบที่รัฐบาลหรือฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ อีกทั้งประเทศชาติจะเป็นระเบียบไม่ได้ถ้ายังมีระบบพรรคการเมืองที่แบ่งแยกตามแนวตั้ง แต่ควรที่จะต้องอาศัยการแบ่งตามแนวนอนระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองด้วย ซึ่งจอมพลสฤษดิ์เห็นว่า ประเทศควรแบ่งออกเป็นสามชั้น คือ รัฐ/รัฐบาล ข้าราชการ และประชาชน โดยเชื่อว่า รัฐบาลจำเป็นต้องมีอำนาจสูงสุดและมีหน้าที่ในการวางนโยบายที่สำคัญ ๆ งานที่สำคัญของรัฐบาลคือ จะต้องทำให้มีเสถียรภาพทางการเมืองและธำรงไว้ซึ่งความเป็นปึกแผ่นของชาติ ในขณะที่ระบบราชการจะต้องถูกทำให้กลายมาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบไทย เพราะระบบราชการถือว่ามีหน้าที่เป็นตัวแทนและปฏิบัติตามคำบัญชาของผู้ปกครองโดยตรง จึงต้องยอมรับการชี้แนวทางการปฏิบัติจากรัฐบาล โดยเฉพาะจากตัวผู้นำเป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้บรรดาข้าราชการทั้งหลายจึงไม่ได้มีความหมายในแง่ของการเป็นผู้รับใช้หรือผู้ให้บริการแก่ประชาชน หากแต่จะมีความหมายไปในลักษณะของการเป็นผู้รับใช้รัฐบาลเป็นสำคัญ เช่น ข้าราชการจะต้องรวบรวมข่าวสารเพื่อนโยบายของรัฐบาล บริหารงานตามนโยบายของรัฐบาล รับใช้ประชาชนตามขอบข่ายงานที่เบื้องบนได้วางไว้[2] ดังที่ปรากฏในคำปราศรัยของจอมพลสฤษดิ์ที่ได้ไว้ให้แก่บรรดาข้าราชการท้องถิ่นดังนี้

“...ระบบการปกครองของไทยเราตั้งแต่โบราณมาก็ถือว่าเจ้าบ้านผ่านเมืองเป็นหูเป็นตาของรัฐบาล ซึ่งคำโบราณพูดว่า “ต่างหูต่างตา” อันที่จริงไม่แต่เพียงต่างหูต่างตาเท่านั้น การปกครองสมัยโบราณของไทยเรายังมีตำแหน่ง “ข้าหลวงต่างใจ” หมายความว่า พวกข้าหลวงผู้ว่าราชการยังต้องเป็นดวงใจที่จะตริตรึกนึกคิดแทนรัฐบาลที่อยู่ห่างไกลอีกด้วย

ในสมัยนี้ก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัฐบาลปฏิวัติ ซึ่งข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่นี้ ข้าพเจ้าถือว่าท่านทั้งหลายเป็นหูเป็นตาและเป็นดวงใจของข้าพเจ้าที่มอบไว้แก่ราษฎรทั้งหลาย ความผาสุกอยู่ดีกินดีของราษฎรเป็นเรื่องที่ฝังอยู่ในดวงใจของข้าพเจ้าอย่างแนบแน่น ข้าพเจ้าขอให้ท่านทั้งหลายเป็นตัวแทนดวงใจของข้าพเจ้า ซึ่งจะให้ความรักเอาใจใส่แก่ราษฎร ช่วยข้าพเจ้าดู ช่วยข้าพเจ้าฟัง และที่สำคัญที่สุด คือ ช่วยข้าพเจ้าคิด ว่าทำอย่างไรจึงจะสร้างความผาสุกของราษฎรได้ทั่วไป...”[3]

สำหรับประชาชนนั้นได้ถูกจำกัดบทบาททางการเมืองลง และหากจะมีบทบาทได้ต้องดำเนินไปภายใต้การควบคุมดูแลหรือการยินยอมจากรัฐบาลเท่านั้น นอกจากนี้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ยังเห็นว่า รัฐบาลเป็นผู้มีหน้าที่วางโครงการและกำหนดแนวทางต่าง ๆ ที่จะทำให้ประเทศทันสมัยและเจริญรุ่งเรือง ดังจะเห็นได้จากคำขวัญต่าง ๆ ที่เผยแพร่ออกมาทางวิทยุ โทรทัศน์และแผ่นป้ายขนาดใหญ่ เช่น “กินดี อยู่ดี มีงานทำ” หรือ “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ” เป็นต้น โดยที่รัฐบาลต้องตัดสินใจกระทำการต่าง ๆ อย่างเป็นอิสระเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการและความปรารถนาของประชาชน และจะต้องใส่ใจในความต้องการโดยตรงของประชาชน ทั้งในแผนระยะยาวและนโยบายต่าง ๆ เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องคำนึงถึง

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เชื่อว่า ระบบการเลือกตั้งและระบบพรรคการเมืองไม่เหมาะสมกับประเทศไทย เพราะจะทำให้เกิดการแตกแยก ทางออกของปัญหานี้คือ ควรต้องให้อำนาจกับรัฐบาลมากขึ้น โดยเห็นว่ารัฐเป็นสถาบันที่กำหนดว่าอะไรคือเจตนารมณ์ของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ โดยมีเป้าหมายที่สำคัญอยู่ที่ความมั่นคงและเสถียรภาพทางการเมือง แนวความคิดเหล่านี้ในทางปฏิบัติแล้ว จอมพลสฤษดิ์เชื่อว่า ผู้นำคือนายกรัฐมนตรีซึ่งต้องมีอำนาจที่เด็ดขาด โดยอำนาจตั้งอยู่บนหลักของความเป็นธรรม ซึ่งในสังคมไทยก็คือการทำหน้าที่ของพ่อที่ต้องปกครองบุตรให้ได้รับความสงบสุข[4]

กล่าวได้ว่านับตั้งแต่การทำรัฐประหารในพ.ศ.2501 เป็นความเคลื่อนไหวของคณะปฏิวัติภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ที่จะนำประเทศไทยกลับไปสู่แนวความคิดแบบโบราณทั้งในด้านรากฐานของประเทศและรัฐบาล มีการแสวงหาความชอบธรรมในทางที่จะนำเอาระบบพ่อลูกสมัยสุโขทัย คือ พ่อบ้านหรือพ่อเมืองมาใช้ โดยที่จอมพลสฤษดิ์มักจะเทียบเคียงการปกครองแบบบิดากับบุตรและการปกครองที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร กับประเทศเสมอ ดังสุนทรพจน์ที่จอมพลสฤษดิ์ชอบกล่าวอยู่บ่อยครั้งที่สุด คือ “...นายกรัฐมนตรีก็คือพ่อบ้านของครอบครัวใหญ่ที่สุด มีความรับผิดชอบกว้างขวางที่สุด และต้องดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องร่วมชาติร่วมประเทศอย่างใกล้ชิดที่สุด”[5]

การให้เหตุผลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในการเสนอให้มีการจัดระเบียบการเมืองการปกครองของไทยในลักษณะการปกครองแบบพ่อปกครองลูกดังเช่นในสมัยสุโขทัยนั้น ก็คือการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองที่มีพื้นฐานอยู่บนประวัติศาสตร์และจารีตดั้งเดิมของสังคมไทย ซึ่งจอมพลสฤษดิ์เชื่อมั่นว่าเป็นการประยุกต์แนวความคิดประชาธิปไตยให้เข้ากับจารีตประเพณีการปกครองดั้งเดิมของไทยและวัฒนธรรมไทย[6] การนำเอาจารีตประเพณีดังกล่าวมาผสมผสานเข้ากับแนวคิดประชาธิปไตย ส่งผลให้จอมพลสฤษดิ์ถูกยกฐานะให้เป็นเสมือน ”พ่อ”ของคนไทยทุกคน หรืออีกนัยหนึ่งมีฐานะเป็น “พ่อขุน” ที่เปี่ยมไปด้วยความเป็นธรรมและความเมตตาที่ต้องปกครองครอบครัวที่ใหญ่ที่สุดซึ่งก็คือชาติ และการเป็น”พ่อขุน”ยังทำให้ จอมพลสฤษดิ์จำเป็นต้องมีหน้าที่ปกครอง “ลูก” ให้ได้รับความสุขอีกด้วย แนวความคิดดังกล่าวของจอมพลสฤษดิ์สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนในคำกล่าวเปิดการประชุมในการอบรมกำนัน 4 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนี้

“กำนันเป็นบุคคลสำคัญมากในสายการปกครอง เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับราษฎร เป็นสายสามพันธ์ระหว่างราษฎรกับรัฐบาล ที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นมาด้วยความนิยมนับถือของราษฎรจริง ๆ เป็นผู้ที่รักษาระบอบการปกครองเก่าและของใหม่ให้ประสานกัน เพราะว่าประเพณีการปกครองของไทยเราแต่โบราณมาได้ถือระบบพ่อปกครองลูก เราเรียกพระมหากษัตริย์ว่า “พ่อขุน” หมายความว่า เป็นพ่อที่สูงสุด ต่อมาก็มีพ่อเมืองคือผู้ว่าราชการจังหวัด ต่อไปถึงพ่อบ้าน คือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในที่สุดก็ถึงพ่อเรือนคือหัวหน้าครอบครัว ซึ่งถือเป็นสำคัญมาก...แม้ในสมัยนี้จะได้มีระบบการปกครองเรียกชื่อเป็นอย่างอื่น ไม่เรียกว่า “พ่อ” เหมือนแต่ก่อน ข้าพเจ้ายังยึดมั่นนับถือคติและประเพณีโบราณของไทยเราในเรื่องพ่อปกครองลูกเสมอ ข้าพเจ้าเคยพูดบ่อย ๆ ว่าชาติเป็นเสมือนครอบครัวใหญ่ ผู้ปกครองไม่ใช่อื่นไกล คือหัวหน้าครอบครัวใหญ่นั่นเอง...ต้องถือว่าราษฎรทุกคนเป็นลูกหลาน ต้องมีความอารีไมตรีจิต เอาใจใส่ในทุกข์สุขของราษฎรเท่ากับเป็นบุตรหลานในครอบครัวของตัวเอง ตัวข้าพเจ้าเองไดัยึดมั่นในหลักการนี้เป็นที่สุดไม่ว่าจะเกิดทุกข์ภัยหรือเหตุการณ์สำคัญขึ้นที่ไหน ข้าพเจ้าพยายามไปถึงที่นั่น ดูแลอำนวยการบำบัดทุกข์ภัยด้วยตนเอง ข้าพเจ้าพยายามเข้าถึงราษฎรและเอาใจใส่ในความเป็นอยู่ของราษฎร เหมือนหนึ่งว่าเป็นครอบครัวของข้าพเจ้าเองเสมอ...” [7]

หัวใจสำคัญของการปกครองบ้านเมืองในทัศนะของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือ ขึ้นอยู่กับตัวผู้ปกครองหรือพ่อขุนซึ่งมีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครอง โดยที่ข้าราชการและประชาชนมีหน้าที่ดำเนินการตามนโยบายและรับเอาสิ่งที่เป็นความอุปถัมภ์จากรัฐบาลหรือผู้นำรัฐบาล[8]

ในขณะเดียวกันจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ก็เชื่อว่า “พ่อ” ก็สามารถใช้อำนาจเด็ดขาดหากบุตรคนใดไม่เชื่อฟัง ซึ่งการลงโทษนั้นก็เพื่อทำให้บุตรสามารถกลับตัวเป็นคนดีต่อไป ดังจะเห็นได้จากคำกล่าวของจอมพลสฤษดิ์ที่ให้โอวาทแก่กลุ่มอันธพาลในโอกาสที่ได้รับการปลอดปล่อยออกมาจากเรือนจำ ดังมีใจความว่า “ข้าพเจ้าไม่ได้เกลียดชังท่านทั้งหลาย เพราะท่านจะเป็นอันธพาลหรือเป็นอะไร ท่านก็เป็นเพื่อนร่วมชาติร่วมประเทศของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถืออยู่เสมอว่าชาติเป็นเสมือนครอบครัวอันใหญ่ จะเป็นบุญหรือกรรมก็ตามที ข้าพเจ้าเผอิญต้องมารับหน้าที่หัวหน้าครอบครัวในเวลานี้ ข้าพเจ้าให้ความรักใคร่ไมตรีทั่วถึงกันทุกคน แต่ถ้าคนในครอบครัวนี้เองทำความเดือดร้อนแก่คนส่วนใหญ่ในครอบครัว ข้าพเจ้าก็ต้องกำหราบปราบปราม การกระทำของข้าพเจ้าในการสั่งจับท่านมาคุมขัง ก็เพื่อปราบปรามให้ท่านเป็นคนดีต่อไป”[9]

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในฐานะพ่อขุนที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชน

ในฐานะของการเป็นพ่อขุน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้พยายามสร้างกิจกรรมขึ้นหลายประการเพื่อรองรับกับแนวความคิดในเรื่องพ่อปกครองลูก กล่าวคือ

ประการแรก ในฐานะของพ่อขุนที่คอยช่วยเหลือลูกๆ (ประชาชน)[10] จอมพลสฤษดิ์ได้ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ภายหลังการรัฐประหารในพ.ศ.2501 อาทิเช่น มีคำสั่งให้ลดอัตราค่ากระแสไฟฟ้าในย่านกรุงเทพฯ-ธนบุรีภายในไม่กี่วันหลังการรัฐประหาร นอกจากนี้ ได้ออกพระราชกฤษฎีกาให้แต่ละครอบครัวได้รับน้ำฟรีเดือนละ 30 ปี๊บ ลดอัตราค่าโทรศัพท์ ค่ารถไฟ และค่าเล่าเรียน

นอกจากนี้ คณะปฏิวัติภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ประกาศสั่งให้เทศบาลยกเลิกภาษีบางประเภท ค่าธรรมเนียมทะเบียน และค่าธรรมเนียมการบริการของราชการ ในส่วนของครอบครัวที่ยากจนก็ได้รับบริการฟรีในเรื่องยาและการรักษาสุขภาพต่าง ๆ ที่โรงพยาบาล อีกทั้งเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์และนักเรียนพยาบาลก็ได้รับคำแนะนำให้ออกไปเยี่ยมเยือนครอบครัวที่ยากจนเพื่อช่วยเหลือในการทำคลอดและแนะนำปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ รวมไปถึงแนะนำให้เทศบาลแจกจ่ายตำราเรียนฟรีให้แก่เด็กนักเรียนที่ยากจนตามโรงเรียนต่าง ๆ ภายในเขตเทศบาล จำนวน 30 แห่ง ในส่วนของความช่วยเหลือแก่ข้าราชการ ได้เสนอให้จำกัด วันทำงานของข้าราชการพลเรือนให้เหลือเพียง 5 วัน ให้จ่ายเงินพิเศษแก่ผู้ที่มีบุตรมาก และให้ตั้งกองทุนสงเคราะห์สำหรับข้าราชการพลเรือนระดับล่างได้กู้ยืม

ในส่วนของการดูแลและช่วยเหลือประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคและเป็นพ่อค้าแม่ค้านั้น เพื่อลดราคาสินค้าประเภทอาหาร จอมพลสฤษดิ์ได้สั่งให้เปิดตลาดแห่งใหม่ ๆ ขึ้นตามตลาดนัดวันอาทิตย์ที่มักจะเปิดร้านที่สนามหลวง อนุญาตให้บรรดาพ่อค้าสามารถนำเอาสินค้าของตนมาขายให้แก่ประชาชนโดยตรงซึ่งไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ตลาดกลางแจ้งที่ขายทั้งอาหารและเครื่องนุ่งห่มนั้นจัดตั้งขึ้นในเขตที่ดินของรัฐบาล พ่อค้าที่นำสินค้าเข้ามาขายเพียงแต่จ่ายค่าธรรมเนียมเล็กน้อย นอกจากนี้ยังได้ออกพระราชกฤษฎีกาให้ลดราคากาแฟขายปลีกจากราคา 70 สตางค์ เหลือ 50 สตางค์ต่อแก้ว ซึ่งในขณะนั้นกาแฟดำเย็นเป็นเครื่องดื่มที่นิยมกันมากในประเทศไทย และการลดราคาลงเช่นนี้นับว่าเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเอาใจใส่ของ จอมพลสฤษดิ์ต่อความต้องการเล็ก ๆ น้อย ๆ ของประชาชนภายในประเทศ

ประการที่สอง ในฐานะของพ่อขุนที่ช่วยรักษาความเรียบร้อยภายในครอบครัว(ประเทศ)[11] จอมพลสฤษดิ์เชื่อว่า ความสะอาดและความเรียบร้อยของหมู่บ้านหรือเมืองย่อมหมายถึงคนในเมืองนั้นมีความเจริญรุ่งเรืองและทันสมัย ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ต้องการที่จะสร้างบรรยากาศทางสังคมอันจะนำมาซึ่งความเป็นผู้นำของตน ทันทีหลังการรัฐประหารในพ.ศ.2501 จอมพลสฤษดิ์ได้ออกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21และฉบับที่ 43 ซึ่งมีใจความว่า อันธพาลเป็นการบ่อนทำลายสังคมและประชาชน การขจัดพวกอันธพาลออกไปให้หมดสิ้นเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยส่งเสริมความผาสุกของราษฎร โดยมีการจับกุม สอบสวน กักขัง และควบคุมตัวอันธพาลไปไว้ที่สถานฝึกอบรม

นอกจากนี้ในทัศนะของจอมพลสฤษดิ์ยังเห็นว่า ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนสามารถใช้ชีวิตของตนอย่างเรียบร้อย”ตามประเพณีนิยม” ดังนั้นวัฒนธรรมตะวันตกที่หลั่งไหลเข้ามาภายในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นการไว้ผมยาว การนุ่งกางเกงรัดรูป การสวมเสื้อผ้าสีฉูดฉาด การเล่นดนตรีแบบร็อคแอนด์โรล การเต้นรำแบบทวิสต์ การเต้นรำประจำสัปดาห์ที่สวนลุมพินี การเที่ยวตามสถานเริงรมย์ ล้วนถูกปฏิเสธจากรัฐบาลและกลายเป็นสิ่งต้องห้ามในสายตาของรัฐบาล ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีงามสำหรับเยาวชน รวมไปถึงแหล่งอบายมุขและซ่องโสเภณีต่างถูกกวดขันอย่างหนัก เนื่องจากจอมพลสฤษดิ์เห็นว่าเป็นแหล่งส่งเสริมอาชญากรรม โดยที่จอมพลสฤษดิ์สั่งให้จับกุมโสเภณีและส่งไปฝึกอบรมยังสถานฝึกอาชีพตามที่ต่างๆ

การรักษาความเรียบร้อยในทัศนะของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ยังรวมไปถึงกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งปรากฏให้เห็นจากการดำเนินนโยบายรักษาบ้านเมืองให้สะอาดเรียบร้อย เช่น การสั่งยกเลิกอาชีพสามล้อในเขตพระนครเพราะเห็นว่าคนเหล่านี้ละทิ้งอาชีพเกษตรกรในชนบทแล้วมาอาศัยอยู่ในพระนคร เช่น อาศัยอยู่ตามวัด โรงรถ ปลูกกระต๊อบข้างถนนหรือปลูกเพิงใต้สะพาน ทำให้บ้านเมืองสกปรก นอกจากนี้ยังสั่งให้มีการทำความสะอาดถนนบ่อยครั้ง การขจัดขอทาน การกำจัดสุนัขกลางถนน การจับกุมคนที่เป็นโรคเรื้อนและส่งไปยังศูนย์ควบคุมโรคเรื้อน การปรับเงินสำหรับผู้ที่ทิ้งสิ่งปฏิกูลตามถนน ความเลื่อมใสของประชาชนที่มีต่อ จอมพลสฤษดิ์ในฐานะพ่อขุนมีเพิ่มขึ้น เมื่อจอมพลสฤษดิ์จับกุมบุคคลที่ทิ้งเศษขยะลงบนท้องถนนด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เทศบาลคอยตรวจตราและปราบปรามบ้านเรือนต่าง ๆ ที่ตากเสื้อผ้าไว้ตามระเบียงและปลูกต้นไม้โดยไม่ดูแลรักษา ตลอดจนสั่งการให้เจ้าหน้าที่เทศบาลจัดสวนและทำบ้านเมืองให้สวยงามด้วยการสร้างน้ำพุขึ้นตามถนนหลวง เป็นต้น

การดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศโดยเฉพาะ ในด้านการป้องกันอัคคีภัยและการสั่งประหารชีวิตคนวางเพลิง ทำให้ความนิยมของประชาชนที่มีต่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์มีมากขึ้น จอมพลสฤษดิ์เห็นว่าการเกิดเพลิงไหม้เป็นความจำเป็นที่ต้องจัดการอย่างเร่งด่วนและเฉียบขาด ด้วยเหตุนี้เมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้น ณ ที่ใด จอมพลสฤษดิ์มักจะเดินทางไปอำนวยการดับเพลิงและทำการสอบสวนด้วยตนเอง และเมื่อสอบสวนแล้วพบว่าผู้นั้นเป็นผู้ลอบวางเพลิงก็จะถูกตัดสินประหารชีวิตโดยการยิงเป้า การลงโทษผู้ลอบวางเพลิงของ จอมพลสฤษดิ์สามารถเรียกความนิยมได้จากประชาชน โดยแสดงให้เห็นว่าตนเองห่วงใยต่อ สวัสดิภาพของประชาชน ความเฉียบขาดของจอมพลสฤษดิ์ในเรื่องนี้ได้ผลมาก เพราะประชาชนส่วนใหญ่ชมเชยจอมพลสฤษดิ์ว่าเป็นผู้ที่มีความพยายามจัดการกับปัญหาอัคคีภัยและปราบปรามผู้ลักลอบวางเพลิง ส่งผลทำให้จอมพลสฤษดิ์ได้รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้ไม่ว่ากรณีที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ และที่สำคัญคือจอมพลสฤษดิ์จะออกไปอำนวยการด้วยตนเองไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน หรือไม่ว่าจะเจ็บไข้หรือสุขสบาย จอมพลสฤษดิ์ก็มักจะไปปรากฏตัวให้เห็นในที่เกิดเหตุอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ชื่อเสียงของจอมพลสฤษดิ์จึงแพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวางเพราะความสนใจและความเอาใจใส่ในเรื่องเพลิงไหม้ และประชาชนก็ดูจะมีความเชื่อถือว่า จอมพลสฤษดิ์เป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ตามแบบฉบับของพ่อขุน

ประการที่สาม ในฐานะของพ่อขุนที่ส่งเสริมสุขภาพและศีลธรรมแก่ลูก ๆ (ประชาชน)[12] จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ดูแลกวดขันเกี่ยวกับยาเสพติด เช่น ฝิ่นและเฮโรอีน ดังที่ปรากฏในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 37[13] ซึ่งระบุว่า “ด้วยคณะปฏิวัติได้พิจารณาเห็นว่า การเสพย์ฝิ่นเป็นที่รังเกียจในวงการสังคม และเป็นอันตรายแก่สุขภาพและอนามัยอย่างร้ายแรง ประเทศต่าง ๆ ได้พยายามเลิกการเสพย์ฝิ่นโดยเด็ดขาดแล้ว จึงเห็นเป็นการสมควรให้เลิกการเสพย์ฝิ่นและการจำหน่ายฝิ่นในประเทศไทยเสีย” รวมทั้งการสั่งให้ยุบร้านจำหน่ายฝิ่นและโรงยาฝิ่นต้องถูกปิดอย่างถาวร อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการสูบฝิ่นถูกเผาทำลายที่ท้องสนามหลวง พร้อมกันนั้นรัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์บำบัดรักษาและสถานพักฟื้นสำหรับผู้เสพฝิ่น และเพื่อประกันว่ามีการดูแลและควบคุมยาเสพติดอย่างเข้มงวด จอมพลสฤษดิ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการปราบยาเสพติดและก่อตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นในกองปราบปรามอาชญากรรมของกรมตำรวจ เพื่อจัดการกับการลักลอบเสพและค้ายาเสพติดที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายทุกประเภท รวมไปถึงได้สั่งให้มีการจับกุมผู้ที่ผลิตเฮโรอีนและมีบทลงโทษด้วยการประหารชีวิต นอกจากนี้ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 50[14] ได้ระบุว่า การเปิดบริการของสถานบริการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานบริการอาบน้ำ โรงแรม บังกาโล สถานเต้นรำ สโมสร โรงมหรสพหลายแห่ง เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายและส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

ประการที่สี่ ในฐานะของพ่อขุนที่ออกเยี่ยมเยือนครอบครัวหรือประชาชนในท้องที่ต่าง ๆ[15] เพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางการเมืองและความสามัคคีภายในชาติ ซึ่งในขณะนั้นความแตกแยกทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายในประเทศและสถานการณ์อันไม่มั่นคงในอินโดจีนได้คุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ และเพื่อทำให้ความขัดแย้งภายในประเทศและความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนและระหว่างถิ่นลดน้อยลง จอมพลสฤษดิ์จึงได้วางแผนเพื่อทำให้ประเทศเกิดความมั่นคงด้วยการเดินทางออกไปเยี่ยมเยือนประชาชนตามหัวเมืองต่าง ๆ เป็นการส่วนตัว เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนเองมีความห่วงใยประชาชนในทุก ๆ ภาค และต้องการที่จะเห็นสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของประชาชนด้วยตาตัวเอง ซึ่งนับว่าเป็นเป้าหมายในขอบข่ายที่พ่อขุนพึงดูแลทุกข์สุขของประชาชนทั้งประเทศและนับว่าเป็นวิถีทางในขอบข่ายที่เป็นการประกันความสามัคคีในชาติเมื่อเผชิญกับภยันตรายภายนอก

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ให้ความสนใจต่อปัญหาของประชาชนตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพราะจอมพลสฤษดิ์ตระหนักดีว่าในเวลาที่ผ่านมานั้น ในบริเวณภาคต่าง ๆ ที่อยู่นอกเขตเมืองหลวงได้รับความสนใจน้อยมากจากรัฐบาล โดยเฉพาะในพื้นภาคอีสานเป็นบริเวณที่รัฐบาลในสมัยก่อนหน้าจอมพลสฤษดิ์ไม่ได้ให้การเหลียวแลอย่างจริงใจ จนบ่อยครั้งก่อให้เกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะการต่อต้านอำนาจรัฐ ซึ่งท้าทายต่อเสถียรภาพทางการเมืองและความสามัคคีในชาติ จอมพลสฤษด์จึงดำเนินมาตรการที่เป็นการส่งเสริมความสามัคคีภายในชาติและการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง เช่น การสั่งประหารชีวิตผู้นำทางการเมืองจากภาคอีสานที่แข็งข้อ และที่สำคัญคือใช้วิธีการปกครองแบบพ่อขุน โดยออกไปเยี่ยมเยือนราษฎรเป็นการส่วนตัว ตลอดจนการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 โดยสั่งให้มีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาคขึ้นด้วย

นอกจากการตรวจราชการครั้งใหญ่แล้ว จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ยังเดินทางได้ไปตรวจราชการตามจังหวัดต่าง ๆ อีกเป็นระยะ ๆ เพื่อตรวจเขตชายแดนและโครงการพิเศษต่าง ๆ ในระหว่างการเดินทางไปตรวจราชการ เมื่อมีโอกาสจอมพลสฤษดิ์จะเดินทางโดยรถยนต์ และชอบที่จะเดินทางไปตามถนนหนทางที่มีสภาพย่ำแย่และไปในถิ่นทุรกันดาร เพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึง ความอดทนต่อความยากลำบากและการใช้ชีวิตที่ไม่มีพิธีรีตรอง จอมพลสฤษดิ์จึงปฏิเสธที่จะพักแรมในบ้านพักรับรองและเลือกที่จะกางเต็นท์นอน ซึ่งไม่ว่าจะเดินทางไปยังสถานที่ใด จอมพลสฤษดิ์ก็จะพยายามพูดคุยกับประชาชนและรับฟังความต้องการของประชาชนโดยตรง เพราะฉะนั้นการเดินทางไปตรวจราชการของจอมพลสฤษดิ์ก็เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นถึงความเป็นพ่อขุนที่ห่วงใยและการเอาใจใส่ต่อความต้องการของประชาชน

สรุปโดยรวมได้ว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ใช้อิทธิพลและความเป็นผู้นำในรัฐบาลเพื่อสนับสนุนและยกฐานะความชอบธรรมทางการเมืองส่วนตัวของตน และเมื่อมั่นใจว่าประชาชนจะเข้าใจและยอมรับวิธีการความเป็นผู้นำของตนซึ่งใช้คติเดิมของพ่อขุน จอมพลสฤษดิ์จึงได้รับการเคารพยกย่องและการสนับสนุนจากประชาชน ความเอาใจใส่ของจอมพลสฤษดิ์ใน การแก้ปัญหาโดยตรงและตรงกับความต้องการของประชาชนซึ่งแม้ว่าจะเป็นส่วนน้อย แต่ก็เป็นความจำเป็นในชีวิตประจำวันของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งชี้ให้ประชาชนเห็นว่า จอมพลสฤษดิ์สนใจปัญหาของพวกเขาอย่างจริงใจ ความเอาจริงเอาจังเกี่ยวกับความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการส่งเสริมศีลธรรมของจอมพลสฤษดิ์ก็ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก คือ ถนนหนทางสะอาด พวกอันธพาล ขอทาน สุนัข และโสเภณีเหลือเพียงเล็กน้อย การตัดสินใจลงมือปราบปรามฝิ่นและเฮโรอีน ล้วนทำให้จอมพลสฤษดิ์ได้รับความเคารพจากประชาชนและก็ได้นำชื่อเสียงมาให้แก่ จอมพลสฤษดิ์ด้วย การลงโทษผู้วางเพลิงก็เพิ่มความน่าเกรงขามและน่ายำเกรงให้แก่ จอมพลสฤษดิ์ นอกจากนี้ยังเพิ่มบารมีให้แก่จอมพลสฤษดิ์ในฐานะที่เป็นพ่อขุนซึ่งพร้อมที่จะเสียสละความสุขในอนาคตของตนเพื่อความอยู่ดีกินดีของครอบครัวทั้งประเทศ[16]

กล่าวได้ว่า การพัฒนาประเทศตามความหมายของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์มักจะหมายถึงภาคเศรษฐกิจและสังคม นัยของการพัฒนามีแนวโน้มเป็นอนุรักษ์นิยมในหลาย ๆ ประเด็น ตัวอย่างเช่นที่จอมพลสฤษดิ์กล่าวไว้ว่า “...ความจำเป็นขั้นแรกคือ เราจะต้องพยายามให้ราษฎร ประชาชนเข้าใจและเห็นชอบในเรื่องที่ว่าประเทศชาติจะต้องมีการพัฒนา มนุษย์จะต้องก้าวหน้า วันพรุ่งนี้จะต้องดีกว่านี้...”[17] แนวความคิดของจอมพลสฤษดิ์ในการสร้างประเทศให้ทันสมัยและการพัฒนาส่วนใหญ่จึงเป็นไปตามทัศนะที่เป็นอนุรักษ์นิยมทั้งหมด ของจอมพลสฤษดิ์ที่เกี่ยวกับสังคมและการเมืองไทย ความปักใจในเรื่องความสะอาดของบ้านเรือนและประชาชน ความเป็นระเบียบเรียบร้อยทางสังคม ความเป็นอารยประเทศ และความเป็นพ่อบ้าน/พ่อเมือง สร้างความคิดของจอมพลสฤษดิ์ให้เดินไปในทางที่ถูกในการพัฒนาประเทศ ซึ่งเชื่อว่าการพัฒนาทั้งหมดนี้เป็นวิธีที่จะทำให้การดำรงชีวิตแบบไทย ๆ ดีขึ้นไม่ยิ่งหย่อนกว่าการเป็นอารยะของประเทศตะวันตก แนวคิดเหล่านี้ก็จะช่วยให้เข้าใจถึงข้อจำกัดต่าง ๆ ที่โครงการพัฒนาชาติของจอมพลสฤษดิ์เกิดขึ้นมา[18]

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในฐานะพ่อขุนที่ใช้อำนาจเด็ดขาด

นอกจากนี้แล้ว จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในฐานะพ่อขุนที่เปรียบประดุจหัวหน้าครอบครัวของชาติ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีอำนาจทางการเมืองอย่างเด็ดขาด และเพื่อมิให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ จอมพลสฤษดิ์จึงใช้อำนาจเด็ดขาดจากมาตรา 17 ในธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 ซึ่งมีใจความสรุปว่า“ในระหว่างที่ใช้ธรรมนูญนี้ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือราชบัลลังก์ หรือการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลาย ก่อกวนหรือคุกคามความสงบที่เกิดขึ้นภายในหรือมาจากภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใด ๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามความในวรรคก่อนแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภาทราบ”[19] ซึ่งมาตรา 17 อาจมองได้ว่าเป็นฐานแห่งอำนาจเผด็จการ[20]

ลักษณะความเป็นผู้นำทางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ซึ่งเน้นหนักในเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคมและการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองนั้น ทำให้จอมพลสฤษดิ์ต้องใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดเพื่อขจัด ”พวกนอกรีต” และโดยส่วนใหญ่แล้วนโยบายและการกระทำอันเด็ดขาดของจอมพลสฤษดิ์ก็ใช้ปราบปรามได้จริง และทำให้ ”สิ่งนอกรีตนอกรอย” ตามที่กล่าวหาหลายเรื่องถูกปราบปรามให้ราบคาบไป ดังเช่น การลงโทษประหารชีวิต ชาวจีนที่ลอบวางเพลิง การลงโทษประหารชีวิตนายศิลา วงศ์สิน ซึ่งแสดงตนเป็นผู้นำกึ่งการเมืองกึ่งศาสนา การกำจัดผู้กระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์หรือการกำจัดผู้ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างไปจากรัฐบาลหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล วิพากษ์วิจารณ์จอมพลสฤษดิ์ ประวัติศาสตร์และสังคมไทย ซึ่งส่งผลให้ปัญญาชน นักศึกษา ครูอาจารย์ นักหนังสือพิมพ์ ทนายความ นักการเมือง กรรมกร พ่อค้าชาวจีน พระสงฆ์ ถูกปราบปราบด้วยวิธีการต่างๆ

ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ บุคคลต่าง ๆ ในสังคมซึ่งถูกเพ่งเล็งว่าเป็นผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลจะถูกตราหน้าว่าเป็นคอมมิวนิสต์อย่างรวดเร็วและถูกจับกุมทันทีด้วยวิธีการประหัตประหารศัตรูทางการเมือง จึงทำให้หลายคนหนีเข้าป่าและเข้าร่วมกับขบวนการผู้ก่อการร้าย บ้างก็ลี้ภัยเข้าไปอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ในขณะที่บ้างก็แสดงตัวอย่างเปิดเผย

ว่าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในบรรดาผู้ที่ถูกจับกุมนับพัน ๆ คนทั่วทั้งประเทศ มีประมาณสามร้อยคนถูกจำคุกอยู่ที่ลาดยาว ผู้ที่ถูกกักขังอยู่ที่เรือนจำลาดยาวประกอบด้วยนักการเมือง อดีตรัฐมนตรี ผู้นำกรรมกร นักหนังสือพิมพ์ และแม้กระทั่งพวกชาวเขา ผู้ที่ถูกกักขังส่วนใหญ่เป็นพวกที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ มีหลายคนเป็นนักเขียนที่วิพากษ์วิจารณ์ประวัติศาสตร์และสังคมไทย ส่วนคนอื่น ๆ ก็จะเข้าร่วมอยู่ในขบวนการแบ่งแยกดินแดนของนายครอง จันดาวงศ์[21]

พระราชบัญญัติต่อต้านการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495 ในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้แรงสนับสนุนมากขึ้นจากประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 12[22] ซึ่งคำประกาศนี้ได้ให้อำนาจแก่พนักงานสอบสวนยิ่งขึ้นในอันที่จะควบคุมผู้ต้องหาไว้ได้ตลอดระยะเวลาที่ทำการสอบสวน โดยไม่คำนึงถึงกำหนดเวลาการควบคุมผู้ต้องหาดังที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย คำสั่งข้อนี้ยังใช้ได้กับคดีต่าง ๆ ที่มีมาก่อนคำประกาศนี้ และตามหลักเกณฑ์นี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมบุคคลหลายคนในข้อหาละเมิดกฎหมายพ.ศ.2495 และกักขังไว้เป็นระยะเวลานาน โดยมิได้ส่งฟ้องศาลอย่างเป็นทางการ นับว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองโดยแท้ และยิ่งกว่านั้น ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 15[23] ยังได้กำหนดไว้ว่า คดีต่าง ๆ ที่มีข้อหาว่ากระทำความผิดขัดต่อพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495การพิจารณาพิพากษาให้อยู่ในอำนาจของศาลทหารตามกฎอัยการศึก และเพื่อป้องกันมิให้ผู้ต้องคุมขังยื่นคดีต่อศาลแพ่งได้ จอมพลสฤษดิ์จึงมีคำสั่งให้แก้ไขพระราชบัญญัติต่อต้านการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ฉบับ พ.ศ.2495 ขึ้นเสียใหม่ในพ.ศ.2505 เพื่อทำให้เข้ากันได้กับประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 12 มากยิ่งขึ้น ภายใต้กฎหมายใหม่นี้ ผู้ต้องคุมขังสามารถยื่นเรื่องราวร้องทุกข์ต่อรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งมีอำนาจตัดสินขั้นสุดท้ายได้ และด้วยอำนาจยุติธรรมเป็นพิเศษข้อนี้เอง จอมพลสฤษดิ์จึงสามารถที่จะใช้อำนาจเด็ดขาดได้อย่างเต็มที่ในการจัดการเรื่องความแตกแยกทางการเมือง ฉะนั้นจึงสรุปได้ว่า ในขณะที่เราตั้งข้อสังเกตว่าความเป็นผู้นำของ จอมพลสฤษดิ์ตั้งอยู่บนคตินิยมโบราณในเรื่องการปกครองแบบพ่อขุนนั้น ภายใต้ระบบการปฏิวัติ (ดังเช่นการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในอดีต) การปกครองแบบพ่อขุนจึงมีลักษณะเป็นอำนาจเด็ดขาด[24]

ในท้ายที่สุด คำถามหนึ่งที่มักจะปรากฏขึ้นเกี่ยวกับผู้นำทางการเมืองซึ่งมีอำนาจเด็ดขาดก็คือว่า ผู้นำนั้นเป็นผู้ปกครองประดุจบิดาหรือเผด็จการกันแน่ ทักษ์ เฉลิมเตียรณให้ความเห็นว่าลักษณะของผู้นำทั้งสองแบบนี้เป็นเรื่องที่ยากที่จะแยกออกจากกันหรือให้คำจำกัดความ ในขณะที่การปกครองประดุจบิดาสื่อความหมายถึงผู้นำที่ทำหน้าที่เหมือนกับบิดาผู้เมตตาปฏิบัติต่อบุตร แต่เป็นไปได้ว่าจะเป็นพ่อที่เผด็จการหรือเมตตากรุณาด้วยก็ได้ การเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดนั้นมีนัยว่าการกระทำต่าง ๆ ที่ผู้นำกระทำขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ซึ่งปัญหานี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับคำนิยมแต่ไม่ใช่เกี่ยวกับการตัดสินใจโดยเจตนา ในขณะที่ผู้มีอำนาจเด็ดขาดคิดว่า ตนปกครองประดุจบิดานั้น ซึ่งผู้อื่นอาจไม่คิดเช่นนั้น

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์กับการสร้างความชอบธรรมทางการเมือง

ระบบพ่อขุน (โดยเฉพาะเมื่อผนวกกับการใช้อำนาจแบบเผด็จการ) ไม่เพียงพอสำหรับการปกครองในช่วงระยะเวลาอันยาวนาน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการทำให้กลุ่มบุคคลผู้มีอำนาจอื่น ๆ ในสังคมไทยให้การสนับสนุนรัฐบาลของตนเอง ในบรรดาผู้สนับสนุนที่สำคัญที่สุด ได้แก่ ข้าราชการและองค์พระมหากษัตริย์ ด้วยความเชื่อมั่นในการพัฒนา จอมพลสฤษดิ์สามารถที่จะให้บทบาทใหม่ ๆ แก่กลุ่มบุคคลเหล่านี้ และได้กำหนดโครงการการปกครองแบบพ่อขุนของตนให้บุคคลเหล่านี้ช่วยเหลือ โครงการเหล่านี้ซึ่งบริหารจากเบื้องบนลงมาเพื่อทำให้อำนาจทางการเมืองมั่นคงขึ้นมากกว่าที่จะได้บรรลุผลในด้านการพัฒนาชาติและสร้างประเทศให้ทันสมัย ซึ่งการพัฒนามักจะหันเหไปสู่จุดมุ่งหมายของความชอบธรรมทางการเมือง

ตัวอย่างเช่น ผู้สนับสนุนในกลุ่มข้าราชการ จอมพลสฤษดิ์สามารถชักจูงข้าราชการระดับสูงที่เข้าศึกษาในวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.)ให้ตระหนักถึงความเร่งด่วนในการพัฒนาชาติและปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงของชาติ ตลอดจนเชื่อมั่นในความชอบธรรมของทหารในเรื่องการปกครอง ดังเช่นที่ข้าราชการพลเรือนได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า “ก่อนที่จะมาศึกษาวปอ.นั้น พลเรือนเราส่วนมากไม่ค่อยจะทราบเรื่องเกี่ยวกับทางทหารมากนัก เมื่อได้เข้าศึกษาแล้ว จึงค่อยเข้าใจและเห็นความสำคัญทางทหารมากขึ้น”[25] หรือที่นายทหาร บางคนได้แสดงออกถึงความรู้สึกของตนเองไว้ว่า “หลังจากสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยนี้แล้วก็จะสามารถทำหน้าที่ของเราได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากได้มองเห็นทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับงานของเราในอนาคต ไม่เฉพาะแต่การแก้ปัญหาด้านการทหารเท่านั้น ยังมีปัญหาทั่ว ๆ ไปของชาติด้วย...”[26]

ส่วนผู้สนับสนุนที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง คือ องค์พระมหากษัตริย์ รัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้สนับสนุนให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลับมามีความมั่นคงอีกครั้ง เพื่อสร้างความถูกต้องชอบธรรมในการเป็นรัฐบาลให้กับกลุ่มการเมืองของตนเองที่มาจากการรัฐประหาร ซึ่งการสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์มีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือรัฐบาลในแง่ของการช่วยส่งเสริมหรือสนับสนุนนโยบายหรือโครงการต่าง ๆ ของระบบพ่อขุน ตัวอย่างเช่น การส่งเสริมให้พระมหากษัตริย์มีโอกาสแสดงพระราชดำรัสต่อประชาชนซึ่งเท่ากับเป็นการส่งเสริมนโยบายของรัฐบาลโดยตรง เนื่องจากพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ประชาชนได้พาดพิงและเอื้ออำนวยต่อนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล เช่น พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ในพ.ศ.2504 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ในการที่ช่วยส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของชาติ และทรงขอให้ประชาชนร่วมมือกับรัฐบาลตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาลที่ตั้งไว้ ดังจะเห็นได้จากพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยซึ่งมีเนื้อความว่า

“...ในเรื่องการภายในของเรานั้น ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ท่านทั้งหลายมีความเป็นอยู่ด้วยความสงบสุข และทางรัฐบาลก็พยายามดำเนินการส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติอย่างดีอยู่แล้วทุกด้าน และบัดนี้ด้วยความร่วมมือร่วมกำลังความคิดจากบรรดาข้าราชการที่เกี่ยวข้องและผู้ชำนาญการในสาขาต่าง ๆ รัฐบาลได้วางแผนและโครงการเพื่อฟื้นฟูการเศรษฐกิจและปรับปรุงการศึกษาของชาติขึ้นใหม่แล้ว ซึ่งจะเริ่มใช้ปฏิบัติกันในปีพุทธศักราช 2504 นี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าแผนและโครงการนี้จะมีประโยชน์ดีสำหรับบ้านเมือง แต่ข้อสำคัญก็อยู่ที่การปฏิบัติตามแผนและโครงการนั้นโดยพร้อมเพรียงกันทุกฝ่าย จึงจะเป็นผลแก่ประเทศชาติได้ หวังว่าท่านทั้งหลายจะให้ความร่วมมือแก่ทางราชการในการนี้ต่อไป...”[27]

เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงมีพระบารมีมากขึ้น รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นหรือถูกวิพากษ์วิจารณ์น้อยลง ตัวอย่างเช่น จอมพลสฤษดิ์สนับสนุนให้พระมหากษัตริย์และพระราชินีเสด็จประพาสประเทศต่าง ๆ ซึ่งทรงกระทำในนามของประชาชนชาวไทย ส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นสัญญลักษณ์ตัวแทนของชาติอย่างชัดแจ้ง และส่งผลไปถึงภาพลักษณ์ของจอมพลสฤษดิ์ให้ดูดีขึ้นในสายตาของชาวต่างชาติ[28] การเสด็จประพาสต่างประเทศอย่างเป็นทางการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงกระทำในนามของประชาชนชาวไทย รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ตระหนักว่าการปรากฏพระองค์ต่อชาวต่างชาตินั้น จะทำให้ต่างชาติวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยว่าเป็นเผด็จการน้อยลง ด้วยการหันเหความสนใจให้ไปสู่พระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์แทน ประชาชนก็จะได้ลดการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของรัฐบาลไปได้นอกจากนี้ การจัดพระราชพิธีและพิธีการสังคมต่าง ๆ ขึ้นมายังจะช่วยให้ชื่อเสียงของรัฐบาลมีเพิ่มขึ้นในต่างประเทศและช่วยสมานความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างบุคคลในกลุ่มของรัฐบาลและประชาชนให้เกิดขึ้น เช่น การรื้อฟื้นพระราชพิธีฉัตรมงคล พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีทอดพระกฐินทางชลมารค พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค

ผลกระทบ

ตลอดยุคสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาจจะมีเสียงชื่นชมจากประชาชน ผู้นิยมการพัฒนาแบบจอมพลสฤษดิ์ ตลอดจนยอมรับวิธีการความเป็นผู้นำของจอมพลสฤษดิ์ซึ่งใช้คติเดิมของพ่อขุน รวมทั้งชื่นชมต่อความเอาใจใส่ในทุกข์สุขของประชาชน แต่ในอีกด้านหนึ่งของมุมมืด คือ ผลที่เกิดจากการพัฒนาของจอมพลสฤษดิ์ที่ทำให้เกิดการเสียดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และการพัฒนาการเมืองในระบบเปิดแบบมีส่วนร่วม ทั้งนี้เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางการเมือง ซึ่งยากที่ระบบการเมืองแบบปิดแบบจารีตนิยมจะรับไว้ได้ ผลสุดท้ายก็เกิดแรงผลักดันต่อระบบการเมืองเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น จนเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญของประเทศไทยในเวลาต่อมา คือ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516[29] นอกจากนี้ ความคิดเห็นที่รุนแรงซึ่งถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่หลังเดือนตุลาคม 2516 ได้กลายเป็นเครื่องแสดงอย่างดีถึงปัญหาของสังคมไทย ทั้งจากแง่คิดในเนื้อหาและนัยของการกดขี่ทางปัญญา ความเฟื่องฟูทางปัญญาหลังพ.ศ.2516 ที่เห็นได้จากความกระหายทางความคิดใหม่ ๆ ที่ขัดแย้งกับหลักการเก่า ๆ ของอดีตที่เพิ่งผ่านมา ซึ่งในบรรยากาศเช่นนี้ ส่งผลให้ผลงานต่าง ๆ ที่ถูกกดขี่ทางปัญญาในสมัยจอมพลสฤษดิ์ติดตลาดได้อย่างง่ายดาย และเพิ่มอาหารสมองให้แก่ความหิวโหยของอนุชนรุ่นหลังที่มีหัวรุนแรงจนอิ่ม จึงทำให้เกิดการไม่ ลงรอยกันขึ้นในคนระหว่างรุ่นและคนรุ่นเดียวกัน กล่าวได้ว่าการกดขี่ทางปัญญาและทางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์และผู้นำคนอื่น ๆ ต่อมา ตลอดจนผลจากนโยบายการพัฒนาของจอมพลสฤษดิ์และการเข้าไปพัวพันกับสงครามเวียดนามของประเทศไทย รวมทั้งการที่มีแนวความคิดทางเมืองอย่างรุนแรงเกิดขึ้นอันเป็นการท้าทายหลักการเดิมและโหมด้วยการรื้อฟื้นความคิดนอกรีตนอกรอยที่เคยมีมาก่อน และการแสวงหาหลักการใหม่ทางการเมืองที่ถูกต่อต้านจากการรื้อฟื้นหลักการเดิม ซึ่งก่อให้เกิดกระบวนการแบ่งความคิดออกเป็นสองแนว ได้นำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 โดยที่จอมพลสฤษดิ์เองก็อาจจะมิได้คาดการณ์ล่วงหน้าหรือคาดหมายถึง ผลระยะยาวของการกดขี่ทางปัญญาของตนเลย[30] ในขณะที่ผู้ที่สืบทอดอำนาจทางการเมืองต่อจากจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งก็คือจอมพลถนอม กิตติขจร ได้พยายามที่จะสวมบทบาท "พ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตัวระบบพ่อขุนอุปถัมภ์เผด็จการเอง ไม่อาจนำมาใช้ได้กับสังคมไทยที่พัฒนาสลับซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมและการเมืองไทย

เอกสารอ้างอิง

ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548.

ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 ใน ราชกิจจานุเบกษา (ฉบับพิเศษ) 2502, เล่ม 76 ตอนที่ 17.

ประมวลประกาศและคำสั่งของคณะปฏิวัติที่ใช้เป็นกฎหมาย พร้อมทั้งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร และพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2502. พระนคร: สำนักพิมพ์ก้าวหน้า, 2503.

ประมวลสุนทรพจน์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ.2502 – 2504. พระนคร: โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2507.

พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์นครหลวงกรุงเทพธนบุรี, ม.ป.ป.

ลิขิต ธีรเวคิน. วิวัฒนาการเมืองการปกครองไทย. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2540.


หนังสือแนะนำ

ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548.

หนังสือเรื่องการเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการของทักษ์ เฉลิมเตียรณ ได้ชี้ให้เห็นถึงการแสวงหาความชอบธรรมทางการเมือง การนำเอาระบบการปกครองแบบพ่อปกครองลูกในฐานะพ่อขุนมาบริหารประเทศโดยอาศัยคุณสมบัติส่วนตัวของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ การสังเคราะห์และการสร้างปรัชญาทางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ ตลอดจนการวิเคราะห์ถึงความเป็นผู้นำของจอมพลสฤษดิ์ที่ตั้งอยู่บนคตินิยมโบราณในเรื่องการปกครองแบบพ่อขุนภายใต้ระบบการปฏิวัติ

อ้างอิง

  1. ลิขิต ธีรเวคิน, วิวัฒนาการเมืองการปกครองไทย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2540), หน้า 163.
  2. ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548), หน้า 195-199.
  3. จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, “คำกล่าวในการเปิดประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต16 มีนาคม 2503,” ใน ประมวลสุนทรพจน์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ.2502 – 2504 (พระนคร: โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2507), หน้า 147.
  4. ลิขิต ธีรเวคิน, วิวัฒนาการเมืองการปกครองไทย, หน้า 164.
  5. จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, “สุนทรพจน์ในพิธีเปิดประชุมปฐมนิเทศงานพัฒนาการท้องถิ่น 24 ตุลาคม 2503,” ใน ประมวลสุนทรพจน์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ.2502 – 2504, หน้า 255.
  6. ลิขิต ธีรเวคิน, วิวัฒนาการเมืองการปกครองไทย, หน้า 164.
  7. จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, “คำกล่าวเปิดการประชุมในการอบรมกำนัน 4 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 สิงหาคม 2504,” ใน ประมวลสุนทรพจน์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ.2502 – 2504, หน้า 437-438.
  8. ลิขิต ธีรเวคิน, วิวัฒนาการเมืองการปกครองไทย, หน้า 165.
  9. จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, “โอวาทและคำกล่าวปิดการอบรมอันธพาลในวันที่ 6 กันยายน พ.ศ.2503 ,” ใน ประมวลสุนทรพจน์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ.2502 – 2504, หน้า 215.
  10. ดูรายละเอียดได้ใน ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 227-228.
  11. ดูรายละเอียดได้ใน ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 229-234.
  12. ดูรายละเอียดได้ใน ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 234-238.
  13. ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 37 ลงวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2501 ใน ประมวลประกาศและคำสั่งของคณะปฏิวัติที่ใช้เป็นกฎหมาย พร้อมทั้งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร และพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2502 (พระนคร: สำนักพิมพ์ก้าวหน้า, 2503),หน้า 127-129.
  14. ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 50 ลงวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2502 ใน ประมวลประกาศและคำสั่งของคณะปฏิวัติที่ใช้เป็นกฎหมาย พร้อมทั้งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร และพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2502, หน้า 161-162.
  15. ดูรายละเอียดได้ใน ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 243-246.
  16. เรื่องเดียวกัน, หน้า 248.
  17. จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, “สุนทรพจน์ในพิธีเปิดประชุมปฐมนิเทศงานพัฒนาการท้องถิ่น 24 ตุลาคม 2503,” ใน ประมวลสุนทรพจน์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ.2502 – 2504, หน้า 255.
  18. ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 269.
  19. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502, ราชกิจจานุเบกษา (ฉบับพิเศษ) 2502, เล่ม 76 ตอนที่ 17.
  20. ทักษ์ เฉลิมเตียรณให้ความเห็นว่า การใช้มาตรา 17 หรือที่คนไทยรู้จักกันดีว่า “ม.17” นั้น ตามคติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในเรื่องการบริหารด้านการเมือง มาตรานี้เป็นหลักอันถูกต้องตามกฎหมายแบบใหม่ของการเป็นผู้นำแบบพ่อขุน จอมพลสฤษดิ์ในฐานะเป็นหัวหน้าของคณะปฏิวัติ ก็เป็นหัวหน้าครอบครัวของชาติและต้องสามารถที่จะทำให้เจตนารมณ์ของตนใช้บังคับได้
  21. ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 249-255.
  22. ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2501 ใน ประมวลประกาศและคำสั่งของคณะปฏิวัติที่ใช้เป็นกฎหมาย พร้อมทั้งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร และพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2502, หน้า 25-26.
  23. ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 15 ลงวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2501 ใน ประมวลประกาศและคำสั่งของคณะปฏิวัติที่ใช้เป็นกฎหมาย พร้อมทั้งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร และพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2502, หน้า 31.
  24. ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 255-256.
  25. วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร, หนังสือประจำรุ่นที่ 8 พ.ศ.2509 อ้างถึงใน ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 332.
  26. วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร, หนังสือประจำรุ่นที่ 8 พ.ศ.2509 อ้างถึงใน ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 333.
  27. กระแสพระราชดำรัสพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสวันขึ้นปีใหม่พ.ศ.2504 จาก โลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์,” ใน พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์นครหลวงกรุงเทพธนบุรี, ม.ป.ป.), หน้า 132.
  28. ก่อนหน้านี้หนังสือพิมพ์ต่างประเทศบรรยายว่า “จอมพลสฤษดิ์เป็นนายทหารที่ห้าวหาญ เด็ดขาด ด้อยความรู้ทางภาษาอังกฤษ และมิใช่เป็นคนนิ่มนวลแบบจอมพลป.” จอมพลสฤษดิ์จึงหันไปพึ่งพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เจริญพระชนมพรรษาขึ้นมาในยุโรปตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์และรับสั่งได้หลายภาษา อ้างถึงใน ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 355-356.
  29. ลิขิต ธีรเวคิน, วิวัฒนาการเมืองการปกครองไทย, หน้า 172-173.
  30. ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 252-253.