กลุ่มนิติราษฎร์
ผู้เรียบเรียง : ฐิติกร สังข์แก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต
ความนำ
คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งมีพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ และมีทหาร ตำรวจ และพลเรือน เป็นสมาชิก ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ภายหลังการทำรัฐประหารแล้ว “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ได้เปลี่ยนสภาพมาเป็น “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ” (คมช. หรือ Council of National Security - CNS) อันเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย_(ฉบับชั่วคราว)_พ.ศ._2549 (มาตรา 34) โดยมีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงแห่งชาติ ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรี ประธานสภา และรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งยังสามารถประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรีได้อีกด้วย เมื่อ คมช. ได้เข้าบริหารประเทศ สถานการณ์ของประเทศในขณะนั้นอยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐ ทั้งกระบวนการบัญญัติกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายและการตีความกฎหมายล้วนไม่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐและหลักประชาธิปไตย จึงได้เกิดการรวมตัวของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 5 คน โดยแสดงความเห็นเกี่ยวกับกระบวนการกฎหมายผ่านแถลงการณ์สาธารณะ การวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์และสถานการณ์การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐอย่างสม่ำเสมอ เช่น การออกแถลงการณ์คัดค้านผลต่อเนื่องจากการทำรัฐประหาร การแสดงความเห็นต่อคำวินิจฉัยคดียึดทรัพย์นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร คำพิพากษาของศาลปกครองในคดีมาบตาพุด คำพิพากษาในคดียุบพรรคการเมือง เป็นต้น [1] จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้ง "กลุ่มนิติราษฎร์" ที่มีบทบาทนำเสนอประเด็นอภิปรายเกี่ยวด้วยข้อกฎหมายและหลักการขั้นพื้นฐานในระบอบเสรีประชาธิปไตย
จุดเริ่มต้น ที่มา และการเคลื่อนไหวของนิติราษฎร์
ภายหลังจากการรวมตัวของกลุ่มคณาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 5 คน[2] เพื่อแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์การบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมภายใต้การบริหารของ คมช. และรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ มาเป็นระยะๆ จึงได้ออกแถลงการณ์ที่ใช้ชื่อว่า “แถลงการณ์คณาจารย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 1”[3] ซึ่งแสดงให้เห็นจุดยืนทางการเมืองและทางวิชาการที่สำคัญ คือ
ประการแรก คัดค้านและประณามการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพราะถือเป็นการกระทำที่ไม่เคารพและเป็นการย่ำยีอำนาจการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกผู้บริหารประเทศตามครรลองของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ประการที่สอง คัดค้านและประณามการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย_พ.ศ._2540 เพราะถือว่าเป็นการทำลายสัญญาประชาคมของประชาชนโดยวิถีทางที่มิอาจรับได้อย่างยิ่งตามกระบวนการประชาธิปไตย
ประการที่สาม คัดค้านและประณามการทำลายเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชน
ประการที่สี่ คัดค้านและประณามการจำกัดสิทธิในร่างกายของประชาชน ที่มีการจับกุมผู้ที่ประท้วงการกระทำรัฐประหารไปคุมขัง
ประการที่ห้า เรียกร้องให้การบริหารประเทศกลับไปสู่ครรลองของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยเร็วที่สุด
แถลงการณ์ดังกล่าว มีผู้ลงนามท้ายแถลงการณ์ดังกล่าว ประกอบไปด้วย วรเจตน์_ภาคีรัตน์ ประสิทธิ์_ปิวาวัฒนพานิช ปิยบุตร_แสงกนกกุล และธีระ_สุธีวรางกูร จนกระทั่งวันที่ 19 กันยายน 2553 (ภายหลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มาแล้ว 4 ปี) กลุ่มคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดกิจกรรมเปิดตัวเว็บไซต์ “www.enlightened-jurists.com"[4] และเสวนาวิชาการในหัวข้อ “4 ปี รัฐประหาร 4 เดือนพฤษภาอำมหิต อนาคตทางสังคมไทย” ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีวัตถุประสงค์ให้เว็บไซต์ดังกล่าวเป็นแหล่งรวบรวมผลงานและบทวิเคราะห์ทางวิชาการ โดยมีการเปิดตัวชื่อกลุ่มในชื่อใหม่ว่า “นิติราษฎร์” ทั้งมีการออก ประกาศนิติราษฎร์ ฉบับที่ 1 (วรเจตน์ ภาคีรัตน์)[5] โดยมีเนื้อหาสำคัญ คือ
“เมื่อสมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่มนิติราษฎร์คิดการที่จะสร้างชุมชนทางวิชาการเล็กๆ ในทางนิติศาสตร์เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจทางกฎหมายที่ถูกต้อง เพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย และเพื่อเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งนิติรัฐและความยุติธรรมให้เจริญงอกงามในสังคมไทย เรื่องหนึ่งที่พวกเราคิดกันนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ที่กล่าวมาแล้วก็คือ เว็บไซต์ที่เราจะตั้งขึ้นนั้น ควรจะมีชื่อว่าอะไร มีชื่อที่เราคิดกันหลายชื่อ ในที่สุดเราก็ได้ชื่อที่อยู่หรือที่ตั้งของเว็บไซต์ว่า www.enlightened-jurists.com”
จากข้อมูลในเวปไซต์ของกลุ่มนิติราษฎร์ได้แสดงให้เห็นความหมายของคำว่า "นิติราษฎร์" อันมาจากการผสมของคำว่า “นิติศาสตร์” กับ “ราษฎร” ส่วนชื่อภาษาอังกฤษใช้คำว่า “enlightened-jurists” หมายถึง "(นักกฎหมายผู้)...ปฏิเสธความเชื่อ จารีตอันงมงายอันปรากฏในวงวิชาการนิติศาสตร์ และอยู่บนหนทางของการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ และท้าทายสถาบันทั้งหลายทั้งปวงในทางกฎหมายที่ไม่ตั้งอยู่บนรากฐานของเหตุผล ที่สามารถยอมรับได้"[6]มีความหมายโดยรวมว่า นิติศาสตร์เพื่อราษฎร ด้วยมุ่งหวังให้เป็นฟันเฟืองหนึ่งในการสถาปนาอุดมการณ์กฎหมาย-การเมือง นิติรัฐ-ประชาธิปไตย เพื่อให้ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” และ “มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ”[7] โดยนับวันที่ 19 กันยายน 2553 เป็นวันก่อตั้งนิติราษฎร์อย่างเป็นทางการ ซึ่งต่อมาเว็บไซต์ดังกล่าวถือเป็นจุดรวมตัวและจุดเคลื่อนไหวที่สำคัญของคณะนิติราษฎร์ และเป็นฐานสำคัญในการเผยแพร่แนวคิดและผลงาน ซึ่งเนื้อหาของเว็บไซต์ประกอบไปด้วย ประกาศนิติราษฎร์ บทความ รวบรวมการสัมมนาและบทสัมภาษณ์ บทความจากผู้อ่าน แถลงการณ์ เอกสารทางประวัติศาสตร์ เอกสารประกอบการสอน ประชุมกฎหมาย และไฟล์บันทึกเสียงและภาพ ทั้งนี้ ในปัจจุบัน (กุมภาพันธ์ 2559) เว็บไซต์ www.enlightened-jurists.com ได้ถูกกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารระงับและจำกัดการเข้าถึงด้วยเหตุผลว่าเว็บไซต์ดังกล่าวมีเนื้อหาและข้อมูลที่ไม่เหมาะสม
วรเจตน์ ภาคีรัตน์กับนิติราษฎร์
สมาชิกของนิติราษฎร์ในปัจจุบันประกอบด้วยกลุ่มคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 7 คน โดย รองศาสตราจารย์ ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช ซึ่งเป็นผู้ร่วมกิจกรรมในนามของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มาตั้งแต่ต้นไม่ได้ปรากฏชื่อเป็นสมาชิกปัจจุบันของคณะนิติราษฎร์ แต่ก็ยังมีผลงานเป็นบทความทางวิชาการเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ของนิติราษฎร์อยู่เสมอ โดยสมาชิกปัจจุบันของนิติราษฎร์ ได้แก่
1) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา
2) อาจารย์ ดร. ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล
5) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล
6) รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์
7) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาวตรี สุขศรี
สมาชิกผู้มีบทบาทสำคัญและถือเป็นผู้นำของกลุ่มนิติราษฎร์ คือ รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ บทบาทของวรเจตน์ ภาคีรัตน์ เริ่มโดดเด่นและชัดเจนมากขึ้นภายหลังเป็นผู้เสนอความคิดเห็นคัดค้านการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีด้วยมาตรา 7 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 (ขณะนั้นยังไม่มีการจัดตั้งกลุ่มนิติราษฎร์) ในระหว่างการบรรยายพิเศษเรื่อง “หลังการเลือกตั้ง 2 เมษายน จะปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่อย่างไร” เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2549 มีใจความสำคัญ[8] ว่า
“ขณะนี้ประชาชนในประเทศแตกออกมาเป็น 2 ฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งต้องการที่จะใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 7 เพื่อขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งต้องการให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทั้งสองฝ่ายทำให้บ้านเมืองเกิดความไม่แน่นอนเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ก็มีอีกฝ่ายหนึ่งต้องการปฏิรูปทางการเมือง ทั้งนี้ในความคิดของเขานั้น การใช้มาตรา 7 เพื่อขอนายกฯพระราชทานไม่ควรทำ”
จากนั้น วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ก็ได้ร่วมกับอาจารย์นิติศาสตร์อีก 4 คน (ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช, ธีระ สุธีวรางกูร, ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, และปิยบุตร แสงกนกกุล) แสดงการคัดค้านการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน พ.ศ.2549 และมีบทบาทอีกครั้งเมื่อมีการออก “แถลงการณ์ของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 5-2 เรื่องการปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญฉบับออกเสียงประชามติ” และออกแถลงการณ์อีกหลายฉบับเพื่อแสดงความเห็นแย้งต่อกรณีมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณียุบพรรคการเมือง[9] บทบาทการเคลื่อนไหวที่โดดเด่นของวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ได้สร้างความไม่พอใจให้กับบุคคลบางกลุ่ม โดยวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 มีชายสองคนเข้าทำร้ายร่างกายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แต่ได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย[10]
ข้อเสนอของนิติราษฎร์ในการลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 : นัยยะต่อการเมืองไทย
นิติราษฎร์ ได้รออกแถลงการณ์ ประกาศ และแสดงความคิดเห็นสาธารณะออกมาอีกหลายประเด็น เช่น เรื่อง ความเห็นต่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ความเห็นและบทวิเคราะห์ต่อคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกรณีขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ความเห็นต่อคำสั่งศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ 984/2551 ในการรับคำฟ้องกรณีแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา เรื่องการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา เป็นต้น
ครั้น วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554 ในโอกาสครบรอบการก่อตั้งนิติราษฎร์ครบ 1 ปี นิติราษฎร์ได้ ออก “แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีนิติราษฎร์” เสนอความเห็นให้มีการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 การเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายภายหลังรัฐประหาร และการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยมีสาระสำคัญอ้างอิงผิดพลาด: ไม่มีการปิด </ref>
สำหรับป้ายระบุ <ref>
ดังนี้
ประการที่หนึ่ง การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยประกาศให้รัฐประหาร_19_กันยายน_2549 และการกระทำใดๆ ที่มุ่งต่อผลในทางกฎหมายของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2549 เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมายเพื่อความชอบธรรมทางประชาธิปไตย คณะนิติราษฎร์เสนอให้นำข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นไปจัดทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ
ประการที่สอง การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เป็นผลพวงต่อเนื่องจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จึงมีปัญหาความชอบธรรมทางประชาธิปไตย แม้ว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวผ่านการออกเสียงประชามติก็ตาม แต่กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ และกระบวนการจัดให้มีการออกเสียงประชามติไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย จึงเสนอให้มีการยกเลิกและจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ประการที่สาม ตามที่คณะนิติราษฎร์ได้จัดทำข้อเสนอการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเสนอสู่สาธารณะตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2554 แล้วนั้นคณะนิติราษฎร์ยังยืนยันว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีปัญหาทั้งในแง่ตัวบทกฎหมาย การบังคับใช้ และอุดมการณ์ และจำเป็นต้องแก้ไข มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นเรื่องความสมดุลระหว่างความร้ายแรงของการกระทำอันเป็นความผิดกับโทษที่ผู้กระทำความผิดนั้นควรได้รับ จึงไม่เป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุซึ่งได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเสนอให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในประเด็นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพื่อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
นับตั้งแต่การรวมตัวกันในฐานะ “กลุ่มคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” จนมาถึง “กลุ่มนิติราษฎร์” การแสดงความคิดเห็นสาธารณะผ่านการออกประกาศ แถลงการณ์ บทความทางวิชาการ การสัมมนา และการรณรงค์เคลื่อนไหว โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ได้สร้างแรงกดดันให้กับผู้มีอำนาจทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะคำอธิบายและข้อคิดเห็นสาธารณะเหล่านั้นได้ถูกนำไปใช้อ้างอิงและเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องเคลื่อนไหวในหลายเรื่อง เช่น การเสนอความเห็นให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งคำอธิบายในทางวิชาการของนิติราษฎร์ ได้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) การเสนอความเห็นให้ลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และรวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในช่วงสถานการณ์ทางการเมืองนับตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา
บรรณานุกรม
“เกี่ยวกับคณะนิติราษฎร์.” นิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร. เข้าถึงจาก <http://www.enlightened-jurists.com/about>. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559.
“แถลงการณ์ของคณาจารย์คณะนิติฯ มธ. ฉบับที่ 1.” นิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร. เข้าถึงจาก <http://www.enlightened-jurists.com/directory/35/Statement-1.html>. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559).
“แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์.” นิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร. เข้าถึงจาก <http://www.enlightened-jurists.com/directory/11/Statement-and-Petition.html>. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559.
“แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์: ลบล้างผลพวงรัฐประหาร. แก้ไขมาตรา 112. เยียวยาผู้เสียหายจากรัฐประหาร และ จัดทำ รธน.ใหม่.” Siam Intelligence. เข้าถึงจาก <http://www.siamintelligence.com/nitiras-announcement-to-roll-back-19-sept-2006-coup/>. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559.
“ทำร้าย ‘วรเจตน์’ กลาง มธ. รู้ตัว 2 มือชกเคยร่วมม็อบต้าน ม.112.” มติชน. (1 มีนาคม 2555), 14, 15.
“ประกาศนิติราษฎร์ ฉบับที่ 1 (วรเจตน์ ภาคีรัตน์).” นิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร. เข้าถึงจาก <http://www.enlightened-jurists.com/blog/page/16>. วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559.
“ย้อนอดีตวิวาทะปม “นายกฯ ม.7” ก่อน “สุเทพ” ปัดฝุ่นเสนอใหม่.” สำนักข่าวอิสรา. (4 ธันวาคม 2556). เข้าถึงจาก <http://www.isranews.org/isranews-scoop/item/25640-article7.html>. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559.
- ↑ “เกี่ยวกับคณะนิติราษฎร์,” นิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร. เข้าถึงจาก <http://www.enlightened-jurists.com/about>. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559.
- ↑ “ทั้งนี้ การรวมตัวของกลุ่มคณาจารย์ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ปรากฏชื่อชัดเจนจากการออกแถลงการณ์สาธารณะในช่วงแรกจะใช้ชื่อดังกล่าวมาโดยตลอด
- ↑ “แถลงการณ์ของคณาจารย์คณะนิติฯ มธ. ฉบับที่ 1,” นิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร. เข้าถึงจาก <http://www.enlightened-jurists.com/directory/35/Statement-1.html>. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559).
- ↑ “ภายหลังการเปิดตัวเว็บไซด์ของกลุ่มนิติราษฎร์นั้น ได้มีการนำเสนอความคิดเห็นออกสู่สังคมอย่างสม่ำเสมอซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับการเมืองไทยและสถาบันเบื้องสูง อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงปลายปี 2555 พบว่าข้อมูลบางส่วนของเว็ปไซด์ฯ คือ ประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ไม่สามารถเข้าถึงได้
- ↑ “ประกาศนิติราษฎร์ ฉบับที่ 1 (วรเจตน์ ภาคีรัตน์),” นิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร. เข้าถึงจาก <http://www.enlightened-jurists.com/blog/page/16>. วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559.
- ↑ เพิ่งอ้าง.
- ↑ “เกี่ยวกับคณะนิติราษฎร์,” นิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร. เข้าถึงจาก <http://www.enlightened-jurists.com/about>. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559.
- ↑ “ย้อนอดีตวิวาทะปม “นายกฯ ม.7” ก่อน “สุเทพ” ปัดฝุ่นเสนอใหม่,” สำนักข่าวอิสรา, (4 ธันวาคม 2556). เข้าถึงจาก <http://www.isranews.org/isranews-scoop/item/25640-article7.html>. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559.
- ↑ “แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์,” นิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร. เข้าถึงจาก <http://www.enlightened-jurists.com/directory/11/Statement-and-Petition.html>. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559.
- ↑ “ทำร้าย ‘วรเจตน์’ กลาง มธ. รู้ตัว 2 มือชกเคยร่วมม็อบต้าน ม.112,” มติชน, (1 มีนาคม 2555), 14, 15.