ผลต่างระหว่างรุ่นของ "นโยบายประชานิยม"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
Teeraphan (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
บรรทัดที่ 1: บรรทัดที่ 1:
'''ผู้เรียบเรียง''' ชาติชาย มุกสง
'''ผู้เรียบเรียง''' ธีรพรรณ ใจมั่น
 
----
----



รุ่นแก้ไขเมื่อ 10:21, 30 เมษายน 2555

ผู้เรียบเรียง ธีรพรรณ ใจมั่น


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


นโยบายประชานิยม

นโยบายทางการเมืองอันเป็นที่กล่าวขวัญกันอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เห็นจะไม่มีนโยบายใดที่รับการกล่าวถึงเท่ากับ “นโยบายประชานิยม” ซึ่งมีทั้งแง่บวกและแง่ลบ กล่าวได้ว่านโยบายประชานิยมโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตามเป็นผลงานการนำเสนอและถูกพิจารณาว่าเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และสร้างผลกระเทือนต่อการเมืองไทยอย่างมาก โดยเฉพาะการกำหนดนโยบายทางการเมืองที่ประชานิยมได้กลายเป็นรูปแบบที่นักการเมืองใช้ในการหาเสียงกันมากที่สุดในปัจจุบัน

ความหมายของประชานิยม

ประชานิยม" เป็นคำที่แปลมาจากคำว่า populism ในภาษาอังกฤษ แรกเริ่มเดิมทีนั้นคำนี้เป็นศัพท์เฉพาะที่หมายถึงขบวนการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองที่ 3 ของสหรัฐอเมริกาในทศวรรษที่ 1890 ในช่วงนั้นมีการรวมตัวกันของเกษตรกรรายย่อยซึ่งไม่พอใจแนวทางการพัฒนาประเทศที่เต็มไปด้วยอิทธิพลของบริษัทใหญ่ ๆ พวกเขารวมตัวกันก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาในชื่อว่า "พรรคประชาชน" (People's Party) พรรคนี้ได้ส่งนายวิลเลียม เจนนิงส์ ไบรอัน (William Jennings Bryan) เข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในการเลือกตั้ง ค.ศ.1896 แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ จากนั้นพรรคนี้ก็สลายตัวไป ในยุคที่ใกล้เคียงกันนี้ที่รัสเซียได้เกิดขบวนการนารอดนิก (Narodichestvo) ของนักศึกษาปัญญาชนรัสเซียที่ลงไปเคลื่อนไหวเพื่อปลุกระดมชาวนาในชนบทด้วย คำว่า populism จึงเป็นคำที่ใช้เรียกขบวนการนารอดนิกด้วย[1]

ในประเทศไทยแต่เดิมนักวิชาการมักจะใช้ทับศัพท์ว่าป็อปปูลิสต์หรือ พ็อพพิวลิสม์ (populism) ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้คำศัพท์ “ประชานิยม” ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในเวทีวิชาการจากการนำเสนอของ พิชิต ลิขิตกิจสมบูณ์ และนิพนธ์ พัวพงศกร ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2544 และตั้งแต่นั้นมาคำว่าประชานิยมก็ใช้กันอย่างแพร่หลายในเชิงการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายทางการเมืองของรัฐบาลทักษิณเป็นหลัก หลังการอภิปรายไม่ถึงสองอาทิตย์ได้ปรากฏคำว่า “ประชานิยม” เป็นภาษาเขียนครั้งแรกในบทความที่เขียนโดยเกษียร เตชะพีระ ที่ลงในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2544 ตั้งแต่นั้นมาคำนี้ก็ใช้กันอย่างกว้างขวาง [2]

ความหมายของประชานิยมจากการทบทวนแนวคิดที่มาของอเนก เหล่าธรรมทัศน์แล้วสามารถจำแนกออกเป็น 5 ความหมายด้วยกัน[3] คือ

1) ประชานิยมในรัสเซียและอเมริกา เป็นประชานิยมในความหมายดั้งเดิมที่เกิดขึ้นในรัสเซียและอเมริกาในปลายศตวรรษที่ 19 โดยมีนัยว่าหมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เห็นว่าประชาชนสำคัญที่สุด โดยทั้งในรัสเซียและสหรัฐอเมริกานั้นขบวนการประชานิยมที่ต้องการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้นคือชาวนาซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของสังคม

2) ประชานิยมในละตินอเมริกา เป็นขบวนการประชานิยมที่เริ่มต้นขึ้นในอาร์เจนตินาตั้งแต่ทศวรรษ 1920 โดยเป็นขบวนการที่มีผู้นำสูงสุดคือฮวนเปรองที่มีความโดดเด่น มีเสน่ห์ มีบารมีเป็นที่จับตาจับใจประชาชน และมีนโยบายสงเคราะห์คนยากจนเพื่อใช้เป็นฐานเสียงและฐานนโยบายทางการเมือง มุ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างผู้นำกับประชาชน

3) ประชานิยมในประเทศตะวันตก คือการเมืองที่มีพรรคการเมืองบางพรรคได้รับความสนับสนุนจากสามัญชนจากนโยบายที่เป็นที่ชื่นชอบหรือมีอุดมการณ์ตรงกัน

4) ประชานิยมในฐานะแนวทางการพัฒนา ใช้เรียกแนวคิดการพัฒนาที่เน้นภาคชนบท เน้นภาคเกษตร เน้นการพัฒนาไร่นาขนาดเล็ก ขนาดกลางของเกษตรกรอิสระหรือสหกรณ์ที่ชาวไร่ชาวนามารวมกัน เป็นทางเลือกของการพัฒนาที่ไม่เน้นการพัฒนาให้เป็นเมืองแบบตะวันตกนั่นเอง

5) ประชานิยมคือการให้ความสำคัญหรือให้คุณค่าแก่ประชาชน คือการเมืองที่ให้คุณค่าแก่ประชาชนโดยเฉพาะประชาชนทั่วไปหรือชนชั้นล่าง การเมืองที่เห็นความสำคัญของประชาชนทั่วไปจึงเป็นประชานิยมเสมอ

ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าการดำเนินนโยบายทางการเมืองของรัฐบาลทักษิณนั้นไม่อาจะจัดเข้าเป็นประชานิยมในความหมายใดได้เคร่งครัดนัก จึงต้องพิจารณาจากหลายความหมายประกอบกันแล้วแต่เงื่อนไขหรือลักษณะเน้นหนักของนโยบายแต่ละด้าน แต่การให้ความสำคัญกับประชาชนทั่วไปของนโยบายน่าจะเป็นลักษณะสำคัญที่ถูกมองว่าเป็นนโยบายประชานิยม

กำเนิดนโยบายแบบประชานิยม

การเกิดขึ้นของนโยบายที่เรียกกันต่อมาว่าประชานิยมในสมัยรัฐบาลทักษิณนั้นการริเริ่มคิดจะทำนโยบายประชานิยมในปี 2542-2543 นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากความตั้งใจจะลอกเลียนแบบประชานิยมจากละตินอเมริกามาใช้แต่อย่างใด คิดแต่เพียงจะใช้นโยบายเพื่อดึงคะแนนเสียงจากคนชนบทให้ได้มากที่สุด แทนที่จะอาศัยการแจกสิ่งของเงินทองผ่านระบบอุปถัมภ์แบบเดิม แนวคิดที่มีอิทธิพลต่อการทำนโยบายนี้น่าจะเป็นแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนที่แพร่หลายอยู่ในสังคมไทยมากกว่าสามทศวรรษก่อนหน้านั้นแล้ว คนไทยยอมรับและสนับสนุนภูมิปัญญาท้องถิ่นกันอย่างชัดเจนโดยเฉพาะหลังวิกฤตเศรษฐกิจ และคนส่วนมากเห็นด้วยกับการสร้างชุมชนในชนบทให้เข้มแข็งเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศโดยอาศัยภูมิสังคม แต่รัฐบาลต้องการตองสนองต่อความต้องการของประชาชนหลังวิกฤตเศรษฐกิจในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากเศรษฐกิจ โดยอาศัยเอาแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนมาปรับใช้เป็นนโยบาย เพื่อแลกกับคะแนนเสียงหรือความนิยมทางการเมืองมากกว่าของคนในชนบทและคนจนในเมือง[4]

นโยบายประชานิยมถูกนำมาใช้ดำเนินการเป็นนโยบายอย่างแท้จริงในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ดร. ทักษิณในการบริหารราชการแผ่นดินเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ผ่านนโยบายที่บริหารจัดการให้เงินและผลประโยชน์จากรัฐในรูปแบบต่างๆ ไปถึงมือชาวบ้านอย่างจับต้องได้ เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น ซึ่งสร้างคะแนนนิยมกับชาวบ้านอย่างท่วมท้น จนได้รับเลือกเข้ามาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่ออีกเป็นสมัยที่ 2 ที่ยังคงดำเนินการนโยบายประชานิยมหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่อง จึงน่าสนใจที่จะต้องให้รายละเอียดกับโครงการที่ถูกมองว่าเป็นประชานิยม

รูปแบบนโยบายประชานิยมแบบทักษิณ

ผลงานด้านเศรษฐกิจนับเป็นจุดขายสำคัญของรัฐบาลพ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร ที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้มาก เพราะเชื่อว่าความสามารถในการบริหารในภาคเอกชนที่ พ.ต.ท.ดร. ทักษิณประสบความสำเร็จมาแล้วจะถูกนำมาใช้ในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศให้รุ่งเรือง ซึ่งรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตรได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในนโยบายเศรษฐกิจอย่างมาก โดยได้กำหนดให้การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลทักษิณ 1 ได้ดำเนินการหลายมาตรการไปพร้อมกัน เพื่อทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยฟื้นคืนจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540

โดยรัฐบาลพ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตรได้ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจในแนวนโยบายแบบคู่ขนาน (Dual Track) ที่มุ่งใช้พลังเศรษฐกิจและทรัพยากรภายในประเทศเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจโดยให้ความสำคัญกับการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะการ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาส” ให้แก่ประชาชนระดับรากฐานเพื่อสร้างอำนาจซื้อในประเทศ พร้อมกับการพยายามเร่งขยายการส่งออกของประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น และมีเงินไหลเข้าระบบเศรษฐกิจในประเทศโดยรวมมากขึ้น โดยมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ และโครงการช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมให้ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้โดยรัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ดังรายละเอียดดังต่อไปนี้ [5]

นโยบายสร้างความเข้มแข็งแก่ประชาชนด้วยการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรพร้อมฟื้นฟูอาชีพ

1) พักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย 3 ปี และการลดภาระหนี้ ซึ่งรัฐบาลดำเนินโครงการนี้ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยให้เกษตรกรสามารถเลือกที่จะพักชำระหนี้ 3 ปี โดยไม่เสียดอกเบี้ย หรือเลือกลดภาระหนี้ โดยรัฐบาลได้เข้าไปช่วยเกษตรกรในการปรับโครงสร้างและฟื้นฟูอาชีพของตนเองอีกด้วย

2) การลดภาระหนี้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยผ่านสถาบันเกษตรกร ซึ่งเป็นการลดภาระดอกเบี้ยร้อยละ 3 ให้แก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิกที่มีหนี้ไม่เกิน 100,000 บาท และเป็นมาตรการจูงใจให้เกษตรกรที่มีหนี้ค้างชำระส่งชำระหนี้คืนแก่สหกรณ์ ทำให้สหกรณ์มีทุนหมุนเวียนสำหรับช่วยเหลือสมาชิกเพิ่มขึ้น

3) แก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรตามโครงการการปรับโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตรและโครงการแผนฟื้นฟูการเกษตร โดยมีเกษตรกร 180,996 ราย ได้รับการช่วยเหลือโดยให้มีการแขวนดอกเบี้ยของเกษตรกรที่ยังคงเป็นหนี้ ณ วันที่ 30 กันยายน 2547 และให้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยการขยายระยะเวลาการชำระเงินต้นออกไปไม่เกินวันที่ 31 มีนาคม 2555 โดยงดคิดดอกเบี้ย หากเกษตรกรไม่สามารถชำระต้นเงินกู้ตามกำหนด จะต้องรับภาระดอกเบี้ยที่แขวนไว้ และดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นหลังจากวันแขวนดอกเบี้ยไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

4) ปรับโครงสร้างหนี้ของสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร โดยรัฐบาลได้ร่วมกับสถาบันการเงิน 10 แห่ง ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฯ ชะลอการดำเนินคดีหรือการบังคับคดีกับสมาชิกเป็นการชั่วคราวจนกว่าการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้จะเสร็จ

การจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อส่งเสริมกระบวนการพึ่งพาตนเองของหมู่บ้านและชุมชนเมืองในด้านการเรียนรู้ การสร้างและการพัฒนาความคิดริเริ่ม รวมถึงการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม ในการจัดระบบบริหารเงินทุนหมุนเวียนในหมู่บ้านด้วยตนเอง รวมทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสให้คนในหมู่บ้านได้เข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้นและไม่ต้องพึ่งแหล่งทุนนอกระบบ และเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนระยะยาวแก่ประชาชนในชนบทที่จะสนับสนุนการดำเนินโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ด้วย

การจัดตั้งธนาคารประชาชน เป็นอีกหนึ่งแหล่งเงินทุนที่สร้างโอกาสให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยที่ต้องการประกอบอาชีพแต่ขาดแคลนเงินทุนสามารถกู้เงินได้แทนการพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ ซึ่งดำเนินการผ่านธนาคารออมสินในการช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยให้มีโอกาสกู้เงินเพื่อไปประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้ตนเองได้

การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นมาตรการสำคัญที่รัฐบาล พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร ประกาศเป็นนโยบายและสามารถสร้างเป็นผลงานที่เห็นได้อย่างชัดเจน โดยโครงการนี้มีเป้าหมายสนับสนุน ส่งเสริม และสร้างให้เกิดผู้ประกอบการรายย่อยเพื่อเป็นพื้นฐานที่เข้มแข็งและมั่นคงของเศรษฐกิจไทยให้สามารถฟื้นตัวและเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกันก็ได้จัดตั้งธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนด้วยการสนับสนุนเงินทุน โดยการอนุมัติสินเชื่อให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน เป็นการสร้างโอกาสให้เกษตรกรในการเข้าถึงแหล่งทุนโดยสามารถนำสินทรัพย์ 5 ประเภท อันได้แก่ ที่ดิน สัญญาเช่า เช่าซื้อ หนังสืออนุญาตให้ประโยชน์และหนังสือรับรองทรัพย์สินทางปัญญาและเครื่องจักร แต่โดยส่วนใหญ่จะเน้นสิทธิในการครอบครองที่ดินทำกินไปใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการใหม่ได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุน โดยมีโอกาสที่จะสามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบเพื่อสร้างรายได้ ส่งผลเป็นการสร้างงานที่สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันยังได้มีการดำเนินการเร่งรัดออกโฉนดที่ดินและการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน สปก. และที่ดินที่ประชาชนครอบครองอยู่ในรูปแบบอื่น ๆ ให้แก่ประชาชนเพื่อนำไปใช้ค้ำประกันเงินกู้ตามนโยบายการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนอีกด้วย

โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)

โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ได้ทำให้เกิดการสร้างงานสำหรับผู้ไม่มีงานทำ หรือเสริมรายได้ให้กับเกษตรกรที่ยังทำการเกษตรอยู่ ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นพัฒนาสินค้า โดยรัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือในด้านความรู้สมัยใหม่และการบริหารจัดการเพื่อเชื่อมโยงสินค้าจากชุมชนสู่ตลาด ทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลได้มุ่งการขยายตลาดและสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้แก่สินค้า หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ โดยเพิ่มช่องทางการตลาด และจัดแสดงสินค้าทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะการจัดงานเมืองแห่งภูมิปัญญาไทย (OTOP City) ขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อให้เป็นช่องทางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์

โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค หรือโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

รัฐบาลได้กำหนดนโยบายสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อลดรายจ่ายด้านสุขภาพโดยรวมของประเทศและประชาชนในการดูแลรักษาสุขภาพโดยเสียค่าใช้จ่ายเพียง 30 บาท/ครั้ง และสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน โดยรัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 โดยจัดตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นองค์กรขึ้นมาบริหารจัดการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ และทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้นและจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในปี พ.ศ. 2545 พบว่าโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นนโยบายของรัฐบาล พ.ต.ท. ดร.ทักษิณที่ประชาชนพึงพอใจมากที่สุด นับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ของการบริการสุขภาพที่ประเทศไทยสามารถสร้างระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าขึ้นมาได้

-โครงการบ้านเอื้ออาทร เป็นการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถมีบ้านของตนเอง โดยนับถึงวันที่ 16 ธันวาคม 2547 มีผู้จองสิทธิบ้านเอื้ออาทรแล้วทั้งสิน 444,548 ราย ทั่วประเทศ

-โครงการบ้านมั่นคง เป็นโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้แก่คนจนในชุมชนแออัดทั่วประเทศ เป็นการแก้ปัญหาความไม่มั่นคงในการอยู่อาศัย เพื่อสร้างชุมชนที่มั่นคง โดยเน้นให้คนจนมีส่วนร่วมสำคัญในการพัฒนาที่อยู่อาศัยและชุมชนของตนเอง

จะเห็นได้ว่านโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณนั้นมุ่งไปสร้างคะแนนนิยมหรือมีผู้รับผลจากนโยบายเป็นคนยากจนทั้งในชนบทและในเมือง ซึ่งบางครั้งก็มีการบัญญัติศัพท์เรียกว่า “รากหญ้า” ซึ่งที่ผ่านมาแทบจะไม่เคยได้รับผลประโยชน์จากนโยบายทางการเมืองของรัฐบาลไหนมาก่อนเลย

ความสำคัญของนโยบายประชานิยมต่อการเมืองไทย

ความสำคัญประการแรกคือนโยบายประชานิยมทำให้การแข่งขันกันทางนโยบายเกิดขึ้นจริง แต่เป็นการแข่งขันทางนโยบายที่พยายามจะเป็นประชานิยมมากกว่ากันเพื่อหวังคะแนนเสียงจากผู้เลือกตั้งก่อนการก่อเกิดของพรรคไทยรักไทยนั้น นโยบายของรัฐบาลมักจะได้มาจากการกำหนดของเทคโนแครตหรือข้าราชการนักวิชาการ เช่นจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ฯ เสียยิ่งกว่าจะมาจากนักการเมือง เมื่อมีการก่อตั้งพรรคไทยรักไทย การกำหนดนโยบายเปลี่ยนโฉมหน้าไป เพราะพรรคไทยรักไทยมีนโยบายของตัวเอง สภาพัฒน์หรือหน่วยราชการอื่นที่เคยมีบทบาทในการกำหนดนโยบายเป็นเพียงส่วนเสริมที่คอยนำเอานโยบายกว้าง ๆ ของพรรคไทยรักไทยไปแปรเป็นรูปธรรมและนำไปปฏิบัติ[6] รวมทั้งรัฐบาลเองเป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายด้วยตัวเองไม่ได้หวังพึ่งข้าราชการประจำในการดำเนินงาน

ความสำคัญอีกประการของนโยบายประชานิยมคือเป็นการเปิดเวทีของการถกเถียงกันว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร เนื่องจากผลกระทบโครงการเอื้ออาทรต่าง ๆ และนโยบายแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน ได้ถูกนักวิชาการบางท่านมองว่าเป็นนโยบายที่จะก่อให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในระยะยาว ในทัศนะของนักวิชาการเหล่านี้ นโยบายประชานิยมมิใช่นโยบายที่ดีแต่เป็นนโยบายที่ทำลายกลไกปกติของตลาด ในขณะที่นักวิชาการอีกกลุ่มมองว่านโยบายประชานิยมเป็นการสร้างมูลค่าในทางเศรษฐกิจขึ้นจาการหมุนเงินเข้าใช้จ่ายในตลาดหลายรอบ จึงเหมาะแก่การกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนเพื่อให้ภาพรวมของเศรษฐกิจดีขึ้น

ที่มา

คณะกรรมการจัดทำรายงานแสดงผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ. 4 ปี ซ่อมประเทศไทยเพื่อคนไทยโดยรัฐบาลพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร (ปี 2544-2548). กรุงเทพฯ: คณะกรรมการจัดทำรายงานแสดงผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ, 2547.

จุไรรัตน์ แสนใจรักษ์. ทักษิโณมิกส์ . กรุงเทพฯ: สถาบันวิถีทรรศน์ มูลนิธิวิถีทรรศน์, 2547.

เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง. แปลงทักษิณเป็นทุน. กรุงเทพฯ : ขอคิดด้วยคน, 2547.

ธีระศักดิ์ จันทนนท์. นโยบายของรัฐบาล ชุด พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร สมัยที่ 2. กรุงเทพฯ : ฝ่ายการพิมพ์และเผยแพร่ สำนักพัฒนาการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์, 2548.

ยอดรัก เสาวคนธ์. นายกรัฐมนตรีประชานิยม . กรุงเทพฯ : ซี.พี. บุ๊ค สแตนดาร์ด, 2547.

วินัย ผลเจริญ. “ผลกระทบของนโยบายประชานิยมที่มีต่อเศรษฐกิจสังคม และการเมืองไทย ( ตอน 1)”. จุลสารกลุ่มประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ปีที่ 4 ฉบับ 37 ธันวาคม 2546).

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. ผลการดำเนินการที่สำคัญตามนโยบายรัฐบาล ปีที่ 1-4 : รัฐบาล พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ( 2544 – 2548 ). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, 2544-2548.

ไสว บุญมา. ประชานิยม: หายนะจากอาร์เจนตินาถึงไทย?. กรุงเทพฯ: เนชั่นบุ๊ค, 2546.

เอนก เหล่าธรรมทัศน์. ทักษิณา-ประชานิยม. กรุงเทพฯ: มติชน, 2549.

อ้างอิง

  1. วินัย ผลเจริญ, “ผลกระทบของนโยบายประชานิยมที่มีต่อเศรษฐกิจสังคม และการเมืองไทย ( ตอน 1)”, จุลสารกลุ่มประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ปีที่ 4 ฉบับ 37 ธันวาคม 2546), หน้า 1.
  2. เอนก เหล่าธรรมทัศน์, ทักษิณา-ประชานิยม, กรุงเทพฯ: มติชน, 2549, หน้า 79.
  3. เอนก เหล่าธรรมทัศน์, ทักษิณา-ประชานิยม, กรุงเทพฯ: มติชน, 2549, หน้า 23-46.
  4. เอนก เหล่าธรรมทัศน์, ทักษิณา-ประชานิยม, กรุงเทพฯ: มติชน, 2549, หน้า 110.
  5. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. ผลการดำเนินการที่สำคัญตามนโยบายรัฐบาล ปีที่ 1-4 : รัฐบาล พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ( 2544 – 2548 ). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, 2544-2548. และดู คณะกรรมการจัดทำรายงานแสดงผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ. 4 ปี ซ่อมประเทศไทยเพื่อคนไทยโดยรัฐบาลพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร (ปี 2544-2548).กรุงเทพฯ: คณะกรรมการจัดทำรายงานแสดงผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ, 2547.
  6. วินัย ผลเจริญ, “ผลกระทบของนโยบายประชานิยมที่มีต่อเศรษฐกิจสังคม และการเมืองไทย ( ตอน 1)”, จุลสารกลุ่มประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ปีที่ 4 ฉบับ 37 ธันวาคม 2546), หน้า 1.