ผลต่างระหว่างรุ่นของ "หลัก 6 ประการ"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Trikao (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
Trikao (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
 
บรรทัดที่ 50: บรรทัดที่ 50:
          นอกจากหลักการทั้ง 6 ประการ จะกลายเป็นหลักการที่ใช้เป็นนโยบายในการขับเคลื่อนประเทศในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ผ่านรัฐธรรมนูญระบบกฎหมาย เค้าโครงการเศรษฐกิจ และมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองแล้วนั้น หลักการทั้ง 6 ประการนี้ ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์สำคัญของคณะราษฎรที่ปรากฏผ่านทางสถาปัตยกรรมอื่น ๆ เพื่อเผยแพร่อุดมการณ์ของคณะราษฎรในช่วงเวลาดังกล่าว
          นอกจากหลักการทั้ง 6 ประการ จะกลายเป็นหลักการที่ใช้เป็นนโยบายในการขับเคลื่อนประเทศในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ผ่านรัฐธรรมนูญระบบกฎหมาย เค้าโครงการเศรษฐกิจ และมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองแล้วนั้น หลักการทั้ง 6 ประการนี้ ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์สำคัญของคณะราษฎรที่ปรากฏผ่านทางสถาปัตยกรรมอื่น ๆ เพื่อเผยแพร่อุดมการณ์ของคณะราษฎรในช่วงเวลาดังกล่าว


= <span style="font-size:x-large;">'''จากหลัก&nbsp;''''''6 ประการ สู่สัญลักษณ์ของคณะราษฎร'''</span> =
= '''<span style="font-size:x-large;">จากหลัก&nbsp;6 ประการ สู่สัญลักษณ์ของคณะราษฎร</span>''' =


&nbsp; &nbsp; &nbsp; &nbsp; &nbsp; จากหลัก 6 ประการ ที่คณะราษฎรประกาศในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาบ้านเมือง ด้วยการวางผังเมือง ปรับปรุงถนน รวมทั้งก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ทั้งหมดนี้มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเฉพาะ ที่เปลี่ยนแปลงจากศิลปะในยุคก่อนหน้าแบบตรงข้ามกันอย่างชัดเจน โดยศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมยุคคณะราษฎรได้นำรูปแบบศิลปะอาร์ตเดโค (Art Deco) ที่ลดทอนรายละเอียดลงเหลือเพียงรูปทรงเรขาคณิตมาผสมผสานกับบริบททางการเมือง และการเคลื่อนไหวของสังคมไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งสะท้อนถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อาทิ วันที่ เดือน ปีที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง รวมทั้งหลัก 6 ประการ ที่ปรากฏในหลากหลายสถาปัตยกรรม ดังนี้
&nbsp; &nbsp; &nbsp; &nbsp; &nbsp; จากหลัก 6 ประการ ที่คณะราษฎรประกาศในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาบ้านเมือง ด้วยการวางผังเมือง ปรับปรุงถนน รวมทั้งก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ทั้งหมดนี้มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเฉพาะ ที่เปลี่ยนแปลงจากศิลปะในยุคก่อนหน้าแบบตรงข้ามกันอย่างชัดเจน โดยศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมยุคคณะราษฎรได้นำรูปแบบศิลปะอาร์ตเดโค (Art Deco) ที่ลดทอนรายละเอียดลงเหลือเพียงรูปทรงเรขาคณิตมาผสมผสานกับบริบททางการเมือง และการเคลื่อนไหวของสังคมไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งสะท้อนถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อาทิ วันที่ เดือน ปีที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง รวมทั้งหลัก 6 ประการ ที่ปรากฏในหลากหลายสถาปัตยกรรม ดังนี้

รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 10:35, 9 มีนาคม 2566

ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


ความหมาย

          “หลัก 6 ประการ” เป็นหลักการที่แถลงในวันที่ 24_มิถุนายน_พ.ศ._2475 โดย “คณะราษฎร” ซึ่งมีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) มาเป็นระบอบที่จำกัดให้พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) หลัก 6 ประการ ได้แก่ (1) หลักเอกราช (2) หลักความปลอดภัย (3) หลักเศรษฐกิจ (4) หลักเสมอภาค (5) หลักเสรีภาพ และ (6) หลักการศึกษา ซึ่งต่อมาหลักการทั้ง 6 ประการนี้ ได้รับการพัฒนาและนำไปต่อยอดเป็นการดำเนินการต่าง ๆ ของคณะราษฎร

การปฏิวัติ พ.ศ. 2475 : ปฐมบทของ “หลัก 6 ประการ”

          การเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือการปฏิวัติสยาม ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ก่อกำเนิดโครงสร้างสถาบันทางการเมืองต่าง ๆ จำนวนมาก อาทิ รัฐธรรมนูญ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และระบบราชการสมัยใหม่

          ปัจจัยที่นำไปสู่การปฏิวัติ พ.ศ. 2475 อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ปัจจัยที่สำคัญนั่นคือ ปัจจัยภายนอกประเทศ ได้แก่ สถานการณ์การปฏิวัติในประเทศต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เช่น การปฏิวัติจีนในปี พ.ศ. 2454 (ค.ศ. 1911) การปฏิวัติรัสเซียในปี ค.ศ. 2460 (ค.ศ. 1917) เป็นต้น ถือเป็นการจุดชนวนแนวคิดเรื่องการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบใหม่ อีกทั้งยังเผชิญกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งหรือที่รู้จักกันในชื่อ “ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ครั้งใหญ่ (Great Depression)” ที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกเกิดภาวะชะงักงัน และส่งผลต่อการบริหารงานของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ดีเท่าที่ควร[1] โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้วิธีดุลข้าราชการออก ซึ่งข้าราชการที่ถูกให้ออกจากงานนั้นส่วนใหญ่เป็นข้าราชการระดับกลางถึงระดับล่างที่มีฐานเงินเดือนไม่สูงนัก ขณะที่ข้าราชการระดับสูงซึ่งส่วนใหญ่เป็นเชื้อพระวงศ์และตระกูลขุนนางไม่ได้รับการดุลออกแต่ประการใด ปัจจัยดังกล่าวจึงส่งผลต่อนโยบายภายในประเทศ กล่าวคือ นโยบายเช่นนี้ทำให้เกิดความเสื่อมถอยของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กลุ่มชนชั้นกลาง ได้แก่ นักหนังสือพิมพ์ พ่อค้า และข้าราชการ ซึ่งเริ่มมีการรับการศึกษาแบบตะวันตก มองว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น เป็นระบอบที่สร้างความไม่เท่าเทียมให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะในการบริหารประเทศที่มีเฉพาะเชื้อพระวงศ์เท่านั้นที่มีอำนาจตัดสินใจและไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเริ่มมีการนำเสนอแนวทางที่จะทำให้มีกลไกที่สามารถแก้ปัญหาให้กับประชาชนโยทั่วไปได้อย่างแท้จริง[2]

          การปฏิบัติการในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เกิดจากการเตรียมการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2469 เมื่อครั้งที่นักเรียนไทยในยุโรป 7 คน ประกอบด้วย (1) ร้อยโทประยูร_ภมรมนตรี (2) ร้อยโทแปลก ขีตตะสังคะ (3) ร้อยตรีทัศนัย มิตรภักดี (4) นายตั้ว_ลพานุกรม (5) หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี), (6) นายแนบ_พหลโยธิน และ (7) นายปรีดี_พนมยงค์ ได้มีการประชุมกันที่อพาร์ทเมนต์หมายเลข 9 ถนนชอมเมอร์ราร์ (Rue Du Sommerard) เพื่อวางแผนในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) มาเป็นระบอบที่จำกัดให้พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) โดยใช้ยุทธวิธีการยึดอำนาจรัฐแบบฉับพลันทันที หรือ “coup d’ etat” จากนั้น เมื่อทั้ง 7 คนเดินทางกลับประเทศไทย ก็ได้แยกย้ายกันไปทำงานตามที่ต่าง ๆ ระหว่างนั้น ได้มีการชักชวนบุคคลอื่น ๆ เข้าร่วมคณะ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2474 สามารถชักชวนนายทหารอาวุโสเข้าร่วมคณะได้ 3 นาย ได้แก่ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา พันเอกพระยาทรงสุรเดช และ พันเอกพระยาฤทธิอัคเนย์[3] จนกระทั่งสามารถรวบรวมสมาชิกได้ประมาณ 100 คน ในชื่อเรียกว่า “คณะราษฎร” และได้แบ่งเป็นกลุ่มย่อยต่าง ๆ ภายใน เช่น สายทหารบก สายทหารเรือ สายพลเรือน เป็นต้น จนกระทั่งเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นวันที่รัชกาลที่ 7 แปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล คณะผู้ก่อการได้ปฏิบัติการยึดพระนคร โดยมีการควบคุมพระราชวงศ์พระองค์สำคัญ และขุนนางคนสำคัญ ไปรวมกันไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม จนกระทั่งมั่นใจแล้วว่าคณะผู้ก่อการสามารถควบคุมพระนครเอาไว้ได้แล้ว จึงได้มีแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ออกมาโดยใช้ชื่อว่า “ประกาศคณะราษฎร_ฉบับที่_1[4] ซึ่งในประกาศ ฉบับนี้กำหนดหลักการใหญ่ ๆ เอาไว้ 6 ข้อ ดังนี้

          1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

          2. จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

          3. ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

          4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้)

          5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการ ดังกล่าวข้างต้น

          6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

          จากหลักการทั้ง 6 ประการนี้ ต่อมาได้กลายเป็นแนวทางในการดำเนินงานของคณะราษฎร และเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า “หลัก 6 ประการ ของคณะราษฎร”

หลัก 6 ประการ : ความเป็นมา และความเป็นไป

          หากกล่าวโดยสรุป หลักการที่คณะราษฎรประกาศในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ทั้ง 6 ข้อนั้น ได้มีการสรุปออกมาเป็นถ้อยคำสั้น ๆ ซึ่งภายหลังเรียกว่า “หลัก 6 ประการของคณะราษฎร” ได้แก่ (1) หลักเอกราช (2) หลักความปลอดภัย (3) หลักเศรษฐกิจ (4) หลักเสมอภาค (5) หลักเสรีภาพ และ (6) หลักการศึกษา ซึ่งทั้ง 6 ประการนี้ มีสาเหตุและวัตถุประสงค์ ดังนี้

          (1) หลักเอกราช มาจากข้อความที่ว่า “จะรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมืองในทางการศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง” เนื่องจากปัญหาสำคัญในสมัยนั้น นั่นคือ การสูญเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ส่งผลให้คนในบังคับของต่างชาติหากทำความผิดในดินแดนของรัฐสยามสมัยนั้น จะต้องพิจารณาความผิดตามหลักกฎหมายของชาตินั้น ๆ ไม่ให้ยึดหลักกฎหมายของสยาม จากหลักการดังกล่าวนี้เองได้กลายมาเป็นแนวทางที่รัฐบาลภายหลังการปฏิวัติในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 มีความพยายามที่จะเจรจากับประเทศต่าง ๆ เพื่อยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต จนกระทั่งสำเร็จเสร็จสิ้นทำให้สยามมีเอกราชทางการศาลอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2481[5]

          (2) หลักความปลอดภัย มาจากข้อความที่ว่า “จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก” เพื่อเป็นการยืนยันว่ารัฐบาลภายใต้ระบอบใหม่นั้น จะสร้างความปลอดภัยในชีวิตให้กับประชาชน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในแต่ละประเทศที่ผ่านมา มักประสบกับสถานการณ์สงครามกลางเมือง ดังนั้น คณะราษฎรจึงต้องสร้างหลักประกันว่ารัฐบาลหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศให้ได้ ขณะเดียวกัน นายปรีดี พนมยงค์ มองว่า การประทุษร้ายที่จะเกิดขึ้นภายในประเทศนั้น มาจากนิสัยส่วนตัวของแต่ละบุคคลซึ่งสามารถแก้ได้ด้วยการสร้างระบบการศึกษาที่ดี และสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจซึ่งเหตุข้อนี้นั้น รัฐบาลสามารถควบคุมไม่ให้เกิดขึ้นได้[6]

          (3) หลักเศรษฐกิจ มาจากข้อความที่ว่า “ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎร อดอยาก” ซึ่งเป็นข้อความที่ออกมาเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น ที่รัฐบาล ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่สามารถแก้ไขได้ และเสนอแนวทางที่จะจัดทำ “โครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ซึ่งต่อมาในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปครองและมีการตั้งสภาผู้แทนราษฎรไม่นาน ก็ได้มีการเสนอ “โครงการณ์ เศรษฐกิจ พาณิชยการ กสิกรรม และอุตสาหกรรม” ของนายมังกร สามเสน ต่อสภาผู้แทนราษฎร[7] และเป็นจุดตั้งต้นที่นำไปสู่การเสนอ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ของนายปรีดี พนมยงค์ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2475 (หรือเดือนมีนาคม พ.ศ. 2476 ตามปฏิทินปัจจุบัน)

          (4) หลักเสมอภาค มาจากข้อความที่ว่า “จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้)” สืบเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจที่นำมาสู่การดุลข้าราชการชั้นผู้น้อย และระดับกลางออกจากงาน ขณะที่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเป็นกลุ่มเชื้อพระวงศ์ไม่ได้ได้รับผลกระทบ ส่งผลให้หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จแล้วนั้น แนวคิดเรื่องความเสมอภาคกลายเป็นหลักการพื้นฐานที่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับแรก นั่นคือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 ในมาตรา 1 บัญญัติว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”[8] ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าราษฎรทุกคนต่างเป็นเจ้าของอำนาจเหมือน ๆ กัน ไม่มีใครจะมีอำนาจไปมากกว่าใคร และหลักความเสมอภาคนี้กลายเป็นหลักการที่ใช้ทั่วไปในอีกหลายมิติ อาทิ ความเสมอภาคทางกฎหมาย ที่ทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน กฎหมายจะบังคับใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ความเสมอภาคทางเพศ ที่ทุกเพศสามารถเลือกผู้แทนหมู่บ้านและผู้แทนตำบลได้ และความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ที่ทุกคนมีสิทธิเสมอภาคกันในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ[9]

          (5) หลักเสรีภาพ มาจากข้อความที่ว่า “จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น” เป็นผลมาจากการเติบโตของนักหนังสือพิมพ์ ที่ขยายตัวมากขึ้นในช่วงปลายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รวมทั้งเกิดกลุ่มปัญญาชนที่เป็นกลไกสำคัญในการผลิตและเผยแพร่องค์ความรู้ในเรื่องสิทธิพื้นฐานของราษฎร และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จแล้ว แนวคิดเรื่องเสรีภาพก็กลายมาเป็นหัวใจสำคัญประการหนึ่ง และในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ได้รับรองเสรีภาพไว้ในมาตรา 13 ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนาหรือลัทธิใด ๆ และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมของประชาชน” ซึ่งเป็นเสรีภาพในทางความคิดความเชื่อ (Freedom of Thought) และมาตรา 14 ว่า “ภายในบังคับแห่งบทกฎหมาย บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ ในร่างกาย เคหสถาน ทรัพย์สิน การพูด การเขียน การโฆษณา การศึกษาอบรม การประชุมโดยเปิดเผย การตั้งสมาคม การอาชีพ”[10] ซึ่งเป็นเสรีภาพในชีวิต  ทรัพย์สิน และการแสดงออก ซึ่งทั้งหมดนี้กลายเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญให้กับรัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มา

          (6) หลักการศึกษา มาจากข้อความที่ว่า “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างความปลอดภัยภายในประเทศ การสร้างความกินดีอยู่ดี การให้เสรีภาพและความเสมอภาคแก่ราษฎร โดยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวางรากฐานทางการศึกษาเพื่อให้เกิดความรู้สำคัญสำหรับราษฎรโดยทั่วไป ซึ่งความรู้ในเรื่องความปลอดภัยในชีวิต ความกินดีอยู่ดี ความเสมอภาค และเสรีภาพนั้น ยังไม่มีการให้การศึกษาเหล่านี้แก่ราษฎรโดยทั่วไป ดังนั้น คณะราษฎรจึงมีการก่อตั้ง “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” ขึ้นมาในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 เพื่อถ่ายทอดความรู้ในเรื่องดังกล่าวแก่ราษฎรทั่วไป อีกทั้งยังเป็นไปตามหลักการข้อที่ 6 ในเรื่องการศึกษา[11]  

          นอกจากหลักการทั้ง 6 ประการ จะกลายเป็นหลักการที่ใช้เป็นนโยบายในการขับเคลื่อนประเทศในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ผ่านรัฐธรรมนูญระบบกฎหมาย เค้าโครงการเศรษฐกิจ และมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองแล้วนั้น หลักการทั้ง 6 ประการนี้ ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์สำคัญของคณะราษฎรที่ปรากฏผ่านทางสถาปัตยกรรมอื่น ๆ เพื่อเผยแพร่อุดมการณ์ของคณะราษฎรในช่วงเวลาดังกล่าว

จากหลัก 6 ประการ สู่สัญลักษณ์ของคณะราษฎร

          จากหลัก 6 ประการ ที่คณะราษฎรประกาศในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาบ้านเมือง ด้วยการวางผังเมือง ปรับปรุงถนน รวมทั้งก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ทั้งหมดนี้มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเฉพาะ ที่เปลี่ยนแปลงจากศิลปะในยุคก่อนหน้าแบบตรงข้ามกันอย่างชัดเจน โดยศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมยุคคณะราษฎรได้นำรูปแบบศิลปะอาร์ตเดโค (Art Deco) ที่ลดทอนรายละเอียดลงเหลือเพียงรูปทรงเรขาคณิตมาผสมผสานกับบริบททางการเมือง และการเคลื่อนไหวของสังคมไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งสะท้อนถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อาทิ วันที่ เดือน ปีที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง รวมทั้งหลัก 6 ประการ ที่ปรากฏในหลากหลายสถาปัตยกรรม ดังนี้

          1. อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นสัญลักษณ์แห่งการก้าวสู่ระบอบประชาธิปไตยของไทย อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแห่งนี้วางศิลาฤกษ์ปี พ.ศ. 2482 และมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 อนุสาวรีย์นี้ยังถูกนับเป็นหลักกิโลเมตรที่ 0 เพื่อกำหนดให้เป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญก้าวหน้าจากกรุงเทพมหานครไปภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งอนุสาวรีย์แห่งนี้มีสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงหลัก 6 ประการ อยู่ที่จำนวนพระขรรค์ที่ประดับรอบป้อมกลางที่ตั้งพานรัฐธรรมนูญ มีจำนวน 6 ด้าม เพื่อสื่อถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร[12]

          2. อาคารศาลฎีกา (เดิม) เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลคณะราษฎรได้พยายามแก้ไขสนธิสัญญาเสียเปรียบ จนนำมาสู่การยกเลิกสนธิสัญญาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2483 และเพื่อตอกย้ำความสำเร็จว่าประเทศสยามได้รับเอกราชสมบูรณ์ ทั้งทางด้านการเมือง ศาล และเศรษฐกิจ ภายใต้บริหารประเทศโดยรัฐบาลคณะราษฎร จึงได้มีการสร้างอาคารศาลฎีกาไว้รำลึก โดยมีเสา 6 ต้น ด้านหน้าอาคาร เพื่อสะท้อนถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร[13]

          3. วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน เป็นวัดที่สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์การปกครองระบอบประชาธิปไตย เป็นการสร้างวัดที่ประชาชนและรัฐบาลร่วมกัน กำหนดสร้างเสร็จวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 ซึ่งครบรอบทศวรรษการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ภายในวัดมีเจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ โดยเจดีย์ดังกล่าวส่วนยอดแบ่งเป็นปล้อง ๆ เรียกว่า ปล้องไฉน ตามลักษณะของปีไฉน มีจำนวน 6 ปล้อง เพื่อสะท้อนถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร และโดยรอบของเจดีย์ดังกล่าวยังเป็นที่เก็บอัฐิของสมาชิกคณะราษฎรเอาไว้ด้วย[14]

          4. ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอาคารหลังแรกของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ออกแบบโดย นายหมิว อภัยวงศ์ ที่ได้ปรับปรุงจากตึกเก่า 4 หลัง ที่เคยเป็นของค่ายทหารเดิมด้วยการสร้างหลังคาเชื่อมแต่ละตึก จนกลายเป็นอาคารหลังเดียวกัน ส่วนกลางของตึกได้สร้างอาคาร 3 ชั้นขึ้นเพิ่มเติมโดยมีโดมอยู่ตรงกลาง จึงเรียกกันว่า “ตึกโดม” ที่นำรูปแบบมาจากดินสอแปดเหลี่ยมที่เหลาจนแหลมคม เพื่อแสดงถึงภูมิปัญญาที่สูงส่งของการจัดการศึกษา และด้านบนตึกโดมนี้เองประกอบด้วยหน้าต่าง 6 บาน ที่สะท้อนถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎรเช่นเดียวกับสถาปัตยกรรมอื่น ๆ ของคณะราษฎร[15]

บทสรุป

          หลัก 6 ประการ ที่ประกอบด้วย (1) หลักเอกราช (2) หลักความปลอดภัย (3) หลักเศรษฐกิจ (4) หลักเสมอภาค (5) หลักเสรีภาพ และ (6) หลักการศึกษา เป็นแนวทางการดำเนินการของ “คณะราษฎร” ที่จะนำพาประเทศให้บรรลุเป้าหมายทั้ง 6 ประการนี้ โดยหลักการดังกล่าวปรากฏขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จแล้ว หลักการทั้ง 6 ประการนี้ มีที่มาจากปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เช่น ปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ดังนั้น เมื่อคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จแล้วและได้เข้าบริหารประเทศ ได้นำหลักการทั้ง 6 ประการ มาดำเนินผ่านกลไกต่าง ๆ อาทิ มีการวางหลักการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญที่สำคัญ นั่นคือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 รวมทั้งมีการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาเสียเปรียบต่าง ๆ จนสำเร็จ มีการจัดทำเค้าโครงการเศรษฐกิจ และมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้หลักการทั้ง 6 ประการ ของคณะราษฎรทั้งสิ้น ส่งผลให้หลัก 6 ประการนี้ กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของคณะราษฎรที่ปรากฏผ่านสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นในยุคสมัย ที่เรียกกันว่า “สถาปัตยกรรมคณะราษฎร”

บรรณานุกรม

คริส เบเกอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร. (2557). ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน).

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. (2553). การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน).

มังกร สามเสน. (2490). โครงการณ์ เศรษฐกิจ พาณิชยการ กสิกรรม และอุตสาหกรรม. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ใต้เชียง).

ชาตรี ประกิตนนทการ, “โดมธรรมศาสตร์และการเมือง,” หน้าจั่ว 5, ฉ.5 (กันยายน 2550): 66-85.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, “ปรีดี พนมยงค์ กับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง,” สถาบันปรีดี พนมยงค์, สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564, https://pridi.or.th/th/content/2020/06/319.

ทศพร กลิ่นหอม, “คณะราษฎร และมรดกทางสถาปัตยกรรมที่ซ่อนนัยแห่งการเมือง,” สารคดี, สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564,  https://www.sarakadeelite.com/pic-talks/khana-ratsadon-architecture/.

ผลงานของปรีดี, “ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑,” สถาบันปรีดี พนมยงค์, สืบค้นเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2564, https://pridi.or.th/th/libraries/1583202126.

ผลงานของปรีดี, “ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจ,” สถาบันปรีดี พนมยงค์, สืบค้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2564, https://pridi.or.th/th/libraries/1583466113.

พระกษิดิศ สุหชฺโช,  “การยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต: จากกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ถึงนายปรีดี พนมยงค์,” สถาบันปรีดี พนมยงค์, สืบค้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2564, https://pridi.or.th/th/content/2020/08/371.

รุ่งนภา พิมมะศรี, “เดิน “ราชดำเนิน” ค้นเรื่องราวในสถาปัตย์คณะราษฎร มรดกยุคสร้างชาติที่กำลังถูกทำลาย,” ประชาชาติธุรกิจ, สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564, https://www.prachachat.net/d-life/news-499992.

วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, “คณะราษฎรเผยสาเหตุ ‘ปฏิวัติ 2475’ ปฐมบทจากความเสื่อมโทรมของระบอบสมบูรณาฯ ?,” ศิลปวัฒนธรรม, สืบค้นเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2564, https://www.silpa-mag.com/history/article_49539.

พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475, มาตรา 1. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49 (27 มิถุนายน 2475): 167.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475, มาตรา 13 – มาตรา 14. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49 (10 ธันวาคม 2475): 536.

อ้างอิง

[1] คริส เบเกอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร, ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2557),หน้า 153-162.

[2] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, 2553), หน้า 108-118.

[3] วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, “คณะราษฎรเผยสาเหตุ ‘ปฏิวัติ 2475’ ปฐมบทจากความเสื่อมโทรมของระบอบสมบูรณาฯ ?,” ศิลปวัฒนธรรม, สืบค้นเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2564, https://www.silpa-mag.com/history/article_49539.

[4] ผลงานของปรีดี, “ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑,” สถาบันปรีดี พนมยงค์, สืบค้นเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2564, https://pridi.or.th/th/libraries/1583202126.

[5] พระกษิดิศ สุหชฺโช,  “การยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต: จากกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ถึงนายปรีดี พนมยงค์,” สถาบันปรีดี พนมยงค์, สืบค้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2564, https://pridi.or.th/th/content/2020/08/371.

[6] ผลงานของปรีดี, “ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจ,” สถาบันปรีดี พนมยงค์, สืบค้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2564, https://pridi.or.th/th/libraries/1583466113.

[7] มังกร สามเสน, โครงการณ์ เศรษฐกิจ พาณิชยการ กสิกรรม และอุตสาหกรรม, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ใต้เชียง, 2490), หน้า 39-40.

[8] พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475, มาตรา 1. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49 (27 มิถุนายน 2475): 167.

[9] ผลงานของปรีดี, “ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจ,” สถาบันปรีดี พนมยงค์, สืบค้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2564, https://pridi.or.th/th/libraries/1583466113.

[10] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475, มาตรา 13 – มาตรา 14. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49 (10 ธันวาคม 2475): 536.

[11] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, “ปรีดี พนมยงค์ กับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง,” สถาบันปรีดี พนมยงค์, สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564, https://pridi.or.th/th/content/2020/06/319.

[12] รุ่งนภา พิมมะศรี, “เดิน “ราชดำเนิน” ค้นเรื่องราวในสถาปัตย์คณะราษฎร มรดกยุคสร้างชาติที่กำลังถูกทำลาย,” ประชาชาติธุรกิจ, สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564,  https://www.prachachat.net/d-life/news-499992.

[13] ทศพร กลิ่นหอม, “คณะราษฎร และมรดกทางสถาปัตยกรรมที่ซ่อนนัยแห่งการเมือง,” สารคดี, สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564,  https://www.sarakadeelite.com/pic-talks/khana-ratsadon-architecture/.

[14] ทศพร กลิ่นหอม, “คณะราษฎร และมรดกทางสถาปัตยกรรมที่ซ่อนนัยแห่งการเมือง,” สารคดี, สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564,  https://www.sarakadeelite.com/pic-talks/khana-ratsadon-architecture/.

[15] ชาตรี ประกิตนนทการ, “โดมธรรมศาสตร์และการเมือง,” หน้าจั่ว 5, ฉ.5 (กันยายน 2550): 66-85.