ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ศาลรัฐธรรมนูญ"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Trikao (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
Trikao (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
บรรทัดที่ 5: บรรทัดที่ 5:


 
 


= <span style="font-size:x-large;">'''ความนำ'''</span> =
= <span style="font-size:x-large;">'''ความนำ'''</span> =


&nbsp; &nbsp; &nbsp; &nbsp; &nbsp; ตามแนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญนิยม'''(Constitutionalism) ซึ่งถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ในหลายประเทศจึงมีการจัดตั้งองค์กรขึ้นให้มีบทบาทหน้าที่ในการพิทักษ์ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ โดยให้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดว่าบทบัญญัติหรือกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในรัฐธรรมนูญของไทย ฉบับ พ.ศ. 2560 ก็ได้บัญญัติให้มีการจัดตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่ปกป้องพิทักษ์รัฐธรรมนูญในรูปของ '''“ศาลรัฐธรรมนูญ”''' ขึ้น เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการในการพิจารณาตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายและการกระทำซึ่งเป็นการใช้อำนาจและการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ และเนื่องจากการที่รัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุด ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงถือเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันทุกองค์กร ทั้งรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ ตลอดถึงหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ[[#_ftn1|[1]]]
&nbsp; &nbsp; &nbsp; &nbsp; &nbsp; ตามแนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญนิยม&nbsp;(Constitutionalism) ซึ่งถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ในหลายประเทศจึงมีการจัดตั้งองค์กรขึ้นให้มีบทบาทหน้าที่ในการพิทักษ์ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ โดยให้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดว่าบทบัญญัติหรือกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในรัฐธรรมนูญของไทย ฉบับ พ.ศ. 2560 ก็ได้บัญญัติให้มีการจัดตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่ปกป้องพิทักษ์รัฐธรรมนูญในรูปของ '''“ศาลรัฐธรรมนูญ”''' ขึ้น เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการในการพิจารณาตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายและการกระทำซึ่งเป็นการใช้อำนาจและการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ และเนื่องจากการที่รัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุด ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงถือเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันทุกองค์กร ทั้งรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ ตลอดถึงหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ[[#_ftn1|[1]]]


&nbsp; &nbsp; &nbsp; &nbsp; &nbsp; จากความสำคัญข้างต้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการรับเรื่องใดไว้พิจารณาหรือมีคำวินิจฉัยใด ๆ ออกมานั้น จึงย่อมส่งผลกระทบที่สำคัญในทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลอดช่วงเวลากว่า 20 ปี ที่ผ่านมาที่สถานการณ์ทางการเมืองของไทยดำดิ่งสู่วังวนความขัดแย้ง และได้ลากพาเอาทุกองคาพยพทางการเมืองเข้ามามีส่วนหรือได้รับผลกระทบโดยอาจมากหรือน้อยแตกต่างกันจากสถานการณ์ความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันผู้ใช้อำนาจอธิปไตยอย่างรัฐสภา รัฐบาลและศาล หรือองค์กรอิสระ รวมถึงบรรดาพรรคการเมืองหรือกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต่าง ๆ บทบาทของศาลรัฐธรรนูญซึ่งเป็นปราการด่านสุดท้ายที่มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับประเด็นทางรัฐธรรมนูญจึงถูกคาดหวังและจับตาจากสังคมเป็นพิเศษ เพราะไม่เพียงแต่ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ระงับข้อพิพาทหรือปัญหาใด ๆ ในทางรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายเท่านั้น แต่ท่าทีตลอดจนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังเกี่ยวพันถึงความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐธรรมนูญและระบอบการเมืองในภาพรวมอีกด้วย
&nbsp; &nbsp; &nbsp; &nbsp; &nbsp; จากความสำคัญข้างต้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการรับเรื่องใดไว้พิจารณาหรือมีคำวินิจฉัยใด ๆ ออกมานั้น จึงย่อมส่งผลกระทบที่สำคัญในทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลอดช่วงเวลากว่า 20 ปี ที่ผ่านมาที่สถานการณ์ทางการเมืองของไทยดำดิ่งสู่วังวนความขัดแย้ง และได้ลากพาเอาทุกองคาพยพทางการเมืองเข้ามามีส่วนหรือได้รับผลกระทบโดยอาจมากหรือน้อยแตกต่างกันจากสถานการณ์ความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันผู้ใช้อำนาจอธิปไตยอย่างรัฐสภา รัฐบาลและศาล หรือองค์กรอิสระ รวมถึงบรรดาพรรคการเมืองหรือกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต่าง ๆ บทบาทของศาลรัฐธรรนูญซึ่งเป็นปราการด่านสุดท้ายที่มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับประเด็นทางรัฐธรรมนูญจึงถูกคาดหวังและจับตาจากสังคมเป็นพิเศษ เพราะไม่เพียงแต่ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ระงับข้อพิพาทหรือปัญหาใด ๆ ในทางรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายเท่านั้น แต่ท่าทีตลอดจนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังเกี่ยวพันถึงความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐธรรมนูญและระบอบการเมืองในภาพรวมอีกด้วย

รุ่นแก้ไขเมื่อ 15:37, 9 สิงหาคม 2565

ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์  พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ

 


ความนำ

          ตามแนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญนิยม (Constitutionalism) ซึ่งถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ในหลายประเทศจึงมีการจัดตั้งองค์กรขึ้นให้มีบทบาทหน้าที่ในการพิทักษ์ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ โดยให้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดว่าบทบัญญัติหรือกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในรัฐธรรมนูญของไทย ฉบับ พ.ศ. 2560 ก็ได้บัญญัติให้มีการจัดตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่ปกป้องพิทักษ์รัฐธรรมนูญในรูปของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ขึ้น เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการในการพิจารณาตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายและการกระทำซึ่งเป็นการใช้อำนาจและการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ และเนื่องจากการที่รัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุด ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงถือเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันทุกองค์กร ทั้งรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ ตลอดถึงหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ[1]

          จากความสำคัญข้างต้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการรับเรื่องใดไว้พิจารณาหรือมีคำวินิจฉัยใด ๆ ออกมานั้น จึงย่อมส่งผลกระทบที่สำคัญในทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลอดช่วงเวลากว่า 20 ปี ที่ผ่านมาที่สถานการณ์ทางการเมืองของไทยดำดิ่งสู่วังวนความขัดแย้ง และได้ลากพาเอาทุกองคาพยพทางการเมืองเข้ามามีส่วนหรือได้รับผลกระทบโดยอาจมากหรือน้อยแตกต่างกันจากสถานการณ์ความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันผู้ใช้อำนาจอธิปไตยอย่างรัฐสภา รัฐบาลและศาล หรือองค์กรอิสระ รวมถึงบรรดาพรรคการเมืองหรือกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต่าง ๆ บทบาทของศาลรัฐธรรนูญซึ่งเป็นปราการด่านสุดท้ายที่มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับประเด็นทางรัฐธรรมนูญจึงถูกคาดหวังและจับตาจากสังคมเป็นพิเศษ เพราะไม่เพียงแต่ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ระงับข้อพิพาทหรือปัญหาใด ๆ ในทางรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายเท่านั้น แต่ท่าทีตลอดจนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังเกี่ยวพันถึงความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐธรรมนูญและระบอบการเมืองในภาพรวมอีกด้วย

 

องค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

          ในคติการปกครองที่ถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด หากมีบทบัญญัติใดที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีผลบังคับใช้ จึงเกิดแนวคิดในการจัดตั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อให้มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดว่าบทบัญญัติใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นทางรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ในประเทศต่าง ๆ นั้นแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบหลัก รูปแบบแรก คือองค์กรคณะกรรมการรัฐธรรมนูญหรือคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ประเทศที่ใช้รูปแบบนี้ เช่น ฝรั่งเศส เป็นต้น รูปแบบที่สอง คือการให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นทางรัฐธรรมนูญ ประเทศที่ใช้รูปแบบนี้ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น เป็นต้น ส่วนรูปแบบสุดท้าย คือการจัดตั้งให้มีศาลรัฐธรรมนูญ โดยประเทศที่ใช้รูปแบบนี้ เช่น ออสเตรีย เยอรมนี เกาหลีได้ สาธารณรัฐเช็ค ตุรกี สเปน ไทย เป็นต้น[2]

          สำหรับประเทศที่ใช้รูปแบบศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิทักษ์ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญนั้น เกิดขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญของประเทศออสเตรียใน ปี ค.ศ. 1920 โดยริเริ่มมาจากแนวคิดของ ฮันส์ เคลเซ่น (Hans Kelsen) นักกฎหมายรัฐธรรมนูญและนักปรัชญาคนสำคัญชาวออสเตรีย ที่มีพื้นฐานอยู่บนแนวคิดเรื่องหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ (The Supremacy of the Constitution) และหลักการแบ่งแยกอำนาจ (The Separation of Powers)[3] เพื่อพิทักษ์ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญตามแนวคิดของ ฮันส์ เคลเซ่น จำต้องมีการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นให้เป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทตามรัฐธรรมนูญ คุ้มครองรัฐธรรมนูญจากการออกกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ[4] โดยหลักการคุ้มครองความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญนี้มีผลบังคับใช้เฉพาะในประเทศที่บัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น ขณะที่ประเทศที่ไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเช่น อังกฤษ ถือหลักความเป็นสูงสุดของรัฐสภา การตีความกฎหมายมีความยืดหยุ่นจึงไม่มีปัญหาความขัดกันของบทบัญญัติแห่งกฎหมายแต่อย่างใด

          ขณะที่การจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทตามรัฐธรรมนูญยังสอดคล้องกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ เนื่องจากหากมีการกำหนดให้ศาลยุติธรรมทั่วไปมีอำนาจหน้าที่ในการชี้ขาดปัญหาตามรัฐธรรมนูญแล้ว ย่อมทำให้อำนาจตุลาการซึ่งถือเป็นหนึ่งในสถาบันผู้ใช้อำนาจอธิปไตยก้าวล่วงไปสู่อำนาจแห่งองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นนั่นคืออำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร[5] ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการจัดตั้งองค์กรพิเศษที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแยกออกจากศาลยุติธรรม โดยที่การวินิจฉัยชี้ขาดบทบัญญัติหรือกฎหมายใดที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญย่อมเป็นการลบล้างกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารได้ตราขึ้น ฮันส์ เคลเซ่น เรียกอำนาจนี้ว่าเป็น “อำนาจนิติบัญญัติในทางปฏิเสธ” คือ อำนาจของศาลในการยกเลิกกฎหมายโดยผลของคำวินิจฉัย และด้วยเหตุนี้เองที่การแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาซึ่งถือเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติในเชิงบวก คืออำนาจนิติบัญญัติในการสร้างบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจนิติบัญญัติบัญญัติในเชิงปฏิเสธคือทำลายให้บทบัญญัตินั้นสิ้นผลไป[6]

 

ที่มาและองค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญไทย

          นับแต่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกใน ปี พ.ศ. 2475 ได้มีบทบัญญัติที่กล่าวถึงอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นทางรัฐธรรมนูญไว้ว่าสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ทรงสิทธิด็ดขาดในการตีความรัฐธรรมนูญ ทว่าเมื่อภายหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ยุติลง รัฐบาลของ นายควง_อภัยวงศ์ ในขณะนั้น ได้ตราพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 เพื่อลงโทษทางอาญาแก่ผู้กระทำการตามที่กฎหมายถือเป็นอาชกรสงคราม ไม่ว่าการกระทำนั้นจะกระทำไปก่อนหรือหลังวันที่กฎหมายนี้ใช้บังคับก็ตาม แต่เมื่อมีการจับกุมผู้กระทำผิดและฟ้องร้องต่อศาล ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้การลงโทษก่อนวันที่กฎหมายใช้บังคับถือเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลัง ขัดต่อรัฐธรรมนูญจึงถือเป็นโมฆะ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1/2489) คำพิพากษาเป็นการยืนยันอำนาจของศาลในฐานะองค์กรที่ใช้กฎหมาย และแสดงถึงหลักประกันของอำนาจในการยับยั้งควบคุมซึ่งกันและกัน กล่าวคือเมื่อรัฐสภาตรากฎหมายที่ไม่ถูกต้องหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลย่อมมีอำนาจแสดงความไม่ถูกต้องนั้นได้ และการวินิจฉัยชี้ขาดว่ากฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ย่อมเป็นอำนาจของศาล จากผลของคำพิพากษาดังกล่าวนำมาสู่ความไม่พอใจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น ได้เสนอญัตติให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นเพื่อตีความรัฐธรรมนูญ โดยคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรมีความเห็นว่า อำนาจในการตีความรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475 ย่อมเป็นอำนาจเด็ดขาดของสภาผู้แทนราษฎร[7]

          จากความขัดแย้งกันของระหว่างศาลและสภาผู้แทนราษฎรทำให้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2489 ได้มีการจัดตั้งองค์กรพิเศษขึ้นชุดหนึ่งเรียกว่า “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” ให้มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ จากนั้นเป็นต้นมาองค์กรคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญต่อมาอีกหลายฉบับ กระทั่งเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 ได้มีการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นแทนที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ โดยตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 กำหนดให้มีคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 15 คน มีที่มาจากผู้พิพากษาศาลฎีกา จำนวน 5 คน จากการเสนอของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามาจากตุลาการศาลปกครองสูงสุด จำนวน 2 คน จากการเสนอของที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดและมาจากผู้ทรงคุณวุฒิสายวิชาการ ได้แก่ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ จำนวน 5 คน และผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์สาขารัฐศาสตร์ จำนวน 3 คน มาจากคณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยประธานศาลฎีกา คณบดีคณะนิติศาสตร์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ และผู้แทนพรรคการเมือง รายชื่อผู้ได้รับการเสนอทั้งหมดต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา และประธานวุฒิสภานำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี[8]

          เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ฉบับปี พ.ศ. 2550 ได้มีการปรับเปลี่ยนจำนวนและสัดส่วนที่มาของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยลดจำนวนลงเหลือ 9 คน มีที่มาจากผู้พิพากษาศาลฎีกา จำนวน 3 คน จากการเสนอของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา มาจากตุลาการศาลปกครองสูงสุด จำนวน 2 คน จากการเสนอของที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด ขณะที่สัดส่วนสายวิชาการลดจำนวนเหลือ 4 คน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ จำนวน 2 คน และผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์สาขารัฐศาสตร์ จำนวน 2 คน มาจากคณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และประธานองค์กรอิสระ โดยรายชื่อทั้งหมดต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาและประธานวุฒิสภานำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี เช่นเดียวกับในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540[9]

          องค์ประกอบของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีการปรับเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2560 โดยยังคงจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ลดวาระการดำรงตำแหน่งจาก 9 ปี เหลือ 7 ปี องค์ประกอบของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีที่มาจากผู้พิพากษาศาลฎีกา จำนวน 3 คน จากการเสนอของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา มาจากตุลาการศาลปกครองสูงสุด จำนวน 2 คน จากการเสนอของที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด สัดส่วนที่มีการปรับเปลี่ยนสำคัญคือผู้ทรงคุณวุฒิสายวิชาการถูกปรับลดให้เหลือเพียง 2 คน โดยมาจากสาขานิติศาสตร์ และสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ ด้านละ 1 คน ขณะที่อีก 2 คน กำหนดให้มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสายราชการ สำหรับผู้ทรงคุณวุฒิสายวิชาการและสายราชการได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและบุคคลซึ่งองค์กรอิสระแต่งตั้ง รายชื่อทั้งหมดยังคงต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ก่อนที่ประธานวุฒิสภาจะได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง[10]

 

หน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไทย

          ศาลรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่โดยอาศัยอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ และทำหน้าที่ภายใต้วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ โดยจะเริ่มขึ้นต่อเมื่อมีการยื่นคำร้องในกรณีที่เกิดข้อโต้แย้งทางรัฐธรรมนูญ และในการระงับข้อโต้แย้งทางรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องอาศัยกลไกทางตุลาการ โดยคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจวินิจฉัย “คดีรัฐธรรมนูญ” เป็นการเฉพาะเพื่อยุติข้อโต้แย้งทางรัฐธรรมนูญและให้คำวินิจฉัยที่มีผลผูกพันทุกองค์กร เรียกโดยรวมว่าระบบยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญ[11]

          ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญไว้ใน หมวด 11 และบัญญัติถึงหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไว้ใน มาตรา 210 เมื่อประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 สามารถจำแนกหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่สำคัญได้ดังนี้

          - หน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการเป็นองค์กรที่พิทักษ์ความเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ด้วยการทำหน้าที่ควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

          - หน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบร่างกฎหมายก่อนมีการประกาศใช้ ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของเงื่อนไขการตราพระราชกำหนดและตรวจสอบกฎหมายที่มีผลใช้บังคับแล้ว

          - หน้าที่และอำนาจในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

          - หน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ระบอบการปกครอง และความมั่นคงและบูรณภาพแห่งรัฐ

          - หน้าที่และอำนาจในการพิจารณาว่า ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี มีการกระทำใดที่มีผลต่อการใช้งบประมาณรายจ่าย

          - หน้าที่และอำนาจในการวินิจฉัยการสิ้นสุดสมาชิกภาพหรือคุณสมบัติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา

          - หน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

          - หน้าที่และอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยมติคณะรัฐมนตรีหรือการดำเนินการของคณะรัฐมนตรี ตามพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560[12]

          กล่าวโดยสรุปได้ว่าหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งการรักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญสร้างความถูกต้องตามหลักนิติธรรม ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และธำรงไว้ซึ่งหลักการอันเป็นสาระสำคัญแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข[13]

 

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีการเมืองที่สำคัญ

          จากอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดและผลของคำวินิจฉัยผูกพันธ์ทุกองค์กรของรัฐ ฉะนั้นแล้วเมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีการรับพิจารณาคดีใด ๆ ก็ตาม หรือได้มีคำวินิจฉัยใดออกมาย่อมส่งผลสะเทือนทางการเมืองอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง และประเด็นข้อพิพาทโดยมากที่ถูกนำขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญก็มักเกี่ยวข้องกับการกระทำของบุคคลหรือองค์กรทางการเมืองไม่ว่าจะเป็น นักการเมือง พรรคการเมือง ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง หรือกระทั่งเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญก็ตาม เมื่อข้อพิพาทมักเป็นประเด็นทางการเมือง ดังนั้นแล้วผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงนำมาสู่การที่จะต้องมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายได้เป็นผู้ได้หรือเสียประโยชน์ เช่น คำวินิจฉัยให้มีการยุบพรรคการเมือง หรือการตัดสิทธิทางการเมืองของนักการเมือง เป็นต้น และด้วยความเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ทางการเมืองที่ต่างฝ่ายต่างก็มีทั้งกลุ่มผู้สนับสนุนหรือต่อต้าน เมื่อมีคดีความขึ้นสู่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงย่อมเป็นที่คาดหวังถึงผลของคำวินิจฉัยที่แตกต่างกัน และเมื่อปรากฎคำวินิจฉัยออกมาเป็นอย่างไรก็หลีกหนีไม่พ้นที่จะตกเป็นเป้าในการวิพากษ์วิจารณ์

          จากการรับวินิจฉัยคดีข้อพิพาทตามรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการกระทำของนักการเมือง พรรคการเมือง หรือที่เรียกว่า “คดีทางการเมือง” ที่ผ่านมาซึ่งอยู่ในความสนใจของประชาชนและบรรดาสื่อมวลชน เช่น เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2544 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ_ชินวัตร ฐานจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ หรือที่เรียกว่า “คดีซุกหุ้น” ซึ่งคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติ 8 ต่อ 7 เสียง ให้อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณหลุดพ้นจากความผิด (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2544) จากผลคำวินิจฉัยส่งผลให้สื่อมวลชนขนานนามอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ว่ากลายเป็น “พยัคฆ์ติดปีก” ทางการเมืองในเวลาต่อมา[14]

          อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ซึ่งทำให้อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณหลุดพ้นจากตำแหน่งและถอยห่างออกจากพื้นที่การเมืองไทย สถานการณ์ทางการเมืองภายหลังจากนั้นก็ดูจะไม่ส่งผลดีกับเครือข่ายการเมืองของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณและพรรคไทยรักไทย นั่นคือเมื่อ วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติให้ยุบพรรคไทยรักไทย พร้อมกับพรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย (คำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 3-5/2550) ในคดีที่ถูกฟ้องร้องว่าพรรคไทยรักไทยจ้างวานพรรคการเมืองขนาดเล็กทั้งสองพรรคข้างต้นเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง พร้อมกับสั่งเพิกถอนสิทธิทางการเมืองแก่กรรมการบริหารพรรคทั้งสามรวม จำนวน 111 คน เป็นเวลา 5 ปี[15]

          ในช่วงที่ความขัดแย้งสีเสื้อทวีความเข้มข้นอยู่นั้น แม้ว่าพรรคการเมืองในเครือข่ายของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณจะสามารถกลับมากำชัยชนะในสนามเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาได้ แต่ต่อมานายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นพรรคที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่นั้น ก็ต้องประสบอุบัติเหตุทางการเมืองหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากผลของคำนิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12-13/2551) ตามคำฟ้องที่ว่านายสมัครเข้าข่ายเป็นลูกจ้างหรือรับค่าตอบแทนจากองค์กรที่ดำเนินธุรกิจอันเนื่องมาจากการทำรายการโทรทัศน์ “ชิมไปบ่นไป” และรายการ “ยกโขยงหกโมงเช้า”[16] หลังจากที่นายสมัครพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว พรรคพลังประชาชนได้ผลักดันได้ผลักดันให้นายสมชาย_วงศ์สวัสดิ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ทว่าต่อมานายสมชายก็ต้องหลุดพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน พร้อมกับพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-20/2551) ด้วยข้อกล่าวหากระทำการที่เข้าข่ายทุจริตการเลือกตั้ง ส่งผลให้นายสมชายซึ่งเป็นรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชนต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วย พร้อมกับถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี[17] จากเหตุการณ์ดังกล่าวพรรคร่วมรัฐบาลได้หันไปให้การสนับสนุนนายอภิสิทธิ์_เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคที่มีเสียงเป็นอันดับสองในสภาผู้แทนราษฎรให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

          ในช่วงสมัยรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์แห่งพรรคเพื่อไทย บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญได้กลายมาเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อีกครั้งเมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายพรรครัฐบาลมีการผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และเมื่อเรื่องถูกนำขึ้นสู่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญใน วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเสียงข้างมากให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ[18] (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15-18/2556) อีกคราวหนึ่งเมื่อพรรครัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ต้องการผ่านร่างพระราชบัญญัติเพื่อให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “พ.ร.บ. เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท” นั้น เรื่องดังกล่าวถูกนำขึ้นพิจารณายังศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้มีคำวินิจฉัยออกมาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 ว่าร่างพระราชบัญญัติเงินกู้ที่ถูกตราขึ้นนั้นไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญทั้งในแง่กระบวนการและเนื้อหา (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3-4/2557) ส่งผลให้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต้องตกไป[19]

          นอกจากนี้ ยังมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ส่งผลกระทบทางการเมืองอย่างสำคัญในช่วงภายหลังภายหลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาจัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การมีรัฐบาลเลือกตั้ง โดยในช่วงที่พรรคการมเมืองต่าง ๆ เตรียมความพร้อมและประกาศตัวเพื่อลงสู้ศึกเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 นั้น ก่อนหน้านั้นเพียงสองสัปดาห์ได้มีปรากฎการณ์สำคัญทางการเมืองเกิดขึ้นเมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2562) ด้วยความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ฐานกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากกรณีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พร้อมกับมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิทางการเมืองคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี[20] ภายหลังจากนั้นยังมีคดีสำคัญ อาทิ คำวินิจฉัยให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พ้นสมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 14/2562) จากกรณีการถือหุ้นในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับสื่อ[21] ติดตามมาด้วยคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2563) จากความผิดเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน พร้อมกับมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิทางการเมืองคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี[22] เป็นต้น

 

ศาลรัฐธรรมนูญท่ามกลางกระแสความเชื่อมั่น

          ศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นปราการด่านสำคัญในการพิทักษ์ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งนั่นคือการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ (Constitutional Regime) ป้องกันมิให้ฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารตรากฎหมายหรือออกบทบัญญัติใด ๆ ที่อาจเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทว่าในท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่มีความแหลมคม ปฏิเสธมิได้ว่าบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญตลอดถึงคำวินิจฉัยต่าง ๆ ที่ออกมานั้น ย่อมนำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์และท้าทายความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อองค์กรศาลรัฐธรรมนูญและต่อระบบยุติธรรมในภาพรวม มีงานวิชาการจำนวนหนึ่งที่ถกเถียงหรือตั้งคำถามกับบทบาทการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรรมนูญ อาทิ ในบทความเรื่อง “รัฐเร้นลึกในไทย พระราชอำนาจ และศาลรัฐธรรมนูญ (พ.ศ. 2540 - 2558)” ของ เออเจนี เมริโอ (Eugénie Mérieau) ที่วิเคราะห์ถึงบทบาทการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในฐานะเครื่องมือทางอำนาจอย่างหนึ่งของชนชั้นนำ[23] หรือแม้กระทั่งข้อเสนอของนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ที่เคยมีการเสนอให้ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้จัดตั้งเป็นคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรคณกหกรมนูญขึ้นแทนที่[24]

 


บรรณานุกรม

“2 ธันวาคม 2551 ยุบ 3 พรรคการเมือง พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย." The Standard. (2 ธันวาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/onthisday02122551>. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564.

“30 พ.ค. ครบรอบ 14 ปี ศาลรัฐธรรมนูญ ‘ยุบพรรค’ ไทยรักไทย." มติชนออนไลน์. (30 พฤษภาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_2749353>. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564.

“ข้อเสนอนิติราษฎร์: ยุบศาล รธน. และจัดตั้ง 'คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ'." ประชาไท. (15 กรกฎาคม 2555). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2012/07/41567>. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564.

“ความสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญ.” ศาลรัฐธรรมนูญ. (2 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://occ_th. constitutionalcourt.or.th/detail/ความสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญ>. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564.

“ด่วน! ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ ‘ยุบพรรคไทยรักษาชาติ’ ตัดสิทธิ์คณะกรรมการบริหารพรรค 10 ปี." ข่าวสดออนไลน์. (7 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_2284957>. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564.

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ. (2544) “เขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ.” ใน สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. รวมบทความทางวิชาการของศาลรัฐธรรมนูญ ชุดที่ 1: ศาลรัฐธรรมนูญไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, น.53-84.

ปัญญา อุดชาชน, “ทำไมต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ,” ม.ป.พ.: ม.ป.ป.

“เปิดคำวินิจฉัย!ศาลรธน.ชี้กู้2ล้านล้านขัดรธน.." กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. (12 มีนาคม 2557). เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/568378>. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564.

“มติศาลรธน.ล้มแก้ที่มาสว.แต่ไม่ยุบพรรค." โพสต์ทูเดย์ออนไลน์. (20 พฤศจิกายน 2556). เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/260096>. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564.

“ยุบพรรคอนาคตใหม่ เพิกถอนสิทธิกรรมการบริหาร 10 ปี." กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. (21 กุมภาพันธ์ 2563). เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/867173>. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564.

“ย้อนอ่านคำพิพากษาศาลรธน. ผลัก“สมัคร”ตกเก้าอี้นายกฯ ว่าด้วยปม“ลูกจ้าง-ค่าตอบแทน”." มติชนสุดสัปดาห์ออนไลน์. (23 ธันวาคม 2559). เข้าถึงจาก <https://www.matichonweekly.com/featured/article_18922>. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564.

“วันนี้ในอดีต ศาล รธน.วินิจฉัย‘ทักษิณ’พ้นผิด‘คดีซุกหุ้น’." คมชัดลึกออนไลน์. (3 สิงหาคม 2560). เข้าถึงจาก <https://www.komchadluek.net/news/today-in-history/290504>. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564.

วุฒิชัย จิตตานุ. (2546) “บทบาทและอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญตามแนวความคิดรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด.” ใน สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. รวมบทความทางวิชาการของศาลรัฐธรรมนูญ ชุดที่ 2: ศาลรัฐธรรมนูญไทยในสถานการณ์การปฏิรูปการเมือง. กรุงเทพฯ: สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, น.341-391.

“ศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสิน “ธนาธร” พ้นสมาชิกภาพ ส.ส.." ประชาชาติธุรกิจออนไลน์. (20 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/politics/news-393389>. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564.

“ศาลรัฐธรรมนูญมีที่มาอย่างไร.” ศาลรัฐธรรมนูญ. (1 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://occ_th.constitutionalcourt.or.th/detail/ศาลรัฐธรรมนูญมีที่มาอย่างไร>. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564.

“สรุปรัฐธรรมนูญ 2560 : เปิดที่มาศาลรัฐธรรมนูญในรอบ 20 ปี ลดจำนวนตุลาการสายวิชาการ เพิ่มข้าราชการ.” iLaw. (11 พฤษภาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://ilaw.or.th/node/5655>. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564.

“หน้าที่และอำนาจของ “ศาลรัฐธรรมนูญ”.” ศาลรัฐธรรมนูญ. (4 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://occ_th.constitutionalcourt.or.th/article_detail/หน้าที่และอำนาจของ-ศาลรัฐธรรมนูญ>. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564.

เออเจนี เมริโอ. (2559) “รัฐเร้นลึกในไทย พระราชอำนาจ และศาลรัฐธรรมนูญ (พ.ศ. 2540 - 2558).” ฟ้าเดียวกัน. ปีที่ 14, ฉบับที่ 1 (มกราคม-เมษายน 2559), น.13-46.

 

อ้างอิง

[1] “ความสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญ,” ศาลรัฐธรรมนูญ, (2 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://occ_th.constitutionalcourt.or.th/detail/ความสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญ>. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564.

[2] วุฒิชัย จิตตานุ, (2546) “บทบาทและอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญตามแนวความคิดรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด,” ใน สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, รวมบทความทางวิชาการของศาลรัฐธรรมนูญ ชุดที่ 2: ศาลรัฐธรรมนูญไทยในสถานการณ์การปฏิรูปการเมือง', กรุงเทพฯ: สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, น.341-342.

[3] เพิ่งอ้าง, น.343.

[4] เพิ่งอ้าง, น.346.

[5] เพิ่งอ้าง, น.351.

[6] บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, (2544) “เขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ,” ใน สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, รวมบทความทางวิชาการของศาลรัฐธรรมนูญ ชุดที่ 1: ศาลรัฐธรรมนูญไทย, กรุงเทพฯ: สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, น.60-61.

[7] ปัญญา อุดชาชน, “ทำไมต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ,” ม.ป.พ.: ม.ป.ป.

[8] “สรุปรัฐธรรมนูญ 2560 : เปิดที่มาศาลรัฐธรรมนูญในรอบ 20 ปี ลดจำนวนตุลาการสายวิชาการ เพิ่มข้าราชการ,” iLaw, (11 พฤษภาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://ilaw.or.th/node/5655>. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564.

[9] เพิ่งอ้าง

[10] เพิ่งอ้าง

[11] “ศาลรัฐธรรมนูญมีที่มาอย่างไร,” ศาลรัฐธรรมนูญ, (1 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://occ_th.constitutionalcourt.or.th/detail/ศาลรัฐธรรมนูญมีที่มาอย่างไร>. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564.

[12] “หน้าที่และอำนาจของ “ศาลรัฐธรรมนูญ”,” ศาลรัฐธรรมนูญ, (4 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://occ_th.constitutionalcourt.or.th/article_detail/หน้าที่และอำนาจของ-ศาลรัฐธรรมนูญ>. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564.

[13] เพิ่งอ้าง

[14] “วันนี้ในอดีต ศาล รธน.วินิจฉัย‘ทักษิณ’พ้นผิด‘คดีซุกหุ้น’," คมชัดลึกออนไลน์, (3 สิงหาคม 2560). เข้าถึงจาก <https://www.komchadluek.net/news/today-in-history/290504>. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564.

[15] “30 พ.ค. ครบรอบ 14 ปี ศาลรัฐธรรมนูญ ‘ยุบพรรค’ ไทยรักไทย," มติชนออนไลน์, (30 พฤษภาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_2749353>. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564.

[16] “ย้อนอ่านคำพิพากษาศาลรธน. ผลัก“สมัคร”ตกเก้าอี้นายกฯ ว่าด้วยปม“ลูกจ้าง-ค่าตอบแทน”," มติชนสุดสัปดาห์ออนไลน์, (23 ธันวาคม 2559). เข้าถึงจาก <https://www.matichonweekly.com/featured/article_18922>. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564.

[17] “2 ธันวาคม 2551 ยุบ 3 พรรคการเมือง พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย," The Standard, (2 ธันวาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/onthisday02122551>. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564.

[18] “มติศาลรธน.ล้มแก้ที่มาสว.แต่ไม่ยุบพรรค," โพสต์ทูเดย์ออนไลน์, (20 พฤศจิกายน 2556). เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/260096>. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564.

[19] “เปิดคำวินิจฉัย!ศาลรธน.ชี้กู้2ล้านล้านขัดรธน.," กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, (12 มีนาคม 2557). เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/568378>. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564.

[20] “ด่วน! ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ ‘ยุบพรรคไทยรักษาชาติ’ ตัดสิทธิ์คณะกรรมการบริหารพรรค 10 ปี," ข่าวสดออนไลน์, (7 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_2284957>. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564.

[21] “ศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสิน “ธนาธร” พ้นสมาชิกภาพ ส.ส.," ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, (20 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/politics/news-393389>. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564.

[22] “ยุบพรรคอนาคตใหม่ เพิกถอนสิทธิกรรมการบริหาร 10 ปี," กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. (21 กุมภาพันธ์ 2563). เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/867173>. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564.

[23] ดูใน เออเจนี เมริโอ, (2559) “รัฐเร้นลึกในไทย พระราชอำนาจ และศาลรัฐธรรมนูญ (พ.ศ. 2540 - 2558),” ฟ้าเดียวกัน, ปีที่ 14, ฉบับที่ 1 (มกราคม-เมษายน 2559), น.13-46.

[24] “ข้อเสนอนิติราษฎร์: ยุบศาล รธน. และจัดตั้ง 'คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ'," ประชาไท, (15 กรกฎาคม 2555). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2012/07/41567>. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564.