พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พุทธศักราช 2488
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ
พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พุทธศักราช 2488
ความเป็นมาของกฎหมาย
เมื่อครั้งสมัย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้ พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ เป็นผู้ร่างพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามขึ้น โดยอาศัยหลักการของสหประชาชาติและนายแจ๊คสัน[1] สืบเนื่องจากภายหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ฝ่ายสัมพันธมิตรได้จัดตั้งศาลอาชญากรสงครามขึ้นเพื่อพิจารณาความผิดของฝ่ายอักษะที่ประเทศเยอรมนี และประเทศญี่ปุ่น โดยสหรัฐอเมริกาได้ออกข่าวว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะนำเอาอาชญากรสงครามในประเทศไทยไปขึ้นศาลต่างประเทศ โดยมีอาชญากรสงคราม จำนวน 4 คน คือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม หลวงวิจิตรวาทการ พลตรีประยูร_ภมรมนตรี และนายสังข์_พัธโนทัย หรือนายมั่น ชูชาติ ส่งผลให้ต้องประกาศใช้กฎหมายอาชญากรสงครามเพื่อกำหนดการกระทำที่เป็นอาชญากรสงครามและผู้กระทำถือเป็นอาชญากรสงคราม ทั้งนี้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะได้กระทำก่อนหรือหลังวันใช้พระราชบัญญัตินี้[2]
สาระสำคัญของกฎหมาย
วัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติ
พระราชบัญญัตินี้มีวัตถุประสงค์เพื่อลงโทษบุคคลที่ประกอบอาชญากรสงครามได้ สนองกรรมชั่วที่ตนได้กระทำตามโทษานุโทษ เพื่อเป็นการผดุงรักษาความสงบของโลกอันเป็นยอดปรารถนาของประชาชาติไทย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลจึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นโดยคำแนะนำ และยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรในปี พุทธศักราช 2488
วันที่พระราชบัญญัติมีผลใช้บังคับ
พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับได้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ วันที่ 11 ตุลาคม 2488
ความผิดฐานอาชญากรสงคราม
การกระทำความผิดดังต่อไปนี้ หากเป็นการกระทำในฐานะผู้ลงมือกระทำการ หรือในฐานะตัวการ หรือในฐานะผู้สมรู้หรือผู้สนับสนุนการกระทำการในความผิดที่กำหนดไว้ไม่ว่าจะเป็นการกระทำก่อนหรือหลังวันใช้พระราชบัญญัตินี้ ถือเป็นความผิดฐานเป็นอาชญากรสงคราม ได้แก่ (มาตรา 3)
(1) ทำการติดต่อวางแผนการศึกเพื่อทำสงครามรุกรานหรือกระทำการโดยสมัครใจเข้าร่วมสงครามกับผู้ทำสงครามรุกราน หรือโฆษณาชักชวนให้บุคคลเห็นดีเห็นชอบในการกระทำของผู้ทำสงครามรุกราน
(2) ละเมิดกฎหมายหรือจารีตประเพณีในการทำสงครามคือปฏิบัติไม่ชอบธรรมต่อทหารที่ตกเป็นเชลย จัดส่งพลเรือนไปเป็นทาษ ฆ่าผู้ที่ถูกจับเป็นประกัน ทำลายบ้านเมืองโดยไม่จำเป็นสำหรับการทหาร
(3) กระทำการละเมิดต่อมนุษยธรรม คือ กดขี่ข่มแหงในทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ หรือทางศาสนา
(4) กระทำโดยสมัครใจเข้าร่วมมือกับผู้ทำสงครามรุกราน คือ ชี้ลู่ทางให้ทำการยึด หรือครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นโดยไม่ชอบธรรม หรือสืบ หรือให้ความลับ หรือความรู้อันเป็น อุปการะแก่การททำสงครามของผู้ทำสงครามรุกราน
คณะกรรมการอาชญากรสงคราม
คณะกรรมการอาชญากรสงครามแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วยประธานคนหนึ่งและกรรมการอื่น 14 คน (มาตรา 4) มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ (มาตรา 5)
- สืบสวนสอบสวน
- เป็นโจทก์ฟ้องอาชญากรสงคราม โดยนำความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับในการฟ้องคดีอาชญากรสงครามโดยอนุโลม
- เป็น “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่” ตามความในประมวลกฎหมายนั้น และให้มีอำนาจสั่งให้สารวัตรทหารหรือตำรวจทำการจับผู้ต้องหาและตรวจค้นได้
รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการอาชญากรสงคราม ตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 มาตรา 4 และ มาตรา 5 ทำหน้าที่สืบสวนและสอบสวน จำนวนด้วย 15 คน โดยมี นายสงวน_ตุลารักษ์ เป็นประธานกรรมการ และกรรมการอีก 14 คน ประกอบด้วย หลวงบรรณกรโกวิท หลวงสัมฤทธิ์สุขุมวาท พันตำรวจเอกนิรันดร ชัยนาม หลวงอรรถไกวัลวที หลวงอรรถวิภัชน์พจนกร พันเอกสุวรรณ เพ็ญจันทร์ พันโทหลวงเจริญเนติศาสตร์ นายอัมพร จินตถานนท์ ร้อยตำรวจเอกชมพู อรรถจินดา ร้อยเอกสมจิต ยศสุนทร ร้อยเอกเสนาะ นิลกำแหง นายขุน ศรียาภัย นายสุพจน์ พูลเกษม และนายกมล วรรณประภา เป็นกรรมการและเลขานุการ[3]
ศาลที่พิจารณาคดีอาชญากรสงคราม
พระราชบัญญัตินี้กำหนดให้ “ศาลฎีกา” เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่ฟ้องร้องในข้อหาอาชญากรสงคราม (มาตรา 6) และกำหนดกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาให้นำวิธีพิจารณาในศาลชั้นต้นตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่การจดคำพยาน และคำถามของคู่ความ ให้ทำได้โดยมีพนักงานศาลจดชวเลขไว้ในกรณีเช่นนี้พยานไม่ต้องลงลายมือชื่อในคำให้การ (มาตรา 7) อนึ่ง การที่กฎหมายกำหนดให้ใช้กระบวนการพิจารณาในศาลชั้นต้น หมายความว่าศาลฎีกาสามารถนำสืบพยาน หลักฐานจากคู่ความ นอกเหนือจากการพิจารณาจากสำนวนได้เอง ดังนั้น ในการพิจารณากฎหมายฉบับนี้จึงให้จำเลยมีสิทธิแต่งทหนายเพื่อต่อสู้คดีได้ (มาตรา 7 วรรคสอง)
คณะกรรมการตุลาการ ถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาลได้แต่งตั้งเพื่อพิจารณาคดีในศาลฎีกาขึ้น จำนวน 8 คน ประกอบด้วย พระยาลัคพลีธรรม ประคัลภ์ พระมนูภันย์วิมลสาร พระยาอิสสรภักดี ธรรมวิเทศ พระยาเลขวนิชธรรมพิทักษ์ หลวงจำรูญนิติศาสตร์ หลวงประสาทศุภนิมิต พระยาธรรม บัณฑิตสิทธิศถุงคาร และพระนาถปรีชา ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีอาชญากรสงครามตามที่คณะกรรมการอาชญากรสงครามฟ้องต่อศาลฎีกา[4]
คำพิพากษาของศาลฎีกาให้ถือเป็นที่สุด (มาตรา 8) โดยในคดีอาชญากรสงครามนี้ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาคดีอาชญากรสงคราม ที่ 2-4/2489 ในประเด็น “พระราชบัญญัติอาชญากรสงครามมีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” ศาลฎีกาจึงพร้อมกันพิพากษาชี้ขาดว่า พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 เฉพาะที่บัญญัติลงโทษการกระทำก่อนวันใช้พระราชบัญญัติ ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 14 และเป็นโมฆะ ตามมาตรา 61 การกระทำที่โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีนี้เป็นการกระทำก่อน วันที่ 11 ตุลาคม 2488 อันเป็นวันใช้พระราชบัญญัตินี้ จำเลยจะมีความผิดตามกฎหมายอื่นใดบ้าง หรือไม่ ไม่สำคัญสำหรับคดีนี้ เพราะคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 เท่านั้น เมื่อ บทบัญญัติอันโจทก์ฟ้องขอให้เอาผิดกับจำเลยเป็นโมฆะเสียแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะลงโทษจำเลยได้ จึงให้ยกฟ้องโจทก์เสีย ปล่อยจำเลยพ้นข้อหาไป[5]
โทษฐานอาชญากรสงคราม
ผู้ใดเป็นอาชญากรสงคราม ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือ จำตลอดชีวิต หรือจำคุกไม่เกินยี่สิบปี ทรัพย์สมบัติส่วนตัวของผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ริบเสียสิ้น และให้ศาลพิพากษาเพิกถอนสิทธิออกเสียงตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งมีกำหนดสิบสองปีนับแต่วันพ้นโทษด้วย (มาตรา 9) โจทก์สามารถร้องขอให้ศาลสั่งยึดอายัดทรัพย์สินในระหว่างพิจารณาคดีได้ (มาตรา 10)
หากมีการจำหน่ายโอนทรัพย์สมบัติส่วนตัวของผู้เป็นอาชญากรสงครามไปในระหว่างเวลาหนึ่งปีก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้ จนถึงวันที่ผู้นั้นถูกศาลพิพากษาว่าเป็นอาชญากรสวครามให้ถือว่าเป็นโมฆะ เว้นแต่ผู้ที่จะขอรับประโยชน์ตามนิติกรรมนั้นจะพิสูจน์ด่านิติกรรมนั้นได้ทำขึ้นโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริต (มาตรา 11)
การยกเลิกพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พุทธศักราช 2510 ได้มีพระมหากษัตริย์โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภาได้ประกาศยกเลิกพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พุทธศักราช 2488 ด้วยกฎหมายดังกล่าวได้บัญญัติผิดหลักการที่ดี กล่าวคือ
- บัญญัติให้เป็นความผิดอาชญากรสงครามย้อนหลังไปเกือบไม่มีวันสิ้นสุด เช่น การทำผิดสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือก่อนนั้น ก็อยู่ในความหมายของพระราชบัญญัตินี้
- บัญญัติเพื่อเจตนาฟ้องอดีตนายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารสูงสุดกับพวก ซึ่งไม่เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่ฟ้องศาลเช่นนั้น
- เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังปรากฏตามคำพิพากษาฎีกาที่ 24/2488
- บรรดาทรัพย์สมบัติส่วนตัวของผู้กระทำความผิดให้ริบเสียทั้งสิ้นและให้เพิกถอนสิทธิออกเสียงเลือกตั้งมีกำหนดสิบสองปีนับแต่วันพ้นโทษ
- บรรดาทหาร ตำรวจหรือพลเรือนที่เข้าร่วมสงครามจะเป็นตัวการหรือสมรู้ก็ตาม อาจตกเป็นความผิดอาชญากรสงครามได้โดยไม่รู้ตัว ทำให้ทหาร ตำรวจ หรือพลเรือนมีความหวั่นวิตกในการปฏิบัติหน้าที่ป้องกันราชอาณาจักร จะเป็นผลเสียหายส่วนรวมของประเทศชาติได้ โดยฝ่ายรัฐสภาเห็นว่าในการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญจะมีเจตนาให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ชี้ขาด
บทสรุป
ภายหลังจากมีคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีอาชญากรสงครามเป็นผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างอำนาจตุลาการและอำนาจรัฐสภา เนื่องจากการพิจารณาว่าองค์กรใดมีหน้าที่ชี้ดขาดว่ากฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญก็มิได้ระบุชัดแจ้งว่าจะให้ศาลหรือสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ชี้ขาด ผลของความขัดแย้งระหว่างศาลและสภาผู้แทนราษฎร นำไปสู่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ได้บัญญัติให้มีองค์กรพิเศษขึ้นมา คือ “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” เพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเฉพาะกรณีตามที่ศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเท่านั้น รัฐสภาจึงไม่มีอำนาจตีความกฎหมายว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นผลให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิด “ศาลรัฐธรรมนูญ” โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย_พุทธศักราช_2540 ได้จัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย
บรรณานุกรม
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 62/ตอนที่ 58/ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2488. พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พุทธศักราช 2488
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 84/ตอนที่ 59/ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2510. พระราชบัญญัติยกเลิกอาชญากรสงคราม พุทธศักราช 2488 พ.ศ. 2510
ปัญญา อุดชาชน. พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม : รากฐานการกำเนิดศาลรัฐธรรมนูญ. วารสารศาลรัฐธรรมนูญ ปีที่ 14 เล่มที่ 42 เดือนกันยายน-ธันวาคม พ.ศ. 2555.
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีพิเศษ. วันที่ 27 กันยายน 2488
อ้างอิง
[1] สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีพิเศษ วันที่ 27 กันยายน 2488
[2] ปัญญา อุดชาชน, พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม : รากฐานการกำเนิดศาลรัฐธรรมนูญ, วารสารศาลรัฐธรรมนูญ ปีที่ 14 เล่มที่ 42 เดือนกันยายน-ธันวาคม พ.ศ. 2555,หน้า 19-20
[3] เรื่องเดิม, หน้า 28
[4] เรื่องเดิม, หน้า 28 - 29
[5] เรื่องเดิม, หน้า 35