ผลต่างระหว่างรุ่นของ "เหตุการณ์การเมืองสามเส้า"
ลไม่มีความย่อการแก้ไข |
ลไม่มีความย่อการแก้ไข |
||
บรรทัดที่ 49: | บรรทัดที่ 49: | ||
ขณะที่ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กำลังแข่งขันและสร้างฐานอำนาจของตนอย่างมั่นคงอยู่นั้น จอมพล ป. ที่ต้องตกอยู่ในฐานที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของอำนาจลอยก็พยายามสร้างฐานอำนาจของตนเองเช่นเดียวกัน โดยจากการศึกษาของทักษ์ เฉลิมเตียรณ อธิบายว่า จอมพล ป. ได้พยายามสร้างฐานอำนาจโดยผ่านการหันเข้าหาการรับรองจากสหรัฐอเมริกา ส่วนอีกฐานอำนาจหนึ่งก็คือ การเข้าหาฐานที่เป็นมวลชน | ขณะที่ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กำลังแข่งขันและสร้างฐานอำนาจของตนอย่างมั่นคงอยู่นั้น จอมพล ป. ที่ต้องตกอยู่ในฐานที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของอำนาจลอยก็พยายามสร้างฐานอำนาจของตนเองเช่นเดียวกัน โดยจากการศึกษาของทักษ์ เฉลิมเตียรณ อธิบายว่า จอมพล ป. ได้พยายามสร้างฐานอำนาจโดยผ่านการหันเข้าหาการรับรองจากสหรัฐอเมริกา ส่วนอีกฐานอำนาจหนึ่งก็คือ การเข้าหาฐานที่เป็นมวลชน | ||
ในการเข้าหาการรับรองจากสหรัฐอเมริกา จอมพล ป. ได้แสดงตนเป็นฝ่ายอเมริกาและขานรับนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลอเมริกา กล่าวคือ ประเทศไทยได้เข้าผูกผันกับสหรัฐอเมริกามากขึ้น และเริ่มรับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและทหารจากอเมริกา มีผลให้อเมริกาส่งคณะที่ปรึกษาทางทหาร ทางเทคนิค และเศรษฐกิจเข้ามาในประเทศไทย พ.ศ. 2495 รัฐบาลไทยให้ความสนับสนุนอเมริกา | ในการเข้าหาการรับรองจากสหรัฐอเมริกา จอมพล ป. ได้แสดงตนเป็นฝ่ายอเมริกาและขานรับนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลอเมริกา กล่าวคือ ประเทศไทยได้เข้าผูกผันกับสหรัฐอเมริกามากขึ้น และเริ่มรับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและทหารจากอเมริกา มีผลให้อเมริกาส่งคณะที่ปรึกษาทางทหาร ทางเทคนิค และเศรษฐกิจเข้ามาในประเทศไทย พ.ศ. 2495 รัฐบาลไทยให้ความสนับสนุนอเมริกา ในการเข้าร่วมทำ[[สงครามเกาหลี]]ในนามของ[[สหประชาชาติ]] ด้วยการเสนอส่งกองทหารและข้าวไปช่วย และในปี 2497 ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์การ [[SEATO]] ซึ่งเป็นแนวปิดล้อมการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ใน[[เอเชียอาคเนย์]] ทำให้อเมริการู้สึกพึงพอใจรัฐบาลจอมพล ป. ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มฐานให้กับจอมพล ป. ให้มั่นคงยิ่งขึ้น เนื่องจากบรรดาผู้นำประเทศต่างคิดว่า จอมพล ป. เป็นบุคคลที่ทำให้อเมริกาให้ความช่วยเหลือไทยตลอด<ref>ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 128-131.</ref> | ||
แต่อย่างไรก็ตาม จอมพล ป. ก็ตระหนักดีว่า แท้จริงแล้วอเมริกาก็ให้การสนับสนุน “อำนาจ” ทุกฝ่าย ดังจะเห็นได้ว่าทั้งทหารและตำรวจต่างก็ได้รับการสนับสนุนจากอเมริกา | แต่อย่างไรก็ตาม จอมพล ป. ก็ตระหนักดีว่า แท้จริงแล้วอเมริกาก็ให้การสนับสนุน “อำนาจ” ทุกฝ่าย ดังจะเห็นได้ว่าทั้งทหารและตำรวจต่างก็ได้รับการสนับสนุนจากอเมริกา ดังนั้นเพื่อจะสร้างความชอบธรรมในการเป็น[[นายกรัฐมนตรี]] จอมพล ป. จึงหันเข้าหาฐานที่เป็นมวลชน ผ่านทางนโยบายด้านวัฒนธรรมและศาสนา โดยได้ตั้ง[[กระทรวงวัฒนธรรม]]ขึ้นใน พ.ศ. 2495 ซึ่งมุ่งอบรมสั่งสอนประชาชนเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย จริยธรรมทางสังคมอันดีงาม และยังรวมถึงภัยของลัทธิคอมมิวนิสต์ ความพยายามของจอมพล ป. ในครั้งนี้ จึงถูกตีความได้ว่า จอมพล ป. ต้องการสร้างภาพพจน์ใหม่ของผู้นำประเทศที่ตนเองดำรงอยู่ ให้แตกต่างจากผู้นำประเทศที่ใช้อำนาจและแก่งแย่งผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจกันอย่างเปิดเผย ดังภาพของพล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ปรากฏอยู่ในขณะนั้น<ref>พรภิรมณ์ เชียงกูล, ประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ เล่ม 1, หน้า 130.</ref> นอกจากนี้ จอมพล ป. ยังเน้นบทบาทของตนเองในฐานะพุทธศาสนูปถัมภก โดยการปฏิสังขรณ์อนุสาวรีย์ วัดวาอาราม และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาจำนวนมาก ที่สำคัญก็คือ การมีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานเตรียมฉลองครบรอบ 25 พุทธศตวรรษ ซึ่งในงานนี้ได้มีการสร้างพุทธมณฑล มีการบวชพระ 2,500 องค์ และงานฉลองอื่น ๆ อีก ซึ่งพฤติการณ์นี้ถูกมองว่าเป็นวิธีหนึ่งที่ จอมพล ป. ต้องการแสดงให้เห็นว่า ตนเป็นผู้นำของชาติ<ref>ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 127-128.</ref> | ||
ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง ที่นักวิชาการมองว่าเป็นความพยายามของจอมพล ป. ในอันที่จะสร้างฐานอำนาจจากประชาชน เพื่อต้านทานอำนาจจากฝ่ายตำรวจและทหาร คือ การให้เสรีภาพและสนับสนุนการเมืองระบอบประชาธิปไตยภายหลังจากการเดินทางรอบโลกไปอเมริกา และยุโรป ในปี พ.ศ. 2498 เช่น การเปิดสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ทุกวันศุกร์(Press Conference) ให้มีการอภิปรายทางการเมืองคล้ายๆ ไฮปาร์ค ทั้งในกรุงเทพฯ และตามต่างจังหวัด หรืออนุญาตให้เปิดชุมนุมทางการเมือง โดยนโยบายเหล่านี้ของจอมพล ป. ถูกตีความว่า เป็นแผนขั้นต้นที่จะทำลายคู่แข่งของตน ทั้งนี้เนื่องจาก จอมพล ป. แน่ใจว่า ในการแสดงความคิดเห็นจะต้องมีผู้พาดพิงพฤติกรรมที่ฉ้อฉลของฝ่ายตำรวจและฝ่ายทหาร ซึ่งจะเท่ากับเป็นการลดทอน อำนาจฝ่ายตำรวจและทหารไปในตัว ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นเพราะ พล.ต.อ.เผ่า เป็นบุคคลที่ถูกวิจารณ์มากที่สุด | ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง ที่นักวิชาการมองว่าเป็นความพยายามของจอมพล ป. ในอันที่จะสร้างฐานอำนาจจากประชาชน เพื่อต้านทานอำนาจจากฝ่ายตำรวจและทหาร คือ การให้เสรีภาพและสนับสนุนการเมืองระบอบประชาธิปไตยภายหลังจากการเดินทางรอบโลกไปอเมริกา และยุโรป ในปี พ.ศ. 2498 เช่น การเปิดสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ทุกวันศุกร์(Press Conference) ให้มีการอภิปรายทางการเมืองคล้ายๆ ไฮปาร์ค ทั้งในกรุงเทพฯ และตามต่างจังหวัด หรืออนุญาตให้เปิดชุมนุมทางการเมือง โดยนโยบายเหล่านี้ของจอมพล ป. ถูกตีความว่า เป็นแผนขั้นต้นที่จะทำลายคู่แข่งของตน ทั้งนี้เนื่องจาก จอมพล ป. แน่ใจว่า ในการแสดงความคิดเห็นจะต้องมีผู้พาดพิงพฤติกรรมที่ฉ้อฉลของฝ่ายตำรวจและฝ่ายทหาร ซึ่งจะเท่ากับเป็นการลดทอน อำนาจฝ่ายตำรวจและทหารไปในตัว ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นเพราะ พล.ต.อ.เผ่า เป็นบุคคลที่ถูกวิจารณ์มากที่สุด แต่อย่างไรก็ตามเวทีสาธารณะในหลายๆ ครั้งก็กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และทำลายชื่อเสียงของจอมพล ป. ดังนั้นจอมพล ป. จึงสั่งห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะอีก รวมถึงไม่ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ประจำสัปดาห์ | ||
การเสื่อมคลายของการเมืองสามเส้าอาจกล่าวได้ว่า เป็นผลสำคัญมาจากการเสียสมดุลในการถ่วงดุลอำนาจของจอมพล ป. ภายหลังจากที่อำนาจของรัฐบาลจอมพล ป. ลดลงอย่างรวดเร็ว จากสถานการณ์การคัดค้านการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 หรือที่รู้จักกันว่า การเลือกตั้งสกปรก 2500 ทั้งจาก นิสิต นักศึกษา ประชาชน และนักหนังสือพิมพ์ ซึ่งมีผลทำให้จอมพลสฤษดิ์ สามารถผละตัวเองออกจากฐานะผู้ร่วมรัฐบาลที่ผูกผันกับจอมพล ป. และพล.ต.อ.เผ่า (ในขณะนั้นไม่เป็นที่ศรัทธาของประชาชน และยังถูกจอมพล ป. ต่อต้านอำนาจด้วยการปลดออกจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกลาโหม ในการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีวันที่ 2 สิงหาคม 2498) และก้าวขึ้นมาเป็นความหวัง และขวัญใจของประชาชน ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า การปกครองของอำนาจสามฐานเกิดขึ้นได้เพราะการรวบอำนาจ โดยใช้การถ่วงดุลที่เปราะบางระหว่างคนสามคน คือ พล.ต.อ.เผ่า ซึ่งควบคุมกองกำลังตำรวจ โดยการแข่งกับจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งมีกำลังทหาร และจอมพล ป. ซึ่งฉวยโอกาสการแข่งขันโดยเป็นตัวไกล่เกลี่ย และสถานภาพจากการสนับสนุนของอเมริกา ดังนั้น ตราบเท่าที่ฐานะของจอมพล ป. ยังคงมั่นคง ผู้มีอำนาจทั้งสามก็ยังคงมีสืบต่อไป แต่เมื่อจอมพล ป. อ่อนแอลง โอกาสที่บุคคลทั้งสองฝ่ายจะกระทำตามลำพังก็มีทางจะเป็นไปได้มากขึ้น<ref>เรื่องเดียวกัน, หน้า 139.</ref> | การเสื่อมคลายของการเมืองสามเส้าอาจกล่าวได้ว่า เป็นผลสำคัญมาจากการเสียสมดุลในการถ่วงดุลอำนาจของจอมพล ป. ภายหลังจากที่อำนาจของรัฐบาลจอมพล ป. ลดลงอย่างรวดเร็ว จากสถานการณ์การคัดค้านการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 หรือที่รู้จักกันว่า [[การเลือกตั้งสกปรก 26 กุมภาพันธ์ 2500|การเลือกตั้งสกปรก 2500]] ทั้งจาก นิสิต นักศึกษา ประชาชน และนักหนังสือพิมพ์ ซึ่งมีผลทำให้จอมพลสฤษดิ์ สามารถผละตัวเองออกจากฐานะผู้ร่วมรัฐบาลที่ผูกผันกับจอมพล ป. และพล.ต.อ.เผ่า (ในขณะนั้นไม่เป็นที่ศรัทธาของประชาชน และยังถูกจอมพล ป. ต่อต้านอำนาจด้วยการปลดออกจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกลาโหม ในการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีวันที่ 2 สิงหาคม 2498) และก้าวขึ้นมาเป็นความหวัง และขวัญใจของประชาชน ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า การปกครองของอำนาจสามฐานเกิดขึ้นได้เพราะการรวบอำนาจ โดยใช้การถ่วงดุลที่เปราะบางระหว่างคนสามคน คือ พล.ต.อ.เผ่า ซึ่งควบคุมกองกำลังตำรวจ โดยการแข่งกับจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งมีกำลังทหาร และจอมพล ป. ซึ่งฉวยโอกาสการแข่งขันโดยเป็นตัวไกล่เกลี่ย และสถานภาพจากการสนับสนุนของอเมริกา ดังนั้น ตราบเท่าที่ฐานะของจอมพล ป. ยังคงมั่นคง ผู้มีอำนาจทั้งสามก็ยังคงมีสืบต่อไป แต่เมื่อจอมพล ป. อ่อนแอลง โอกาสที่บุคคลทั้งสองฝ่ายจะกระทำตามลำพังก็มีทางจะเป็นไปได้มากขึ้น<ref>เรื่องเดียวกัน, หน้า 139.</ref> | ||
การรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ในปีพ.ศ. 2500 ได้นำมาซึ่งการยุติการเมืองในรูปแบบสามเส้า โดยจอมพล ป. ต้องหนีออกไปพำนักลี้ภัยที่ประเทศเขมร ต่อมาย้ายไปพำนักที่ประเทศญี่ปุ่นจนถึงแก่อสัญกรรม ส่วนพล.ต.อ.เผ่า ถูกเนรเทศออกนอกประเทศและได้ลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์จนถึงแก่อนิจกรรม ตลอดจนจอมพลจอมพลสฤษดิ์ ก้าวขึ้นมามีอำนาจแต่เพียงผู้เดียว ด้วยการยึดอำนาจในปี 2501 | การรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ในปีพ.ศ. 2500 ได้นำมาซึ่งการยุติการเมืองในรูปแบบสามเส้า โดยจอมพล ป. ต้องหนีออกไปพำนักลี้ภัยที่ประเทศเขมร ต่อมาย้ายไปพำนักที่ประเทศญี่ปุ่นจนถึงแก่อสัญกรรม ส่วนพล.ต.อ.เผ่า ถูกเนรเทศออกนอกประเทศและได้ลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์จนถึงแก่อนิจกรรม ตลอดจนจอมพลจอมพลสฤษดิ์ ก้าวขึ้นมามีอำนาจแต่เพียงผู้เดียว ด้วยการยึดอำนาจในปี 2501 |
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:43, 29 สิงหาคม 2554
ผู้เรียบเรียง ภาวิณี บุนนาค
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
การเมืองสามเส้า เป็นเหตุการณ์การการขับเคี่ยวแย่งชิงความเป็นใหญ่ทางการเมืองในช่วงปลายทศวรรษ 2490 ระหว่าง “ผู้มีอำนาจทั้งสาม” (the Triumvirate) คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม, พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ และ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยที่พล.ต.อ.เผ่า และจอมพลสฤษดิ์ ต่างมีฐานอำนาจทางตำรวจและทหารของตนตามลำดับ ขณะที่ จอมพล ป. นายกรัฐมนตรี เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการถ่วงดุลอำนาจอันเกิดจากการแข่งขันแย่งชิงความเป็นใหญ่ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจของสองฝ่าย
เหตุการณ์ทางการเมืองก่อนการเมืองสามเส้า
นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กลุ่มประชาธิปไตยพลเรือนได้เข้ามามีบทบาทสำคัญทางการเมือง ด้วยการจัดตั้งรัฐบาลของนายปรีดี พนมยงค์ และรัฐบาลของพล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ แต่อย่างไรก็ตาม บทบาททางการเมืองของกลุ่มประชาธิปไตยพลเรือนก็ต้องหยุดชะงักลงด้วยกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ประกอบกับการใส่ร้ายป้ายสีทางการเมืองจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม จึงทำให้กลุ่มอำนาจนิยม อันประกอบด้วยนายทหารทั้งในและนอกราชการ โดยมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้าคณะ ได้ทำการรัฐประหารในปีพ.ศ. 2490
โดยภายหลังการรัฐประหาร 2490 คณะรัฐประหารก็ได้พยายามสร้างพันธมิตรทางการเมืองกับกลุ่มอนุรักษ์นิยม ด้วยการให้นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมถึงการให้กลุ่มอนุรักษ์นิยมมีบทบาทอย่างมากในสภา แต่ความร่วมมือระหว่างกลุ่มอนุรักษ์นิยมกับคณะรัฐประหารก็ดำเนินอยู่เพียงระยะสั้นๆ ในที่สุดก็เกิดกรณีที่เรียกว่า “การจี้นายควง” ในวันที่ 6 เมษายน 2491 อันทำให้นายควง อภัยวงศ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และทำให้จอมพล ป. ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
ด้วยเหตุนี้ ระบบการเมืองในช่วงปีพ.ศ.2491 จนถึงปลายปีพ.ศ.2494 ถึงแม้จะมีรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแต่คณะรัฐประหารกลับมีอำนาจเหนือกฎหมาย[1] ซึ่งภายหลังจากการจี้นายควง รัฐบาลต้องประสบกับการต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่มีบทบาทอย่างมากในสภา อันทำให้รัฐบาลจอมพล ป. ภายใต้การสนับสนุนของคณะรัฐประหารไม่สามารถควบคุมคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาได้อย่างมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ รัฐบาลของจอมพล ป. ยังต้องเผชิญกับกบฏล้มล้างรัฐบาลถึง 3 ครั้ง คือ
1.กบฏเสนาธิการ (2491) เป็นการต่อต้านจากภายในกองทัพเอง
2.กบฏวังหลวง (2492) เป็นการต่อต้านจากฝ่ายประชาธิปไตยพลเรือน ซึ่งประกอบด้วยเสรีไทยและกองทัพเรือ
3.กบฏแมนฮัตตัน (2494) เป็นการต่อต้านจากฝ่ายกองทัพเรือ โดยกบฏทั้งสามครั้งนั้นจบลงด้วยชัยชนะของรัฐบาล อันทำให้รัฐบาลภายใต้คณะรัฐประหารนั้นมีเสถียรภาพมั่นคงมากขึ้น ดังนั้น คณะรัฐประหารจึงได้ทำการรัฐประหารเงียบหรือการรัฐประหารทางวิทยุในปีพ.ศ.2494 เพื่อที่จะได้ควบคุมอำนาจนิติบัญญัติหรือรัฐสภาได้อย่างเต็มที่
หลังการรัฐประหารเงียบในปีพ.ศ.2494 คณะรัฐประหารได้แต่งตั้งจอมพล ป. พิบูลสงครามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง และต่อมาได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 ซึ่งมีสาระสำคัญคือ การกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสองประเภทจำนวนเท่ากัน คือ สมาชิกประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้ง และสมาชิกประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาล รวมถึงการให้ข้าราชการประจำสามารถรับตำแหน่งทางการเมืองได้ ดังนั้นจึงเท่ากับเปิดโอกาสให้คณะรัฐประหาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารประจำการเข้ามามีบทบาททางการเมืองได้อย่างเต็มที่ เช่น พล.อ. ผิน ชุณหะวัณ เป็นรองนายกรัฐมนตรี พล.ร.ต. หลวงยุทธศาสตร์โกศล เป็นรัฐมนตรีเกษตราธิการ พล.อ.อ. ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี เป็นรัฐมนตรีคมนาคม พล.ท.เดช เดชประดิยุทธ, พล.ท.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นรัฐมนตรี เป็นต้น[2]
นอกจากนี้ รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังพยายามควบคุมเสียงสนับสนุนรัฐบาลในสภาทั้งสมาชิกประเภทที่ 1 และสมาชิกประเภทที่ 2 ด้วยการจัดตั้ง “คณะกรรมการนิติบัญญัติ” ซึ่งมีจอมพล ป. เป็นประธาน คณะรัฐมนตรีทั้งหมดเป็นกรรมการ และ พล.ต.อ.เผ่า เป็นเลขานุการ[3] อันทำให้รัฐบาลควบคุมสภาผู้แทนราษฎรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นคณะรัฐประหารจึงสามารถบริหารประเทศได้อย่างราบรื่น โดยไม่ต้องวิตกกังวลกับการต่อต้านรัฐบาลในสภา
กล่าวโดยสรุป ในช่วงต้นทศวรรษ 2490 คณะรัฐประหารได้เผชิญกับการแข่งขันกับกลุ่มการเมืองต่างๆ ซึ่งคณะรัฐประหารก็สามารถขจัดคู่แข่งทางการเมืองของตนทั้งกลุ่มประชาธิปไตยพลเรือน จากชัยชนะของรัฐบาลในกรณีกบฏวังหลวง รวมถึงการกวาดล้างผู้สนับสนุนปรีดี พนมยงค์ อย่างรุนแรง เช่น กรณีสังหารอดีตสี่รัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2492 ส่วนกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่มีบทบาทในสภานั้นก็ถูกลดบทบาทลงด้วยการทำรัฐประหารในปีพ.ศ. 2494 อันทำให้คณะรัฐประหารสามารถสร้างอำนาจและบารมีทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากหมดปัญหาคู่แข่งทางการเมือง แต่กรณีดังกล่าวกลับส่งผลทำให้เกิดความขัดแย้งและแย่งชิงอำนาจกันเองภายในคณะรัฐประหารในเวลาต่อมา
เหตุการณ์การเมืองสามเส้า
ภายหลังการรัฐประหาร 2494 ได้ส่งผลให้สถานการณ์การเมืองภายในประเทศไทยในช่วงปลายทศวรรษ 2490 เปลี่ยนแปลงไปสู่การแข่งขันและการขัดแย้งกันเองภายในคณะรัฐประหาร อันประกอบด้วย กลุ่มราชครู ที่มีพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นหลักสำคัญ, กลุ่มสี่เสาเทเวศร์ มีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้า และกลุ่มทหารอาวุโสที่มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม - การกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยที่ 2 (พ.ศ.2491-2500) ของจอมพล ป. กล่าวได้ว่า แตกต่างจากดำรงตำแหน่งในสมัยแรกอย่างมาก โดยการที่รัฐบาลได้รับการสนับสนุนจากคณะรัฐประหาร จึงมีผลทำให้รัฐบาลมีลักษณะที่เกรงใจต่อฝ่ายคณะรัฐประหารอย่างมาก ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ กรณีที่ สวัสดิ์ สวัสดิเกียรติ ป่วยเป็นเนื้องอกที่ตับอ่อน ต้องส่งไปผ่าตัดที่สหรัฐอเมริกา รัฐบาลก็ได้จัดทำโครงการไปในรูปการส่งไปดูงาน และออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด[4] และจากเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน (2494) ที่คณะรัฐประหารตัดสินใจทิ้งระเบิดเรือศรีอยุธยา โดยไม่สนใจชีวิตของจอมพล ป. ที่ถูกจับเป็นตัวประกันอยู่บนเรือ มองในแง่นี้ก็อาจจะตีความได้ว่า จอมพล ป. ในเวลานั้นมีอิทธิพลในคณะรัฐประหารน้อยลง ถึงแม้จะไม่มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม คณะรัฐประหารก็ยังคงอยู่ได้ แต่การที่คณะรัฐประหารยังคงยอมให้จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปก็เพราะ ความที่จอมพล ป. เป็นผู้นำทางทหารที่เคยทำให้สถาบันทหารมีบทบาทสูงเด่นมาแล้ว อันทำให้จอมพล ป. เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของอำนาจในหมู่ทหาร[5] ขณะเดียวกันจอมพล ป. ยังมีฐานะพิเศษในการเป็นผู้นำของชาติเพียงคนเดียว ที่ยังคงเหลืออยู่ในบรรดาคณะผู้ก่อการ 2475[6] ซึ่งนับได้ว่าเป็นคุณสมบัติที่ช่วยให้ จอมพล ป. เหมาะสมจะเป็นผู้ถ่วงดุลอำนาจระหว่างพล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ กับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ต่างแข่งขันกันแสวงหาอำนาจทางการเมือง
พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ – ในช่วงเวลานี้ได้ก้าวขึ้นมามีอำนาจควบคุมกองกำลังตำรวจ ซึ่งมีความสามารถเกือบเทียบเท่ากองทัพบก โดยแต่เดิมพล.ต.อ.เผ่า ได้รับการฝึกอบรมมาทางทหารบก และเป็นนายทหารคนสนิทของจอมพล ป. ต่อมาได้โอนมารับราชการตำรวจหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2490 ซึ่งจากสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดความวุ่นวายขึ้นหลายครั้ง โดยเฉพาะความพยายามใช้กำลังล้มล้างรัฐบาลถึง 3 ครั้ง จึงทำให้กองกำลังตำรวจที่นำโดย พล.ต.ต. เผ่า ได้เข้าไปมีบทบาทในการปราบปรามฝ่ายกบฏ ประกอบกับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กรมตำรวจจากหน่วยสืบราชการลับของสหรัฐอเมริกาผ่านทางบริษัท ซี ซัพพลาย(SEA Supply)เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ ปัจจัยทั้งสองจึงทำให้กรมตำรวจได้ถูกพัฒนาขีดความสามารถทั้งทางด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยและเพิ่มจำนวนบุคลากร ซึ่งเกินกว่าขอบเขตหน้าที่ของตำรวจในยามปกติ เช่น มีตำรวจรถถัง โดยใช้รถถังเสตกฮาวร์ มีตำรวจพลร่ม[7] ส่วนกำลังตำรวจมีถึง 42,835 คน หรือตำรวจ 1 คนต่อพลเมือง 407 คน ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่สูงที่สุดในโลก ถึงแม้ว่าตำรวจจะมีน้อยกว่าทหาร แต่กำลังตำรวจก็สามารถแสดงบทบาททางการเมืองได้เป็นอย่างดี เนื่องจากตำรวจสามารถติดต่อกับประชาชนได้โดยตรง และสามารถคุกคาม ปราบปรามคู่แข่งที่ต่อต้านได้ด้วยข้ออ้างที่ว่าเพื่อปราบปรามคอมมิวนิสต์และเพื่อรักษาความสงบภายในประเทศ [8] นอกจากนี้ เผ่ายังอาศัยการการค้าฝิ่นและการค้าอื่นๆในการหารายได้พิเศษสำหรับกิจกรรมทางการเมือง โดยพล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์มักจะอาศัยตำแหน่งหน้าที่ในทางการเมืองเข้าไปใกล้ชิดกับนักการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง ด้วยการให้เงินอุดหนุนทางการเมืองและสิทธิพิเศษต่างๆเป็นการเอาใจ อันนำไปสู่การดึงนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามารวมกลุ่มกับตนเอง
ทั้งนี้ พล.ต.อ. เผ่า ได้ตั้งและเลี้ยงดูบริวารของตนที่รู้จักกันว่า พวก “อัศวิน” เพื่อดำเนินงานตามคำสั่งที่ไม่ผ่านระบบราชการ โดย “อัศวิน” ของพล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์มักจะทำงานสกปรก เพื่อเอาใจพล.ต.อ. เผ่า และเพื่อได้รับสิ่งตอบแทนในรูปของเงินตรา ยศ และตำแหน่ง วิธีการรุนแรงของตำรวจในยุคนี้จึงเป็นที่หวาดกลัวทั้งในหมู่ประชาชนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร[9] เช่น ในกรณีการสังหารโหดอดีตสี่รัฐมนตรี นายเตียง ศิริขันธ์ ส.ส.สกลนคร นายพร มะลิทอง ส.ส.สมุทรสาคร นายอารีย์ ลีวีระ นักหนังสือพิมพ์ เป็นต้น[10]
กลุ่มของ พล.ต.อ. เผ่า เรียกว่า “กลุ่มซอยราชครู” ประกอบด้วย จอมพลผิน ชุณหะวัณ, พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์, พล.ต. ประมาณ อดิเรกสาร, พล.ต. ศิริ ศิริโยธิน, พล.จ. ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยมี จอมพลผิน เป็นหัวหน้ากลุ่ม แต่เนื่องจาก จอมพล ผิน ให้ความสนใจกับการแสวงหาความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจมากกว่าการเมือง ดังนั้นบทบาททางการเมืองของกลุ่มราชครูจึงตกไปอยู่ที่ พล.ต.อ. เผ่า ซึ่งเป็นบุตรเขยของจอมพลผิน
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ – เป็นนายทหารที่เติบโตขึ้นจากกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นหน่วยกำลังสำคัญ ต่อมาได้เข้าร่วมทำการรัฐประหารในปีพ.ศ.2490 นับแต่นั้นเป็นต้นมาชีวิตราชการของสฤษดิ์ เติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งผลงานที่สร้างชื่อให้เขาคือการเป็นหัวหน้าปราบกบฏวังหลวง นอกจากนี้จากการที่จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ผู้บัญชาการทหารบกให้ความสนใจกับการแสวงหาความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจมากกว่าอำนาจในกองทัพ สฤษดิ์จึงสามารถสร้างฐานอำนาจของตนในกองทัพบกได้ ดังนั้นเมื่อจอมพล ผิน ชุณหะวัณ สละตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในปี พ.ศ.2497 สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงเข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกแทน[11] รวมถึงได้รับพระราชทานยศจอมพลด้วย
โดยกองทัพภายใต้การนำของสฤษดิ์ ก็ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ในการปรับปรุงกองทัพให้เป็นแบบกองทัพอเมริกา โดยสหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือทางเทคโนโลยีต่าง ๆ มีการส่งคณะที่ปรึกษาทางทหารมาประจำในประเทศไทย ช่วยฝึกและจัดระเบียบกองทัพไทยให้เข้มแข็งขึ้น การช่วยเหลือของอเมริกาส่งผลให้กองทัพบกของไทยขยายตัวอย่างมากจากกำลังพลที่มีอยู่ 45,000 นายในปีพ.ศ.2494 มาเป็น 80,000 นายในปีพ.ศ.2497[12]
เช่นเดียวกับเผ่า สฤษดิ์ก็มีฐานทางเศรษฐกิจของตน คือการคุมสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลและดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารขององค์การทหารผ่านศึก และดำรงตำแหน่งในบริษัทต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 22 บริษัท โดยสฤษดิ์มักจะอ้างการใช้เงินในราชการลับ เบิกจ่ายเงินจากราชการเข้ากระเป๋าตัวเองเป็นจำนวนมาก โดยกลุ่มของสฤษดิ์ ที่เรียกว่า “กลุ่มสี่เสาเทเวศร์” ประกอบด้วย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พล.ท. ถนอม กิตติขจร พ.ต. ประภาส จารุเสถียร พ.ต. กฤษณ์ สีวะรา
ขณะที่ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กำลังแข่งขันและสร้างฐานอำนาจของตนอย่างมั่นคงอยู่นั้น จอมพล ป. ที่ต้องตกอยู่ในฐานที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของอำนาจลอยก็พยายามสร้างฐานอำนาจของตนเองเช่นเดียวกัน โดยจากการศึกษาของทักษ์ เฉลิมเตียรณ อธิบายว่า จอมพล ป. ได้พยายามสร้างฐานอำนาจโดยผ่านการหันเข้าหาการรับรองจากสหรัฐอเมริกา ส่วนอีกฐานอำนาจหนึ่งก็คือ การเข้าหาฐานที่เป็นมวลชน
ในการเข้าหาการรับรองจากสหรัฐอเมริกา จอมพล ป. ได้แสดงตนเป็นฝ่ายอเมริกาและขานรับนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลอเมริกา กล่าวคือ ประเทศไทยได้เข้าผูกผันกับสหรัฐอเมริกามากขึ้น และเริ่มรับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและทหารจากอเมริกา มีผลให้อเมริกาส่งคณะที่ปรึกษาทางทหาร ทางเทคนิค และเศรษฐกิจเข้ามาในประเทศไทย พ.ศ. 2495 รัฐบาลไทยให้ความสนับสนุนอเมริกา ในการเข้าร่วมทำสงครามเกาหลีในนามของสหประชาชาติ ด้วยการเสนอส่งกองทหารและข้าวไปช่วย และในปี 2497 ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์การ SEATO ซึ่งเป็นแนวปิดล้อมการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในเอเชียอาคเนย์ ทำให้อเมริการู้สึกพึงพอใจรัฐบาลจอมพล ป. ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มฐานให้กับจอมพล ป. ให้มั่นคงยิ่งขึ้น เนื่องจากบรรดาผู้นำประเทศต่างคิดว่า จอมพล ป. เป็นบุคคลที่ทำให้อเมริกาให้ความช่วยเหลือไทยตลอด[13]
แต่อย่างไรก็ตาม จอมพล ป. ก็ตระหนักดีว่า แท้จริงแล้วอเมริกาก็ให้การสนับสนุน “อำนาจ” ทุกฝ่าย ดังจะเห็นได้ว่าทั้งทหารและตำรวจต่างก็ได้รับการสนับสนุนจากอเมริกา ดังนั้นเพื่อจะสร้างความชอบธรรมในการเป็นนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. จึงหันเข้าหาฐานที่เป็นมวลชน ผ่านทางนโยบายด้านวัฒนธรรมและศาสนา โดยได้ตั้งกระทรวงวัฒนธรรมขึ้นใน พ.ศ. 2495 ซึ่งมุ่งอบรมสั่งสอนประชาชนเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย จริยธรรมทางสังคมอันดีงาม และยังรวมถึงภัยของลัทธิคอมมิวนิสต์ ความพยายามของจอมพล ป. ในครั้งนี้ จึงถูกตีความได้ว่า จอมพล ป. ต้องการสร้างภาพพจน์ใหม่ของผู้นำประเทศที่ตนเองดำรงอยู่ ให้แตกต่างจากผู้นำประเทศที่ใช้อำนาจและแก่งแย่งผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจกันอย่างเปิดเผย ดังภาพของพล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ปรากฏอยู่ในขณะนั้น[14] นอกจากนี้ จอมพล ป. ยังเน้นบทบาทของตนเองในฐานะพุทธศาสนูปถัมภก โดยการปฏิสังขรณ์อนุสาวรีย์ วัดวาอาราม และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาจำนวนมาก ที่สำคัญก็คือ การมีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานเตรียมฉลองครบรอบ 25 พุทธศตวรรษ ซึ่งในงานนี้ได้มีการสร้างพุทธมณฑล มีการบวชพระ 2,500 องค์ และงานฉลองอื่น ๆ อีก ซึ่งพฤติการณ์นี้ถูกมองว่าเป็นวิธีหนึ่งที่ จอมพล ป. ต้องการแสดงให้เห็นว่า ตนเป็นผู้นำของชาติ[15]
ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง ที่นักวิชาการมองว่าเป็นความพยายามของจอมพล ป. ในอันที่จะสร้างฐานอำนาจจากประชาชน เพื่อต้านทานอำนาจจากฝ่ายตำรวจและทหาร คือ การให้เสรีภาพและสนับสนุนการเมืองระบอบประชาธิปไตยภายหลังจากการเดินทางรอบโลกไปอเมริกา และยุโรป ในปี พ.ศ. 2498 เช่น การเปิดสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ทุกวันศุกร์(Press Conference) ให้มีการอภิปรายทางการเมืองคล้ายๆ ไฮปาร์ค ทั้งในกรุงเทพฯ และตามต่างจังหวัด หรืออนุญาตให้เปิดชุมนุมทางการเมือง โดยนโยบายเหล่านี้ของจอมพล ป. ถูกตีความว่า เป็นแผนขั้นต้นที่จะทำลายคู่แข่งของตน ทั้งนี้เนื่องจาก จอมพล ป. แน่ใจว่า ในการแสดงความคิดเห็นจะต้องมีผู้พาดพิงพฤติกรรมที่ฉ้อฉลของฝ่ายตำรวจและฝ่ายทหาร ซึ่งจะเท่ากับเป็นการลดทอน อำนาจฝ่ายตำรวจและทหารไปในตัว ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นเพราะ พล.ต.อ.เผ่า เป็นบุคคลที่ถูกวิจารณ์มากที่สุด แต่อย่างไรก็ตามเวทีสาธารณะในหลายๆ ครั้งก็กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และทำลายชื่อเสียงของจอมพล ป. ดังนั้นจอมพล ป. จึงสั่งห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะอีก รวมถึงไม่ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ประจำสัปดาห์
การเสื่อมคลายของการเมืองสามเส้าอาจกล่าวได้ว่า เป็นผลสำคัญมาจากการเสียสมดุลในการถ่วงดุลอำนาจของจอมพล ป. ภายหลังจากที่อำนาจของรัฐบาลจอมพล ป. ลดลงอย่างรวดเร็ว จากสถานการณ์การคัดค้านการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 หรือที่รู้จักกันว่า การเลือกตั้งสกปรก 2500 ทั้งจาก นิสิต นักศึกษา ประชาชน และนักหนังสือพิมพ์ ซึ่งมีผลทำให้จอมพลสฤษดิ์ สามารถผละตัวเองออกจากฐานะผู้ร่วมรัฐบาลที่ผูกผันกับจอมพล ป. และพล.ต.อ.เผ่า (ในขณะนั้นไม่เป็นที่ศรัทธาของประชาชน และยังถูกจอมพล ป. ต่อต้านอำนาจด้วยการปลดออกจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกลาโหม ในการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีวันที่ 2 สิงหาคม 2498) และก้าวขึ้นมาเป็นความหวัง และขวัญใจของประชาชน ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า การปกครองของอำนาจสามฐานเกิดขึ้นได้เพราะการรวบอำนาจ โดยใช้การถ่วงดุลที่เปราะบางระหว่างคนสามคน คือ พล.ต.อ.เผ่า ซึ่งควบคุมกองกำลังตำรวจ โดยการแข่งกับจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งมีกำลังทหาร และจอมพล ป. ซึ่งฉวยโอกาสการแข่งขันโดยเป็นตัวไกล่เกลี่ย และสถานภาพจากการสนับสนุนของอเมริกา ดังนั้น ตราบเท่าที่ฐานะของจอมพล ป. ยังคงมั่นคง ผู้มีอำนาจทั้งสามก็ยังคงมีสืบต่อไป แต่เมื่อจอมพล ป. อ่อนแอลง โอกาสที่บุคคลทั้งสองฝ่ายจะกระทำตามลำพังก็มีทางจะเป็นไปได้มากขึ้น[16]
การรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ในปีพ.ศ. 2500 ได้นำมาซึ่งการยุติการเมืองในรูปแบบสามเส้า โดยจอมพล ป. ต้องหนีออกไปพำนักลี้ภัยที่ประเทศเขมร ต่อมาย้ายไปพำนักที่ประเทศญี่ปุ่นจนถึงแก่อสัญกรรม ส่วนพล.ต.อ.เผ่า ถูกเนรเทศออกนอกประเทศและได้ลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์จนถึงแก่อนิจกรรม ตลอดจนจอมพลจอมพลสฤษดิ์ ก้าวขึ้นมามีอำนาจแต่เพียงผู้เดียว ด้วยการยึดอำนาจในปี 2501
ข้อโต้แย้งคำอธิบาย “การเมืองสามเส้า”
อย่างไรก็ตามการอธิบายการเมืองในช่วงปลายทศวรรษ2490 ว่าเป็น “การเมืองสามเส้า” นั้น ได้ถูกนักวิชาการบางคนออกมาโต้แย้งว่า ความจริงในช่วงปลายทศวรรษ2490 มีกลุ่มการเมืองมากกว่ากลุ่มของจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลุ่มของ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ และกลุ่มของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยยังมีกลุ่มการเมืองที่สำคัญอยู่อีกคือ กลุ่มอนุรักษ์นิยม ที่พยายามรื้อฟื้นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ซึ่งแสดงออกผ่านเจ้านายบางพระองค์และพรรคประชาธิปัตย์ในสมัยนายควง อภัยวงศ์เป็นหัวหน้าพรรค กลุ่มสังคมนิยม ที่เคลื่อนไหวภายใต้อุดมการณ์สังคมนิยม ที่ให้ความสำคัญกับประชาชนชนชั้นล่างที่ยากจนและถูกกดขี่ มีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พ.ค.ท.)เป็นแกน และกลุ่มปรีดี พนมยงค์ ซึ่งมีกำลังและบทบาทน้อยมาก แต่ถูกกลุ่มการเมืองอื่นดึงเข้ามาเกี่ยวข้อง[17]
ทั้งนี้จากการศึกษาของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้อธิบายว่า ในช่วงปลายทศวรรษ2490 ในกลุ่มขั้วอำนาจทั้งสามนั้น จอมพล ป. เป็นกลุ่มที่อยู่ในฐานะลำบากที่สุด เนื่องจากไม่มีฐานกำลังเป็นของตนเอง แต่สิ่งที่จอมพล ป. ทำคือ การใช้สองขุนศึก(สฤษดิ์และเผ่า)มาคานอำนาจกันเอง อีกด้านหนึ่งก็หาการสนับสนุนจากกลุ่มที่อยู่นอกวงอำนาจรัฐให้แก่ตัวเอง ด้วยการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกรรมกรผ่านทางนายสังข์ พัธโนทัย อันทำให้จอมพล ป. เข้าไปพัวพันเป็นพันธมิตรกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยทางอ้อม ซึ่งส่งผลให้ พคท.เกิดการแตกแยกภายในระหว่างสายงานกรรมกรของ พคท. โน้มเอียงมาสนับสนุนจอมพล ป. ขณะที่สายงานปัญญาชน(นักเขียน, นักศึกษา และนักหนังสือพิมพ์)โน้มเอียงไปสนับสนุนสฤษดิ์ [18]
นอกเหนือจากนี้ จอมพล ป. ยังพยายามจะกลับไปร่วมมือกับกลุ่มของปรีดี พนมยงค์อีกครั้ง ด้วยการส่งตัวแทนไปพบปรีดี ที่ประเทศจีน เพื่อให้ปรีดีกลับมาประเทศไทยและรับรองว่าจะรื้อฟื้นคดีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลขึ้นใหม่ [19]
ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ถึงแม้ว่าจะถูกลดบทบาทอย่างมากหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2494 แต่จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จนิวัตพระนครและประทับอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร กลับเป็นจุดพลิกผันครั้งสำคัญของกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่สามารถฟื้นฟูสถานะของพระมหากษัตริย์ในสังคมไทยอย่างจริงจัง อันนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอนุรักษ์นิยมกับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม[20] โดยเฉพาะในช่วงปลายทศวรรษ2490 ที่รัฐบาลจอมพล ป. ถูกวิพากษ์วิจารณ์และโจมตีบ่อยครั้งว่า ละเมิดพระบรมเดชานุภาพพระมหากษัตริย์ เช่น กรณีที่หยุด แสงอุทัย ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระมหากษัตริย์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2499[21] หรือ กรณีขัดแย้งระหว่างพระมหากษัตริย์กับรัฐบาลในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ[22]
ขณะเดียวกันฝ่ายอนุรักษ์นิยมยังมีแนวโน้มที่จะร่วมมือกับกลุ่มทหารของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เช่น ในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2500 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้จอมพล สฤษดิ์เข้าเฝ้าและพระราชทานเงินส่วนพระองค์ถึง 100,000 บาท เพื่อให้กองทัพบกนำไปใช้ในกิจการด้านต่างๆ เป็นกรณีพิเศษ เนื่องในวันกองทัพบก พ.ศ.2500[23] ซึ่งจากการศึกษาของ ณัฐพล ใจจริง ยังพบว่าในช่วงก่อนการรัฐประหาร พ.ศ.2500 เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์นิยมเช่น พระองค์เจ้าธานีนิวัต ประธานองคมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ร่วมมือกับกองทัพเคลื่อนไหวเตรียมรัฐประหารผ่านการโจมตีรัฐบาลจอมพล ป. ทางหนังสือพิมพ์ของฝ่ายอนุรักษ์นิยมและพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งก่อนการรัฐประหารได้มีการอภิปรายเปิดเผยในสภาผู้แทนราษฎรว่า กษัตริย์พระราชทานเงินสนับสนุนจำนวน 700,000 บาทแก่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อใช้เคลื่อนไหวทางการเมือง[24]
จากที่กล่าวไว้ข้างต้นได้สะท้อนให้เห็นว่าการเมืองในช่วงปลายทศวรรษ 2490 ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอำนาจทั้งสามได้มีการสร้างพันธมิตรทางการเมืองกับกลุ่มการเมืองอื่น ๆ เช่น กลุ่มจอมพล ป.(รวมถึงกลุ่มพล.ต.อ.เผ่า)พยายามร่วมมือกับพคท.สายงานกรรมกรและกลุ่มปรีดี ขณะที่กลุ่มจอมพลสฤษดิ์ ได้ร่วมมือกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมและพคท.สายปัญญาชน ซึ่งการอธิบายในลักษณะนี้ทำให้มองประวัติศาสตร์ในช่วงปลายทศวรรษ 2490 ที่มิได้มองเฉพาะการแข่งขันทางการเมืองของผู้มีอำนาจทั้งสามในคณะรัฐประหารเท่านั้น แต่จะให้ภาพการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ที่ไม่ได้หยุดนิ่งหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2494
ที่มา
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ และ วิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์(บรรณาธิการ). บันทึกการสัมมนาจอมพล ป. พิบูลสงครามกับการเมืองไทยสมัยใหม่. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2540.
ณัฐพล ใจจริง. “คว่ำปฏิวัติ - โค่นคณะราษฎร: การก่อตัวของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข.” ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 (มกราคม – มีนาคม 2551): 136 – 137.
ณัฐพล ใจจริง. “ความสัมพันธ์ไทย-จีนกับความขัดแย้งทางการเมือง : " การทูตใต้ดิน" (2498-2500) ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม.” รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 29ฉบับพิเศษ (2551) : 29 – 80.
ถนอมจิต มีชื่น. “จอมพล ป. พิบูลสงครามกับงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต ประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2531.
แถมสุข นุ่มนนท์. ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-อเมริกาภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง. กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2525.
ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526.
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. พระผู้ทรงปกเกล้าฯ ประชาธิปไตย : 60 ปี สิริราชสมบัติกับการเมืองการปกครองไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549.
นรนิติ เศรษฐบุตร. กลุ่มราชครูในการเมืองไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2542.
ปิยบุตร แสงกนกกุล. “หยุด แสงอุทัย กับหลัก The King can do no wrong” เข้าถึงได้จาก http://www.sameskybooks.org/2008/06/19/yut_andthe_king_can_do_no_wrong/
พรภิรมณ์ เชียงกูล. ประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ เล่ม 1. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2535.
พุฒ บูรณสมภพ, พ.ต.อ. 13 ปีกับบุรุษเหล็กแห่งเอเชีย. กรุงเทพฯ: ประพันธ์สาส์น, 2524.
พุฒ บูรณสมภพ, พ.ต.อ. ชัยชนะและความพ่ายแพ้ของบุรุษเหล็กแห่งเอเชีย. กรุงเทพฯ: ศูนย์รวมข่าวเอกลักษณ์, 2530.
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2544.
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทย : ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามครั้งที่สอง (พ.ศ.2491 - 2500). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2550.
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: พี. เพรส, 2551.
David A. Wilson. Politics in Thailand. New York: Cornell University Press, 1962.
Kobkua Suwannathat-Pian. Thailand's durable Premier : Phibun through three decades, 1932-1957. Kuala Lumpur : Oxford University Press, 1995.
Frank C. Daling. Thailand and the United States. Washington : Public Affairs Press, 1965.
อ้างอิง
- ↑ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย : ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามครั้งที่สอง (พ.ศ.2491 - 2500), พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2550), หน้า 133 - 153.
- ↑ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: พี. เพรส, 2551), หน้า 71.
- ↑ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย : ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามครั้งที่สอง (พ.ศ.2491 - 2500), หน้า 256.
- ↑ หจช. สร 0201.8.1/53 เรื่องพลโท สวัสดิ์ สวัสดิเกียรติป่วย หนังสือจาก หม่อมหลวงขาบ กุญชร เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2493 อ้างใน ถนอมจิต มีชื่น, “จอมพล ป. พิบูลสงครามกับงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ,” (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต ประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2531), หน้า 53.
- ↑ David A. Wilson, Politics in Thailand (New York: Cornell University Press, 1962), p.179.
- ↑ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526), หน้า 122.
- ↑ นรนิติ เศรษฐบุตร, กลุ่มราชครูในการเมืองไทย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2542), หน้า 44.
- ↑ Frank C. Daling, Thailand and the United States (Washington : Public Affairs Press, 1965), p.114
- ↑ พรภิรมณ์ เชียงกูล, ประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ เล่ม 1 (กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2535), หน้า 129.
- ↑ ดูรายละเอียดใน พุฒ บูรณสมภพ, พ.ต.อ., ชัยชนะและความพ่ายแพ้ของบุรุษเหล็กแห่งเอเชีย (กรุงเทพฯ: ศูนย์รวมข่าวเอกลักษณ์, 2530). และ พุฒ บูรณสมภพ, พ.ต.อ., 13 ปีกับบุรุษเหล็กแห่งเอเชีย (กรุงเทพฯ: ประพันธ์สาส์น, 2524).
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 129.
- ↑ แถมสุข นุ่มนนท์, ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-อเมริกาภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2525), หน้า 6.
- ↑ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 128-131.
- ↑ พรภิรมณ์ เชียงกูล, ประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ เล่ม 1, หน้า 130.
- ↑ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 127-128.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 139.
- ↑ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล “ปรีดี พนมยงค์, จอมพล ป., กรณีสวรรคต และรัฐประหาร 2500” ใน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2544), หน้า 32.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 32 -33.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 34. และดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน ณัฐพล ใจจริง, “ความสัมพันธ์ไทย-จีนกับความขัดแย้งทางการเมือง : " การทูตใต้ดิน" (2498-2500) ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม,” รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 29ฉบับพิเศษ (2551) : 29 – 80.
- ↑ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, พระผู้ทรงปกเกล้าฯ ประชาธิปไตย : 60 ปี สิริราชสมบัติกับการเมืองการปกครองไทย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549), หน้า 51 - 52.
- ↑ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย : ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามครั้งที่สอง (พ.ศ.2491 - 2500), หน้า 376 – 378. และ ปิยบุตร แสงกนกกุล “หยุด แสงอุทัย กับหลัก The King can do no wrong” เข้าถึงได้จาก http://www.sameskybooks.org/2008/06/19/ yut_andthe_king_can_do_no_wrong/
- ↑ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย : ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามครั้งที่สอง (พ.ศ.2491 - 2500), หน้า 379. และ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, พระผู้ทรงปกเกล้าฯ ประชาธิปไตย : 60 ปี สิริราชสมบัติกับการเมืองการปกครองไทย, หน้า 57 – 59
- ↑ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย : ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามครั้งที่สอง (พ.ศ.2491 - 2500), หน้า 378 - 379.
- ↑ ณัฐพล ใจจริง, “คว่ำปฏิวัติ - โค่นคณะราษฎร: การก่อตัวของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข,” ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 (มกราคม – มีนาคม 2551): 136 – 137.