กบฏวังหลวง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง สุมาลี พันธุ์ยุรา


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


กบฏวังหลวง

ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 เป็นคำเรียกของนายปรีดี พนมยงค์ หรือที่เรียกกันต่อมาว่า “กบฏวังหลวง” เป็นขบวนการต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามของกลุ่มประชาธิปไตยพลเรือน ซึ่งในที่นี้อาจนิยามอย่างหยาบว่า กลุ่มประชาธิปไตยพลเรือนก็คือกลุ่มการเมืองที่แวดล้อมปรีดี พนมยงค์ หรือกลุ่มที่ถือเอาปรีดี พนมยงค์เป็นผู้นำและแกนกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแกนกลางทางความคิดของปรีดี พนมยงค์เป็นหลัก นั่นคืออุดมคติทางการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตย ฉะนั้นในอุดมคติของฝ่ายนี้ ความพยายามในการก่อการกบฏเพื่อจะโค่นรัฐบาลที่เรียกกันต่อมาว่ากบฏวังหลวงนั้น จึงมิใช่เป็นเพียงความพยายามในการรื้อฟื้นอำนาจที่สูญเสียไปก่อนการรัฐประหารในพ.ศ.2490 เท่านั้น หากแต่ยังเป็นความพยายามต่อสู้ให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่แท้จริงในสังคมไทยด้วย [1]

ความเป็นมา

กลุ่มประชาธิปไตยพลเรือนที่ก่อการยึดอำนาจในครั้งนี้ คือ กลุ่มที่มีรากฐานมาจากขบวนการเสรีไทยและคืออดีตแกนนำของพรรคสหชีพ แนวรัฐธรรมนูญ และพรรคอิสระ ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองที่อยู่เบื้องหลังการสนับสนุนรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ภายหลังจากการรัฐประหารในพ.ศ.2490 กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ถูกไล่ล่าติดตามและกวาดล้างมากที่สุด โครงสร้างของกลุ่มนี้อาจแบ่งได้เป็น 4 ส่วน คือ ฝ่ายคณะราษฎร ได้แก่ ปรีดี พนมยงค์ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ พล.ร.ต.สังวร สุวรรณชีพ ดิเรก ชัยนาม ทวี บุณยเกตุ ฯลฯ กลุ่มส.ส.ประเภทที่ 1 ที่มาจากการเลือกตั้ง ได้แก่ เตียง ศิริขันธ์ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ จำลอง ดาวเรือง ถวิล อดุล ฯลฯ กลุ่มธรรมศาสตร์และการเมือง ได้แก่ เดือน บุนนาค วิจิตร ลุลิตานนท์ ทวี ตะเวทีกุล ฯลฯ และสายกำลัง ได้แก่ พ.ต.โผน อินทรทัต ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวช ร.ต.อ.เชื้อ สุวรรณศร ฯลฯ [2]

สาเหตุที่รัฐบาลควง อภัยวงศ์ต้องติดตามจับกุมกลุ่มประชาธิปไตยพลเรือนส่วนหนึ่งเพราะทั้งคณะรัฐประหารและรัฐบาลควง อภัยวงศ์ต่างหวาดระแวงว่า กลุ่มคนเหล่านี้จะดำเนินการต่อต้านและทำให้ระบอบที่คณะรัฐประหารสถาปนาขึ้นใหม่นั้นขาดเสถียรภาพ ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้หลายคนพยายามต่อต้านรัฐประหารมาตั้งแต่แรกแต่ความพยายามเหล่านั้นไม่บรรลุผล กล่าวคือ ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ซึ่งเป็นวันแรกที่คณะรัฐประหารยึดอำนาจ คณะรัฐมนตรีส่วนหนึ่งของรัฐบาลพล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ได้ประชุมกันอยู่ที่กองบัญชาการทหารเรือฝั่งธนบุรี นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ได้เสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราวเพื่อสั่งการต่อต้านรัฐประหาร แต่ปรากฎว่าเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย และเสนอให้ระงับการต่อต้านไว้จนกว่าจะได้พบกับพล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และนายปรีดี พนมยงค์เสียก่อน ต่อมาเมื่อบุคคลทั้งสองมาร่วมต่อต้านการรัฐประหารด้วย การดำเนินการต่อต้านรัฐประหารก็ยังไม่อาจกระทำได้ เพราะไม่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายที่คุมกำลัง โดยที่พล.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.ต.สังวร สุวรรณชีพ อธิบดีกรมตำรวจ และพล.ร.ท.สินธุ์ กมลนาวิน ต่างก็แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการต่อต้านคณะรัฐประหาร [3]

ต่อมาเมื่อรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงครามขึ้นบริหารประเทศในพ.ศ.2491 มิได้ไว้วางใจกลุ่มประชาธิปไตยพลเรือน โดยได้มีการรับช่วงการทำลายเกียรติภูมิของปรีดี พนมยงค์สืบต่อมาจากรัฐบาลควง อภัยวงศ์ โดยปล่อยให้กรรมการชุดเดิมของพล.ต.ต.พระพินิจชนคดี (แซ่ง อินทรทูต) พี่เขยของม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ทำการสอบสวนกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ต่อไปจากเดิม ผลการสอบสวนเสร็จสิ้นลงและได้มีการยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2491 กรมตำรวจได้ออกหมายจับประกาศทั่วประเทศมีใจความว่า นายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรี กับ เรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช ร.น.ได้สมคบกับพวกตระเตรียมวางแผนการลอบปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดลถึงแก่สวรรคต และปกปิดทำลายหลักฐานในการกระทำเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นอาญา [4]

นอกจากนี้แล้ว การเกิดกบฎเสนาธิการเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2491 ได้ก่อให้เกิดการกวาดล้างฝ่ายปรีดี พนมยงค์ต่อไป ซึ่งมีการกล่าวหาว่า นายอรรถกิตติ พนมยงค์เป็นผู้จ่ายเงินสนับสนุนถึง 10 ล้านบาท และรัฐบาลได้ถือโอกาสออกหมายจับนายอรรถกิตติ พนมยงค์ นายสงวน จูฑะเตมีย์ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นต้น จากนั้นในวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2491 ตำรวจได้จับกุม นายถวิล อดุล นายจำลอง ดาวเรือง นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ฯลฯ ในข้อหาว่าเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดน ซึ่งถือเป็นอีกครั้งหนึ่งที่รัฐบาลจอมพล.ป.พิบูลสงครามพยายามควบคุมบทบาทของอดีตส.ส.ภาคอีสานกลุ่มนี้ จากนั้น พล.ร.ท.กาจ กาจสงครามก็ได้โยงเรื่องทั้งหมดเข้าด้วยกัน โดยแถลงว่าเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ปรีดี พนมยงค์อยู่เบื้องหลัง ด้วยการจ่ายเงินให้นายอรรถกิตติ พนมยงค์ ผ่านธนาคารมาให้หลวงนฤเบศมานิตย์และนายปราโมทย์ พึ่งสุนทร และกล่าวว่าถ้าการยึดอำนาจสำเร็จ ปรีดีจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี นายฟอง สิทธิธรรมจะเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนนายเตียง ศิริขันธ์ และนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์จะเป็นอัครเสนาบดี ซึ่งเป็นการใส่ร้ายเพื่อโยงเรื่องทั้งหมดสู่การกล่าวหาปรีดี พนมยงค์ และส.ส.ภาคอีสานว่าอยู่เบื้องหลังแผนการ [5]

สถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้นำมาสู่การเคลื่อนไหวที่ปรีดี พนมยงค์เรียกว่า ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า กบฏวังหลวง

สาเหตุการกบฎ

กล่าวได้ว่า ปัจจัยข้อหนึ่งที่นำมาซึ่งการรวมตัวขึ้นเป็นขบวนการประชาธิปไตย คือ เงื่อนไขทางความคิด เนื่องจากเป้าหมายที่สำคัญของกลุ่มประชาธิปไตยพลเรือน คือ ความต้องการสร้างระบอบประชาธิปไตยแบบพรรคการเมืองที่เต็มรูปขึ้นมาในสังคมไทย ดังจะเห็นได้จากแนวความคิดในการผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2489 ที่สร้างระบบรัฐสภาโดยให้อำนาจสูงสุดแก่สภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งในส่วนนี้เป็นการสร้างความสืบเนื่องจากเจตนารมณ์ดั้งเดิมของคณะราษฎร กล่าวคือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 จะกำหนดให้มี 2 สภา คือ พฤฒสภาและสภาผู้แทนราษฎร ทั้งสองสภามาจากการเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันทางการเมืองในระบอบหลายพรรค ด้วยหลักการเช่นนี้หมายถึงว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้นจะเป็นไปตามการต่อสู้ในระบอบรัฐสภา โดยให้พรรคที่มีเสียงข้างมากที่สุดเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลและจะพ้นจากสภาพเมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไป เงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก็จะมีขึ้นได้เมื่อพรรครัฐบาลเดิมสูญเสียเสียงข้างมากในสภา ซึ่งอาจจะเป็นผลพวงมากจากการเลือกตั้งใหม่หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงระหว่างวาระการประชุมที่ทำให้ฝ่ายรัฐบาลแก้ญัตติในรัฐสภา ดังนั้นการที่ปรีดี พนมยงค์ดำเนินการให้มีการสลายตัวของคณะราษฎรในฐานะที่เป็นกลุ่มทางการเมืองเมื่อพ.ศ.2489 หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้พรรคการเมืองฝ่ายอื่น ๆ ที่มิใช่คณะราษฎรสามารถขึ้นมาเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าคณะราษฎรมิได้มุ่งจะผูกขาดอำนาจไว้ตลอดกาล หากแต่พร้อมที่จะให้ฝ่ายอื่นที่ได้เสียงข้างมากเป็นรัฐบาลได้เช่นกัน [6]

การรัฐประหารใน พ.ศ. 2490 ได้ทำลายเจตนารมณ์เรื่องนี้ลง ดังนั้นกลุ่มประชาธิปไตยพลเรือนจึงไม่อาจยอมรับได้ ด้วยรากฐานทางความคิดดังกล่าว ทำให้ฝ่ายปรีดี พนมยงค์ไม่อาจยอมรับได้ถึงความชอบธรรมของระบบพิบูลสงครามครั้งใหม่ จึงคิดเตรียมการในการก่อการครั้งนี้ โดยมุ่งที่จะประสานกำลังหลัก 2 ส่วนเข้าด้วยกัน คือ ฝ่ายทหารเรือและเสรีไทย และจะอาศัยเงื่อนไขนี้ดึงทหารบกบางส่วนเข้าร่วม อันจะทำให้ชัยชนะมีโอกาสเป็นไปได้มากขึ้น

แผนการของกบฎวังหลวง

เมื่อปรีดี พนมยงค์เดินทางถึงกลับประเทศไทย ได้ส่งร.อ.ชลิต ชัยสิทธิเวชไปขอความคุ้มครองจากพล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ และได้ชักชวนให้พล.ร.ต.ทหารพร้อมด้วย พล.ร.ต.สังวร สุวรรณชีพเข้าร่วมการยึดอำนาจ ซึ่งพล.ร.ต.ทหารและพล.ร.ต.สังวรก็ได้เข้าร่วมด้วย[7] กองทัพนาวิกโยธินสัตหีบของพล.ร.ต.ทหารก็จะเป็นกำลังหลักที่ใช้ยึดอำนาจ สำหรับทหารเรืออื่นที่สนับสนุนอย่างเต็มที่ คือ น.อ.ชลี สินธุโสภณ ผู้บัญชาการกองสัญญาณทหารเรือ อีกทั้งปรีดี พนมยงค์ยังเชื่อมั่นว่าจะได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากพล.ร.ท.สินธุ์ กมลนาวิน ดังนั้นผู้ก่อการในครั้งนี้จึงมั่นใจว่าจะได้รับชัยชนะ โดยอาศัยกำลังทหารเรือที่มีแสนยานุภาพเหนือกว่าคณะรัฐประหารและยังอาศัยทหารบกกับเสรีไทยจำนวนหนึ่งเข้าร่วมด้วย [8]

สำหรับเสรีไทยที่เข้าร่วมนั้นมีทวี ตะเวทิกุลและประสิทธิ ลุลิตานนท์ เป็นผู้ประสานงาน ขณะนั้นทวี ตะเวทิกุล ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นผู้เดินทางไปพบปรีดี พนมยงค์และพล.ร.ต.สังวร สุวรรณชีพที่ศรีราชา จากนั้นก็ได้กลับมาติดต่อกับประสิทธิ์ ลุลิตานนท์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงพิมพ์ของธรรมศาสตร์และการเมืองที่ตัดสินใจเข้าร่วมด้วย กำลังฝ่ายเสรีไทยที่เข้าร่วมมีประมาณ 50 คน และมีระดับแกนนำของเสรีไทยที่เข้าร่วม เช่น พ.ต.โผน อินทรทัต ปราโมทย์ พึ่งสุนทร ร.ต.อ.เชื้อ สุวรรณศร ทองเย็น หลีละเมียร และอดีต ส.ส.ที่เข้าร่วม เช่น จารุบุตร เรืองสุวรรณ เยื้อน พานิชวิทย์ ชิต เวชประสิทธิ์ วิรัช พึ่งสุนทร กระจ่าง ตุลารักษ์ และไสว สุทธิพิทักษ์ เป็นต้น [9]

กลุ่มทหารบกเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ได้รับการชักชวนให้เข้าร่วม บุคคลสำคัญที่เข้าร่วม ได้แก่ พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต ซึ่งถูกข้อหาว่าเข้าร่วมในกบฎเสนาธิการ แต่ได้รับการปล่อยตัวมาแล้ว พ.อ.ทาน วิชัยขัทคะ ผู้ก่อการคณะราษฎรและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีข่าวออกมาว่าพล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 1 จะให้การสนับสนุน เพราะพล.ต.สฤษดิ์ไม่พอใจต่อบทบาทของพล.ต.ต.เผ่า ศรียานนท์ และยังเป็นที่ทราบกันดีว่าพล.ต.สฤษดิ์นั้นเป็นเพื่อนสนิทของพล.ต.เนตร เขมะโยธิน ด้วย ข่าวนี้จึงทำให้ผู้ร่วม ก่อการมั่นใจในชัยชนะมากขึ้น [10]

การลงมือการยึดอำนาจเริ่มหลังจากการเกิดกบฏเสนาธิการ ซึ่งปรีดี พนมยงค์ได้เล่าถึงสถานการณ์ในระยะแรกว่า ตนเองพักอยู่ที่สิงคโปร์เป็นเวลา 7 เดือน เพื่อรอคอยเวลาที่เหมาะสมในการกลับสู่ประเทศสยาม ซึ่งได้ทราบดีว่ามิตรสหายจำนวนหนึ่งกำลังเตรียมการต่อต้านรัฐบาลของคณะรัฐประหารอย่างลับ ๆ ซึ่งต้องใช้เวลาเตรียมการพอสมควร และหลังจากเมื่อเกิดกบฏเสนาธิการแล้ว คนที่หลบหนีการจับกุม ได้ส่งตัวแทนเข้าพบปรีดี เพื่อวางแผนก่อการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง โดยได้ตกลงกันว่าจะให้ปรีดีเป็นผู้นำการก่อการอีกครั้ง โดยร่วมมือกับเพื่อน ๆ ทหารเรือ นักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ผู้รักประชาธิปไตยและทหารตำรวจผู้รักชาติ รวมทั้งบรรดาแม่ทัพเรือ และนายพลคนหนึ่งซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าเสนาธิการกองทัพบกและถูกคณะรัฐประหารปลดออกจากตำแหน่ง[11]

เมื่อเตรียมการแล้ว ปรีดี พนมยงค์และคนสนิท เช่น ร.ต.อ.เฉียบ ชัยสงค์ ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวช ส.ต.ต.สิงห์โต ไทรย้อย ได้เดินทางจากกวางตุ้งพร้อมด้วยอาวุธจำนวนมากมาถึงประเทศไทยในราววันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 และได้จอดเรือที่บริเวณเกาะเสม็ด จากนั้นก็เดินทางไปยังศรีราชาเพื่อติดต่อประสานงานกับฝ่ายเสรีไทย ซึ่งผู้ที่เตรียมการยึดอำนาจในระยะนี้ โดยเฉพาะปรีดีได้อยู่ภายใต้การคุ้มครองของพล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ แห่งกรมนาวิกโยธิน และมีทวี ตะเวทิกุลเป็นผู้ช่วยประสานงาน [12]

เป้าหมายการก่อในครั้งนี้ ปรีดี พนมยงค์อธิบายว่าต้องการเข้ามาเพื่อเจรจา ซึ่งในที่นี้หมายถึงการเคลื่อนกำลังที่เหนือกว่าเข้าควบคุมสถานการณ์และเปิดการเจรจาให้จอมพลป.พิบูลสงครามกับฝ่ายคณะรัฐประหารยอมรับเงื่อนไขโดยสันติวิธี และต่อมามีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลจอมพลป.จะรู้ระแคะระคายเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว ดังนั้นจอมพลป.จึงได้ประกาศทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 ด้วยบทความที่มีชื่อว่า “ประเทศไทยจะมีจลาจลหรือไม่” และประกาศทางวิทยุในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ด้วยบทความที่มีชื่อว่า “สถานการณ์ของโลกเกี่ยวกับการจลาจลในประเทศเป็นอย่างไร” โดยการยกตัวอย่างเพื่อนบ้านเปรียบเทียบและเตือนฝ่ายตรงข้าม จากนั้นในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 รัฐบาลก็ประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ [13]

เมื่อถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 ฝ่ายของปรีดี พนมยงค์ ได้มีการวางแผนไว้เป็นอย่างดีพอสมควรและเป็นการวางแผนซ้อนแผน “ช้างดำ-ช้างน้ำ” ซึ่งเป็นแผนปราบจลาจลของฝ่ายรัฐบาล โดยหลักการที่วางแผนไว้ คือ ใช้แผนการยึดอำนาจแบบใต้ดิน วิธีปฏิบัติแบบสายฟ้าแลบ ยึดสถานที่สำคัญและจับกุมบุคคลสำคัญในทางราชการ ล้อมกองทัพทหารต่าง ๆ และ ทำการปลดอาวุธ ล้มรัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงครามแล้วตั้งรัฐบาลใหม่ ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับร่าง พ.ศ.2492 และนำรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2475 มาใช้แทน[14] ทั้งนี้เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2475 มิได้ห้ามข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งจะเป็นสิ่งจูงใจให้ฝ่ายทหารเรือเข้าร่วมมือกับคณะผู้ก่อการ

เหตุการณ์กบฎวังหลวง

ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 ปรีดี พนมยงค์และเสรีไทยได้ขนอาวุธขึ้นฝั่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองเมื่อเวลา 20.00น.เพื่อเตรียมกำลัง จากนั้นเวลา 21.05 น. กำลังส่วนหนึ่งนำโดย ไกร สติฐิตและแหลม ปาณัฐเสถียรเข้ายึดสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์พญาไทได้ และเริ่มประกาศแต่งตั้งรัฐบาลใหม่ดังนี้ คือ ดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ ผู้บัญชาการกองพลนาวิกโยธิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายทวี บุญยเกตุ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ส่วนกระทรวงอื่น ๆ ที่ไม่ได้ประกาศ ให้ปลัดกระทรวงรักษาการแทนทุกกระทรวง และได้แต่งตั้งกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยประกอบด้วย พล.ร.ท.สินธุ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นแม่ทัพใหญ่ พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต เป็นรองแม่ทัพใหญ่ พล.ต.เนตร เขมะโยธิน เป็นผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.ต.สังวร สุวรรณชีพ เป็นผู้รักษาความสงบทั่วไปและอธิบดีกรมตำรวจ และพ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข เป็นผู้บังคับการตำรวจสันติบาล [15]

พร้อมกันนั้นได้ออกคำสั่งปลดข้าราชการ 5 คน คือ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ผู้บัญชาการทหารบก พล.ท.กาจ กาจสงคราม รองผู้บัญชาการทหารบก พ.ต.ท.ละม้าย อุทยานนท์ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล พล.ต.ท.หลวงชาติ ตระการโกศล อธิบดีกรมตำรวจ และพล.ต.ต.เผ่า ศรียานนท์ รองอธิบดีกรมตำรวจ และย้ายหลวงอุตรดิษถาภิบาลจากข้าหลวงจังหวัดชลบุรีมาประจำกระทรวง และให้น.ท.ประดิษฐ์ พูนเกษ ผู้บังคับการกองพันนาวิกโยธินสัตหีบเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดแทน ทั้งยังสั่งห้ามเคลื่อนย้ายกำลังพลไม่ว่าในกรณี ใด ๆ นอกจากจะได้รับคำสั่งโดยตรงจากแม่ทัพใหญ่ จากนั้นหน่วยอื่น ๆ ก็ลงมือปฏิบัติการในสถานที่ต่าง ๆ เช่น ในพระบรมมหาราชวัง ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวช ได้นำทหารเรือและเสรีไทยส่วนหนึ่งเข้ายึดได้เมื่อเวลา 21.00 น. จากนั้นปรีดี พนมยงค์ ทวี ตะเวทิกุล พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต และกำลังส่วนอื่น ๆ ก็ได้เคลื่อนย้ายจากธรรมศาสตร์เข้ายึดพระบรมมหาราชวังและใช้เป็นศูนย์บัญชาการ [16]

จนถึงครึ่งวันแรกมีแนวโน้มที่ขบวนการ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 จะได้รับชัยชนะ เพราะบุคคลสำคัญทั้งของฝ่ายคณะรัฐประหารและฝ่ายรัฐบาลรวมตัวกันไม่ติดและติดต่อกันไม่ได้เลย ทั้งจอมพลป.พิบูลสงคราม พล.ท.ผิน ชุนหะวัณ พล.ท.กาจ กาจสงคราม พล.ต.หลวงสถิตยุทธการ พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และพล.ต.ไสว ไสวแสนยากรต่างก็อยู่กันคนละแห่ง แม้ว่าหลายคนจะเตรียมการต่อสู้ แต่ก็ไม่รู้ทิศทางไม่รู้ที่มั่นของฝ่ายยึดอำนาจและไม่ทราบสถานการณ์ที่เป็นจริง แต่ความคลาดเคลื่อนของฝ่ายปรีดีอยู่ที่ว่า กำลังนาวิกโยธินจากสัตหีบที่นำโดยพล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญและพล.ร.ต.สังวร สุวรรณชีพ ซึ่งจะต้องเป็นกำลังหลักเข้ายึดและควบคุมตามสถานที่สำคัญนั้นมาไม่ทันตามกำหนดนัดหมายที่จะต้องเข้าควบคุมสถานการณ์เสียตั้งแต่ระยะครึ่งคืนแรก เพราะเนื่องจากยกกำลังมาแล้วมาติดน้ำลงที่ท่าข้ามแม่น้ำบางปะกง [17] ต้องรอเวลาน้ำขึ้น ทำให้ข้ามฝั่งแม่น้ำมาได้ไม่ทันเวลา

ดังนั้น ตั้งแต่เวลา 23.00 น.ของวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 ฝ่ายรัฐบาลเริ่มติดต่อกันได้และตั้งตัวติด และได้ออกประกาศยืนยันว่ารัฐบาลเดิมยังคงบริหารประเทศอยู่ เมื่อประมาณเวลา 02.00 น.ของวันใหม่ และหลังจากที่พยายามเจรจากันระยะหนึ่ง พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้อำนวยการในการปราบปรามก็สั่งให้ล้อมพระบรมมหาราชวังและเริ่มโจมตีในเวลารุ่งสว่าง การสู้รบดำเนินอยู่ราว 2 ชั่วโมง ในที่สุดฝ่ายปรีดี พนมยงค์และร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวชต้องถอนกำลังออกจากพระบรมมหาราชวังในเวลาประมาณ 08.00 น.ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ [18] สถานการณ์ก็ยังมิได้ยุติลง เพราะนาวิกโยธินจากสัตหีบของฝ่ายผู้ก่อการนั้นเดินทางมาถึงพระนครในเวลาประมาณ 08.00น.ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นเวลาที่ฝ่ายรัฐบาลตั้งตัวได้แล้ว นาวิกโยธินจากสัตหีบจึงได้เข้าร่วมกับทหารเรือที่กองสัญญาณทำการสู้รบกับฝ่ายทหารบกที่แนวรบราชประสงค์ [19] การสู้รบโดยทั่วไปนั้น ทหารเรือยังเป็นฝ่ายได้เปรียบ

ต่อมาสถานการณ์เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากยุทธวิธีของฝ่ายรัฐบาลที่พยายามเลี่ยงความขัดแย้งกับทหารเรือ ในแถลงการณ์รัฐบาลที่ออกเผยแพร่ไม่มีฉบับใดเลยที่ระบุว่าทหารเรือก่อการกบฏหรือช่วยเหลือฝ่ายกบฏ เพียงแต่อธิบายสถานการณ์โดยใช้คำว่า “บุคคลแต่งตัวปลอมเป็นทหารเรือ” มาร่วมก่อการจลาจลที่พระบรมมหาราชวัง และพยายามอธิบายว่าการปะทะกันที่ราชประสงค์นั้นเป็นการเข้าใจผิดระหว่างทหารบกและทหารเรือ และต่อมาเวลา 09.00น.ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์เรื่อง ”ปรับความเข้าใจกับทหารเรือ” [20]

แนวโน้มของสถานการณ์จึงนำไปสู่การประนีประนอมระหว่างพล.ร.ท.สินธุ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือกับฝ่ายคณะรัฐประหาร โดยมีพล.ร.ต.หลวงสินธวาณัติก์เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงให้เกิดการหยุดยิง ซึ่งมีเงื่อนไขคือให้มีการกำหนดเวลาหยุดยิงระหว่างฝ่ายทหารบกและทหารเรือให้เร็วที่สุด จากนั้นก็ให้ทั้งสองฝ่ายถอนออกจากแนวรบ แม้ว่าจะมีการปะทะกันบ้างประปราย แต่ในท้ายที่สุดการสู้รบระหว่างฝ่ายทหารบกและทหารเรือก็ยุติลงในเวลาประมาณ 10.30 น.ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 และถือได้ว่าขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 ได้ล้มเหลวลง และผลที่เกิดขึ้นตามมา คือ มีผู้เสียชีวิตเป็นทหารบก 4 คน ทหารเรือ 3 คน และผู้เสียชีวิตเป็นประชาชนในเขตพญาไท 3 คน [21]

ส่วนปรีดี พนมยงค์ได้รับความช่วยเหลือจากฝ่ายทหารเรือ โดยพล.ร.ท.ผัน นาวาวิจิตจัดเรือยนต์บรรทุกเพื่อนในขบวนการข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังฟากธนบุรีโดยปลอดภัย ปรีดี พนมยงค์และร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวช ได้อาศัยอยู่ที่กองบัญชาการเรือรบจนถึงเวลาประมารณ 22.00 น. เมื่อพล.ร.ท.ผันเห็นว่าปลอดภัยแล้ว จึงสั่งให้น.ท.มนัส จารุภา และร.อ.โกวิท หงสะเกส นำเรือยนต์ไปส่งปรีดีและร.อ.วัชรชัยที่ท่าเรือคลองเตย [22]

ผลกระทบ

หลังจากความพยายามในการก่อการของฝ่ายปรีดี พนมยงค์ล้มเหลว ผลกระทบที่สำคัญยิ่งต่อกลุ่มนี้ คือ การถูกติดตามกวาดล้างและเข่นฆ่าอย่างรุนแรง นอกจากนี้คือการนำมาซึ่งการสิ้นสุดบทบาทของปรีดี พนมยงค์ และท้ายที่สุดนำไปสู่ระเบิดเวลาการสู้รบครั้งใหม่ระหว่างฝ่ายคณะรัฐประหารกับกองทัพเรือ เป้าหมายเบื้องต้นของฝ่ายรัฐบาล คือ การกวาดล้างฝ่ายพลเรือนของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งหลายคนในกลุ่มถูกจับตัวทันทีภายหลังจากที่เหตุการณ์นี้คลี่คลายลง การจับกุมในครั้งนี้มิได้คำนึงว่าบุคคลเหล่านั้นจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หรือไม่ บุคคลสำคัญที่ถูกจับกุมในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 ได้แก่ วิจิตร ลุลิตานนท์ เดือน บุนนาค ถวิล อุดล ชิต เวชประสิทธิ์ เยื้อน พานิชวิทย์ ประพัฒน์ วรรธนะสาร อุภัย พินธุโยธิน ส่วนทองอินทร์ ภูริพัฒน์และจำลอง ดาวเรืองถูกจับในขณะไปขอประกันตัวร.อ.ชลิต ชัยสิทธิเวช สำหรับทองเปลว ชลภูมิ ขณะนั้นลี้ภัยอยู่ที่ปีนังและต่อมาได้รับโทรเลขลวงว่าการยึดอำนาจชนะแล้วให้กลับพระนคร

แต่เมื่อเดินทางกลับมาถึงดอนเมืองก็ถูกจับทันที ส่วนทวี บุณยเกตุอยู่ปีนังเช่นกันก็ได้รับโทรเลขลวงด้วย แต่ว่าทวี บุณยเกตุอยู่นอกเมืองจึงมาขึ้นเครื่องบินไม่ทันจึงรอดพ้นจากการถูกจับกุม และฝ่ายรัฐบาลได้มีการออกหมายจับอีก 18 คน ในจำนวนนั้นมีบุคคลสำคัญ ได้แก่ ปรีดี พนมยงค์ ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวช ร.ต.อ.เชื้อ สุวรรณศร ทวี ตะเวทิกุล ประสิทธิ์ ลุลิตานนท์ เป็นต้น [23]

การปราบปรามที่ร้ายแรงที่สุดของรัฐบาลคือ การสังหารพ.ต.โผน อินทรทัต ซึ่งถูกตำรวจยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์ ต่อมาพ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุขซึ่งมิได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก็ถูกตำรวจสังหารที่บ้าน และต่อมาในวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2492 อดีตรัฐมนตรี 4 คน คือ ถวิล อุดล จำลอง ดาวเรือง ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และทองเปลว ชลภูมิถูกตำรวจสังหารที่บางเขน โดยตำรวจออกข่าวว่ามีโจรมลายูชิงตัวผู้ต้องหาระหว่างทาง ส่วนทวี ตะเวทิกุลถูกตำรวจยิงเสียชีวิตหน้าวัด ธรรมนิมิตร จังหวัดสมุทรสาคร[24]

ผลจากการก่อการนี้ ดิเรก ชัยนาม ซึ่งถูกประกาศให้เป็นนายกรัฐมนตรีของฝ่ายกบฎร้อนตัวเกรงว่าจะต้องประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับเพื่อน จึงได้ปรารภอย่างหวาดหวั่นต่อผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารของจีน ซึ่งต่อมาได้นำเรื่องดังกล่าวไปแจ้งต่อเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยเพื่อจะได้ช่วยคุ้มครอง[25] ต่อมาดิเรก ชัยนามได้พบและทำความเข้าใจเป็นการส่วนตัวกับจอมพลป.พิบูลสงคราม ส่วนพล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ถูกขังเพียงไม่นานก็ถูกปล่อยตัว การประนีประนอมกับดิเรก ชัยนามและพล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นไปได้ว่าเพื่อลดกระแสต่อต้านรัฐบาลและโดดเดี่ยวปรีดี พนมยงค์ให้มากที่สุด อันเป็นการป้องกันมิให้บุคคลเหล่านี้กลับไปร่วมมือกับปรีดีอีก ส่วนฝ่ายเสรีไทยได้กลายเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้และถูกนำตัวขึ้นฟ้องศาลจำนวน 24 คน[26]

บุคคลที่ได้รับผลร้ายอย่างยิ่งต่อการพ่ายแพ้ครั้งนี้ คือ ปรีดี พนมยงค์ เพราะทำให้ปรีดีไม่มีโอกาสกลับมามีบทบาททางการเมืองในประเทศไทยอีกเลย หลังจากการพ่ายแพ้ครั้งนี้ ปรีดีได้หลบอยู่ในประเทศไทยจนถึงวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2492 และลอบเดินทางไปยังประเทศจีน[27] หลังจากนั้นก็ลี้ภัยอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่นานถึง 21 ปี และเดินทางไปลี้ภัยต่อที่ประเทศฝรั่งเศสจนถึงแก่กรรม รวมเวลาที่ลี้ภัยนานถึง 34 ปี

สิ่งที่ตามมาจากความพ่ายแพ้ครั้งนี้ คือ การสลายตัวอย่างสิ้นเชิงของคณะราษฎรสายพลเรือนและการสลายตัวของเสรีไทยซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายพลเรือนที่เข้มแข็งที่สุดภายหลังพ.ศ.2475 ทำให้พลังฝ่ายพลเรือนที่จะถ่วงอำนาจฝ่ายทหารนั้นหมดไป และหลังจากนั้นคณะราษฎรสายพลเรือนก็กระจัดกระจายไป และยังถือเป็นจุดสุดท้ายของเสรีไทยด้วย กล่าวคือ เนื่องจากการหมดโอกาสที่จะกลับประเทศไทยของปรีดี พนมยงค์ ทำให้ขบวนการเสรีไทยขาดผู้นำที่มีบารมีที่จะเป็นศูนย์กลางการเคลื่อนไหวต่อไปอีก กลุ่มต่าง ๆ ที่เคยเกาะกลุ่มอยู่ภายใต้ขบวนการเสรีไทยได้แตกกระจายออกไปเคลื่อนไหวในวิถีทางของตนซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวมากขึ้น แม้ว่าแต่ละกลุ่มยังคงมีความพยายามเคลื่อนไหวที่จะต่อต้านจอมพล ป. พิบูลสงครามต่อไปอีก แต่การเคลื่อนไหวของพวกเขาเหล่านั้นจะมีลักษณะโดดเดี่ยวเป็นกลุ่มย่อย และค่อย ๆ ถูกคณะรัฐประหารกำจัดออกจากวิถีทางการเมืองจากนั้นอีกไม่นานนัก

เอกสารอ้างอิง

กนต์ธีร์ ศุภมงคล. การวิเทโศบายของไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2537.

ประทีป สายเสน. กบฏวังหลวงกับสถานะของปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อักษรสาส์น, 2532.

ปรีดี พนมยงค์. จำนง ภควรวุฒิ และพรทิพย์ โตใหญ่ (แปล). ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เทียนวรรณ, 2529.

ปรีดี พนมยงค์. “ระลึกถึงนาวาตรีมนัส จารุภา ร.น.,” ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ นาวาตรีมนัส จารุภา. กรุงเทพฯ: จงเจริญการพิมพ์, 2517.

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2550.

สุเพ็ญ ศิริคูณ. “กบฎวังหลวง (26 กุมภาพันธ์ 2492)” วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2518.

หนังสือแนะนำ

1.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2550.

2.ประทีป สายเสน. กบฏวังหลวงกับสถานะของปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อักษรสาส์น, 2532.

3.หนังสือเรื่องแผนชิงชาติไทยของสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และหนังสือเรื่องกบฎวังหลวงกับสถานะของปรีดี พนมยงค์ ได้อธิบายถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ที่นำไปสู่การเคลื่อนไหวหรือสภาพการณ์ทางการเมืองก่อนเกิดเหตุการณ์กบฎวังหลวง ตลอดจนอธิบายถึงการดำเนินการของคณะผู้ก่อการ และผลกระทบทางด้านการเมืองภายหลังการเกิดกบฎวังหลวง

อ้างอิง

  1. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2550), หน้า 166.
  2. เรื่องเดียวกัน, หน้า 166-167.
  3. เรื่องเดียวกัน, หน้า 167.
  4. เรื่องเดียวกัน, หน้า 173.
  5. เรื่องเดียวกัน, หน้า 174-175 .
  6. เรื่องเดียวกัน, หน้า 175-176.
  7. ประทีป สายเสน, กบฏวังหลวงกับสถานะของปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อักษรสาส์น, 2532), หน้า 65,71.
  8. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย, หน้า 182.
  9. เรื่องเดียวกัน, หน้า 182-183.
  10. เรื่องเดียวกัน, หน้า 183.
  11. ปรีดี พนมยงค์, จำนง ภควรวุฒิ และพรทิพย์ โตใหญ่ (แปล), ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เทียนวรรณ, 2529), หน้า 107,112.
  12. ประทีป สายเสน, กบฏวังหลวงกับสถานะของปรีดี พนมยงค์, หน้า 65-69
  13. เรื่องเดียวกัน, หน้า 74-77.
  14. สุเพ็ญ ศิริคูณ, “กบฎวังหลวง (26 กุมภาพันธ์ 2492)” (วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2518), หน้า 56.
  15. เรื่องเดียวกัน,หน้า 58.
  16. เรื่องเดียวกัน, หน้า 58-59.
  17. ประทีป สายเสน, กบฏวังหลวงกับสถานะของปรีดี พนมยงค์ , หน้า 80-81.
  18. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย, หน้า 189.
  19. สุเพ็ญ ศิริคูณ, กบฎวังหลวง (26 กุมภาพันธ์ 2492), หน้า 60. และสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย, หน้า 189
  20. สุเพ็ญ ศิริคูณ, กบฎวังหลวง (26 กุมภาพันธ์ 2492), หน้า 65-66.
  21. ประทีป สายเสน, กบฏวังหลวงกับสถานะของปรีดี พนมยงค์ , หน้า 112.
  22. ปรีดี พนมยงค์, “ระลึกถึงนาวาตรีมนัส จารุภา ร.น.,” ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ นาวาตรีมนัส จารุภา (กรุงเทพฯ: จงเจริญการพิมพ์, 2517), หน้า 3.
  23. ปรีดี พนมยงค์, จำนง ภควรวุฒิ และพรทิพย์ โตใหญ่ (แปล), ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน, หน้า 121. สุเพ็ญ ศิริคูณ, กบฎวังหลวง (26 กุมภาพันธ์ 2492) ,หน้า 80-81. และ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย, หน้า 191-192.
  24. ปรีดี พนมยงค์, จำนง ภควรวุฒิ และพรทิพย์ โตใหญ่ (แปล), ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน, หน้า 122. และ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย, หน้า 192.
  25. กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทย (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2537), หน้า 345.
  26. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย, หน้า 193-194.
  27. ปรีดี พนมยงค์, จำนง ภควรวุฒิ และพรทิพย์ โตใหญ่ (แปล), ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน, หน้า 125-137.