ผลต่างระหว่างรุ่นของ "เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
สร้างหน้าด้วย " '''ผู้เรียบเรียง''' วิจิตรา ประยูรวงษ์ '''ผู้ทรงคุณวุฒิประ..."
 
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
บรรทัดที่ 110: บรรทัดที่ 110:
*คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี คณะที่ 41 พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา รายงานการประชุมรัฐสภา ครั้งที่ 2/2522 (สมัยสามัญ) วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2522 หน้า 13–33.  
*คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี คณะที่ 41 พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา รายงานการประชุมรัฐสภา ครั้งที่ 2/2522 (สมัยสามัญ) วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2522 หน้า 13–33.  


นายกรัฐมนตรี
[[Category:นายกรัฐมนตรี]]

รุ่นแก้ไขเมื่อ 09:56, 9 มิถุนายน 2560

ผู้เรียบเรียง วิจิตรา ประยูรวงษ์

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง


พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 15 เจ้าของฉายา อินทรีบางเขน เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากมติของคณะปฏิวัติในปี พ.ศ. 2521 ภายใต้การนำของพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บ้านเมืองวิกฤติ เกิดความแตกแยกแบ่งเป็นฝักฝ่าย พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ถือได้ว่าเป็นผู้ที่สามารถประสานประโยชน์และสร้างความสมานฉันท์ให้บ้านเมือง เนื่องจากท่านมีนโยบายที่ประนีประนอมทุกฝ่าย ดังวลีที่ท่านได้กล่าวว่า เราไม่มีเวลาทะเลาะกันอีกแล้ว [1]

ประวัติ

พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ หรือนามเดิมสมจิตร ชมะนันทน์ เกิดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2460 ที่ตำบลมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เป็นบุตรคนที่ 5 ของนายแจ่มกับนางเจือ ชมะนันทน์ สมรสกับคุณหญิงวิรัตน์ ชมะนันทน์ มีบุตรธิดารวม 2 คน

การศึกษา พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เริ่มการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย จากนั้นเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนปทุมคงคาจนจบชั้นมัธยมศึกษา แล้วเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จนสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ.2483 ในระหว่างรับราชการทหารได้ศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก โรงเรียนเสนาธิการทหารบกแห่งสหรัฐอเมริกา วิทยาลัยกองทัพบกและวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่น 5

การรับราชการ ในปี พ.ศ. 2484 พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ รับราชการเป็นผู้บังคับหมวด กองพันทหารราบที่ 26 ก่อนจะย้ายไปเป็นผู้บังคับกองร้อยที่ 4 กองพันทหารราบที่ 26 ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ช่วงเวลาเดียวกันยังรับหน้าที่เป็นผู้บังคับกองร้อยที่ 1 กองพันทหารราบที่ 33 จนกระทั่งติดยศร้อยเอกในปี พ.ศ. 2486 จากนั้น ย้ายมาประจำที่ฝ่ายเสนาธิการกองทัพภาคที่ 3 ก่อนจะได้เป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการ กองทัพภาคที่ 3 ถึงปี พ.ศ. 2495 ดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพันทหารราบกรมผสมที่ 20 และไปร่วมรบในสมรภูมิเกาหลีรุ่นแรก ในตำแหน่งผู้บังคับกองพันทหารราบ ผลัดที่ 3 สร้างเกียรติภูมิอย่างมาก จนหน่วยที่บังคับบัญชาได้ฉายาว่า “กองพันพยัคฆ์น้อย”

เมื่อกลับมาย้ายไปสายวิชาการ เป็นหัวหน้าภาควิชายุทธการโรงเรียนเสนาธิการทหารบกโดยติดยศพันเอกในปี พ.ศ. 2499 ต่อมาได้เข้าทำงานที่สำนักงานวางแผนทหารของสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียอาคเนย์ หรือ ส.ป.อ. จนได้เป็นหัวหน้ากองการทหารของสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียอาคเนย์ในปี พ.ศ. 2502 ถึงปี พ.ศ. 2506 ย้ายมาดำรงตำแหน่งรองเสนาธิการกองอำนวยการกลาง สำนักงานผู้บัญชาการทหารสูงสุด ระหว่างนั้นได้ไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกสหรัฐอเมริกา

ต่อมาได้รับการเลื่อนยศเป็นพลเอกเมื่อปีพ.ศ. 2516 ในตำแหน่งรองเสนาธิการทหารบก จากนั้นในปี พ.ศ. 2517 ก็ขึ้นดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ต่อด้วยผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในที่สุดขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2520 จนเกษียณอายุราชการ[2]

ช่วงเวลาที่รับราชการ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองอยู่เกือบตลอดเวลา โดยเป็นสมาชิกวุฒิสภา เมื่อปี พ.ศ. 2511 และสมาชิกสภานิติบัญญัติ เมื่อปี พ.ศ. 2515 ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 ช่วงรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร มีตำแหน่งเป็นเลขาธิการสภาที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

สมัยที่ 1 (11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 – 21 ธันวาคม พ.ศ. 2521)

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์นั้น สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์รัฐประหารในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 โดยคณะปฏิวัติภายใต้การนำของพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร และได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 จากนั้นในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 จึงได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2520 เป็นการชั่วคราว และได้จัดตั้งสภานโยบายแห่งชาติขึ้น จากนั้นได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 15 ของประเทศเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 โดยมีพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และยังได้รับการสนับสนุนจากคณะทหารหนุ่ม หรือกลุ่ม “ยังเติร์ก”[3] ทั้งนี้ ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรพุทธศักราช 2520 ได้ประกาศนโยบายหลักในการปกครองประเทศที่สำคัญ คือ ให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2521 เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปอย่างช้าที่สุดภายในเดือนเมษายน พ.ศ. 2522[4]

หลังจากรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเวลากว่า 1 ปี รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ สมัยแรก ก็สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2521 ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐบาลคณะปฏิวัติประกาศว่า จะให้มีการร่างรัฐธรรมนูญ และให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว แต่สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลได้แสดงให้เห็นถึงการสืบทอดอำนาจของฝ่ายทหารจนกระทั่งได้ฉายาว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ[5] และกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป (ครั้งที่ 12) เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2522

สมัยที่ 2 (12 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 – 3 มีนาคม พ.ศ. 2523)

ภายหลังการเลือกตั้ง ก็มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 โดยมีพลอากาศเอกหะริน หงสกุล ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

การบริหารประเทศของรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ตั้งแต่สมัยที่ 1 ต่อเนื่องมาถึงสมัยที่ 2 ต้องประสบปัญหามากมายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญมาก การผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ทำให้ต้องขึ้นราคาน้ำมันภายในประเทศ ส่งผลเป็นลูกโซ่ ให้มีการปรับขึ้นราคาค่าไฟฟ้าและน้ำประปา สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชน รัฐบาลจึงถูกมองว่าไม่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง มีความเคลื่อนไหวจากกลุ่มพลังนอกสภากดดันรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็โจมตีรัฐบาลอย่างหนัก โดยการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2522 มุ่งประเด็นความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ในที่สุดด้วยเสียงที่มากกว่า รัฐบาลจึงได้รับความไว้วางใจให้บริหารประเทศต่อไปได้[6]

จากวิกฤติการณ์ดังกล่าว พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พยายามประคับประคองสถานะของรัฐบาลอย่างสุดความสามารถ โดยการปรับคณะรัฐมนตรีอีกหลายครั้งแต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาหลักคือเรื่องเศรษฐกิจได้ และเมื่อมีการปรับขึ้นราคาน้ำมันในปี พ.ศ. 2523 นำมาซึ่งการประท้วงอย่างกว้างขวาง เพราะมีการมองว่ารัฐบาลผลักภาระของบริษัทน้ำมันมาให้ประชาชนแบกรับ มีการจัดชุมนุมครั้งใหญ่ที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 มีประชาชนเข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก ขณะที่ในสภาฯ ผู้นำพรรคการเมืองที่ประกอบด้วย หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม พลตรีประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทย พันเอก (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย และพันเอกพล เริงประเสริฐวิทย์ หัวหน้าพรรคสยามประชาธิปไตย ได้ร่วมกันยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 137 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ต่อพลอากาศเอกหะริน หงสกุล ประธานรัฐสภา โดยมี ส.ส. ลงชื่อรับรองจำนวน 204 คน เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 โดยกำหนดการอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2523 [7]

ต่อมาได้มีพระบรมราชโองการประกาศพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา สมัยที่สอง พ.ศ. 2523 ในวันศุกร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้แถลงชี้แจงถึงปัญหาที่ผ่านมา ตลอดจนปัญหาต่างๆ ที่รัฐบาลต้องประสบจนยากที่จะบริหารงานของประเทศให้บรรลุสู่เป้าหมายได้ และได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงท้ายของการชี้แจงดังกล่าว ความว่า

“…การขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและรัฐสภาไม่เป็นสิ่งที่ดี และเชื่อว่าไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนปรารถนา ประชาชนบางส่วนที่อยู่ในชนบทไม่สนใจว่าใครจะมาบริหารประเทศ ขอให้ท้องอิ่มก็แล้วกันแต่ความขัดแย้งก่อเกิดเพิ่มขึ้นทับทวี จนยากที่รัฐบาลจะบริหารงานของชาติให้บรรลุสู่เป้าหมายได้ ฉะนั้นเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยระบบรัฐสภา กระผมจึงได้ตัดสินใจดังนี้ กระผมขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ระบบรัฐสภาของประชาธิปไตยดำรงอยู่ตลอดไป ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ท่านเลือกบุคคลที่มีความสามารถดีกว่า เข้ามาบริหารประเทศและรับใช้ประชาชนและประเทศชาติต่อไป ขอบพระคุณ”[8]

หลังจากการแถลงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์เสร็จสิ้น สมาชิกรัฐสภาพร้อมใจกันปรบมือให้เกียรติดังลั่นไปทั้งห้องประชุมสภา การตัดสินใจของท่านนั้นได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญเป็นอย่างสูงจากบุคคลต่างๆ อาทิเช่น พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้กล่าวว่า “พลเอกเกรียงศักดิ์ ได้แสดงสปิริตออกมาเป็นที่น่ายกย่อง ไม่คาดมาก่อนว่าจะแก้ปัญหาด้วยการลาออก แต่ก็เหมาะสมดีแล้ว” หรือที่นายประสิทธิ์ ณรงค์เดช สมาชิกพรรคเสรีธรรม กล่าวว่า “เป็นตัวอย่างที่ดี ในชีวิตนักการเมืองของผม ถือว่าเป็นการตัดสินใจของลูกผู้ชาย ซึ่งจะเป็นพื้นฐานทางด้านประชาธิปไตย ผมนะปรบมือให้ไม่หยุดเลย”[9] นับว่าพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นสุภาพบุรุษทางการเมือง ไม่หวงอำนาจ แม้ว่าท่านจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการปฏิวัติ แต่ก็ลาออกตามวิถีทางประชาธิปไตย ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักการเมืองที่ควรยึดถือปฏิบัติ[10] รวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ 2 สมัย เป็นเวลา 2 ปี 4 เดือน

ผลงานที่สำคัญ

ถึงแม้ตลอดช่วงการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ทั้ง 2 สมัย จะไม่ราบรื่นเพราะปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า พลเอกเกรียงศักดิ์ ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ที่ทำให้ความแตกแยกของประเทศลดน้อยลง มีการดำเนินการทางการเมืองที่จะประสานความสามัคคีของคนในชาติ ด้วยการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521 (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 95 ตอนที่ 97 ฉบับพิเศษ ลงวันที่ 16 กันยายน 2521)

จากพระราชบัญญัติฉบับนี้ ทำให้นิสิต นักศึกษา ปัญญาชน และประชาชนที่หลบหนีการกวาดล้างจากรัฐบาลก่อนเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย พากันกลับคืนสู่เมืองอีกครั้ง กลับมาหาพ่อแม่ ญาติพี่น้อง และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขในสังคมเช่นเดิม หลายคนกลับมาศึกษาต่อจนกลายเป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียง บางคนก็เป็นนักการเมือง ตลอดจนรัฐมนตรีบริหารบ้านเมืองนอกจากนี้ยังมีการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2520 (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 94 ตอนที่ 121 ฉบับพิเศษ ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2520)

แนวคิดการสร้างความสมานฉันท์ดังกล่าว ของรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นับว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง นับแต่นั้นเป็นต้นมาความแตกร้าวของผู้คนในสังคมไทยก็ค่อยๆ เจือจางลงไปตามกาลเวลา กลับมาสู่สังคมแห่งความสมานสามัคคีกันอีกครั้ง[11]

ส่วนผลงานด้านต่างประเทศ รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้ปรับปรุงนโยบายความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในอินโดจีน ได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม และได้เดินทางไปกระชับสัมพันธไมตรีกับ 2 ประเทศมหาอำนาจ คือ จีนและรัสเซีย ซึ่งประสบความสำเร็จกลับมา นับว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างยิ่ง เพราะทำให้อิทธิพลการแทรกซึมของลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศอ่อนกำลังลง ในรัฐบาลนี้มีการจัดตั้งหน่วยงานเพิ่มขึ้นคือ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นต้น

นอกจากนี้ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ยังมีฝีมือในการปรุงอาหารแบบที่ไม่มีใครเหมือนโดยเมนูที่มีชื่อเสียงคือ “แกงเขียวหวานใส่บรั่นดี” ซึ่งท่านมักจะทำในระหว่างออกเยี่ยมเยียนประชาชนในที่ต่างๆ อันเป็นสูตรของท่านเอง

บั้นปลายชีวิต

หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ยังคงอยู่ในแวดวงการเมืองอีกระยะหนึ่ง ด้วยการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด ต่อมาจัดตั้งและเป็นหัวหน้าพรรคชาติประชาธิปไตย และยังเคยถูกจับกุมข้อหาพัวพันการก่อความไม่สงบในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 แต่ต่อมาได้รับการนิรโทษกรรม

หลังจากวางมือทางการเมือง พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ประสบปัญหาทางสุขภาพ มีอาการเส้นโลหิตในสมองตีบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 จากนั้นก็รักษาตัวมาตลอด และเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2546 จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2546 รวมอายุ 86 ปี

อ้างอิง

  1. สมบูรณ์ คนฉลาด. บันทึกเหตุการณ์ทางการเมืองเมื่อสองนายพลเป็นนายกฯ : ปฏิวัติสามสมัย ตอน 2. ม.ป.ท. : โรงพิมพ์รวมการพิมพ์, 2524. หน้า 93.
  2. วีรชาติ ชุ่มสนิท. 24 นายกรัฐมนตรีไทย. กรุงเทพฯ : ออลบุ๊คส์พับลิชชิ่ง, 2549, หน้า 134-135.
  3. นรนิติ เศรษฐบุตร. เกิดมาเป็นนายก. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, 2538, หน้า 257-268.
  4. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520. ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 94 ตอนที่ 111 ฉบับพิเศษ, 9 พฤศจิกายน 2520,หน้า 1-14.
  5. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์. เรื่องเดียวกัน, หน้า 433-434.
  6. วีรชาติ ชุ่มสนิท. เรื่องเดียวกัน, หน้า 135-136.
  7. “ความเคลื่อนไหวเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล.” สยามจดหมายเหตุ บันทึกข่าวสารและเหตุการณ์. 5,9 (22-28 กุมภาพันธ์ 2523), หน้า 235-236.
  8. รายงานการประชุมรัฐสภา (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง) ครั้งที่ 1/2523 29 กุมภาพันธ์ 2523. หน้า 7-15.
  9. สมบูรณ์ คนฉลาด. เรื่องเดียวกัน, หน้า 605.
  10. โสภณ เพชรสว่าง และทนงศักดิ์ ม่วงมณี. ล้มรัฐบาล เลิกรัฐธรรมนูญ สืบทอดอำนาจเผด็จการทางการเมือง. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ทองกมล, 2551. หน้า 282.
  11. วีรชาติ ชุ่มสนิท. เรื่องเดียวกัน, หน้า 136-137.

แนะนำหนังสือให้อ่านต่อ

กนก วงษ์ตระหง่าน. คู่มือการเมืองไทย 2475–2525 : ข้อมูลพื้นฐานทางการเมืองไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2526.

สมบัติ ธำรงธัญวงศ์. การเมืองการปกครองไทย : ยุคเผด็จการ-ยุคปฏิรูป. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : เสมาธรรม, 2549.

สมบูรณ์ คนฉลาด. บันทึกเหตุการณ์ทางการเมืองเมื่อสองนายพลเป็นนายกฯ : ปฏิวัติสามสมัย ตอน 2. ม.ป.ท. : โรงพิมพ์รวมการพิมพ์, 2524.

โสภณ เพชรสว่าง และทนงศักดิ์ ม่วงมณี. ล้มรัฐบาล เลิกรัฐธรรมนูญ สืบทอดอำนาจเผด็จการทางการเมือง. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ทองกมล, 2551.

บรรณานุกรม

กนก วงษ์ตระหง่าน. คู่มือการเมืองไทย 2475–2525 : ข้อมูลพื้นฐานทางการเมืองไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2526.

“ความเคลื่อนไหวเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล.” สยามจดหมายเหตุ บันทึกข่าวสารและเหตุการณ์. 5,9 (22-28 กุมภาพันธ์ 2523).

ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520. ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 94 ตอนที่ 111 ฉบับพิเศษ, 9 พฤศจิกายน 2520.

เธอร์มินาล วัน. “สิ้นเขียวหวานบรั่นดี เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เส้นโลหิตในสมองแตก”. ข่าวสด. 27 ธันวาคม 2546, หน้า 4.

นรนิติ เศรษฐบุตร. เกิดมาเป็นนายก. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, 2538.

“พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2520,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 94 ตอนที่ 121 ฉบับพิเศษ, 3 ธันวาคม 2520.

“พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 95 ตอนที่ 97 ฉบับพิเศษ ,16 กันยายน 2521.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521. ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 95 ตอนที่ 146 ฉบับพิเศษ, 22 ธันวาคม 2521.

รายงานการประชุมรัฐสภา (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง) ครั้งที่ 1/2523 29 กุมภาพันธ์ 2523.

วีรชาติ ชุ่มสนิท. 24 นายกรัฐมนตรีไทย. กรุงเทพฯ : ออลบุ๊คส์พับลิชชิ่ง, 2549.

สมบัติ ธำรงธัญวงศ์. การเมืองการปกครองไทย : ยุคเผด็จการ-ยุคปฏิรูป. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : เสมาธรรม, 2549.

สมบูรณ์ คนฉลาด. บันทึกเหตุการณ์ทางการเมืองเมื่อสองนายพลเป็นนายกฯ : ปฏิวัติสามสมัย ตอน 2. ม.ป.ท. : โรงพิมพ์รวมการพิมพ์, 2524.

โสภณ เพชรสว่าง และทนงศักดิ์ ม่วงมณี. ล้มรัฐบาล เลิกรัฐธรรมนูญ สืบทอดอำนาจเผด็จการทางการเมือง. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ทองกมล, 2551.

ดูเพิ่มเติม

  • คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี คณะที่ 40 พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รายงานการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 2 วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2520 หน้า 46–57 .
  • คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี คณะที่ 41 พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา รายงานการประชุมรัฐสภา ครั้งที่ 2/2522 (สมัยสามัญ) วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2522 หน้า 13–33.