ผลต่างระหว่างรุ่นของ "คึกฤทธิ์ ปราโมช"
สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง : ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ ผู้ทรงคุ..." |
ล Apirom ย้ายหน้า คึกฤทธิ์ ปราโมช (ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์) ไปยัง คึกฤทธิ์ ปราโมช โดยไม่สร้... |
(ไม่แตกต่าง)
|
รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 16:32, 6 พฤษภาคม 2563
ผู้เรียบเรียง : ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
คึกฤทธิ์ ปราโมช
ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์_ปราโมช นายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของประเทศไทย เป็นผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคกิจสังคม และหนังสือพิมพ์สยามรัฐ และเป็นนักเขียน ในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ทางองค์การยูเนสโกได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เป็นบุคคลสำคัญของโลก ใน 4 สาขา ได้แก่ การศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ในวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาล พ.ศ. 2554
ประวัติ
ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน พ.ศ.2454 ที่จังหวัดสิงห์บุรี เป็นโอรสคนสุดท้องของพลโท พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าคำรบกับหม่อมแดง ปราโมช ณ อยุธยา (สกุลเดิมบุนนาค) มีพี่น้องร่วมบิดามารดาคือ
หม่อมราชวงศ์หญิงบุญรับ พินิจชนคดี
หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช
หม่อมราชวงศ์หญิง อุไรวรรณ ปราโมช
หม่อมราชวงศ์ ถ้วนเท่านึก ปราโมช
หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์เริ่มต้นเรียนหนังสือที่บ้านกับหม่อมราชวงศ์หญิงบุญรับจนอ่านหนังสือภาษาไทยได้เมื่ออายุ 4 ขวบ เมื่อ พ.ศ.2458 ได้เข้าเรียนการศึกษาภาคบังคับที่โรงเรียนวัฒนา (โรงเรียนวังหลัง) และเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ 1 จนถึงมัธยมปีที่ 8 แต่ก่อนที่จะเรียนจบมัธยมปีที่ 8 ได้เดินทางไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ โดยศึกษาระดับมัธยมที่วิทยาลัยเทรนท์ ซึ่งเป็นโรงเรียนประเภทพับลิคสกูล เป็นเวลา 5 ปี จึงเข้าศึกษาต่อที่ควิ่นส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ได้รับปริญญาเกียรตินิยมในสาขาวิชาปรัชญา การเมืองและเศรษฐศาสตร์ (P.P.E.) ใน พ.ศ.2476 ซึ่งตามธรรมเนียมของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดผู้ที่ได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยมหลังจากจบการศึกษาไปแล้ว 3 ปี จะได้รับปริญญาโท M.A. Oxon โดย หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ได้ขอรับปริญญาโทใน พ.ศ.2525[1]
หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์สมรสกับหม่อมราชวงศ์หญิงพักตร์พริ้ง ทองใหญ่เมื่อ พ.ศ.2479 มีบุตรธิดา 2 คน คือหม่อมหลวงรองฤทธิ์ ปราโมชและหม่อมหลวงหญิงวิสุมิตรา ปราโมช
เหตุการณ์สำคัญ
หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมชเริ่มรับราชการครั้งแรกที่กองประเมิน กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง จากนั้นได้ทำหน้าที่เลขานุการนายเจมส์ แบกซ์เตอร์ ที่ปรึกษากระทรวงการคลัง เมื่อนายแบกซ์เตอร์พ้นจากหน้าที่ก็กลับไปรับราชการที่กรมสรรพากร
พ.ศ.2478 พระยาไชยยศสมบัติ อธิบดีกรมบัญชีกลางซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารสยามกัมมาจล (ธนาคารไทยพาณิชย์) ได้ชวนให้หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ลาออกจากราชการไปดำรงตำแหน่งผู้ช่วยสมุห์บัญชีที่สำนักงานกลาง ธนาคารสยามกัมมาจล และต่อมาได้เลื่อนเป็นผู้จัดการธนาคาร สาขาลำปางเป็นเวลา 8 ปี ซึ่งมีผลงานที่สำคัญคือทำให้คนไทยหันมาใช้เงินบาทแทนเงินรูปีของพม่า
พ.ศ.2486 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้ขอตัวหม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช จากธนาคารสยามกัมมาจลมาทำงานในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายสำนักผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์มีบทบาทในการพัฒนาระบบการเคลียร์เช็ค (Cheque Clearing) โดย จัดตั้งศูนย์กลางหักบัญชีหนี้สินระหว่างธนาคาร
หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช มีบทบาทในการก่อตั้งธนาคารใหม่ 2 ธนาคารคือในพ.ศ.2487 ได้ก่อตั้งธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ ซึ่งมีหม่อมราชวงศ์หญิงบุญรับ พินิจชนคดี พี่สาวดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ โดยหม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ได้ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการระหว่าง พ.ศ.2513-2524 และดำรงตำแหน่งประธานกรรมการในปี 2524 จนถึงอสัญกรรม ส่วนอีกธนาคารคือธนาคารแหลมทอง โดยก่อตั้งในพ.ศ.2491 เนื่องจากมีความคุ้นเคยกับตระกูลนันทาภิวัฒน์ [2]
งานการเมือง
หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นผู้ริเริ่มตั้งพรรคการเมืองพรรคแรกในประเทศไทยโดยร่วมกับนายสุวิชช_พันธเศรษฐ นายสอ_เสถบุตร พระยาสุรพันธเสนี ดร.โชติ_คุ้มพันธ์ และหม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล_นวรัตน์ ก่อตั้งพรรคก้าวหน้าเมื่อ พ.ศ.2488 และลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดพระนคร เขต 9 ในการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2489 ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการวิสามัญพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489
ต่อมาได้มีการยุบพรรคก้าวหน้าเพื่อรวมกับกลุ่มการเมืองอื่นๆเพื่อจัดตั้งพรรคประชาธิปัตย์ใน พ.ศ.2489โดยมีนายควง_อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นรองหัวหน้าพรรคและหม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมชเป็นเลขาธิการพรรค[3]
หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อนายควง อภัยวงศ์ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2490 และเมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 29_มกราคมพ.ศ.2491 หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ได้รับการเลือกตั้งและได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง อย่างไรก็ตามได้ลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2491 เพราะไม่เห็นด้วยกับการขึ้นเงินเดือนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในคณะรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม (30 พฤศจิกายน พ.ศ.2491- 1 มกราคม พ.ศ.2492)
เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ทำการรัฐประหารใน พ.ศ.2500 หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (พ.ศ.2502-2511)
ภายหลังเหตุการณ์ 14_ตุลาคม_พ.ศ._2516ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติและต่อมาได้รับการเลือกให้เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ.2516-2517 เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 ประกาศใช้ หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ได้จัดตั้งพรรคกิจสังคมโดยดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคในพ.ศ.2517
หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมชลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2518 ในเขตเลือกตั้งที่ 1 กรุงเทพมหานคร ผลการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนมากเป็นอันดับหนึ่ง 72 เสียง จึงได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่มีเสียงน้อยกว่ากึ่งหนึ่งในสภา แม้จะได้พรรคการเมืองอื่นมาร่วมรัฐบาลแต่ก็ยังมีเสียงน้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ทำให้เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยและไม่ได้รับความไว้วางใจในวาระแรกที่แถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร ทำให้รัฐบาลพ้นจากตำแหน่ง และหม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคมที่มีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรเพียง 18 เสียง ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2518[4]
ในช่วงเวลาที่หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมชดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีผลงานที่สำคัญเช่น การเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2518 ความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล มีการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ2519 โดยนายกรัฐมนตรีได้ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและสับเปลี่ยนรัฐมนตรีอื่นๆหลายตำแหน่ง แต่ปัญหาทางการเมืองก็มิได้ลดลง พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นพรรคฝ่ายค้านได้ขอเปิดประชุมวิสามัญและขอยื่นญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจรัฐบาล หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมชจึงตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2519[5]
ในการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2519 หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมชลงเลือกตั้งอีกครั้ง แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับการเลือกตั้ง ว่ากันว่าเป็นสงครามสั่งสอนของ พลเอก กฤษณ์ สีวะรา โดยทหารในเขตดุสิตได้ลงคะแนนให้กับพรรคประชาธิปัตย์ [6]
หลังการรัฐประหารใน พ.ศ.2519 โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2521 ประกาศใช้หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีก 2 สมัย คือในการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2522 และ18 เมษายน พ.ศ.2526
วันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2529 หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคกิจสังคม และไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปพ.ศ.2529 เป็นการยุติบทบาททางการเมืองในรัฐสภา อย่างไรก็ตามในวันที่ 2 กันยายน พ.ศ.2533 กลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคกิจสังคม ชั่วคราวและลาออกในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2534
งานอื่นๆ
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ยังมีผลงานในการเป็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์
ในระหว่างที่ศึกษาในประเทศอังกฤษได้ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการหนังสือสามัคคีสารซึ่งเป็นหนังสือของนักเรียนไทยในประเทศอังกฤษ เมื่อกลับมาถึงประเทศไทยได้เขียนบทความภาษาอังกฤษลงหนังสือพิมพ์ลิเบอร์ตี้ (Liberty) ซึ่งเป็นหนังสือในเครือศรีกรุงและไทยราษฎร์ ที่มีนายสอ เสถบุตรเป็นบรรณาธิการ ต่อมาเขียนบทความภาษาไทยลงหนังสือพิมพ์ศรีกรุงและหนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์
หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2493 โดยเป็นเจ้าของ ผู้อำนวยการและนักเขียนประจำ โดยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ได้อธิบายว่า “ด้วยความคิดว่าจะใช้หนังสือพิมพ์แสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างถูกต้อง ไม่เป็นพวกใครทั้งนั้น คือ แสดงความเห็นโดยสุจริต เป็นหนังสือพิมพ์ที่ถือหลักหนังสือพิมพ์ทุกประการ คือถือเอาความจริงเป็นใหญ่ ไม่ลงข่าวที่ไม่มีความจริง ไม่กำหนดข่าวขึ้นเอง ไม่ใช้อารมณ์ในการเขียนข่าว”[7]
ในบทบาทนักเขียน หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ได้เขียนนวนิยาย สี่แผ่นดิน ไผ่แดง กาเหว่าที่บางเพลง ซูสีไทเฮา สามก๊กฉบับนายทุน ราโชมอน ฮวนนั้ง โจโฉ นายกตลอดกาล รวมเรื่องสั้น เช่น มอม เพื่อนนอน หลายชีวิต หนังสือสารคดี เช่น ฉากญี่ปุ่น ยิว เจ้าโลก สงครามผิว คนของโลก ชมสวน ธรรมคดี น้ำพริก ฝรั่งศักดินา สรรพสัตว์ สัพเพเหระคดี ข้อคิดเรื่อง เกิด แก่ เจ็บ ตาย โครงกระดูกในตู้ พม่าเสียเมือง ถกเขมร เก็บเล็กผสมน้อย เบ้งเฮ็ก ผู้ถูกกลืนทั้งเป็น เมืองมายา เรื่องขำขัน กฤษฎาภินิหารอันบดบังมิได้ คนรักหมา ตลาดนัด นิกายเซน บันเทิงเริงรมย์ วัยรุ่น สงครามเย็น อโรคยา สยามเมืองยิ้ม ห้วงมหรรณพ รวมถึงบทละครเวทีเรื่อง ลูกคุณหลวงและราโชมอน
จากผลงานเขียนหม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ประจำปี พ.ศ.2528
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2538 ณ โรงพยาบาลสมิติเวช สิริรวมอายุ 84 ปี 5 เดือน 20 วัน
วันที่ 22-23 ตุลาคม พ.ศ.2552 องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศเกียรติคุณ ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นบุคคลสำคัญและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ในลำดับที่ 19 ของประเทศไทย โดยยกย่อง ด้านการศึกษา วัฒนธรรม สังคมและการสื่อสารมวลชน [8]
บรรณานุกรม
คึกฤทธิ์ ปราโมช, (2553), เกร็ดชีวิตคึกฤทธิ์ ปราโมช',' (กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า 2000) .
นรนิติ เศรษฐบุตร, วันการเมือง',' (กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า,2555).
บัญชร ชวาลศิลป์, กว่าจะเป็นนายพล (ก้าวที่ 2), (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน,2553).
ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2546).
หนังสือแนะนำ
คึกฤทธิ์ ปราโมช, (2553), เกร็ดชีวิตคึกฤทธิ์ ปราโมช',' กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า 2000.
ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, (2546),ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.
บรรณานุกรม
คึกฤทธิ์ ปราโมช, เกร็ดชีวิตคึกฤทธิ์ ปราโมช',' (กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า 2000, 2553),หน้า 11
ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2546), หน้า 36.
นรนิติ เศรษฐบุตร, วันการเมือง',' (กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า,2555), หน้า 83.
บัญชร ชวาลศิลป์, กว่าจะเป็นนายพล (ก้าวที่ 2), (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน,2553), หน้า 177.
ประชาไท , 'ยูเนสโกยกย่อง '“ครูเอื้อ-คึกฤทธิ์” บุคคลสำคัญของโลก, เข้าถึงจากhttp://prachatai.com/journal / 2009/10/26328, เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2559
อ้างอิง
[1] คึกฤทธิ์ ปราโมช, เกร็ดชีวิตคึกฤทธิ์ ปราโมช',' (กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า 2000, 2553),หน้า 11
[2] คึกฤทธิ์ ปราโมช, หน้า 12-13
[3] คึกฤทธิ์ ปราโมช, หน้า 14-15
[4] นรนิติ เศรษฐบุตร, วันการเมือง',' (กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า,2555), หน้า 83.
[5] นรนิติ เศรษฐบุตร,หน้า 26-27.
[6] บัญชร ชวาลศิลป์, กว่าจะเป็นนายพล (ก้าวที่ 2), (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน,2553), หน้า 177.
[7] ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2546), หน้า 36.
[8] ประชาไท , 'ยูเนสโกยกย่อง '“ครูเอื้อ-คึกฤทธิ์” บุคคลสำคัญของโลก, เข้าถึงจากhttp://prachatai.com/journal / 2009/10/26328, เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2559