RT Movement
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ
RT Movement หรือ Restart Thailand Movement เป็นชื่อเรียกกิจกรรมและการรณรงค์ทางการเมืองที่จัดขึ้นโดยกลุ่มบุคคลที่เรียกตัวเองว่า “คณะประชาชนปลดแอก” (Free People) ซึ่งก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในนาม “คณะเยาวชนปลดแอก (Free Youth)” โดยมีการประกาศเปิดตัว เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 โดยนำเสนออุดมการณ์ แบบสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ อย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา ทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบรับและข้อวิจารณ์ที่หลากหลาย ทั้งจากฝ่ายต่อต้านและฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล
ในภายหลัง RT Movement ไม่ได้ดำเนินการเคลื่อนไหวทางการเมืองเหมือนช่วงแรก แต่ได้เปลี่ยนชื่อเป็น REDEM Movement ซึ่งยังคงรักษาแนวทางของ RT Movement ไว้และมีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อมา
การประกาศเปิดตัว-แนวคิด
เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 บนหน้าเฟสบุ๊คเยาวชนปลดแอก - Free YOUTH ซึ่งเป็นช่องทางสื่อสารทางการเมืองของกลุ่ม ได้โพสต์ข้อความและรูปภาพ โดยระบุถึงการเปิดตัวแนวทางทางการเมืองของกลุ่ม โดยมีข้อความบางส่วนว่า “ประกาศเปิดตัว RT Movement - ทีมข้อเดียว นี่คือ MOVEMENT ครั้งใหม่ที่จะไม่มีอะไรเหมือนเดิม ปลุกสำนึกทางชนชั้นของแรงงานผู้ถูกกดขี่ ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเรียน พนักงานออฟฟิศ แม่บ้าน รปภ. นอกเครื่องแบบ ชาวนา ข้าราชการ ‘เราทุกคนล้วนเป็นแรงงานที่ถูกกดขี่’ ”และทิ้งท้ายว่า “มาร่วม RESTART THAILAND เพื่อสร้างสังคมที่ ‘คนเท่ากัน’ โปรดรอติดตามช่องทางที่จะใช้เพื่อทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้”[1] พร้อมแสดงภาพสัญลักษณ์ของ RT Movement ซึ่งเป็นรูปของตัวอักษรภาษาอังกฤษ R และ T สีขาว จัดวางไว้คู่กันบนพื้นหลังสีแดง ซึ่งมีข้อสังเกตว่าตัวอักษรทั้งสองถูกออกแบบมาให้มีลักษณะคล้ายกับสัญลักษณ์ค้อนเคียว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ อุดมการณ์สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ และหลังจากเผยแพร่โพสต์เปิดตัวไปไม่นานนัก ทางเพจก็ได้มีการเผยแพร่ข้อความ “แรงงานสร้างชาติ มิใช่มหาราชองค์ใด” ประกอบกับข้อความกล่าวถึงบทบาทความสำคัญ ของแรงงาน และความเดือดร้อนยากลำบากของแรงงานภายใต้การบริหารปกครองในปัจจุบัน โดยระบุถึงประเด็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในสังคม[2]

ภาพสัญลักษณ์จากโพสต์แนะนำตัว RT Movement
โดยในวันต่อมา แฟนเพจเยาวชนปลดแอกได้โพสต์เนื้อหาโดยขึ้นต้นว่า “แรงงานคืออะไร? เราคือแรงงานใช่หรือไม่?” เพื่อนำเสนอข้อมูลว่าการจำกัดนิยามคำว่า “แรงงาน” ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะอาชีพ เช่น เกษตรกร หรือกรรมกรก่อสร้างตามที่เข้าใจกัน โดยกล่าวรวมถึงบุคคลในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ เช่น แม่บ้าน พนักงาน อาจารย์ นักข่าว ฟรีแลนซ์ ว่าเป็นแรงงานโดยให้คำนิยามโดยรวมว่าเป็น “ผู้ไร้ปัจจัยการผลิต” ซึ่งไม่ใช่ “เศรษฐีเงินล้าน” “เสือนอนกิน ดอกเบี้ย/ค่าเช่า” และ “ไม่ใช่ผู้ร่ำรวยมหาศาล”[3]ข้อความยังกล่าวถึงปัญหาจาก “ทุนนิยมเผด็จการ” ซึ่งนำมาสู่ความไม่เท่าเทียมในสังคม ปัญหาการขูดรีดกดขี่ และทิ้งท้ายว่า “...สุดท้ายพวกเราก็ต่างเป็นผู้ถูกกดขี่ใช้แรงงาน 99% เมื่อรู้ตัวว่าถูกพันด้วยแอก ก็จงออกมาปลดแอกร่วมกันเถิด...”[4]
นอกจากนี้ ทางเพจเยาวชนปลดแอกยังเผยแพร่เนื้อหาที่เกี่ยวกับการต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองของขบวนการแรงงานในอดีตด้วย[5]และกล่าวถึงแนวคิดคอมมิวนิสต์อย่างตรงไปตรงมาในวันที่ 14 ธันวาคม 2564 โดยอธิบายถึงความจำเป็นที่จะต้องเคลื่อนไหวด้านการเมืองและเศรษฐกิจไปด้วยกัน พร้อมอธิบายถึงความเข้าใจผิดต่อแนวคิดเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ โดยชี้ว่าคอมมิวนิสต์ไม่มีความหมายเท่ากับเผด็จการ พร้อมกับอธิบายข้อเสียของทุนนิยมและแนวทางของเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมรวมทั้งกล่าวว่า “มันถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่เราควรจะจินตนาการไปให้ไกลกว่าระบบที่กดขี่เช่นนี้ และเชื่อว่าโลกใบใหม่เป็นไปได้”[6]
ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี เลขาธิการกลุ่มเยาวชนปลดแอกได้ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าว Voice ในวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ในหัวข้อที่เกี่ยวกับการรณรงค์ RT Movement ภายหลังจากได้รับปฏิกิริยาจากสังคมที่หลากหลาย ทัตเทพกล่าวว่าโครงการรณรงค์ใหม่นี้เป็นประชาธิปไตย เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อ “Restart” และ “Reset” ขนานใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาหลายประการเพื่อให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย โดยแนวทางที่ยึดถือคือสังคมนิยมประชาธิปไตย ทัตเทพให้ความเห็นว่าประชาธิปไตยแบบทุนนิยมนั้นไม่ใช่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ไม่สามารถทำให้ผู้คนมีเสรีภาพหรือความเสมอภาคกันได้อย่างแท้จริง ซึ่งสังคมนิยมประชาธิปไตยซึ่งให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รัฐสวัสดิการจะเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมอำนาจ เสรีภาพและการแสวงหาความสุขให้ตนเองของคนในสังคมไทยได้[7]ส่วนกรณีสัญลักษณ์ของ RT Movement นั้น ทัตเทพยอมรับว่าเป็นสัญลักษณ์ของค้อนและเคียว ซึ่งใช้เพื่อแสดงถึงผู้ใช้แรงงานและกลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคมที่ถูกกดขี่และสื่อถึงการเรียกร้องความเท่าเทียม ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางประชาธิปไตย[8]ทั้งนี้ ทัตเทพยังได้กล่าวถึงกรณีที่ได้เผยแพร่เนื้อหาเดี่ยวกับระบอบสาธารณรัฐก่อนการเปิดตัว RT Movement ว่าเป็นการให้ข้อมูลในสิ่งที่มีการพูดถึงในบริบทการเมืองร่วมสมัย ซึ่งเป็นแนวทางการเคลื่อนไหวตามปกติ[9]
การเปิดตัว RT Movement ไม่ใช่การนำเสนอแนวคิดสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ เป็นครั้งแรกในการเมืองไทยร่วมสมัยก่อนหน้านี้ใน ปี 2561 มีความพยายามจดทะเบียนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง นอกจากนั้นแนวคิดสังคมนิยม เช่น รัฐสวัสดิการ สังคมนิยมประชาธิปไตยไปจนถึงคอมมิวนิสม์นั้น ได้รับความสนใจในหมู่คนรุ่นใหม่ที่มีสัดส่วนมากในการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล พลเอกประยุทธ์_จันทร์โอชา รวมทั้งแวดวงวิชาการต่าง ๆ เช่น การเปิดตัวกลุ่มศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการและความเป็นธรรมศึกษา หรือ กลุ่มมาร์กซิสต์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผลสืบเนื่อง-ปฏิกิริยาของสังคมและกลุ่มการเมืองต่อ RT Movement
ภายหลังจากการประกาศเปิดตัวแคมเปญ RT Movement นำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในพื้นที่โซเชียลมีเดียทั้งจากฝ่ายผู้สนับสนุนการชุมนุมและฝ่ายตรงกันข้ามรวมถึงมีการแสดงความเห็นถึงในลักษณะสงวนท่าที
พริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลเช่นเดียวกับเยาวชนปลดแอกได้ประกาศบนแฟนเพจเฟซบุคว่าแนวทาง RT Movement เป็นแนวทางของกลุ่มเยาวชนปลดแอกไม่ใช่ความคิดของแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ไม่ใช่ความคิดของตน และไม่ใช่ “มติของราษฎร” โดยพริษฐ์กล่าวว่าการเสนอแนวคิดไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องพิจารณาถึงความสอดคล้องและเจตจำนงของผู้ร่วมเคลื่อนไหว อย่างไรก็ตาม พริษฐ์ได้ระบุในตอนท้ายถึงความจำเป็นของชนชั้นนำในการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง ให้เป็นการปฏิรูป ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะนำไปสู่การปฏิวัติในที่สุด[10] อานนท์ นำภา นักกิจกรรมทางการเมือง กล่าวว่าในขบวนการที่มีความหลากหลาย ย่อมมีสิทธิที่จะแสดงออกและสามารถถกเถียงกันได้ในระบอบประชาธิปไตย ทั้งยังกล่าวว่าเป็นเรื่องดีที่มีการเสนอแนวคิดใหม่ ๆ ให้เป็นที่รับรู้และพิจารณา[11] ในขณะที่ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ให้ความเห็นว่า “ไม่เป็นไร ต่างคนก็ต่างมีความหมายต่างกัน ใครอยากเป็นมหาชนรัฐ ใครอยากเป็นคอมมิวนิสต์ก็ไม่เป็นไร แต่ควรให้โอกาสเขาแสดงออก ดีกว่าให้เขาไปซ่องสุม”[12]
![]() |
![]() |
ตัวอย่างรูปภาพล้อเลียนสัญลักษณ์ของ RT Movement
ปฏิกิริยา
ปฏิกิริยาด้านลบต่อ RT Movement มีที่มาทั้งจากฝ่ายผู้ต่อต้านและฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่าฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลได้ตรวจสอบว่าเข้าข่ายการกระทำความผิดใดหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลจะ “ป้องปรามหยุดยั้ง” การกระทำนี้ ทั้งยังกล่าวว่าผู้ที่ทำผิดกฎหมายยุยงปลุกปั่นจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมทั้งระบุว่าเป็นไปไม่ได้ ที่ประเทศไทยจะเป็นสาธารณรัฐ[13]แต่ก็มีความเห็นบางส่วนไปในทางสนับสนุนการเคลื่อนไหวของฝ่ายผู้ชุมนุม เช่น อธิบายว่าสัญลักษณ์ของ RT Movement มีความกำกวม เปิดช่องให้ตีความได้ และไม่สามารถห้ามไม่ให้ตีความไปในทางตรงกันข้ามได้[14]อีกทั้งยังนำเสนอมุมมองว่าคอมมิวนิสต์ยังมีภาพลบต่อสังคมไทยในเรื่องเผด็จการและต่อต้านศาสนา[15]และมีอีกหลายความเห็นในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ทั้งที่สนับสนุนให้เคลื่อนไหวในประเด็นอื่น หรือแสดงความไม่เห็นด้วยเพราะว่าอาจเป็นเงื่อนไขให้ฝ่ายรัฐและฝ่ายตรงข้ามโจมตีได้ หรือไม่ควรนำเอาสัญลักษณ์ค้อนเคียวมาใช้เพราะจะ “ถูกผลักให้เป็นคอมมิวนิสต์”[16]
ส่วนฝ่ายตรงข้ามกลุ่ม RT Movement หันมาโจมตีการเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เช่น กล่าวโจมตีแสดงความเห็นถึงความย้อนแย้งของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลว่าแอบอ้างประชาธิปไตย แต่แท้จริงแล้วเป็นเผด็จการคอมมิวนิสต์ โดยมีการโพสต์รูปภาพล้อเลียนต่าง ๆ เช่น รูป พอล พต (Pol Pot) ผู้นำเขมรแดง ภาพการทำนารวม กล่าวเสียดสีว่านักศึกษาคนรุ่นใหม่ต้องการเป็นแบบเขมรแดงหรือลาว[17]นักวิเคราะห์ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลบางคนให้ความเห็นว่าขบวนการต่อต้านรัฐบาลกำลัง “ตีบตัน” และกระทำการขัดต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างชัดเจน ซึ่งทำให้รัฐมีความชอบธรรมที่จะจัดการกับขบวนการเคลื่อนไหวนี้[18]รวมไปถึงมีการกล่าวหาว่านักการเมืองบางคนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังแคมเปญนี้[19]
ปฏิกิริยาสนับสนุน
ถึงแม้ว่าการประกาศเปิดตัว RT Movement จะนำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งจากกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลและการถูกโจมตีจากฝ่ายตรงกันข้ามทางการเมือง แต่ RT Movement ยังคงได้รับการสนับสนุนจากบุคคลและองค์กรต่าง ๆ เช่น นักวิชาการ สื่อมวลชน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือผู้ใช้งานโลกออนไลน์ทั่วไป
นักวิชาการที่สนับสนุนแนวคิดรัฐสวัสดิการได้แสดงความเห็นว่าเศรษฐกิจแบบทุนนิยมนั้นล้มเหลวจำเป็นต้องแสวงหาระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ดีกว่า และ “ปลดแอกให้สุด แล้วปักหมุดแรกที่รัฐสวัสดิการ”[20]“ใบตองแห้ง” คอลัมน์นิสต์ชื่อดังเขียนบทความ “นิยมจีนกลัวค้อนเคียว” ชี้ให้เห็นความย้อนแย้งของกลุ่มคนที่หวาดกลัวแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์แต่ในขณะเดียวกันก็นิยมชื่นชมสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้ปกครองระบอบการเมืองและอธิบายว่าขบวนการ RT หรือผู้สนับสนุนไม่ได้ต้องการระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ แต่เป็นกระแสของโลกที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจกับแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย เพราะพวกเขาตกอยู่ในวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งเป็นผลมาจากแนวทางการตลาดและปกครองโลกตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ ขณะที่ผู้ชุมนุมที่เป็นคนรุ่นใหม่สนับสนุนแนวคิดรัฐสวัสดิการและเรียกร้องความเป็นธรรมในการพัฒนาประเทศที่สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ทั้งนี้ การคิดถึงหรือนำเสนอแนวคิดสังคมนิยมไม่ใช่ความผิด ถ้าไม่นำไปสู่ระบอบเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพที่เคยล้มเหลวมาแล้วในอดีตและไม่ปิดกั้นการแข่งขัน มีกติกาถ่วงดุล รักษาความเป็นธรรม และมีสวัสดิการรองรับ[21]
นักวิชาการบางคนชี้ว่า สาเหตุที่เกิดกระแสโต้กลับ RT Movement เกิดจากการขาดความเข้าใจ หรือความรับรู้ที่จำกัดเรื่องแนวคิด สังคมนิยม-คอมมิวนิสม์ เช่น การจับคู่ให้คอมมิวนิสม์เป็นสิ่งตรงกันข้ามกับประชาธิปไตย หรือการเลือกรับรู้ถึงประวัติศาสตร์-แนวคิดคอมมิวนิสม์ในช่วงเวลาเฉพาะเท่านั้น[22]
REDEM
ถึงแม้ RT Movement จะไม่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อภายหลังจากเดือนธันวาคม 2563 กลุ่มเยาวชนปลดแอกก็ได้ประกาศแคมเปญทางการเมืองใหม่โดยใช้ชื่อว่า “REDEM” ซึ่งย่อมาจาก Restart Democracy ขึ้นในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยในโพสต์เปิดตัวยังคงยืนยันแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตย โดยมีเป้าหมายการเคลื่อนไหว 3 ประการ ได้แก่
- จำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์
- ปลดแอกประชาธิปไตย โดยการขับไล่ทหารและกองทัพออกจากการเมือง
- รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์[23]
REDEM ได้มีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ยังมีบทบาทเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวชุมนุมต่อต้านรัฐบาลหลายครั้ง ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ซึ่งหลายครั้งที่การชุมนุมได้เผชิญกับการ วางกำลังและตอบโต้จากรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ อย่างหนักหน่วงทุกครั้ง
อ้างอิง
[1] เยาวชนปลดแอก - Free YOUTH, “ประกาศเปิดตัว RT Movement-ทีมข้อเดียวมูฟเมนต์,” Facebook, 7 ธันวาคม 2563, สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2564, https://www.facebook.com/FreeYOUTHth/posts/411520360297027.
[2] เยาวชนปลดแอก - Free YOUTH, “พระราชวัง เกิดจากน้ำมือของแรงงาน...,” Facebook, 7 ธันวาคม 2564, สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2564, https://www.facebook.com/FreeYOUTHth/posts/411551056960624.
[3] เยาวชนปลดแอก - Free YOUTH, “แรงงานคืออะไร? เราใช่แรงงานหรือไม่?, ” Facebook, 8 ธันวาคม 2563, สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2564, https://www.facebook.com/FreeYOUTHth/posts/412225473559849.
[4] อ้างแล้ว.
[5] “รู้หรือไม่? การที่เรามีวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ทุกวันนี้ มาจากการต่อสู้ของชนชั้นแรงงาน,” Facebook, 8 ธันวาคม 2563, สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2564, https://www.facebook.com/FreeYOUTHth/posts/412250880223975.
[6] “พรรคสีฟ้าไม่ใช่สนับสนุนประชาธิปไตยฉันท์ใด คอมมิวนิสต์ก็ไม่เท่ากับเผด็จการฉันท์นั้น…,” Facebook, 14 ธันวาคม 2563, สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2564, https://www.facebook.com/FreeYOUTHth/posts/416543396461390.
[7] VOICE TV, “Voice Go - คุยกับ ‘ฟอร์ด ทัตเทพ’ : RT ปลุกผู้ถูกกดขี่,” YouTube, เวลา….., 9 ธันวาคม 2563, สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2564, https://www.youtube.com/watch?v=9fbGw0ZFRsI.
[8] อ้างแล้ว, 2.40-3.30.
[9] อ้างแล้ว, 1.45-2.20.
[10] เพนกวิน - พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak, Facebook, 15 ธันวาคม 2563, สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2564, https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=915053055903301&id=213720212703259.
[11] “‘อานนท์’ ชี้ เป็นสิทธิ์ แนวคิด ‘คอมมิวนิสต์’ ไม่หวั่น ถูกแจ้งผิด ม.112,” ไทยรัฐออนไลน์, 16 ธันวาคม 2563, สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2564, https://www.thairath.co.th/news/politic/1996133.
[12] ปรัชญา นงนุช, “ประมวลการเคลื่อนไหว ‘คณะราษฎร’.”
[13] “นายกฯ ลั่นบ้านเมืองมีกฎหมายเป็นไปไม่ได้ไทยไม่ใช่สาธารณรัฐ,” workpointTODAY, 9 ธันวาคม 2563, สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2564, https://workpointtoday.com/politics-43/.
[14] Pravit Rochanaphruk, “สัญลักษณ์นี้กำกวม…,” Facebook, 8 ธันวาคม 2563, สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2564, https://www.facebook.com/pravit.rojanaphruk.5/posts/2969348063293025.
[15] “นักข่าวเทวดาเผยนักวิชาการอิตาเลี่ยนชี้ ‘ค้อนเคียว 3 นิ้ว’ นำไปสู่การกล่าวหาเป็นคอมมิวนิสต์ไม่เอาศาสนา,” ไทยโพสต์ 8 ธันวาคม 2563, สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2564, https://www.thaipost.net/main/detail/86262.
[16] ฟอร์ด เส้นทางสีแดง, Facebook, 8 ธันวาคม 2563, สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2564, https://www.facebook.com/red.truth.only/posts/3720133154714146.
[17] “นักวิชาการอิสระแซวเจ็บ! 3 นิ้วชอบทำนาตอนกลางวัน นอนสามัคคีตอนกลางคืนก็ไม่บอก,” ไทยโพสต์, 8 ธันวาคม 2563, สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2564, https://www.thaipost.net/main/detail/86248.
[18] สุรวิชช์ วีรวรรณ, “เมื่อคณะราษฎร จะชวนคนไทยเป็นคอมมิวนิสต์,” ผู้จัดการออนไลน์, 11 ธันวาคม 2563, สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2564, https://mgronline.com/daily/detail/9630000126636.
[19] “ดร.นิว แฉพิรุธ ปิยบุตรอยู่เบื้องหลังปลดแอกแปลงร่างเป็นเยาวชนคอมมิวนิสต์ #เฮียป๊อกอยู่เบื้องหลังหรือเปล่า?,” The Truth, 8 ธันวาคม 2563, สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2564, https://truthforyou.co/22321/?fbclid=IwAR0_dQKmi2W6wug-MJxSLwwyrRVrGfyPJrAUwEoSUrOQ9CrCRf9d_s7rtRk.
[20] Sustarum Thammaboosadee, “ทุนนิยมคือระบบที่อัปลักษณ์ล้มเหลว…,” Facebook, 14 ธันวาคม 2564, สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2564, https://www.facebook.com/sustarum.t/posts/3967581523266297.
[21] “ใบตองแห้ง,” “นิยมจีนกลัวค้อนเคียว,” ข่าวสดออนไลน์, 12 ธันวาคม 2563, สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2564, https://www.khaosod.co.th/politics/hot-topics/news_5512349.
[22] DemocracyXInnovation, “In Their Views Special! กับ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ,” YouTube, 2.25-8.05, 19 ธันวาคม 2563, สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2564, https://www.youtube.com/watch?v=dJ9hACM9TZs.
[23] เยาวชนปลดแอก - Free YOUTH, “เปิดตัว! REDEM - ประชาชนสร้างตัว,” Facebook, 24 กุมภาพันธ์ 2564, สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2564, https://www.facebook.com/FreeYOUTHth/posts/462270188555377/.