7 เมษายน พ.ศ. 2535

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2535 เป็นวันที่ พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบกที่เป็นแกนนำในการยึดอำนาจล้มรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และล้มรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ได้ลาออกจากตำแหน่งข้าราชการประจำ คือ ผู้บัญชาการทหารบก มาเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 19 ของประเทศมาเป็นข้าราชการการเมือง พลเอกสุจินดา คราประยูร ไม่ได้ลงเลือกตั้ง และไม่ได้ตั้งพรรคการเมือง แต่พรรคการเมืองและนักการเมืองจำนวนมากพอสมควร สนับสนุนให้เป็นหัวหน้ารัฐบาล นอกเหนือไปจากการสนับสนุนอย่างมากจากฝ่ายทหาร

อีก 10 วันต่อมา พลเอกสุจินดา คราประยูร ก็ตั้งคณะรัฐมนตรีที่มีพรรคการเมืองเข้าร่วมได้หลายพรรค แต่การประท้วงรัฐบาลก็ตามมา พรรคฝ่ายค้านและพลังต่างๆ ได้ร่วมมือกันจัดชุมนุมอภิปรายต่อต้านรัฐบาลโดยเน้นว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้นและเห็นว่าการที่พลเอกสุจินดา คราประยูร มาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องของการสืบทอดอำนาจของคณะทหารที่ยึดอำนาจ

การต่อต้านรัฐบาลที่เริ่มต้นตั้งแต่การเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พลเอกสุจินดา คราประยูร ได้ดำเนินต่อมาอย่างต่อเนื่อง จากการชุมนุมกันที่หน้ารัฐสภาได้ย้ายมาที่สนามหลวง และท้ายที่สุดตอนกลางเดือนพฤษภาคมก็ได้มาชุมนุมกันที่ถนนราชดำเนินกลางในเวลาเย็น วันที่ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐได้เข้าปราบปรามจับกุมผู้ชุมนุมได้เกิดขึ้นในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ทำให้มีการเผชิญหน้าของทั้ง 2 ฝ่ายที่ยืดเยื้อเป็นเวลา ถึง 4 วัน 4 คืน โดยเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “พฤษภาทมิฬ” ทางทหารได้จับตัวผู้ประท้วงที่มีนิสิต นักศึกษา ประชาชน และผู้นำสำคัญ คือ พลตรีจำลอง ศรีเมือง การปราบปรามของรัฐบาลครั้งนั้น มีประชาชนถูกอาวุธบาดเจ็บและเสียชีวิตด้วย

วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้พลเอกสุจินดา คราประยูร และพลตรีจำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้า หลังจากนั้นในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พลเอกสุจินดา คราประยูร ก็ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และได้ให้รองนายกรัฐมนตรี นายมีชัย ฤชุพันธ์ ปฏิบัติหน้าที่รักษาการณ์นายกรัฐมนตรีต่อมาจนกว่าจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่