25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 เป็นวันที่ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 22 ของประเทศ ที่จริง พลเอกชวลิต น่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี มาตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2539 แล้ว เพราะตอนนั้นเมื่อรัฐบาลเจอปัญหาหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจจากฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ทางพรรคร่วมรัฐบาลได้หารือกันเห็นควรให้นายกรัฐมนตรี บรรหาร ลาออก และเมื่อมีการหยั่งเสียงกันในกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลก็มีการเสนอชื่อ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี หากแต่นายกรัฐมนตรี บรรหาร ศิลปอาชา ได้ดำเนินการยุบสภาเสียแทนในวันที่ 27 กันยายน จนนำมาสู่การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539

พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ได้เข้ามาเล่นการเมืองโดยจัดตั้งพรรคความหวังใหม่หลังจากลาออกจากราชการในกองทัพ และก็ได้นำพรรคความหวังใหม่ลงสู่สนามเลือกตั้งมาตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกใน พ.ศ. 2435 หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 แต่ในการเลือกตั้งครั้งนั้นพรรคความหวังใหม่ได้คะแนนมาอยู่ในลำดับที่ 3 มีผู้แทนราษฎรจำนวน 72 คน กระนั้นเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองจนพลเอกสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี ที่ทางพรรคสามัคคีธรรมที่เป็นพรรคที่ได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งเสนอมาให้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็มีเสียงที่จะเสนอคนใหม่ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ 2 คน โดยคนแรกคือ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงส์ หัวหน้าพรรคชาติไทย ที่เป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากเป็นอันดับ 2 และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่ทางพรรคที่รวมกันค้านรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร เสนอ จนมีการกล่าวกันว่าถ้าเสนอให้ พล.อ.อ.สมบุญ เป็นตามที่มีเสียงข้างมากในสภาสนับสนุนประชาชนก็จะไม่พอใจ ถ้าเสนอให้ พลเอกชวลิต เป็นตามที่ประชาชนพอใจ ก็ไม่มีเสียงข้างมากในสภา และครั้งนั้นประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงได้เสนอชื่อ นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี

ครั้งนี้พรรคความหวังใหม่เมื่อได้คะแนนของพรรคมาเป็นอันดับหนึ่ง พรรคจึงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ จึงเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งรัฐบาลผสม 6 พรรคโดยมีพรรคชาติพัฒนา พรรคประชากรไทย พรรคมวลชน พรรคเสรีธรรม และพรรคกิจสังคม ตอนนั้นพรรคฝ่ายค้านก็มิใช่มีเพียงพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น พรรคชาติไทยเองก็มาร่วมอย่างแข็งขัน และยังมีพรรคพลังธรรม พรรคเอกภาพ และพรรคไทย แต่รัฐบาลของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ก็ต้องมาเจอกันภาวะเศรษฐกิจที่ร้ายแรงมีบริษัทและธนาคารในเมืองไทยเสียหายมากจนต้องยอมรับเงื่อนไขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF

รัฐบาลของ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ไม่สามารถจะทนต่อแรงบีบคั้นทางการเมืองอย่างมากได้ จึงได้ยอมลาออกในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540