24 มีนาคม พ.ศ. 2489

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ศ.นรนิต เศรษฐบุตร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2489 นายปรีดี พนมยงค์ได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 7 ของประเทศ เพราะเมื่อรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีควง อภัยวงศ์ แพ้เสียงในสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชน ที่รัฐบาลปฏิเสธที่จะผ่านให้เป็นกฎหมาย แต่ทางสภากลับมีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมาก 65 ต่อ 63 รับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ นายควง อภัยวงศ์ จึงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและสภาก็ได้เสนอชื่อ นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 กำหนดว่านายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และในขณะนั้นนายปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด ดังนั้นจึงมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการแต่งตั้งเสียสละ ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้ตำแหน่งว่าง และได้มีการแต่งตั้งนายปรีดี พนมยงค์ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2489 หลังจากนั้นอีก 3 วันจึงได้แต่งตั้ง นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรี ปรีดี พนมยงค์ ได้เลือกสรรผู้คนเข้าเป็นรัฐมนตรีและนำคณะรัฐมนตรีเข้าแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร และขอความไว้วางใจ ดังมีความตอนหนึ่งที่ท่านแถลงว่า

“เพื่อสนองตามความต้องการของสมาชิกสภาผู้แทนฯ ส่วนมากที่จะให้ข้าพเจ้ารับใช้ประเทศในยามคับขัน ข้าพเจ้าก็จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามความประสงค์ของท่าน”

แม้สภาผู้แทนราษฎรจะมีมติไปเชิญ นายปรีดี พนมยงค์ มาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่รัฐบาลของท่านก็มิได้รับเสียงไว้วางใจอย่างเป็นเอกฉันท์ เพราะมีสมาชิกสภา 3 ท่านที่ไม่ไว้วางใจรัฐบาล ท่านทั้ง 3 นี้ ได้แก่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายปริญญา จุฑามาตย์ และนายอินทร สิงหเนตร ท่านแรกนั้นเป็นผู้แทนราษฎรสมัยแรกของจังหวัดพระนคร

ในสมัยที่นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรีนี้ งานต่อเนื่องที่สำคัญจากรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่นายปรีดี พนมยงค์ เองเป็นประธานกรรมาธิการ ซึ่งท่านก็ได้ลาออกหลังจากเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี และพระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้เข้ามาเป็นแทน ก็ได้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จนำเสนอสภาจนผ่านออกมาประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 3 ของประเทศ ในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 นี้ได้กำหนดให้คณะรัฐมนตรีที่เป็นอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญอยู่ต่อไปจนกว่าจะได้ตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ดังนั้น เมื่อเลือกตั้งสมาชิกพฤฒิสภาชุดแรกหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้วทำให้มีรัฐบาลใหม่ นายปรีดี พนมยงค์ ก็ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เพื่อให้รัฐสภาตามรัฐธรรมนูญใหม่เลือกนายกรัฐมนตรี และได้มีพระบรมราชโองการตั้งนายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2489

แต่ยังไม่ทันที่นายกรัฐมนตรีจะได้จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ก็มีเหตุการณ์ที่ร้ายแรงเกิดขึ้นในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้เสด็จสวรรคตด้วยพระแสงปืน ณ พระบรมมหาราชวัง การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทำให้ประชาชนโศกเศร้าเสียใจมาก

ในวันเดียวกันรัฐสภาก็ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ที่จะอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ ตามความในรัฐธรรมนูญ

เหตุการณ์ครั้งนั้น มีผลให้นายปรีดี พนมยงค์ ลาออกจากนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 และในวันเดียวกันนั่นเองรัฐสภาก็ได้มีมติสนับสนุนให้นายปรีดี พนมยงค์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยได้รับการแต่งตั้งในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ทั้งนี้ตอนที่รัฐบาลแถลงนโยบายและขอความไว้วางใจ ในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2489 รัฐบาลได้เสียงไว้วางใจค่อนมากก็จริงอยู่ แต่เสียงไม่ไว้วางใจก็มากกว่า 3 เสียงมากอีกเช่นกัน คือ ไว้วางใจ 90 ต่อ 26 เสียง

แต่รัฐบาลของนายปรีดี พนมยงค์ ก็ถูกกล่าวหาและโจมตีในเรื่องนี้ทั้งโดยวิธีเปิดเผยตัวและวิธีจำบังที่กล่าวพาดพิง รัฐบาลก็ได้พยายามบริหารประเทศต่อมา จนถึงวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2489 นายปรีดี พนมยงค์ จึงได้ลาออกจากนายกรัฐมนตรี