1 มกราคม พ.ศ.2534
ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2534 เป็นวันประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2434 เป็นกติกาการปกครองประเทศเป็นการชั่วคราวของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือที่เรียกกันย่อ ๆ ว่า “ร.ส.ช.” ซึ่งมี พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ เป็นหัวหน้าคณะ ร.ส.ช. ได้ใช้กำลัง เข้ายึดอำนาจ จับกุมตัวนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น คือ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ขณะอยู่ในเครื่องบินจะเดินทางไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จังหวัดเชียงใหม่
เมื่อยึดอำนาจแล้ว ร.ส.ช. ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ดังนั้น จึงจำเป็นต้องประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรที่ทางฝ่ายคณะผู้ยึดอำนาจไปจัดหามา ธรรมนูญการปกครองฉบับนี้มีเนื้อหารวม 33 มาตรา และมาตราที่ให้อำนาจประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยหรือนายกรัฐมนตรีมากในการสั่งการที่เด็ดขาดเช่นเดียวกับมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองฯ สมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็คือมาตรา 27
ธรรมนูญการปกครองฯ ฉบับนี้ได้กำหนดให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ประกอบด้วยสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 คน และไม่เกิน 300 คน และให้สภานิติบัญญัติแห่งชาตินี้มีหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญด้วย แต่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติมิได้ ต่อมาได้มีการแต่งตั้ง นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อให้รับผิดชอบจัดตั้งรัฐบาล
ร.ส.ช. ได้ใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 เป็นกติกาปกครองประเทศมาจนถึงวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2534 จึงได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 มาเป็นกติกาปกครองบ้านเมืองฉบับใหม่ ในเวลาต่อมารัฐบาลจึงได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญในตอนต้นปี พ.ศ. 2535