19 กันยายน พ.ศ. 2498

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2498 เป็นวันที่เมืองไทยมีกฎหมายพรรคการเมืองออกมาบังคับใช้เป็นครั้งแรก สมัยนั้นรัฐบาลมีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ถึงแม้ว่าจะเพิ่งมีพระราชบัญญัติพรรคการเมืองออกมาบังคับใช้ ก็มิได้หมายความว่าเพิ่งจะมีพรรคการเมืองในเมืองไทยเป็นครั้งแรก

พรรคการเมืองในเมืองไทยมีมาตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินฯ ใหม่ ๆ มีมาตั้งแต่ยังไม่มีคำว่าพรรคการเมือง ตอนนั้นใช้คำว่า “คณะ” ดังนั้น “คณะราษฎร” จึงถือว่าเป็นพรรคการเมือง และต่อมาหลังการใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 ก็มีพรรคการเมืองบ้างแล้วที่รู้จักกันก็คือพรรคแนวรัฐธรรมนูญ พรรคสหชีพ และพรรคก้าวหน้า เป็นต้น พรรคที่เกิดตามมาคือพรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองเหล่านี้อยู่บ้างหายไปบ้างและบางพรรคอยู่มาถึงทุกวันนี้

เมื่อมีกฎหมายพรรคการเมืองออกมาบังคับใช้ พรรคการเมืองก็พากันไปจดทะเบียนพรรคการเมืองกัน เพราะกฎหมายนี้บอกไว้ในมาตรา 3 ว่า

“ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่ห้าร้อยคนขึ้นไป หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ย่อมตั้งพรรคการเมืองได้ โดยจดทะเบียนต่อสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงมหาดไทย

ทั้งนี้ ในคำขอจดทะเบียนต้องมีรายการดังที่กำหนดไว้ในมาตราถัดไปคือมาตรา 4 ว่า

“คำขอจดทะเบียนต้องมีรายการดังต่อไปนี้

(1) ชื่อของพรรคการเมือง

(2) กำหนดนโยบายของพรรคการเมือง

(3) ที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของพรรคการเมือง

(4) ชื่อของหัวหน้าและเลขาธิการพรรคการเมือง

(5) ลายมือชื่อของผู้ตั้งพรรคการเมือง

ให้ส่งข้อบังคับว่าด้วยวิธีการจัดการพรรคการเมืองไปกับคำขอจดทะเบียนด้วยสามฉบับ”

พรรคการเมืองแรกที่ขอจดทะเบียนคือพรรครัฐบาลที่มีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้าพรรค และมี พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ เป็นเลขาธิการพรรค พรรคนี้ชื่อพรรคเสรีมนังคศิลา เป็นพรรคที่มีคณะนายทหารที่เรียกตัวเองว่า “คณะรัฐประหาร” ที่ยึดอำนาจล้มรัฐบาลหลวงธำรงค์นาวาสวัสด์ เมื่อ พ.ศ. 2490 เป็นตัวหลักในการตั้ง นับเป็นการแปลงร่างทางการเมืองจากคณะผู้ยึดอำนาจมาเป็นพรรคการเมือง โดยรวบรวมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและการแต่งตั้งเข้ามาร่วมสนับสนุนอยู่ในพรรค

ทางฝ่ายค้านนั้นพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าก็มาจดทะเบียนพรรคการเมืองของตน ดังนั้น หลังการมีกฎหมายพรรคการเมือง คนที่จะเล่นการเมืองก็ต่างพากันคิดตั้งพรรคการเมืองและขอจดทะเบียนพรรคการเมืองกันมากหน้าหลายตา เพราะดูเวลากันแล้วเหลือเวลาอีกไม่ถึง 1 ปีครึ่ง ก็จะต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปกันใหม่ และถ้ารัฐบาลยุบสภา การเลือกตั้งก็ยิ่งจะมาเร็วกว่าที่คาดหมายเข้าไปอีก

ปรากฏว่าตั้งแต่วันที่เริ่มมีพรรคการเมืองฉบับนี้จนถึงวันที่กฎหมายฉบับนี้ถูกยกเลิกเป็นเวลาประมาณ 3 ปี มีพรรคการเมืองจดทะเบียนถึง 30 พรรค และมีนายกรัฐมนตรีตั้งรัฐบาลอยู่ถึง 3 ท่าน คือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายพจน์ สารสิน และพลโทถนอม กิตติขจร

ส่วนพรรคการเมือง 30 พรรคที่จดทะเบียนในตอนนั้นก็มีพรรคเสรีมนังคศิลา พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเสรีประชาธิปไตย พรรคกรรมกร พรรคเศรษฐกร พรรคชาวนา พรรคสังคมประชาธิปไตย พรรคสงเคราะห์อาชีพและการกุศล พรรคธรรมาธิปัตย์ พรรคชาตินิยม พรรคสหภราดร พรรคสังคมนิยม พรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค พรรคชาติประชาธิปไตย พรรคหนุ่มไทย พรรคสหพันธ์เกษตรกร พรรคราษฎร พรรคคนดี พรรคอิสระ พรรคประชาชน พรรคศรีอารียเมตไตรย พรรคไทยมุสลิมหรือไทยอิสลาม พรรคสยามประเทศ พรรคสหภูมิ พรรคขบวนการสหพันธรัฐสากลนิยม พรรคอิสาน และพรรคชาติสังคม

การเลือกตั้งทั่วไปในระหว่างที่ใช้กฎหมายพรรคการเมืองฉบับนี้ก็คือการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 กับการเลือกตั้งในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 โดยการเลือกตั้งครั้งแรกแม้พรรคเสรีมนังคศิลาจะชนะเสียงรวมทั่วประเทศ แต่ก็ถูกเล่นงานว่าเป็นการเลือกตั้ง “สกปรก” จนนำไปสู่การยึดอำนาจล้มรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500

ทำให้มีการเลือกตั้งกันใหม่ในสมัยรัฐบาลของนายพจน์ สารสินในเดือนธันวาคม ภายหลังการเลือกตั้งมีรัฐบาลใหม่แล้ว จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็กลับมายึดอำนาจอีกครั้งในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501

กฎหมายพรรคการเมืองฉบับแรกที่มีเนื้อหาอยู่ 18 มาตรานี้ ได้ถูกยกเลิกโดยประกาศคณะปฏิวัติ ของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501