พรรคพลังดูด

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร. อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย


ความนำ

           “พรรคพลังดูด” เป็นคำที่สื่อหลายแขนงใช้เรียก “พรรคพลังประชารัฐ” เพื่ออธิบายลักษณะของการโน้มน้าว ชักจูง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ เพื่อสนับสนุนให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สืบต่ออำนาจในการบริหารประเทศ ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมีความร่วมมือระหว่างกลุ่มขั้วการเมืองหลายฝ่าย อันประกอบด้วย “กลุ่มสามมิตร” และ “สี่กุมาร” ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

          หลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ เมื่อปี พ.ศ. 2557 ประเทศไทยอยู่ในการเมืองท่ามกลางระบอบทหาร ที่ซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและกิจกรรมการเมืองของประชาชนถูกปิดกั้น จนเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2560 พลเอกประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศว่าจะมีการจัดเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 (ซึ่งภายหลังก็ประกาศเลื่อนวันเลือกตั้งทั่วไปเป็นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 แทน)[1] การออกมติให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองซึ่งนับเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกอย่างเป็นทางการในรอบ 8 ปี หลังการยึดอำนาจของ คสช. ซึ่งการเลือกตั้งครั้งใหญ่ครั้งนี้ ที่มีผลต่อการสืบอำนาจ คสช. สู่ความชอบด้วยกฎหมาย ที่หลายฝ่ายเฝ้าจับตามอง

          ในช่วงปีเดียวกัน ได้มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคณะทำงาน คสช. ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 มีการจดจองชื่อในการจัดตั้งพรรคการเมือง โดยใช้ชื่อว่า “พลังประชารัฐ” ซึ่งสอดคล้องชื่อนโยบายภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย รวมไปถึงโครงการแผนแผนงานอื่น ๆ โดยระบุชื่อนายชวน ชูจันทร์ เป็นผู้จดจองชื่อพรรค ภายหลังมีการจัดประชุมสามัญของพรรคครั้งแรก เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรค ในวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2561 ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ นายอุตตม สาวนายน (รมว. อุตสาหกรรม) ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิระวงศ์ (รมว. พาณิชย์) ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ (รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล (รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี) ดำรงตำแหน่งโฆษกพรรค หรือที่รู้จักกันในนาม “สี่กุมาร” ที่เป็นหัวหอกสำคัญในการจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ และเป็นศูนย์รวมของ “พลังดูด” ที่พลิกบทบาทรัฐบาลทหารสู่สนามการเลือกตั้งสู่การจัดตั้งพรรคการเมือง

 

ที่มาของชื่อเรียก “พรรคพลังดูด”

          ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มีการออกแบบระบบการเลือกตั้งเป็นแบบจัดสรรปันส่วนผสม (Mixed Member Apportionment System หรือ MMA) ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 กำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 500 คน แบ่งเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 คน และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน โดยใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว เพื่อเลือกผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต ซึ่งคะแนนทั้งหมดที่ผู้ลงสมัครได้รับจะถูกนำไปคำนวนตามสัดส่วนจำนวนที่นั่งในแต่ละพรรคที่ควรจะได้ออกมาเป็นส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งระบบการเลือกตั้งแบบนี้ทำให้การวางตัวของ ส.ส.แบบแบ่งเขตมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเลือกตั้งทำให้พรรคการเมืองต้องเฟ้นตัวหาผู้สมัครแบบแบ่งเขต จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ “พลังดูด” ขึ้น[2]

          "พรรคพลังดูด” ถูกปรากฏในหน้าสื่อช่วงในช่วงปลายปี พ.ศ. 2561 โดยที่ “พรรคพลังประชารัฐ” ถูกกล่าวหาว่าเป็นพรรคที่ “ดูด ส.ส.” จากพรรคอื่นมากที่สุด หลังจากการก่อตัวของคลื่นอดีต ส.ส. จากพรรคต่าง ๆ ที่พากันตบเท้าสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคน้องใหม่อย่าง “พรรคพลังประชารัฐ” อันที่จริงข่าวลือเรื่องการก่อตั้งพรรคใหม่เริ่มเป็นกระแสนับตั้งแต่ก่อนการจดจองชื่อพรรคในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 ว่า คสช. อาจมีส่วนเกี่ยวข้องในการสนับสนุนพรรคใดพรรคหนึ่งเพื่อดันพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ในภายหลังมีการประชุมเปิดตัวพรรคในเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2561 ซึ่งทำให้เห็นภาพเครือข่ายการเมืองและความสัมพันธ์ของ “กลุ่มสามมิตร” และเครือข่ายการเมืองของรองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่เป็นแกนกลางหลักในการรวมตัวของกลุ่มการเมืองผู้สนับฝ่ายพลังประชารัฐอยู่เบื้องหลัง รวมไปถึงนายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตขุนพลสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในการจัดตั้งรัฐบาลเมื่อปี พ.ศ. 2544 ที่ทำหน้าที่ต่อสาย ดึงดูดนักการเมืองจากทั่วสารทิศให้เข้าร่วมกับพลังประชารัฐ

          สิ่งที่น่าสนใจของพรรคพลังประชารัฐคือการรวมตัวกันระหว่างสี่รัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ อันประกอบไปด้วย “กลุ่มสี่กุมาร”[3] และ “กลุ่มสามมิตร”[4] ซึ่งเป็นคีย์แมนสำคัญในการจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ กลุ่มสี่กุมารที่มีอิทธิฤทธิ์ด้านเครือข่ายที่เหนียวแน่นประกอบกับประสบการณ์การทำงานการเมืองในอดีต หลายฝ่ายจึงมองการรวมตัวของกลุ่มนี้เป็นดั่งการเข้าไป “ตกปลาในบ่อเพื่อน” ของ ส.ส. พรรคอื่น โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย หรืออาจจะเรียกว่าเป็นการ “สูบ” ส.ส. และอดีตสมาชิกเครือข่ายพรรคเพื่อไทย รวมถึงอดีตสมาชิกพรรคพลังประชาชนหรือกลุ่มไทยรักไทยเดิม ซึ่งองค์ประกอบหลักของพรรคพลังประชารัฐกล่าวคือ เป็นการรวมตัวของ ส.ส. เก่าพรรคไทยรักไทย และกลุ่มแกนนำกปปส. ซึ่งทำให้พรรคการเมืองนี้เป็นที่จับตามองในการเลือกตั้งครั้งนี้มากที่สุด การก่อตัวของพลังดูดนี้ใช้สัพพะกำลังอย่างมหาศาลในการต่อรองเจรจา โน้มน้าว และจูงใจสมาชิกพรรคอื่น ๆ เพื่อเป็นฐานเสียงในการเลือกตั้งครั้งเดิมพันครั้งนี้

          พลังดูดของพรรคพลังประชารัฐดำเนินไปท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์และการตอบโต้กันไปมาระหว่างพรรคการเมืองหลายฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายพรรคเพื่อไทยซึ่งมีการเดินหน้าตอบโต้พฤติกรรมการ “ดูด” ส.ส. ว่าเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ ดังที่ นายสุชาติ ลายน้ำเงิน อดีต ส.ส. ลพบุรี สังกัดพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาตอบโต้ เอาผิดพรรคพลังประชารัฐ กลุ่มสามมิตร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดรัฐธรรมนูญ ถึงการกระทำของกลุ่มสามมิตรในการเสนอผลประโยชน์ให้กับอดีต ส.ส. ที่เข้าข่ายผิดมาตรา 30 และ 31 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560[5] ทางด้านนายภิรมย์ พลวิเศษ คณะทำงานประสานงานประชาสัมพันธ์ผู้เข้าร่วมกลุ่มสามมิตร กลับให้การว่า “อดีต สส.บางพรรคกล่าวหาว่ากลุ่มสามมิตร มี คสช.หนุนหลังสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้นั้น กลุ่มสามมิตรไม่ใช่พรรค เมื่อไม่ใช่พรรคก็ไม่ผิด อีกทั้งอย่าไปคิดว่าพวกเราจะไปดูดเรื่องเงินเรื่องทอง แต่ไปดูดนั้นคือ ไปดูดสมอง ดูดความคิดที่จะมาพัฒนาประเทศชาติมากกว่า” [6]

          จะเห็นได้ว่าวิธีการ “ดูด” ส.ส. ของกลุ่มสามมิตรนั้น ทำไปท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง แต่เพียงในระยะเวลาไม่กี่เดือน พรรคพลังประชารัฐสามารถดึง “ดูด” สมาชิกจากพรรคต่าง ๆ ได้ถึง 51 คน ซึ่งตามระยะเวลาการจดทะเบียนขึ้นพรรคการเมืองหลังประกาศพระราชกิจจานุเบกษาว่าด้วยการจัดการเลือกตั้งทั่วไปนั้น มีกำหนดให้พรรคการเมืองจะต้องขึ้นทะเบียนก่อนการเลือกตั้งภายใน 90 วัน ซึ่งทำให้ช่วงเดือนพฤศจิกายนเป็นช่วงสุดท้ายของ “ย้ายค่าย” และช่วงเร่งเครื่องของกลุ่มเครือข่ายสามมิตร ทั้งนี้ ส.ส. จากพรรคเพื่อไทย เข้าร่วมมากที่สุด สำหรับโค้งสุดท้ายของการสังกัดพรรคการเมือง นายแพทย์เหวง โตจิราการ สมาชิกพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์เฟสบุ๊คเปิดเผยรายชื่ออดีต ส.ส. เพื่อไทย ที่ย้ายไปพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งพบว่ามีอดีต ส.ส. ตั้งแต่ยุคไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทยอย่างน้อยกว่า 44 คน ที่ย้ายข้างไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ[7]

 

กลยุทธ์ของพรรคพลังดูด

          วิธีการชักชวนของกลุ่มสามมิตรนั้นถูกพูดถึงในหลายบริบท ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นกลุ่มยุทธศาสตร์ คือกลุ่ม อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย รวมถึง ส.ส. แชมป์เก่าในพื้นที่ โดยวิธีการชักชวนของกลุ่มสามมิตรและพรรคพวก จะใช้วิธีการโน้มน้าวจากการสอบถามว่ามีหนี้เท่าไหร่ อยากได้เงินเดือนเท่าไหร่ อยากได้เงินก้อนเพื่อทำมาหากินเท่าใด[8]

          สำหรับกระบวนการดูด ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐ โดยอ้างถึงอดีต ส.ส. อีสานคนหนึ่ง ที่กล่าวว่า "การดูด ส.ส.ไปมันผิดปกติมาก'​'เพราะล่าสุดยังพยายามดึง'​'อดีต'​'ส.ส.อีสานคนหนึ่งด้วยการเสนอเงินก้อนใหญ่ แต่เขาปฏิเสธก็ยังตื้อไม่เลิ'​'ก เรียกว่าจะเอาให้ได้เอาให้ได้ดังใจเลย"[9] โดยที่ก่อนหน้านี้ ช่วงปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่พลังประชารัฐถูกกล่าวหาว่าดูด ส.ส.ว่า “พรรคพลังประชารัฐไม่มีนโยบายไปดูด ส.ส. หรือ ดูดนักการเมืองคนใดเข้าสังกัดพรรค ตามที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย อ้างว่า รัฐบาลส่งแกนนำดูด ส.ส.พรรคเพื่อไทย”[10] โดยที่พรรคการเมืองใหญ่ อย่างพรรคเพื่อไทย ยังให้การยืนยันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่สามารถทำลายพรรคได้ เพราะยังมีบุคคลากรอีกมากมายที่ได้รับความไว้ใจจากประชาชน ในขณะที่ 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงกรณีดังกล่าวด้วยความเชื่อมั่นใจว่า “พรรคประชาธิปัตย์จะมีคนที่มีคุณภาพมาแทนที่และสามารถทำงานให้ประชาชนได้เป็นอย่างดี” และมองว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดได้ตลอด[11]

 

อภินิหารพลังดูด (ชัยชนะของพลังดูด)

          พรรคพลังประชารัฐได้รับจากชัยชนะการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 97 เขต โดยมีคะแนนมหาชนสูงสุด 8.43 ล้านเสียง ซึ่งเป็นคิดเป็นผลงานของ ส.ส. ที่มาจากการดูดจากพรรคต่าง ๆ 37 คน และเป็น ส.ส. อดีตสังกัดพรรคเพื่อไทยเก่า ถึง 21 คน ซึ่งสามารถแบ่งออกแบบ ส.ส. ประเภทชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย กว่า 14 เขตที่มีมีคะแนนชนะทิ้งห่างหลักหมื่นคะแนน ล้วนแต่เป็น ส.ส.ที่ย้ายค่ายมาจากพรรคเพื่อไทยทั้งสิ้น รวมไปถึงชัยชนะใน 7 เขตเลือกตั้งในประเภท “สวิงโหวต” ที่ได้รับชัยชนะมาอย่างชิงเฉียดก็ล้วนมาจากพรรคเพื่อไทยเช่นกัน รวมเป็นคะแนนฐานเสียง 996,580 คะแนน ตามสัดส่วนคะแนนในระบบ MMA คำนวน ส.ส. 1 คน ต่อ 75,000 เสียงจึงทำให้ พลังประชารัฐได้ ส.ส.ที่พึงมีจำนวน 13 คน[12]

          ในขณะที่พรรคเพื่อไทย ได้คะแนน 7.92 ล้านเสียง ตามมาด้วยพรรคอนาคตใหม่ 6.27 ล้านเสียง และพรรคประชาธิปัตย์ 3.95 ล้านเสียง[13] ในขณะที่ "พรรคฝ่ายประชาธิปไตย" มีคะแนนเสียงรวมกัน 15.99 ล้านเสียง แต่กลับไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล ความปราชัยของฝ่ายประชาธิปไตยและพันธมิตร โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ที่ไม่ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่กำหนดระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม จึงทำให้พรรคเพื่อไทยไม่ได้ที่นั่งสำหรับ ส.ส. บัญชีรายชื่อ

 

“พรรคพลังดูด” กับการจัดการองค์กรพรรคการเมือง

          การที่พรรคการเมืองหนึ่ง ๆ สามารถดึงเอาบุคลากรจากภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาร่วมงานภายใต้กลไกของพรรคการเมืองนั้นได้ V.O.Key, Jr. ได้สรุปออกมาเป็นเงื่อนไข 3 ประการ ประกอบด้วย การจัดองค์กรพรรคการเมือง (Party Organization) พรรคการเมืองในรัฐบาล (Party in Government) และพรรคการเมืองของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (Party in the Electorate) โดยแต่ละสมมติฐานมีลักษณะดังนี้[14]

          การจัดองค์กรพรรคการเมือง (Party Organization) เป็นโครงสร้างที่เป็นทางการของพรรคการเมือง ซึ่งมีลักษณะเหมือนโครงสร้างองค์กรพรรคการเมืองทั่วไปที่ประกอบไปด้วย ผู้บริหารพรรคการเมือง บุคลากรในพรรคการเมือง สาขาพรรคการเมือง สำนักงานต่าง ๆ ในพรรคการเมือง องค์กรพรรคการเมืองถือเป็นจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนงานธุรการและงานบริหารของพรรคการเมืองทั้งในระดับชาติและในระดับท้องถิ่น มีหน้าที่ในการจัดทำนโยบายของพรรคการเมือง สร้างภาพลักษณ์ของพรรคการเมือง ช่วยเสริมสร้างความเป็นสถาบันให้พรรคการเมือง ตลอดจนระดมสมาชิกพรรคการเมืองในหลากหลายวาระ เช่น การประชุมใหญ่ การทำทะเบียนสมาชิก เป็นต้น องค์กรดังกล่าวถือเป็นฟันเฟืองที่ช่วยให้พรรคการเมืองมีแรงในการเข้าไปบริหารประเทศและเป็นที่ยอมรับของผู้คนไปในพร้อม ๆ กัน ซึ่งกรณีของพรรคพลังประชารัฐพบว่า มีการจัดองค์กรทางการเมืองที่ครบถ้วน เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้งยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 กำหนดไว้ อีกทั้งกลไกของกรรมการบริหารพรรคมีการจัดสรรให้กลุ่มต่าง ๆ อย่างครบถ้วน อาทิ กลุ่มสามมิตร กลุ่มสี่กุมาร กลุ่ม กปปส. และกลุ่ม ส.ส. ภาคกลาง

          พรรคการเมืองในรัฐบาล (Party in Government) เป็นผู้ที่สมัครรับเลือกตั้งและผู้ที่ได้รับเลือกตั้งตลอดจนผู้ที่เข้าไปร่วมรัฐบาลในการบริหารประเทศ ดังเช่นกรณีการมีรัฐบาลผสมในระบบรัฐสภาที่มีการแบ่งสัดส่วนรัฐมนตรี ทำให้พรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กบางพรรคได้เข้าไปเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาลได้ด้วย โดยกลไกส่วนนี้จะทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนอุดมการณ์หรือผลประโยชน์ที่พรรคนำเสนอให้ออกมาในรูปของกฎหมายหรือนโยบาย โดยพรรคการเมืองจะมีส่วนในการกำกับทิศทางพฤติกรรมการลงมติในร่างกฎหมายของเหล่า ส.ส. และกำกับการออกนโยบายของรัฐมนตรีที่สังกัดพรรคนั้น ๆ เพื่อให้ตอบสนองต่อแนวทางของพรรค ดังนั้น เป้าหมายของกลุ่มนี้จึงปรารถนาที่จะเข้าไปเป็นรัฐบาลให้จงได้ ซึ่งจากการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2562 แม้ว่าพรรคพลังประชารัฐจะมีจำนวน ส.ส. จำนวน 119 คน ซึ่งมากเป็นอันดับสองของสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็สามารถรวบรวมเสียงในสภาจัดตั้งรัฐบาลผสมได้สำเร็จ โดยพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลเอง แต่ข้อจำกัดของรัฐบาลผสมคือ ยังไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ได้เต็มประสิทธิภาพนัก เนื่องจากมีกระบวนการต่อสู้/ต่อรองทั้งจากภายในและภายนอกพรรคที่มีความเข้มข้นสูง

          พรรคการเมืองของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (Party in the Electorate) เป็นมวลชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่สนับสนุนพรรคการเมือง โดยมีความภักดีต่อพรรคการเมืองอย่างชัดแจ้ง มีความปรารถนาที่จะให้พรรคการเมืองที่ตนสนับสนุนได้เข้าไปเป็นรัฐบาล เพื่อร่วมผลักดันนโยบายของพรรคให้เกิดขึ้นได้จริง ในบางประเทศมีการกำหนดให้มวลชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดผู้สมัครผ่านระบบการลงมติก่อน (Primary Vote) นอกจากนี้ กลุ่มดังกล่าวยังมีส่วนสำคัญในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับพรรคที่ตนเองสนับสนุน เช่น การเป็นจิตอาสาให้พรรค การบริจาคเงินสนับสนุนพรรค เป็นต้น ในกรณีของพรรคพลังประชารัฐนั้น เนื่องจากเกิดมาจากการรวมกลุ่มของกลุ่มต่าง ๆ ทางการเมือง ซึ่งมีฐานเสียงสำคัญในแต่ละพื้นที่ เช่น ในพื้นที่ภาคกลาง พื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่มาจากการดูดเอากลุ่ม ส.ส. จากพรรคต่าง ๆ เข้ามา และยังมีฐานเสียงของพรรคพลังประชารัฐที่ชื่นชอบในตัวพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้มีคะแนนเสียงของมวลชนที่เลือกพรรคพลังประชารัฐทั้งสิ้น 8.43 ล้านเสียง ซึ่งเป็นพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดในการเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ. 2562 เป็นการสะท้อนว่ามีมวลชนสนับสนุนอยู่ ซึ่งพรรคจะต้องมีมาตรการรักษามวลชนที่มีอยู่ให้คงระดับไว้ต่อไป

 

บทส่งท้าย

          “พรรคพลังดูด” คือคำที่ใช้อธิบายพฤติกรรมของพรรคพลังประชารัฐที่มีการชักจูง ดึงดูด ส.ส. จากพรรคอื่นด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อมาดึงผู้สมัครเลือกตั้งมาร่วมสังกัดพรรค ซึ่งจุดเด่นของคำว่า “พลังดูด” นั้นสามารถสื่อความหมายไปถึงการใช้เครือข่ายทางการเมืองที่เหนียวแน่นของ “กลุ่มสามมิตร” และ “กลุ่มสี่กุมาร” ที่สามารถนำพาพรรคประชารัฐเข้าสู่เส้นชัย ตามเจตจำนงแรกของการก่อตั้งพรรคที่จะสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป และเมื่อพิจารณาเงื่อนไขของพรรคพลังประชารัฐในฐานะการจัดองค์การพรรคการเมือง จะพบว่า พรรคพลังประชารัฐเกิดจากการรวมกลุ่มของมุ้งต่าง ๆ และเมื่อได้จัดตั้งรัฐบาลแล้ว ก็จะต้องจัดสรรตำแหน่งการเมืองให้ลงตัวเพื่อความเป็นเอกภาพและสามารถขับเคลื่อนนโยบายให้ได้ อีกทั้งยังมีมวลชนที่ให้การสนับสนุนพรรคอยู่ ซึ่งมาจากฐานเสียงของกลุ่มการเมืองเดิมที่พรรคดูดเข้ามาและฐานเสียงใหม่ของพรรคเอง แต่กระนั้น ด้วยลักษณะที่เกิดจากการรวมกลุ่มของมุ้งต่าง ๆ จึงต้องเผชิญการต่อสู้/ต่อรองทั้งภายในและภายนอกพรรค

 

บรรณานุกรม

Key, J. V. O. (2964). Politics, Parties, and Pressure Groups. New York: Ty Crowell Co,.

ประจักษ์ ก้องกีรติ และ วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร. (2561). “ระบอบประยุทธ์ การสร้างรัฐทหารและทุนนิยมแบบช่วงชั้น.” ฟ้าเดียวกัน. ปีที่ 16. ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม – ธันวาคม): 7-36.

“เพื่อไทยร้องกกต.เอาผิดกลุ่ม"สามมิตร".” โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ (2 กรกฎาคม 2561). เข้าถึงได้จาก <https://www.posttoday.com/politic/news/556327>. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563.

พลวุฒิ สงสกุล. “พลังดูด ‘พลังประชารัฐ’ อดีต ส.ส. – คนดังแห่ร่วมนับร้อย.” The Standard (27 พฤศจิกายน 2561). เข้าถึงได้จาก <https://thestandard.co/phalang-pracharat-party-member/>. เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563.

“พท.ร้องกกต. ให้ระงับ พรรคพลังประชารัฐ ฟันป้อม-แกนนำสามมิตร.” ไทยรัฐออนไลน์ (3 กรกฎาคม 2561). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1325702>. เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563.

“พปชร.โต้ "สุดารัตน์" อดีตไทยรักไทยก็เคยยกเข่งดูด ส.ส.มาแล้ว.” ThaiPBS (24 กันยายน 2562), เข้าถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/284498>. เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563.

“อภินิหารพลังดูด 51 ส.ส. - ตรวจชื่อ 27 ส.ส. 'เพื่อไทย' บอก 'พปชร..” Voice Online (5 ธันวาคม 2561). เข้าถึงได้จาก <https://www.voicetv.co.th/read/BJcsEgiCQ>. เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563.

“ดีไซน์เพื่อพวกเรา? 'สอบได้ - สอบตก' เปิดฐานเสียง 21 ส.ส.เพื่อไทยฝักฝ่าย 'พปชร.'.” Voice Online (29 พฤศจิกายน 2561). เข้าถึงได้จาก <https://www.voicetv.co.th/read/rJlDeSa0m>. เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563.

“ผลเลือกตั้ง 2562 : กกต. แถลงผลเลือกตั้ง 100% คะแนนมหาชนของ พปชร. พุ่งเป็น 8.4 ล้านเสียง.”บีบีซี ไทย (28 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47730271>. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563.

“‘ไอลอว์’ ร่ายยาว ‘ผลงานส.ส. พลังดูด’.” มติชนออนไลน์ (18 พฤษภาคม 2562) เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1500697>. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563.

อ้างอิง

[1] ประจักษ์ ก้องกีรติ และ วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร, “ระบอบประยุทธ์ การสร้างรัฐทหารและทุนนิยมแบบช่วงชั้น,” ฟ้าเดียวกัน, ปีที่ 16, ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม – ธันวาคม, 2561): 7-36.

[2] “‘ไอลอว์’ ร่ายยาว ‘ผลงานส.ส. พลังดูด’,” มติชนออนไลน์ (18 พฤษภาคม 2562) เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1500697>, เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563.

[3] กลุ่มสี่กุมาร คือกลุ่มของ นายอุตตม สาวนายน (รมว. อุตสาหกรรม) ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิระวงศ์ (รมว. พาณิชย์) ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ (รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล (รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี) ดำรงตำแหน่งโฆษกพรรค

[4] กลุ่มสามมิตร คือนำโดย สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ สมศักดิ์ เทพสุทิน สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่ง “สมศักดิ์” และ ”สุริยะ” เป็นอดีต ส.ส. ของพรรคไทยรักไทยและเป็นอดีตแกนแกนนำของกลุ่มวังน้ำยม หรือกลุ่มมัชณิมา ทั้งสามคนมีส่วนสำคัญในการทำให้พรรคไทยรักไทยจัดตั้งรัฐบาลได้เมื่อปี 2544 ที่ได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งเพื่อจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ

[5] มาตรา 30 และ 31 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือผู้ใด ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยตรง หรือโดยอ้อมเพื่อจูงใจให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรค จะมีโทษตามมาตรา 109 จำคุก 5-10 ปี ปรับ 1-2 แสนบาท ทั้งจำทั้งปรับ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง”

[6] “เพื่อไทยร้องกกต.เอาผิดกลุ่ม"สามมิตร",” โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ (2 กรกฎาคม 2561), เข้าถึงได้จาก <https://www.posttoday.com/politic/news/556327>, เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563.

[7] พลวุฒิ สงสกุล, “พลังดูด ‘พลังประชารัฐ’ อดีต ส.ส. – คนดังแห่ร่วมนับร้อย,” The Standard (27 พฤศจิกายน 2561), เข้าถึงได้จาก <https://thestandard.co/phalang-pracharat-party-member/>, เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563.

[8] “พท.ร้องกกต. ให้ระงับ พรรคพลังประชารัฐ ฟันป้อม-แกนนำสามมิตร,” ไทยรัฐออนไลน์ (3 กรกฎาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1325702>, เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563.

[9] “พท.ร้องกกต. ให้ระงับ พรรคพลังประชารัฐ ฟันป้อม-แกนนำสามมิตร,” ไทยรัฐออนไลน์ (3 กรกฎาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1325702>, เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563.

[10] “พปชร.โต้ "สุดารัตน์" อดีตไทยรักไทยก็เคยยกเข่งดูด ส.ส.มาแล้ว,” ThaiPBS (24 กันยายน 2562), เข้าถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/284498>, เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563.

[11] “อภินิหารพลังดูด 51 ส.ส. - ตรวจชื่อ 27 ส.ส. 'เพื่อไทย' บอก 'พปชร.,” Voice Online (5 ธันวาคม 2561), เข้าถึงได้จาก <https://www.voicetv.co.th/read/BJcsEgiCQ>, เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563.

[12] “ดีไซน์เพื่อพวกเรา? 'สอบได้ - สอบตก' เปิดฐานเสียง 21 ส.ส.เพื่อไทยฝักฝ่าย 'พปชร.',” Voice Online (29 พฤศจิกายน 2561), เข้าถึงได้จาก <https://www.voicetv.co.th/read/rJlDeSa0m>, เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563.

[13] “ผลเลือกตั้ง 2562 : กกต. แถลงผลเลือกตั้ง 100% คะแนนมหาชนของ พปชร. พุ่งเป็น 8.4 ล้านเสียง,”
บีบีซีไทย (28 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47730271>, เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563.

[14] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน J. V. O. Key, Politics, Parties, and Pressure Groups (New York: Ty Crowell Co,1964).