ส.ส. งูเห่า

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ศุทธิกานต์ มีจั่น

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


ส.ส. งูเห่า

          ส.ส.งูเห่า เป็นชื่อเรียกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ย้ายไปพรรคใหม่หรือกระทำการขัดต่อมติหรือแนวทางของพรรคที่ตนสังกัด โดยต้นกำเนิดของคำนี้มาจากคำเปรียบเปรยของ นายสมัคร สุนทรเวช อดีตหัวหน้าพรรคประชากรไทยที่เปรียบตัวเองเป็นเหมือนชาวนาตามนิทานอีสปเรื่องชาวนากับงูเห่า ที่ถูก  ส.ส.กลุ่มปากน้ำ ของนายวัฒนา อัศวเหม ซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัด จำนวน 13 คน ถูกกล่าวถึงในฐานะเป็นงูเห่า เนื่องจากในเวลานั้นกลุ่มการเมืองนี้เดิมสังกัดพรรคชาติไทย ภายใต้การนำของนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค แต่เมื่อมีความขัดแย้งกับพรรค จึงมาเข้าสังกัดพรรคประชากรไทยที่นายสมัครเป็นหัวหน้าพรรค แต่ต่อมาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกลุ่มนี้เปลี่ยนไปสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ให้จัดตั้งรัฐบาลซึ่งทำให้นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 ใน พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นการขัดต่อมติของพรรคประชากรไทย ที่สนับสนุนพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา
เป็นนายกรัฐมนตรี

          ในปัจจุบัน คำเรียกนี้ได้รับการหยิบยกขึ้นมาใช้หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคฝ่ายค้านได้ฝ่าฝืนมติทั้งของพรรคที่ตนสังกัดและพรรคร่วมฝ่ายค้านในการลงมติที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายรัฐบาล หรือไม่ลงคะแนนเสียงทำให้พรรคการเมืองฝ่ายค้านได้รับคะแนนในการลงมติน้อยลง เช่น กรณีลงมติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี 2563 ในวาระที่ 3 ซึ่งสมาชิกของพรรคเพื่อไทย ได้แก่ นางพรพิมล ธรรมสาร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ปทุมธานี ลงมติสนับสนุน และนายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานครไม่ลงคะแนนเสียง รวมไปถึงกรณี ของนายนิยม วิวรรธนดิฐกุล นายภาสกร เงินเจริญกุล นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ นางมารศรี ขจรเรืองโรจน์ และนายสุภดิช อากาศฤกษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ที่ลงคะแนนเห็นด้วยให้กับฝ่ายรัฐบาลในการผ่านร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้

          อย่างไรก็ดี คำเรียก ส.ส. งูเห่า มุ่งไปที่อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคอนาคตใหม่ ทั้งที่ลงมติขัดต่อแนวทางของพรรคและพรรคร่วมฝ่ายค้าน รวมทั้งได้ย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ได้แก่ การย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทยของ นายวิรัช พันธุมะผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ นายฐิตินันท์ แสงนาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ขอนแก่น เขต 1 นายกฤติเดช สันติวชิระกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.แพร่ เขต 2 นายกิตติชัย เรืองสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ฉะเชิงเทรา เขต 1 นายมณฑล โพธิ์คาย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต10 นายอนาวิล รัตนสถาพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ปทุมธานี เขต 3  นายเอกการ ซื่อทรงธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.แพร่ เขต 1 นายโชติพิพัฒน์ เตชะโสภณมณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต 23 และนายสำลี รักสุทธี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ  ในขณะที่ นายจารึก ศรีอ่อน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.จันทบุรี และ น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ชลบุรี ย้ายไปเข้าร่วมกับพรรคพลังท้องถิ่นไท และ พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ. จันทบุรี เขต 1 ย้ายไปสังกัดพลังประชารัฐ

ทั้งนี้ การย้ายไปสังกัดพรรคร่วมรัฐบาลของอดีตสมาชิกพรรคฝ่ายค้านเหล่านี้ได้ส่งผลต่อสัดส่วนสมาชิกของพรรคฝ่ายรัฐบาลที่ได้รับเพิ่มขึ้น อันมีผลต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา โดยข้อกล่าวหาในการย้ายพรรคนั้น ถูกมุ่งไปที่ผลตอบแทนซึ่งเป็นแรงจูงใจที่ได้รับจากการย้ายพรรค โดยมูลค่าของผลตอบแทนนั้นขึ้นอยู่กับฐานของคะแนนนิยม ตลอดจนความจำเป็นของการได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคต้องการ

รายการอ้างอิง

“จารึก ศรีอ่อน” อดีตอนาคตใหม่เปิดตัวซบพรรค “ชัช เตาปูน” ร่วมรัฐบาล .(2563).สืบค้นจาก https://workpointtoday.com/pol-blue/(15 กรกฎาคม 2563).

“แฉลึก ที่มา 2กลุ่มการเมือง "งูเห่า" แทงหลังนายเก่า คบคิดศัตรู สู่ย้ายพรรค”.(2563).สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/news/politic/1525463(15 กรกฎาคม 2563).

“เปิด8งูเห่าฝ่ายค้าน โหวตหนุนรัฐบาลผ่านงบ มีทั้งเพื่อไทย-อนาคตใหม่-เศรษฐกิจใหม่”. (2563).สืบค้นจาก  https://www.khaosod.co.th/politics/news_3368327(15 กรกฎาคม 2563).

“มิ่งขวัญ โวยงูเห่าในพรรคเศรษฐกิจใหม่ทำเสียชื่อเสียง”.(2563).สืบค้นจาก https://news.ch7.com/__detail/ 380405(15 กรกฎาคม 2563).

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์. จาก Thaksinomics สู่ทักษิณาธิปไตย ภาค 1-2.กรุงเทพฯ : openbooks, 2548. หน้า 43.

“ส.ส. งูเห่า : อนาคตใหม่เปิดคลิปแฉอดีตเพื่อนร่วมพรรค พลิกขั้วการเมืองเพราะเงิน”. (2563).สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-51626917 (15 กรกฎาคม 2563).