ไทยเฉย
ผู้เรียบเรียง ฐิติกร สังข์แก้ว และดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศาสตราจารย์ นรนิติ เศรษฐบุตร
ความหมาย
“ไทยเฉย” เป็นคำที่ปรากฏในช่วงการชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่ออกมาเดินขบวนชุมนุมประท้วงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยคำว่า “ไทยเฉย” ถูกหมายความถึงคนไทยส่วนมากที่ยังไม่ออกมาร่วมการชุมนุมประท้วงรัฐบาล แต่กลับดำเนินชีวิตตามปกติเหมือนว่าไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ทำตัวเป็นพวกทองไม่รู้ร้อน โดยอาจมองว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัวและไม่ใช่ธุระของตนที่จะเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือหากจะตระหนักว่ามีปัญหาเกิดขึ้นก็ไม่คิดว่าจะกระทบกระเทือนต่อวิถีการดำเนินชีวิตของตนเอง อย่างไรก็ตาม มีข้อโต้แย้งจากฝั่งนักการเมือง นักวิชาการและกลุ่มคนที่ถูกปรามาสว่าเป็นพวก “ไทยเฉย” ว่าพวกตนก็เป็นกลุ่มคนที่สนใจเหตุการณ์บ้านเมือง หากแต่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ประท้วงรัฐบาลข้างต้น และสนับสนุนแนวทางของรัฐบาลที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 อีกทั้งยังได้นิยามใหม่ว่าพวกตนคือ “ไทยอดทน”
“ไทยเฉย” กับจุดยืนทางการเมืองภายใต้ความขัดแย้ง
ภายหลังจากที่สภาผู้แทนราษฎร ลงมติให้ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ผ่านการพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 เมื่อเวลา 04.25 น.ของวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 ได้นำมาสู่เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ประชาชนจำนวนมากออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ และยกระดับไปสู่การชุมนุมขับไล่รัฐบาล ต่อเนื่องไปจนถึงการขจัด “ระบอบทักษิณ” การชุมนุมดังกล่าวมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำสำคัญในการชุมนุม และได้จัดตั้งเป็นคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ประกอบด้วย ตัวแทนกลุ่มองค์กรประชาชนในสาขาอาชีพต่างๆ เช่น กลุ่มนักวิชาการ, เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.), กลุ่มประชาคมนักธุรกิจสีลม, เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย, กองทัพธรรม, กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.), สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) โดยที่มีสุเทพเป็นเลขาธิการ [1]
แม้ว่าการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. จะมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและประกอบด้วยผู้คนจากหลากหลายวงการทั้งนักการเมือง นักวิชาการ นักธุรกิจ ภาคประชาสังคม ศิลปินดารา ที่ออกมาร่วมเคลื่อนไหวในนามของ “มวลมหาประชาชน” แต่กระนั้นการชุมนุมก็ยังคงยืดเยื้อโดยที่รัฐบาลไม่ได้ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อให้เกิดความพอใจแต่อย่างใด อีกทั้งรัฐบาลยังได้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ในการป้องกัน ระงับ และปราบปรามดังเหตุการณ์ปะทะกันที่เกิดขึ้นหลายครั้ง นอกจากนี้ยังได้มีการจัดชุมนุมของทางฝ่ายประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่ม กปปส. ที่สำคัญคือขบวนการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวสนับสนุนรัฐบาล ขณะเดียวกันก็ยังมีประชาชนอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นคนส่วนมากในสังคมที่ยังคงไม่ออกมาร่วมในขบวนการเคลื่อนไหวกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด โดยที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้มักถูกเรียกว่าเป็น “พลังเงียบ” ซึ่งฝ่ายการเมืองหรือขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนมักต้องการดึงเอาคนกลุ่มนี้มาเป็นแนวร่วม เนื่องเพราะจำนวนของ“พลังเงียบ” เหล่านี้ย่อมส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการกำหนดชัยชนะในการต่อสู้ทางการเมือง
เมื่อการชุมนุมยืดเยื้อนานวันเข้าและยังไม่มีทีท่าว่าทางฝ่ายรัฐบาลจะยอมรับตามข้อเสนอของฝ่ายผู้ชุมนุม กปปส. แกนนำผู้ชุมนุมและบรรดาสื่อสารมวลชนที่ต่อต้านรัฐบาลจึงพยายามระดมประชาชนให้ออกมาร่วมเคลื่อนไหวกับมวลมหาประชาชนให้มากที่สุด โดยมุ่งไปที่การดึงประชาชนที่ยังคงดำเนินวิถีชีวิตตามปกติให้เข้ามาร่วมในขบวนการ จึงได้เกิดวาทกรรม “ไทยเฉย” ขึ้น อันเป็นคำที่มุ่งเสียดสีเหน็บแนมผู้ที่ทำตัวเป็นพวกที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังวิกฤติ เฉยชากับการมีนักการเมืองที่ทุจริตคอรัปชั่น หรือเป็นพวกที่คิดว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว ไม่ใช่ธุระของตนที่จะเข้าไปเกี่ยวข้อง ดังความหมายที่ ธีรยุทธ บุญมี กล่าวไว้ว่า
- ...ที่ประเทศไทยปฏิรูปไม่สำเร็จเพราะมีไทยเฉยเยอะ 5 กลุ่ม คือ 1.ชาวบ้านในเมืองและรากหญ้าในชนบท ไม่ใช่เพราะโง่หรือขาดการศึกษา แต่เพราะต้องดิ้นรนทำกิน แต่ปัจจุบันตื่นตัวในเรื่องของข้อมูลข่าวสารและสิทธิของตัวเองมากขึ้น 2.ชนชั้นกลางเฉย เพราะต้องตั้งเนื้อตั้งตัว แต่ก็ดีขึ้น 3.ผู้ดี ราชครูปุโรหิตทำหน้าที่สรรเสริญพระเจ้าอยู่หัวเฉยๆ ไม่นำพาต่อการโกงบ้านกินเมืองกลับเสวยสุขกับนักการเมืองที่โกงกินทั้งหลาย 4.ข้าราชการ เสนาอำมาตย์เฉยไม่นำพาต่อการโกงบ้านกินเมือง และ 5.เจ้าสัวเฉย ไม่ยอมลงทุนเพื่อสร้างสรรค์การเมือง แต่ลงทุนเฉพาะธุรกิจเพื่อให้ครอบครัวร่ำรวย [2]
อย่างไรก็ตาม สำหรับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. ก็ได้มีการออกมาตอบโต้ด้วยการแสดงท่าทีไม่ยอมรับต่อคำเรียก “ไทยเฉย” ที่พวกตนถูกยัดเยียดให้เป็น พร้อมกันนี้ก็ได้มีการสร้างคำนิยามใหม่ขึ้น ดังที่วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ กล่าวว่า
- พวกเราคนไทยจำนวนมาก ไม่ใช่ 'ไทยเฉย' แต่เราเป็น 'ไทยอดทน'พวกเราบางคน อาจชอบรัฐบาล บางคนอาจผิดหวังกับรัฐบาล ไม่ถูกใจคุณยิ่งลักษณ์ หรือ ไม่ชอบหน้าคุณทักษิณ แต่พวกเราเลือกออกไปทำงานปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ จ่ายภาษีตามปกติหรือเลือกอยู่บ้าน ไม่ได้ออกไปชุมนุมพวกเราอยากบอกว่า พวกเราไม่ใช่ 'ไทยเฉย' เหมือนที่ถูกปรามาส แต่พวกเราเป็น 'ไทยอดทน' คือ เป็นคนไทยที่อดทนที่จะใช้ปัญญาและเหตุผล เพื่อหาทางอยู่ร่วมกันภายใต้กติกา แม้พรรคที่เราชอบ คนที่เราเลือก อาจจะแพ้การเลือกตั้ง และแม้รัฐบาลจะมีปัญหา หรือทำให้บ้านเมืองเสียหาย แต่เราก็อดทนจะใช้อำนาจของเราปกครองบ้านเมืองไปตามกติกาที่เรายอมรับร่วมกัน และใช้เวลาแก้ปัญหาไปทีละจุด ให้ฝ่ายตรวจสอบทำหน้าที่ไปตามระบบ โดยพวกเราจะไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาลที่จะเรียกร้องทุกอย่างได้ตามใจ … [3]
นิยามใหม่ว่า “ไทยอดทน” ของวีรพัฒน์ ได้แพร่หลายผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนที่เห็นด้วยส่งไปรษณียบัตรเพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองของตนและให้กำลังใจการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ[4] นิยาม “ไทยอดทน” นี้ได้รับการขานรับจากสังคมอยู่พอสมควร ดังเช่นที่ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ นักการเมืองและหัวหน้าพรรครักประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวชี้แจงถึงจุดยืนของตนเองโดยระบุว่า
- จุดยืนของผมชัดเจน เพราะไม่มีแม้แต่ครั้งเดียว ที่ผมจะแสดงว่าเข้าข้างฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ผมอยู่ตรงนี้และทำหน้าที่ของผม การที่ผมไม่แสดงตัวว่าอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าผมไม่มีจุดยืน เพียงแต่ผมเบื่อที่จะต้องมาทะเลาะ และขัดแย้งกันอยู่ร่ำไป... ผมเป็นพวก “ไทยอดทน” ไม่ใช่ “ไทยเฉย” ผมรับฟังทั้งสองฝ่ายมามาก อดทนกับความขัดแย้งนี้มานาน และถ้าปล่อยให้ทั้งสองฝ่ายผลัดกันขึ้นผลัดกันลงแบบนี้ มันจะเป็นแบบที่คุณเห็น ไม่จบไม่สิ้น ผมอดทนเงียบและฟัง เป็นเพราะว่าเสียงของผมมันน้อยนิด ที่สำคัญผมไม่ชอบเล่นนอกกติกา...[5]
“ไทยเฉย” ผู้ (ไม่) สนใจปัญหาบ้านเมือง
กล่าวได้ว่าการเป็น “ไทยเฉย” นั้น ขึ้นอยู่กับมุมมองและจุดยืนทางการเมืองของแต่ละคน หากมองในแง่ที่ประชาชนควรเป็นผู้มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อชุมชนทางการเมืองที่ตนอยู่ร่วมแล้ว การเป็นพลเมืองที่ตื่นตัว (active citizen) ย่อมมีความสำคัญ นั่นเพราะไม่ว่ารัฐบาลที่รับมอบอำนาจจากประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ หรือใครก็ตามกระทำการใดๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อสังคมส่วนรวมและส่งผลกระทบกลับมาสู่ทุกผู้คนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประชาชนจึงควรต้องมีหน้าที่ในการติดตาม เฝ้าระวังและคอยตรวจสอบควบคุมการทำงานของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐให้มีความสุจริตโปร่งใส และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนและถูกต้องตามหลักกฎหมาย ดังนั้น หากว่ารัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการอันละเมิดต่อกฎหมายและเจตนารมณ์ของประชาชน และกลไกในการควบคุม ตรวจสอบ หรือเอาผิดกับผู้ใช้อำนาจไม่สามารถดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพได้ตามครรลองปกติ ย่อมนำมาสู่เงื่อนไขที่ยากจะหลีกเลี่ยง นั่นคือการที่ประชาชนลุกฮือขึ้นเพื่อล้มล้างรัฐบาล ซึ่งหากกล่าวตามแนวคิดของฌ็อง-ฌ้ากส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) แล้ว นี่ก็คือความเสื่อมของรัฐบาลอันเกิดมาจากการบิดเบือนเจตจำนงทั่วไปของประชาชนด้วยเจตจำนงเฉพาะของตน [6] และนำมาสู่เงื่อนไขที่สอดคล้องกับความคิดของจอห์น ล็อก (John Locke) ที่เห็นว่าประชาชนย่อมมีสิทธิธรรมตามธรรมชาติที่จะขจัดรัฐบาลที่ใช้อำนาจอันส่งผลเสียแก่ผลประโยชน์ของประชาชน[7]
แต่หากมอง “ไทยเฉย” ภายใต้วิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินต่อเนื่องมาในรอบหลายปีนี้แล้ว ก็คงไม่สามารถที่จะกล่าวอย่างเหมารวมได้ว่า “ไทยเฉย” เป็นพวกที่ไม่สนใจต่อเหตุการณ์บ้านเมืองตลอดถึงความเป็นไปของสังคม สนใจแต่เพียงเรื่องปากท้องและการทำมาหากินของตนเองเท่านั้น หากแต่คนกลุ่มนี้ต่างก็มีความคิด ความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างกันไป ดังที่ปาริชาด สุวรรณบุบผา นักวิชาการด้านสันติวิธี ได้เคยแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องดังกล่าวว่า “คนที่ไม่อยากยุ่งกับการเมืองก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไทยเฉยไปเสียหมด แต่ตามปกติทั่วๆ ไปของคนไทยมีวิธีคิด มีวิธีมองกันทั้งนั้น เพียงแต่ว่าเงื่อนไขปัจจัยอาจจะยังไม่เอื้อ ตอนนี้เรามุ่งแต่จะเอาชนะกัน ถ้าเรามีพื้นที่ปลอดภัยขึ้นมาเพื่อตั้งสติเสียหน่อย มาคุยกันว่าคุณก็รักประเทศไทย ฉันก็รักประเทศไทย ...” [8] และยังมิได้รวมถึงนิยามในเรื่องผลประโยชน์ของประชาชนที่ยังเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางว่าหมายถึงผลประโยชน์ของใครหรือคนกลุ่มใด หลายคนอาจเป็นพวกที่นิยมรัฐบาล ในขณะที่อีกหลายคนแม้จะไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัฐบาลในหลายเรื่อง แต่พวกเขาก็ไม่สนับสนุนวิธีการของมวลมหาประชาชนที่ออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลดังที่ปรากฏ และ “ไทยเฉย” หลายคนยังสนับสนุนตามแนวทางของรัฐบาลที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 2557 โดยเห็นว่าจะนำสู่ทางออกจากวิกฤติ มากกว่าที่จะเชื่อมั่นตามแนวทาง “การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” หรือกระทั่ง “การปฏิวัติประชาชน” ของกลุ่ม กปปส. ดังนั้นแล้ว นี่จึงเป็นเหตุผลให้ “ไทยเฉย” จำนวนมากเลือกที่จะไม่ออกไปร่วมการชุมนุมกับขบวนการของมวลมหาประชาชน มิใช่ว่าพวกเขาทำตัวเป็นพวกทองไม่รู้ร้อนแต่ประการใด
บรรณานุกรม
“ธีรยุทธ หนุนประชาภิวัฒน์แนะดึงทุกภาคส่วนปฏิรูปการเมือง." กรุงเทพธุรกิจ. (11 ธันวาคม 2556), 2.
“ผุดวาทกรรมใหม่ไทยอดทน." ผู้จัดการรายวัน. (3 ธันวาคม 2556), 15-16.
“ลำดับเหตุการณ์ชุมนุม จากสามเสน ถึงปิดกรุงเทพฯ." ไทยพีบีเอสออนไลน์. (13 มกราคม 2557). เข้าถึงจาก <http://news.thaipbs.or.th/content/ลำดับเหตุการณ์ชุมนุม-จากสามเสน-ถึงปิดกรุงเทพฯ>. เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2558.
ลีโอ สเตร๊าส์ และ โจเซ็ฟ คร็อปซีย์. บรรณาธิการ. (2552). ประวัติปรัชญาการเมือง (เล่มที่สอง). แปลโดย สมบัติ จันทรวงศ์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: คบไฟ.
วรุณรัตน์ คัทมาตย์. "กำเนิดใหม่ ไทย(ไม่)เฉย." กรุงเทพธุรกิจ. (11 ธันวาคม 2556), จ1.
วีรพัฒน์ ปริยวงศ์. "ไปรษณียบัตรเปิดผนึก : เราไม่ใช่ ‘ไทยเฉย’ แต่เราเป็น ‘ไทยอดทน’." ประชาไท. (2 ธันวาคม 2556). เข้าถึงจาก <http://www.prachatai.com/journal/2013/12/50143>. เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2558.
“‘สนธิ' เเนะ 'ปชป.-พท.' ตั้งรบ.ผสม—'ชูวิท' ปัด 'ไทยเฉย' ชี้เห็นต่างไม่ใช่ศัตรู." คมชัดลึกออนไลน์. (8 ธันวาคม 2556). เข้าถึงจาก <http://www.komchadluek.net/detail/20131208/174446.html>. เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2558.
อ้างอิง
- ↑ "ลำดับเหตุการณ์ชุมนุม จากสามเสน ถึงปิดกรุงเทพฯ," ไทยพีบีเอสออนไลน์. (13 มกราคม 2557). เข้าถึงจาก <http://news.thaipbs.or.th/content/ลำดับเหตุการณ์ชุมนุม-จากสามเสน-ถึงปิดกรุงเทพฯ>. เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2558.
- ↑ "ธีรยุทธ หนุนประชาภิวัฒน์แนะดึงทุกภาคส่วนปฏิรูปการเมือง," กรุงเทพธุรกิจ, (11 ธันวาคม 2556), 2.
- ↑ "ผุดวาทกรรมใหม่ไทยอดทน," ผู้จัดการรายวัน, (3 ธันวาคม 2556), 15-16.
- ↑ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์, "ไปรษณียบัตรเปิดผนึก : เราไม่ใช่ ‘ไทยเฉย’ แต่เราเป็น ‘ไทยอดทน’," ประชาไท, (2 ธันวาคม 2556). เข้าถึงจาก <http://www.prachatai.com/journal/2013/12/50143>. เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2558.
- ↑ "'สนธิ'เเนะ'ปชป.-พท.'ตั้งรบ.ผสม--'ชูวิท' ปัด 'ไทยเฉย' ชี้เห็นต่างไม่ใช่ศัตรู," คมชัดลึกออนไลน์, (8 ธันวาคม 2556). เข้าถึงจาก <http://www.komchadluek.net/detail/20131208/174446.html>. เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2558.
- ↑ ลีโอ สเตร๊าส์ และ โจเซ็ฟ คร็อปซีย์, (บรรณาธิการ), ประวัติปรัชญาการเมือง (เล่มที่สอง), แปลโดย สมบัติ จันทรวงศ์, พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ: คบไฟ, 2552), หน้า 428-432.
- ↑ ลีโอ สเตร๊าส์ และ โจเซ็ฟ คร็อปซีย์, (บรรณาธิการ), ประวัติปรัชญาการเมือง (เล่มที่สอง), หน้า 322-328.
- ↑ วรุณรัตน์ คัทมาตย์, "กำเนิดใหม่ ไทย(ไม่)เฉย," กรุงเทพธุรกิจ, (11 ธันวาคม 2556), จ1.