โชว์เล่น “กระตั้วแทงเสือ”

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ฐิติกร สังข์แก้ว และดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศาสตราจารย์ นรนิติ เศรษฐบุตร


ความหมาย

โชว์เล่น “กระตั้วแทงเสือ” เป็นคำกล่าวของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายหลังจากที่มีนักศึกษา “กลุ่มดาวดิน” แสดงอากัปกิริยา “ชูสามนิ้ว” พร้อมข้อความสกรีนบนเสื้อเรียงต่อกันว่า “ไม่-เอา-รัฐ-ประ-หาร” เพื่อต่อต้านการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขณะที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเป็นประธานกล่าวเปิดโครงการ “คืนความสุขให้คนไทย รวมใจสู้ภัยแล้ง” เพื่อติดตามการดำเนินงานช่วยเหลือภัยแล้งและการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรมที่จังหวัดขอนแก่น ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 นักศึกษากลุ่มดาวดิน 5 คน จึงถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยควบคุมตัวไปปรับทัศนคติ โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวต่อมาว่า "เมื่อกี้ผมนึกว่ามีการแสดงมารับผม จริงๆ นะ เพราะปกติจะต้องมีการแสดง ไอ้นี่มาใหม่เว้ย ทำไมมันใส่ชุดดำ นึกว่ามาเต้นกระตั้วแทงเสือ"[1] จึงก่อให้เกิดข้อสงสัยแก่สื่อมวลชนและประชาชนจำนวนมากถึงเจตนาและความหมายที่แท้จริง

ประเด็นสำคัญของเหตุการณ์

การละเล่น “กระตั้วแทงเสือ”

“กระตั้วแทงเสือ” ตามพจนานุกรมศัพท์วรรณกรรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า เป็นการละเล่นของภาคกลางที่ดัดแปลงมาจากการละเล่น "กระอั้วแทงควาย" ซึ่งเป็นการละเล่นหลวงอันตกทอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ราษฎรจึงดัดแปลงให้ใกล้เคียงกับวิถีชีวิต ตัวละครประกอบด้วยบ้องตัน (มีหอกเป็นอาวุธ) เจ้าจุก (มีขวานเป็นอาวุธ) เจ้าแกละ (มีมีดอีโต้เป็นอาวุธ) นางเมียของบ้องตัน และเสืออย่างน้อย 11 ตัว เครื่องดนตรีประกอบการแสดง ได้แก่ ฆ้องโหม่ง ฉาบ โทน ฉิ่ง และกลองชาตรี การดำเนินเรื่องเป็นฉากที่บ้องตันรู้ข่าวว่าเจ้าเมืองประกาศหาผู้มีความสามารถไปปราบเสือสมิงที่ออกอาละวาดทำร้ายชาวบ้านจนบาดเจ็บล้มตาย โดยจะได้รับการตกรางวัลจำนวนมาก บ้องตันและพวกจึงอาสาปราบเสือสมิงจนสำเร็จลุล่วง และสามารถนำหัวเสือกลับมาถวายเจ้าเมืองได้ สำหรับรูปแบบการละเล่นเน้นความตื่นเต้นอันตรายซึ่งแฝงด้วยความสนุกสนาน เช่น การหลอกล้อ หลบหนี การกรีดร้อง และทำท่าทางตกใจ เป็นต้น[2] ปัจจุบันนิยมเล่นในงานบุญ ขบวนแห่ และมีการแสดงในภาคกลางเป็นส่วนใหญ่โดยเฉพาะในเขตธนบุรี โดยคณะแสดงหลายคณะ เช่น คณะศิษย์วัดสิงห์ คณะศิษย์หลวงพ่อขาว คณะศิษย์วัดสังข์กระจาย เป็นต้น [3]

กลุ่มดาวดิน

กลุ่มดาวดิน หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า “กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม” มีสมาชิกประมาณ 20 คน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และส่วนหนึ่งจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมีกิจกรรมหลักในรูปแบบอาสาสมัครและการออกค่ายเรียนรู้สังคมในประเด็นสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน[4] ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ของกลุ่มใช้ชื่อว่า วารสารดาวดิน เพื่อเป็นช่องทางสื่อสารกับสังคมจึงเป็นที่มาของชื่อเรียก “กลุ่มดาวดิน” เคยมีบทบาทร่วมเคลื่อนไหวกับประชาชนที่ประสบปัญหาจากโครงการภาครัฐและเอกชนในหลายพื้นที่ของภาคอีสาน เช่น การเคลื่อนไหวคัดค้านเหมืองแร่โปแตชในจังหวัดอุดรธานี การคัดค้านโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังที่จังหวัดขอนแก่น รวมถึงศึกษาการสร้างโรงงานไฟฟ้าในจังหวัดกาฬสินธุ์ และการเข้าขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่ปะทะกับประชาชนที่ร่วมคัดค้านกิจการเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย[5] รวมถึงการยื่นฟ้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ต่อศาลปกครอง กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาให้การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและขอให้เพิกถอนการเลือกตั้งดังกล่าว เนื่องจากผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจหน้าที่ในการนำเรื่องเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีอำนาจในการรับพิจารณาในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน [6]

การเคลื่อนไหวเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อต่อต้านการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เกิดขึ้นโดยกลุ่มดาวดิน เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 เป็นการเคลื่อนไหวสืบเนื่องจากกรณีที่ คสช. ได้มอบหมายให้หน่วยทหารในพื้นที่เมืองเลย เข้าดูแลกรณีเหมืองทองคำ จนนำไปสู่การแต่งตั้ง "คณะกรรมการแก้ไขปัญหาเหมืองทองคำจังหวัดเลย" 4 ชุด โดยกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด (ซึ่งเคลื่อนไหวคัดค้านเหมืองแร่ทองคำ ร่วมกับกลุ่มดาวดินมาโดยตลอด) ได้ยื่นจดหมายถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อคัดค้านการแต่งตั้งและผลการดำเนินงานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเหมืองทองคำจังหวัดเลยทั้ง 4 ชุด จนกระทั่งระหว่างวันที่ 24-27 พฤษภาคม 2557 ทหารได้เรียกแกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดและกลุ่มดาวดิน ไปรายงานตัวเพื่อปรับทัศนคติ แต่การเจรจาที่ไม่บรรลุผลทำให้มีการนำกฎอัยการศึกเข้ามาบังคับใช้ และห้ามไม่ให้คนนอกเข้าพื้นที่จนกว่าปัญหาจะยุติอย่างเด็ดขาด แรงกดดันดังกล่าวจึงปรากฏออกมาในรูปการต่อต้านเชิงสัญลักษณ์ ที่ถูกนายกรัฐมนตรีเรียกว่า “โชว์กระตั้วแทงเสือ” [7]

ผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์วันที่ 19 พฤศจิกายน 2557

ปฏิกิริยาของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และบุคคลในรัฐบาล

การต้านต้าน คสช. ด้วยการ “ชูสามนิ้ว” และเผยให้เห็นข้อความที่สกรีนบนเสื้อว่า “ไม่-เอา-รัฐ-ประ-หาร” เกิดขึ้นขณะที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังกล่าวเปิดงาน “คืนความสุขให้คนไทย รวมใจสู้ภัยแล้ง” โดยไม่ได้มีปฏิกิริยาโกรธเคืองแต่อย่างใด เพียงแต่หยุดนิ่งและมองไปที่นักศึกษากลุ่มดังกล่าว พร้อมกับหัวเราะในลำคอ และชี้ให้เห็นว่าการประท้วงไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์และไม่มีผลต่อรัฐบาลทั้งสิ้น เพราะประชาชนส่วนใหญ่ต่างเข้าใจการทำหน้าที่ของ คสช. และรัฐบาลเป็นอย่างดี การต่อต้านของกลุ่มดาวดินเป็นเพียงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งต้องเร่งหาข้อยุติให้ได้ตามเจตนารมณ์ของ คสช. ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่า


อย่างเหตุการณ์เมื่อสักครู่ ก็น่าจะส่งไปยังศูนย์ดำรงธรรม ถ้ามาอย่างนี้มันไม่ได้ประโยชน์ เมื่อกี้ผมนึกว่ามีการเอาการแสดงมารับผม จริงๆนะ เพราะปกติจะต้องมีการแสดงไอ้นี่มาใหม่เว้ย ทำไมมันใส่ชุดดำ นึกว่ามาเต้นกระตั้วแทงเสือ นึกว่าพี่น้องมาแสดงกัน ไม่เป็นไรไม่โกรธแค้นกัน พี่น้องทั้งนั้นคนไทยทั้งสิ้น คนไทยไม่รักคนไทยด้วยกันแล้วใครจะมารักเรา ถ้าเราไม่ร่วมมือกันแล้วใครจะมาทำให้เรา ถ้ารัฐบาลไม่ช่วยและดูแลประชาชนใครจะดู ขอฝากไปถึงพี่น้องซึ่งไม่ได้มาด้วย ขอให้กำลังใจกับข้าราชการที่ทำงาน อะไรที่เป็นเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ก็ขอให้เลิก ใครจะมาอ้างผมเรื่องผลประโยชน์ยืนยันว่าไม่มี ผมไม่ต้องการผลประโยชน์สลึงเดียวก็ไม่เอา (เน้นโดยผู้เรียบเรียง)[8]


ขณะที่ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงเหตุการณ์ว่าเป็นการฉวยโอกาสแฝงตัวเข้าไปพร้อมกับประชาชนที่ต้องการแสดงการต้อนรับนายกรัฐมนตรี ในระหว่างที่ผู้นำรัฐบาลมีความห่วงใยไปตรวจตราพื้นที่เยี่ยมเยียนและช่วยเหลือประชาชน จึงถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง หากต้องการแสดงออกก็มีเวทีให้แสดงความคิดเห็นหรือส่งข้อมูลต่างๆ เข้าไปยังสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)[9] ขณะที่การเคลื่อนไหวของกล่มดาวดินก็ถูกกระแสสังคมรวมถึงบุคคลในรัฐบาลวิพากษ์วิจารณ์ถึงเบื้องหลังการปฏิบัติการดังกล่าวว่ามีกลุ่มการเมืองบางกลุ่มให้การสนับสนุน พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (ผบ.กกล.รส.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2557 ว่ากลุ่มนักศึกษาถูกว่าจ้างมาเพื่อต้องการแย่งชิงพื้นที่สื่อของนายกรัฐมนตรี โดยได้รับการว่าจ้างมาจำนวน 50,000 บาท จากนักการเมืองในพื้นที่[10]

ผลกระทบต่อสมาชิกกลุ่มดาวดิน

ภายหลังการเคลื่อนไหวเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 ของสมาชิกกลุ่มดาวดิน เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงการต่อต้านรัฐประหาร ต่อหน้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. นักศึกษากลุ่มดาวดิน 5 คน ประกอบด้วย นายเจตน์สฤษฏิ์ นามโคตร นายวิชาญ อนุชน นายจตุภัทร บุญภัทรรักษา นายพายุ บุญโสภณ และนายวสันต์ เสกสิทธิ์ ถูกควบคุมตัว ณ ค่ายศรีพัชรินทร์ เพื่อปรับทัศนคติ ต่อมาจึงปล่อยตัวนักศึกษาทั้งหมดโดยไม่มีการแจ้งข้อหาใดๆ อย่างไรก็ตามวันที่ 20 พฤศจิกายน 2557 เจ้าหน้าที่ได้เรียกผู้ปกครองของนักศึกษาเพื่อรับฟังการปรับทัศนคติ และให้นักศึกษาแสดงความยินยอมตามเงื่อนไขไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง โดยมีเพียงนายเจตน์สฤษฏิ์ นามโคตร และนายพายุ บุญโสภณ เท่านั้นที่ยินยอมลงนาม ส่วนอีกสามคนยืนยันที่จะไม่ลงนามยินยอมรับเงื่อนไข [11]

ทั้งนี้วันที่ 22 พฤศจิกายน 2557 นักศึกษากลุ่มดาวดินออก "จดหมายจากบ้านดาวดิน ฉบับที่ 1" เปิดเผยว่าภายหลังสมาชิกกลุ่มทั้ง 5 คน ถูกปล่อยตัวจากค่ายศรีพัชรินทร์ ก็รู้สึกได้ถึงความไม่ปลอกภัยเพราะสังเกตเห็นรถหลายคันเฝ้าติดตามบริเวณหน้าบ้าน และหวาดกลัวว่าสมาชิกอีก 3 คนที่ไม่ยินยอมลงนามตามเงื่อนไขไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองจะได้รับความไม่ปลอดภัยจึงตัดสินใจแยกย้ายไปอยู่ในที่ปลอดภัย แม้แต่หนึ่งในสองคนที่ยินยอมลงชื่อตามเงื่อนไขแล้วก็รายงานว่ามีทหารนอกเครื่องแบบไปพบผู้ใหญ่บ้านเพื่อนำไปถ่ายรูปบ้านพักของนักศึกษา วันที่ 27 พฤศจิกายน 2557 สมาชิกกลุ่มดาวดิน 2 คน จึงขอเข้าพบเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้ข้อมูลและรายงานสถานการณ์การคุกคามสิทธิมนุษยชน [12]

หลังจากถูกตั้งข้อสงสัยว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มมีนักการเมืองอยู่เบื้องหลังและได้รับเงินจากกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม วันที่ 3 ธันวาคม 2557 ตัวแทนกลุ่มดาวดิน ประกอบด้วย นายพายุ บุญโสภณ นายธีรยุทธ สิมหลวง นายจิรวิชญ์ ฉิมมานุกุล และนายเจตน์สฤษฎิ์ นามโครต พร้อมกับ นางสาวศิริพร ฉายเพ็ชร เจ้าหน้าที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในกรณีที่พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ กล่าวปรักปรำการเคลื่อนไหวของกลุ่มดาวดิน เพราะเป็นการทำให้กลุ่มดาวดินได้รับความเสียหายและถูกสังคมมองไปในเชิงลบ โดยเจตนาที่แท้จริงของกลุ่มก็คือการมีจิตสำนึกพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยในการไม่ยอมรับรัฐประหาร ทั้งการประกาศกฎอัยการศึกก็เป็นเหตุให้กลุ่มไม่สามารถลงพื้นที่เคลื่อนไหวช่วยเหลือประชาชนได้อีกด้วย ขณะเดียวกันการกล่าวหาว่ารับเงินจากนักการเมืองบางกลุ่มมานั้นก็ไม่มีมูลความจริง ขณะเดียวกัน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ก็ยืนยันว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับการกลุ่มเดียวดินมีบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ทำให้ทราบว่าเป็นกลุ่มที่มีแนวคิดการเมืองภาคประชาชน แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแย่งชิงผลประโยชน์ของนักการเมืองและไม่ได้รับเงินจากนักการเมืองแต่อย่างใด [13]

ผลกระทบด้านอื่นๆ

เหตุการณ์ที่นักศึกษากลุ่มดาวดินแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อต่อค้านคัดค้านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงให้เห็นความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของทีมอารักขาบุคคลสำคัญ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 พล.ต.ท.บุญเลิศ ใจประดิษฐ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงในการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมทั้งมีคำสั่งย้ายนายตำรวจ 5 นาย ให้ไปปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์ปฏิบัติการภาค 4 ประกอบด้วย พ.ต.อ.สุภากร คำสิงห์นอก รองผบก.ภ.จ.ขอนแก่น รักษาราชการแทน ผกก.เมืองขอนแก่น พ.ต.อ.พงศ์ฤทธิ์ คงศิริสมบัติ ผกก.สส.ภ.จ.ขอนแก่น พ.ต.ท.อนุศักดิ์ ศักดาวัชรานนท์ รอง ผกก.ป.สภ.เมืองขอนแก่น พ.ต.ต.จีรัชติกุล จรัสกมลพงษ์ สวป.เมืองขอนแก่น และ พ.ต.ต.ชาติชาย ทิมินกุล สว.สส.เมืองขอนแก่น สำหรับการปฏิบัติงานอารักขาบุคคลสำคัญในครั้งนี้ตำรวจได้ประสานกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ฝ่ายปกครอง ทหาร สันติบาล และหน่วยงานที่รับผิดชอบ[14] โดยกำหนดให้พื้นที่รอบนอกตัวงานเป็นพื้นที่รับผิดชอบของตำรวจ ซึ่งมีการคัดกรองทั้งอาวุธปืน ตัวบุคคลที่จะเข้าไปในงาน ส่วนพื้นที่ภายในบริเวณตัวงานเป็นพื้นที่ความรับผิดชอบฝ่ายทหาร อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน (ฉบับวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557) ตั้งข้อสังเกตว่า คำสั่งย้ายนายตำรวจ 5 นาย ในจังหวัดขอนแก่นนี้เกิดขึ้นในช่วงการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจประจำปี ดังนั้นหากเกิดสถานการณ์การต่อต้าน คสช. ขึ้นในจังหวัดใด ตำรวจท้องที่ก็อาจกลายเป็น “แพะรับบาป” เพราะหากพิจารณาจากคำสั่งย้ายดังกล่าวแล้วไม่ปรากฏชื่อ พล.ต.ต.จิตรจรูญ ศรีวนิชย์ ผบก.จ.ขอนแก่น ในฐานะหัวหน้าหน่วยแต่อย่างใด อาจเนื่องมาจากเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่น 36 ซึ่งขณะนี้กำลังมีบทบาทอย่างสูงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงส่งผลต่อขวัญกำลังของแวดวงตำรวจในทุกระดับ [15]

การเมืองเชิงสัญลักษณ์: อ่านหนังสือ-กินแซนวิช-ชูสามนิ้ว กับ กระตั้วแทงเสือ

การต่อต้านการยึดอำนาจของ คสช. เกิดขึ้นทันทีหลังคณะรัฐประหารซึ่งนำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แต่ส่วนใหญ่แล้วอาศัยยุทธวิธีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ตามแนวทางสันติวิธีสัญลักษณ์ที่ผู้ต่อต้านใช้สื่อแสดงมีตั้งแต่การจับกลุ่มรวมตัวกันอ่านหนังสือนวนิยายชื่อดังอย่าง หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ (1984) ของ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) [16] ซึ่งฉายภาพไปถึงบรรยากาศที่เผด็จการเบ็ดเสร็จเรืองอำนาจจนกระทั่งการคิด การพูด การแสดงความคิด และการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนต่างถูกตรวจสอบควบคุมในทุกมิติของชีวิตภายใต้วลีที่ว่า “พี่เบิ่มกำลังมองคุณอยู่” (Big Bother is Watching You) นอกจากนั้นผู้ต่อต้านการรัฐประหารของ คสช. ยังใช้ “แซนวิช” ในการแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วย ซึ่งไม่เพียงเป็นการจับกลุ่มกันเพื่อท้าทายต่อกฎอัยการศึกที่ห้ามมิให้ชุมนุมทางการเมืองกันเกิน 5 คน เท่านั้น แต่การแจกแซนวิช/กินแซสวิช ซึ่งเป็นอาหารในชีวิตประจำวันยังเป็นสัญลักษณ์ว่าการดำเนินวิถีชีวิตปกติภายใต้การปกครองของ คสช. เป็นไปได้อย่างยากยิ่ง เช่นเดียวกับการ “ชูสามนิ้ว” (นิ้วชี้-นิ้วกลาง-นิ้วนาง) ก็เริ่มปรากฏให้เห็นอย่างแพร่หลายตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน 2557 จากภาพยนตร์เรื่อง The Hunger Games ซึ่งสร้างจากนิยายขายดีของซูซาน คอลลินส์ (Suzanne Collins) แม้สัญลักษณ์การชูสามนิ้วในภาพยนตร์และนิยายจะมีความหมายถึง “การขอบคุณ-การชื่นชม-การบอกลาคนที่รัก” แต่กระนั้นความหมายทางวัฒนธรรมก็สามารถสลับซับเปลี่ยนไปตามความมุ่งหมายของผู้ใช้ได้เสมอ ในแง่นี้การชูสามนิ้วจึงหมายถึงการต่อต้านแข็งขืนต่ออำนาจรัฐที่กระทำต่อประชาชนไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตามเมื่อการอ่าน หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ (1984), การกินแซนวิช, และการชูสามนิ้ว ถูกแปรสภาพเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านแข็งขืนอำนาจรัฐ การที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความหมายการกระทำของกลุ่มดาวดินที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 ว่า “กระตั้วแทงเสือ” ก็ย่อมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของการยืนยันในความชอบธรรมในอำนาจของผู้ที่เหนือกว่าได้เช่นกัน ศรีศักร วัลลิโภดม ตั้งข้อสังเกตว่า เนื้อเรื่องของการแสดงกระตั้วแทงเสือ แม้ไม่มีความหมายทางการเมืองใดๆ แฝงอยู่เลย นอกจากเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการนำไปเปรียบเทียบเพื่อประชดประชันก็สามารถทำได้ เพราะการชูสามนิ้วที่ถูกเปรียบเทียบเป็นการแสดงกระตั้วแทงเสือ ถือเป็นการดูถูกนายกรัฐมนตรี เสมือนเป็นแค่คนป่าเถื่อนที่ริจะแทงเสือ[17] ขณะที่ พลเอกเอกชัย ศีวิลาส ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธี สถาบันพระปกเกล้า และรองประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้ทัศนะที่น่าสนใจยิ่งว่า การแสดงออกของนักศึกษาสะท้อนความตึงแย้ง (tension) ของผู้คนในสังคมที่ดำรงอยู่ จึงแสดงความไม่พอใจออกมา ทั้งการไม่มีพื้นให้คนที่ไม่เห็นด้วยได้แสดงออก “การแสดงออกของนักศึกษา เสมือนกระจกที่สะท้อนความเป็นจริงของสังคมออกมา ทางแก้ไขต้องไม่ใช่การไปทุบกระจกให้แตก แต่ต้องช่วยกันขัดกระจกให้สะอาด เพื่อที่เราจะได้เห็นภาพสะท้อน ของแต่ละฝ่ายได้ดียิ่งขึ้น” [18]

บรรณานุกรม

“กลุ่มดาวดินแต่งคนป่าฟ้องศาลปกครอง ยัน 'ผู้ตรวจการฯ' ไม่มีอำนาจยื่นเลือกตั้งโมฆะ.” ประชาไท. (24 มีนาคม 2557). เข้าถึงจาก <http://prachatai.org/journal/2014/03/52427>. เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2558.

“การเมือง“สัญลักษณ์” ปมปริศนา-โจทย์การเมือง.” บ้านเมือง. (23 พฤศจิกายน 2557). 3.

จอร์จ ออร์เวลล์. (2555). หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่. แปลโดย รัศมี เผ่าเหลืองทอง และ อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: สมมติ.

“แฉนศ.ชู3นิ้วถูกจ้างป่วนนายกฯ.” เดลินิวส์. (1 ธันวาคม 2557). 9.

“‘ดาวดิน' พบสำนักข้าหลวงใหญ่สิทธิ UN ให้ข้อมูลคุกคามสิทธิ.” ประชาไท. (27 พฤศจิกายน 2557). เข้าถึงจาก <http://www.prachatai.com/journal/2014/11/56725>. เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2558.

“‘ดาวดิน' ร้อง กสม. สอบ มทภ.1.” ไทยรัฐ. (4 ธันวาคม 2557). 16.

“ดาวดินระบุถูกคุกคามต่อเนื่อง แต่ยังปลอดภัยดี.” ประชาไท. (22 พฤศจิกายน 2557). เข้าถึงจาก <http://www.prachatai.com/journal/2014/11/56638>. เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2558.

“ต้องแสวงความมือ.” คม ชัด ลึก. (24 พฤศจิกายน 2557). 4.

“‘ทหาร' ไม่เอาผิด ปล่อยตัว 5 นศ.กลุ่มดาวดิน.” ไทยรัฐ. (21 พฤศจิกายน 2557). 16.

“‘บิ๊กโด่ง' ชี้ น.ศ. ประท้วงไม่เหมาะ.” มติชน. (20 พฤศจิกายน 2557). 13.

“บิ๊กตู่ เทียบ นศ.ชู3นิ้ว นึกว่ามาเต้น "กระตั้วแทงเสือ" ว่าแต่ใครรู้บ้างมันคืออะไร?.” มติชนออนไลน์. (19 พฤศจิกายน 2557). เข้าถึงจาก <http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1416389380>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2558.

ประชา บูรพาวิถี. “ระเบิด "ดาวดิน" จากเหมืองทอง.” ประชาชาติธุรกิจ. (21 พฤศจิกายน 2557). เข้าถึงจาก <http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/618838>. เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2558.

“ย้าย 5 ตำรวจขอนแก่น สังเวย “กระตั้วแทงเสือ”." ผู้จัดการรายวัน. (25 พฤศจิกายน 2557). 11.

“รู้จัก 'กระตั้วแทงเสือ' คำพูดติดตลกของ "บิ๊กตู่' กรณีนศ.ชู 3 นิ้ว." ผู้จัดการรายวัน. (19 พฤศจิกายน 2557).

ศิริวรรณ ป้องคำสิงห์. (2553). "การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา สาระนาฏศิลป์ หน่วยการเรียนรู้ เรื่องกระตั้วแทงเสือ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สำนักงานเขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร." (วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาหลักสูตรและการสอน มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี). สิทธิชัย นครวิลัย. "ถอดรหัส‘กระตั้วแทงเสือ’." คม ชัด ลึก. (21 พฤศจิกายน 2557). 3.

“สมาชิกกลุ่มดาวดิน.” เดลินิวส์. (20 พฤศจิกายน 2557). 2.

“เส้นทางการเคลื่อนไหวของนศ.กลุ่มดาวดิน." มติชนออนไลน์. (24 พฤศจิกายน 2557). เข้าถึงจาก <http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1416823130>. เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2558.

อ้างอิง

  1. สิทธิชัย นครวิลัย, "ถอดรหัส‘กระตั้วแทงเสือ’," คม ชัด ลึก, (21 พฤศจิกายน 2557), 3.
  2. ศิริวรรณ ป้องคำสิงห์, "การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา สาระนาฏศิลป์ หน่วยการเรียนรู้ เรื่องกระตั้วแทงเสือ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สำนักงานเขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร," (วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาหลักสูตรและการสอน มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี, 2553), หน้า 58-62.
  3. "รู้จัก 'กระตั้วแทงเสือ' คำพูดติดตลกของ "บิ๊กตู่' กรณีนศ.ชู 3 นิ้ว," ผู้จัดการรายวัน, (19 พฤศจิกายน 2557).
  4. "สมาชิกกลุ่มดาวดิน," เดลินิวส์, (20 พฤศจิกายน 2557), 2.
  5. "เส้นทางการเคลื่อนไหวของนศ.กลุ่มดาวดิน," มติชนออนไลน์, (24 พฤศจิกายน 2557). เข้าถึงจาก <http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1416823130>. เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2558.
  6. "กลุ่มดาวดินแต่งคนป่าฟ้องศาลปกครอง ยัน 'ผู้ตรวจการฯ' ไม่มีอำนาจยื่นเลือกตั้งโมฆะ," ประชาไท, (24 มีนาคม 2557). เข้าถึงจาก <http://prachatai.org/journal/2014/03/52427>. เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2558.
  7. ประชา บูรพาวิถี, "ระเบิด "ดาวดิน" จากเหมืองทอง," ประชาชาติธุรกิจ, (21 พฤศจิกายน 2557). เข้าถึงจาก <http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/618838>. เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2558.
  8. "บิ๊กตู่ เทียบ นศ.ชู3นิ้ว นึกว่ามาเต้น "กระตั้วแทงเสือ" ว่าแต่ใครรู้บ้างมันคืออะไร?," มติชนออนไลน์, (19 พฤศจิกายน 2557). เข้าถึงจาก <http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1416389380>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2558.
  9. "'บิ๊กโด่ง' ชี้ น.ศ. ประท้วงไม่เหมาะ," มติชน, (20 พฤศจิกายน 2557), 13.
  10. "แฉนศ.ชู3นิ้วถูกจ้างป่วนนายกฯ," เดลินิวส์, (1 ธันวาคม 2557), 9.
  11. "'ทหาร' ไม่เอาผิด ปล่อยตัว 5 นศ.กลุ่มดาวดิน," ไทยรัฐ, (21 พฤศจิกายน 2557), 16.
  12. "'ดาวดิน' พบสำนักข้าหลวงใหญ่สิทธิ UN ให้ข้อมูลคุกคามสิทธิ," ประชาไท, (27 พฤศจิกายน 2557). เข้าถึงจาก <http://www.prachatai.com/journal/2014/11/56725>. เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2558.
  13. "’ดาวดิน' ร้อง กสม. สอบ มทภ.1," ไทยรัฐ, (4 ธันวาคม 2557), 16.
  14. "ต้องแสวงความมือ," คม ชัด ลึก, (24 พฤศจิกายน 2557), 4.
  15. "ย้าย 5 ตำรวจขอนแก่น สังเวย “กระตั้วแทงเสือ”," ผู้จัดการรายวัน, (25 พฤศจิกายน 2557), 11.
  16. จอร์จ ออร์เวลล์, หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่, แปลโดย รัศมี เผ่าเหลืองทอง และ อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ: สมมติ, 2555).
  17. สิทธิชัย นครวิลัย, "ถอดรหัส‘กระตั้วแทงเสือ’," คม ชัด ลึก, (21 พฤศจิกายน 2557), 3.
  18. "การเมือง“สัญลักษณ์” ปมปริศนา-โจทย์การเมือง," บ้านเมือง, (23 พฤศจิกายน 2557), 3.