แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุทธิกานต์ มีจั่น

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

 

          หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย หมายถึง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (อุ๊งอิ๊ง) บุตรสาวคนเล็กของ ดร.ทักษิณ_ชินวัตร ผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งภายหลังถูกรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 รวมทั้งยังเป็นหลานของ นางสาวยิ่งลักษณ์_ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งภายหลังถูกรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 โดยตำแหน่งหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ได้รับการประกาศขึ้นในงานเปิดตัว “ครอบครัวเพื่อไทย : บ้านหลังใหญ่ หัวใจเดิม” ที่ศูนย์ประชุมมณฑาทิพย์ จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นการจัดงานครั้งใหญ่ของพรรคเพื่อไทยเป็นครั้งที่ 2 ของพรรคเพื่อไทย เพื่อเตรียมการเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2566 โดยก่อนหน้านั้น นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมของพรรคเพื่อไทย

 

ภาพ : แพทองธาร ชินวัตรหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย[1]

Head of the Pheu Thai family (1).png
Head of the Pheu Thai family (1).png

 

การเปิดตัวครอบครัวเพื่อไทย

          บนเวทีกิจกรรมเปิดตัว “ครอบครัวเพื่อไทย : บ้านหลังใหญ่ หัวใจเดิม” ที่ จ.อุดรธานี บุคคลสำคัญของพรรคเพื่อไทยได้เล่าถึงความสำเร็จและชะตากรรมที่พรรคได้เผชิญตั้งแต่เป็นพรรคไทยรักไทย โดยนายสุทิน คลังแสง ที่ได้ชี้ให้เห็นว่าครอบครัวแรกของตน คือ พรรคไทยรักไทย เกิดขึ้นครั้งแรกภายใต้การนำของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่มาพร้อมความหวังของพี่น้องประชาชนขณะนั้น ชาวบ้านอยู่ดีกินดี ลืมตาอ้าปาก และได้เรียนรู้ประชาธิปไตยกินได้ ในขณะที่ประเทศไทยที่กำลังแข็งแรงเกิดกระบวนการถอดปลั๊กประเทศด้วยคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคไทยรักไทย เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 จากนั้นจึงได้ร่วมกันสร้างบ้านหลังใหม่ที่แข็งแรงกว่าเดิมชื่อพรรคพลังประชาชน

          จากนั้น นายประเสริฐ จันทรรวงทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.นครราชสีมา ได้ชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการในเวลาต่อมาว่า เมื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองภายใต้ชื่อพรรคพลังประชาชน สมาชิกพรรคไทยรักไทยเดิมที่แตกกระฉานซ่านเซ็นได้กลับมาอยู่ร่วมกันอีกครั้ง และทำงานภายใต้พันธุกรรมหรือ DNA เดิมของพรรคเพื่อไทย ซึ่งรัฐบาลที่นำโดยพรรคพลังประชาชนได้บริหารประเทศท่ามกลางวิกฤตโลกและเร่งแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้แก่ประชาชน แต่สุดท้ายผู้นำของพรรคพลังประชาชนในขณะนั้น คือ นายสมัคร_สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีได้ถูกศาลตัดสินให้พ้นจากตำแหน่ง ในขณะที่ นายสมชาย_วงศ์สวัสดิ์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและนายกรัฐมนตรีคนต่อมาก็ไม่สามารถเข้าทำเนียบรัฐบาลได้ เนื่องจากถูกกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยปิดล้อมทำเนียบ จนต่อมาพรรคพลังประชาชนถูกยุบพรรค ทำให้สมาชิกแตกกระเซ็นอีกครั้งไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งยังคงรวมตัวและเลือกที่จะตั้งพรรคอีกครั้งชื่อพรรคเพื่อไทย โดยในขณะนั้นมีพี่น้องคนเสื้อแดงออกมาต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างท่วมท้น

          ต่อมา นางสาวธีรรัตน์ สําเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานครและโฆษกพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำพรรครุ่นใหม่ได้นำเสนอว่า พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งใน วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วยนโยบายของรัฐบาลทั้งค่าแรงขั้นต่ำ กองทุนหมู่บ้าน กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ นโยบายจำนำข้าว นโยบายพักชำระหนี้เกษตรกร เป็นต้น ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี และเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทย เป็นบ้านหลังใหญ่ที่อยู่เคียงข้างประชาชน แม้จะมีความพยายามจากกลุ่มคนที่จะทำลายพรรครวมทั้งการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 แต่สมาชิกพรรคและผู้สนับสนุนยังจับมือกันแน่นเพื่อฝ่าฟันไปด้วยกันตลอด 8 ปีที่ผ่านมา หลังจากการรัฐประหารประเทศไทยต้องสูญเสียโอกาส พรรคเพื่อไทยจะกลับมาสานต่อนโยบายให้สำเร็จ เพื่อคืนความหวัง และคืนชีวิตใหม่ให้กับประชาชนอีกครั้ง ให้สมกับความเชื่อมั่นที่มีมาให้แก่พรรคมาโดยตลอดระยะเวลากว่าสองทศวรรษตั้งแต่เป็นพรรคไทยรักไทย

          โดย นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.น่าน ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จึงได้เป็นผู้สรุปและต้อนรับให้สมาชิกและผู้สนับสนุนให้เข้ามาแสวงหาความหวัง โอกาส และอนาคตให้กับตัวเอง และลูกหลานภายใต้พรรคเพื่อไทย ซึ่งถือเป็นบ้านหลังใหญ่หัวใจเดิม เพราะครอบครัวเพื่อไทยมีเป้าหมายและหัวใจเพื่อประชาชน โดยพรรคเพื่อไทยตั้งใจสร้างอนาคตและครอบครัวเพื่อไทยจะเป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับการเมืองภาคประชาชน[2] ทั้งนี้ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ได้เป็นผู้ประกาศว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นผู้นำครอบครัวเพื่อไทย ซึ่งเป็นผู้มีสายเลือด มีดีเอ็นเอของคนที่มีเจตนาจะสร้างบ้านสร้างเมืองนี้ในนามของพรรคไทยรักไทยซึ่งหมายถึง ดร.ทักษิณ ชินวัตร[3]

 

ภาพ : งานเปิดตัวหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย จ.อุดรธานี[4]

Head of the Pheu Thai family (2).jpg
Head of the Pheu Thai family (2).jpg
Head of the Pheu Thai family (3).jpg
Head of the Pheu Thai family (3).jpg

 

          ในการเปิดตัวดังกล่าว นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้ขึ้นเวทีกล่าวในหัวข้อ “ครอบครัวกับก้าวต่อไปของครอบครัวเพื่อไทย” เพื่อนำเสนอและยืนยันให้แก่สมาชิกพรรคและมวลชนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยว่า พรรคเพื่อไทยต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เหมือนที่รัฐบาลตั้งแต่ไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทยเคยทำในอดีต และจะต้องทำให้พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ดีกว่าเดิม มีพันธุกรรม (DNA) เดิมเก็บไว้แต่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน และพรรคเพื่อไทยไม่ลืมรากหญ้าที่สนับสนุนพรรคตั้งแต่วันแรก[5]

          กล่าวได้ว่าการเปิดตัว นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในฐานะหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยปรากฏภาพของการสนับสนุนจากแกนนำคนสำคัญของพรรค ได้แก่ นายชัยเกษม นิติสิริ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค รวมทั้งสมาชิกพรรคคนสำคัญอื่น ๆ อาทิ นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด น.ส.ธีรรัตน์ สําเร็จวาณิชย์ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล และนพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เป็นต้น และมีประชาชนเข้าร่วมงานกว่า 1,500 คน

          อย่างไรก็ดี ภายหลังได้มีการแต่งตั้ง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ต่อมาใน วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ได้มีคำสั่งพรรคเพื่อไทยแต่งตั้ง นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย โดยให้มีอำนาจหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย รวมทั้งเป็นคณะกรรมการพิจารณาเกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์ทางการเมืองของพรรค โดยเน้นไปทางด้านเศรษฐกิจรวมถึงยังยินดีรับอาสามาช่วยรณรงค์หาเสียงและประชาสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทยในทุกมิติ[6]

 

บทบาทของหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย

          ภายหลังการเปิดตัวหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ที่ จ.อุดรธานี กล่าวได้ว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในฐานะหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยและกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยนับตั้งแต่นั้น เป็นต้นมา โดยเฉพาะในการเลือกตั้งซ่อมนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 ได้มีการนำภาพของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นำมาใช้ติดแผ่นป้ายหาเสียงร่วมกับ นางสาวเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ รวมทั้งได้นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทยมาช่วยนางสาวเฉลิมขวัญ ซึ่งทำให้ชาวกาฬสินธุ์ตื่นตัวออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งและได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งซ่อมนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ในที่สุด[7]

 

ภาพ : การขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงการเลือกตั้งซ่อมนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ดของหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย[8]

Head of the Pheu Thai family (4).jpg
Head of the Pheu Thai family (4).jpg

 

          บทบาทของหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยได้รับความสนใจอย่างมาก เมื่อแพทองธารร่วมกับ นายจาตุรนต์ ฉายแสง และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้ขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วย นายเศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์ ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด ที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งซ่อมเดือนกันยายน พ.ศ. 2565[9] และมีบทบาทอย่างมากในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ที่มีบทบาทมากยิ่งขึ้นในฐานะที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็น 1 ใน 3 ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยร่วมกับ นายเศรษฐา ทวีสิน และนายชัยเกษม นิติสิริ ท่ามกลางความคาดหวังของแกนนำพรรคที่ต้องการเห็นชัยชนะแบบ แลนด์สไลด์ ที่พรรคเพื่อไทยคาดหวังจะได้รับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 310 เสียง พร้อมการรณรงค์หาเสียงหลายเวทีด้วยการประกาศ “คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน”[10] ทั้งนี้ แพทองธารหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ได้รับการจับตามองว่าอาจเป็นคนการเมืองคนที่ 4 ในครอบครัวชินวัตร ในฐานะบุคคลที่อาจเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีต่อจากอดีตนายกรัฐมนตรี 3 คนคือ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นพ่อ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ผู้เป็นอาเขย และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้เป็นอา[11]

 

ภาพ : แพทองธาร ชินวัตร ในงานปราศรัยครั้งสุดท้ายของพรรคเพื่อไทยก่อนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ที่อิมแพ็คอารีนา เมืองทองธานี [12]

Head of the Pheu Thai family (5).png
Head of the Pheu Thai family (5).png
Head of the Pheu Thai family (6).jpg
Head of the Pheu Thai family (6).jpg

         

          อย่างไรก็ดี การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 3 ในวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน ได้รับการลงมติเห็นชอบจากเสียงข้างมากในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาด้วยคะแนน 482 เสียง จากทั้งหมด 748 เสียง โดยการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีตรงกับวันที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทยเดินทางกลับประเทศไทย หลังจากหนีคดีออกจากประเทศไทยไปใช้ชีวิตในต่างประเทศตั้งแต่ วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2551[13] โดยชัยชนะในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีดังกล่าวได้รับการลงมติเห็นชอบจากวุฒิสภา จำนวน 152 เสียง ตลอดจนได้รับการสนับสนุนจากอดีตพรรคร่วมรัฐบาล ได้แก่ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา สมาชิกส่วนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ อดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมอย่างพรรคประชาชาติและเสรีรวมไทย เป็นต้น รวมทั้งพรรคขนาดเล็กอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับการสนับสนุนในฐานะว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลจากพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งเป็นพรรคที่นำโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่งผลให้เกิดข้อโจมตีถึงจุดยืนของพรรคเพื่อไทยที่เคยประกาศต่อต้านเผด็จการและนำมาสู่การประกาศลาออกจากพรรคเพื่อไทยของสมาชิกพรรค ได้แก่ นางสาวทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายชานันท์ ยอดหงษ์ หรือ ปกป้อง ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศพรรคเพื่อไทย รวมทั้งแนวร่วมนักกิจกรรมทางการเมืองอื่น ๆ ที่ประกาศยุติความเคลื่อนไหว รวมถึงตัดขาดจากการทำกิจกรรมร่วมกับพรรคเพื่อไทย อาทิ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด และ ณัฐฏธิดา มีวังปลา อดีตหัวหน้าพยาบาลอาสาในวัดปทุมฯ ผู้อยู่ในเหตุการณ์ล้อมปราบเสื้อแดง ความไม่พอใจต่อการจัดตั้งรัฐบาลผสมของพรรคเพื่อไทยร่วมกับอดีตพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามและมีบทบาทสนับสนุนการรัฐประหารยังได้นำมาสู่การประกาศยุติบทบาทผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทยของ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลผสมของพรรคเพื่อไทยขัดต่อวิถีการเมืองและจุดยืนทางการเมืองของนายณัฐวุฒิซึ่งเคยเป็นอดีตแกนนำคนสำคัญของกลุ่มคนเสื้อแดง [14]

 

อ้างอิง

[1] “อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ปักธงเป็นรัฐบาลสมัยหน้า”, สืบค้นจาก https://www.prachachat.net/politics/news-890750 (25 มิถุนายน 2566).

[2] “อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ปักธงเป็นรัฐบาลสมัยหน้า”, สืบค้นจาก https://www.prachachat.net/politics/news-890750 (25 มิถุนายน 2566).

[3] “เปิดตัว ‘อุ๊งอิ๊ง’ หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ลุยสร้างบ้านหลังใหญ่หัวใจเดิม”, สืบค้นจาก https://www.matichon.co.th/ politics/ news_3242754#google_vignette (25 มิถุนายน 2566).

[4] “เปิดตัว ‘อุ๊งอิ๊ง’ หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ลุยสร้างบ้านหลังใหญ่หัวใจเดิม”, สืบค้นจาก https://www.matichon.co.th/ politics/ news_3242754#google_vignette (25 มิถุนายน 2566).

[5] “อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ปักธงเป็นรัฐบาลสมัยหน้า”, สืบค้นจาก https://www.prachachat.net/politics/news-890750 (25 มิถุนายน 2566).

[6] “พท. แต่งตั้ง 'เศรษฐา ทวีสิน' เป็น ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย”, สืบค้นจาก https:// www.pptvhd36.com/news/การเมือง/191597(25 มิถุนายน 2566).

[7] “แลนด์สไลด์ "อุ๊งอิ๊ง" นำชัย ไข่มุกนั่งนายก อบจ.กาฬสินธุ์”, สืบค้นจาก https://www.komchadluek.net/scoop/thong-yuttaphop/526166 (25 มิถุนายน 2566).

[8] “ร้องชัดเจนกฎเหล็ก180วัน ‘พท.’เฮอบจ.ร้อยเอ็ดแลนด์สไลด์”, สืบค้นจาก https://www.matichon.co.th/politics/news_3582563  (25 มิถุนายน 2566).

[9] “แลนด์สไลด์ “อุ๊งอิ๊ง” อุ้ม “เศกสิทธิ์” คว้าชัยนายก อบจ.ร้อยเอ็ด”, สืบค้นจาก https://www.komchadluek.net/scoop/thong-yuttaphop/531051(25 มิถุนายน 2566).

[10] “เปิดประวัติ แพทองธาร ชินวัตร สายเลือดการเมือง สานฝันแลนด์สไลด์”, สืบค้นจาก https://www.prachachat.net/person/news-1254616(25 มิถุนายน 2566).

[11] “ประวัติ แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ ลุยหาเสียงเลือกตั้ง 66 ทั้งที่ท้องแก่”, สืบค้นจาก https://www.springnews. co.th/ news/election66/837987(25 มิถุนายน 2566).

[12] “อัลบั้มภาพ : อุ๊งอิ๊งค์ ขึ้นเวทีปราศรัยโค้งสุดท้าย ลั่น ยุคพรรคเพื่อไทยจะกลับมา เศรษฐกิจดีทุกอย่าง”, สืบค้นจาก https://news.ch7. com/detail/643361(25 มิถุนายน 2566).

[13] “ทักษิณกลับไทย : "ทักษิณ" คืนกลับแผ่นดินเกิดในรอบ 17 ปี”, สืบค้นจาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/330873 (31 สิงหาคม 2566).

[14] “2 ลุงเป็นเหตุ! 6 สมาชิก 'เพื่อไทย' ยื่นลาออกแล้ว”, สืบค้นจาก https://www.ejan.co/politics/mahfybw4f8 (31 สิงหาคม 2566).