เสรีไท (พ.ศ.2542)
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พรรคเสรีไท
พรรคเสรีไทได้ยื่นจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง โดยอาศัยความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2542 โดยได้รับการจดแจ้งลงในทะเบียนพรรคการเมืองเลขที่ 3/2542 มี นายสมเดช บ้วนกระโทก ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ส่วนคณะกรรมการบริหารพรรคในตำแหน่งที่สำคัญ มีรายนามดังต่อไปนี้
นายสุธี พัวทัศนานนท์ ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค
นายสุพรัชต์ จิตแกล้ว ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค
นายสามารถ ตรับศิลานันท์ ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรค
นายชรินทร์ เปลี่ยนกระโทก ดำรงตำแหน่งเหรัญญิกพรรค
และ นายสมชาย กุดสระน้อย ดำรงตำแหน่งโฆษกพรรค
ในด้านนโยบายของพรรคนั้น พรรคเสรีไทได้รวบรวมสาระสำคัญที่เป็นปัญหาของประชาชนมาจัดทำขึ้นเป็นนโยบายของพรรค โดยแบ่งออกเป็น 10 ด้าน ซึ่งนโยบายแต่ละด้านนั้นสามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังต่อไปนี้
นโยบายด้านการเมืองการปกครองนั้น มุ่งจะส่งเสริม สนับสนุน และจัดให้มีมาตรการเพื่อพัฒนาระบบพรรคการเมืองและนักการเมืองของประเทศให้มีความรู้ความสามารถ สนับสนุนการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจัง และพัฒนาโครงสร้างและประสิทธิภาพของระบบการบริหารราชการแผ่นดิน
นโยบายด้านเศรษฐกิจและการคลัง ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตผลทางภาคเกษตรกรรม ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมทุกประเภทที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติ ผลักดันให้มีเมืองท่าปลอดภาษี และเมืองท่าขนส่งสินค้านานาชาติ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าภายในภูมิภาค และจะต้องพัฒนาระบบจัดเก็บภาษีขึ้นใหม่เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนและเกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนอย่างแท้จริง
นโยบายด้านสังคม กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมนั้น จะให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้ พัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน และบริการด้านสุขอนามัยเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน
นโยบายด้านการศึกษา ให้ความสำคัญต่อการศึกษา โดยจะเพิ่มการศึกษาภาคบังคับจาก 12 ปีเป็น 15 ปี สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีมาตรฐานเท่าเทียมกับนานาประเทศ
นโยบายด้านสาธารณสุข จะเน้นการพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพในการดำเนินงานของสถานพยาบาลของรัฐทั้งในระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด เพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างเท่าเทียมกัน ตลอดจนจัดหามาตรการในการเพิ่มงบประมาณและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ของประเทศให้มีความรู้ ความสามารถ ได้มาตรฐาน และมีเพียงพอกับความต้องการของประชาชน รวมทั้งพัฒนาการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานของประชาชนให้ได้มาตรฐานด้วย
นโยบายด้านการเกษตร จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาความรู้ความสามารถของเกษตรกร และพัฒนาคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร ด้วยวิธีการเกษตรแบบครบวงจร เพื่อลดต้นทุนและใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีภายในประเทศอย่างคุ้มค่า สนับสนุนการวิจัยทางการการเกษตรทุกประเภทอย่างจริงจัง เพื่อพัฒนาคุณภาพผลิตผลทางการเกษตร โดยการเผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชนเกี่ยวกับการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และการผลิตอาหารเอการบริโภคภายในประเทศ ตลอดจนทำเป็นสินค้าส่งออกที่ได้มาตรฐานของโลก
นโยบายด้านอุตสาหกรรม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม จะส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับผลผลิตทางการเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมอื่นๆเพื่อการส่งออก จัดหามาตรการเพื่อพัฒนาให้อุตสาหกรรมที่รัฐบาลสนับสนุนเหล่านี้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตลอดจนจัดหามาตรการในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในทุกๆด้าน และพัฒนาการศึกษา วิจัย และนำเทคโนโลยีที่ทันสมันมาพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในทางที่ถูกต้อง
นโยบายด้านการสื่อสารและคมนาคม จะสนับสนุนและพัฒนาระบบโครงสร้างขนส่งมวลชนและสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาชนให้มีประสิทธิภาพและมีราคาถูก สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึงกันทั้งประเทศ ตลอดจนส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคม และการสื่อสารในภูมิภาคเอเชีย
นโยบายด้านการต่างประเทศ พรรคเสรีไทจะดำเนินนโยบายวางตัวเป็นกลางกับทุกประเทศ สนับสนุนความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคเอเชียทุกประเทศอย่างแน่นแฟ้น เพื่อสร้างความมีเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจในภูมิภาค
และนโยบายด้านสวัสดิภาพและแรงงาน รัฐจะสนับสนุนการเพิ่มอัตราการจ้างงานทั้งในภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม โดยการพัฒนาคุณภาพฝีมือแรงงานให้มีคุณภาพ กำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานให้มีความเหมาะสม สนับสนุนให้มีการประกันสภาพการจ้างงานให้เกิดความมั่นคง โดยจัดทำมาตรการแบบเกื้อหนุนกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างควบคู่ไปกับระบบประกันสังคมของรัฐ
ในด้านการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองนั้น พรรคเสรีไทซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2542 และดำรงอยู่จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2545 นั้น มิได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2544 ซึ่งพรรคไทยรักไทยเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งในครั้งดังกล่าว
พรรคเสรีไทได้ดำเนินการทางการเมืองเรื่อยมา จนกระทั่งภายหลังการประชุมใหญ่วิสามัญพรรค ประจำปี พ.ศ.2545 ซึ่งทางพรรคได้มีมติเอกฉันท์ให้ยุบเลิกพรรคเสรีไท และมอบทรัพย์สินให้กับมูลนิธิการกุศลแห่งสกุลสุวรรณฉวี หัวหน้าพรรคเสรีไทจึงได้ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองเพื่อขอให้ยุบพรรคการเมือง ซึ่งนายทะเบียนพรรคการเมืองได้ร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคเสรีไท ตามหนังสือลงวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2545
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว เห็นว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองได้ตอบรับเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคเสรีไท (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2545 ประกาศ ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2545 แล้ว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 33 โดยที่ข้อ 108 กำหนดให้ที่ประชุมใหญ่พรรคมีมติด้วยคะแนนเสียงสามในสี่ขององค์ประชุมให้เลิกพรรคได้ เมื่อที่ประชุมใหญ่วิสามัญประจำปีมีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์อนุมัติยุบเลิกพรรคเสรีไท และหัวหน้าพรรคเสรีไทยื่นคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่โต้แย้งหรือคัดค้านคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมืองทั้งขอให้มีคำสั่งยุบพรรคเสรีไท กรณีจึงมีเหตุให้ต้องยุบพรรคเสรีไทตามข้อบังคับพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 65 วรรคหนึ่ง (1) ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์ จึงสั่งให้ยุบพรรคเสรีไท
ที่มา
ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 116 ตอนพิเศษ 13 ง ลงวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2542, หน้า 103-157
ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 120 ตอนที่ 83 ก ลงวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2546, หน้า 1-31
ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 120 ตอนพิเศษ 9 ง ลงวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2546, หน้า 41
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 60/2545 ลงวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2545