อำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคม ประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส
ผู้เรียบเรียง วัชรา ไชยสาร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ พรรณราย ขันธกิจ
อำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมตามรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐที่ 5
จากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐที่ 5 (ค.ศ. 1958) จะเห็นได้ว่า สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคม มีหน้าที่ดังนี้
1) ให้ความเห็นแก่รัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องการร่างกฎหมายที่สมาชิกรัฐสภาเสนอ ร่าง รัฐบัญญัติ ร่างรัฐกำหนด หรือร่างกฤษฎีกา ตามที่รัฐบาลร้องขอ
2) ชี้แจงความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายที่ได้รับมอบหมายให้ที่ประชุมของสภาใด สภาหนึ่งได้ทราบ โดยมอบหมายให้สมาชิกคนหนึ่งเข้าไปชี้แจงความเห็น
3) ให้คำปรึกษาหารือแก่รัฐบาล ในปัญหาที่มีลักษณะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ตามที่รัฐบาลร้องขอ
4) ให้ความเห็นในแผนงานหรือร่างกฎหมาย ที่มีลักษณะเกี่ยวกับการวางแผนเศรษฐกิจหรือสังคมหรือการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว
อำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญยังได้บัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ของสภาเศรษฐกิจและสังคม สรุปได้ว่า
มาตรา 1 บัญญัติว่า “สภาเศรษฐกิจและสังคม ตั้งขึ้นเพื่อเป็นสภาที่ปรึกษาในส่วนของการใช้อำนาจสาธารณะ และเป็นตัวแทนในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการสำคัญๆ ทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยประกอบไปด้วยบุคคลจากหลายอาชีพ ที่เข้ามามีส่วนทางการเมืองในด้านที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาล โดยจะเป็นผู้ตรวจสอบและเสนอแนะเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม โดยอาศัยเทคนิคใหม่ๆ เข้ามาด้วย”
มาตรา 2 บัญญัติว่า “โดยทั่วไปตามที่กำหนดไว้ สภามีหน้าที่ในการเสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวกับโครงการหรือแผนด้านเศรษฐกิจหรือสังคม ยกเว้นที่เกี่ยวกับกฎหมายด้านการเงิน แต่อาจเข้าไปมีส่วนในการร่วมพิจารณาได้ ในกรณีฉุกเฉินหรือรัฐบาลต้องการความเห็นโดยด่วน สภาต้องเสนอความเห็นอย่างช้าที่สุดภายใน 1 เดือน นอกจากนี้ สภายังสามารถให้คำปรึกษาทุกปัญหา เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคมอันจะส่งผลต่อประเทศ โดยความเห็นดังกล่าวทำไปในนามของ คณะรัฐบาล มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะ”
มาตรา 3 บัญญัติว่า “สภาสามารถเรียกร้องต่อรัฐบาลให้มีการแก้ไขปรับปรุงเรื่องต่างๆ ที่ จำเป็นได้ และสามารถเสนอความเห็นต่อรัฐในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนหรือโครงการเกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจและสังคมได้”
มาตรา 4 บัญญัติว่า “ในแต่ละปี สภาต้องรายงาน ผลการดำเนินงานต่อนายกรัฐมนตรี”
มาตรา 5 บัญญัติว่า “สภาสามารถเลือกสมาชิกคนหนึ่งเป็นผู้ชี้แจงถึงความเห็นของ สภาในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องที่ได้รับมอบหมายต่อรัฐสภาได้”
มาตรา 6 บัญญัติว่า “แนวความคิดหรือผลการศึกษาด้านต่างๆ อาจมาจากสมาชิกสภา หรือกลุ่มต่างๆ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ดำเนินงานโดยคณะทำงานของสภา ทั้งที่เป็นเรื่องที่มาจากแนวคิดของสภาเอง หรือมาจากการที่รัฐบาลมอบหมาย แต่ทั้งนี้แนวคิดต่างๆ ต้องเสนอในนามของสภาเท่านั้น กลุ่มต่างๆ จะเสนอแนวคิดต่อรัฐบาลโดยตรงไม่ได้”
จากที่กล่าวมาแล้วนั้น จะเห็นได้ว่าสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมมีหน้าที่กว้างขวางมากครอบคลุมไปถึงทุกเรื่องที่ต้องมีการแสดงความเห็นอันเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ว่าจะมาจากการได้รับมอบหมายจากรัฐบาล หรือมาจากการเริ่มดำเนินการของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมเอง และยังสามารถพิจารณาปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและหาแนวทางแก้ไข พร้อมทั้งให้คำแนะนำอันจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของรัฐสภาในขั้นสูงขึ้นได้ ซึ่งการทำความเห็นของสภา ประธานสภาจะต้องแสดงแนวคิด แผนงานต่อประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยสภามีหน้าที่ต้องแสดงความเห็นในส่วนของกฎหมายด้านเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการใช้อำนาจสาธารณะ โดยตัวแทนที่มาจากหลายสาขาอาชีพและกิจกรรม และสภามีอำนาจสิทธิเด็ดขาดในการให้คำปรึกษา การเสนอความเห็นของสมาชิกจะต้องเสนอความเห็นทั้งความเห็นของเสียงข้างมาก และความเห็นเสียงข้างน้อยให้รัฐบาลใช้ประกอบการตัดสินใจ และในทุกๆ ปี สภาจะต้องรายงานผลการดำเนินการให้นายกรัฐมนตรีทราบ แต่อย่างใดก็ตาม สภาที่ปรึกษาฯ ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ย (Mediateur) เมื่อมีประเด็นขัดแย้งเกิดขึ้นในสังคม แต่จะทำหน้าที่สะท้อนปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในสังคมฝรั่งเศส

ดังนั้น อำนาจหน้าที่ในการให้คำปรึกษา หรือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล เกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่ง หรือสะท้อนปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ ตามคำขอของรัฐบาล (Saisine par le gouvernement) หรือไม่มีคำขอก็ได้ (Auto-saisine) สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมของฝรั่งเศสจึงเป็นสภาที่มีลักษณะพิเศษ เพราะเป็นสภาที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจ แต่เป็นองค์กรที่ปรึกษาและให้คำแนะนำทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายและแผนทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ความน่าสนใจของสภาที่ปรึกษาฯ คือ การอภิปรายในสภาซึ่งแต่ละกลุ่มต้องการปกป้อง ผลประโยชน์ของตนเองซึ่งมีความเกี่ยวพันกับปัญหาทางสังคมหรือเศรษฐกิจที่ซับซ้อน แต่เนื่องจากทุกฝ่ายมีความตั้งใจจริงที่จะผสานผลประโยชน์เพื่อให้มีการตกลงกันได้ เรื่องที่ดูจะยาก ก็ไม่ยาก หากนำเข้ามาพูดคุยกันในสภาที่ปรึกษาฯ [1]
ที่มา
พรรณราย ขันธกิจ. บทบาทและหน้าที่ขององค์กรสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. นนทบุรี : สถาบันพระปกเกล้า, 2548.
วัชรา ไชยสาร. สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคม ประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส และสมาคมที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคม และสถาบันในลักษณะเดียวกัน (AICESIS) พร้อมด้วยองค์กรสภาที่ปรึกษาในประเทศเบลเยี่ยม. วารสารสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม – กันยายน 2549.
สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. รายงานการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจด้านวิเทศสัมพันธ์และศึกษาดูงาน ณ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 11-20 พฤษภาคม 2549.
ดูเพิ่มเติม
http://www.nesac.go.th/document/show11.php?did=07080001
http://www.conseil-economique-et-social.fr/
อ้างอิง
- ↑ วัชรา ไชยสาร. สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคม ประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส และสมาคมที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคม และสถาบันในลักษณะเดียวกัน (AICESIS) พร้อมด้วยองค์กรสภาที่ปรึกษา ในประเทศเบลเยี่ยม. วารสารสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม – กันยายน 2549.