เสียงข้างน้อย

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : นางสาวเกศกนก เข็มตรง

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร พันธุ์เปรื่อง


 

ประชาธิปไตย (Democracy) เป็นระบบการเมืองและระบอบการปกครองที่ประชาชนทั้งหลายปกครองตัวเองร่วมกัน ซึ่งมีที่มาจากความต้องการของประชาชนในอันที่จะกำหนดชะตาชีวิตของตนเองร่วมกัน ไม่ใช่ให้ใครก็ได้ที่ประชาชน (ส่วนใหญ่) ไม่ได้ยินยอมเห็นชอบอย่างอิสระ (consent) มาปกครองตนเอง ฉะนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง ประชาธิปไตยจึงเป็นการปกครองที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ด้วยการยินยอมพร้อมใจอย่างเสรีของผู้ถูกปกครองหรือของประชาชน (consent of the governed หรือ consent of the people)[1]

จากความหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า “ประชาชน” คือ หัวใจสำคัญที่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยมุ่งหมายที่จะให้การรับรองทั้งในแง่ของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค เสรีภาพ และภราดรภาพ ดังที่ปรากฏในหลักการพื้นฐานที่สำคัญของประชาธิปไตย (principles of democracy) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการว่าด้วยอำนาจอธิปไตยของปวงชน (popular sovereignty) ซึ่งประกอบไปด้วยแนวคิดเรื่องการปกครองโดยเสียงข้างมากที่เคารพสิทธิของฝ่ายข้างน้อย (majority rule with respect to minority rights) อันเป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับเสียงของประชาชนแต่ละคนอย่างแท้จริงไม่เว้นแม้แต่คนเดียว

 

 

แนวคิดการปกครองโดยเสียงข้างมากที่เคารพสิทธิเสียงข้างน้อย[2]

ระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองตัวเองร่วมกันของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน การตัดสินใจร่วมกันของประชาชนในเรื่องต่างๆ นั้น ย่อมต้องมีการปรึกษาหารือร่วมกัน แต่เนื่องจากคนเราแต่ละคนมีความรู้สึกนึกคิดเหมือนกันบ้างต่างกันบ้าง ถ้าอยู่ในภาวะที่มีเสรีภาพเต็มที่ที่จะคิด คนเราย่อมไม่มีใครจะคิดเหมือนกันหมดในทุกๆ เรื่อง ดังนั้น หากในการปกครองตนเองร่วมกันซึ่งจะต้องมีการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ อยู่เสมอนั้น ถ้าทุกคนสามารถเห็นพ้องต้องกันได้โดยเสรีย่อมเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ แต่ในความเป็นจริงของคนเรานั้นการเห็นพ้องต้องกันเป็นเอกฉันท์ย่อมเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก ยิ่งมีคนจำนวนมากเท่าใดความเห็นพ้องต้องกันเป็นเอกฉันท์ยิ่งยากมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น เพื่อให้การตัดสินใจมีข้อยุติที่จะกระทำเรื่องต่างๆ เป็นไปได้อย่างทันการณ์และมีประสิทธิภาพ การตัดสินใจโดยถือตามเสียงข้างมากจึงเป็นหลักเกณฑ์ที่นำมาใช้เพื่อยอมรับกัน

 

หลักเกณฑ์การปกครองโดยเสียงข้างมาก[3]

การตัดสินใจใดๆ ของกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเล็กหรือกลุ่มใหญ่ ไม่ว่าจะในระดับใด (ระดับที่ประชุมกรรมการ ระดับสมาคม ระดับชุมชนเล็ก ระดับท้องถิ่น หรือระดับชาติ) หลังจากที่ได้มีการปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันพอสมควรแล้วหากไม่อาจหาความเห็นพ้องต้องกันเป็นเอกฉันท์ได้ ก็ให้ตัดสินเป็นข้อยุติในขณะนั้นโดยถือเสียงข้างมากเป็นเสียงชี้ขาดเพื่อจะได้กระทำการต่อไปให้เป็นรูปธรรม ตัวอย่างเช่น การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้รับคะแนนสูงสุดจะเป็นผู้ที่ได้รับเลือก หรือในการออกเสียงประชามติเรื่องที่มีผู้เห็นด้วยมากที่สุดจะได้รับการนำไปปฏิบัติ หรือกรณีการออกเสียงลงมติในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก็จะใช้เสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ในการตัดสินเป็นต้น[4]

อย่างไรก็ตาม การตัดสินโดยเสียงข้างมากในแต่ละเรื่องแต่ละเวลา ไม่ได้หมายความว่าเสียงข้างมากถูกหรือเสียงข้างน้อยผิด แต่หมายความว่าในสภาพที่ยังไม่มีทางเลือกอย่างอื่นที่ดีกว่านี้ แต่มีความจำเป็นต้องตัดสินใจที่จะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อป้องกันไม่ให้ความเสียหายจากการไม่กระทำการเกิดขึ้น ทางเลือกที่ดีที่สุดเมื่อได้เปรียบเทียบรอบด้านแล้วก็คือการกระทำตามมติของเสียงข้างมากไปก่อน แต่ทั้งนี้การถือเอาเสียงข้างมากเป็นเสียงตัดสินนั้นจะต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของเสียงข้างน้อยด้วย เพราะหากไม่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพดังกล่าวย่อมทำให้เสียงข้างมากนั้นเป็นเสียงข้างมากที่กดขี่อันเป็นลักษณะของเผด็จการหาใช่ประชาธิปไตยไม่

 

หลักการเคารพสิทธิเสียงข้างน้อย

การเคารพในสิทธิของเสียงข้างน้อยถือเป็นการเคารพในสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนประการหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทั้งการพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายด้วยวิธีอื่นๆ เพื่อแสดงถึงเจตจำนงที่แท้จริงของปัจเจกบุคคลแต่ละคน อันเป็นสิทธิประการหนึ่งที่ได้รับการรับรองโดยกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งถูกนำมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของแต่ละประเทศ[5] ดังนั้น เสียงข้างน้อยจึงเป็นเสียงที่มีความสำคัญมิได้ยิ่งหย่อนไปกว่าเสียงข้างมากในระบอบประชาธิปไตยเลย เนื่องจากเป็นเสียงที่สะท้อนให้เห็นถึงอีกแง่มุมหนึ่งของความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป ซึ่งแง่มุมนั้นอาจจะได้รับการสนับสนุนในภายหลังในเวลาที่สภาพการณ์และเงื่อนไขอันเป็นปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยที่เชื่อมโยงกับความต้องการของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย[6]

 

การเคารพสิทธิเสียงข้างน้อยในปัจจุบัน

เสียงข้างน้อยในระบอบประชาธิปไตยที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบัน ได้แก่ เสียงข้างน้อยในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร การประชุมวุฒิสภา การประชุมรัฐสภา และการประชุมคณะกรรมาธิการ ซึ่งทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศต่างให้การเคารพต่อเสียงข้างน้อยเหล่านี้ ดังจะเห็นได้จากการยอมรับการมีฝ่ายค้าน (acceptance of opposition) หรือฝ่ายที่ไม่ใช่พวกเดียวกันกับฝ่ายรัฐบาล โดยให้สามารถเกิดขึ้น คงอยู่ และดำเนินการได้โดยอิสระ รวมทั้งการที่รัฐบาลยอมรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลด้วย ตราบใดที่การวิพากษ์วิจารณ์นั้นไม่ล่วงละเมิดผู้ใดจนขัดต่อกฎหมายที่ออกและประกาศใช้ตามวิถีทางประชาธิปไตย ตัวอย่างเช่น ในประเทศไทยมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้นำเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎรดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเป็นหลักในการตรวจสอบรัฐบาล เป็นต้น

ในอดีตที่ผ่านมา การประชุมคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา โดยเฉพาะการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระที่สอง มติของคณะกรรมาธิการจะมาจากกรรมาธิการเสียงข้างมากซึ่งรายงานต่อสภา แต่กรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่แพ้ในการลงมติต่อกรรมาธิการเสียงข้างมาก ยังคงมีสิทธิที่จะสงวนความเห็นที่แตกต่างไปจากกรรมาธิการเสียงข้างมาก เพื่อให้ที่ประชุมสภาพิจารณาอีกครั้งหนึ่งและตัดสินใจในขั้นสุดท้าย เพื่อดูว่าที่ประชุมจะเห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างมากหรือกรรมาธิการเสียงข้างน้อย โดยขอสงวนของกรรมาธิการเสียงข้างน้อยดังกล่าวนี้จะเรียกว่า “สงวนความเห็น” ซึ่งถือเป็นสิทธิของฝ่ายเสียงข้างน้อย (minority right)[7] ประการหนึ่งที่ได้รับการยอมรับ

 

แนวทางการประกันสิทธิเสียงข้างน้อย[8]

แม้ว่าในปัจจุบัน จะปรากฏให้เห็นการยอมรับฟังเสียงข้างน้อยในบริบทต่างๆ แต่การเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่เป็นการปกครองโดยเสียงข้างมากนั้นมีความเป็นไปได้ที่เสียงข้างน้อยจะถูกทอดทิ้งหรือถูกครอบงำโดยเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งแนวทางที่จะช่วยป้องกันมิให้เกิดปัญหาดังกล่าว ได้แก่

1. การให้หลักประกันแก่สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในด้านต่างๆ ของปัจเจกบุคคล โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทั้งการพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นๆ แก่บุคคลทุกคน รวมทั้งยังต้องมีกลไกของรัฐและสังคมคอยทำหน้าที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาด้านสิทธิเสรีภาพพื้นฐานในกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อที่พลเมืองทุกคนจะเข้าใจและตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพของตน ตลอดจนสามารถยืนยันและอ้างสิทธิเหล่านั้นได้หากจำเป็น นอกจากนี้ ยังต้องมีช่องทางการแสดงออกอย่างเป็นประชาธิปไตยที่เหมาะสมและเข้าถึงง่าย เพื่อให้เสียงส่วนน้อยสามารถแสดงความคิดเห็นหรือข้อเรียกร้องของตนได้อย่างเปิดกว้าง เป็นอิสระและเท่าเทียมกัน

2. การให้หลักประกันในความจำเป็นขั้นพื้นฐานที่เป็นธรรม เช่น โอกาสด้านการศึกษา โอกาสด้านจ้างงานที่เท่าเทียม และค่าแรงและสวัสดิการที่สมเหตุสมผลสำหรับผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งต้องมีการส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตยอย่างทั่วถึงในสังคม เพื่อให้แน่ใจว่าเสียงส่วนน้อยจะสามารถก่อรูปความคิดเห็นของตนอย่างอิสระโดยไม่ถูกครอบงำหรือจำกัดด้วยเงื่อนไข เช่น ความยากจน หรือการปราศจากความรู้และข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการมีความคิดเห็นที่ถูกต้อง หรือตระหนักรับรู้ถึงผลประโยชน์ที่แท้จริงของตน เพื่อที่จะสามารถมีส่วนร่วมในช่องทางประชาธิปไตยได้อย่างบังเกิดผล (Effective capacity for participation)

3. การมีกระบวนการเพื่อส่งเสริมให้เกิดความรู้สึกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันบนพื้นฐานของฉันทามติ (Consensus) ขึ้นในสังคม ซึ่งสามารถทำได้สองทาง คือ ทางแรกจะต้องมีกลไกทางสังคมและวัฒนธรรมที่สร้างให้ประชาชนทุกคนมีฉันทามติ คือ ยอมรับกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดที่ชอบธรรมเพราะให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของตน (Constitutional patriotism) และทางที่สองจะต้องมีกลไกทางสังคมและวัฒนธรรมที่สร้างให้ประชาชนทุกคนมีฉันทามติในอุดมคติเรื่องความเป็นธรรม (Fairness) เพื่อที่เสียงส่วนน้อยจะสามารถอ้างถึงฉันทามติสองข้อนี้เป็นพื้นฐานเรียกร้องให้เสียงส่วนใหญ่ในสังคมรับฟังความคิดเห็นข้อเรียกร้องและมุมมองของตน ตลอดจนปฏิบัติต่อความคิดเห็น ข้อเรียกร้อง และมุมมองเหล่านี้ด้วยความรับผิดชอบ (Accountability)

 

หนังสือแนะนำให้อ่านเพิ่มเติม

คณิน บุญสุวรรณ. (2520). ศัพท์รัฐสภา. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : บพิธการพิมพ์.

ชัยอนันต์ สมุทวณิช. (2519). ประชาธิปไตย สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ กับการเมืองไทย. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : พิฆเณศ.

วิสุทธิ์ โพธิแท่น. (2554). แนวคิดพื้นฐานของประชาธิปไตย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา.

 

อ้างอิง

  1. วิสุทธิ์ โพธิแท่น, แนวคิดพื้นฐานของประชาธิปไตย, พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา, 2554, หน้า 2 - 3.
  2. เรื่องเดียวกัน, หน้า 61.
  3. เรื่องเดียวกัน, หน้า 62.
  4. “Majority Rule/Minority Rights : Essential Principles”, [ออนไลน์] แหล่งข้อมูล : http://www.democracyweb.org/majority/principles.php, (สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2557)
  5. วิสุทธิ์ โพธิแท่น, แนวคิดพื้นฐานของประชาธิปไตย, หน้า 62 – 63.
  6. เพิ่งอ้าง.
  7. คณิน บุญสุวรรณ, ศัพท์รัฐสภา, พิมพ์ครั้งแรก, กรุงเทพฯ : บพิธการพิมพ์, 2520, หน้า 157 – 158.
  8. นิสารัชต์ นิลสว่าง, “เสียงข้างน้อย เสียงข้างมาก กับระบอบประชาธิปไตย”, [ออนไลน์] แหล่งข้อมูล : http://pr.prd.go.th/nan/ewt_news.php?nid=1674&filename=index, (สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2557)

บรรณานุกรม

คณิน บุญสุวรรณ. (2520). ศัพท์รัฐสภา. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : บพิธการพิมพ์.

ชัยอนันต์ สมุทวณิช. (2523). ประชาธิปไตย สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ กับการเมืองไทย.กรุงเทพฯ : บรรณกิจ.

วิสุทธิ์ โพธิแท่น. (2554). แนวคิดพื้นฐานของประชาธิปไตย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรี และราชกิจจานุเบกษา.

นิสารัชต์ นิลสว่าง. “เสียงข้างน้อย เสียงข้างมาก กับระบอบประชาธิปไตย”. http://pr.prd.go.th/nan/ewt_news.php?nid=1674&filename=index (สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2557)

“Majority Rule/Minority Rights : Essential Priciples” http://www.democracyweb.org/majority/principles.php (สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2557)