สันติภาพ (พ.ศ. 2541)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต



พรรคสันติภาพ (2541)

พรรคสันติภาพ มีชื่อย่อว่า “พ.ส.ภ.” และมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า THE PEACE PARTY ใช้อักษรย่อว่า T.P.P.[1] ได้รับการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองในทะเบียนพรรคการเมืองเลขที่ 3/2541 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2541 ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541[2] โดยมีสำนักงานใหญ่ของพรรคตั้งอยู่ที่เลขที่ 340/3 ถนนพระราม 9 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร [3]

พรรคสันติภาพใช้เครื่องหมายของพรรคเป็นรูปวงกลม 2 วงซ้อนทับกัน ภายในปรากฏรูปทรงสี่เหลี่ยมอยู่ด้านบน รูปการจับมืออยู่ด้านล่าง และมีอักษรชื่อพรรคในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยรูปสี่เหลี่ยมและการจับมือภายในวงกลมสีเขียวบนพื้นสีขาว มีความหมายถึงลักษณะของสันติภาพและสามัคคี รูปสี่เหลี่ยมนั้นหมายถึงความมั่นคง วงกลมด้านในนั้นคือกฎระเบียบของพรรค และวงกลมด้านนอกหมายถึงจริยธรรม สีเขียวหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ และพื้นสีขาวหมายถึงความบริสุทธิ์ กล่าวโดยสรุปแล้ว เครื่องหมายของพรรคสื่อความหมายถึงสันติภาพและความมั่นคงที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎระเบียบพรรค ภายในกรอบของจริยธรรมด้วยความบริสุทธิ์ [4]


นโยบายของพรรคสันติภาพ พ.ศ. 2543[5]

นโยบายด้านการเมือง

1. ยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์ประมุข

2. อำนาจอธิปไตยเป็นของและมาจากปวงชนในระบอบรัฐสภา โดยพรรคสันติภาพจะส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน รวมทั้งจะคัดค้านระบบเผเด็จการ

นโยบายด้านเศรษฐกิจ

1. ด้านการพัฒนา พรรคสันติภาพจะส่งเสริมให้มีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างอิสระ ส่งเสริมให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจในชนบท เพื่อเพิ่มรายได้ของเกษตรกร และส่งเสริมเศรษฐกิจแบบพอเพียง (Self Sufficient) เพื่อลดการเป็นหนี้ต่างประเทศ

2. ด้านการเกษตร พรรคสันติภาพจะส่งเสริมให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินของตนเอง ส่งเสริมให้มีการจัดการด้านชลประทานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้มีการประกันราคาผลิตผลการเกษตร ปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และจัดการฝึกอบรมทักษะด้านวิธีการและเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกร

3. ด้านสหกรณ์ พรรคสันติภาพจะส่งเสริมให้จัดตั้งสหกรณ์ระดับท้องถิ่นและให้สหกรณ์สามารถดำเนินงานแบบครบวงจร และให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

4. ด้านพาณิชยกรรม พรรคสันติภาพ จะควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพให้อยู่ในระดับเดียวกันทั้งประเทศ ส่งเสริมให้อำนวยความสะดวกในการสื่อสาร การคมนาคม และการขนส่ง ล่งเสริมการส่งออก ลดการเสียเปรียบทางดุลการค้า และแสวงหาตลาดให้แก่เอกชน

5. ด้านอุตสาหกรรม พรรคสันติภาพจะส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถผลิตสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติ ส่งเสริมการลงทุนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กำกับดูแลให้เอกชนมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และให้การศึกษาด้านอุตสาหกรรมแก่คนรุ่นใหม่

6. ด้านการธนาคารและการคลัง พรรคสันติภาพจะปรับปรุงโครงสร้างภาษีและระบบการจัดเก็บภาษีให้มีความเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงจะกำกับ ดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณของรัฐให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รักษาวินัยทางการเงินและการคลังอย่างเคร่งครัด และส่งเสริมการจัดตั้งสถาบันการเงินรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อช่วยในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

นโยบายด้านการศึกษา

พรรคสันติภาพจะส่งเสริมการศึกษา การพัฒนาบุคคลให้เป็นพลเมืองดี มีคุณธรรม จริยธรรม และปัญญา รู้ถึงการดำเนินชีวิตตามระบอบประชาธิปไตย โดยจะขยายโอกาสทางการศึกษาทั้งทางด้านคุณภาพและปริมาณ ส่งเสริมการศึกษานอกระบบโรงเรียนและการศึกษาวิชาชีพในท้องถิ่น และส่งเสริมความเสมอภาคในการศึกษา

นโยบายด้านสาธารณสุข

1. ส่งเสริมให้มีการขยายการบริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนในชนบท และผู้ยากจนอย่างมีประสิทธิภาพ

2. ส่งเสริมให้สวัสดิการแพทย์ พยาบาลหรือบุคลากรด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้น

3. ส่งเสริมการผลิตยาภายในประเทศ และควบคุมคุณภาพอย่างเคร่งครัด

4. ส่งเสริมให้มีการลงโทษอย่างรุนแรงต่อผู้ผลิตและผู้ขายยาปลอม

นโยบายด้านการปกครอง

พรรคสันติภาพจะปฏิรูประบบราชการและดำเนินการป้องกันและปราบปรามในเรื่องการ อย่างเด็ดขาดและจริงจัง โดยการสร้างจิตสำนึกที่ดีให้แก่ข้าราชการ สร้างค่านิยมและให้บำเหน็จรางวัลแก่ข้าราชการผู้สุจริต ประนามผู้ทุจริต สนับสนุนองค์กรอิสระในการปราบปรามผู้ทุจริตทุจริตคอรัปชั่น และส่งเสริมให้มีการกระจายอำนาจบริหารจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น

นโยบายด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศ

พรรคสันติภาพจะปรับปรุงนโยบายด้านความมั่นคงให้สอดคล้องกับภัยคุกคามในยุคโลกาภิวัตร พัฒนาศักยภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ ส่งเสริมการใช้การทูตนำการทหาร ลดขนาดของกองทัพ ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แต่จะหันมาพัฒนาระบบกองกำลังสำรอง และพัฒนาขีดความสามารถตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้พรรคสันติภาพยังจะยกระดับฐานะและสวัสดิการของทหารให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงสนับสนุนการปลูกฝังค่านิยมให้กองทัพสนับสนุนการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

นโยบายการต่างประเทศ

พรรคสันติภาพจะยึดมั่นในเอกราช อธิปไตย ศักดิ์ศรี และความถูกต้องเที่ยงธรรม ตลอดจนผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก และยึดถือนโยบายต่างประเทศที่เป็นกลางและอิสระ สนับสนุนการสร้างมิตรภาพและความร่วมมือกับทุกประเทศให้เข้มแข็งและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น สนับสนุนการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยทางการทูตแบบสันติวิธี และจะไม่ก้าวก่ายหรือแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

นโยบายด้านยุติธรรม

พรรคสันติภาพจะส่งเสริมให้อำนาจตุลาการเป็นอำนาจอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีการคานอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ และให้มีมาตรการการลงโทษข้าราชการตุลาการที่ปฏิบัติหน้าที่มิชอบและฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างรุนแรงและจริงจัง

นโยบายด้านสังคมและวัฒนธรรม

1. พรรคสันติภาพจะจัดให้มีสวัสดิการสังคมดูแลประชาชนและผู้ด้อยโอกาสอย่างเพียงพอและทั่วถึง พิทักษ์สิทธิและความเสมอภาคของประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน

2. ส่งเสริมและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และค่านิยมอันดีงามของชาติ ตลอดจนส่งเสริมการประกอบศาสนกิจ และศาสนศึกษาของทุกศาสนา ที่ไม่ขัดต่อความสบงเรียบร้อยของบ้านเมืองและศีลธรรมอันดี

3. ส่งเสริมการค้นคว้า วิจัย การลงทุน และการประดิษฐ์ในทุก ๆ ด้าน

4. สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อความเจริญงอกงามของคุณค่าทางจริยธรรม

5. ปราบปรามผู้ผลิต ผู้เสพ ยาเสพติดอย่างเด็ดขาดและจริงจัง

นโยบายด้านแรงงาน

พรรคสันติภาพจะเร่งสร้างงานเพื่อลดปัญหาการว่างงาน และกระจายงานในชนบท พัฒนาฝีมือแรงงาน กำหนดค่าแรงขั้นต่ำให้สอดคล้องกับความสามารถและค่าครองชีพตามความเป็นจริง และจะคุ้มครองแรงงานเด็กและสตรีอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ตลอดจนแก้ไขกฎหมายแรงงานที่ล้าหลังเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ใช้แรงงาน

นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม

พรรคสันติภาพจะส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างทั่วถึง โดยการสร้างจิตสำนึก ฝึกฝนและอบรมให้ประชาชนเข้าใจถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

นโยบายด้านสิทธิสตรี

พรรคสันติภาพจะสนับสนุนให้สตรีมีความเสมอภาคและเท่าเทียมกับบุรุษตามกฎหมาย และสิทธิตามศาสนบัญญัติ พยายามก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่น่าพึงพอใจเพื่อก่อให้เกิดการหล่อหลอมคุณลักษณะที่ดีงามของสตรี และพิทักษ์รักษาสถาบันครอบครัวให้ดำรงอยู่ในสภาพที่ดี ตลอดจนส่งเสริมสถานภาพ เกียรติและศักดิ์ศรีของสตรีในฐานะมารดาที่ดีของบุตร

พรรคสันติภาพมีคณะกรรมการบริหารพรรคเมื่อแรกจดทะเบียนจัดตั้งในปี 2541ทั้งสิ้น 9 คน โดยมีรายชื่อดังต่อไปนี้ [6]

1. นายอำนวย สุวรรณกิจบริหาร หัวหน้าพรรค

2. นายเฉลิม เลาะหมุด รองหัวหน้าพรรค

3. นายวิทยา วิเศษรัตน์ รองหัวหน้าพรรค

4. นายสุนทร เจริญมิน รองหัวหน้าพรรค

5. นายดีน เกียรติตรง เลขาธิการพรรค

6. นายสมบัติ ทัศนะประเสริฐ รองเลขาธิการพรรค

7. นายรังสรรค์ ทองทา เหรัญญิกพรรค

8. นายเจริญ โต๊ะมางี โฆษกพรรค

9. นายการียา เลาะหมุด กรรมการบริหารพรรค

เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2544 คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานครได้เปิดเผยว่านายอุมาร มาดะมัน ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต 22 และผู้สมัครอื่นอีก 10 ราย ยังไม่ได้แจ้งบัญชีค่าใช้จ่ายในการสมัครรับเลือกตั้งภายใน 90 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งครบกำหนดไปแล้วตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2544[7]

จากนั้น เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2542 ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีพรรคสันติภาพ ได้มีมติให้เปลี่ยนที่ตั้งสำนักงานใหญ่พรรคจากที่ทำการเดิม ไปอยู่ที่เลขที่ 13 ซอยมูลทรัพย์ 2 ถนนรามคำแหง แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร 10250[8]

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2542 นายอำนวย สุวรรณกิจบริหาร ยังได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ซึ่งเป็นผลให้คณะกรรมการบริหารพรรคสิ้นสุดลงทั้งคณะ ตามข้อบังคับพรรคสันติภาพ พ.ศ. 2541 ข้อ 29 (9) ที่ว่า “เมื่อหัวหน้าพรรคลาออกให้ถือว่าความเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคสิ้นสุดลงทั้งคณะ” ที่ประชุมใหญ่พรรคจึงได้เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ จำนวน 31 คน โดยตำแหน่งสำคัญ ๆ มีรายชื่อดังต่อไปนี้ [9]

1. นายอำนวย สุวรรณกิจบริหาร หัวหน้าพรรค

2. นายวิทยา วิเศษรัตน์ รองหัวหน้าพรรค

3. นายเฉลิม เลาะหมุด รองหัวหน้าพรรค

4. นายสุนทร เจริญมิน รองหัวหน้าพรรค

5. นายณรงค์ รื่นภักดิ์ธรรม รองหัวหน้าพรรค

6. นายดีน เกียรติตรง เลขาธิการพรรค ในการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2544 พรรคสันติภาพได้ส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎร ทั้งสิ้น 7 คน แบ่งเป็นผู้สมัครแบบแบ่งเขต จำนวน 2 คน และแบบบัญชีรายชื่อ (Party List) จำนวน 5 คน แต่ไม่มีผู้สมัครรายใดทั้งจากแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อได้รับเลือกตั้ง โดยในแบบบัญชีรายชื่อนั้นพรรคสันติภาพ (หมายเลข 10) ได้รับคะแนนเลือกตั้ง จำนวน 29,508 คะแนน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.20 ซึ่งน้อยกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำร้อยละ 5 ที่รัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดเอาไว้ ทำให้พรรคสันติภาพไม่ได้รับการจัดสรรที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร [10]

ต่อมาเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2546 นายทะเบียนพรรคการเมืองได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้ศาลมีคำสั่งยุบพรรคสันติภาพ เนื่องจากพรรคสันติภาพได้รับการจัดสรรเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองในปี 2545 เป็นจำนวน 68,070 บาท แต่ทางพรรคไม่จัดส่งรายงานการใช้จ่ายเงินดังกล่าว ในรอบปี 2545 ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งภายในระยะเวลาที่กำหนด (ภายในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2546) ซึ่งไม่เป็นเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 62 จึงเป็นเหตุให้ศาลมีคำสั่ง ที่ 4/2546 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2546 ให้ยุบเลิกพรรคสันติภาพ ตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “พรรคการเมืองย่อมเลิกหรือยุบด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้....(5) ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 26 มาตรา 29 มาตรา 35 หรือมาตรา 62” ตามคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมืองดังกล่าว [11]

อ้างอิง

  1. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนพิเศษ 77 ง, วันที่ 1 กันยายน 2541, หน้า 30.
  2. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนพิเศษ 77 ง, วันที่ 1 กันยายน 2541, หน้า 19.
  3. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนพิเศษ 77 ง, วันที่ 1 กันยายน 2541, หน้า 31.
  4. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนพิเศษ 77 ง, วันที่ 1 กันยายน 2541, หน้า 30-31.
  5. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนพิเศษ 77 ง, วันที่ 1 กันยายน 2541, หน้า 19-30.
  6. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนพิเศษ 77 ง, วันที่ 1 กันยายน 2541, หน้า 78.
  7. สยามจดหมายเหตุ บันทึกข่าวสารและเหตุการณ์ ปีที่ 26 ฉบับที่ 17 (25 เม.ย.- 1พ.ค. 2544), หน้า 452.
  8. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนพิเศษ 46 ง, วันที่ 2 กรกฎาคม 2542, หน้า 158-159.
  9. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนพิเศษ 77 ง, วันที่ 1 กันยายน 2541, หน้า 43. และ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนพิเศษ 46 ง, วันที่ 2 กรกฎาคม 2542, หน้า 159-16
  10. สยามจดหมายเหตุ บันทึกข่าวสารและเหตุการณ์ ปีที่ 25 ฉบับที่ 46 (9-15 พ.ย. 2543), หน้า 1280. และ ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า, www.thaipoliticsgovernment.org/wiki/
  11. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 120 ตอนพิเศษ 78 ง, วันที่ 18 กรกฎาคม 2546, หน้า 67. และ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121 ตอนที่ 19 ก, วันที่ 22 มีนาคม 2547, หน้า 1-74.