สหธรรม (พ.ศ. 2550)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต



พรรคสหธรรม

พรรคสหธรรม เรียกชื่อย่อว่า “สธ.” เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “SAHA DHARMMA PARTY” เรียกชื่อย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “SD.” ขึ้นทะเบียนเป็นพรรคการเมืองเลขที่ 15/2550 ได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2550 มีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่เลขที่ 4/107 ถนนศักดิเดช ตำบลตลาดเหนือ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต 830000 โทร 081-0913399[1] ต่อมาได้ย้ายสำนักงานใหญ่ไปอยู่ที่เลขที่ ๒๐/๔๒๐ ห้องชุดอาคาร F.113 อาคารพันเทพคอนโดทาวน์ ถนนแม่หลวน ตำบลตลาดเหนือ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต 83000 โทร 08-16063039,08-9470139[2]

พรรคสหธรรม หมายถึง พรรคการเมืองที่มุ่งเน้นการใช้หลักธรรมของทุกศาสนาเพื่อพัฒนาการเมือง โดยเน้นให้นักการเมืองมี “คุณธรรมและจริยธรรม” โ ดยมีเครื่องหมายพรรคสหธรรมมีคำอธิบายดังนี้ [3]

เครื่องหมายประจำพรรค รูปคัมภีร์วางอยู่เหนือพานตั้งบนลูกโลกรองรับด้วยรวงข้าวสีทอง โดยมีอักษรชื่อพรรคกำกับและรองรับด้วยเกลียวเชือก

ลูกโลก หมายถึง ที่อยู่อาศัยของมวลมนุษยชาติ สัตว์และสรรพสิ่ง

รูปคัมภีร์ วางอยู่เหนือพานตั้งบนลูกโลก หมายถึง หลักธรรมคำสอนของพระศาสดาหรือธรรมะอันเป็นสิ่งสูงสุด สถิตเหนือโลก เหนือชีวิต

รูปแสงสว่าง หมายถึง แสงสว่างแห่งธรรมะของทุกศาสนา

รูปภาพรวงข้างสีทอง หมายถึง เศรษฐกิจแบบพอเพียง

อักษรชื่อพรรคกำกับภายในกรอบเกลียวเชือก หมายถึงความสมานฉันท์ของทุกศาสนา

รวมกันแล้ว หมายถึง การที่สังคมมนุษย์จะดำรงอยู่ได้อย่างสันติสุข จะต้องอาศัยหลักธรรมของศาสนามายึดเหนี่ยว ชำระจิตใจ ควบคู่ไปกับความสมานฉันท์ของทุกศาสนาและการพัฒนาตามแนวเศรษฐกิจแบบพอเพียง จะทำให้ทั้งโลกเกิดความสมดุล สมบูรณ์พูนสุข โดยเท่าเทียมกัน

สีประจำพรรคคือ สีขาว หมายถึง ศาสนา หรือหลักธรรม

คำขวัญของพรรคการเมือง คือ เทิดธรรมนำชีวิต เทิดแนวเศรษฐกิจแบบพอเพียง

ตรายางเครื่องหมายสำหรับประทับรับรองเอกสารของพรรค เป็นเครื่องหมายในลักษณะเดียวกัน แต่ใช้สีเดียวล้วน[4]


นโยบายของพรรคสหธรรม พ.ศ. 2550[5]

พรรคสหธรรม จะยึดมั่นในอุดมการณ์ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นพระประมุข บริหารราชการแผ่นดินยึดโดยหลักธรรมาภิบาล และใช้หลักธรรมของทุกศาสนา เพื่อแก้ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งได้แยกรายละเอียดในการกำหนดนโยบายของพรรคไว้ ๑๕ ด้าน ดังนี้

1. ด้านการเมืองและการปกครองและบริหารราชการแผ่นดิน จัดระบบและปฏิรูปการเมืองการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอยู่บนพื้นฐานความต้องการและการมีส่วนร่วมของประชาชนและสอดรับกับประเพณีวัฒนธรรมแห่งความเป็นไทย และยึดมั่นหลักธรรมาภิบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน 2. นโยบายด้านเศรษฐกิจ สนับสนุนการจัดทำแผนชุมชน เชื่อมโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้สอดคล้องผสมผสานไปในทิศทางเดียวกัน และปรับแผนให้เป็นปัจจุบันทันต่อเหตุการณ์ และมุ่งเน้นการดำเนินระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ

3. นโยบายด้านสังคมและประเพณีวัฒนธรรม จัดสรรงบประมาณ สนับสนุนโครงการด้านศาสนา ศึกษาและฝึกการปฏิบัติธรรมของทุกศาสนา ตามหลักการวิถีธรรมนำชีวิต ส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพของประชาชนให้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และป้องกันและแก้ไขเหตุแห่งความไม่เป็นธรรมในสังคมทุกระดับ

4. นโยบายด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ ในครอบครัวเกษตรกรขนาดเล็กเพื่อให้เกิดความพอเพียงแก่การครองชีพในระดับอยู่ดีมีสุข และส่งเสริมการเกษตรแบบครบวงจร ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อจำหน่ายและการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

5. นโยบายด้านอุตสาหกรรม สนับสนุนและให้การคุ้มครองผลผลิตที่สามารถผลิตได้ภายในประเทศ ปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยคนไทย และส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐบาลผู้มีขีดความสามารถด้านต่างๆได้มีส่วนร่วมในการพัฒนามาตรฐานอุตสาหกรรมและผลผลิตด้านอุตสาหกรรมทั้งขนาดกลางและขนาดย่อม

6. นโยบายด้านการศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้ควบคู่คุณธรรมโดยเน้นการฝึกปฏิบัติธรรมในโรงเรียน ส่งเสริมการศึกษาฟรีถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และออกมาตรการจูงใจให้ครู อาจารย์ มีการพัฒนาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพ

7. นโยบายการป้องกันประเทศและความมั่นคง ให้กองทัพมีบทบาทในการพัฒนามากขึ้น กองทัพจะหลีกเลี่ยงการปะทะกันด้วยกำลัง จะเน้นหนักด้านการเจรจาทำความเข้าใจมากกว่าการเอาชนะด้วยสงคราม และลดอัตราตำแหน่งทหาร ตำรวจในระดับสูงเพื่อจัดสรรงบประมาณไปเพิ่มในตำแหน่งระดับล่าง

8. นโยบายด้านการต่างประเทศ ดำเนินนโยบายอย่างเป็นอิสระโดยยึดหลักการของผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติเป็นสำคัญ กระชับความสัมพันธ์อันดีกับต่างประเทศทุกประเทศ ร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ปรับปรุงสนธิสัญญาต่างๆที่ประเทศไทยเสียเปรียบให้ดีขึ้น

9. นโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีกับนานาประเทศ นำเทคโนโลยีการใช้พลังงานจากธรรมชาติต่างๆที่มีอยู่แล้วมาประยุกต์ใช้ในเชิงอุตสาหกรรมการเกษตรและการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ และสนับสนุนการลงทุนวิจัยและพัฒนาร่วมกันกับต่างประเทศ

10. นโยบายด้านแรงงานและสวัสดิการสังคม แก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ประกาศ และคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมกับแรงงาน ขยายการจ้างงานในภาครัฐและเอกชนให้มากขึ้น และเพิ่มความมั่นคงในการทำงานและหลักประกันในการทำงานแก่ผู้ใช้แรงงาน

11. นโยบายด้านสตรี เด็ก เยาวชนและผู้ด้อยโอกาสในสังคม ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้หญิงและชายมีสิทธิเท่าเทียมกันและขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เยาวชนและผู้ด้อยโอกาสมีความเป็นอยู่ในสังคมอย่างเป็นธรรม และจัดระเบียบเรื่องความเป็นอยู่ของนักโทษให้ดีขึ้นและส่งเสริมให้ได้รับความรู้ในสาขาอาชีพ

12. นโยบายด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กำหนดแผนการใช้และพิทักษ์ทรัพยากรที่มีคุณค่าของชาติอย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สุด เร่งรัดและป้องกันการแก้ปัญหามลภาวะและสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ และฟื้นฟูความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศน์และทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายไปอย่างมาก

13. นโยบายด้านสาธารณสุข สนับสนุนและส่งเสริมการให้บริการสาธารณสุขและสาธารณูปโภคอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง เพิ่มมาตรการควบคุมการโฆษณาสินค้าบางประเภทที่ให้โทษต่อสุขภาพและร่างกายของประชาชน และเพิ่มมาตรการให้บริการของโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

14. นโยบายด้านการสื่อสารและคมนาคม ป้องกันระบบผูกขาดจากบริษัทเอกชนและสนับสนุนให้มีการค้าเสรี ยกเลิกสัมปทานที่เอาเปรียบประชาชนหรือผ่อนปรนลงมาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการบริการประชาชน และจัดสรรคลื่นวิทยุให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยรวม

16. นโยบายด้านการกีฬาและการท่องเที่ยว ส่งเสริมและสนับสนุนการออกกำลังกาย และเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพของประชาชน ส่งเสริมให้เอกชนมีสโมสรการกีฬาของตนเอง และให้มีสวนสาธารณะทุกแห่งที่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่นเพื่อเป็นปอดของธรรมชาติ

พรรคสหธรรมไม่เคยส่งผู้สมัครของพรรคลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด จนกระทั่งมีประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ครั้งที่ ๒๔/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ จึงประกาศให้พรรคสหธรรมสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ตามมาตรา ๑๓๕ วรรคสาม ประกอบมาตรา ๙๑ วรรคหนึ่ง (๑) และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ เนื่องจากพรรคสหธรรมไม่สามารถดำเนินการให้มีสมาชิกไม่น้อยกว่าห้าพันคน และมีสาขาพรรคการเมืองอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขาภายในหนึ่งปี จึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคสังคมสหธรรม[6]

อ้างอิง

  1. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนพิเศษ 178 ง, วันที่ 16 พฤศจิกายน 2550, หน้า 59, 71-72.
  2. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนที่ 64 ง, วันที่ 5 มิถุนายน 2551,หน้า 93.
  3. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนพิเศษ 178 ง, วันที่ 16 พฤศจิกายน 2550, หน้า 71-72.
  4. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนพิเศษ 178 ง, วันที่ 16 พฤศจิกายน 2550, หน้า 72.
  5. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนพิเศษ 178 ง, วันที่ 16 พฤศจิกายน 2550, หน้า 59-71.
  6. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 126 ตอนที่ 46 ง, วันที่ 23 เมษายน 2552, หน้า 285.