สมัยประชุม (Session)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

เรียบเรียงโดย : นางสาววรรณวนัช สว่างแจ้ง

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร พันธุ์เปรื่อง


ความหมาย

คำว่า “สมัยประชุม”ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า “Session” [1] หมายถึง ช่วงระยะเวลาอย่างเป็นทางการ ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา จะทำการประชุมปรึกษาหารือ และดำเนินการอื่นใด ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและที่อยู่ในอำนาจ หน้าที่ หรือวงงานรัฐสภา

ที่มาของสมัยประชุม

หลักการกำหนดสมัยประชุมได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ เป็นครั้งแรกโดยได้บัญญัติไว้ในมาตราต่างๆ ดังนี้

มาตรา ๔๓ สมัยประชุมของพฤฒสภาและของสภาผู้แทนย่อมเริ่มต้นและสิ้นสุดลงพร้อมกัน

มาตรา ๔๔ ในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญของสภาทั้งสอง สมัยหนึ่งหรือหลายสมัยแล้วแต่สภาผู้แทนจะกำหนดการประชุมครั้งแรกต้องกำหนดให้สมาชิกได้มาประชุมภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง วันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีให้สภาผู้แทนเป็นผู้กำหนด

มาตรา ๔๕ สมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่งๆ มีกำหนดเวลาเก้าสิบวัน แต่พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเวลาออกไปก็ได้

อนึ่ง ในระหว่างเวลาเก้าสิบวันนั้น จะโปรดเกล้าฯ ให้ปิดประชุมก็ได้

การกำหนดสมัยประชุมยังคงถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มาจนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร การประชุมวุฒิสภา หรือการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ต้องกระทำในสมัยประชุมทั้งสิ้น

โดยเหตุที่รัฐธรรมนูญต้องกำหนดเวลาว่าจะต้องเรียกประชุมสภาภายใน ๓๐ วันนั้น ก็เพื่อมิให้ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลซึ่งรักษาการอยู่ถือโอกาสยืดเวลาออกไปเรื่อยๆ โดยไม่ดำเนินการให้มีการเรียกประชุม เนื่องจากหากยังไม่มีการเรียกประชุม การตั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ก็ไม่สามารถทำได้ และจะเป็นเหตุให้รัฐบาลชุดเดิมยังคงรักษาการต่อไป [2]

สถานที่ประชุมสภา

การประชุมสภาไทยเกิดขึ้นครั้งแรก ในวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เวลา ๑๔.๐๐ นาฬิกา โดยกำหนดให้ห้องโถงชั้นบนของพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นสถานที่ประชุม มีการจัดโต๊ะเป็นรูปครึ่งวงกลมตั้งอยู่ในระดับเดียวกันเป็นการชั่วคราว ซึ่งการประชุมครั้งแรกเป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมได้เลือกเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร พระยาอินทรวิชิต เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต่อมาเมื่อมีพฤฒสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ ขึ้นมาอีกสภาหนึ่งจึงได้กำหนดให้ใช้พระที่นั่งอภิเษกดุสิตเป็นที่ประชุมพฤฒสภาอีกแห่งหนึ่ง ส่วนพระที่นั่งอนันตสมาคมให้ใช้เป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และให้ใช้เป็นที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และเมื่อเปลี่ยนจากพฤฒสภาเป็นวุฒิสภาในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ แล้ว ได้กำหนดให้ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่ประชุมวุฒิสภาเช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร หลังจากได้มีการดำเนินการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ซึ่งแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ จึงได้เปลี่ยนมาทำการประชุมสภา ณ อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ และใช้เปิดการประชุมครั้งแรกในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ ๒ ครั้งที่ ๖๗ ในวันพฤหัสบดี ที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๗ และได้ใช้ห้องประชุมของอาคารรัฐสภาแห่งนั้นมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนพระที่นั่งอนันตสมาคม แม้ไม่ได้เป็นสถานที่ประชุมสภาแล้ว แต่ยังคงใช้เป็นสถานที่สำหรับประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาจนกระทั่งปัจจุบัน [3]

กำหนดเวลาสมัยประชุม

สมัยประชุม แบ่งเป็นสมัยประชุมสามัญ และสมัยประชุมวิสามัญ สมัยประชุมสามัญก่อนนี้มีกำหนดระยะเวลาเพียง ๙๐ วัน แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ กำหนดระยะเวลาดังกล่าวขยายเป็น ๑๒๐ วัน ส่วนสมัยประชุมวิสามัญนั้น มิได้กำหนดระยะเวลาตามตัวว่าเป็นเท่าใด พูดง่าย ๆ คือ เสร็จสิ้นภารกิจเมื่อไร หรือหมดความจำเป็นเมื่อไร ก็ปิดสมัยประชุมได้

ดังนั้น เรื่องตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของสภาซึ่งต้องกระทำในที่ประชุมสภา จะต้องดำเนินการในระหว่างสมัยประชุมทั้งสิ้น

บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสมัยประชุม

สมัยประชุมตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ [4]

ในการประชุมรัฐสภาครั้งแรกต้องเรียกประชุมรัฐสภา ภายในสามสิบวัน นับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ถือเป็นอันเริ่มสมัยประชุมสามัญทั่วไป ส่วนวันเริ่มสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัตินั้น ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้กำหนด

นอกจากนี้ ยังมีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับสมัยประชุมอีกหลายประการ ดังนี้

๑) กำหนดเวลาในสมัยประชุมสามัญของรัฐสภา ๑๒๐ วัน นั้น พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขยายเวลาออกไปก็ได้ การปิดสมัยประชุมสามัญก่อนครบกำหนด ๑๒๐ วัน ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาก่อน

๒) ในการเปิดสมัยประชุมสามัญทั่วไปครั้งแรกภายในสามสิบวัน หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรางทำรัฐพิธีเปิดประชุมด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชทายาทซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้แทนพระองค์มาทำรัฐพิธีก็ได้

๓) การเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ สามารถทำได้ทั้งการร้องขอโดยคณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภารวมกัน หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของทั้งสองสภาเข้าชื่อร้องขอ และทั้งสอบกรณีต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการ ประกาศเรียกประชุมรัฐสภา เป็นการประชุมสมัยวิสามัญ ทั้งนี้ โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือประธานรัฐสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแล้วแต่กรณี

ถ้าเป็นพระราชกฤษฎีกาเปิดสมัยประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ โดยการร้องขอของคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่ถ้าเป็นการเข้าชื่อกันร้องขอให้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ โดยสมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

๔) ในระหว่างสมัยประชุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาได้รับ “ความคุ้มกัน” ที่จะไม่ถูกจับกุม คุมขัง หรือถูกพิจารณาคดีในฐานะเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก

ข้อบังคับการประชุม

๑. ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๑ มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้

๑) การประชุมสภาครั้งแรก[5]

ข้อ ๑๒ ให้มีการประชุมครั้งแรกภายในสิบวันนับแต่วันเปิดสมัยประชุมสามัญหรือวิสามัญของรัฐสภา

การประชุมครั้งต่อไปให้เป็นไปตามมติที่สภากำหนดไว้ แต่ถ้ามีเหตุอันสมควรประธานสภาจะสั่งงดการประชุมครั้งใดก็ได้

ในกรณีที่ประธานสภาเห็นสมควรเรียกประชุมเป็นพิเศษ ให้เรียกประชุมได้

๒) การพิจารณาอนุญาตให้มีการจับ คุมขัง หรือหมายเรียกสมาชิกในระหว่างสมัยประชุม [6]

ข้อ ๑๗๙ ในกรณีมีเรื่องที่สภาจะต้องพิจารณาเกี่ยวกับการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้มีการจับ หรือ คุมขัง หรือหมายเรียกตัวสมาชิกไปทำการสอบสวนในฐานะเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาในระหว่างสมัยประชุมตามมาตรา ๑๓๑ วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ หรือในกรณีมีเรื่องที่สภาจะต้องพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้มีการพิจารณาคดีอาญาที่สมาชิกถูกฟ้องในระหว่างสมัยประชุมตามมาตรา ๑๓๑ วรรคสามของรัฐธรรมนูญให้ประธานสภาบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมเป็นเรื่องด่วน

การขออนุญาตตามวรรคหนึ่งหากประธานสภาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ประธานสภาอาจสั่งให้นำออกจากระเบียบวาระการประชุมได้แล้วแจ้งให้ที่ประชุมทราบ

๒ . ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา

ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๑ มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการเปิดสมัยประชุม ดังนี้

๑) การประชุมวุฒิสภาครั้งแรก[7]

ข้อ ๑๔ ให้มีการประชุมวุฒิสภาครั้งแรกภายในสิบวันนับแต่วันเปิดสมัยประชุมสามัญหรือวิสามัญของรัฐสภา เว้นแต่ประธานวุฒิสภาเห็นว่าไม่มีวาระที่จะพิจารณา ในกรณีเช่นนั้นให้ประธานวุฒิสภาแจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้า

การประชุมครั้งต่อไปให้เป็นไปตามมติที่ประชุมวุฒิสภา ประธานวุฒิสภาอาจสั่งงดการประชุมครั้งใดก็ได้เมื่อเห็นว่าไม่มีเรื่องที่สมควรจะบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุม แต่ต้องแจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้า

ในกรณีที่ประธานวุฒิสภาเห็นสมควรหรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภาเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาให้เรียกประชุมเป็นพิเศษก็ให้เรียกประชุมได้

๒) การพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้มีการจับกุมคุมขังหรือหมายเรียกสมาชิกในระหว่างสมัยประชุม [8]

ข้อ ๑๘๔ ในระหว่างสมัยประชุมถ้ามีกรณีที่ วุฒิสภาจะต้องพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้มี การจับ คุมขัง หรือหมายเรียกตัวสมาชิกไปทำการสอบสวนในฐานะเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาตามมาตรา ๑๓๑ วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ หรือมีกรณีที่วุฒิสภาจะต้องพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้มีการพิจารณาคดีอาญาที่สมาชิกถูกฟ้องตามมาตรา ๑๓๑ วรรคสามของรัฐธรรมนูญให้ประธานวุฒิสภาบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมเป็นเรื่องด่วน

สรุป

ด้วยหลักการข้างต้นจึงกล่าวได้ว่าในการทำงานของสภาโดยการประชุมสภานั้น สภามิได้มีการประชุมกันตลอดเวลาหรือตลอดทั้งปี หากแต่ทำงานกันเป็นสมัย ๆ เรียกว่า “สมัยประชุม” โดยสมัยประชุมแต่ละสมัยในทุกปีภาระหน้าที่ของสภาจะแตกต่างกัน สมัยประชุม ถือเป็นกลไกการทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ อันจะก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการปฏิบัติงานทั้ง ด้านนิติบัญญัติ ด้านการควบคุมการทำงานของฝ่ายบริหาร รวมถึงการทำงานในด้านอื่นๆ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ส่วนในช่วงเวลาที่อยู่นอกสมัยประชุมสภาสามารถดำเนินงานได้โดยคณะกรรมาธิการเป็นหลัก

อ้างอิง

  1. คณิน บุญสุวรรณ ศัพท์สภาน่ารู้ ตอนที่ ๑๐ “สมัยประชุม” ที่มา Kaninboonsuwan.com
  2. มีชัย ฤชุพันธุ์ “การเปิด-ปิดสมัยประชุมรัฐสภา” ที่มา http://www.meechaithailand.com/index1.html
  3. ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี 2475-2517. กรุงเทพฯ : ช.ชุมนุมช่าง, 2517. หน้า 20-25.
  4. คณิน บุญสุวรรณ ศัพท์สภาน่ารู้ ตอนที่ ๑๐ “สมัยประชุม” ที่มา Kaninboonsuwan.com
  5. ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๑, ข้อ ๑๒
  6. ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๑, ข้อ ๑๗๙
  7. ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๑, ข้อ ๑๔
  8. ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๑, ข้อ ๑๘๔

บรรณานุกรม

คณิน บุญสุวรรณ. ศัพท์สภาน่ารู้ ตอนที่ ๑๐ “สมัยประชุม”. ที่มา Kainboonsuwan.com (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ วันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๗).

ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี 2475-2517. กรุงเทพฯ : ช.ชุมนุมช่าง, 2517.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๑ ข้อบังคับการ ประชุมวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๑. (กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร). ๒๕๕๑.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐. (กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ). ๒๕๕๐.

http://meechaithailand.com/ver1/?Module=3&action=view&type=10&mcid=21,(เข้าถึงข้อมูล เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๗).

http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php, (เข้าข้อมูลเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๗).

หนังสือแนะนำอ่านเพิ่มเติม

กาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์. คู่มือสมาชิกวุฒิสภา เล่มที่ ๑. นนทบุรี : สถาบันพระปกเกล้า, ๒๕๔๙.

คณิน บุญสุวรรณ. ศัพท์รัฐสภา. กรุงเทพฯ : บพิธ, ๒๕๒๐.

ชัยอนันต์ สมุทวาณิชและเศรษฐพร คูศรีพิทักษ์. กลไกรัฐสภา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พิฆเณศ. ๒๕๑๘.

ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี ๒๔๗๕ – ๒๕๑๗. กรุงเทพฯ : ช.ชุมนุมช่าง, ๒๕๑๗.

มนตรี รูปสุวรรณ. กฎหมายรัฐสภา. พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๔๓.

มังกร ชัยชนะดารา. วิธีดำเนินการประชุมแบบรัฐสภา. กรุงเทพฯ : ไทยวิวัฒนาพาณิช, ๒๕๒๐.

สถาพร สระมาลีย์. กฎหมายรัฐสภา. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๔๙.