ศิริ สิริโยธิน
ผู้เรียบเรียง : ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พลตรี ศิริ สิริโยธิน
พลตรี ศิริ สิริโยธิน แกนนำกลุ่มราชครู เคยดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี 5 สมัย ผู้ก่อตั้งพรรคชาติไทยและมีบทบาทในการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490
ประวัติส่วนบุคคล
พลตรี ศิริ สิริโยธิน เกิดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2458 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ โดยในระหว่างที่เรียนในโรงเรียนเทพศิรินทร์เป็นลูกศิษย์วัด และมีเพื่อนที่อาศัยอยู่ที่วัดเดียวกันและเรียนชั้นเดียวกันคือพลตำรวจเอกประมาณ_อดิเรกสาร หลังจากนั้นทั้งคู่ได้เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายร้อยทหารบก[1]
เหตุการณ์สำคัญ
วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 พลตรี ศิริ สิริโยธิน ขณะครองยศพันตรีได้ร่วมกับเพื่อนที่ประจำกรมพาหนะทหารบกคือพันตรีประมาณ อดิเรกสาร (ยศขณะนั้น) พันตรี พงษ์_ปุณณกันต์ (ยศขณะนั้น) เข้าร่วมทำการรัฐประหารที่นำโดยพลโท ผิน_ชุณหะวัณ นายทหารนอกประจำการ[2]และเป็นพ่อตาของพันตรีประมาณ อดิเรกสาร โดยรับผิดชอบเรื่องรถยนต์ที่ใช้รับนักเรียนนายร้อยไปที่กระทรวงกลาโหม[3]
ภายหลังการรัฐประหาร พลตรี ศิริเติบโตในกรมพาหนะทหารบกโดยขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้ากรมเมื่อ พ.ศ.2493 ต่อมากรมพาหนะฯได้เปลี่ยนชื่อหน่วยเป็นกรมการขนส่งทหารบกในปี 2495 พลตรีศิริดำรงตำแหน่งเจ้ากรมฯจนถึง พ.ศ.2497[4]
ในทางการเมือง พลตรี ศิริ สิริโยธินอยู่ในกลุ่มราชครู อันมีบุคคลสำคัญประกอบด้วย จอมพล ผิน ชุณหะวัณ พลตำรวจเอกเผ่า_ศรียานนท์ พลตำรวจเอกประมาณ อดิเรกสาร และพลเอก ชาติชาย_ชุณหะวัณ[5] โดย พลตรี ศิริได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งแรกในรัฐบาลที่มีจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้เป็นรัฐมนตรีลอยในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2494 และเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2494[6] โดยพลตำรวจเอกประมาณได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในคราวเดียวกัน
พลตรี ศิริดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งที่สองในรัฐบาลที่มีจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีโดยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการในวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2495 ต่อมาในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2496 มีการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีซึ่งส่วนใหญ่มาจากคณะรัฐประหาร พ.ศ.2490 พลตรี ศิริได้ไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรแทนพลตรีละม้าย_อุทยานานนท์อีกตำแหน่งหนึ่ง และวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2497 พลตรี ศิริได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ[7]
การเลือกตั้งวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 พลตรี ศิริได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี สังกัดพรรคเสรีมนังคศิลาที่มีจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นหัวหน้าพรรค โดยพรรคเสรีมนังคศิลาได้จำนวนที่นั่ง 86 จาก 160 ที่นั่ง แต่ถูกกล่าวหาว่าโกงการเลือกตั้ง[8] วันที่ 2 มีนาคม นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและประชาชนได้เดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งสกปรก รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 12 วัน ระหว่างวันที่ 2-14 มีนาคม[9] หลังการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วมีการประชุมรัฐสภาและตั้งรัฐบาลโดยจอมพล ป. พิบูลสงครามขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 31 มีนาคม และพลตรี ศิริได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสหกรณ์[10] แต่ความแตกแยกกันระหว่างจอมพล สฤษดิ์_ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก กับ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ทำให้ในวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบก ได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีพร้อมด้วยรัฐมนตรีอีก 4 ท่าน อันประกอบด้วย จอมพลถนอม_กิตติขจร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม จอมพล ประภาส_จารุเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จอมพลอากาศเฉลิมเกียรติ_วัฒนางกูร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร และพลตรี ศิริ สิริโยธิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสหกรณ์[11] พลตรี ศิริ แม้จะเป็นกลุ่มราชครูแต่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจอมพล สฤษดิ์ในกองทัพบก วันที่ 15 กันยายน จอมพล สฤษดิ์ได้ประชุมนายทหารที่คุมกำลังเรียกร้องให้ จอมพล ป.พิบูลสงครามและพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ลาออกจากตำแหน่ง ท่ามกลางความตึงเครียดทางการเมือง วันที่ 16 กันยายน จอมพล สฤษดิ์ได้ทำการยึดอำนาจการปกครอง จอมพล ป.พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอก เผ่า_ศรียานนท์ ถูกบังคับให้เดินทางออกนอกประเทศ หลังการยึดอำนาจจอมพลสฤษดิ์_ธนะรัชต์ได้เรียกพลตำรวจเอกประมาณและพลตรีศิริไปพบเพื่อสอบถามว่าประสงค์จะรับราชการทหารอีกหรือไม่ ซึ่งทั้งสองท่านได้ตอบว่าไม่ประสงค์จะกลับไปรับราชการอีก[12]
จอมพล สฤษดิ์ได้แต่งตั้งให้ นายพจน์_สารสิน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 [13]พลตรี ศิริได้ลงสมัครในจังหวัดชลบุรี โดยไม่สังกัดพรรคการเมือง ซึ่งสภาผู้แทนฯชุดนี้ได้อยู่ทำหน้าที่มาจนถึงวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2501 จอมพล สฤษดิ์ ก็ได้ทำการรัฐประหารอีกครั้ง โดยให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยกเลิกรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมืองทั้งหมดพร้อมกับขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา[14]
เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2511 และจัดให้มีการการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 พลตรี ศิริลงสมัครรับรับเลือกตั้งในจังหวัดชลบุรี สังกัดพรรคสหประชาไทย แต่สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้อยู่ในอำนาจได้ไม่นาน สิ้นสุดลงในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 เมื่อจอมพลถนอม กิตติขจรทำการรัฐประหารตนเอง
หลังการปฏิวัติ (รัฐประหาร) วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2515 โดยธรรมนูญการปกครองกำหนดให้มี "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" ที่ประชุมมีมติเลือกพลตรี ศิริ สิริโยธินให้ เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2515 ถึง 11 ธันวาคม พ.ศ.2516[15]
บรรยากาศทางการเมืองแบบประชาธิปไตยภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2517 ทำให้กลุ่มราชครูได้กลับเข้ามามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง โดยแกนนำสำคัญของกลุ่มราชครูในยุคที่สองได้ร่วมกันจัดตั้งพรรคชาติไทยขึ้นในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2517 อันประกอบด้วย พลตรี ประมาณ อดิเรกสารหัวหน้าพรรค พลตรี ศิริ สิริโยธินรองหัวหน้าพรรคและพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณเป็นเลขาธิการพรรค [16] (ยศในภายหลัง)
การเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 พลตรี ศิริ สิริโยธินพ่ายแพ้ให้กับนายบุญชู_โรจนเสถียร[17] แต่พรรคชาติไทยได้จำนวนที่นั่งเป็นลำดับที่ 3 จำนวน 28 ที่นั่ง รองจากพรรคประชาธิปัตย์และพรรคธรรมสังคม[18] ได้เข้าร่วมรัฐบาลผสมที่มีพรรคกิจสังคมเป็นแกนนำ โดยพลตรี ศิริได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แต่การเข้าร่วมรัฐบาลผสมนี้มีความแตกแยกภายในรัฐบาลจนทำให้หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์_ปราโมชยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2519 และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2519 การเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้พลตรี ศิริได้รับการเลือกตั้งในจังหวัดชลบุรี โดยก่อนถึงวันเลือกตั้งทั้งพลเอกประมาณ พลตรีชาติชาย พลตรี ศิริได้มีจดหมายถึงทหารเพื่อยืนยันว่าพรรคชาติไทยเป็นพรรคการเมืองที่เข้าใจทหารดีกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ ส่งผลให้พรรคชาติไทยได้จำนวนที่นั่งจำนวน 56 ที่นั่ง มากเป็นลำดับที่ 2 ได้เข้าร่วมรัฐบาลผสมที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ พลตรี ศิริได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ[19]
เหตุการณ์ความรุนแรงในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 นำมาสู่การยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลของหม่อมราชวงศ์เสนีย์_ปราโมช คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้ยกเลิกพระราชบัญญัติพรรคการเมืองทำให้พรรคการเมืองต่างๆถูกยุบ เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2521 และจัดให้มีการ เลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2522 ยังไม่มีพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พรรคการเมืองต่าง ๆ มีสภาพเป็นเพียงกลุ่มการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้ง พลตรีประมาณได้ก่อตั้งกลุ่มชาติไทยลงสมัครโดยพลตรี ศิริได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 5 และพรรคชาติไทยได้รับการเลือกตั้งเป็นลำดับที่ 2
แต่เมื่อถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2522 พลตรี ศิริได้ถึงแก่อนิจกรรมในระหว่างดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดชลบุรี
หนังสือแนะนำ
นรนิติ เศรษฐบุตร. (2543).กลุ่มราชครู ในการเมืองไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
บรรณานุกรม
ประมาณ อดิเรกสาร (พลตำรวจเอก), UNSEEN ราชครู, (กรุงเทพฯ: สื่อวัฎสาร, 2547), หน้า 47.
สุชิน ตันติกุล,รัฐประหาร พ.ศ.2490, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2557), หน้า 172.
ชีวิต สวนสุคนธ์, พลตรีประมาณ อดิเรกสาร-ชีวิตและการต่อสู้ทางการเมือง, (กรุงเทพฯ : บริษัทคำประศักดิ์ จำกัด,2525), หน้า 206
กรมการขนส่งทหารบก, เจ้ากรมการขนส่งทหารบกจากอดีตถึงปัจจุบัน, เข้าถึงจากhttp://www.matulee.com/cms/files/boss/boss.html เมื่อ 3 สิงหาคม 2559
นรนิติ เศรษฐบุตร,กลุ่มราชครูในการเมืองไทย, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543), หน้า 33.
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ', แผนชิงชาติไทย ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ. 2491 - 2500) พิมพ์ครั้งที่ '3, (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2553) หน้า 249-250.
นรนิติ เศรษฐบุตร, วันการเมือง, (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2555), หน้า 64.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ.ประวัติการเมืองไทยสยาม พ.ศ.2475, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2559 พิมพ์ครั้งที่ 6), หน้า 494.
นรนิติ เศรษฐบุตร,15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 เข้าถึงจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=15_ธันวาคม_พ.ศ._2500 เมื่อ 3 สิงหาคม 2559
รัฐสภา,ทำเนียบประธานรัฐสภา, เข้าถึงจากhttp://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_news.php?nid=2370&filename=index เมื่อ 3 สิงหาคม 2559
คมชัดลึก,'เจาะชีวิต''เจ้าพ่อภาคตะวันออก' เข้าถึงจาก http://www.komchadluek.net/news/crime/150663 เมื่อ 3 สิงหาคม 2559
[1] ประมาณ อดิเรกสาร (พลตำรวจเอก), UNSEEN ราชครู, (กรุงเทพฯ: สื่อวัฎสาร, 2547), หน้า 47.
[2] สุชิน ตันติกุล,รัฐประหาร พ.ศ.2490, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2557), หน้า 172.
[3] ชีวิต สวนสุคนธ์, พลตรีประมาณ อดิเรกสาร-ชีวิตและการต่อสู้ทางการเมือง, (กรุงเทพฯ : บริษัทคำประศักดิ์ จำกัด,2525), หน้า 206
[4] กรมการขนส่งทหารบก, เจ้ากรมการขนส่งทหารบกจากอดีตถึงปัจจุบัน, เข้าถึงจากhttp://www.matulee.com/cms/files/boss/boss.html เมื่อ 3 สิงหาคม 2559
[5] นรนิติ เศรษฐบุตร,กลุ่มราชครูในการเมืองไทย, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543), หน้า 33.
[6] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ', แผนชิงชาติไทย ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ. 2491 - 2500) พิมพ์ครั้งที่ '3, (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2553) หน้า 249-250.
[7] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ,หน้า 255.
[8] นรนิติ เศรษฐบุตร, วันการเมือง, (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2555), หน้า 64.
[9] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ.ประวัติการเมืองไทยสยาม พ.ศ.2475, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2559 พิมพ์ครั้งที่ 6), หน้า 494.
[12] นรนิติ เศรษฐบุตร (1), หน้า 91.
[13] นรนิติ เศรษฐบุตร,15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 เข้าถึงจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=15_ธันวาคม_พ.ศ._2500 เมื่อ 3 สิงหาคม 2559
[14] นรนิติ เศรษฐบุตร (2),หน้า 269.
[15]รัฐสภา,ทำเนียบประธานรัฐสภา, เข้าถึงจากhttp://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_news.php?nid=2370&filename=index เมื่อ 3 สิงหาคม 2559
[16] นรนิติ เศรษฐบุตร (1), หน้า 88-89.
[17] คมชัดลึก,'เจาะชีวิต''เจ้าพ่อภาคตะวันออก' เข้าถึงจาก http://www.komchadluek.net/news/crime/150663 เมื่อ 3 สิงหาคม 2559
[18] นรนิติ เศรษฐบุตร (2), หน้า 32.
[19] นรนิติ เศรษฐบุตร (1), หน้า 96-98.