วรงค์ เดชกิจวิกรม
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ และ นน ศุภสาร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ
นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม หรือรู้จักโดยทั่วไปว่า “หมอวรงค์” เป็นนักการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมชาตินิยม เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พร้อมทั้งเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองหลายพรรค
ภายใต้บริบทแห่งความขัดแย้งและการแบ่งขั้วทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้ง ปี 2562 และการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านรัฐบาล พลเอกประยุทธ์_จันทร์โอชา นพ.วรงค์ มีจุดยืนอย่างชัดเจนในฐานะผู้สนับสนุนรัฐบาลและเป็นผู้จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ รวมทั้งได้ตอบโต้กลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามอย่างสม่ำเสมอ เขามีบทบาทในการสร้างคำอธิบายว่าฝ่ายต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์และเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นั้นเป็นพวก “ชังชาติ” หมอวรงค์จัดตั้งกลุ่มการเมืองที่มีอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมและชาตินิยมอย่างเข้มข้น บทบาทที่สำคัญและเด่นชัดของ นพ. วรงค์ในบริบทความขัดแย้งทางการเมืองและกระแสต่อต้านรัฐบาล-ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ คือ การเป็นแกนนำกลุ่มไทยภักดีและหัวหน้าพรรคไทยภักดี ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ นพ.วรงค์จัดตั้งขึ้น นพ.วรงค์ มีช่องทางออนไลน์ในการสื่อสารทางการเมือง 2 ช่องทาง ได้แก่ แฟนเพจ Warong Dechgitvigrom และเฟซบุกส่วนตัว
ประวัติส่วนตัว
วรงค์ เดชกิจวิกรม เกิดเมื่อ วันที่ 1 พฤษภาคม 2504 ที่จังหวัดสุโขทัย จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาโท ในสาขารัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ในด้านการทำงาน วรงค์ เดชกิจวิกรม รับราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลในจังหวัดหนองคายและผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลในจังหวัดพิษณุโลก ก่อนจะลาออกจากราชการเพื่อทำงานด้านการเมือง[1]
ประวัติทางการเมือง
นพ.วรงค์ เริ่มต้นบทบาททางการเมืองโดยการสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยใน ปี 2544 โดยการเชิญชวน-สนับสนุนจาก เปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศมนตรีเทศบาลนครพิษณุโลก[2] อย่างไรก็ตามเมื่อมีการเปลี่ยนตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งจังหวัดพิษณุโลก
นพ.วรงค์ได้ลาออกจากพรรคไทยรักไทย ในปี 2547 แล้วสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์และลงสมัครรับเลือกตั้งในจังหวัดพิษณุโลก เขต 1 โดยได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมัยแรกในการเลือกตั้ง ปี 2548 และได้ดำรงตำแหน่ง ส.ส. อีก 2 สมัยในเขตเลือกตั้งเดิม จากการเลือกตั้ง ปี 2550 และ 2554 ทั้งยังได้ดำรงตำแหน่งรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์และรองประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร[3]
บทบาททางการเมืองที่สำคัญของ นพ.วรงค์ คือ เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการเปิดโปงการทุจริตโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์_ชินวัตร ในปี 2556[4]
ในปี 2561 นพ.วรงค์ ได้เป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 8 โดยแข่งขันกับ อภิสิทธิ์_เวชชาชีวะ และ อลงกรณ์ พลบุตร โดยมีกลุ่ม “เพื่อนหมอวรงค์” ในพรรคให้การสนับสนุน โดยกล่าวถึงความจำเป็นของพรรคในการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ปัญหาภายในพรรค ซึ่ง นพ.วรงค์มีความเหมาะสมกับตำแหน่ง[5]
ในการโต้วาทีเพื่อการหยั่งเสียงลงคะแนน (Primary Vote) เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม นพ.วรงค์ได้นำเสนอวิสัยทัศน์ โดยกล่าวถึงการเปลี่ยนแนวทางของพรรคจาก “เสรีประชาธิปไตย” เป็น “ประชาธิปไตยสวัสดิการ” เนื่องจาก นพ.วรงค์มองว่าเสรีประชาธิปไตยทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ[6] ในส่วนของประเด็นของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และแผนยุทธศาสตร์ฯ 20 ปี นพ.วรงค์เห็นว่าไม่ใช่วาระสำคัญที่ต้องแก้ไข โดยอาจแก้ไขในบางจุดได้หากมีปัญหา[7] ทั้งนี้ นพ.วรงค์ยังนำเสนอนโยบาย “ปราบโกง” โดยอ้างถึงผลงานของตนในการเปิดโปงทุจริตในโครงการจำนำข้าวพร้อมทั้งนำเสนอความเป็น “ผู้ใกล้ชิดเกษตรกร” เพื่อสื่อถึงความเข้าถึงประชาชนในต่างจังหวัด[8] ซึ่งในการหยั่งเสียงเลือกตำแหน่งหัวหน้าพรรคนี้ นพ.วรงค์ ได้คะแนนเสียง 57,689 คะแนน โดยพ่ายแพ้ต่ออภิสิทธิ์ ที่ได้ 67,005 คะแนนเสียง[9]
หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 และให้มีการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 (ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกนับจาก พ.ศ. 2554) นพ.วรงค์ ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งเดิมของตนในจังหวัดพิษณุโลก โดยได้คะแนนเสียง 18,613 คะแนน เป็นลำดับที่ 3 รองจากผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ (35,579 คะแนน) และพลังประชารัฐ (23,680 คะแนน) ตามลำดับ ทำให้ นพ.วรงค์ไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นครั้งแรกนับจากปี 2548[10]
นพ.วรงค์แสดงความคิดเห็นต่อผลการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ว่าเป็นผลมาจากความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ของพรรค เช่น การเลือกเป็นแข่งขันกับพรรคพลังประชารัฐที่สนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แทนการเน้นที่การแข่งขันกับกลุ่มการเมืองสังกัด “ระบอบทักษิณ” หรือความพยายามขยายฐานสนับสนุนทั้งที่มีฐานเสียงอยู่แล้ว[11] ทั้งยังกล่าวพาดพิงถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค[12] ซึ่งการกระทำของ นพ.วรงค์ ทำให้ เชาว์ มีขวด รองโฆษกพรรคได้แสดงความเห็นตอบโต้ นพ.วรงค์ว่า “เนรคุณ” ต่อพรรค ทั้งยังกล่าวเหน็บแนมโดยยกประวัติการสังกัดพรรคไทยรักไทยซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามอีกด้วย[13] ภายหลัง นพ.วรงค์ได้ปฏิเสธการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการนโยบายพรรค โดยให้เหตุผลว่าควรเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้มาทำหน้าที่ซึ่งตนได้ปฏิบัติมาอย่างยาวนานแล้ว[14]
ในที่สุด นพ.วรงค์ ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ใน วันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 โดยให้เหตุผลในภายหลังว่าแนวทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองของตนไม่เหมาะกับพรรคประชาธิปัตย์[15]
ทั้งนี้ ในช่วง ปี 2562 เมื่อกระแสต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์โดยกลุ่มเยาวชนมากขึ้น นพ.วรงค์ก็ออกมาแสดงบทบาทในการแสดงความเห็นทางการเมืองที่มีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ต่อกลุ่มการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มการเมืองของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งในช่วงเวลานี้เองที่ นพ.วรงค์ได้ใช้รูปแบบการอธิบายคนที่วิจารณ์รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ว่าเป็น “พวกชังชาติ”
อนึ่ง แนวทางการอธิบายว่าพวกที่เห็นต่างไปจากรัฐบาลประยุทธฺนั้นได้แพร่กระจายอยู่ในกลุ่มอนุรักษนิยม-สนับสนุนรัฐบาลมาตั้งแต่ปลาย ปี 2561[16]
วาทกรรมชังชาติถูกนำมาใช้ในการขับเคลื่อนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ นพ.วรงค์อย่างจริงจังจนมีผู้กล่าวว่า นพ.วรงค์เป็นผู้ที่ใช้วาทกรรมชังชาติ “อย่างเป็นรูปธรรม มีความต่อเนื่อง และพยายามสร้างกรอบคิดอย่างเป็นระบบมากที่สุด”[17]
บทบาทของ นพ. วรงค์หลังออกจากพรรคประชาธิปัตย์
ภายหลังลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ นพ.วรงค์สมัครเป็นสมาชิกพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งพรรค รปช. เป็นพรรคการเมืองอนุรักษนิยมซึ่งมีแกนนำ คือ นายสุเทพ_เทือกสุบรรณ และอดีตแกนนำ กปปส. จำนวนหนึ่ง โดยให้เหตุผลว่าแนวทางการเคลื่อนไหวและแนวคิดทางการเมืองของตนเหมาะสมสอดคล้องกับพรรครวมพลังประชาชาติไทย โดยเฉพาะในเรื่องการจัดการลัทธิชังชาติ
นพ.วรงค์ได้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารพรรคและได้ทำกิจกรรมทางการเมืองร่วมกับพรรค โดยกิจกรรมที่สำคัญคือการเดินทางไปจัดกิจกรรมอบรมในหัวข้อ “การอบรมหลักสูตรอุดมการณ์และการสื่อสารทางการเมือง” ให้กับสมาชิกพรรค ผู้สนับสนุน และประชาชนทั่วไปในจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งในการอบรม นพ.วรงค์ได้บรรยายถึง “ลัทธิชังชาติ” โดยเน้นการกล่าวโจมตีกลุ่มการเมืองตรงกันข้ามโดยเฉพาะพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งนพ.วรงค์กล่าวว่าเป็นผู้ปลุกระดมมวลชนโดยเฉพาะเยาวชนรวมถึงได้นำเสนอลักษณะต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบของความ “ชังชาติ” ด้วยเช่นกัน โดยเริ่มต้นที่จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2562[18] ภายหลัง ยังปรากฏให้เห็นว่ามีการจัดกิจกรรมอบรมภายใต้หัวข้อนี้ในจังหวัดอื่น ได้แก่ อุดรธานี สงขลา และนครปฐม ในช่วงใกล้เคียงกัน
อย่างไรก็ตาม นพ.วรงค์ได้ลาออกจากพรรครวมพลังประชาชาติไทยใน วันที่ 24 มิถุนายน 2563 โดยให้เหตุผลถึงความไม่สะดวกในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในขณะสังกัดพรรค และได้กล่าวถึงการจัดตั้งกลุ่มการเมืองใหม่แยกออกต่างหาก เพื่อเคลื่อนไหวในแนวทางของตน รวมทั้งจะไปทำหน้าที่วิทยากรพิเศษให้กับสถาบันทิศทางไทย[19] ซึ่งเป็นสื่อและกลุ่มการเมืองอนุรักษนิยม ซึ่งในภายหลังจะมีความสัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองที่นพ.วรงค์เป็นแกนนำจัดตั้งในเวลาต่อมา
กลุ่มไทยภักดีและพรรคไทยภักดี
นพ.วรงค์ได้ประกาศเปิดตัวกลุ่มการเมือง “ไทยภักดี” เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 ซึ่งได้ประกาศไปก่อนหน้าว่าจะเปิดตัวกลุ่มการเมืองที่จะเป็นศูนย์กลางของ “ผู้ภักดีชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ที่จะทำหน้าที่ “ช่วยดูแลปกป้องแผ่นดินนี้”[20] โดยประกาศ 3 ข้อเรียกร้อง ได้แก่ ไม่ให้รัฐบาลยุบสภา ไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และดำเนินคดีกับบุคคลหรือกลุ่มการเมืองที่เรียกร้อง-เสนอการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์[21] นพ.วรงค์ยังกล่าวอีกว่าสถาบันกษัตริย์ถูกโจมตีอย่างไม่เป็นธรรมจากนักการเมืองและกล่าวถึง “แก๊งค์ชังชาติ” ที่ปลุกระดมคนเยาวชน ซึ่งจำเป็นจะต้องทำหน้าที่ปกป้องและต่อสู้กับกลุ่มการเมืองที่อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวนี้[22]
มีข้อพึงสังเกตว่า การจัดตั้งกลุ่มไทยภักดีในเดือนสิงหาคม 2563 เป็นปฏิกิริยาต่อการกระแสการชุมนุมขับไล่รัฐบาล ซึ่งได้เพิ่มประเด็นเรื่องสถาบันกษัตริย์เข้ามาในการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผย ได้แก่ การปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ของทนาย อานนท์ นำภา ในการชุมนุม “เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย” หรือ “ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์” เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม และการประกาศข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์โดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในวันที่ 10 สิงหาคม สอดคล้องกับการให้เหตุผลของ นพ.วรงค์ที่กล่าวว่า “รับไม่ได้” กับข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน จึงทำให้ต้องจัดตั้งกลุ่มขึ้น[23] ต่อมาในวันที่ 30 สิงหาคม นพ.วรงค์และกลุ่มไทยภักดีได้จัดกิจกรรม ณ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร ดินแดง โดยเน้นย้ำถึงอุดมการณ์ของกลุ่มและข้อเรียกร้องที่ได้ประกาศไปก่อนหน้าในวันเปิดตัวกลุ่ม ซึ่งกิจกรรมมีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมากระดับหนึ่ง โดย นพ.วรงค์ได้ประกาศว่ากลุ่มไทยภักดีไม่มีแนวคิดการชุมนุมแบบ “ม็อบชนม็อบ” แต่ใช้ความจริงในการต่อสู้ และ “เชื่อว่าชัยชนะจะต้องเป็นของเรา เพราะเราอยู่บนพื้นฐานความจริง” นอกจากนั้น นพ.วรงค์ยังได้เสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเพิ่มเติมโดยให้ตรวจสอบควบคุมหลักสูตรการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อป้องกันหลักสูตรที่มีเนื้อหาล้มล้างสถาบันกษัตริย์และให้กระทรวงศึกษาธิการตรวจสอบดูแลไม่ให้มีการ “แทรกซึมล้างสมองนักเรียน”[24]
กลุ่มไทยภักดีมีบทบาททางการเมืองมากขึ้นทั้งในพื้นที่ออนไลน์โดยใช้แฟนเพจของกลุ่มในการนำเสนออุดมการณ์ทางการเมืองและบทบาทการเคลื่อนไหวในลักษณะมวลชน เช่น การนัดหมายมวลชนไปรับเสด็จฯ ณ พระบรมมหาราชวังใน วันที่ 14 ตุลาคม 2563 ซึ่งตรงกับวันที่มีการนัดหมายชุมนุมโดยฝ่ายต่อต้านรัฐบาลบนถนนราชดำเนินกลางรวมถึงการเชิญชวนผู้คนมารับเสด็จฯ ในวันที่ 25 พฤศจิกายน ซึ่งเกิดเหตุการณ์สำคัญ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ตรัสกับ นพ.วรงค์ที่ไปร่วมรับเสด็จฯ ณ สวนลุมพินีวัน ว่า “เราต้องต่อต้านในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ต้องช่วยทำให้คนอื่นเห็น ว่าอะไรผิด อะไรไม่ดี อะไรบิดเบือน อะไรที่เป็นเฟคนิวส์”[25]
ต่อมาในเดือนธันวาคม 2563 นพ.วรงค์ได้จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้น โดยใช้ชื่อในเบื้องต้นว่า “ไทยภักดีประเทศไทย” และเข้าดำเนินการจัดตั้งพรรคต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งในเดือนมกราคม 2564[26] โดยในการแถลงเปิดตัวพรรค นพ.วรงค์รักษาการหัวหน้าพรรคได้กล่าวว่า การเคลื่อนไหวในระดับกลุ่มไม่เพียงพอ พร้อมทั้งประกาศจุดยืนในการต่อสู้กับกลุ่มการเมืองจากอนาคตใหม่เดิม ได้แก่ พรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้ารวมถึง “ม็อบสามนิ้ว” หรือกลุ่มผู้ชุมนุมที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล ทั้งนี้ ยังได้กล่าวว่าการต่อสู้เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์จะตั้งรับเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องเคลื่อนไหวในเชิงรุกด้วย[27] โดยเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2564 ในการแถลงเปิดตัวพรรค “ไทยภักดี” และเปิดรับสมัครสมาชิกพรรค นพ. วรงค์หัวหน้าพรรคได้ประกาศพร้อมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา[28]
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งหลังของ ปี 2564 นพ.วรงค์ยังได้เคลื่อนไหวตรวจสอบการทุจริตในโครงการการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสาน รวมถึงการเรียกร้องให้ดำเนินการต่อการบริหารดาวเทียมไทยคมให้กลับมาเป็นสมบัติชาติ[29]นอกจากนั้นยังมีการเคลื่อนไหวในลักษณะต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 และการแก้ไขระบบการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคร่วมรัฐบาลทั้งพลังประชารัฐและประชาธิปัตย์สนับสนุน ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญและระบบเลือกตั้งนี้เป็นสิ่งที่ นพ.วรงค์กล่าวว่าเป็นการตอบสนองต่อนักการเมืองและนายทุนพรรค ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาทางการเมืองอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต[30]
[1] “วรงค์ เดชกิจวิกรม,” วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, เข้าถึงจาก https://th.wikipedia.org/wiki/วรงค์_เดชกิจวิกรม.เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564.
[2] “หมอวรงค์,” พิษณุโลกฮอตนิวส์, (11 มิถุนายน 2555). เข้าถึงจาก https://www.phitsanulokhotnews.com/2012/06/11/17669.เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2564.
[3] “วรงค์ เดชกิจวิกรม,” วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.
[4] “ย้อนอดีต ‘วรงค์’ ถล่มเละจำนำข้าวกลางสภา แฉจอมบงการ รุกฆาต รบ.ปู,” ไทยรัฐออนไลน์, (30 พฤษภาคม 2557). เข้าถึงจากhttps://www.thairath.co.th/content/425753. เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2564.
[5] หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ, “อภิสิทธิ์-วรงค์-อลงกรณ์ ในศึกชิงหัวหน้า ปชป. เพื่อนนั้นสำคัญไฉน ?,” บีบีซีไทย, (10 ตุลาคม 2561). เข้าถึงจากhttps://www.bbc.com/thai/thailand-45636649. เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2564.
[6] หทัยกาณจน์ ตรีสุวรรณ, “ประชาธิปัตย์: ศึกดีเบตชิงหัวหน้าพรรค เขย่าอุดมการณ์ ‘เสรีนิยมประชาธิปไตย’ ?,” บีบีซีไทย, (26 ตุลาคม 2561). เข้าถึงจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-45987673. เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2564.
[7] อ้างแล้ว.
[8] อ้างแล้ว.
[9] “‘อภิสิทธิ์’ คว้าชัยชนะหยั่งเสียงโหวตหัวหน้า ปชป.,” ข่าวไทยพีบีเอส, (10 พฤศจิกายน 2561). เข้าถึงจาก https://news.thaipbs.or.th/content/275613. เมื่อ 17 ตุลาคม 2564.
[10] สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, 2563. ข้อมูลสถิติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. '2562. กรุงเทพฯ. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. หน้า 229.
[11] “‘หมอวรงค์’ เปิดใจพ่ายเลือกตั้งพิษณุโลก ชี้เหตุประชาธิปัตย์เทลุงตู่,” ไทยรัฐออนไลน์, (25 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก https://www.thairath.co.th/news/politic/1528961. เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2564.
[12] “เลือกตั้ง 2562: ‘หมอวรงค์’ กรีด กัปตัน ‘อภิสิทธิ์’ พาเรือประชาธิปัตย์อับปาง,” ข่าวไทยพีบีเอส, (25 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก https://news.thaipbs.or.th/content/278710. เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2564.
[13] “ปชป. ไม่จบเปิดศึกกันเอง ไล่ ‘หมอวรงค์’ อึดอัดให้ไปอยู่พรรคอื่น,” แนวหน้า, (27 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก https://www.naewna.com/politic/404268. เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2564.
[14] “‘หมอวรงค์’ โพสต์ ‘จดหมายน้อย’ ไม่ร่วมทีมอเวนเจอร์,” ประชาชาติธุรกิจ, (21 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงจาก https://www.prachachat.net/politics/news-329131 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2564.
[15] “‘หมอวรงค์’ บอกเหตุผลซบพรรค ‘เทพเทือก’ ทำไมต้องปราบ ‘ลัทธิชังชาติ’,” ไทยรัฐออนไลน์, (23 พฤศจิกายน 2562). https://www.thairath.co.th/news/politic/1710438. เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564.
[16] อรรถสิทธิ์ พานแก้ว, “ชังชาติ,” สถาบันพระปกเกล้า, เข้าถึงจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=ชังชาติ. เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2564.
[17] “วิเคราะห์ | ประกาศสงครามปราบ ‘ลัทธิชังชาติ’ ‘นพ.วรงค์’ หัวหอก-ระวังบานปลาย อย่าให้หลุดจากโลกของการใช้เหตุผล,” มติชนสุดสัปดาห์ -3พฤศจิกายน – 6 ธันวาคม 2562, เข้าถึงจาก มติชนสุดสัปดาห์, (2 ธันวาคม 2562). เข้าถึงจาก https://www.matichonweekly.com/column/article_251979. เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2564.
[18] “หมอวรงค์-เอนก เดินสายปลุกระดม ขอคนพิษณุโลก สู้ลัทธิชังชาติ จ่อไปทั่วประเทศ,” มติชนออนไลน์, (13 ธันวาคม 2562). เข้าถึงจาก https://www.matichon.co.th/politics/news_1811319. เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2564.
[19] “‘หมอวรงค์’ ลาออกสมาชิกพรรครวมพลังประชาชาติไทย ตั้งกลุ่มการเมืองใหม่,” ไทยรัฐออนไลน์, (24 มิถุนายน 2563). เข้าถึงจาก https://www.thairath.co.th/news/politic/1875421. เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564, “หมอวรงค์ ลาออกจาก รปช. เตรียมตั้งกลุ่มการเมือง เป็นวิทยากรให้สถาบันทิศทางไทย,” The Standard, (24 มิถุนายน 2563). เข้าถึงจาก https://thestandard.co/warong-dechgitvigrom-resign-from-act-party/. เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2564.
[20] “‘หมอวรงค์’ นัดเปิดตัว ‘กลุ่มไทยภักดี’ 19 ส.ค. นี้ ลั่นเป็นศูนย์กลางรวบรวมผู้ภักดีชาติ ศาสน์ กษัตริย์,” คมชัดลึก, (17 สิงหาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.komchadluek.net/news/440438. เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2564.
[21] “เปิดตัวกลุ่มไทยภักดี ชูธง ‘ไม่แก้รัฐธรรมนูญ-ไม่ยุบสภา-ดำเนินคดีละเมิดสถาบันฯ’,” ข่าวไทยพีบีเอส, (19 สิงหาคม 2563). เข้าถึงจาก https://news.thaipbs.or.th/content/295631. เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2564.
[22] “ไทยภักดี: หมอวรงค์ปลุก ‘คนไทยเลิกทน’ หลัง ‘พ่อหลวงของแผ่นดินถูกรังแก’,” บีบีซีไทย, (19 สิงหาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-53830479. เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2564.
[23] อ้างแล้ว.
[24] “‘หมอวรงค์’ ประกาศอุดมการณ์ปกป้องสถาบัน ลั่น ม็อบไทยภักดีวันนี้ ทำฝ่ายตรงข้ามกลัว,” มติชนออนไลน์, (30 สิงหาคม 2564). เข้าถึงจาก https://www.matichon.co.th/politics/news_2328654. เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2564, “‘หมอวรงค์’ ประกาศตั้งกองทุนต่อสู้ช่วยเหลือผู้ถูกคุกคาม,” ไทยโพสต์, (30 สิงหาคม 2564). เข้าถึงจาก https://www.thaipost.net/main/detail/75993. เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2564.
[25] “ในหลวงตรัส ‘เราต้องต่อต้านในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง’ กับนพ. วรงค์ เดชกิจวิกรม,” ไทยรัฐออนไลน์, (26 พฤศจิกายน 2563). เข้าถึงจาก https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1983715. เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2564.
[26] “‘กลุ่มไทยภักดี’ ยื่นตั้งพรรคการเมืองแล้ว จองชื่อ ‘ไทยภักดีประเทศไทย’,” มติชนออนไลน์, (14 มกราคม 2564). เข้าถึงจาก https://www.matichon.co.th/politics/news_2529313. เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2564.
[27] “ไทยภักดี: นพ. วรงค์เปิดตัว ‘พรรคไทยภักดี’ ประกาศจุดยืนสู้พรรคก้าวไกล-คณะก้าวหน้า-ม็อบสามนิ้ว,” บีบีซีไทย, (20 มกราคม 2564). เข้าถึงจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-55728825. เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2564.
[28] “เปิดตัว ‘พรรคไทยภักดี’ สุดคึก ‘หมอวรงค์’ ลั่นพร้อมชิงนายกฯ,” ไทยโพสต์, (9 ตุลาคม 2564). เข้าถึงจาก https://www.thaipost.net/main/detail/119234. เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2564.
[29] “‘หมอวรงค์’ บุกยื่นนายกฯ ยกเลิกประมูลรถไฟรางคู่สายเหนือ-อีสาน ส่อไม่โปร่งใส,” ไทยโพสต์, (10 มิถุนายน 2564). เข้าถึงจาก https://www.thaipost.net/main/detail/105898. เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2564.
“‘หมอวรงค์’ ปลุกดึงดาวเทียมกลับมาเป็นสมบัติของชาติ,” โพสต์ทูเดย์, (30 มิถุนายน 2564). เข้าถึงจาก https://www.posttoday.com/politic/news/656887. เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2564.
[30] “‘หมอวรงค์’ ถาม ‘แก้รัฐธรรมนูญเพื่อใคร?’ ซัดแค่ตอบสนองผลประโยชน์ ‘นักการเมือง-นายทุนพรรค’,” สยามรัฐออนไลน์, (15 มิถุนายน 2564). เข้าถึงจาก https://siamrath.co.th/n/25302. เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2564.