รัฐบุรุษ (พ.ศ.2517)
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พรรครัฐบุรุษ
พรรครัฐบุรุษ เป็นพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2517 โดยยื่นจดทะเบียนต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2517 ทะเบียนเลขที่ 35/2517 โดยมีนายประพันธ์ศักดิ์ กมลเพ็ชร เป็นหัวหน้าพรรค นายบุญรัตน์ เดโชชัย เป็นเลขาธิการพรรค รองเลขาธิการพรรค คือ นายอุทัย สุกใส กรรมการอำนวยการอื่น ได้แก่ นายเสมอ กลิ่นหอม นายสมชาย มากสัมพันธ์ นายสวาสดิ์ พงษ์สุริยะฉาย นายบุญภพ นาคนคร นายชรินทร์ ม่วงมณี นายสนิท เรืองรัตน์วารี นายสมศักดิ์ โสภาภูมินทร์สกุล และนายสุรีย์ สรเดช คำขวัญของพรรครัฐบุรุษ คือ “เพื่อเกียรติภูมิของชาติ และเอกราชของทุกชีวิต”
นโยบายของพรรครัฐบุรุษ
นโยบายทางการเมือง พรรครัฐบุรุษเห็นว่าปัญหาเร่งด่วนที่สุดคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยต้องกำหนดว่าให้ประชาชนทั่วประเทศมีสิทธิเลือกตั้งรัฐบาลโดยตรง เหตุผลที่ให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีก็เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลต้องฟังเสียงจากประชาชน สำหรับคนที่จะได้รับการเสนอชื่อในการสมัครรับเลือกตั้งทั่วประเทศ ควรจะมีสมาชิกสภาฯ อย่างน้อยหนึ่งในห้ารับรองให้สมควรได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีได้ พรรครัฐบุรุษเห็นว่า บุคคลซึ่งสมควรด้รับการเสนอชื่อในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีทั่วประเทศควรจะมีสมาชิกสภาผู้แทนฯ อย่างน้อยหนึ่งในห้ารับรอง เพื่อเป็นการกลั่นกรองในรอบแรก และเป็นวิธีการที่ช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งของระบบพรรคการเมืองด้วย เนื่องจากผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อหรือได้รับการสนับสนุนให้ลงสมัครนายกรัฐมนตรีได้นั้น จำเป็นต้องมีเสียงจากพรรคการเมืองในรัฐสภาเป็นฐาน เพราะพรรคการเมืองก็มีฐานจากประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศด้วย การมีพรรคการเมืองสนับสนุนจึงเป็นการปูทางไปสู่ชัยชนะในการได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
พรรครัฐบุรุษยังมีข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยกำนหนดให้วุฒิสภามาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งมาจาการเลือกตั้ง สำหรับการเลือกตั้งวุฒิสภานี้ อาจเป็นการเลือกตั้งทางตรงจากประชาชนเขตต่าง ๆ ทั่วประเทศ หรือเป็นการเลือกตัวแทนจากภาคต่าง ๆ ก็ได้ ทั้งนี้การเลือกตั้งวุฒิสภาก็เพื่อให้มีองค์กรตัวแทนประชาชนในการทำหน้าที่ตรวจสอบและกลั่นกรองกระบวนการนิติบัญญัติให้มีความรอบคอบละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้น
ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้มีระบบสองสภา แม้จะกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องการมาจากผู้แทนราษฎร แต่ก็ถือว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกทางอ้อม พรรครัฐบุรุษเห็นว่าเราจำเป็นต้องไว้ใจคนทั้งประเทศ มากกว่าไว้ใจผู้แทนสองร้อยกว่าคน จึงเสนอให้ประชาชนทั้งประเทศมีสิทธิเลือกตั้งรัฐบาลได้โดยตรง ทั้งนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเป็นกระบวนการที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย เพื่อให้ประชาชนรู้สึกหวงแหนรัฐธรรมนูญที่ตนได้มีส่วนร่วมในการแก้ไข พรรครัฐบุรุษเสนอว่าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรจะมีการใช้วิธีแสดงประชามติจากประชาชนทั้งประเทศในการขอแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้พรรครัฐบุรุษได้จัดทำแบบฟอร์ม “ประชามติขบวนการรัฐบุรุษ” สำหรับเสนอให้ฝ่ายต่าง ๆ พิจารณาข้อเสนอการจัดประชาชนขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะจัดส่งไปยังนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา หนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ และเผยแพร่แก่สาธารณชน เพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศพิจารณา หากประชาชนเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว พรรครัฐบุรุษจะได้ผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป
นโยบายด้านการบริหารราชการ พรรครัฐบุรุษจะปรับปรุงระบบการบริหารราชการแผ่นดินใหม่ โดยเรียกว่าเป็นการปฏิวัติการบริหารราชการแผ่นดิน กล่าวคือ รัฐบาลต้องจัดกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ใหม่ทั้งหมด เงื่อนไขที่รัฐบาลจะดำเนินการเช่นนี้ได้นั้น รัฐบาลจะต้องมาจากประชาชนและได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนในการบริหารราชการแผ่นดิน เนื่องจากระบบบริหารราชการแผ่นดินที่เป็นอยู่นี้ มีความซับซ้อนและล้าสมัย เปรียบเหมือนต้นไม้ที่แตกกิ่งก้านสาขา มีรากแก้วรากฝอยกระจายไปทั่ว ดังนั้นการแก้ไขปรับปรุงระบบบริหารราชการจึงต้องเริ่มต้นจากการจัดสรรหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานกันใหม่ นั่นคือ การปรับปรุงภารกิจหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรม โดยต้องยึดหลักให้ประชาชนมีส่วนร่วม
พรรครัฐบุรุษจะผลักดันให้รัฐบาลต้องกระจายอำนาจให้ประชาชนมีส่วนเลือกผู้บริหารต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ นายเทศมนตรี หรืออาจจะเลือกข้าราชการตำรวจระดับสูงในพื้นที่ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ได้บุคคลที่มีสมรรถภาพเหมาะสม เป็นคนดีและมีฝีมือ นอกจากนี้ ตำแหน่งผู้พิพากษาในท้องถิ่น หรือคณะกรรมการตุลาการ ก็ควรจะมีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยก่อนที่จะแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งดังกล่าว จะต้องนำรายชื่อมาให้ประชาชนได้ตรวจสอบและพิจารณาความเหมาะสมเสียก่อน อีกทั้งยังต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการทำงาน โดยกำหนดว่าในการพิจารณาคดีแต่ละคดีต้องใช้เวลาอย่างน้อยเท่าไร เช่น ไม่เกิน 6 เดือน เป็นต้น ที่สำคัญคือรัฐบาลต้องเชื่อมั่นในประชาชน
นโยบายด้านสวัสดิการสังคม พรรครัฐบุรุษจะให้หลักประกันทางสังคมแก่ข้าราชการและประชาชนทั่วไป ทั้งในเรื่องการศึกษา การรักษาพยาบาล และที่อยู่อาศัย โดยมีแนวทางแบบค่อยเป็นค่อยไป กล่าวคือ ในช่วงแรกรัฐบาลต้องเร่งสร้างรายได้ เพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศก่อน จากนั้นรัฐจะต้องเฉลี่ยผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม โดยนำเงินรายได้ภาครัฐที่มาจากภาษีและการผลิตทางเศรษฐกิจของประชาชนมาจัดระบบสวัสดิการ เงื่อนไขที่สำคัญคือ รัฐบาลต้องมีความเข้มแข็งมีเสถียรภาพ มีระบบการจัดเก็บภาษีอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม มีการส่งเสริมการจัดตั้งสหพันธ์แรงงาน มีมาตรการรองรับคนว่างงาน เช่น รัฐต้องหางานให้คนว่างงานทำ เป็นต้น รัฐบาลจะต้องวางโครงการรัฐสวัสดิการอย่างครอบคลุม โดยหลักประการที่สำคัญที่สุดซึ่งต้องดำเนินการเป็นอย่างแรกคือ เรื่องการรักษาพยาบาล
นโยบายด้านการต่างประเทศ พรรครัฐบุรุษเห็นว่าในการแก้ไขปัญหาทางการฑูต รัฐบาลจะต้องมีใจกว้างรับฟังปัญหาและพร้อมพิจารณาข้อเสนอของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเวียตนามเหนือ และฝ่ายสหรัฐอเมริกา สำหรับการแก้ไขภาวะการขาดดุล รัฐบาลจะต้องพยายามเน้นควบคุมการใช้เงินตราต่างประเทศเป็นสำคัญ หากจำเป็นต้องใช้เงินตราต่างประเทศก็ต้องจำกัดเฉพาะในกรณีที่จะเพิ่มพูนประโยชน์ให้แก่ประเทศ เน้นการค้าขายต่างประเทศ และเปิดสัมพันธ์ทางการฑูตกับประเทศใหม่ ๆ เพิ่มเติม
ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 พรรครัฐบุรุษส่งผู้สมัครลงแข่งขันรับเลือกตั้งในเขตต่าง ๆ ทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 3 คน แต่ไม่ได้รับเลือกตั้งแม้แต่คนเดียว
ที่มา
ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ ตอนที่ 92 เล่มที่ 193 ฉบับพิเศษ ลงวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2518, หน้า 427-438
สุจิต บุญบงการ, การพัฒนาการเมืองของไทย: ปฏิสัมพันธ์ระหว่างทหาร สถาบันทางการเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531
เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช, การสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคการเมืองในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์หลักสูตรชั้นปริญญาโท ภาค 2 ทางรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2519
วสันต์ หงสกุล, 37 พรรคการเมือง ปัจจัยพิจารณาเปรียบเทียบ, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ตะวันนา, 2518
ปรีชา หงษ์ไกรเลิศ, พรรคการเมืองและปัญหาพรรคการเมืองไทย, กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2524