รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นางสาวิตรี สุวรรณสถิตย์



กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ

หลังจากที่มีพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราว พ.ศ. ๒๔๗๕ เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว ในวันรุ่งขึ้น สภาผู้แทนราษฎรซึ่งคณะราษฎรได้ตั้งขึ้นตามบทบัญญัติแห่งธรรมนูญฯ นั้นได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นเพื่อทำการแก้ไขธรรมนูญฯ นั้นให้ “เรียบร้อยและสมบูรณ์” เป็น “รัฐธรรมนูญ” มีอนุกรรมการรวม ๗ คน พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ประธานกรรมการ ราษฎรเป็นประธาน อนุกรรมการซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ๕ คน และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือนอีก ๑ คน ทั้งหมดเป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านกฎหมายในระดับที่สูงต่างๆ กัน แต่หลวงประดิษฐ์ฯ เป็นคนเดียวที่เป็นสมาชิกคณะราษฎรและสำเร็จการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศส สามเดือนต่อมา สภาผู้แทนราษฎรได้แต่งตั้งอนุกรรมการเพิ่มอีก ๒ คนตามที่พระยามโนฯ เสนอด้วยเหตุผลที่ว่าเพื่อที่จะได้ช่วยกันคิดให้งานสำเร็จโดยเร็วคือ พระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล) ผู้ที่เคยร่วมกับนายเรมอนด์ บี. เสตีเวนส์ ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ และพลเรือโทพระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) พี่ชายคนโตของนาวาตรีหลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ กมลนาวิน) หัวหน้าคณะราษฎรสายทหารเรือ รวมความแล้ว คณะอนุกรรมการร่างฯ ดูจะประกอบด้วยตัวแทนของฝ่ายต่างๆ แต่เป็นผู้ที่เป็นข้าราชการหรือเคยรับราชการมาแล้วทั้งสิ้น[1]

ตามคำกล่าวต่อสภาผู้แทนฯ ของพระยามโนฯ “อนุกรรมการได้ทำการติดต่อกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวตลอดเวลา จนถึงอาจกล่าวได้ว่า ได้ร่วมมือกันทำข้อความตลอด ในร่างที่เสนอมานี้ได้ทูลเกล้าฯ ถวายและทรงเห็นชอบด้วยทุกประการแล้ว... ยิ่งกว่านั้นเป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก[2] หากแต่ว่ามีการเปิดเผยรายละเอียดของความคิดเห็นของพระองค์อยู่เพียงใน ๓ เรื่อง คือ

ประการที่หนึ่ง ในเรื่องของคำปรารภ ซึ่งต้องพระราชประสงค์ให้แก้ไขถ้อยคำเพื่อให้เป็นที่เข้าใจว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญนี้ตามเหตุผลแห่งกาลเวลาแทนที่จะเป็นโดยชัดแจ้งว่าเป็นการเฉพาะว่าคณะราษฎรได้ขอพระราชทาน รวมทั้งปรับถ้อยคำให้เป็นราชาศัพท์ที่ถูกต้องเป็นการเฉลิมพระเกียรติ “พระมหากษัตริย์” และเพิ่มมาตราใหม่ด้วยว่า “พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพสยาม” ซึ่ง ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์วิเคราะห์ว่า “เป็นการอธิบายโต้ตอบกับ “ประกาศคณะราษฎร” ที่ได้โจมตีราชวงศ์จักรีอย่างรุนแรง”[3] แต่ในที่นี้ ก็สามารถวิเคราะห์ได้ด้วยว่าเป็นความพยายามที่จะจัดให้พระมหากษัตริย์ได้รับความเคารพเพียงพอที่จะทำหน้าที่เชิงรัฐธรรมนูญ

ประการที่สอง ปัญหาที่ว่าควรจะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่าพระมหากษัตริย์มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญเพราะมีแบบอย่างที่ประธานาธิบดีหลายประเทศต้องทำเช่นนั้น ทรงตอบโดยทรงเท้าความว่าได้ทรงสัตยาธิษฐานในพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว จึงย่อมเท่ากับว่าพระองค์และพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไปต้องรักษารัฐธรรมนูญ อีกทั้งมีความในพระราชปรารภของรัฐธรรมนูญที่ขอให้พระบรมวงศ์สมัครสมานกับประชาราษฎร ในอันที่จะรักษาปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เจ้านายที่จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อๆ ไป ก็เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ จึงมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ผลก็คือ รัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้จึงไม่มีข้อความเขียนไว้ในเรื่องที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ[4]

หากแต่ในเรื่องนี้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงศ์) ได้ให้ข้อมูลเมื่อ ๔๐ ปีให้หลัง คือเมื่อพ.ศ. ๒๕๑๖ ว่าพระยาพหลฯ และตัวเขาเองได้เข้าเฝ้าฯ หลายครั้ง และในประเด็นนี้พระยาพหลฯ ได้กราบบังคมทูลถามว่า “การทรงพิทักษ์รัฐธรรมนูญนั้น จะทรงทำอย่างไร... พระปกเกล้าฯ รับสั่งว่า ถ้ารัฐบาลเสนอเรื่องใดขัดรัฐธรรมนูญ พระองค์ก็ส่งกลับคืนไปโดยไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยให้ พระยาพหลฯ กราบทูลต่อไปว่า คณะราษฎรเป็นห่วงว่านายทหารที่ถูกปลดกองหนุนไปจะคิดล้มล้างรัฐบาลขึ้นมาแล้วจะทูลเกล้าฯ ถวายรัฐธรรมนูญใหม่ของเขาให้ทรงลงประปรมาภิไธย จะโปรดเกล้าฯ อย่างไร รับสั่งว่าพระองค์จะถือว่าพวกนั้นเป็นกบฏและในฐานะจอมทัพพระองค์ถือว่าพวกนั้นเป็นราชศัตรูที่ขัดพระบรมราชโองการ ถ้าพวกนั้นบังคับพระองค์ให้พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธย พระองค์ก็จะทรงสละราชสมบัติให้พวกเขาหาเจ้านายองค์อื่นลงพระปรมาภิไธยให้”[5]

ในประเด็นนี้ ขอตั้งข้อสังเกตเชิงวิเคราะห์ไว้ในที่นี้ว่า ทรงตอบโดยทรงคำนึงว่า ในพระราชสถานะพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ ทรงมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญหรือกติกาการปกครอง จึงทรงใช้คำว่า “กบฏ” และในเมื่อรัฐธรรมนูญได้กำหนดว่าทรงเป็นจอมทัพสยาม จึงทรงใช้คำว่า “อริราชศัตรู” สำหรับผู้ที่ (สมมติว่า) จะล้มล้างรัฐธรรมนูญซึ่งพระองค์พระราชทาน แต่ก็ทรงทราบดีว่า ไม่ทรงมีอำนาจสั่งการกองทัพโดยลำพังพระองค์เองแล้ว ดังนั้น หากทรงถูกบังคับให้ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญฉบับที่ “กบฏ” และ “อริราชศัตรู” เสนอ มีวิธีการเดียวที่พระองค์จะไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย คือการทรงลาออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์ โดยทรงหวังว่า ด้วยวิธีการนั้น จะยังคงมีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ต่อไป ซึ่งเป็นพระราชประสงค์ข้อหนึ่งมาโดยตลอด

ต่อมาในพ.ศ. ๒๔๗๖ ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก็ต้องทรงเผชิญกับเหตุการณ์คล้ายๆ กับที่พระยาพหลฯ ได้สมมติขึ้นนี้ คือในกรณีของเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช

ประการที่สาม กรณีมาตรา 11 ของรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างขึ้นนั้น มีข้อความว่า “พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปโดยกำเนิดหรือโดยแต่งตั้งก็ตามย่อมดำรงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง” อนุกรรมการฯ รู้สึกลำบากใจอยู่มาก พระยามโนฯ จึงได้กราบบังคมทูลเรียนพระราชปฏิบัติโดยเสนอว่า “เพื่อความสงบเรียบร้อยสมัครสมานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในระวางเจ้านายกับราษฎร ควรถือเสียว่าพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไปย่อมดำรงอยู่เหนือการเมืองทั้งหลาย (ตัวสะกดตามต้นฉบับ) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ มีพระราชหัตถเลขาตอบว่า “ฉันเห็นด้วยตามความคิดของพระยามโนฯ ทุกประการ” ในประเด็นนี้ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อธิบายไว้ว่ามีเหตุมาจากการที่ในหมู่คณะราษฎรและผู้สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงยังมีความกลัวว่าเจ้านายและผู้ที่ยังจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ จะพยายามทำการฟื้นระบอบเก่าขึ้นมาอีกครั้ง แต่ในขณะเดียวกันข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของคณะอนุกรรมการร่างฯ มีแนวคิดไปในทางสงวนประเพณีทางสังคมที่ถือว่าพระบรมวงศานุวงศ์เป็นบุคคลที่ควรอยู่แต่ในฐานะที่เป็นพระคุณ อยู่เหนือความติเตียนทั้งหลาย”[6]

สำหรับการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบด้วยนั้น ขอเสนอข้อวิเคราะห์ว่าได้ทรงปฏิบัติโดยถูกต้องตามพระราชสถานะพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ กล่าวคือทรงเห็นชอบตามที่หัวหน้าฝ่ายบริหารถวายคำแนะนำ อีกทั้งวิเคราะห์ได้ด้วยว่า พระองค์อาจกำลังทรงป้องกันการที่ในกาลข้างหน้าพระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีหน้าที่เชิงรัฐธรรมนูญ (ไม่ใช่เชิงสัญลักษณ์เท่านั้น)อย่างไม่มีความเป็นฝักฝ่ายทางการเมือง จะทรงได้รับการกล่าวหาว่ามีพระบรมราชวินิจฉัยไปในทางที่เข้าข้างพระญาติของพระองค์เอง แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานยืนยันว่าทรงคิดหรือคาดการณ์เช่นนี้[7] แต่กรณีของ “กบฏบวรเดช” ที่เกิดขึ้นในภายหลังในพ.ศ. ๒๔๗๖ สะท้อนให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าจะได้ทรงตริตรองตั้งแต่เมื่อกำลังมีการร่างรัฐธรรมนูญ

ความเห็นแย้งต่อเรื่องการให้พระบรมวงศานุวงศ์อยู่เหนือการเมืองนี้ ในการประชุมลงมติของสภาผู้แทนราษฎร มีสมาชิกสภาเพียงคนเดียว คือพระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ (ม.ร.ว.ประยูร อิศรศักดิ์) แสดงความเห็นว่า การตัดสิทธิ์เจ้าย่อมขัดกับหลักมาตรา ๑๒ ที่ว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย” อีกทั้ง มีการโต้ตอบกันในหน้าหนังสือพิมพ์ระหว่างนักหนังสือพิมพ์ค่ายต่างๆ อย่างกว้างขวางในประเด็นนี้[8] สะท้อนให้เห็นว่าการทำหน้าที่พระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญที่กำลัง “ตั้งไข่” อยู่นั้นไม่ง่ายเลย


สาระของรัฐธรรมนูญ: การวิเคราะห์

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม[9]พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เอาพระราชหฤทัยใส่ในการทรงประกอบพิธีพระราชทานเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕พระที่นั่งอนันตสมาคม มี ๖๘ มาตราและหมวดต่างๆ ซึ่งจัดให้มีรูปร่างเหมือนรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย การจัดรูปร่างเช่นนี้นับว่าสนองต่อการที่สภาผู้แทนราษฎรได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการร่างฯ นำรัฐธรรมนูญฯ ชั่วคราวไปปรับปรุงแก้ไขให้เรียบร้อยและสมบูรณ์และพึงสังเกตว่ามีการบรรจุเรื่อง “สิทธิและหน้าที่ของชนชาวสยาม” ไว้เป็นหมวด ๒ ซึ่งแปลกแต่จริง ธรรมนูญฯ ชั่วคราวไม่มีแต่อย่างใด

สาระของรัฐธรรมนูญนี้ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์[10] วิเคราะห์ไว้ว่า มีความเหมือนกับธรรมนูญชั่วคราวตรงที่ยังกำหนดให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนตามเดิม แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับวิธีการใช้อำนาจแทนปวงชน ได้แก้จากการระบุว่า กษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎรและศาลต่างก็เป็นผู้ใช้อำนาจโดยตรง เป็นว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจซึ่งทรงได้รับมอบมาจากราษฎร แต่ไม่ได้ให้ใช้ตามอำเภอพระทัย หากแต่ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ คือทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี และอำนาจตุลาการทางศาล ซึ่งธำรงศักดิ์วิเคราะห์ว่า มีนัยว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์...ได้ถูกยกขึ้นให้มีฐานะเหนือสถาบันอื่นๆ ซึ่งคือการกลับไปสู่ประเพณีราชาธิปไตยในทางสัญลักษณ์ เพียงแต่ว่าอำนาจไม่ได้เป็นของพระมหากษัตริย์และพระมหากษัตริย์ไม่สามารถใช้อำนาจนี้ด้วยพระองค์เองได้” ซึ่งหากจะแปลความข้อความนี้ของธำรงศักดิ์ให้กระจ่างก็คือ เป็นการทำให้ดูเหมือนว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจแต่แท้จริงแล้วไม่ได้ทรงมี ทรงเป็นเพียง “สัญลักษณ์”

ธำรงศักดิ์ระบุต่อไปว่าได้เพิ่มพระเกียรติยศพระมหากษัตริย์ขึ้น และว่ามีการตัดข้อความ “กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย” ออกไป อีกทั้งได้เพิ่มระยะเวลาในการทรงใช้อำนาจในการทรงยับยั้งพระราชบัญญัติก่อนบังคับใช้เป็นกฎหมายจาก ๗ วันเป็น ๑ เดือนและไม่ต้องทรงแสดงเหตุผล หากสภาผู้แทนราษฎรลงมติยันยันตามเดิม ก็ให้ทูลเกล้าฯ ถวายอีกครั้ง และถ้าครั้งนี้ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยคืนมาภายใน ๑๕ วัน ก็ให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้

ที่ธำรงศักดิ์ว่า พระเกียรติยศเพิ่มขึ้นนั้น คงจะหมายความถึงข้อความและถ้อยคำภาษาที่ใช้ใน “พระราชปรารภ” เกี่ยวกับที่มาของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นพระเกียรติยศที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่พระราชอำนาจ ในส่วนของการฟ้องร้องคดีนั้น โดยที่รัฐธรรมนูญ “ฉบับถาวร” มาตรา ๓ ระบุว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” จึงตีความได้ว่าฟ้องร้องไม่ได้แล้วในกรณีที่ทรงทำในฐานะพระมหากษัตริย์ ซึ่งก็เป็นไปตามหลักที่ว่าไม่ทรงมีพระราชอำนาจตามลำพังพระองค์เอง ส่วนอำนาจในการทรงยับยั้งพระราชบัญญัตินั้น ทรงมีเวลาเพิ่มขึ้น แต่ท้ายที่สุดสภาผู้แทนราษฎรโดยเสียงข้างมากธรรมดาก็สามารถที่จะใช้อำนาจประกาศใช้เป็นพระราชบัญญัติได้ ธำรงศักดิ์ว่า ได้มีการย้ายรายละเอียดเกี่ยวกับการเลือกตั้งและคุณสมบัติของผู้เลือกตั้งและผู้สมัครรับเลือกตั้งออกไปเป็นพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยมีการลดลำดับขั้นในการเลือกผู้แทนราษฎรในสมัยที่ ๒ ลงจาก ๓ ลำดับขั้นเป็น๒ ลำดับขั้น โดยให้ราษฎรในตำบลเลือกผู้แทนตำบล แล้วให้ผู้แทนตำบลเลือกผู้แทนราษฎร และตัดคุณสมบัติของผู้สมัครที่ว่าต้องสอบไล่วิชาการเมืองได้และต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกสภาฯ ในสมัยที่ ๑ เสียก่อน ออกไป ในส่วนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับฝ่ายบริหาร ธำรงศักดิ์วิเคราะห์ว่า “เปลี่ยนรูปโครงทางการเมืองใหม่ โดยให้มีการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร” โดยการให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ “แต่สภายังคงเป็นสถาบันแห่งความชอบธรรมขั้นพื้นฐานของระบอบใหม่ และสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งสิทธิเด็ดขาดในการตีความแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ในส่วนของฝ่ายบริหารโดยเฉพาะ ไม่เพียงแต่เปลี่ยนชื่อ “ประธานคณะกรรมการราษฎร” “คณะกรรมการราษฎร” และ “กรรมการราษฎร” เป็น “นายกรัฐมนตรี” “คณะรัฐมนตรี” และ “รัฐมนตรี” เท่านั้น แต่ความหมายและโครงสร้างหน้าที่ของฝ่ายบริหารได้เปลี่ยนแปลงไปด้วย กล่าวคือได้รวมเอา “คณะกรรมการราษฎร” ซึ่งเดิมเป็นฝ่ายนโยบายกับ “เสนาบดี” กระทรวงต่างๆ ซึ่งเดิมเป็นผู้ปฏิบัติงานตามนโยบาย เข้าด้วยกันเป็น “คณะรัฐมนตรี” ซึ่ง “นายกรัฐมนตรี” มีอำนาจโดยตรงที่จะแต่งตั้งและถอดถอน กล่าวคือ “อำนาจที่แท้จริงได้อยู่ที่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี”[11] ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือกจากสมาชิกสภาฯ ด้วยกันเอง

วิเคราะห์รวบยอดได้ว่า สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจสูงสุด นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อสภา แต่ฝ่ายบริหารมีอำนาจต่อรองกับสภาฯ เพิ่มขึ้นจากการที่ยุบสภาได้

สำหรับนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ได้วิเคราะห์ไว้เพิ่มเติมแต่ก่อนหน้าธำรงศักดิ์ว่า พระมหากษัตริย์ทรงได้รับพระราชอำนาจคืนมากขึ้น กล่าวคือ ทรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ (มาตรา ๓) ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพสยาม (มาตรา ๔)...และเนื่องด้วยฐานะของพระมหากษัตริย์ทรงมีอย่างสูงเด่น รัฐธรรมนูญจึงได้ระบุให้พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปอยู่เหนือการเมือง[12]

ขอตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ในที่นี้ว่า ในส่วนของมาตรา ๓ นั้นในเมื่อข้อความเรื่องการฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในคดีอาญาได้ถูกตัดออกไปแล้ว จึงขึ้นอยู่กับการตีความว่ากินความเพียงใด ส่วนมาตรา ๔ นั้นได้อธิบายไว้แล้วว่ามิใช่ว่าจะทรงสั่งกองทัพได้โดยลำพังพระองค์เอง

ดังนั้น ทั้งธำรงศักดิ์และนครินทร์จึงมีความโน้มเอียงไปในทางการสรุปว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจมากขึ้นกว่าที่ธรรมนูญฯ ชั่วคราวกำหนดไว้

สำหรับผู้เขียนบทความนี้ วิเคราะห์ว่า รัฐธรรมนูญฉบับถาวรนี้มีแก่นสาระเดียวกันกับรัฐธรรมนูญฯ ชั่วคราว คือยังให้คณะราษฎรมีอำนาจสูงสุดผ่านสภาผู้แทนราษฎร หรือดังที่สุจิต บุญบงการได้สรุปไว้ว่า “ถ้าจะพิจารณาว่าผู้ใดได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับถาวรนี้ ก็คงเป็นคณะราษฎร ที่จะต้องการให้ตนเองมีความมั่นคงในทางการเมืองมากขึ้น แต่ก็ยังยินยอมตามพระราชประสงค์ขององค์พระประมุขอยู่บ้างในบางประเด็น และในส่วนของพระราชปรารภ ซึ่งเป็นส่วนแรกของรัฐธรรมนูญ เป็นการแสดงว่า รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงยินดีที่จะพระราชทานแก่ราษฎร”[13]


กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร[14] เสนอบทวิเคราะห์ไว้ไม่เพียงแต่นักการทูตอเมริกันและอังกฤษเท่านั้นหากแต่ส่วนใหญ่ของอนุกรรมการฯ ร่างเอง (ซึ่งเป็นนักกฎหมายชั้นผู้ใหญ่)ด้วยที่ไม่ได้สังเกตเห็นแก่นสาระที่แท้จริงของรัฐธรรมนูญ เธอเห็นว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรม สมาชิกคณะราษฎรผู้เดียวในคณะอนุกรรมการฯ เป็นผู้ที่สามารถคัดหางเสือให้รัฐธรรมนูญใหม่นี้มีแก่นสาระเหมือนกับของรัฐธรรมนูญฯ ชั่วคราว เธออภิปรายไว้ด้วยว่า หากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ “ได้ทรงใช้พลกำลังให้เหมาะแก่การกว่าการเอาพระราชหฤทัยใส่ในเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับพระเกียรติยศและความสูงส่งของสถาบันพระมหากษัตริย์ พระองค์น่าจะทรงประสบความสำเร็จในการทำให้อำนาจที่แท้จริงสถิตอยู่กับราชบัลลังก์” (หน้า ๓๗) เธอสรุปเช่นนี้หลังจากที่ได้วิเคราะห์ว่าคณะราษฎรยังคงเห็นว่าพระองค์ทรงมีประโยชน์เชิงอำนาจมากต่อพวกเขา และว่าผู้นำคณะราษฎร “เห็นอย่างแท้จริง (genuinely) ว่า Constitutional Monarchy เป็นทางเลือกที่ดีกว่าอย่างอื่น” แต่พวกเขาไม่สามารถยอมรับในเชิงอุดมการณ์ (ideologically) ว่าพระมหากษัตริย์ผู้ทรงราชย์จะสามารถใช้อำนาจทางการเมืองเป็นบางส่วนได้เลย ความจริงแท้จะเป็นเช่นใดทั้งในส่วนที่ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก็มิได้ทรงสังเกตเห็นเจตนาที่แท้จริงของรัฐธรรมนูญและในส่วนที่ว่าพระองค์และคณะราษฎรประเมินสถานการณ์ว่าอย่างไร คงจะยากที่เราในปัจจุบันจะเข้าถึงได้อย่างสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม อาจวิเคราะห์ได้เช่นกันว่า ในเมื่อได้ทรงเผชิญกับการตัดงบประมาณที่รัฐบาลทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงใช้ในกิจการของพระราชสำนักและพระบรมวงศานุวงศ์เป็นอย่างมาก และยังคงมีข่าวคราวเกี่ยวกับแนวคิดที่จะริบทรัพย์ของพระราชวงศ์อยู่[15][16] พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวย่อมไม่อาจแน่พระราชหฤทัยว่าคณะราษฎรจะยอมหากได้ทรงยืนยันที่จะทรงได้มาซึ่งอำนาจของพระมหากษัตริย์เพิ่มขึ้น ดังจะเห็นได้จากลายพระราชหัตถ์ที่ทรงมีไปพระราชทานพระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ที่อังกฤษ ไม่นานหลังจากพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ ว่า

“ฉันอดเสียใจไม่ได้ที่ทุกอย่างมิได้เกิดขึ้นตามแนวที่ฉันเคยกะไว้ แต่ที่จริงเป็นไปอย่างนี้ก็ดีแล้ว เพราะว่า (หาก) ฉันได้มีโอกาสให้รัฐธรรมนูญตามโอกาสและตามใจฉันเอง คนที่อยากได้อำนาจ แต่บัดนี้ก็ได้อำนาจแล้ว ก็คงยังจะไม่ได้อะไร ฉะนั้นอาจจะยังพยายามจัดให้มีริปับลิค และก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงอาจจะมีการจราจลเลือดนองเสียก่อน บัดนี้ฉันรู้สึกว่างานของฉันในชีวิตนี้ได้จบลงแล้ว ฉันไม่มีอะไรจะทำอีก นอกจากจะมีชีวิตอยู่ต่อไปโดยความสงบที่สุดเท่าที่จะทำได้...”[17]

ลายพระหัตถ์นี้ชวนให้วิเคราะห์ว่า พระองค์ไม่ได้พอพระราชหฤทัยกับรัฐธรรมนูญ แต่ทรงทำพระราชหฤทัยได้ในภาวะที่ทรงเห็นว่าพระองค์ไม่ได้ทรงมีทางเลือกมากนัก แต่ทางที่ทรงเลือกนั้นน่าจะช่วยป้องกันมิให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐ ไม่มีพระเจ้าแผ่นดินได้ ซึ่งการรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่คู่กับสยามต่อไปนั้นเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของพระราชประสงค์มาโดยตลอด ส่วนที่ทรงไว้ว่า “บัดนี้ฉันรู้สึกว่างานของฉันในชีวิตนี้จบลงแล้ว” นั้น น่าจะเป็นความรู้สึกโล่งพระราชหฤทัยเฉกเช่นมนุษย์ปุถุชนในวาระนั้น และอาจยังทรงมีพระราชหฤทัยชื้นว่า ยังมีระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญอยู่ในเชิงรูปแบบ และ “ตัวกลาง” คือพระยามโนฯ ผู้ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญใหม่ จะดำเนินการด้วยความพอดี ในขณะที่พระองค์จะยังคงมีโอกาสที่จะทรงใช้ “พระราชสิทธิสามประการ” ในอันที่จะทรงรับปรึกษา ทรงแนะนำ และทรงเตือนสติได้บ้าง[18]

อนึ่ง การที่ทรงพยายามที่จะให้มีการฟื้นคืนพระเกียรติยศแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ในส่วนแรกของรัฐธรรมนูญนั้น วิเคราะห์ได้ว่า ไม่ได้เป็นการเอาพระราชหฤทัยใส่แต่กับ “เรื่องเล็กๆ น้อยๆ” ดังที่กอบเกื้อให้ความเห็นไว้ แต่เพื่อที่พระมหากษัตริย์จักได้อยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพของประชาราษฎรเพียงพอที่จะทรงทำหน้าที่เชิงรัฐธรรมนูญในระบบและระบอบนั้นได้ ต่างหาก[19]


พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ “ฉบับถาวร” พ.ศ. ๒๔๗๕

พระราชพิธี “พระราชทานรัฐธรรมนูญ” จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ณ ท้องพระโรงพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรใช้เป็นที่ประชุม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จออกท่ามกลางมหาสมาคม พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานคณะกรรมการราษฎรและประธานอนุกรรมการร่างฯ ทูลเกล้าฯ ถวายรัฐธรรมนูญ แล้วมีบุคคลผู้หนึ่งซึ่งยังไม่พบหลักฐานว่าเป็นผู้ใด เชิญไว้บนพานในขณะที่ทรงลงพระปรมาภิไธย เสร็จแล้วพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่เจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น บุนนาค) ผู้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเข้าสู่ตำแหน่งนั้นแทนเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ผู้ซึ่งได้ลาออกไปเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา จากนั้นเจ้าพระยาพิชัยญาติได้อัญเชิญรัฐธรรมนูญไปที่สนามด้านหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยวางอยู่บนพานแว่นฟ้าซึ่งเป็นพาน ๒ ชั้น ซึ่งหนังสือของชาญวิทย์และธำรงศักดิ์ อธิบายใต้ภาพว่า “อันเป็นสัญลักษณ์ว่ารัฐธรรมนูญนั้นสร้างขึ้นโดยตัวแทนของราษฎรแล้วทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงลงพระปรมาภิไธย”[20] โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จออก ณ สีหบัญชรซึ่งอยู่ชั้นบนหน้าพระที่นั่งทอดพระเนตรเหตุการณ์นั้นด้วย[21] วันรุ่งขึ้นที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับเป็นประธานในพิธีสงฆ์เนื่องในการสมโภชรัฐธรรมนูญซึ่งวางอยู่บนพานแว่นฟ้า ขนาบด้วยฉัตร ๗ ชั้น ด้านหน้าเป็นพานพุ่มดอกไม้ธูปเทียน โดยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี โดยเสด็จฯ ด้วย[22] และในวันที่ ๑๒ ธันวาคม เสด็จฯ ทรงเป็นประธานในการเวียนเทียนสมโภชและทรงเจิมรัฐธรรมนูญ[23]

อนึ่ง เอกสารหลายฉบับรวมทั้งที่รัฐสภาจัดพิมพ์เอง[24][25] ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนตามกันมาในเรื่องที่ว่าผู้ใดเป็นผู้รับพระราชทานรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่ภาพถ่ายฟ้องอยู่ว่าไม่ใช่คนเดียวกับที่ทูลเกล้าฯ ถวาย

หลังจากนั้น รัฐบาลซึ่งมีพระยามโนฯ เป็นนายกรัฐมนตรีตามการแต่งตั้งในวันที่ ๑๐ ธันวาคม นั้นเอง[26] ได้สั่งหยุดราชการและจัดให้มีงานฉลองรัฐธรรมนูญ ๓ วัน คือมีงานมหรสพ ณ ท้องสนามหลวงและสวนลุมพินี มีการประดับโคมไฟทั่วไป ตลอดทั้งมีการฉลองในต่างจังหวัดด้วย[27]

สุจิต บุญบงการวิเคราะห์ต่างออกไปจากชาญวิทย์และธำรงศักดิ์อยู่บ้างว่า “การที่เชิญรัฐธรรมนูญอยู่บนพานแว่นฟ้าเป็นการแสดงว่ารัฐธรรมนูญเป็น “ของสูง” เป็นของที่พระราชทานลงมา” ทั้งนี้เพราะรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่คนไทยทั่วไปยังไม่รู้จัก “ดังนั้น การจะให้เกิดความเชื่อถือในตัวรัฐธรรมนูญจึงต้องใช้สัญลักษณ์เช่นนั้น... และการจัดให้มีพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญจึงเป็นการเชื่อมโยงระหว่างความชอบธรรมในระบอบเก่ากับความชอบธรรมในระบอบใหม่ คือตัวรัฐธรรมนูญเป็นความต่อเนื่องของการเปลี่ยนแปลงของคนไทยโดยไม่มีความรุนแรง” ส่วนพิธีสงฆ์และลักษณะการวางตำแหน่งรัฐธรรมนูญในวันที่ ๑๑ ธันวาคม นั้น “เป็นการแสดงถึงความชอบธรรมและ (ความ) เป็นสิ่งที่ควรเคารพสักการะเนื่องจากเป็นการพระราชทานจากพระมหากษัตริย์”[28] สุจิตวิเคราะห์ต่อไปว่าสำหรับคณะราษฎร ก็ต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็น “สัญลักษณ์” ของความชอบธรรมของระบอบการเมืองใหม่เช่นกัน ในส่วนของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเห็นว่าพระองค์ยังต้องทรงมีบทบาทต่อไป “ทรงเห็นว่าภารกิจของพระองค์ยังคงมีอยู่ (คือ) ทรงมีความรับผิดชอบว่าการมีรัฐธรรมนูญซึ่งพระองค์ “พระราชทาน” นั้น ประโยชน์ตกอยู่กับราษฎรหรือประชาชนทั่วไปหรือไม่...ดังนั้นพระองค์จะต้องทรงมีส่วนในการกำหนดบทบาทพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่ว่าควรเป็นอย่างไรจึงจะเหมาะสมถูกต้องกับสังคมไทย ไม่ใช่ให้คณะราษฎรเป็นผู้กำหนดแต่ฝ่ายเดียว...”[29]นับว่าเป็นบทวิเคราะห์ที่ต้องตรงกับที่นำเสนอในบทความนี้

ต่อมาจึงได้มีกำกำหนดให้วันที่ ๑๐ ธันวาคม ของทุกปีเป็น “วันรัฐธรรมนูญ” หรือ “วันพระราชทานรัฐธรรมนูญ” ตามยุคตามสมัย


อ้างอิง

  1. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) , หน้า ๒๐๐-๒๐๕.
  2. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) , หน้า ๒๐๕.
  3. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) , หน้า ๒๐๗.
  4. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) , หน้า ๒๐๘.
  5. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) , หน้า ๒๐๙.
  6. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) , หน้า ๒๑๓-๒๑๔.
  7. Prudhisan Jumbala. 2012. Prajadhipok: The King at the Transition to Constitutional Monarchy in Siam. In Monarchy and Constitutional Rule in Democratizing Thailand. Suchit Bunbongkarn and Prudhisan Jumbala. Editors. (Bangkok: Institute of Thai Studies, Chulalongkorn University) , p. 156.
  8. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) , หน้า ๒๑๔.
  9. รัฐสภา. ๒๕๒๔. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. (กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์) , หน้า ๑๘๓-๑๘๙.
  10. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) , หน้า ๒๑๙-๒๒๓.
  11. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) , หน้า ๒๒๒.
  12. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. ๒๕๓๕. การปฏิวัติสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) , หน้า ๒๒๓.
  13. สุจิต บุญบงการ. ๒๕๕๗. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการพระราชทานรัฐธรรมนูญ. เอกสารประกอบการปาฐกถาเสาหลักของแผ่นดินชุด ๑๒๐ ปี พระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๗ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า ๑๐-๑๑.
  14. Kobkua Suwannathat-Pian. 2003. Kings, Country and Constitution: Thailand’s Political Development, 1932-2000. London and New York: Routledge Curzon, pp. 34-38.
  15. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) , หน้า ๓๐๘-๓๑๐.
  16. แถมสุข นุ่มนนท์. ๒๕๔๕. ละครการเมือง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕. พิมพ์ครั้งที่ ๒. (กรุงเทพฯ: สมาคมประวัติศาสตร์ฯ) , หน้า ๙๐-๙๕.
  17. จุลจักรพงศ์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า. ๒๕๓๖. เจ้าชีวิต สยามก่อนยุคประชาธิปไตย. (กรุงเทพฯ: ริเวอร์บุ้คส์) , หน้า ๓๒๖.
  18. Prudhisan Jumbala. 2012. Prajadhipok: The King at the Transition to Constitutional monarchy in Siam. In Monarchy and Constitutional Rule in Democratizing Thailand. Suchit Bunbongkarn and Prudhisan Jumbala. Editors. (Bangkok: Institute of Thai Studies, Chulalongkorn University) , p. 158.
  19. Prudhisan Jumbala. 2012. Prajadhipok: The King at the Transition to Constitutional monarchy in Siam. In Monarchy and Constitutional Rule in Democratizing Thailand. Suchit Bunbongkarn and Prudhisan Jumbala. Editors. (Bangkok: Institute of Thai Studies, Chulalongkorn University) , p. 158.
  20. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) , หน้า ๙๑-๙๓.
  21. บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บก.). ๒๕๓๖. ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. (กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์) , หน้า ๓๕๕-๓๕๖.
  22. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) , หน้า ๙๔ ภาพมุมสูง.
  23. บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บก.). ๒๕๓๖. ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. (กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์) , หน้า ๓๕๗.
  24. รัฐสภา. ๒๕๒๔. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. (กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์) , หน้า ๑๗๘.
  25. วุฒิสภา, สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. ๒๕๕๖. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระราชกรณียกิจด้านการปกครอง การเมือง และพัฒนาการของวุฒิสภาไทย. (กรุงเทพฯ: สำนักเลขาธิการวุฒิสภา) , หน้า ๓๗.
  26. รัฐสภา. ๒๕๒๔. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. (กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์) , หน้า ๑๘๙.
  27. รัฐสภา. ๒๕๒๔. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. (กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์) , หน้า ๑๗๘.
  28. สุจิต บุญบงการ. ๒๕๕๗. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการพระราชทานรัฐธรรมนูญ. เอกสารประกอบการปาฐกถาเสาหลักของแผ่นดินชุด ๑๒๐ ปี พระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๗ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า ๑๑-๑๒.
  29. สุจิต บุญบงการ. ๒๕๕๗. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการพระราชทานรัฐธรรมนูญ. เอกสารประกอบการปาฐกถาเสาหลักของแผ่นดินชุด ๑๒๐ ปี พระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๗ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า ๑๒.


บรรณานุกรม

จุลจักรพงศ์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า. ๒๕๓๖. เจ้าชีวิต สยามก่อนยุคประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: ริเวอร์บุ้คส์.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการ ตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

แถมสุข นุ่มนนท์. ๒๕๔๕. ละครการเมือง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: สมาคม ประวัติศาสตร์ฯ.

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. ๒๕๓๕. การปฏิวัติสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการ ตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บก.). ๒๕๓๖. ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์.

รัฐสภา. ๒๕๒๔. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์.

วุฒิสภา, สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. ๒๕๕๖. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระราชกรณียกิจ ด้านการปกครอง การเมือง และพัฒนาการของวุฒิสภาไทย. กรุงเทพฯ: สำนักเลขาธิการวุฒิสภา. สุจิต บุญบงการ. ๒๕๕๗. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการพระราชทานรัฐธรรมนูญ.

เอกสารประกอบการปาฐกถาเสาหลักของแผ่นดินชุด ๑๒๐ ปี พระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๗ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Kobkua Suwannathat-Pian. 2003. Kings, Country and Constitution: Thailand’s Political Development, 1932-2000. London and New York: Routledge Curzon.

Prudhisan Jumbala. 2012. Prajadhipok: The King at the Transition to Constitutional Monarchy in Siam. In Monarchy and Constitutional Rule in Democratizing Thailand. Suchit Bunbongkarn and Prudhisan Jumbala. Editors. Bangkok: Institute of Thai Studies, Chulalongkorn University.