เจ้าพระยาพิชัยญาติ
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
เจ้าพระยาพิชัยญาติ : ประธานสมัยถูกปิดสภา
ปรากฏการณ์ “ปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญ” นั้นมีหนเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยมีขึ้นในวันปีใหม่ของไทยสมัยนั้น คือ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 สภาที่ว่านี้ คือ สภาผู้แทนราษฎรที่ตั้งขึ้นและเปิดประชุมมาตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายนปี 2475 หลังมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เรียกว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราว” ได้เพียงหนึ่งวันเท่านั้น ดังนั้น การปิดสภาโดยการออกพระราชกฤษฎีกาในสมัยที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดาจึงเป็นเรื่องใหญ่ การปิดสภาครั้งนั้นมีที่มาจากความขัดแย้งทั้งในรัฐบาลเองและระหว่างรัฐบาลกับรัฐสภา โดยเฉพาะสมาชิกสภาที่เป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ ถึงขนาดว่าสมาชิกสภาบางท่านพกปืนเข้าประชุมสภาและรัฐบาลต้องขอให้ทหารมาตรวจค้น จนมีเรื่องอภิปรายกันดุเดือดในสภา ทั้งๆ ที่สมาชิกทั้งหมดก็มาจากการแต่งตั้งเช่นเดียวกันกับรัฐบาล ดังนั้นประมุขของอำนาจนิติบัญญัติหรือประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงงานหนักและมีบทบาทสำคัญที่จะควบคุมการประชุมให้ผ่านไปด้วยความเรียบร้อยสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญการปกครองนี้เป็นสภาที่มีอำนาจมาก คณะผู้บริหารประเทศ คือ “คณะกรรมการราษฎร” เป็นคณะกรรมการของสภา สภาจึงไม่ค่อยกลัวรัฐบาล ขณะนั้นผู้ที่รับหน้าที่เป็นประธานสภาเป็นนักกฎหมายชั้นนำของแผ่นดิน ได้แก่ เจ้าพระยาพิชัยญาติ ผู้เคยผ่านตำแหน่งสำคัญในบ้านเมืองมาหลายตำแหน่ง เช่นเป็นเสนาบดีมาแล้วถึงสองกระทรวงสำคัญ ชีวิตและงานทางการเมืองของประธานสภาช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นอย่างไรจึงน่าจะพิจารณากันดู
เจ้าพระยาพิชัยญาติเป็นคนธนบุรี เกิดที่บ้านริมแม่น้ำเจ้าพระยาแถวบางยี่ขัน เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ปี 2418 มีชื่อเดิมว่า “ดั่น” เกิดในตระกูลใหญ่มากของแผ่นดิน คือ ตระกูลบุนนาค บิดาชื่อ เดช หรือพระยาไพบูลย์สมบัติ ส่วนมารดา คือ คุณหญิงสงวน ด้านการศึกษานั้นท่านได้เข้าโรงเรียนในโรงเรียนหลวงตำหนักสวนกุหลาบแล้วจึงได้ถวายตัวเข้าเป็นมหาดเล็กหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จเด็จพระเจ้าอยุ่หัว รัชกาลที่ 5 และ เข้าฝึกงานรับราชการที่กรมบัญชาการกลาง กระทรวงยุติธรรม จนได้เป็นยกกระบัตรศาลอุทธรณ์ในปี 2440 ขณะเดียวกันท่านก็ได้ศึกษากฎหมายไปด้วย จึงสอบได้เป็นเนติบัณฑิต ชั้น 1 ในปี 2441 แล้วจึงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาศาลแพ่ง อีกปีต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงเมธีนฤปกร” ตอนนั้นท่านมีอายุได้ 23 ปี จากนั้นท่านก็ได้รับความเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงานอย่างรวดเร็ว ได้ขึ้นเป็นอธิบดีศาลแพ่ง ในปี 2544 ถัดมาอีก 2 ปีท่านได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “คุณพระ” ในชื่อเดิม ได้เป็นกรรมการศาลฎีกาและได้รับเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยา ในปี 2451 มีชื่อว่า พระยากฤติกานุกรณ์กิจ ขณะที่มีอายุเพียง 33 ปี ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ในปี 2467 ท่านก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นตำแหน่งเจ้าพระยาพิชัยญาติ ผลัดแผ่นดินมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ ท่านยังได้รับตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมอันเป็นงานสายตรงและต่อมายังได้รับแต่งตั้งย้ายกระทรวงไปเป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการและท่านยังได้รับแต่งตั้งเป็นอุปนายกสภากาชาดไทย ดังนั้น เจ้าพระยาพิชัยญาติจึงเป็นบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ธิดาของท่านคนหนึ่งชื่อ สดม ก็ได้ทำงานเป็นนางกำนัลในวังในสมัยรัชกาลที่ 7 ด้วย
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เจ้าพระยาพิชัยญาติได้เป็นคนนอกคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองในจำนวน 30 กว่าคนที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวชุดแรกจำนวน 70 คนนับว่าเป็นอดีตขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นตุลาการอาวุโสที่มีศิษย์และคนในวงการกฎหมายนับหน้าถือตา เพราะเป็นอดีตอธิบดีศาลฎีกาอันเป็นศาลสูงสุดของบ้านเมือง แต่ในการเลือกประธานสภาครั้งแรกนั้น คณะผู้ก่อการฯ ดูจะต้องการคนนอกที่เป็นครูของคนทั้งหลายที่เป็นนักเรียนเก่าอังกฤษอย่างเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี จึงได้มองข้ามเจ้าพระยาพิชัยญาติผู้เป็นนักกฎหมายไป ครั้งอีก 3 เดือนต่อมารัฐบาลมาเอาตัวเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีไปเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ในวันที่ 1 กันยายนปี 2475 ทางสภาจึงได้เลือกนักกฎหมายอย่างเจ้าพระยาพิชัยญาติขึ้นเป็นประธานสภาคนที่ 2 ของประเทศ ทั้งนี้เพื่อเตรียมรับมือกับงานสำคัญของสภาที่จะต้องทำในเวลาอันใกล้ นั่นคือ การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกที่อนุกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญของสภากำลังขะมักเขม้นร่างกันอยู่ และประมาณอีก 3 เดือนต่อมาสภาก็ได้รับร่างรัฐธรรมนูญจึงได้เริ่มพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเรียงมาตราจนเรียบร้อยสามารถ ประกาศใช้ได้ในวันที่ 10 ธันวาคมปี 2475 การเป็นประธานควบคุมการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่มีผู้ทรงความรู้มากหน้าหลายตา และยังไม่มีระบบพรรคการเมืองมาช่วยควบคุมจึงเป็นงานที่ไม่ง่ายเลยแต่ท่านก็ทำได้เรียบร้อย ในพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญตอนบ่ายวันที่ 10 ธันวาคมปี 2475 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 รับรัฐธรรมนูญที่พระยามโนปกรณ์ประธานคณะกรรมการราษฎรลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและถวายพระองค์ท่านแล้วได้โปรดพระราชทานให้ประธานสภา ดังนั้นเจ้าพระยาพิชัยญาติ จึงเสมือนเป็นผู้แทนประชาชนรับพระราชทานรัฐธรรมนูญจากพระมหากษัตริย์เมื่อรับพระราชทานมาแล้วท่านได้นำรัฐธรรมนูญเดินออกมานอกพระที่นั่งอนันตสมาคมมาที่สนามหญ้าและแสดงแก่ประชาชนที่มาชุมนุมร่วมงานพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญให้เห็นโดยทั่วกัน ครั้นมีการประกาศให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้วเจ้าพระยาพิชัยญาติก็ยังคงเป็นประธานสภาสืบมาเพราะยังไม่ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาตามรัฐธรรมนูญแต่สภาที่ท่านเป็นผู้นำก็ได้ออกกฎหมายเลือกตั้งฉบับแรกในวันที่ 15 ธันวาคมปี 2475 ส่วนรัฐบาลนั้นก็ยังมีหัวหน้ารัฐบาลคนเดิม คือ พระยามโนปกรณ์แต่ตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้บริหารประเทศนั้นเรียกว่า นายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญนำคณะผู้บริหารที่เรียกว่าคณะรัฐมนตรีบริหารประเทศสืบมาซึ่งในช่วงเวลาที่ตามมานี้เหตุการณ์ในสภาที่เคยราบเรียบมาก่อนก็เริ่มจะดุเดือดเข้มข้นขึ้นมา เพราะสมาชิกสภาที่เป็นคนของผู้ก่อการได้อภิปรายซักถามและเร่งรัดรัฐบาลในด้านต่างๆ ทั้งในการสร้างประชาธิปไตยและพัฒนาบ้านเมืองเรื่องการเมืองที่สำคัญคือการที่รัฐบาลห้ามข้าราชการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองและสมาชิกเห็นว่ารัฐบาลจะเป็นเผด็จการ
นอกจากเรื่องห้ามเกี่ยวกับพรรคการเมืองแล้ว เรื่องนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ยังไม่มีอะไรใหม่ สมาชิกสภาที่เป็นผู้ก่อการฯ ก็เรียกร้องมากเพราะในแถลงการณ์ของคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนปี 2475 ได้ประกาศไว้ชัดเจนว่ารัฐจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงในด้านนี้และรัฐบาลก็ได้มอบหมายให้บุคคลในคณะราษฎรที่เป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลไปจัดการทำเค้าโครงเศรษฐกิจมา ปัญหามันเกิดขึ้นก็เมื่อนายกฯ และรัฐมนตรีสำคัญในรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจที่ว่านี้ ถึงขนาดว่ามีแนวทางคล้ายของคอมมิวนิสต์จนทำให้เกิดการขัดแย้งมาก ถึงตรงนี้นายกฯ กับรัฐมนตรีอาวุโสที่เป็นนายทหารคุมกำลังเลือกทางออกพระราชกฤษฎีกา “ปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญ” บางมาตราไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 1 เมษายน ปี 2476 ดังนั้นประธานสภา เจ้าพระยาพิชัยญาติจึงว่างงานทันที ตอนนั้นก็คงคิดว่าจะว่างงานไปถาวรเพราะยังไม่มีการกำหนดวันเลือกตั้งแต่อย่างใด แถมการเมืองก็ดูท่าว่าจะไม่สงบเวลาผ่านไปเข้ามาถึงเดือนมิถุนายนปีเดียวกันใกล้จะครบรอบวันเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ ก็มีการเปลี่ยนแปลงในวงการทหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกองทัพ 4 นายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่นำโดยพระยาทรงสุรเดช พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาฤทธิ์อัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ ได้พร้อมใจกันยื่นหนังสือขอลาออกจากกองทัพในวันที่ 18 มิถุนายน และมีการแต่งตั้งนายทหารคนใหม่อีก 3 คนที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อการเข้ามาเป็น ทั้งนี้โดยจะมีผลในวันที่ 24 มิถุนายน ปี 2476 แต่แล้วในวันที่ 20 มิถุนายนปีนั้นเอง นายพันเอกพระยาพหลที่มาขอลาออกจากตำแหน่งก็เป็นหัวหน้าคณะทหารที่มีนายพันตรีหลวงพิบูลสงคราม และนายนาวาตรีหลวงศุภชลาศัยเป็นผู้ช่วยนำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจการปกครองซ้ำจากรัฐบาล พระยามโนปกรณ์ฯ เมื่อยึดอำนาจสำเร็จก็ให้พระยามโนปกรณ์ฯ ลาออกจากนายกฯ และท่านต้องเดินทางออกไป “ลี้ภัยนอกประเทศ” ที่ปีนัง ขณะนั้นเป็นดินแดนในปกครองของอังกฤษ เมื่อยึดอำนาจได้แล้วคณะผู้ยึดอำนาจก็ต้องใช้บริการของเจ้าพระยาพิชัยญาติ เพราะท่านเป็นประธานสภาอยู่ก่อนที่เขาจะปิดสภา ปรากฎว่าในวันเดียวกันที่ยึดอำนาจสำเร็จก็มีสมาชิกสภาจำนวน 26 คนได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพระยาพิชัยญาติผู้เป็นประธานสภา ขอให้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวขอเปิดประชุมสภา นอกจากนี้เจ้าพระยาพหลฯ ยังเชิญเจ้าพระยาพิชัยญาติไปพบที่วังปารุสกวัน และตามที่ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ ได้บันทึกไว้ว่า “มอบหมายให้เป็นผู้ไปกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ วังไกลกังวล หัวหิน เพื่อให้โปรดเกล้าฯ ให้เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร” ไม่เพียงแต่เท่านั้นท่านยังได้รับมอบหมาย “ให้กราบบังคมทูลเรื่องที่คณะผู้ยึดอำนาจการปกครองขอให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งด้วย” อันหลังนี้น่าจะเป็นหน้าที่ของหัวหน้าคณะผู้ยึดอำนาจเสียมากกว่า หนังสือกราบบังคมทูลเพื่อขอให้เปิดสภามีความสำคัญว่า
“ข้าพระพุทธเจ้าพระยาพิชัยญาติประธานสภาผู้แทนราษฎรขอรับพระราชทานพระบรมราชวโรกาส กราบบังคมทูลพระกรุณาทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วย เมื่อวันที่ 20 เดือนนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวม 26 นาย ได้ยื่นคำร้องต่อข้าพระพุทธเจ้าให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาเพื่อขอให้ทรงเรียกประชุมวิสามัญแห่งสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญมาตรา 32 โดยพลัน...”
อีกวันถัดมาในวันที่ 21 มิถุนายนปี 2476 จึงมีพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมวิสามัญแห่งสภาผู้แทนราษฎรและมีการประชุมสภาได้ในวันที่ 22 มิถุนายนปีเดียวกัน ในวันนั้นเจ้าพระยาพิชัยญาติก็ได้แจ้งให้สภาได้ทราบว่าท่านได้กราบบังคมทูลไปว่า
“นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นผู้สมควรจะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายนศกนี้”
การได้หัวหน้าผู้การฯ มาเป็นหัวหน้ารัฐบาลเสียเองเช่นนี้ยิ่งทำให้ฝ่ายที่ไม่พอใจคณะราษฎรพากันไปรวมตัวกันหาทางที่จะล้มรัฐบาลของคณะราษฎรอย่างจริงจังมากขึ้น ในทางการเมืองรัฐบาลจึงมุ่งที่จะจัดการเลือกตั้งครั้งแรกในประเทศไทยตามรัฐธรรมนูญให้ได้อย่างรวดเร็วโดยจะเริ่มกระบวนการเลือกตั้งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมและไปสิ้นสุดในวันที่ 15 พฤศจิกายนปี 2476 แต่พอมาถึงวันที่ 11 ตุลาคมปีเดียวกัน ในช่วงเวลาของการเลือกตั้งก็ได้เกิดความพยายามที่จะยึดอำนาจของคณะทหารหัวเมือง ที่เรียกกันว่า “กบฏบวรเดช” จนเกิดเป็นสงครามกลางเมืองไทยรบไทยอยู่ประมาณ 7 วัน จนกว่าทางรัฐบาลจะปราบปรามกบฏได้ราบคาบ ดังนั้นเจ้าพระยาพิชัยญาติจึงเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ร้อนระอุทางการเมืองอยู่หลายครั้ง หลังการกบฏได้มีการเล่นงานผู้ที่เข้าร่วมกับฝ่ายกบฏ ทั้งจับกุม คุมขัง ปลด ย้ายและเปลี่ยนตำแหน่งกันพอสมควรแต่ท่านก็ไม่กระทบกระเทือน ครั้งวันที่ 15 พฤศจิกายนปีนั้นการเลือกตั้งสำเร็จลงได้ มีผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งครึ่งสภาจึงได้มีการแต่งตั้งสมาชิกสภาประเภทที่ 2 อีกครึ่งสภาในวันที่ 10 ธันวาคมปี 2476 เจ้าพระยาพิชัยญาติจึงพ้นตำแหน่งสมาชิกสภาชั่วคราวและพ้นตำแหน่งประธานสภาในสภาชุดใหม่ ท่านก็ไม่ได้รับแต่งตั้งด้วย ทำให้เป็นที่สงสัยกันว่าในช่วงสุดท้ายของการเป็นประธานสภาท่านไปทำอะไรขัดใจรัฐบาล
เจ้าพระยาพิชัยญาติได้มีชีวิตต่อมาอีกหลายปีจึงถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 24 กรกฎาคมปี 2489