พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ศิบดี นพประเสริฐ

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ

 

          พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประสูติเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2447 มีพระนามเมื่อแรกประสูติว่า "หม่อมเจ้าอาทิตย์ทิพอาภา" เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์[1] กับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์[2] มีพระโสทรภราดา 2 องค์ ได้แก่ หม่อมเจ้าเกียรติ อาภากร ประสูติและสิ้นชีพตักษัยในวันเดียวกัน และพลอากาศโท หม่อมเจ้ารังษิยากร อาภากร

          เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2451 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์ พระมารดาได้ปลงพระชนม์ชีพพระองค์เอง เนื่องจากทรงน้อยพระทัยพระสวามี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงรับหม่อมเจ้าอาทิตย์ทิพอาภาไปทรงเลี้ยงดู ทรงเอ็นดูเป็นพิเศษและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็น พระหลานเธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452[3] ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำนำหน้าพระนามเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา[4]

          ใน พ.ศ. 2470 ตรงกับรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร และเสด็จกลับสยาม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการในกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในขณะนั้นมี สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เป็นเสนาบดี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงเข้ารับราชการในกรมตำรวจ ซึ่งมีทั้งงานจับกุม งานสอบสวนผู้กระทำความผิด รวมทั้งทำบันทึกข้อความการจับกุม มีการเสด็จออกภาคสนามเพื่อจับผู้ร้าย การควบคุมนักโทษ จนทรงมีความรู้ความชำนาญในเรื่องการปราบปราม หลังจากนั้นทรงย้ายไปรับราชการในกรมราชทัณฑ์ ทำให้ทรงรับทราบสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของบุคคลธรรมดาสามัญ สาเหตุของการที่ต้องมาเป็นผู้ร้ายที่แต่ละคนล้วนมีเหตุผลต่าง ๆ กัน

          ต่อมาใน พ.ศ. 2471 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการมณฑลนครศรีธรรมราช ทรงปฏิบัติราชการได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เป็นผลให้ทรงได้เลื่อนตำแหน่งจากเลขานุการมณฑลนครศรีธรรมราชมาเป็นปลัดกรม กองบัญชาการในกระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ยังทรงงานในหน้าที่เลขานุการเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในช่วงนั้น คือ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

          นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี_พระบรมราชินี ยังโปรดการเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดพระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้น ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข ระหว่าง วันที่ 10-11 เมษายน พ.ศ. 2472 ในการนี้ พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารได้ตามเสด็จเป็นจำนวนมาก มีการเตรียมการแสดงรีวิวหน้าพระที่นั่งเนื่องในโอกาสนี้ โดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เป็นอีกพระองค์หนึ่งที่ทรงได้รับคัดเลือกให้ร่วมแสดงรีวิวหน้าที่นั่งครั้งนี้ด้วย และที่วังไกลกังวลนี้เองที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ได้ทรงพบกับ คุณกอบแก้ว วิเศษกุล นางพระกำนัล ในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนคอนแวนต์ที่ปีนัง (Convent of the Holy Infant Jesus, Penang) จากนั้นจึงทรงเข้าพิธีหมั้น โดยมีสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นประธาน

          หลังพิธีหมั้น คุณกอบแก้ว วิเศษกุล ในฐานะนางพระกำนัล ต้องตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ประพาสชวา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ส่งจดหมายถึงคุณกอบแก้ว วิเศษกุล พระคู่หมั้นได้ และคุณกอบแก้วเองยังเขียนจดหมายมาทูลเรื่องราวเกี่ยวกับชวาไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การรับเสด็จ ลักษณะพลเมือง งานพิธีต่าง ๆ ในแต่ละสถานที่ รวมไปถึงเรื่องขบขัน เช่น การที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนที่ประทับกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย ขณะทอดพระเนตรภาพยนตร์ ทุกคน ณ ที่นั้นจึงเข้าใจว่าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย คือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว[5]

          ในวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2472 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เสกสมรสกับคุณกอบแก้ว วิเศษกุล ธิดาพระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล)[6] และคุณหญิงเนื่อง สุรินทราชา โดยรับพระราชทานเสกสมรสจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งพระราชทานทุนของขวัญ และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่คู่บ่าวสาว พร้อมกันนี้ยังพระราชทานที่ดินพร้อมตำหนัก ณ ตำบลบางซื่อ และพระราชทานนามวังแห่งใหม่นี้ว่า “วังรัตนาภา” ในช่วงเย็นมีการเลี้ยงอาหารค่ำฉลองสมรสพระราชทาน และฉลองตำหนักใหม่ ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ มาทรงร่วมงานด้วย

          หลังการเสกสมรส พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงรับราชการปลัดกรมบัญชาการ กระทรวงมหาดไทย แต่เนื่องจากทรงงานหนักและพระพลานามัยไม่ดี แพทย์จึงกราบทูลแนะนำให้ทรงพักผ่อนและเสด็จไปรักษาพระองค์ยังต่างประเทศ ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงพักราชการเพื่อเสด็จไปรักษาพระองค์ ในการพักครั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยจัดให้เป็นการเสด็จทอดพระเนตรกิจการด้านการปกครองและการจัดระเบียบราชทัณฑ์ในต่างประเทศไปพร้อม ๆ กัน เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับสยามในภายหน้า ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาเข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลลาก่อนเสด็จไปยุโรป และพระราชทานคำแนะนำนานาประการ นอกจากนี้ ก่อนออกเดินทางยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา พร้อมด้วยหม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา เข้าเฝ้าฯ อีกครั้งเพื่อพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ และพระราชทานเลี้ยง[7]

          พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เสด็จพร้อมด้วยหม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา ไปทอดพระเนตรกิจการด้านการปกครองและการราชทัณฑ์ยังประเทศต่าง ๆ ได้แก่ ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร เยอรมนี เบลเยียม ออสเตรีย อิตาลี ยูโกสลาเวีย เชโกสโลวาเกีย บัลแกเรีย ลัตเวีย เอสโตเนีย ตุรกี ทั้งนี้ นายแพทย์ถวายคำแนะนำแด่ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ว่าถ้ามีพระประสงค์จะให้พระสุขภาพกลับฟื้นคืนสู่ความสมบูรณ์จะต้องประทับที่ยุโรปอีก 3 ปี แต่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงปฏิเสธ เพราะมีพระประสงค์ที่จะเสด็จกลับไปทรงงานที่สยาม ในกรณีนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพอพระราชหฤทัยยิ่ง ดังปรากฏความตามพระราชหัตถเลขา ดังต่อไปนี้[8]

         

          “…It is very satisfactory to hear that your health is much improved. I can quite understand and very much appreciate the fact that you were rather sick with the report of a certain doctor who gave as his opinion that you ought to stay in Europe for 3 years … The fact that you refused to entertain any such idea shows that you have the real and proper spirit of the จักรี S. Our life and work must be in Siam and all for the benefit of our people. It is a great relief to me that at least one of my nephews is a real chip of the old block. You are quite right to decide that you must try to live and work in Siam…”

          (“...พอใจมากที่ได้ทราบว่าสุขภาพของยอร์ช (หมายถึงพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา - ผู้เรียบเรียง) ดีขึ้นมาก ตามรายงานของแพทย์ ฉันเข้าใจดีว่าอาการป่วยของยอร์ชจะต้องอยู่รักษาสุขภาพในยุโรปเป็นระยะเวลานานถึง 3 ปี หรือราว ๆ นั้น ความเห็นของแพทย์อันเป็นข้อเท็จจริงที่แจ้งมานี้ ทราบว่ายอร์ชปฏิเสธที่จะใช้ชีวิตสุขสบายอยู่ต่อในยุโรป นับเป็นลักษณะพิเศษที่แสดงถึงสายเลือดแห่งราชวงศ์จักรีอย่างแท้จริงที่ยอร์ชมีอยู่ ชีวิตและการทำงานของพวกเราต้องอยู่ในประเทศสยามเพื่อให้เกิดผลประโยชน์แก่ประชาชนของเรา เป็นที่น่าชื่นชมที่เธอยอมพลีชีวิต จิต วิญญาณ เป็นราชพลีเพื่อประชาชน วิเศษมาก เบาใจที่อย่างน้อยมียอร์ชคนหนึ่ง สมแล้วที่เป็นหลานของฉัน ถอดแบบพ่อมาโดยสายเลือดอย่างแท้จริง เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่กลับมาใช้ชีวิตและช่วยงานในสยาม...”)

 

          เมื่อเสด็จกลับมาถึงสยามแล้ว พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา พร้อมด้วยหม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา ได้ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ถวายของที่ระลึกพร้อมทั้งกราบบังคมทูลเรื่องราวระหว่างที่อยู่ในยุโรปให้ทั้งสองพระองค์ทรงทราบ ต่อมาในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2473 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดนครปฐม พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาได้ทรงใช้หลักวิชาการปกครองและระบบงานที่ทรงศึกษานำมาประกอบการบริหารจังหวัดทั้งข้าราชการและประชาชนแบบค่อยเป็นค่อยไป หลายครั้งที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาทรงปฏิบัติงานด้านการปราบปรามด้วยพระองค์เอง บางครั้งเสด็จพักแรมต่างถิ่น บรรทมศาลาวัดเพื่อจับผู้ร้ายสำคัญจนถึงกับมีการยิงต่อสู้กับผู้ร้าย หลังจากจับตัวได้ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา จะทรงคุมตัวผู้ร้ายสำคัญนั้นนำส่งขึ้นศาลด้วยพระองค์เอง ทั้งยังทรงเตรียมหาพยานหลักฐานและเอกสารนำส่งเพื่อความสะดวกในการพิจารณาตัดสินคดี นอกจากนี้ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ยังทรงนำระบบงานด้านเรือนจำที่ทรงศึกษาจากยุโรปมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินการกับเรือนจำนครปฐมจนกระทรวงมหาดไทยได้ออกเป็นคำสั่งให้จังหวัดอื่น ๆ ถือเป็นแบบแผนปฏิบัติ เมื่อทรงว่างจากการทรงงาน พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาก็จะทรงชักชวนพ่อค้าประชาชนสนใจการเล่นกีฬาเพื่อเสริมสร้างความสามัคคีและยังเป็นการบำรุงสุขภาพพลานามัยให้แข็งแรง และในบางโอกาส พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา พร้อมด้วยหม่อมกอบแก้ว จะเสด็จลงพื้นที่ไปทอดพระเนตรกิจการด้านการเกษตร กสิกรรม ทรงจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ รวมไปถึงเมล็ดพันธุ์แก่ประชาชน บางครั้งประทานเครื่องมืออุปกรณ์ด้านการเกษตรเป็นรางวัลแก่เกษตรกรที่ส่งผลผลิตเข้าประกวด เป็นผลให้ประชาชนนิยมปลูกพืชผักสวนครัวในครัวเรือนของตนด้วย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาจึงเป็น “ข้าหลวง” ที่ประชาชนนิยมรักใคร่ และยังเป็นที่เกรงกลัวของโจรผู้ร้าย กอปรกับการทรงงานและนโยบายด้านการปกครอง เป็นผลให้โจรผู้ร้ายที่เคยชุกชุมก็ค่อย ๆ ลดจำนวนลง ชาวเมืองนครปฐมเองก็มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย[9]

          เหตุการณ์สำคัญสำหรับชาวนครปฐมเมื่อครั้งที่ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงเป็นข้าหลวง ก็คือ พระองค์ทรงกราบบังคมทูลเชิญเสด็จ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ พระราชทานธงประจำกองลูกเสือที่จังหวัดนครปฐม ชาวเมืองนครปฐมต่างปีติยินดีกันถ้วนหน้าที่ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่างจัดเตรียมพิธีการรับเสด็จฯ อย่างสมพระเกียรติ เป็นที่พอพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง[10]

          พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ในฐานะข้าหลวงเมืองนครปฐม ทรงทราบถึงชีวิตความเป็นอยู่ และรายได้ของประชาชนในพื้นที่ ทรงทราบว่าสภาพเศรษฐกิจในช่วงนั้นประสบกับความฝืดเคือง แต่ด้วยความที่นครปฐมเป็นเมืองขนาดเล็ก จึงทรงใช้นโยบายสนับสนุนการทำสวนครัวเพื่อให้ประชาชนพอมีกินมีใช้ นอกจากนี้ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ยังทรงสร้างความเข้าใจในข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ แก่ประชาชนในจังหวัดนครปฐม เช่น ข่าวพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระอาการประชวรพระเนตร จำเป็นต้องเสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ไปรักษาพระเนตรที่สหรัฐอเมริกา รวมไปถึงข่าวเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วย[11]

          เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญใน วันที่ 24_มิถุนายน_พ.ศ._2475 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ยังทรงดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดนครปฐม ยังทรงงานตามปกติ แต่ก็ต้องทรงรับนโยบายการปกครองจากรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งในขณะนั้นมี พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เป็นนายกรัฐมนตรี โดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ก็ได้ทรงชี้แจงและประทานพระโอวาทเพื่อมิให้ประชาชนชาวนครปฐมเสียขวัญ และยังทรงอธิบายถึงรัฐบาลชุดใหม่ด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายเพื่อทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจ ทรงชี้แจงหน้าที่ของพลเมืองที่จะต้องปฏิบัติ การปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับการมีรัฐบาลชุดใหม่ที่บริหารราชการแผ่นดินภายใต้ระบอบการปกครองใหม่[12]

          ต่อมา เมื่อพระยาศรีเสนา สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ย้ายกลับเข้าส่วนกลางในตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงมหาดไทยจึงมีคำสั่งแต่งตั้ง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ในการนี้ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เข้าเฝ้าฯ กราบถวายบังคมลาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว การปฏิบัติราชการที่จังหวัดภูเก็ตนี้เป็นผลดีกับพระสุขภาพของพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาด้วย เพราะเมืองภูเก็ตมีอากาศเย็นสบาย มีต้นไม้เขียวชอุ่ม และยังมีทะเลอันดามันที่ส่งเสริมความงามทางธรรมชาติแก่เมืองภูเก็ต นอกจากการทรงงานราชการแล้ว พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ยังทรงจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความสามัคคีแก่ชาวเมือง โปรดให้มีการแข่งขันกีฬาอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น เทนนิส ฟุตบอล ซึ่งจัดไปแข่งในจังหวัดใกล้เคียง ทรงชักชวนชาวปีนังให้มาร่วมงานกีฬาที่ภูเก็ต บางครั้งทรงลงเล่นในตำแหน่งผู้รักษาประตูด้วย ในด้านเศรษฐกิจ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงจัดให้มีการแสดงสินค้า ส่งเสริมการค้าและพาณิชยกรรม รวมไปถึงการสร้างท่าเรือ ทำให้เกิดความสะดวกด้านการคมนาคม ประชาชนเดินทางไปมาได้โดยสะดวก ชาวภูเก็ตเรียกผู้ว่าราชการจังหวัดของพวกเขาว่า “พระองค์เจ้า” ทั้งนี้ การปฏิบัติราชการในหน้าที่ผู้ว่าราชการจังหวัดของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทำให้ภูเก็ตในสมัยนั้นกลายเป็นเมืองที่มีสภาพทางเศรษฐกิจดี ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี[13]

          เดือนมกราคม พ.ศ. 2476 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เป็นราชเลขานุการในพระองค์ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาเสด็จไปรายงานพระองค์รับตำแหน่งใหม่ พร้อมทั้งเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ซึ่งทั้งสองพระองค์กำลังเตรียมจะเสด็จฯ ไปทรงเจริญพระราชไมตรีกับนานาประเทศในยุโรป และจะประทับรับการผ่าตัดรักษาพระเนตร ณ ประเทศอังกฤษ ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในการนี้ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงปฏิบัติราชการถวายผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยดี ทั้งนี้ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงปฏิบัติราชการฝ่ายราชเลขานุการรวมทั้งประสานงานกับคณะรัฐบาล ทรงตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร รายงาน และข้อมูลต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังทรงงานเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงบรรยายวิชาประวัติศาสตร์ การเมืองประเด็นสำคัญ ๆ ของฝรั่งเศส เช่น การปฏิวัติฝรั่งเศส การที่นโปเลียนขยายอำนาจ ทรงแทรกความรู้ความเข้าใจแก่นิสิตเพื่อประโยชน์แก่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย[14]

          วันที่ 2_มีนาคม_พ.ศ._2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ โดยที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี มิได้มีพระราชโอรสและมิได้ทรงแต่งตั้งรัชทายาท ดังนั้น จึงต้องพิจารณาบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการสืบราชสันตติวงศ์ โดยมาตรา 9 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ได้กำหนดให้การสืบราชสมบัติให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 ประกอบกับความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร[15] โดยพระราชวงศ์ที่ทรงมีสิทธิเป็นอันดับแรก คือ “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล” พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์[16] ประสูติ แต่หม่อมสังวาลย์[17] กราบทูลเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ได้เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 8 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 ขณะที่มีพระชนมายุเพียง 9 พรรษา โดยเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล”

          เมื่อ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงเป็นยุวกษัตริย์ จึงต้องมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประกอบไปด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ เจ้าพระยายมราช และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ต่อมาเมื่อ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สิ้นพระชนม์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา จึงทรงดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สืบมา ต่อมาใน พ.ศ. 2481 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ประกาศสถาปนาพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เป็น “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา”[18]

          พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา สิ้นพระชนม์ด้วยโรคมะเร็ง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 สิริพระชันษา 42 ปี

 

อ้างอิง

[1] พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาโหมด พระสนมเอก (โหมด บุนนาค) น้องสาวร่วมบิดามารดากับเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ (แพ บุนนาค) พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

[2] พระนามเดิม หม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์ พระธิดาองค์โตในสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช กับหม่อมเลี่ยม ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม ศุภสุทธิ์)

[3] ราชกิจจานุเบกษา, “พระบรมราชโองการ ประกาศ ยกหม่อมเจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ในพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ขึ้นเป็นพระหลานเธอพระองค์เจ้า,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 26 (28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452) : 84.

[4] ราชกิจจานุเบกษา, “พระบรมราชโองการ ประกาศ คำนำพระนามพระบรมวงษานุวงษ์,” ราชกิจจานุเบกษา, ​เล่ม 27, ตอน ก, 30 ตุลาคม พ.ศ. 2453, หน้า 1

[5] ลดา รุธิรกนก, มณีในอาทิตย์ (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2548), หน้า 108.

[6] พระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล) หรือ “แม่วัน” เป็นผู้แรกที่แปลนวนิยายภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย และเคยทำหน้าที่เป็นล่ามคนสำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จบการศึกษาจากโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษซึ่งตั้งขึ้นที่พระราชวังนันทอุทยาน เมื่อ พ.ศ. 2439 ได้มีโอกาสไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ เนื่องจากเป็นผู้มีความรู้ภาษาอังกฤษและมีปฏิภาณไหวพริบดี เมื่ออายุเพียง 16 ปี จึงได้รับเลือกให้เป็นล่ามประจำพระองค์ สมเด็จพระเจ้าซาร์นิโคลัสแห่งรัสเซียเมื่อครั้งยังทรงเป็นเจ้าชายนิโคลัส มกุฎราชกุมาร คราวที่เสด็จฯ เยือนไทยเมื่อ พ.ศ. 2433 และเป็นเหตุให้ผู้ใหญ่นำตัวถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งได้ตามเสด็จฯ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสด็จฯ ไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ท่านจึงมีโอกาสศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษในช่วงนี้ด้วย พระยาสุรินทราชารับราชการมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 เคยดำรงตำแหน่งปลัดกรมสรรพากรนอก เลขานุการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เกษตรมณฑลภูเก็ต เจ้ากรมเพาะปลูก อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข เลขาธิการหอพระสมุดวชิรญาณ องคมนตรี สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตและมณฑลนครศรีธรรมราช และอธิบดีกรมนคราทร ท่านมีชื่อเสียงในวงการประพันธ์ เนื่องจากใช้นามปากกา “แม่วัน” แปลนวนิยายเรื่อง Vendetta ของ Marie Corelli เป็นภาษาไทยชื่อ "ความพยาบาท" ลงพิมพ์ในนิตยสาร ลักวิทยา ฉบับที่ 2 พ.ศ.2444 นับเป็นนวนิยายแปลเรื่องแรกในเมืองไทย และโด่งดังแพร่หลายเรื่อยมาจนปัจจุบัน มีการรวมพิมพ์เป็นเล่มหลายครั้ง พระยาสุรินทราชา เป็นที่มาของ “รางวัลสุรินทราชา” เป็นรางวัลเกียรติคุณที่สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย มอบแก่นักแปลและล่ามผู้มีผลงานดีเด่นเผยแพร่เป็นเวลานาน และสร้างคุณูปการแก่วงวรรณกรรม สังคม และประเทศชาติ ดูใน “รางวัลสุรินทราชา” สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย [ออนไลน์] แหล่งที่มา : http://www.thaitiat.org/surintharachaaward/

[7] ลดา รุธิรกนก, มณีในอาทิตย์ (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2548), หน้า 108.

[8] ลดา รุธิรกนก, มณีในอาทิตย์ (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2548), หน้า 172-173.

[9] ลดา รุธิรกนก, มณีในอาทิตย์ (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2548), หน้า 176-185.

[10] ลดา รุธิรกนก, มณีในอาทิตย์ (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2548), หน้า 176-185.

[11] ลดา รุธิรกนก, มณีในอาทิตย์ (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2548), หน้า 190 และ 206.

[12] ลดา รุธิรกนก, มณีในอาทิตย์ (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2548), หน้า 206.

[13] ลดา รุธิรกนก, มณีในอาทิตย์ (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2548), หน้า 210-217.

[14] ลดา รุธิรกนก, มณีในอาทิตย์ (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2548), หน้า 218.

[15]“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 49 (10 ธันวาคม 2475): 535.

[16] พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงสถาปนาพระอัฐิสมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ เป็นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกเมื่อ พ.ศ. 2513 ดูใน “พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมเด็จพระบรมราชชนก และสมเด็จพระบรมราชชนนี,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 87 ตอนที่ 52 (12 มิถุนายน 2513): 1-7. 

[17] พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ เป็นสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเมื่อ พ.ศ. 2513 ดูใน “พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมเด็จพระบรมราชชนก และสมเด็จพระบรมราชชนนี,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 87 ตอนที่ 52 (12 มิถุนายน 2513): 1-7. 

[18] ราชกิจจานุเบกษา, “พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนา พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ขึ้นเป็น
พระเจ้าวรวงศ์เธอ,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 55 (16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481) : 672.