พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. 2554
ผู้เรียบเรียง : วันวิภา สุขสวัสดิ์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร พันธุ์เปรื่อง
รัฐสภาในฐานะที่เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ทางด้านนิติบัญญัติ และเป็นหนึ่งในผู้ใช้อำนาจอธิปไตยสามฝ่าย มีภารกิจหน้าที่ในการดำเนินการผ่านระบบผู้แทนประชาชนที่ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งการทำหน้าที่ทางด้านนิติบัญญัตินี้จำเป็นต้องมีหน่วยงานมารองรับการทำหน้าที่ของรัฐสภา เพื่อให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่สมาชิกรัฐสภาในการปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ อันจะทำให้การดำเนินงานของสมาชิกรัฐสภามีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ
ความเป็นมา
การจัดตั้งหน่วยงานเพื่อรองรับการทำหน้าที่เกี่ยวกับกิจการฝ่ายธุรการให้กับสมาชิกรัฐสภา ที่ปฏิบัติหน้าที่ทางด้านนิติบัญญัตินั้น เริ่มต้นขึ้นภายหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา โดยในวันที่ 28 มิถุนายน 2475 ได้มีการประชุมผู้แทนราษฎรชั่วคราวชุดแรก จำนวน 70 คน ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ที่ประชุมได้เลือกมหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร นายพลตรี พระยาอินทรวิชิต เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ขออนุมัติต่อที่ประชุม เพื่อให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร[1] จึงถือได้ว่าสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2475 แต่การจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในระยะเริ่มแรกนั้นยังไม่มีกฎหมายจัดตั้งรองรับ จึงไม่มีงบประมาณและสถานที่ทำการของตนเอง มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานจำนวนเพียง 7 คน [2]ต่อมาได้มีกฎหมายจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรกในชื่อว่า “กรมเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร”[3] มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับเลขานุการของสภาผู้แทนราษฎร อยู่ในบังคับบัญชาของประธานสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร”[4] มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการฝ่ายธุรการของสภาผู้แทนราษฎร และได้รับการยกฐานะเป็นทบวงการเมือง โดยพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พุทธศักราช 2484[5] และเมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พุทธศักราช 2485 มีผลให้ข้าราชการของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเปลี่ยนสถานะจากข้าราชการพลเรือนฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรไปเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญเหมือนข้าราชการในสังกัดกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการเปลี่ยนชื่อสำนักงานหลายครั้งเพื่อให้สอดคล้องกับระบบรัฐสภาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ทั้งการแยกสำนักงานฯ ออกเป็นสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนกับสำนักงานเลขาธิการพฤฒสภา และการรวมสำนักงานทั้งสองเข้าด้วยกัน โดยจัดตั้งเป็น “สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา”[6] จนกระทั่งได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. 2518 เพื่อจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภาให้เป็น อิสระจากฝ่ายบริหาร เนื่องจากตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ ฝ่ายบริหารเป็นผู้จัดแบ่งส่วนราชการและจัดงานธุรการให้แก่ฝ่ายนิติบัญญัติ แต่โดยสภาพของการปฏิบัติราชการสมควรจะให้ฝ่ายนิติบัญญัติดำเนินการดังกล่าวเอง เพราะจะทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถปรับปรุงส่วนราชการและระเบียบปฏิบัติราชการของฝ่ายนิติบัญญัติให้เหมาะสม และอำนวยความสะดวกให้แก่ราชการของฝ่ายนิติบัญญัติ ได้มากยิ่งขึ้น[7] ซึ่งในการแยกสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาให้เป็นอิสระจากฝ่ายบริหารนั้น จำต้องมีระบบการบริหารข้าราชการเป็นของตนเอง จึงมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. 2518 ออกมาบังคับใช้ควบคู่กัน เพื่อให้ข้าราชการที่ปฏิบัติราชการให้แก่สภานิติบัญญัติไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยราชการของฝ่ายบริหาร ที่มีฐานะเป็นข้าราชการพลเรือน ซึ่งโดยสภาพ ของการปฏิบัติราชการควรจะอยู่ภายใต้การควบคุมของสภานิติบัญญัติโดยตรง เพราะจะทำให้สภา นิติบัญญัติสามารถปรับปรุงระเบียบปฏิบัติราชการของข้าราชการในสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาให้มีประสิทธิภาพ และอำนวยความสะดวกให้แก่ราชการของสภานิติบัญญัติได้มากยิ่งขึ้น[8]
สาระสำคัญของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. 2518 ในฐานะที่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการฝ่ายรัฐสภา มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มี “คณะกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภา” (ก.ร.) เป็นคณะกรรมการบริหารงานบุคคล โดยกำหนดองค์ประกอบ คุณสมบัติลักษณะต้องห้าม และวาระการดำรงตำแหน่งของ ก.ร. ผู้ทรงคุณวุฒิ อำนาจหน้าที่ วิธีการประชุม การตั้งอนุกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภา (อ.ก.ร.) ให้ทำการใด ๆ แทน การแบ่งประเภทของข้าราชการฝ่ายรัฐสภาเป็น 2 ประเภท คือ ข้าราชการรัฐสภาสามัญและข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง กำหนดคุณสมบัติ การบรรจุ การแต่งตั้ง คุณสมบัติของแต่ละตำแหน่ง การออกจากราชการ การลงโทษทางวินัย และการอุทธรณ์การถูกลงโทษของข้าราชการรัฐสภาสามัญ ในส่วนของข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง กฎหมายได้กำหนดตำแหน่งของข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง การแต่งตั้ง และเหตุที่ทำให้พ้นจากตำแหน่ง
วันที่ 1 เมษายน 2535 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 แบ่งส่วนราชการสังกัดรัฐสภาเป็นสองสำนักงาน คือสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร[9] และในปี 2554 ได้มีการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการฝ่ายรัฐสภาและกฎหมายเกี่ยวกับระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา เพื่อปรับเปลี่ยนสาระให้เหมาะสมกับการบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา ความเป็นอิสระทางการบริหารงานบุคคลและงบประมาณของฝ่ายนิติบัญญัติ และเพื่อปรับปรุงระบบตำแหน่งและประเภทตำแหน่งของข้าราชการรัฐสภาสามัญให้เหมาะสมกับลักษณะงาน โดยได้มีการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. 2554” และ“พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. 2554” โดย“พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. 2554” ได้มีการแก้ไขชื่อพระราชบัญญัติจากเดิม “จัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา” เป็น “ระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา” เพื่อให้มีความหมายครอบคลุมถึงการบริหารราชการ และให้คงคำว่า “ฝ่ายรัฐสภา” ไว้ เพื่อให้หมายถึงราชการประจำของฝ่ายรัฐสภา[10]
ในส่วนของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. 2554 ได้มีการแก้ไขชื่อพระราชบัญญัติ เพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารราชการที่เปลี่ยนแปลงไป โดยตัดคำว่า “ฝ่าย” ออกจากชื่อเดิม เนื่องจากในปัจจุบันชื่อกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลต่าง ๆ ไม่มีการกำหนด คำว่า “ฝ่าย” ไว้ในชื่อพระราชบัญญัติแล้ว เช่น ข้าราชการตุลาการ ข้าราชการอัยการ ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการพลเรือน จึงกำหนดชื่อพระราชบัญญัติใหม่เป็น “พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. 2554”[11]โดยมีเหตุผลแห่งการประกาศใช้ คือ “โดยที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. 2518 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน และมีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับการบริหารราชการที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับได้มีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ ดังนั้น เพื่อให้การบริหารทรัพยากรบุคคลของราชการฝ่ายรัฐสภาสอดคล้องกับการบริหารราชการที่เปลี่ยนแปลงไป สมควรปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวโดยกำหนดระบบตำแหน่งของข้าราชการรัฐสภาให้จำแนกตามกลุ่มลักษณะงานและให้มีบัญชีอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการรัฐสภาเป็นการเฉพาะ กำหนดให้ข้าราชการรัฐสภาสามัญตำแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญหรือระดับทรงคุณวุฒิ หรือตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับอาวุโสหรือระดับทักษะพิเศษอาจรับราชการต่อไปได้ และปรับปรุงกระบวนการพิจารณาอุทธรณ์และร้องทุกข์ของข้าราชการรัฐสภาสามัญ รวมทั้งเพิ่มตำแหน่งข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองบางตำแหน่งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาให้สอดคล้องกับภารกิจของงานด้านนิติบัญญัติของรัฐสภา” [12]
สาระสำคัญของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. 2554 เป็นการกำหนดให้มีการจัดระเบียบข้าราชการรัฐสภา การกำหนดตำแหน่ง การให้ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง การสรรหา การบรรจุ และการแต่งตั้ง การเพิ่มพูนประสิทธิภาพและการสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติราชการ การดำเนินการทางวินัย การออกจากราชการ การอุทธรณ์และการร้องทุกข์ การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้จะทำให้หน่วยราชการในสังกัดรัฐสภามีการจัดระเบียบข้าราชการรัฐสภาให้เป็นไป เพื่อผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของทางราชการที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า อันเป็นการนำไปสู่การรองรับการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่มีบทบาทและภารกิจที่เพิ่มมากขึ้นตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
ประเภทของข้าราชการรัฐสภา
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. 2554 ได้มีการกำหนดประเภทของ“ข้าราชการรัฐสภา” เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ข้าราชการรัฐสภาสามัญ และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
ข้าราชการรัฐสภาสามัญ ได้แก่ ข้าราชการรัฐสภาซึ่งรับราชการโดยได้รับบรรจุและแต่งตั้งตามที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. 2554 กำหนดไว้
ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง ได้แก่ ข้าราชการรัฐสภาซึ่งรับราชการในตำแหน่งการเมืองของรัฐสภา ที่ประกอบด้วยตำแหน่ง ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา ที่ปรึกษารองประธานรัฐสภา ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ปรึกษาประธานวุฒิสภา ที่ปรึกษารองประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ปรึกษารองประธานวุฒิสภา ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร โฆษกประธานวุฒิสภา โฆษกผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เลขานุการประธานรัฐสภา เลขานุการรองประธานรัฐสภา เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร เลขานุการประธานวุฒิสภา เลขานุการรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เลขานุการรองประธานวุฒิสภา เลขานุการ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ผู้ช่วยเลขานุการประธานรัฐสภา ผู้ช่วยเลขานุการรองประธานรัฐสภาผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้ช่วยเลขานุการประธานวุฒิสภา ผู้ช่วยเลขานุการ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้ช่วยเลขานุการรองประธานวุฒิสภา และผู้ช่วยเลขานุการ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอำนาจในการแต่งตั้งข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตำแหน่ง ต่าง ๆ นั้น เป็นอำนาจของประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา แล้วแต่กรณี ตามความ เหมาะสมและตามคุณสมบัติที่กฎหมายกำหนด
คณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา (ก.ร.)
“คณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา” หรือเรียกโดยย่อว่า “ก.ร.” เป็นคณะกรรมการบริหารงานบุคคลของข้าราชการรัฐสภา ที่มีองค์ประกอบในลักษณะไตรภาคี[13]อันประกอบด้วย ประธานรัฐสภา เป็นประธานกรรมการ รองประธานรัฐสภา เป็นรองประธานกรรมการ เลขาธิการ ก.พ. เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เลขาธิการวุฒิสภา ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 8 คน ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรเลือกจำนวน 4 คน วุฒิสภาเลือกจำนวน 4 คน และผู้แทนข้าราชการรัฐสภาสามัญจำนวน 4 คน ซึ่งข้าราชการ รัฐสภาสามัญในสังกัดสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเลือกกันเองจำนวน 2 คน และข้าราชการรัฐสภาสามัญในสังกัดสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเลือกกันเองจำนวน 2 คน เป็นกรรมการ ทั้งนี้ประธานรัฐสภาจะเป็นผู้แต่งตั้งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรหรือเลขาธิการวุฒิสภาคนใดคนหนึ่ง เป็นเลขานุการ
คณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา (ก.ร.) มีอำนาจหน้าที่เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่ส่วนราชการสังกัดรัฐสภาเกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารทรัพยากรบุคคล กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและมาตรฐานการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลของข้าราชการรัฐสภา ออกกฎ ก.ร. และระเบียบเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคล ตีความและวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อรับรองคุณวุฒิ เพื่อประโยชน์ในการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการรัฐสภา กำกับ ดูแล ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการบริหารทรัพยากรบุคคลของข้าราชการรัฐสภา พิจารณาจัดระบบทะเบียนประวัติและแก้ไขทะเบียนประวัติ กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการปฏิบัติการเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคลกำหนดเรื่องการจัดสวัสดิการ การสงเคราะห์อื่น และเงินค่าตอบแทนพิเศษแก่ข้าราชการรัฐสภา ทั้งนี้ คณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา (ก.ร.) มีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการข้าราชการรัฐสภา (อ.ก.ร.) เพื่อทำการใด ๆ แทนได้
อ้างอิง
- ↑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, สรรสาระรัฐธรรมนูญไทย (กรุงเทพ : รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977), 2548) หน้า 10-13.
- ↑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 (กรุงเทพ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2551) หน้า 1-11.
- ↑ พระราชบัญญัติจัดตั้งกระทรวง และกรม แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2476 ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 50 วันที่ 19 พฤศจิกายน 2476, หน้า 639.
- ↑ พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พุทธศักราช 2476 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 50 วันที่ 9 ธันวาคม 2476, หน้า 763.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58 วันที่ 19 สิงหาคม 2484, หน้า 1038.
- ↑ พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2490.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 92 ตอน 27 ก ฉบับพิเศษ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2518, หน้า 48.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 92 ตอน 27 ก ฉบับพิเศษ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2518, หน้า 1.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอน 32 วันที่ 1 เมษายน 2535, หน้า 1.
- ↑ สำนักงานเลขานุการ ก.ร., สาระสำคัญพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. 2554 และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. 2554, หน้า 1-6.
- ↑ สำนักงานเลขานุการ ก.ร., สาระสำคัญพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. 2554 และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. 2554, หน้า 7.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 128 ตอน 34 ก ฉบับพิเศษ วันที่ 11 พฤษภาคม 2554, หน้า 8.
- ↑ สำนักงานเลขานุการ ก.ร., สาระสำคัญพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. 2554 และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. 2554, หน้า 9.
บรรณานุกรม
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สรรสาระรัฐธรรมนูญไทย (กรุงเทพ : รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977), 2548) หน้า 10-13.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 (กรุงเทพ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2551) หน้า 1-11.
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 50 วันที่ 19 พฤศจิกายน 2476 หน้า 639.
พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พุทธศักราช 2476 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 9 ธันวาคม 2476 เล่ม 50 หน้า 763.
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58 วันที่ 19 สิงหาคม 2484 หน้า 1038.
พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2490.
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 92 ตอน 27 ก ฉบับพิเศษ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2518, หน้า 48.
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 92 ตอน 27 ก ฉบับพิเศษ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2518 หน้า 1.
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 128 ตอน 34 ก ฉบับพิเศษ วันที่ 11 พฤษภาคม 2554 หน้า 8.
สำนักงานเลขานุการ ก.ร.. สาระสำคัญพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภาพ.ศ. 2554 และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. 2554.
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. ระบบงานรัฐสภา 2555. กรุงเทพ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2555.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. ประวัติรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2542.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สรรสาระรัฐธรรมนูญไทย (กรุงเทพ : รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977), 2548).
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สิทธิประโยชน์ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงงานรัฐสภา. กรุงเทพ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2549.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สิทธิประโยชน์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2557. กรุงเทพ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2557.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551. กรุงเทพ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2551.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. อำนาจหน้าที่ของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. กรุงเทพ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2551.