สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
ผู้เรียบเรียง สิวาพร สุขเอียด
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเป็นส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมในสังกัดรัฐสภา ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 โดยมีเลขาธิการวุฒิสภาเป็นผู้บังคับบัญชา ข้าราชการในสังกัดขึ้นตรงต่อประธานวุฒิสภา[1]
ประวัติความเป็นมาของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เดิมเรียกว่า “สำนักงานเลขาธิการพฤฒสภา” ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2489 มีสถานที่ทำการอยู่ ณ พระที่นั่งอภิเษกดุสิตในบริเวณด้านทิศเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยมีนายไพโรจน์ ชัยนาม ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการ ซึ่งเหตุผลของการก่อตั้งสำนักงานเลขาธิการพฤฒสภาในเวลานั้น เนื่องจากได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวกำหนดให้ “รัฐสภา” ประกอบด้วย พฤฒสภา และ สภาผู้แทน อันเป็นการเริ่มต้นในระบบรัฐสภาในรูปแบบรัฐสภาคู่ (Dual Parliament) เป็นครั้งแรก นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น คือ นายปรีดี พนมยงค์ จึงมีดำริว่า ที่ประชุมของสภาทั้งสองจะต้องมีที่ประชุมคนละแห่ง และสำนักงานเลขาธิการของสภาจะต้องมีเป็นสองสำนักงาน เพราะต่างทำหน้าที่เป็นธุรการของแต่ละสภาแยกต่างหากจากกัน[2]
สำนักงานเลขาธิการพฤฒสภา ดำเนินกิจการจนถึงปี พ.ศ. 2490 ก็ถูกยุบรวมเข้ากับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตั้งขึ้นเป็นหน่วยงานใหม่ ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2490 เรียกว่า “สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา” โดยมีหน่วยงานธุรการของรัฐสภาเพียงหน่วยงานเดียว และในปี พ.ศ. 2517 ได้ย้ายอาคารที่ทำการมาตั้งอยู่ ณ บริเวณด้านทิศเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคม[3]
ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างระบบการบริหารงานบุคคลภาคราชการครั้งใหญ่ โดยมีการจำแนกข้าราชการฝ่ายพลเรือน ออกเป็นประเภทต่าง ๆ ที่มีระบบการบริหารงานบุคคลแยกต่างหากจากกัน อันได้แก่ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ข้าราชการครู ข้าราชการฝ่ายอัยการ ข้าราชการฝ่ายตุลาการ ข้าราชการตำรวจ รวมทั้งข้าราชการในสังกัดรัฐสภา เรียกชื่อว่า “ข้าราชการฝ่ายรัฐสภา” อยู่ในสังกัดรัฐสภา ภายใต้การบังคับบัญชาของประธานรัฐสภา ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. 2518[4] ซึ่งได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ให้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการประจำทั่วไปของสภา และรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณของรัฐสภา และมีเลขาธิการรัฐสภาเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อประธานรัฐสภา โดยมีคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภา หรือ ก.ร. ทำหน้าที่เป็นกรรมการกำกับนโยบายและบริหารงานบุคคล ควบคุม ดูแล ออกกฎ ระเบียบเกี่ยวกับอัตรากำลัง วินัย การลงโทษ และการอุทธรณ์การลงโทษ และให้การปฏิบัติงานต่าง ๆ ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยตามเจตนารมณ์ในการปรับปรุงของคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภา จึงมีคำสั่งรัฐสภาที่ 5/2527 กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของส่วนราชการในสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ซึ่งคำสั่งดังกล่าวได้แบ่งหน้าที่ในการปฏิบัติราชการออกเป็น 3 ฝ่าย คือ[5]
1. ฝ่ายบริหาร มีหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไปของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา มีหน่วยงานในสังกัด คือ กองกลาง กองคลังและพัสดุ กองการประชาสัมพันธ์ กองการพิมพ์ และกองสถานที่
2. ฝ่ายระเบียบงานรัฐสภา มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานด้านธุรการและเลขานุการของการประชุมสภา การประชุมคณะกรรมาธิการ การจัดทำรายงานการประชุม เป็นต้น ฝ่ายนี้มีหน่วยงานในสังกัด คือ กองการประชุม กองกรรมาธิการ กองวิเทศสัมพันธ์ ศูนย์ชวเลขและพิมพ์ดีด
3. ฝ่ายวิชาการ มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการให้บริการแก่สมาชิกรัฐสภาในการค้นคว้า รวบรวมข้อมูล สถิติ ข้อเท็จจริงทางด้านการเมือง การบริหาร เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ฯลฯ และช่วยเหลือสมาชิกรัฐสภาในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ ร่างญัตติ ร่างกระทู้ถาม เป็นฝ่ายวิชาการนี้ประกอบด้วยสองหน่วยงาน คือ ศูนย์บริการเอกสารค้นคว้า ศูนย์บริการทางวิชาการและกฎหมาย
การปรับปรุงส่วนราชการในสังกัดรัฐสภา
ในปี พ.ศ. 2535 คณะกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภา ได้พิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา และข้าราชการฝ่ายรัฐสภาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับข้าราชการประเภทอื่น ๆ ได้นำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยคณะรัฐมนตรีได้เสนอร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบปฏิบัติข้าราชการฝ่ายรัฐสภา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในคราวประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ครั้งที่ 15/1535 ที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับ โดยยังคงให้มีสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาไว้เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่ในการพิจารณาปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสนอให้มีการพิจารณาปรับปรุงส่วนราชการสังกัดรัฐสภา โดยกำหนดให้มีสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แทนสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ข้อเสนอนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการการบริหารและการยุติธรรม และได้เสนอรายงานผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ในคราวประชุมครั้งที่ 17/1535 ที่ประชุมได้ลงมติในวาระที่ 3 เห็นชอบให้ประกาศใช้กฎหมายได้[6]
สาระสำคัญของพระราชบัญญัติจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 สรุปได้ดังนี้[7]
1. กำหนดให้มีส่วนราชการสังกัดรัฐสภา คือ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น ส่วนราชการเหล่านี้มีฐานะเทียบเท่ากรม และเป็นนิติบุคคล สำหรับส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นหากจะจัดตั้งขึ้นก็ต้องทำเป็นพระราชบัญญัติ
2. ให้โอนบรรดาอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา และบรรดาอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. 2518 มาเป็นของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร หรือของเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และของเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ตามที่คณะกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภา (ก.ร.) กำหนด แล้วแต่กรณี
3. ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ ข้าราชการ ลูกจ้างและเงินงบประมาณของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. 2518 มาเป็นของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการข้าราชการ (ก.ร.) กำหนด แล้วแต่กรณี
เพื่อให้การพ้นอำนาจหน้าที่ และกิจการเป็นไปโดยเรียบร้อย ได้กำหนดให้เลขาธิการรัฐสภา และรองเลขาธิการรัฐสภาร่วมกันดำเนินการ ดังนี้
1) แบ่งส่วนราชการภายในและกำหนดสถานที่ทำงานของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
2) จัดอัตรากำลังของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
3) จัดแบ่งบรรดากิจการ ทรัพย์สิน หนี้ ข้าราชการ ลูกจ้าง และเงินงบประมาณของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ให้แก่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ให้เสนอผลการดำเนินการตาม (1) (2) และ (3) ต่อคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภา (ก.ร.) ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
4) การแบ่งส่วนราชการภายในเป็นกอง หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น ซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากองในสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้ทำเป็นประกาศรัฐสภาด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภา และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามและประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ต่อมาในคราวประชุมคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภา ครั้งที่ 5/2535 วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม 2535 ครั้งที่ 6/2535 วันพุธที่ 9 กันยายน 2535 และครั้งที่ 7/2535 วันศุกร์ที่ 11 กันยายน 2535 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในการแบ่งส่วนราชการของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พร้อมทั้งแบ่งงานภายในและกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของส่วนราชการในแต่ละสังกัด เพื่อความเหมาะสมและสอดคล้องกับลักษณะการปฏิบัติหน้าที่ตามโครงสร้างที่กำหนด ทั้งนี้ โดยประกาศรัฐสภาแบ่งส่วนราชการสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภากำหนดให้ประกาศรัฐสภามีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอน 93 ลงวันที่ 11 กันยายน 2535) จึงถือว่า สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้ตั้งขึ้นในวันที่ 12 กันยายน 2535
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้แยกที่ทำการมาตั้งอยู่ ณ อาคารรัฐสภา 2 เลขที่ 4 ถนนอู่ทองใน เขตดุสิต ซึ่งในขั้นแรกมีข้าราชการรัฐสภาสามัญในสังกัดที่ได้รับการจัดสรรจากสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา รวมทั้งสิ้นจำนวน 193 ราย และลูกจ้างประจำ 62 ราย โดยมีนายพินิต อารยะศิริ เป็นเลขาธิการวุฒิสภาคนแรก และได้ดำเนินกิจการตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา และบทกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สนองตอบและสนับสนุนต่อการปฏิบัติภารกิจของวุฒิสภาตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และแนวนโยบายของวุฒิสภา รัฐสภานับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาในปัจจุบัน
ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการฝ่ายรัฐสภา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเป็นส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมในสังกัดรัฐสภา โดยมีเลขาธิการวุฒิสภาเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการในสังกัด ขึ้นตรงต่อประธานวุฒิสภา ซึ่งภายหลังที่ได้รับจัดสรรอัตรากำลังเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 แล้ว สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้ดำเนินการศึกษาและปรับปรุงการบริหารองค์กร ควบคู่ไปกับการปฏิบัติภารกิจในฐานะหน่วยงานธุรการของวุฒิสภา เพื่อสร้างเสริมศักยภาพของบุคลากรและปรับปรุงประสิทธิภาพของหน่วยงานมาโดยตลอด
ในวาระต่อมา การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นผลให้บทบาทและอำนาจหน้าที่ ตลอดจนที่มาของวุฒิสภาได้เปลี่ยนแปลงไปโดยวุฒิสภาประกอบด้วย สมาชิกจำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และมีจำนวนมากขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ทำให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจำเป็นต้องทำการปรับปรุงโครงสร้างการบริหาร อัตรากำลัง และระบบงานที่ทันสมัย เพื่อให้สามารถรองรับภารกิจของวุฒิสภาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2544 พลตรี มนูญกฤต รูปขจร ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา ในขณะนั้น จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างระบบงานและอัตรากำลังของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา โดยกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาปรับปรุงโครงสร้าง ระบบงาน และอัตรากำลังของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาที่เหมาะสมเสนอต่อประธานวุฒิสภา และหลังจากคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้าง ระบบงานและอัตรากำลังของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้พิจารณาศึกษาและเสนอรูปแบบโครงสร้างและการบริหารจัดการ ตลอดจนกำหนดกรอบอัตรากำลังที่เหมาะสมกับภารกิจของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาต่อประธานวุฒิสภาแล้ว คณะกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภา (ก.ร.) จึงได้ให้ความเห็นชอบและอนุมัติให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ทำการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารจัดการสำนักงานเสียใหม่ โดยมีสาระสำคัญดังนี้[8]
1) จัดโครงสร้างการบริหารใหม่ โดยแบ่งส่วนงานภายในตามภารกิจและความรับผิดชอบ โดยยกเลิกโครงสร้างการบริหารในรูปแบบของหน่วยงานระดับกอง (Department) และฝ่าย (Section) แล้วยกระดับขึ้นเป็น “สำนัก” (Bureau) รวม 10 สำนัก และกำหนดหน่วยปฏิบัติงานระดับต่ำกว่าสำนัก เรียกว่า “กลุ่มงาน” (Group)
2) จัดโครงสร้างอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ใหม่ ให้สอดคล้องกับโครงสร้างการบริหารโดยมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ จำกัดการเพิ่มจำนวนอัตรากำลัง และลดสายการบังคับบัญชาให้สั้นลง มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่อย่างมีคุณภาพและเต็มตามศักยภาพ
ปัจจุบันสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา แบ่งส่วนราชการภายในออกเป็น 3 กลุ่มงาน ขึ้นตรงต่อเลขาธิการวุฒิสภา และส่วนราชการระดับสำนัก จำนวน 18 สำนัก ประกอบด้วย
กลุ่มงานขึ้นตรงต่อเลขาธิการวุฒิสภา จำนวน 3 กลุ่มงาน ได้แก่
(1) กลุ่มงานที่ปรึกษา
(2) กลุ่มงานตรวจสอบภายใน
(3) กลุ่มช่วยอำนวยการนักบริหาร
หน่วยงานปฏิบัติการระดับสำนัก จำนวน 18 สำนัก ได้แก่
(1) สำนักงานประธานวุฒิสภา
(2) สำนักประชาสัมพันธ์
(3) สำนักบริหารงานกลาง
(4) สำนักการคลังและงบประมาณ
(5) สำนักการต่างประเทศ
(6) สำนักวิชาการ
(7) สำนักการประชุม
(8) สำนักกำกับและตรวจสอบ
(9) สำนักกรรมาธิการ 1
(10) สำนักกรรมาธิการ 2
(11) สำนักกรรมาธิการ 3
(12) สำนักกฎหมาย
(13) สำนักภาษาต่างประเทศ
(14) สำนักพัฒนาทรัพยากรบุคคล
(15) สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(16) สำนักรายงานการประชุมและชวเลข
(17) สำนักการพิมพ์
(18) สำนักนโยบายและแผน
อำนาจหน้าที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
1. รับผิดชอบงานด้านวิชาการและธุรการของวุฒิสภา
1.1 งานด้านวิชาการและธุรการในการประชุมวุฒิสภา
1.2 งานด้านวิชาการและธุรการในการประชุมคณะกรรมาธิการ
2. สนับสนุน ส่งเสริม และเผยแพร่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยเฉพาะบทบาทการดำเนินงานทางด้านนิติบัญญัติตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฯ ของวุฒิสภา
3. ศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์และวิจัยในเรื่องต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับประกอบการพิจารณาดำเนินการงานของสมาชิกวุฒิสภาตามบทบาทและอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา
4. ศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์และวิจัย รวมทั้งการเปรียบเทียบข้อมูลของนานาอารยะประเทศ ทั้งนี้ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับสนับสนุนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับวงงานรัฐสภาต่างประเทศของวุฒิสภา
5. ประสานงานกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานตามภารกิจของวุฒิสภาและสมาชิกวุฒิสภา
6. ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ ประกาศและคำสั่งได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาในการสนับสนุนและส่งเสริมการปฏิบัติงานตามภารกิจของวุฒิสภา เช่น ด้านงบประมาณบุคลากรและวัสดุอุปกรณ์ เป็นต้น
7. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่วุฒิสภามอบหมาย
อ้างอิง
- ↑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, รวมกฎ ก.ร. (กรุงเทพมหานคร : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2551), หน้า 50–51.
- ↑ สราวุธ สุธราพันธ์, เอกสารประกอบคำบรรยายสรุปในการศึกษาดูงานของคณาจารย์และนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏเลย ณ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา วันอังคารที่ 29 กุมภาพันธ์ 2543.
- ↑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (กรุงเทพมหานคร : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2550), หน้า 64.
- ↑ กลุ่มงานผลิตเอกสาร, สำนักประชาสัมพันธ์, สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (กรุงเทพมหานคร : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร), หน้า 24.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 25.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 25–26.
- ↑ จิราภา ทรัพยสาร, การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลในสายงานนิติการ (กรณีศึกษาเฉพาะสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา) เอกสารวิชาการกรณีศึกษาส่วนบุคคลหลักสูตร “การพัฒนานักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 1” สำนักพัฒนาบุคลากร สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, หน้า 23.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 2–3.
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
จิราภา ทรัพยสาร, การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลในสายงานนิติการ (กรณีศึกษาเฉพาะสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา) เอกสารวิชาการกรณีศึกษาส่วนบุคคลหลักสูตร “การพัฒนานักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 1” สำนักพัฒนาบุคลากร สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2547.
กลุ่มงานผลิตเอกสาร, สำนักประชาสัมพันธ์, สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (กรุงเทพมหานคร : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร), 2549.
บรรณานุกรม
กลุ่มงานผลิตเอกสาร, สำนักประชาสัมพันธ์, สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (กรุงเทพมหานคร : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร), 2549.
จิราภา ทรัพยสาร, การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลในสายงานนิติการ (กรณีศึกษาเฉพาะสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา) เอกสารวิชาการกรณีศึกษาส่วนบุคคลหลักสูตร “การพัฒนานักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 1” สำนักพัฒนาบุคลากร สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2547.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550”. กรุงเทพมหานคร : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2550.