พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ)
ผู้เรียบเรียง : ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศ.นรนิติ เศรษรบุตร
“ผมมีความเห็นอย่างหนึ่ง
ซึ่งคนสมัยใหม่อาจไม่เห็นด้วย
นั่นคือ ในหลวง เราต้องเอาท่านไว้”
พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ)[1]
พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ)
“สถาบันกษัตริย์” เป็นสิ่งที่ถูกกล่าวถึงอย่างมีนัยยะสำคัญ เมื่อกล่าวถึงเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงสถานะครั้งสำคัญของสถาบันกษัตริย์ไทย นอกจากนี้สถาบันทางการเมืองอื่น ๆ ก็ถูกเปลี่ยนแปลงสถานะไปด้วย อาทิเช่น สถาบันกองทัพ สถาบันนิติบัญญัติ สถาบันบริหาร เป็นต้น และกลุ่มบุคคลผู้ผลักดันให้เหตุการณ์นี้ประสบความสำเร็จลุล่วงได้ นั่นคือ “คณะราษฎร” ทว่าลำพังเพียงคณะราษฎรที่มาจากฝ่ายพลเรือน และนายทหารฝ่ายเสนาธิการเป็นส่วนใหญ่ ก็ย่อมยากที่จะหักหาญเอาชัยเหนือระบอบเดิมที่ฝังรากแน่นเป็นระบบ จึงต้องประกอบด้วยผู้ที่มี “กองกำลัง” ในการที่จะต่อกรกับระบอบเดิมได้ ซึ่งในคณะราษฎรมี “พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ)” 1 ใน 4 ทหารเสือคณะราษฎร เป็นนายทหารเพียงผู้เดียวที่คุมกำลังรบในคณะราษฎร เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในด้านการทหารคนหนึ่งในกองทัพ และมีอนาคตทางราชการที่ไปได้อีกยาวไกล แต่กระนั้น พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญ โดยเข้าร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบใหม่ และได้ประสานรอยร้าวระหว่างอำนาจเก่าและอำนาจใหม่ให้อยู่รอดท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของระบอบที่เปราะบางยิ่ง
ประวัติการศึกษาและชีวิตครอบครัว
พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) เกิดเมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2432 ตรงกับวันอังคาร แรม 9 ค่ำ เดือน 2 ปีฉลู พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) เป็นบุตรของพระยามนูสารศาสตรบัญชา (ศิริ เอมะศิริ) กับคุณหญิงเหลือบ เอมะศิริ[2]
พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) เริ่มเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนนายร้อยทหารบก ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2446 ขณะอายุได้ 14 ปี กระทั่งถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2451 ได้สำเร็จการศึกษาเป็นนักเรียนทำการนายร้อย ต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2452 สำรองราชการในกรมทหารปืนใหญ่ที่ 6 จังหวัดนครสวรรค์ ก่อนจะได้รับพระราชทานยศ “ร้อยตรี” ในปีถัดมา และได้รับการบรรจุเข้ารับราชการอย่างเป็นทางการ[3] กล่าวได้ว่า พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) เป็นเพียงคนเดียวใน 4 ทหารเสือของคณะราษฎรที่ไม่ได้สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ
สำหรับชีวิตครอบครัวนั้น พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) สมรสกับคุณหญิงอิน ฤทธิอัคเนย์ เมื่อ พ.ศ. 2455 มีบุตร – ธิดา รวมทั้งสิ้น 7 คน คือ นายเสรี เอมะศิริ นายเสลา เอมะศิริ ร้อยตรีสลับ เอมะศิริ นางสาวพันธุ์ศรี เอมะศิริ นายฤทธี เอมะศิริ นายศิรินทร์ เอมะศิริ และนางสาวลักษณา เอมะศิริ พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งปอด ณ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2509 เวลา 02.55 น. สิริรวมอายุได้ 77 ปี[4]
หน้าที่การงานและตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ
พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) เริ่มรับราชการ ณ กรมทหารปืนใหญ่ที่ 6 จังหวัดนครสวรรค์ ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2454 เป็นนายทหารคนสนิท ผู้บัญชาการกองพลที่ 6 จังหวัดนครสวรรค์ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2455 ได้รับพระราชทานยศ “ร้อยโท” และได้ย้ายไปประจำ ณ กรมทหารปืนใหญ่ที่ 7 จังหวัดพิษณุโลก ต่อมาเดือนเมษายน พ.ศ. 2456 ได้ขยับขึ้นเป็นผู้บังคับกองร้อย 1 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 7 จังหวัดพิษณุโลก กระทั่งถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2458 ได้รับพระราชทานยศ “ร้อยเอก” และแต่งตั้งให้เป็นปลัดกรม ประจำกรมทหารปืนใหญ่ที่ 8 จังหวัดเชียงใหม่ ถัดมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2459 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนยุทธกาจกำจร” และในเดือนกันยายนปีเดียวกันนั้น ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นปลัดกรม ประจำกรมทหารปืนใหญ่ที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา ต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 ได้ขยับขึ้นเป็นผู้บังคับการ กรมทหารปืนใหญ่ที่ 6 จังหวัดนครสวรรค์ และในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2462 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงฤทธิอัคเนย์” ถัดมาในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้บังคับการ กรมทหารปืนใหญ่ที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา และได้รับพระราชทานยศเป็น “พันตรี” ในปีถัดมา[5]
ในปี พ.ศ. 2464 พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) ซึ่งขณะนั้นมีราชทินนามเป็น พันตรี หลวงฤทธิอัคเนย์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นราชองครักษ์เวร ถัดมาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2465 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับการทหารปืนใหญ่ที่ 10 จังหวัดร้อยเอ็ด และในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2466 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระฤทธิอัคเนย์” ต่อมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2467 ได้รับพระราชทานยศเป็น “พันโท” กระทั่งถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2470 ได้ย้ายกลับมาเป็นผู้บังคับการ กรมทหารปืนใหญ่ที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2473 ได้รับพระราชทานยศเป็น “พันเอก” และในเดือนเมษายน พ.ศ. 2474 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการ กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ อยู่ในพระนคร ถัดมาในเดือนพฤษภาคม ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาฤทธิอัคเนย์”[6]
ภายหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง วันที่ 24_มิถุนายน_พ.ศ._2475 มีการปรับโครงสร้างกองทัพใหม่ ส่งผลให้พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) ได้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับทหารปืนใหญ่[7] ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการทหารตำแหน่งสุดท้ายของพันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) ก่อนที่ท่านจะเปลี่ยนเส้นทางชีวิตเข้าสู่เส้นทางการเมือง โดยดำรงตำแหน่งเป็น “กรรมการราษฎร” (เทียบเท่ากับรัฐมนตรีในปัจจุบัน) เมื่อวันที่ 28_มิถุนายน_พ.ศ._2475 ต่อมาในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภท 2 อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย ต่อมาเมื่อวันที่ 10_ธันวาคม_พ.ศ._2475 ได้เข้าร่วมในคณะรัฐมนตรีของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาอีกครั้ง ในตำแหน่ง “รัฐมนตรีลอย” ก่อนจะประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการลาออกพร้อมกันของทหารเสือคณะราษฎร ในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2476[8] ซึ่งเหตุการณ์นี้ถูกเรียกขานว่า “สี่ทหารเสือลาออก”[9] นอกจากนี้พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) ยังได้ดำรงตำแหน่งประธานตุลาการกลาง กระทรวงกลาโหม ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2476 และในเดือนเมษายน พ.ศ. 2477 พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) ได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กระทรวงมหาดไทย และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ในรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 กระทั่งสิ้นสุดรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)[10]
ในปี พ.ศ. 2480 พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) ได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภท 2 แต่เมื่อหลวงพิบูลสงครามขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีกวาดล้างศัตรูทางการเมือง ส่งผลให้พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) เป็นบุคคลแรก ๆ ที่ต้องลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมด และต้องเดินทางออกนอกประเทศ โดยไปพำนักอยู่ที่ปีนัง จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้เดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยอีกครั้ง และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาในปี พ.ศ. 2490 และอยู่ในตำแหน่งนี้จนกระทั่งมีการยึดอำนาจในปี พ.ศ. 2494 ส่งผลให้มีการยุบวุฒิสภา[11] ดังนั้นบทบาททางการเมืองของพันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) จึงยุติลงอย่างถาวร
ผลงานที่สำคัญในทางการเมือง
พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) มีผลงานที่สำคัญในทางการเมืองอยู่หลายด้าน ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งต่อการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน โดยสามารถแบ่งออกเป็น ผลงานในคณะราษฎร ผลงานในคณะรัฐมนตรี และผลงานในกองทัพ
“ผลงานในคณะราษฎร” พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) ถือเป็นแกนนำคนสำคัญของคณะราษฎร โดยเป็น 1 ใน 4 เสือคณะราษฎร อันประกอบด้วย พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์_พหลโยธิน) พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) และพระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน_ชูถิ่น) ซึ่งบุคคลทั้ง 4 ถือว่าเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ และเป็นแกนนำผู้ก่อการในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ที่นำกำลังจากกองกำลังของตนมาร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สำหรับพันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) นั้น เป็นทหารเสือคณะราษฎรเพียงคนเดียว ที่เป็นนายทหารระดับคุมกำลังที่มีทหารอยู่ในบังคับบัญชา โดยในช่วงเวลานั้น พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) โดยเป็นผู้บังคับการ กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ ขณะที่ทหารเสือคนอื่น ๆ มาฝ่ายเสนาธิการและฝ่ายยุทธการ ซึ่งไม่มีกำลังทหารในบังคับบัญชา[12]
พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) ได้รับการชักชวนจากพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) และพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ให้ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งพันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) ได้ตอบรับเข้าร่วมในเวลาต่อมา พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) มีความสำคัญในการกำหนดวันปฏิบัติการ เนื่องจากเดิมทีนั้น กลุ่มผู้ก่อการต้องการวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 โดยใช้วิธีการบุกเข้าจับกุมตัวพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) เป็นผู้ที่คัดค้าน เนื่องจากเห็นว่าอาจพลาดพลั้ง และนำไปสู่การนองเลือดรุนแรงได้ ทั้งนี้พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) ได้เสนอช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแปรพระราชฐาน จะสะดวกต่อการปฏิบัติการมากกว่า ซึ่งกลายมาเป็นวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ในที่สุด[13]
เมื่อถึงวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) ได้นำกำลังทหารและรถถังจำนวนมากเข้ามาประจำการ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อรอฟังประกาศจากพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) และเมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองประสบความสำเร็จ พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) ได้รับการแต่งตั้งเป็นหนึ่งใน “คณะผู้รักษาพระนคร”[14] จนกระทั่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองผ่านไปได้ด้วยดี
“ผลงานในคณะรัฐมนตรี” ในช่วงที่ พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) ได้เข้าร่วมในคณะรัฐมนตรีนั้น เกิดกรณีเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ส่งผลให้มีการถกเถียงกันอย่างรุนแรงในคณะรัฐมนตรี จนกระทั่งให้มีการลงมติรับหรือไม่รับเค้าโครงเศรษฐกิจนี้ พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) ซึ่งอยู่ในที่ประชุมนั้น ได้ใช้สิทธิงดออกเสียง ส่งผลให้การเมืองในช่วงเวลานั้นมีการแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน โดยฝ่ายแรกคือ ฝ่ายขุนนางเก่าที่ต่อต้านเค้าโครงเศรษฐกิจ และกลุ่มหัวก้าวหน้า โดยคณะราษฎรที่อยู่ฝ่ายขุนนางเก่า ประกอบด้วย พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) และพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ขณะที่คณะราษฎรที่กลุ่มหัวหน้า ประกอบด้วย พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หลวงพิบูลสงคราม และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์)[15] โดยมีพันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) เป็นคนกลางที่คอยประสาน 4 ทหารเสือคณะราษฎร ให้กลับมาพูดคุยกันได้ดังเดิม[16] แต่กระนั้นภาพของพันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) มีความใกล้ชิดกับพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) มากกว่า ดังนั้น เมื่อหลวงพิบูลสงครามขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) จึงต้องลาออกจากทุกตำแหน่ง และลี้ภัยการเมืองไปยังปีนัง[17]
“ผลงานในกองทัพ” ด้วยเหตุที่พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) เป็นนายทหารเป็นที่กล่าวถึงมาตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เนื่องจากมีความสามารถและมีอนาคตในราชการกองทัพอีกยาวไกล และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการกลางกลาโหม ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2475 เพื่อพัฒนากองทัพให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ทั้งโครงสร้างในส่วนของกระทรวงกลาโหม กองทัพบก และกองทัพเรือ ที่มีอยู่ในขณะนั้น ทั้งนี้ ภายหลังการแบ่งโครงสร้างส่วนราชการภายในกองทัพเสร็จสิ้นแล้วนั้น พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บังคับทหารปืนใหญ่[18] ซึ่งเป็นเหล่าที่ท่านเคยรับราชการผ่านมาในอดีต แต่ภายหลังการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 20_มิถุนายน_พ.ศ._2476 ได้มีการโยกย้ายให้พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) ไปเป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม (ปลัดกระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน)[19] และชื่อของพันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) ค่อย ๆ เลือนหายไปจากกองทัพไทย
บรรณานุกรม
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ปฏิวัติ 2475, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำรา สังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์, 2547).
วีณา มโนพิโมกษ์, ความขัดแย้งภายในคณะราษฎร, (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2520).
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิสายธารประชาธิปไตย, 2551).
เสทื้อน ศุภโสภณ, ชีวิตทางการเมืองของ พ.อ. พระยาฤทธิอัคเนย์, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วัชรินทร์ , 2514).
______________, ชีวิตและการต่อสู้ของพระยาทรงสุรเดช, (กรุงเทพฯ : คณะอนุกรรมการจัดพิมพ์ หนังสือ โครงการ 60 ปีประชาธิปไตยไทย, 2535).
อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ ป.ม. , ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 25 พฤษภาคม 2510, (กรุงเทพฯ : ม.ป.พ., 2510).
เว็บไซต์
ทำเนียบปลัดกระทรวงกลาโหม, เข้าถึงจาก <http://opsd.mod.go.th/Recommend/commander.aspx> เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2559.
อ้างอิง
[1] คำเล่าเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โดย พระยาฤทธิอัคเนย์, อ้างจาก เสทื้อน ศุภโสภณ, ชีวิตทางการเมืองของ พ.อ. พระยาฤทธิอัคเนย์, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วัชรินทร์, 2514), น. 14.
[2] เพิ่งอ้าง, น. 507.
[3] เพิ่งอ้าง, น. 508.
[4] อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ ป.ม. , ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 25 พฤษภาคม 2510, (กรุงเทพฯ : ม.ป.พ., 2510), น. (6).
[5] เสทื้อน ศุภโสภณ, อ้างแล้ว, น. 507-509.
[6] เพิ่งอ้าง.
[7] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ปฏิวัติ 2475, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์, 2547), น. 248-249.
[8] เพิ่งอ้าง, น. 403.
[9] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย,(กรุงเทพฯ : มูลนิธิสายธารประชาธิปไตย, 2551), น. 33.
[10] วีณา มโนพิโมกษ์, ความขัดแย้งภายในคณะราษฎร, (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2519), น. 123.
[11] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, อ้างแล้ว, น. 71.
[12] เสทื้อน ศุภโสภณ, ชีวิตและการต่อสู้ของพระยาทรงสุรเดช, (กรุงเทพฯ : คณะอนุกรรมการจัดพิมพ์หนังสือ โครงการ 60 ปีประชาธิปไตยไทย, 2535). น. 22.
[13] เสทื้อน ศุภโสภณ, ชีวิตทางการเมืองของ พ.อ. พระยาฤทธิอัคเนย์, อ้างแล้ว, น. 12-15.
[14] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, อ้างแล้ว, น. 25.
[15] วีณา มโนพิโมกษ์, อ้างแล้ว, น. 79-80.
[16] เพิ่งอ้าง, น. 114.
[17] เพิ่งอ้าง, น. 123.
[18] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, อ้างแล้ว, น. 240-259.
[19]ทำเนียบปลัดกระทรวงกลาโหม, เข้าถึงจาก http://opsd.mod.go.th/Recommend/commander.aspx เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2559.