พรรคกล้า
ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ
ความนำ
“พรรคกล้า” ถือเป็นพรรคการเมืองใหม่ที่จัดตั้งขึ้นในช่วงกลางปี 2563 ภายใต้การนำของ นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้ง “กุนซือ” ด้านเศรษฐกิจคนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ลาออกมาเพื่อจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ พร้อมอดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อย่าง นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อย่างไรก็ตาม การแยกตัวทางการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ตามคำแถลงของ นายกรณ์ จาติกวณิช คือความปรารถนาที่ต้องการสร้างเมืองแห่งความเปลี่ยนแปลงบนพื้นฐานของความกล้าและไร้ความกลัว แน่นอนว่าการลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ของ นายกรณ์ จาติกวณิช ท่ามกลางความนิยมของประชาธิปัตย์ที่อยู่ในช่วงขาลง ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงรอยร้าวภายในพรรคได้เป็นอย่างดี สำหรับการดำเนินกิจกรรมของพรรคกล้าช่วงเริ่มแรกของการก่อตั้งพรรคในปัจจุบันพบว่าเป็นการเดินสายลงพื้นที่รับฟังปัญหาชาวบ้าน การนำเสนอนโยบายทางเศรษฐกิจแก่สาธารณชนเป็นระยะ ๆ ตลอดจนการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ต่าง ๆ
กำเนิด “พรรคกล้า”
ภายหลังการประกาศตัดสินใจลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ของ นายกรณ์ จาติกวณิช เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563 ได้มีกระแสข่าวก่อนหน้านั้นถึงแนวโน้มในการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ โดยมีกระแสข่าวการพูดคุยระหว่างนายกรณ์กับนักธุรกิจชื่อดังคือ นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ อดีตผู้บริหารสายการบินแอร์เอเชียเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งในขณะนั้นนายกรณ์ได้ออกมาปฏิเสธกระแสข่าวดังกล่าวแบบกึ่งรับกึ่งสู้ แต่ระบุว่ามีความเป็นไปได้ในการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ที่มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายไปที่คนรุ่นใหม่ซึ่งต้องการลงมือทำงานการเมืองอย่างจริงจัง[1] ในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2563 นายกรณ์ได้มีการประกาศเชิญชวนคนไทยร่วมกันตั้งชื่อพรรคผ่าน Twitter โดยมีข้อความว่า #ช่วยกรณ์ตั้งชื่อพรรค พร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับพรรคการเมืองที่กำลังจะจัดตั้งขึ้นใหม่ว่า มี DNA คือ
(1) Startup ต้องกล้าคิด กล้าลุย พร้อมเปลี่ยนแปลง แต่รอบคอบ
(2) ปฏิบัตินิยมมุ่งทำงาน ลงมือจริง พูดแต่ในสิ่งที่จะทำ และ
(3) Global Mindset ไทยเข้าใจ-ทัดเทียม-เท่าทันโลก[2]
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งเป็นวันวาเลนไทน์ นายกรณ์ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าพรรคการเมืองใหม่ที่จัดตั้งขึ้นนั้นมีชื่อว่า “พรรคกล้า” และมีการนำเอกสารยื่นต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง คณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคในวันเดียวกัน[3]
ทั้งนี้ ตามประกาศของนายทะเบียนพรรคการเมือง คณะกรรมการการเลือกตั้ง ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2563[4] ได้ประกาศรับรองการจดทะเบียนจัดตั้งพรรคกล้าอย่างเป็นทางการ โดยมีโครงสร้างคณะกรรมการบริหารพรรค ดังนี้
นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค
นายภิมุข สิมะโรจน์ รองหัวหน้าพรรค
นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรค
นายพงศ์พรหม ยามะรัต รองหัวหน้าพรรค
นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรค
นายเอราวัณ ทับพลี เหรัญญิกพรรค
นายณัฐนันท์ กัลยาศิริ นายทะเบียนสมาชิกพรรค
นายมนต์ชีพ ศิวะสินางกูร กรรมการบริหารพรรค
นางสาวเบญจรงค์ ธารณา กรรมการบริหารพรรค
ดังจะเห็นว่าคณะกรรมการบริหารพรรคกล้านั้น นอกจากอดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อย่าง นายกรณ์ จาติกวณิช นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี และนายณัฐนันท์ กัลยาศิริ ยังประกอบด้วยนักธุรกิจ เช่น นายภิมุข สิมะโรจน์ นายวรวุฒิ อุ่นใจ และนายพงศ์พรหม ยามะรัต เป็นต้น
เมื่อพิจารณาถึงอุดมการณ์พรรคกล้าในการจดแจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองพบว่าประกอบด้วยกัน 4 ประการคือ
(1) การยึดมั่นในการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(2) ปฏิบัตินิยมคู่คุณธรรม
(3) ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และ
(4) การอยู่ร่วมกันของสังคมไทยอย่างมีความสุข
นอกจากนี้ เมื่อสำรวจด้านโยบายของพรรคพบว่ามีด้วยกัน 10 ประการ อาทิ ด้านการเมือง ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แม้นโยบายพรรคตามเอกสารของนายทะเบียน พรรคการเมือง พรรคกล้าจะมีนโยบายที่ครอบคลุมในหลายมิติ หากแต่พิจารณาแนวทางการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและข้อมูลตามที่ปรากฎในเว็บไซต์ของพรรคกล้าพบว่ามุ่งให้ความสำคัญปัญหาด้านเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตมากกว่าอุดมการณ์ทางการเมือง[5]
กรณ์ - กล้า - ประชาธิปัตย์ และรอยร้าว
การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 ปรากฎว่าคะแนนนิยมในพรรคประชาธิปัตย์ได้ลดลงอย่างมากจนได้รับการขนานนามว่าเป็น “พรรคต่ำร้อย” ดังเห็นได้จากผลการเลือกที่ได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียง 52 คน เท่านั้น โดยแบ่งออกเป็นแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 33 คน[6] และแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 19 คน[7] ด้วยความพ่ายแพ้จากศึกเลือกตั้งครั้งนี้ ประกอบกับพรรคประชาธิปัตย์มีมติเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลภายใต้แกนนำอย่างพรรคพลังประชารัฐและสนับสนุน พลเอกประยุทธ์_จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี จึงทำให้ นายอภิสิทธิ์_เวชชาชีวะ ลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562[8] และภายหลังการลาออกจากหัวหน้าพรรคฯ ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์ได้มีการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ โดยนายกรณ์ จาติกวณิช เป็นหนึ่งในผู้สมัคร นอกจากนี้ยังมีผู้ท้าชิงดังนี้คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน โดยที่ประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ได้มีมติส่วนใหญ่ให้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนต่อไป โดยนายกรณ์ จาติกวณิชได้รับคะแนนเป็นลำดับที่ 3[9]
ภายหลังการขึ้นดำรงตำแหน่งหัวพรรคประชาธิปัตย์ของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ อาจถือได้ว่าเป็น จุดเปลี่ยนสำคัญทางการเมืองของนายกรณ์ จาติกวณิชก็ว่าได้ เนื่องจากในยุคของหัวหน้าคนใหม่นี้ นายกรณ์ จาติกวณิช ได้ถูกลดบทบาทตำแหน่งแห่งที่ภายในพรรคและทางการเมืองลงอย่างมาก อาจกล่าวได้ว่า นายกรณ์ จาติกวณิช เป็นเพียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียงตำแหน่งเดียวเท่านั้น แต่กลับไม่ได้มีที่ยืนใด ๆ ภายในพรรค ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่านายกรณ์ จาติกวณิช เคยดำรงตำแหน่งขุนคลังหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในระหว่างปี 2551-2554 รวมทั้งตำแหน่งอื่น ๆ ที่สำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ เช่น รองหัวหน้าพรรคฯ ประธานกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ก่อนการเลือกตั้งครั้งในปี 2562 เป็นต้น การไร้ตำแหน่งแห่งที่และบทบาทภายในพรรคประชาธิปัตย์ในยุคของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ จึงอาจถือเป็นร้อยร้าวทางการเมืองระหว่างนายกรณ์ จาติกวณิชและพรรคประชาธิปัตย์ และคงปฏิเสธไม่ได้ว่านี่เป็นสาเหตุสำคัญของการลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ของนายกรณ์ จาติกวณิชในครั้งนี้ และการจัดตั้งพรรคกล้าในเวลาต่อมา[10]
เมื่อพิจารณาด้านความเห็นจากนักวิชาการเกี่ยวกับปรากฎการณ์ดังกล่าว ดังความเห็นของ รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธพร อิสรชัย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่าผลการเลือกตั้งในปี 2561 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้รับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแม้แต่คนเดียวในกรุงเทพมหานคร การสูญเสียฐานที่มั่นในกรุงเทพมหานคร การลาออกของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกอบกับการขึ้นมาบริหารพรรคภายใต้การนำของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ซึ่งเป็นขุนพลภาคใต้ จึงเป็นเรื่องประจวบเหมาะและแรงขับให้ นายกรณ์ จาติกวณิช อำลาเส้นทางการเมืองอันยาวนานกับพรรคประชาธิปัตย์[11]
พรรคกล้าและกิจกรรมการเมืองในปัจจุบัน
การเปิดตัวพรรคกล้าด้วยนโยบายมุ่งเน้นปฏิบัติลงมือทำ ก้าวข้ามความขัดแย้งทางการเมือง และให้ความสำคัญเศรษฐกิจฐานรากเรื่องปากท้องเป็นสำคัญ ดังเห็นได้จากการลงพื้นที่ทำกิจกรรมกับชุมชนและชาวบ้านอยู่เนื่อง ๆ ของพรรคกล้า[12] นอกจากนี้ พรรคกล้าโดยนายกรณ์ จาติกวณิช ยังได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ เสนอแนะการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้แก่รัฐบาลอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอเกี่ยวกับงบประมาณในการเยียวยาสถานการณ์จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ในปัจจุบัน[13] ดังจะพบว่ากิจกรรมทางการเมืองในช่วงแรกเริ่มของพรรคกล้านั้นจะเป็นการเดินสายรับฟังปัญหาของประชาชนประกอบกับการมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านเศรษฐกิจไปยังรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 พรรคกล้าได้แถลงข่าวเปิดตัวแคมเปญ “ตามหาผู้กล้า” เพื่อเข้าร่วมทำงานการเมืองและลงรับสมัคร ส.ส. ซึ่งภายในงานนายกรณ์ จาติกวณิชได้เน้นย้ำว่าพรรคกล้าต้องการนักปฏิบัติที่เป็นคนดี คนเก่ง มีจิตสาธารณะมุ่งทำงานเพื่อประชาชนและสังคม ทั้งยังกล่าวว่าผู้ที่จะมาทำงานและลงรับสมัคร ส.ส.กับพรรคไม่จำเป็นต้องเป็นคนร่ำรวย มีอิทธิพล รวมทั้งไม่ต้องเคยเป็นอดีต ส.ส. มาก่อน เพียงแต่มีความกล้าและความมุ่งมั่นในการทำงานการเมือง[14]
ทั้งนี้ ต่อมาเมื่อมีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขต 3 จังหวัดนครศรีธรรมราชเมื่อต้นปี 2564 พรรคกล้าได้ลงส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งถือเป็นสนามเลือกตั้งแรกนับแต่ก่อตั้งพรรคกล้า โดยส่งนายสราวุฒิ สุวรรณรัตน์ซึ่งเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ด้านการส่งออกเครื่องถมเครื่องเงินไปสู่ตลาดต่างประเทศของจังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าท้าชิงศึกเลือกตั้งในครั้งนี้ โดยนโยบายหลักของพรรคกล้าที่ได้หาเสียงในพื้นที่คือการชูนโยบายที่มุ่งเน้น ให้ประชาชนชาวนครศรีฯ อยู่ดีกินดี มีโอกาสก้าวหน้าในชีวิต และมีคุณภาพชีวิตที่ดี[15] อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งปรากฎว่าพรรคกล้าได้คะแนนความนิยมจากการเลือกตั้งเป็นลำดับที่ 3 จากผู้สมัครทั้งหมดจาก 4 พรรค[16] ซึ่งนั่นหมายความว่าการลงสนามเลือกตั้งครั้งแรกของพรรคกล้าเผชิญกับความพ่ายแพ้ ภายหลังทราบผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ นายกรณ์ จาติกวณิช ได้ออกมาขอบคุณทุกคะแนนเสียงที่สนับสนุนพรรคกล้าและยืนยันว่าพรรคกล้าได้เดินมาถูกทางแล้วที่จะทำงานสร้างสรรค์ ประกอบกับกล่าวว่าพรรคกล้าเองก็เพิ่งมีอายุครบ 1 ปี ผู้สมัครคือ นายสราวุฒิ สุวรรณรัตน์ ซึ่งเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ไม่เคยลงรับสมัครที่ไหนมาก่อน แต่กลับได้รับโอกาสและคะแนนเสียงมากถึงขนาดนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีทางการเมืองของพรรคกล้า[17]
ทั้งนี้ แม้ช่วงแรกเริ่มของการเปิดตัวและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคกล้าจะยังไม่ได้ มีนโยบายที่โดดเด่นมากนัก แต่ปรากฏว่าภายหลังโดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงการเตรียมการเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคกล้าได้เริ่มทยอยนำเสนอนโยบายต่อสาธารณชนต่างกรรมต่างวาระ เช่น กรณีที่นายกรณ์ จาติกวณิช ได้ร่วมแสดงความเห็นในคลับเฮาส์ ในหัวข้อ “คลื่นลูกใหญ่ในทศวรรษหน้า ประเทศไทย ไปทางไหนดี” โดยนายกรณ์ จาติกวณิช กล่าวว่าพรรคกล้าได้ให้ความสำคัญกับปัจจัย ด้านเทคโนโลยีที่จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาในมิติต่าง ๆ ทั้งเกษตร ศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ฯลฯ และมองว่าในปัจจุบันประเทศไทยยังขาดการส่งเสริมนวัตกรรมอย่างรูปธรรม ประกอบกับปัญหาระบบราชการไม่เอื้อต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงต่อการดูแลประชาชน ดังนั้น พรรคกล้าจึงเสนอให้มีการใช้เทคโนโลยีเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนประเทศใน 4 มิติหลัก ได้แก่
(1) Fully digital คือสังคมไร้เงินสดร้อยเปอร์เซ็นต์
(2) Paperless เอกสารทุกอย่างอยู่ในมือถือ ปลอดภัย ปลอมยาก
(3) Peopleless หรือองค์กรอัตโนมัติ DAO model (Decentralized Autonomous Organization) ธุรกิจบริการที่ไม่จำเป็นต้องใช้คน และ
(4) Borderless แพลตฟอร์มที่มีข้อมูลมากขึ้นเพื่อพัฒนาและต่อยอดไปธุรกิจอื่น ๆ ในทันที[18]
นอกจากนี้ ในช่วงเทศกาลถือศีลกินผักของชาวจังหวัดภูเก็ตในเดือนตุลาคม 2564 นายกรณ์ จาติกวณิช ได้ร่วมกิจกรรมในพื้นที่และเปิดตัวว่าผู้สมัคร ส.ส. ของพรรค พร้อมชูนโยบายในการพัฒนาจังหวัดภูเก็ตที่สำคัญ 3 ประการ คือ
(1) ภูเก็ต ต้องเป็น “จังหวัดจัดการตัวเอง” เนื่องจากการเมืองส่วนกลางระดับประเทศ และระบบราชการที่กระจุกตัว ไม่ตอบโจทย์ปัญหาเฉพาะพื้นที่
(2) ภูเก็ต ต้องเป็น “เมืองเศรษฐกิจท่องเที่ยวพิเศษ” ส่งเสริมการลงทุนด้านการท่องเที่ยว และ
(3) ภูเก็ต ต้องพลิกโฉมเป็น “เมืองมาตรฐานโลกทันสมัย” พัฒนาสาธารณูปโภคและความเป็นอยู่ ให้ตอบโจทย์ความเป็นเมืองเศรษฐกิจท่องเที่ยวระดับ World Class ที่แท้จริง[19]
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในเชิงพื้นที่ของภาคใต้แล้ว พรรคกล้า ยังเห็นว่าควรมีการส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพหัวเมืองเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมประเทศแบบไร้รอยต่อ ดำเนินโครงการ Travel Bubble กับสิงคโปร์ มาเลเซีย เพื่อคืนชีพเศรษฐกิจให้แก่หาดใหญ่ เป็นต้น[20]
ดังนั้นเมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่าแนวนโยบายของพรรคกล้าจะตั้งอยู่บนพื้นฐานทางเศรษฐกิจเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ
พรรคกล้าและอนาคตการเมืองไทย
พรรคกล้าถือเป็นพรรคการเมืองน้องใหม่ในการเมืองไทยปัจจุบันซึ่งเปิดตัวด้วยการชูนโยบายการลงมือปฏิบัติจริง ให้ความสำคัญการคุณภาพชีวิต และมิติด้านเศรษฐกิจมากกว่าอุดมการณ์ทางการเมือง แน่นอนว่าในห้วงเวลาปัจจุบันอาจเป็นการยากที่คาดเดาอนาคตทางการเมืองของพรรคกล้าอันเนื่องจากในปัจจุบันพรรคกล้ายังไม่สามารถบทบาทและขับเคลื่อนงานการเมืองในกระบวนการรัฐสภาได้ ประกอบกับเมื่อพิจารณา ถึงนโยบายก็จะพบว่ายังไม่มีนโยบายใดที่ถูกนำเสนออย่างเป็นรูปธรรมากนัก ในแง่นี้สิ่งที่น่าจับตามองคือเมื่อใกล้ฤดูการเลือกตั้งเราอาจจะได้เห็นนโยบายหาเสียงของพรรคกล้าที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยประสบการณ์ทางการเมืองและความรู้ความสามารถของ นายกรณ์ จาติกวณิช ประกอบการทำงานการเมืองในพื้นที่ต่าง ๆ รวมกับชาวบ้านของพรรคกล้าในช่วงเวลาที่ผ่านมาจะสามารถพิสูจน์ความนิยมของประชาชนที่มีต่อพรรคกล้าในการเลือกตั้งครั้งหน้าว่าจะสามารถมีตำแหน่งแห่งที่ทางการเมืองหรือไม่ อย่างไร
บรรณานุกรม
“กรณ์ เผยชื่อพรรคใหม่ “พรรคกล้า” เตรียมจดทะเบียนตั้งพรรค.” มติชนออนไลน์ (14 กุมภาพันธ์ 2563). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1971574>. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564.
“กรณ์ แนะ ประยุทธ์ ทุ่มหมดหน้าตัก โยกเงินกู้ 6 แสนล้านเยียวยาด่วน 4 กลุ่ม.” ประชาชาติธุรกิจ (3 มกราคม 2564) เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/politics/news-586586>. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564.
“กรณ์ โพสต์ ชวนตั้งชื่อพรรค.” กรุงเทพธุรกิจ (17 มกราคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/862500>. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564.
“กรณ์ยื่นลาออกประชาธิปัตย์ ขอบคุณมิตรภาพ 15 ปีจากพรรค ยืนยัน เดินหน้าการเมืองต่อ เตรียมตั้งพรรคใหม่.” The Standard. (15 มกราคม 2563) เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/korn-chatikavanij-resign-democrat-party-2/>. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564.
“คนหวังเงินสดใช้จ่าย “กรณ์” แนะรัฐลงพื้นที่ฟังชาวบ้าน มีช่องโหว่ต้องรีบแก้.” ไทยรัฐออนไลน์ (8 กุมภาพันธ์ 2564). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/2028249>. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564.
“แฉกรณ์ออก โดนลดบทบาทไม่เหลือที่ยืน.” ไทยรัฐออนไลน์ (16 มกราคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1748435>. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564.
“เบื้องหลัง กรณ์ จาติกวณิช ลาออกประชาธิปัตย์ รอยร้าวสนิมเนื้อใน บาดลึก” ไทยรัฐออนไลน์ (15 มกราคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1748178>. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564.
“ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง” (7 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20190507142930.pdf>. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564.
“ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ,” (8 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงจาก<https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20190508184334.pdf>. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564.
“ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมืองเรื่อง รับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคกล้า.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137 ตอนที่ 66 ง, 27 สิงหาคม 2563, หน้า 143 – 181.
“ประชาธิปัตย์: จุรินทร์ คว้าเก้าอี้หัวหน้าพรรคคนที่ 8.” บีบีซีไทย (15 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-48277332>. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564.
“พรรคกล้าชูนโยบาย ดิจิทัลแพลตฟอร์มสัญชาติไทย” ฐานเศรษฐกิจ. (11 กันยายน 2564) เข้าถึงจาก <https://www.thansettakij.com/politics/495461>. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2564.
[1] “พรรคกล้าโยนหินเลือกตั้งผู้ว่าฯ ภูเก็ต ดันเป็นจังหวัดจัดการตนเอง” ประชาชาติธุรกิจออนไลน์. (7 ตุลาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/politics/news-777345>. เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2564.
[1] “พรรคกล้าเผยชาวใต้ตอบรับกระแส กรณ์ นั่งนายกฯ ฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด”. กรุงเทพธุรกิจ. (25 ตุลาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/news/967759>. เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2564.
“พรรคกล้า เปิดตัว “สราวุฒิ สุวรรณรัตน์” ลงเลือกตั้งซ่อม แทน “เทพไท.” ประชาชาติธุรกิจ. (28 มกราคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/politics/news-603337>. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564.
“พรรคกล้า เปิดรับสมัครตัวแทนลง ส.ส. ยังไม่พร้อมเลือกตั้ง นายก อบจ.” กรุงเทพธุรกิจ (31 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/905471>. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564.
พรรคกล้า. เข้าถึงจาก <https://klaparty.org/>. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564.
พรรคกล้า. เข้าถึงจาก <https://klaparty.org/kla-news/>. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564.
“มาถูกทาง! พรรคกล้าขอบคุณทุกคะแนนเสียง กรณ์ พอใจผลที่ออกมา” แนวหน้า. (7 มีนาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.naewna.com/politic/557546>. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564.
“แยกละเอียดรายอำเภอ! กกต.สรุปผลคะแนนเลือกตั้งซ่อมเขต 3 นครศรีฯ” แนวหน้า. (8 มีนาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.naewna.com/politic/557560>. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564.
“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ: อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แถลงลาออกจากการเป็น ส.ส.” บีบีซีไทย. (5 มิถุนายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-48522999>. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564.
อ้างอิง
[1] “กรณ์ยื่นลาออกประชาธิปัตย์ ขอบคุณมิตรภาพ 15 ปีจากพรรค ยืนยัน เดินหน้าการเมืองต่อ เตรียมตั้งพรรคใหม่.” The Standard. (15 มกราคม 2563) เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/korn-chatikavanij-resign-democrat-party-2/>. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564.
[2] “กรณ์ โพสต์ ชวนตั้งชื่อพรรค.” กรุงเทพธุรกิจ (17 มกราคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/862500>. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564.
[3] “กรณ์ เผยชื่อพรรคใหม่ “พรรคกล้า” เตรียมจดทะเบียนตั้งพรรค.” มติชนออนไลน์ (14 กุมภาพันธ์ 2563). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1971574>. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564.
[4] “ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมืองเรื่อง รับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคกล้า.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137 ตอนที่ 66 ง, 27 สิงหาคม 2563, หน้า 143 – 181.
[5] พรรคกล้า. เข้าถึงจาก <https://klaparty.org/>. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564.
[6] “ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง”
(7 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงจาก<https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20190507142930.pdf>. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564.
[7] “ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ,”
(8 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงจาก<https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20190508184334.pdf>. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564.
[8] “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ: อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แถลงลาออกจากการเป็น ส.ส.” บีบีซีไทย. (5 มิถุนายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-48522999>. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564.
[9] “ประชาธิปัตย์: จุรินทร์ คว้าเก้าอี้หัวหน้าพรรคคนที่ 8.” บีบีซีไทย (15 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-48277332>. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564.
[10] ดู “แฉกรณ์ออก โดนลดบทบาทไม่เหลือที่ยืน.” ไทยรัฐออนไลน์ (16 มกราคม 2563). เข้าถึงจาก
<https://www.thairath.co.th/news/politic/1748435>. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564.
[11] ดู “เบื้องหลัง กรณ์ จาติกวณิช ลาออกประชาธิปัตย์ รอยร้าวสนิมเนื้อใน บาดลึก” ไทยรัฐออนไลน์ (15 มกราคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1748178>. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564.
[12] พรรคกล้า. เข้าถึงจาก <https://klaparty.org/kla-news/>. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564.
[13] ดู “กรณ์ แนะ ประยุทธ์ ทุ่มหมดหน้าตัก โยกเงินกู้ 6 แสนล้านเยียวยาด่วน 4 กลุ่ม.” ประชาชาติธุรกิจ (3 มกราคม 2564) เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/politics/news-586586>. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564.และ “คนหวังเงินสดใช้จ่าย “กรณ์” แนะรัฐลงพื้นที่ฟังชาวบ้าน มีช่องโหว่ต้องรีบแก้.” ไทยรัฐออนไลน์ (8 กุมภาพันธ์ 2564). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/2028249>. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564.
[14] “พรรคกล้า เปิดรับสมัครตัวแทนลง ส.ส. ยังไม่พร้อมเลือกตั้ง นายก อบจ.” กรุงเทพธุรกิจ (31 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/905471>. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564.
[15] “พรรคกล้า เปิดตัว “สราวุฒิ สุวรรณรัตน์” ลงเลือกตั้งซ่อม แทน “เทพไท.” ประชาชาติธุรกิจ. (28 มกราคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/politics/news-603337>. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564.
[16] “แยกละเอียดรายอำเภอ! กกต.สรุปผลคะแนนเลือกตั้งซ่อมเขต 3 นครศรีฯ” แนวหน้า. (8 มีนาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.naewna.com/politic/557560>. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564.
[17] “มาถูกทาง! พรรคกล้าขอบคุณทุกคะแนนเสียง กรณ์ พอใจผลที่ออกมา” แนวหน้า. (7 มีนาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.naewna.com/politic/557546>. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564.
[18] “พรรคกล้าชูนโยบาย ดิจิทัลแพลตฟอร์มสัญชาติไทย” ฐานเศรษฐกิจ. (11 กันยายน 2564) เข้าถึงจาก <https://www.thansettakij.com/politics/495461>. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2564.
[19] “พรรคกล้าโยนหินเลือกตั้งผู้ว่าฯ ภูเก็ต ดันเป็นจังหวัดจัดการตนเอง” ประชาชาติธุรกิจออนไลน์. (7 ตุลาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/politics/news-777345>. เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2564.
[20] “พรรคกล้าเผยชาวใต้ตอบรับกระแส กรณ์ นั่งนายกฯ ฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด”. กรุงเทพธุรกิจ. (25 ตุลาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/news/967759>. เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2564.