การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

บทนำ

อาเซียนได้มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงภายในภูมิภาคตลอดมานับแต่ก่อตั้งอาเซียน รวมถึงอาเซียนยังพยายามสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงกับประเทศอื่นๆภายนอกภูมิภาคด้วย ซึ่งความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างอาเซียนกับประเทศอื่นๆภายนอกภูมิภาคที่เด่นชัดและเป็นรูปธรรมมากที่สุดนั้นก็คือ เวทีการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือในด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum: ARF) [1] โดยเวทีดังกล่าวนี้จะเป็นเวทีสำหรับการปรึกษาหรือหารือกันระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก [2]

ที่มาและความสำคัญ

หลังจากที่ภัยคุมคามจากลัทธิสังคมนิยมได้สิ้นสุดไปแล้วนั้น อาเซียนก็ได้หยิบยกประเด็นความมั่นคงขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยเริ่มมีการปรึกษาหารือในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 4 ณ ประเทศสิงคโปร์ ใน ค.ศ.1992 ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้เสนอให้พัฒนากลไกความร่วมมือของรัฐสมาชิกในอาเซียนในด้านความมั่นคง โดยสร้างเวทีหารือในด้านความมั่นคงเป็นการเฉพาะ[3] รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือด้านความมั่นคงกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ ผ่านกลไกที่มีอยู่แล้วของอาเซียน ยกตัวอย่างเช่น การประชุมระดับรัฐมนตรี (ASEAN Post-Ministerial Conference: PMC) เป็นต้น[4] จนในที่สุดอาเซียนก็ได้จัดตั้งเวทีการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ.1994 ณ ประเทศไทย[5] โดยในการประชุมครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มากถึง 17 ประเทศ และรวมถึงกลุ่มสหภาพยุโรปด้วย ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าวอาเซียนยังได้ผลักดันให้ที่ประชุมรับรองหลักการต่างๆในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) การสนับสนุนการใช้กลไกทางการทูตเชิงป้องกัน รวมถึงการสร้างความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงอันเป็นเป้าหมายหลักของเวที ARF อีกด้วย [6]

เป้าหมายและวัตถุประสงค์

เวทีการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เวที ARF) นั้น ได้ถูกจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสันติภาพในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการสร้างความร่วมมือ ความเชื่อใจ และยังเป็นเวทีที่เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสมาชิกทั้งหลายในอาเซียน และรัฐต่างๆที่ได้เข้าร่วมการประชุมอีกด้วย ซึ่งโดยหลักแล้วผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมนั้นมักจะเป็นผู้แทนฝ่ายการทูตและการทหาร [7] ทั้งนี้เวที ARF นั้น จะมีลักษณะเป็นเวทีที่ใช้สำหรับการปรึกษาหารือ (Consultative Forum) ในเรื่องการเมืองและความมั่นคงเป็นการเฉพาะ โดยใช้วิธีการดำเนินการในลักษณะการดำเนินการทางการทูตเชิงป้องกัน (Preventive Diplomacy) ซึ่งเหตุที่ใช้การดำเนินการในลักษณะดังกล่าวนั้นก็เพื่อป้องกันการเกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐ รวมถึงลดความตึงเครียดจากปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐต่างๆ ซึ่งบางกรณีนั้นเวที ARF ก็อาจใช้เป็นเวทีปรึกษาหารือและเสนอแนวทางเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐสมาชิกและรัฐต่างๆที่เช้าร่วมได้อีกด้วย[8] ซึ่งอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า เวที ARF นั้นอาจมีพัฒนาการในการแก้ไขปัญหาเป็น 3 ระดับ ดังต่อไปนี้ [9]

ระดับที่ 1 เวที ARF นั้น เป็นเวทีที่ใช้สำหรับการส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันอันนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง

ระดับที่ 2 เป็นเวทีพัฒนาการทูตเชิงป้องกันรวมถึงการเพิ่มบทบาทด้านการไกล่เกลี่ย (good offices)

ระดับที่ 3 อาจใช้เป็นเวทีสำหรับแก้ไขความขัดแย้งสำหรับรัฐที่เข้าร่วมประชุมในเบื้องต้น

อย่างไรก็ดี เวที ARF นั้นมิใช่เวทีที่ใช้สำหรับเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเป็นการเฉพาะและไม่มีสถานะเป็นองค์กรที่เป็นทางการ เวที ARF เป็นแต่เพียงเวทีที่ใช้ปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึง การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเท่านั้น[10] หรืออาจกล่าวได้ว่า เวที ARF นั้นเป็นเพียงช่องทางหนึ่งในการเจรจาระหว่างกันเพื่อหาทางออกของปัญหาความขัดแย้งในเบื้องต้น

ลักษณะการประชุมและรัฐสมาชิก

เวที ARF นั้น จะมีการจัดขึ้นในช่วงกรกฎาคมของทุกปี โดยมีประเทศที่เป็นประธานอาเซียนในปีนั้นๆ เป็นประธานการประชุมของเวที ARF นั้นจะเป็นตัวแทนของรัฐสมาชิกที่เป็นประธานคณะกรรมการประจำอาเซียน (ASEAN Standing Committee: ASC) โดยจะมีการหมุนเวียนตามลำดับตัวอักษรซึ่งมีวาระครั้งละ 1 ปี [11] ทั้งนี้รัฐสมาชิกของ ARF ในปัจจุบันนั้นมีถึง 53 ประเทศ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ [12]

1.กลุ่มสหภาพยุโรป จำนวน 27 ประเทศ

2.รัฐสมาชิกของอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศลาว ประเทศเวียดนาม ประเทศบรูไน ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศมาเลเซีย ประเทศกัมพูชา ประเทศเมียนมาร์ และประเทศสิงคโปร์

3.ประเทศอื่นๆ ทั้งประเทศที่อยู่ในบริเวณภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และประเทศภายนอกภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจำนวน 16 ประเทศ ได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย ประเทศบังคลาเทศ ประเทศแคนาดา ประเทศจีน ประเทศอินเดีย ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกหาหลีเหนือ ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศมองโกเลีย ประเทศนิวซีแลนด์ ประเทศปากีสถาน ประเทศปาปัวนิวกีนี ประเทศรัสเซีย ประเทศศรีลังกา ประเทศติมอร์-เลสเต และ ประเทศสหรัฐอเมริกา

อุปสรรคและความท้าทาย

แม้ว่าเวที ARF จะถูกจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการเจรจาทางด้านการเมืองและความมั่นคง แต่อย่างไรก็ดี เวที ARF นั้น ก็มิใช่เวทีที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องความมั่นคงที่เกิดขึ้นโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ.1994 อาเซียนเคยได้เชิญประเทศจีน เข้าร่วมประชุมในเวที ARF เพื่อปรึกษาหารือในเรื่องประเด็นปัญหาข้อพิพาททางเขตแดนในทะเลจีนใต้ ระหว่างประเทศจีนและประเทศสมาชิกในอาเซียน [13]แต่การประชุมในครั้งดังกล่าวนั้น ก็ไม่ได้ทำให้ปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด ในทางกลับกัน ปัญหาดังกล่าวยังทวีความรุนแรงขึ้นในปีต่อมาและเป็นปัญหาที่เรื้อรังมาจนถึงปัจจุบัน และยังไม่มีทีท่าว่าจะสามารถแก้ไขได้โดยง่าย[14] ซึ่งจุดนี้ สะท้อนให้เห็นว่า เวที ARF นั้น เป็นเพียงเวทีปรึกษาหารือที่ทำให้รัฐสมาชิกอาเซียนและรัฐสมาชิกภายนอก ได้มีโอกาสมาพบปะพูดคุยกันในประเด็นเรื่องการเมืองและความมั่นคง เพื่อส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจและสร้างความร่วมมือระหว่างกันเท่านั้น แต่มิได้เป็นเวทีที่ใช้จัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้โดยตรง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า เวที ARF เป็นเพียงเวทีประชุมเวทีหนึ่งที่จัดขึ้น เพื่อปรึกษาหารือและกำหนดฉันทามติร่วมกันเท่านั้น ดังนั้น ARF จึงอาจมิได้เป็นกลไกระงับข้อพิพาทที่มีประสิทธิภาพนัก ซึ่งหากเกิดปัญหาหรือความขัดแย้งที่มีความรุนแรงและซับซ้อนเป็นอย่างมาก รัฐภาคีทั้งหลายจะต้องใช้กลไกระงับข้อพิพาทอื่นๆ ประกอบด้วย

บรรณานุกรม

กองวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.2558. ก้าวสู่ประชาคม...อาเซียน 2558. http://inter.oop.cmu.ac.th/ASEAN/asean2015template/asean2015/aseanqa.html (accessed June 27,2015)

กระทรวงการต่างประเทศ.2558. กรอบความร่วมมือ : การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum - ARF). http://www.mfa.go.th/main/th/world/7/19893-การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและค.html (accessed July 1,2015)

กิตติ ประเสริฐสุข.2012. ทะเลจีนใต้ไม่เคยหลับ. http://aseanwatch.org/2012/05/02/south-china-sea/ (accessed June 23,2015)

พรเทพ จันทรนิภ.ความมั่นคงอาเซียน.กรุงเทพฯ:เอ.เอส. เทคนิคการพิมพ์,2557.

มหาวิทยาลัยคริสเตียน.2557.ความร่วมมือด้านต่างๆในอาเซียน . http://library.christian.ac.th/html_asean/admin.html (accessed June 28,2015)

ศูนย์พันธกิจประชาคมอาเซียน สำนักงานอัยการสูงสุด.2557. เสาหลัก1ความร่วมมือในด้านการเมืองและความมั่นคง. http://www.asean.ago.go.th/asean/index.php/1 (accessed July 1,2015)

สมเกียรติ อ่อนวิมล.2555. บันทึกอาเซียน  : 45 ปี ประเทศไทยกับอาเซียน. http://www.dla.go.th/upload/ebook/column/2013/5/2060_5257.pdf. (accessed July 6,2015)

Siam Intelligence.2012.ข้อพิพาท “ทะเลจีนใต้” หากไม่ยุติ อาจกลายเป็นทะเลเลือด. http://www.siamintelligence.com/dispute-on-south-china-sea-become-tragedy/ (accessed June 27,2015)

อ้างอิง

  1. กองวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.2558. “ก้าวสู่ประชาคม...อาเซียน 2558.” http://inter.oop.cmu.ac.th/ASEAN/asean2015template/asean2015/aseanqa.html (accessed June 27,2015)
  2. .มหาวิทยาลัยคริสเตียน.2557.“ความร่วมมือด้านต่างๆในอาเซียน .” http://library.christian.ac.th/html_asean/admin.html (accessed June 28,2015)
  3. พรเทพ จันทรนิภ.2557.อ้างแล้ว.,หน้า 42.
  4. กระทรวงการต่างประเทศ.2558. “กรอบความร่วมมือ : การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum - ARF).” http://www.mfa.go.th/main/th/world/7/19893-การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและค.html (accessed July 1,2015)
  5. ศูนย์พันธกิจประชาคมอาเซียน สำนักงานอัยการสูงสุด.2557. “เสาหลัก1ความร่วมมือในด้านการเมืองและความมั่นคง.” http://www.asean.ago.go.th/asean/index.php/1 (accessed July 1,2015)
  6. พรเทพ จันทรนิภ.2557.อ้างแล้ว.,หน้า 43.
  7. ศูนย์พันธกิจประชาคมอาเซียน สำนักงานอัยการสูงสุด.2557.อ้างแล้ว.
  8. สมเกียรติ อ่อนวิมล.2555. “บันทึกอาเซียน  : 45 ปี ประเทศไทยกับอาเซียน.” http://www.dla.go.th/upload/ebook/column/2013/5/2060_5257.pdf. (accessed July 6,2015)
  9. ศูนย์พันธกิจประชาคมอาเซียน สำนักงานอัยการสูงสุด.2557.อ้างแล้ว.
  10. กระทรวงการต่างประเทศ.2558.อ้างแล้ว.
  11. เพิ่งอ้าง.
  12. สมเกียรติ อ่อนวิมล.2555.อ้างแล้ว.
  13. กิตติ ประเสริฐสุข.2012. “ทะเลจีนใต้ไม่เคยหลับ.” http://aseanwatch.org/2012/05/02/south-china-sea/ (accessed June 23,2015)
  14. Siam Intelligence.2012.”ข้อพิพาท “ทะเลจีนใต้” หากไม่ยุติ อาจกลายเป็นทะเลเลือด.” http://www.siamintelligence.com/dispute-on-south-china-sea-become-tragedy/ (accessed June 27,2015)