ปฏิญญาว่าด้วยเขตแห่งสันติภาพ เสรีภาพ และการวางตัวเป็นกลาง
ผู้เรียบเรียงพัชร์ นิยมศิลป
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศาสตราจารย์ ดร. ไชยวัฒน์ ค้ำชู
ข้อมูลพื้นฐานและความหมาย
ปฏิญญาว่าด้วยเขตแห่งสันติภาพ เสรีภาพ และการวางตัวเป็นกลาง (Zone of Peace, Freedom and Neutrality Declaration (ZOPFAN)) เป็นปฏิญญาที่ได้ทำขึ้นระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้น โดยประเทศสมาชิก 5 ประเทศ คือ ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศมาเลเซีย ประเทศสิงคโปร์ ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศไทย ซึ่งได้มีการประชุมกันและได้จัดทำสนธิสัญญาฉบับนี้ขึ้น ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 1971 ทั้งนี้ ZOPFAN จะเป็นแนวคิดสำคัญต่อการพัฒนาสนธิสัญญาฉบับอื่นๆอันเกี่ยวกับด้านความมั่นคงและความร่วมมือทางการเมือง อาทิ ปฏิญญาว่าด้วยเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Nuclear Weapon-Free Zone(SEANWFZ)) สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia) ตลอดจนกฎบัตรอาเซียน
ประวัติความเป็นมา
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคทศวรรษที่ 1970 นั้นตกอยู่ในสภาพสนามรบของประเทศมหาอำนาจและความไร้เสถียรภาพ โดยทั่วไปแล้วทางเลือกในการเสริมสร้างความมั่นคงของภูมิภาคเพื่อต่อสู้กับภัยจากภายนอกภูมิภาคในขณะนั้นมีอยู่ 3 แนวทางหลัก ได้แก่ (1) การสร้างพันธมิตรและแนวร่วม (2) การยึดหลักความเป็นกลางและไม่ฝักไฝ่ฝ่ายใด และ (3) การจัดองค์กรและสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาค สำหรับในข้อ (1) และ (3) นั้นอาเซียนได้ริเริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่ก่อตั้งองค์กรอาเซียนตามปฏิญญากรุงเทพ ในปี ค.ศ. 1967 ดังนั้น ZOPFAN จึงเป็นความพยายามที่จะเติมเต็มความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ผู้ก่อตั้งอาเซียนนั้นได้ตระหนักดีถึงประเด็นในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับ เศรษฐกิจในภูมิภาคและเรื่องของความมั่นคง การสิ้นสุดของสงครามเวียดนามในเดือนเมษายน ค.ศ. 1975 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อหลักประกันความมั่นคงของชาติสมาชิกอาเซียนซึ่งในขณะนั้นเกรงกลัวต่อการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ สมาชิกอาเซียนจึงได้จัดให้มีการประชุมนอกรอบรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกี่ยวกับนโยบายการต่างประเทศณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในปี ค.ศ. 1971 ในการนี้ ตุน อับดุล ราชัก บิน ฮุสเซน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซีย ได้กล่าวโดยสรุปว่า นโยบายของสนธิสัญญาฉบับนี้นั้น ได้มีการจัดทำขึ้น เพื่อประกาศว่า ภูมิภาคของเราไม่มีความเกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกซึ่งมีที่มาจากอำนาจ และอิทธิพลของอำนาจภายนอก มีเพียงแค่การเจรจาถึงการป้องกันประเทศเล็กๆในภูมิภาคเหล่านี้เท่านั้นจากประเทศมหาอำนาจ การยึดความเป็นกลางและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดนี้จะเป็นเครื่องประกาศให้ประเทศต่างๆ ได้รู้ว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ใช่เบี้ยในเกมอำนาจของประเทศมหาอำนาจ
สงครามเวียดนามเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นได้ชัดถึงอันตรายอันเกิดจากยอมให้ประเทศมหาอำนาจเข้าแทรกแซงกิจการภายในประเทศ ประเทศเวียดนามได้ถูกแบ่งออกเป็นเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ คนชาติเดียวกันถูกประเทศมหาอำนาจต่างขั้วปลุกปั่นให้ทำสงครามกันอย่างสาหัส บทเรียนจากกรณีของประเทศเวียดนามนั้น ชี้ชัดว่า ประเทศมหาอำนาจต่างๆจากภายนอกนั้น ควรที่จะปล่อยให้ ประเทศเล็กๆ ดำเนินกิจการภายในด้วยตนเอง ควรที่จะปล่อยให้ประเทศเล็กๆพัฒนาระบบของตัวเองอันจะนำไปสู่ความก้าวไปข้างหน้าและความสำเร็จ
เป้าหมายและวัตถุประสงค์
การวางตัวเป็นกลางและการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด หมายถึง การไม่เข้าไปมีบทบาทในความขัดแย้งระหว่างสงครามระหว่างรัฐอื่น ๆโดยรัฐที่ดำเนินนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดจะต้องไม่ใช้กำลังก่อให้เกิดสงครามและไม่เข้าร่วมสงครามใดๆ เว้นแต่จะถูกรุกราน อีกทั้งยังต้องละเว้นจากการเข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาทางทหาร สนธิสัญญาอนุญาตให้กองทัพต่างชาติใช้ดินแดนตนเป็นฐานทัพ และมีกองทัพป้องกันตนเองที่ไม่ต้องพึ่งพาต่างชาติ โดยปกติแล้วผู้ที่จะดำเนินนโยบายวางตัวเป็นกลางและการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดจะเป็นรัฐ (Single State) เท่านั้น ข้อเสนอให้จัดตั้ง ZOPFAN จึงเป็นแนวคิดใหม่ที่ยังไม่เคยมีบรรทัดฐานกำหนดกฎเกณท์สำหรับกลุ่มประเทศมาก่อน
ปฏิญญาว่าด้วยเขตแห่งสันติภาพ เสรีภาพ และการวางตัวเป็นกลางนั้น เป็นความตกลงร่วมกันของผู้นำประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้ร่วมกันจัดทำขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการที่จะให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น เป็นภูมิภาคที่มีความเป็นกลาง โดยจะรักษาความเป็นกลางและจะละเว้นไม่ยุ่งเกี่ยวไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมกับความขัดแย้งบนความแตกต่างทาง อุดมการณ์การเมือง เศรษฐกิจ ด้านอาวุธ หรือความขัดแย้งรูปแบบอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งที่มาจากภายนอกภูมิภาค ซึ่งอำนาจจากภายนอกนั้นจะต้องไม่มีการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก หรือแทรกแซงกิจการของภูมิภาคเอเชียตะวันอออกเฉียงใต้ เพื่อเป็นหลักประกันในเรื่องของสันติภาพและภูมิภาค อันจะนำมาสู่ความเป็นปึกแผ่นและความแข็งแกร่งของภูมิภาค
เนื้อหาของปฏิญญา
ปฏิญญาฉบับนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือกัน อันมีพื้นฐานมาจาก ด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ของกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ต้องการจะลดความตึงเครียดระหว่างประเทศ และเพื่อให้บรรลุถึงสันติภาพของชาติในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่อง การเคารพในอำนาจอธิปไตย และความมั่นคงภายในของรัฐทุกรัฐ โดยประเทศสมาชิกจะต้องละเว้นจากการคุกคาม หรือใช้กำลัง และยุติปัญหาระหว่างประเทศโดยสันติวิธี อย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้รัฐทุกรัฐจะต้องสามารถตัดสินใจด้วยตนเองได้และจะต้องไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่นโดยแนวคิดที่เป็นรากฐานของปฏิญญาฉบับนี้ ได้แก่
การยึดมั่นในปฏิญญาว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือทางด้านสันติภาพของโลก ตาม Bandung Conference 1955 ที่มีการประกาศอย่างชัดเจนถึงหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
การยอมรับถึงสิทธิของรัฐทุกรัฐ ไม่ว่ารัฐนั้นจะเป็นรัฐใหญ่หรือรัฐเล็กก็ตาม เพื่อนำไปสู่ความเป็นอิสระร่วมกันในระดับชาติ เพื่อให้ปลอดจากการแทรกแซงต่อกิจการภายในของรัฐ อันเป็นการผดุงไว้ถึงสันติภาพ เสรีภาพ และอิสรภาพ ไม่ให้สิ่งเหล่านี้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากว่า การแทรกแซงนั้น จะก่อให้เกิดผลร้ายต่อ อิสรภาพ เสรีภาพ และความมั่นคง
การตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องประกาศจุดยืนเพื่อกระตุ้นให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ให้ความร่วมมือ ในด้านของสันติภาพ และเสรีภาพ ไม่ว่าทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคก็ตาม ซึ่งปฏิญญาฉบับนี้จะทำให้เกิดการส่งเสริมผลักดันในเรื่องสันติภาพ เสถียรภาพ และความสามัคคีกันระหว่างประเทศต่างๆ
การคำนึงถึงวิสัยทัศน์ที่จะก่อตั้งภูมิภาคปลอดนิวเคลียร์ ตามต้นแบบของภูมิภาคอื่น อาทิTreaty for the Prohibition of Nuclear Weapons in Latin America และ Lusaka Declaration Proclaiming Africa as Nuclear Free Zone อันมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมสันติภาพในโลกและยังสามารถลดความขัดแย้งและความตึงเครียดในทางระหว่างประเทศได้
โดยเป็นการเน้นย้ำถึงหลักการสำคัญในปฏิญญากรุงเทพ ที่ประเทศทั้งหลายในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีการร่วมมือกันทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาถึงความก้าวหน้าในเรื่องสันติภาพในระดับชาติ และนอกจากนี้ ยังจะทำให้ประเทศต่างๆในภูมิภาคนั้นมั่นใจ ถึงความมั่นคงและความปลอดภัยจากการแทรกแซงกิจการภายในโดยประเทศอื่นๆในทุกรูปแบบ อันจะเป็นการคุ้มครองอัตลักษณ์ของคนชาติในแต่ละชาติได้อีกด้วย
ซึ่งในเรื่องความเป็นกลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น จะทำให้ประชาชนได้รับความผาสุกทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม
ด้วยหลักการต่างๆที่ได้กล่าวมาข้างต้น ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย ร่วมกันประกาศดังนี้
1) ประเทศสมาชิกมีความจำเป็นที่จะต้องทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่เป็นเขตแห่งสันติภาพ เสรีภาพ และการวางตัวเป็นกลาง ปราศจากการแทรกแซงจากอำนาจนอกภูมิภาคไม่ว่าจะในรูปแบบใดๆ ;
2) ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะสมัครสมานสามัคคีกันขยายความร่วมมือในด้านต่างๆ อันจะส่งเสริ่มให้เกิดความมั่นคง เข้มแข็ง มีความเป็นปึกแผ่นและมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ผลของปฏิญญา
อนึ่งความร่วมมือกันตามปฏิญญาฉบับนี้นั้นได้ก่อให้เกิดผลดีแก่ประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในมุมหนึ่งอาจมองได้ว่าประเทศต่างๆในอาเซียนนั้นมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันมากขึ้น แม้ว่าประเทศไทย ประเทศฟิลิปปินส์และประเทศสิงคโปร์จะไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของมาเลเซียที่เสนอปฏิญญาฉบับนี้ในตอนแรกเนื่องจากประเทศเหล่านี้มีสายสัมพันธ์อันดีต่อในค่ายเสรีนิยม อีกทั้งมองว่าความมั่นคงภายในขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาที่ยังคงมีบทบาทสำคัญในการสร้างเสถียรภาพของภูมิภาค ยกตัวอย่างเช่น การดำรงฐานทัพในประเทศไทยและฟิลิปปินส์ และการเป็นผู้คานและดุลอำนาจระหว่างอินโดนิเซียและมาเลเซียให้กับสิงคโปร์ ต่อมาประเทศไทยและประเทศฟิลิปปินส์ก็ได้ประนีประนอมและยอมรับข้อเสนอของมาเลเซีย โดยใช้การตัดสินใจตามหลักฉันทามติ โดยปฏิญญา ZOPFAN ที่ทุกฝ่ายยอมรับมิได้มีข้อตกลงอย่างชัดแจ้งเกี่ยวกับการมีฐานทัพต่างชาติหรือการเป็นภาคีในสนธิสัญญาทางทหาร (foreign military bases or alliances) แม้ถ้อยคำที่ใช้ในปฏิญญา ZOPFAN จะมีความกำกวมเพื่อสร้างความยืดหยุ่นอยู่บ้าง ปฏิญญานี้ได้วางรากฐานสำคัญๆ เช่น หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน (non-interference) หลักการไม่ใช้กำลัง (non-use of force) และหลักความเป็นอิสระของภูมิภาค (regional autonomy) อันส่งผลโดยตรงต่อการจัดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกันและระหว่างอาเซียนกับประเทศนอกภูมิภาค อาจกล่าวได้ว่าปฏิญญาฉบับนี้เปรียบเสมือนเป็นบันไดขั้นแรกที่จะนำไปสู่ความเจริญเติบโตทั้งทางด้านเศรษฐกิจและด้านสังคมเนื่องจากความร่วมมือต่าง ๆ นั้นไม่อาจจะเริ่มต้นได้หากภูมิภาคปราศจากสันติภาพของภูมิภาค
รัฐสมาชิก
ปฏิญญาฉบับนี้มีการลงนามเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1971 ซึ่งมีรายละเอียดการลงนามดังต่อไปนี้
สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยนาย อาดัม มาลิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ
มาเลเซีย โดยนาย ตุน อับดุล ราชัก บิน ฮุสเซน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ
สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยนายคาร์ลอส โรมูโร เลขาธิการกระทรวงต่างประเทศ
สาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยนาย เอส ราชารัตนัม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ
ราชอาณาจักรไทย โดย พันเอก(พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ ผู้แทนพิเศษทางการทูตของคณะกรรมการบริหารแห่งชาติ
เอกสารอ้างอิง
จุลชีพ ชินวรรโณ. “กระบวนการรวมตัวของสหภาพยุโรป: บทเรียนและทิศทางของอาเซียนและประชาคมเอเชียตะวันออก.”วารสารยุโรปศึกษา(ม.ป.ป.):135. accessed February 21,2014 http://www.ces.in.th/PDF/eu_asean_integration.pdf.
ภิญญดา ไรนิเกอร์. “การพัฒนาระบบระงับข้อพิพาทในอาเซียน : บทเรียนจากระบบระงับข้อพิพาทในภูมิภาคอื่นๆ.” วิทยานิพนธ์ หลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต,คณะนิติศาสตร์,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2551.
Acharya, Amitav. Constructing a Security Community in Southeast Asia. (London: Routledge, 2001).
Abad, M.C.Jr.. “The role of ASEAN Security Multilateralism ZOPFAN,TAC and SEANWFZ”(Paper presented at the ASEAN Regional Forum Professional Development Programme for Foreign Affairs and Defence Officials, Bandar Seri Begawan,Negara Brunei Darussalam, 23-28 April 2000. (accessed February 20 ,2014). <http://www.asean.org/archive/arf/7ARF/Prof-Dment-Programme/Doc-10.pdf.>
Hänggi, H. “ASEAN and the ZOPFAN Concept.” Pacific strategic papers, vol. 4 (1991).
ดูเพิ่มเติม
ดนัยวัฒนา รุ่งอุทัย.”อาเซียนกับความมั่นคง ตอนที่ 1เรื่อง ความร่วมมือด้านความมั่นคงของประเทศ
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใต้อาเซียนในสองทศวรรษแรก (1967-1987)." เอกสารประการสัมมนาทางวิชาการ ณ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ แบงคอคสีลม ,กรุงเทพมหานคร,ประเทศไทย, 1 พฤศจิกายน 2556.( accessed February 23,2014).<http://thaiacs.org/doc/asian-drdanaiwattana.docx.>