นโยบายสร้างโรงพยาบาลครบทุกจังหวัด

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย มุกสง

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

         

          การเกิดขึ้นของโรงพยาบาลในรูปแบบปัจจุบันที่กลายเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของสังคมตะวันตกสมัยใหม่ เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ก่อนจะกระจายไปยังสังคมต่าง ๆ ทั่วโลกหลังสงครามโลกครั้งที่_2 ซึ่งโรงพยาบาลกลายเป็นสถาบันด้านสุขภาพของสังคมโดยแท้จริงและมีการขยายตัวทั้งที่รัฐให้การสนับสนุนและที่ภาคเอกชนขับเคลื่อนโดยกลไกการตลาด สาเหตุสำคัญที่ทำให้โรงพยาบาลมีความสำคัญขึ้นมานั้น ได้แก่ ประสิทธิภาพของการเยียวยารักษาโรคที่เคยเป็นปัญหาในอดีตสามารถทำได้ชะงัด การแก้ปัญหาโรคติดต่อได้ดีจากการค้นพบทฤษฎีเชื้อโรคและยารักษาในปลายศตวรรษที่ 19 และการผ่าตัดที่ทันสมัยรักษาอาการบาดเจ็บที่รุนแรงเฉียบพลันทำให้คนยอมรับและมารับบริการในโรงพยาบาลกันเป็นหลัก

          ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา โรงพยาบาลได้พัฒนาปรับปรุงสุขาภิบาลและเครื่องไม้เครื่องมือในการผ่าตัดให้ก้าวหน้าขึ้น โรงพยาบาลจึงเปลี่ยนบทบาทจากการดูแลคนจนมาเป็นสถาบันการรักษาพยาบาลทางการแพทย์กับคนทุกชนชั้น ก่อนศตวรรษที่ 20 ชนชั้นกลางและชั้นสูงต่างก็ให้หมอไปรักษาโรคที่บ้านและมีคนรับใช้คอยพยาบาลเป็นการส่วนตัว ในขณะที่โรงพยาบาลเป็นที่รักษาของคนป่วยที่ยากจน แต่ในศตวรรษที่ 20 โรงพยาบาลได้ก้าวกระโดดไปก้าวใหญ่ จากการพัฒนาวิธีการผ่าตัดระหว่างสงครามที่มีความซับซ้อน การทดลองในห้องปฏิบัติการและการค้นคว้าทางการแพทย์ที่ขยายตัวมากขึ้น รวมทั้งการมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยขึ้นและมีเจ้าหน้าที่มาทำหน้าที่ต่าง ๆ ตามมามากขึ้น นอกจากนี้การมีรถพยาบาลบริการทำให้โรงพยาบาลเป็นศูนย์กลางของการแพทย์ฉุกเฉินไปด้วย จนสามารถลบภาพเดิมที่โรงพยาบาลเคยเป็นเรือนตายของคนป่วยที่ยากจนมาเป็นสถานที่ช่วยรักษาชีวิตของผู้ป่วย[1]

การเริ่มสร้างโรงพยาบาลเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ในสยาม

          ในสังคมไทยโรงพยาบาลถูกนำมาใช้แสดงบทบาทของรัฐด้านการรักษาพยาบาลขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อคราวอหิวาตกโรคระบาดในปี พ.ศ. 2424 โดยรัฐบาลได้จัดตั้งโรงพยาบาลเอกเทศขึ้นปราบปรามอหิวาตกโรคขึ้นในชุมชน รวม 48 ตำบล จนปรากฏผลดีว่าคนตายลดลง จึงกลายเป็นต้นแบบให้เกิดการจัดตั้งโรงพยาบาลถาวรที่ศิริราชขึ้นในเวลาต่อมา แม้ว่าก่อนหน้าจะมีโรงพยาบาลศิริราชไม่นานปรากฏหลักฐานว่ามีโรงพยาบาลที่ตั้งขึ้นด้วยพวกมิชชันนารีแห่งหนึ่งที่เพชรบุรี และในกรุงเทพฯ ก็มีโรงพยาบาลทหารหน้า ซึ่งเป็นกิจการของรัฐเฉพาะด้านการทหารและตั้งอยู่ชั่วคราว พอไม่มีแพทย์ประจำก็เลิกไป

          แต่กล่าวได้ว่าโรงพยาบาลของรัฐที่ตั้งขึ้นและมีความมั่นคงถาวรสืบมา ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช หรือเรียกว่า “โรงศิริราชพยาบาล” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2431[2] นับเป็นจุดเริ่มแรกของการสร้างโรงพยาบาลของรัฐให้เป็นสถาบันทางการแพทย์ของชุมชนและมีผลต่อการขยายตัวของการแพทย์สมัยใหม่ของสยามในเวลาต่อมาอย่างมาก

          เมื่อมีการสร้างโรงพยาบาลศิริราชขึ้นมาก็ต้องจัดให้มีบริการของการแพทย์แผนโบราณควบคู่ไปด้วยกับการแพทย์แผนตะวันตก เพราะคนไทยคุ้นเคยกับการแพทย์ของไทยมากกว่า ตอนเริ่มเปิดโรงพยาบาลใหม่ ๆ คนไทยก็ยังไม่นิยมไปรักษาจนทางกรรมการของโรงพยาบาลต้องหาวิธีการให้คนมารักษาที่โรงพยาบาลด้วยการจับเอาขอทานที่ป่วยมารักษา หรือไม่ก็ให้เจ้านายส่งคนในบังคับของตนมารับการรักษาเพื่อสร้างศรัทธาในหมู่ประชาชน จากคนที่มารับการรักษาหายกลับไปแล้วบอกต่อ[3] ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนไทยก็ยังไม่คุ้นกับการที่ต้องไปรักษาความเจ็บป่วยยังสถานที่อื่นซึ่งไม่ใช่บ้านของตน หรือสถานที่ที่คุ้นเคย จนมีการร่ำลือว่า โรงพยาบาลศิริราช คือ เรือนตายของคนไข้ คือ ใครไปรักษาแล้วจะตายเพราะมักจะส่งมาแต่กรณีคนป่วยหนักใกล้ตายที่ไม่มีใครรับรักษาแล้วทั้งสิ้น

          งานรักษาพยาบาลผู้ป่วยตามรายงาน เมื่อ ร.ศ. 109 (พ.ศ. 2433) มีคนไข้ทั้งปี 1,017 คน เห็นได้ว่าคนไข้มีน้อยมาก[4] และในอีกกว่าสิบปีต่อมาคนไข้ก็อยู่ประมาณเดียวกัน กล่าวคือมีคนไข้ทั้งปี พ.ศ. 2445 จำนวน 916 คน ปี พ.ศ. 2446 จำนวน 1,095 คน ปี พ.ศ. 2448 จำนวน 1,557 คน[5] แม้ว่า พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ อธิบดีกรมพยาบาล ผู้ปลุกปั้นสร้างโรงพยาบาลศิริราชมากับมือได้เข้ารักษาอาการประชวรด้วยวัณโรคอยู่ในโรงพยาบาลจนสิ้นพระชนม์ เมื่อ พ.ศ. 2432 จึงทำให้ชาวบ้านค่อยมีศรัทธากับโรงพยาบาลขึ้นมาบ้างเมื่อเห็นเจ้านายผู้ใหญ่ยังรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ นอกจากนี้การรักษาเป็นการกุศลตามพระราชประสงค์ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้ผู้มารับการรักษาไม่ต้องเสียค่าขวัญข้าว (ค่ารักษาของแพทย์) ค่ายา มีอาหารเลี้ยงคนไข้และมีเสื้อผ้าสำหรับผู้ป่วยที่พักรักษาในโรงพยาบาลก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ดึงดูดให้ชาวบ้านมารับการรักษาในโรงพยาบาล

          หลังจากกิจการของโรงพยาบาลหลวงแห่งแรกที่ศิริราชตั้งมั่นขึ้นได้แล้ว รัฐบาลก็ได้จัดการให้ตั้งโรงพยาบาลขึ้นอีกหลายแห่งในพระนคร คือ โรงพยาบาลคนเสียจริตที่ปากคลองสาน เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2432 (ต่อมาคือโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา) โรงพยาบาลหน้าป้อมมหาไชยหรือโรงพยาบาลบูรพา (ล้มเลิกไปแล้ว) โรงพยาบาลป้อมปราบศัตรูพ่าย หรือโรงพยาบาลเทพศิรินทร์ (ล้มเลิกไปแล้ว) สาเหตุที่โรงพยาบาลไปตั้งอยู่ในตำแหน่งของป้อมรอบกรุงก็เพราะสมัยนี้เลิกใช้ป้อมรักษากรุงแล้วจึงใช้พื้นที่ไปทำการอย่างอื่น เช่น โรงพยาบาลแทน ต่อมาก็ได้ตั้งโรงพยาบาลขึ้นอีกหลายแห่ง คือ โรงพยาบาลหญิงหาเงิน ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2440 (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลกลาง) โรงพยาบาลสามเสน ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2445 เป็นโรงพยาบาลรัฐแห่งสุดท้ายที่ตั้งขึ้นในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5 แล้วล้มเลิกไปรวมกับโรงพยาบาลวชิระ พบว่าส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่[6] โรงพยาบาลที่ตั้งขึ้นในหัวเมืองในรัชสมัยนี้ คือ โรงพยาบาลศรีมหาราชา (โรงพยาบาลสมเด็จบรมราชเทวี ณ ศรีราชา) จังหวัดชลบุรี ออกทุนสร้างขึ้น โดยสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี เพื่อเป็นสถานพยาบาลเมื่อเสด็จไปพักฟื้นตากอากาศที่ชายทะเลชลบุรี เปิดดำเนินการ เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2445[7] และโรงพยาบาลเมืองนครราชสีมาที่มี พระยาราชนุกูล (อวบ เปาโรหิตย์) เป็นผู้ดำเนินการเรี่ยไรเงินและจัดสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2450[8]

          การสร้างโรงพยาบาลขึ้นมารักษาเยียวยาโรคภัยไข้เจ็บให้กับประชาชนแม้ในระยะเริ่มแรกจะหาคนไปใช้บริการยาก จนเจ้านายต้องเกณฑ์เอาทาสและข้าราชการไปใช้บริการก็ยังมีคนไปรักษาน้อยอยู่ดี เพราะตอนแรกเชื่อกันว่าโรงพยาบาล คือ เรือนตายของผู้ป่วย เนื่องจากในสมัยนั้นเมื่อผู้ป่วยมีอาการหนักมากแล้วจึงจะส่งไปโรงพยาบาล หมอช่วยไม่ทันก็ตายเป็นส่วนใหญ่ แต่เนื่องจากการสนับสนุนส่งเสริมของชนชั้นนำในการรักษากับการแพทย์แผนตะวันตก และพระราชนิยมของกษัตริย์และเจ้านายตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ที่นิยมการสร้างโรงพยาบาลและโรงเรียนเป็นการกุศลแทนการสร้างวัดเช่นธรรมเนียมโบราณ ทำให้โรงพยาบาลได้รับการยอมรับจากประชาชนมากขึ้น

การขยายการแพทย์ด้วยการสร้างโรงพยาบาลหัวเมือง

          หลังทดลองจัดตั้งสุขาภิบาลตำบลท่าฉลอมขึ้นได้ผลดี ได้มีการขยายลักษณะการปกครองท้องถิ่นเกิดขึ้น และให้กิจการการแพทย์รวมอยู่ในสุขาภิบาลซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการสร้างโรงพยาบาลของสุขาภิบาลด้วยการเรี่ยไรเงินจากคนในท้องถิ่น ทำให้เกิดการขยายตัวของโรงพยาบาลไปยังหัวเมืองด้วยการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในท้องถิ่นด้วยการเรี่ยไรเงินมาสร้างโรงพยาบาลประจำเมืองและให้สุขาภิบาลเป็นเจ้าของบริหารจัดการ

          การสร้างโรงพยาบาลในความหมายของทศวรรษ 2450-2470 นั้น ไม่มีภาพลักษณ์เป็นสถานที่บำบัดดูแลรักษาโรคเช่นปัจจุบัน แต่มีลักษณะเป็นเหมือนที่พักหมอ เก็บรักษาและจ่ายยาแก่คนไข้เป็นหลัก ไม่ได้มีความหมายของการรักษาโรคแบบรับคนไข้เอาไว้ดูแลในโรงพยาบาล หรือการรักษาผ่าตัดบาดแผล ซึ่งจะจัดตั้งแยกออกไปและต้องมีหมอที่ต้องเรียนแบบแผนตะวันตกที่ชำนาญมาเป็นผู้ประกอบโรคศิลป์ และไม่ได้รับเอาผู้ป่วยโรคระบาดเข้ารักษาอย่างเป็นปกติดังที่เป็นอยู่เช่นปัจจุบันแต่อย่างใด ซึ่งปรากฏว่ามีการรับคนรักษาในโรงพยาบาลน้อยมากถ้าเทียบกับการตั้งโรงพยาบาลในท้องที่ที่มีประชากรหนาแน่น

          นโยบายการสร้างโรงพยาบาลในหัวเมืองของรัฐบาลสยามที่ส่วนกลางยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด แม้เมื่อได้จัดตั้งกรมสาธารณสุขขึ้นในกระทรวงมหาดไทย ในปี พ.ศ. 2461 ขึ้นมารับผิดชอบหลักดูแลสุขภาพประชาชนทั่วราชอาณาจักรแล้วก็ตาม ดังปรากฏว่าในเอกสารโครงการตั้งกรมสาธารณสุข ซึ่งให้รายละเอียดและคำอธิบายถึงความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องจัดให้มีบริการสาธารณสุขจากรัฐบาลขึ้นให้ครอบคลุมทั้งประเทศที่เรียกว่างานของกรมล้วน แต่ปรากฏว่ามีงานนอกกรมแต่กรมมีหน้าที่แนะนำ คือ การบำบัดโรคคือการรักษาพยาบาลคนเจ็บไข้และการสุขาภิบาลทั่วไปในท้องที่ โดยอธิบายงานของกรมล้วนคือที่ได้รับงบประมาณไปดำเนินการโดยตรง ส่วนงานของท้องที่นั้นให้หน่วยงานและบุคคลในท้องที่นั้นรับผิดชอบดูแลกันเอง แม้แต่เรื่องเงินประมาณก็ต้องจัดหากันเอง ซึ่งกิจการสร้างสถานบำบัดโรค หรือโรงพยาบาลที่ต้องดูแลรักษาพยาบาลคนป่วยนั้นก็ให้ท้องที่หรือสุขาภิบาลรับผิดชอบจัดสร้างขึ้นเองจากเงินที่เรี่ยไรในท้องที่ไม่ใช่งบประมาณจากรัฐบาล ดังความว่า

          “การสาธารณสุขซึ่งยังไม่ได้กะไว้ในโครงการนี้ และซึ่งยังไม่เกี่ยวด้วยพระราชอาณาเขตสยามโดยทั่วไป ด้วยเป็นการสำคัญสำหรับท้องที่โดยเฉพาะ จึงควรให้ผู้ปกครองท้องที่และกรรมการ'บุราภิบาลเป็นผู้ทำและเป็นผู้รับผิดชอบ การเหล่านี้มีบางประเภทที่สำคัญและจำเป็น ซึ่งตามลัทธินับว่าเป็นคุณฉะเพาะท้องที่ แต่แม้การเช่นนี้จะเป็นคุณแก่ประเทศทางอ้อม และแม้เป็นการสมควรที่แผ่นดินจะช่วยเหลือท้องที่โดยให้เงินบำรุงเป็นก้อนหรือให้ประจำ หรือโดยทางอื่นก็ดี ก็ยังควรให้ถือว่าอยู่ในความรับผิดชอบของท้องที่ทั้งสิ้น”[9]

          นโยบายการสร้างโรงพยาบาลขึ้นในหัวเมืองด้วยการรับผิดชอบงบประมาณจากการเรี่ยไรจากในท้องที่สร้างโรงพยาบาลเป็นรูปแบบและวิธีการที่ใช้ตลอดรัชกาลที่ 6 เช่นเดียวกัน ดังปรากฏว่ามีการสร้างโรงพยาบาลสุโขทัยขึ้น ในปี พ.ศ. 2456 สร้างเป็นโรงพยาบาลเล็ก ไม่มีคนป่วยเข้าอยู่ประจำ ไม่นานก็ล้มเลิกไป โรงพยาบาลกรุงเก่าสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2555 บาท โรงพยาบาลเมืองภูเก็ต หรือโรงพยาบาลวชิระ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2460 รัชกาลที่ 6 พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบด้วย โรงพยาบาลทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2461 โรงพยาบาลนครนายก เปิดทำการเมื่อ พ.ศ. 2466 โรงพยาบาลสงขลา สร้างเสร็จเปิดบริการ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2468 โดยเมื่อสร้างขึ้นมาแล้วโรงพยาบาลเหล่านี้ล้วนประสบปัญหาการดำเนินการให้เป็นสถานบำบัดโรคแก่ประชาชน ด้วยมีอุปสรรคสำคัญคือขาดทุนรอนสำหรับดำเนินงานประจำแต่ละปี การไม่มีแพทย์ประจำเพราะไม่มีเงินจ้างแพทย์ นอกจากนี้ในส่วนผู้ใช้บริการในหัวเมืองนั้นประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่นิยมการรักษาพยาบาลแผนใหม่ที่โรงพยาบาล ยังนิยมรักษากันตามบ้านมากกว่าเมื่อเจ็บป่วย[10]

การสร้างโรงพยาบาลในหัวเมืองสมัยปลายรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์

          การสร้างโรงพยาบาลหัวเมืองในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ในเชิงนโยบายและรูปแบบวิธีการดำเนินการนั้นยังคงเหมือนเมื่อรัชกาลก่อน คือ ให้ท้องที่รับผิดชอบหางบประมาณการสร้างจากการเรี่ยไร ไม่ใช้งบของรัฐบาล แต่ในช่วงทศวรรษ 2470 เกิดเศรษฐกิจตกต่ำขึ้น รัฐบาลขาดแคลนงบประมาณ ไม่มีงบจ้างหมอ ซื้อยาส่งไปตามหัวเมือง ทำให้โรงพยาบาลร่วงโรยร้างคน สภาพหัวเมืองจากการสำรวจของ คาร์ล ซี ซิมเมอร์แมน ในปี 2473 พบว่ามีเพียงโรงพยาบาลของมิชชันนารีที่มีนายแพทย์แผนปัจจุบันให้บริการการแพทย์สมัยใหม่ ส่วนโรงพยาบาลของรัฐ หรือโอสถศาลาที่ให้บริการมีไม่ทั่วถึงและให้บริการได้เฉพาะการจ่ายยาให้ประชาชนไปรักษากันเอง แต่ประชาชนโดยมากมักพึ่งการแพทย์แผนโบราณและการซื้อยารักษาดูแลสุขภาพกันเอง ยังไม่นิยมรักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน มีผู้ใช้ยาแผนปัจจุบันและรักษาแผนตะวันตกในอัตราต่ำมาก[11]

          หลังรัชกาลที่ 7 ขึ้น ครองราชย์ ในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ได้เพียง 5 วัน ในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2468 ร้านจําหน่ายเวชภัณฑ์และเรือนคนไข้รับรักษาที่จังหวัดนครสวรรค์[12] หรือโรงพยาบาลนครสวรรค์ เปิดเรือนคนไข้รับรักษา ต่อมา วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2469 เปิดร้านจําหน่ายเวชภัณฑ์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์ โดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของสุขาภิบาลเมืองนครสวรรค์

          ในปี พ.ศ. 2469 ตั้งโรงพยาบาลมณฑลปัตตานี[13] ถัดมาในเดือนกรกฎาคมได้ตั้งโรงพยาบาลขอนแก่น[14] และในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469 ตั้งโรงพยาบาลจังหวัดสุพรรณบุรี[15] สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครไชยศรีมีใบบอกว่า มหาอํามาตย์นายก เจ้าพระยายมราช ได้จัดการสร้างโรงพยาบาลขึ้น 1 หลัง ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นตึก 2 ชั้น มีเครื่องใช้และเครื่องมือผ่าตัดพร้อม มอบให้อยู่ในความปกครองของสุขาภิบาลเมืองสุพรรณบุรี วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469 มหาอํามาตย์ตรี หม่อมเจ้าสกลวรรณากร อธิบดีกรมสาธารณสุข เสด็จไปเปิดโรงพยาบาลนี้

          ในปี พ.ศ. 2471 ตั้งโอสถสภาจังหวัดสุราษฎร์ธานี[16] โดยสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช แจ้งมาว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานีแต่เดิมมายังไม่มีโอสถสภาเป็นหลักฐานมั่นคง เห็นว่าจวนสมุหเทศาภิบาล ซึ่งว่างอยู่เพราะการยุบมณฑลควรจะซ่อมแซมขึ้นเป็นโอสถสภา ได้เปิดทําการมาตั้งแต่ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2471

          ถัดมาในปี พ.ศ. 2472 ตั้งโอสถสภาจังหวัดปทุมธานี[17] โดยวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2472 สมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยามีใบบอกว่า จังหวัดปทุมธานียังไม่มีโอสถสภา ต้องอาศัยทำการรวมกับที่พักแพทย์ อํามาตย์ตรี พระบริหารเทพธานี (เฉลิม กาญจนาคม) ผู้ว่าราชการจังหวัด จัดการเรี่ยไรเงินไปซื้อที่ดินแห่งใหม่ สร้างโอสถสภา 1 หลัง ที่พักแพทย์ 1 หลัง ที่พักคนไข้ 1 หลัง เปิดใช้ราชการเมื่อ 4-5 เดือนก่อน และในปีนี้อีกจังหวัดหนึ่งคือเพชรบุรีที่ตั้งโรงพยาบาลเพชรบุรี หรือเรียกอีกชื่อว่า เอื้อนอนามัย[18]

          ในปี พ.ศ. 2473 ตั้งโอสถสภาจังหวัดสระบุรี[19] มหาอํามาตย์โท พระยาโบราณราชธานินทร์ เมื่อครั้งยังเป็นสมุหเทศาฯ ได้ดําริจะสร้างโอสถสภาให้เป็นบรมราชานุสรณ์ขึ้นที่จังหวัดสระบุรี ขนานนามว่า “โอสถสภาปัญจมาธิราชอุททิศ” ถวายเป็นพระราชกุศล และในปีเดียวกันนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์เรี่ยไรเงินจากราษฎรสร้างโอสถสภา 1 หลัง พร้อมด้วยเรือนพักคนไข้ ครัว และส้วม ทําพิธีเปิดโอสถสภาจังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2473 ถวายเป็นพระราชกุศล[20]

          ปี พ.ศ. 2474 ตั้งโอสถสภาจังหวัดกระบี่[21] วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2474 ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ สร้างโอสถสภา 1 หลัง เปิดเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2474 และในปีเดียวกันนี้ได้ตั้งโรงพยาบาลจังหวัดอ่างทอง[22] เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2474 มณฑลอยุธยามีใบบอกว่า โอสถสภาจังหวัดอ่างทอง เดิมรวมอยู่กับที่พักแพทย์ ไม่สะดวกหลายประการ จึงได้สร้างโอสถสภาขึ้น 1 หลัง ถวายเป็นพระราชกุศล

          แม้จะมีการเรี่ยไรเงินจากราษฎรสร้างโรงพยาบาลขึ้นในหัวเมืองดังกล่าวขึ้นในแต่ละจังหวัดใหญ่ ๆ ให้ขึ้นกับสุขาภิบาล แต่ปัญหาใหญ่ คือ ขาดแคลนแพทย์ไปประจำและไม่มีงบประมาณดำเนินการให้เป็นสถานบำบัดรักษาโรคของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังที่พระราศนราดูร ให้ข้อมูลว่า ในหัวเมืองนั้นการตั้งโรงพยาบาลมีขึ้นเพราะปัญหาทางการเมืองเป็นหลัก ซึ่งมีโรงพยาบาลของรัฐอยู่แห่งเดียว คือ ที่จังหวัดระนอง อันเป็นผลมาจากปัญหาทางการเมืองที่ไม่อยากให้คนไทยข้ามไปรักษาที่โรงพยาบาลของอังกฤษที่เกาะสอง (วิคตอเรียปอยนต์) และโรงพยาบาลปัตตานีที่รัฐบาลกลางจากกรุงเทพฯ ให้สร้างขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์ “พระยาแขกเจ็ดหัวเมืองคบคิดกบถ” หรือ "กบถเจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง" ในปี พ.ศ. 2444 สงบลง แต่ไม่ได้มีการดำเนินการต่อเพราะขาดงบประมาณ นอกจากนั้นก็มีโรงพยาบาลของท้องถิ่นใน 7 จังหวัด คือ อยุธยา นครราชสีมา เชียงใหม่ สงขลา ภูเก็ต สุพรรณบุรี และนครสวรรค์ แต่ก็ประสบกับปัญหาขาดแคลน เจ้าหน้าที่ เงิน และอุปกรณ์ต่าง ๆ จนต้องล้มลุกคลุกคลานมาตลอด[23] และแม้ในเมืองเหล่านั้นจะมีโรงพยาบาลตั้งอยู่ก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าการแพทย์สมัยใหม่จะเป็นที่ยอมรับของชาวบ้านทั่วไป ดังเห็นได้จากรายงานของซิมเมอร์แมนที่แสดงให้เห็นว่า ชาวบ้านยังนิยมการรักษาแบบแผนโบราณอยู่มาก และในค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลก็เป็นค่ารักษาแผนโบราณเสียอีก[24] ในส่วนของคนที่มารับบริการก็มีน้อย เพราะชาวบ้านยังไม่แน่ใจกับการรักษาแผนใหม่ ยกเว้นเฉพาะคนชั้นนำและคนที่ได้รับการศึกษาสมัยใหม่เท่านั้น อันแสดงให้เห็นว่าก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 การแพทย์สมัยใหม่ ทั้งในแง่ของการให้บริการแก่ประชาชน ด้านการรักษาโรค และบริการอื่น ๆ ทางการแพทย์นั้นมีอยู่อย่างจำกัดมาก และก่อนปลี่ยนแปลงการปกครอง โรงพยาบาลของรัฐมีอยู่เฉพาะในเมืองหลวงเท่านั้น

นโยบายสร้างโรงพยาบาลครบทุกจังหวัดหลังปฏิวัติ 2475

          หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ได้เกิดการปรับปรุงการบริหารราชการแผ่นดินให้มี 3 ระดับ คือ ราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นอย่างชัดเจน และให้มีประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ส่งผลให้มีการแบ่งส่วนราชการในกรมราชการสาธารณสุขในกระทรวงมหาดไทยใหม่ ในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2476 โดยกรมสาธารณสุขแบ่งส่วนราชการใหม่ทั้งหมด แบ่งเป็นส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นอย่างชัดเจนในบทบาทหน้าที่ด้านการดูแลสุขภาพประชาชน โดยในโครงสร้างราชการบริหารส่วนกลาง ได้แบ่งเป็น 15 กอง ปรากฏว่ากอง ลำดับที่ 6 คือ กองโรคติดต่อ มีแผนกย่อย 4 แผนก คือ แผนกกลาง แผนกโรคติดต่อ แผนกด่านกักโรค และแผนกตรวจคนเข้าเมือง[25] รับผิดชอบหลักด้านบริการจัดการควบคุมป้องกันโรคติดต่อทั่วไประเทศ โดยมีหน้าที่สนับสนุนความรู้ บุคลากร และวัสดุอุปกรณ์ หรือยาและเวชภัณฑ์กับหน่วยงานในส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นอีกด้วย[26]

          นโยบายการสร้างโรงพยาบาลในหัวเมือง หรือเรียกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองว่าการปกครองส่วนภูมิภาคได้แยกกับส่วนท้องถิ่นที่เป็นเทศบาลและสุขาภิบาลอย่างชัดเจน โรงพยาบาลประจำจังหวัดนั้น เป็นของกระทรวงสาธารณสุขที่บริหารจัดการผ่านการบริหารส่วนภูมิภาค จึงทำให้เกิดการบังคับบัญชาอย่างชัดเจน มีนโยบายและการบริการอย่างมีประสิทธิภาพทั่วถึง ทำให้การให้บริการบำบัดรักษาในโรงพยาบาลหลัง พ.ศ. 2475 โดยเฉพาะหลังตั้งกระทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ. 2485 ได้กระจายไปยังภูมิภาคทุกจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิผล ส่วนการบริการสถานพยาบาลของการปกครองส่วนท้องถิ่นที่อาศัยการมีส่วนร่วมจากคนในชุมชนก็ยังได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการและทรัพยากรจากรัฐบาลอย่างชัดเจนด้วย

          ขณะเดียวกันการขยายตัวของโรงพยาบาลได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจังหลังจากปี พ.ศ. 2477 เป็นต้นไป โดยการบริหารงานของรัฐบาลคณะราษฎรที่มี นายปรีดี_พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย และมีอธิบดีกรมสาธารณสุขที่เป็นแพทย์คนแรก คือ พระยาบริรักษ์เวชชการ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบาย และโครงการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่สำคัญคือการขยายการจัดบริการสุขภาพแก่ประชาชน โดยการวางโครงการสร้างโรงพยาบาลและสุขศาลาชั้น 2 ในส่วนภูมิภาคขึ้นให้ครบทุกจังหวัด[27]

          นโยบายสร้างโรงพยาบาลให้ครบทุกจังหวัด โดยกรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย จัดทำโครงการสร้างโรงพยาบาลหัวเมืองเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการ โดยมีความมุ่งหมายจะสร้างโรงพยาบาลขึ้นในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อให้มีทั่วถึงกันทุกจังหวัดภายใน 4 ปี นับตั้งแต่ พ.ศ. 2477 เป็นต้นไป ตามแผนให้ครบทุกจังหวัดในปี 2480 การสร้างได้เฉลี่ยเป็นภาค ๆ และเริ่มจากชายเขตแดนเข้ามาก่อน เพราะเกี่ยวกับ Prestige (ศักดิ์ศรี) ของชาติ โดยโรงพยาบาลที่จะสร้างขึ้นนั้น มี 2 ขนาด คือ[28]

          1. ขนาดกลาง - ให้มีเตียงรับคนไข้ได้ตั้งแต่ ประมาณ 35-150 เตียง ประมาณค่าก่อสร้างและเครื่องใช้เครื่องมือ แห่งละ 95,800 บาท

          2. ขนาดเล็ก - กําหนดให้มีเตียงรับคนไข้ได้ตั้งแต่ 25 ถึง 50 เตียง ประมาณค่าก่อสร้างและเครื่องใช้เครื่องมือ แห่งละ 56,200 บาท

          …แผนงานตามโครงการโรงพยาบาลหัวเมือง

                    - พ.ศ. 2477 สร้างโรงพยาบาลขนาดกลาง 2 แห่ง (อุบลราชธานี / นครพนม) ขนาดเล็ก 8 แห่ง (หนองคาย / นราธิวาส / สกลนคร / ปัตตานี / ยะลา / จันทบุรี / ตาก /สตูล)

                    - พ.ศ. 2478 สร้างโรงพยาบาลขนาดกลาง 3 แห่ง (อุดรธานี / เชียงราย / มหาสารคาม) ขนาดเล็ก 13 แห่ง (น่าน / ชัยภูมิ / แม่ฮ่องสอน / บุรีรัมย์/ กระบี่ / พังงา / ปราจีนบุรี / ตรัง / สุรินทร์ / กําแพงเพชร / เพชรบูรณ์ / พัทลุง / เลย)

                    - พ.ศ. 2479 สร้างโรงพยาบาลขนาดกลาง 3 แห่ง (ขอนแก่น / นครศรีธรรมราช / ร้อยเอ็ด) ขนาดเล็ก 13 แห่ง (ลําปาง / ตราด / ระยอง / ชุมพร / สุราษฎร์ธานี / อุทัยธานี / ชัยนาท / ขุขันธ์ / อุตรดิตถ์ / นครนายก / พิจิตร / สวรรคโลก / ลําพูน)

                    - พ.ศ. 2480 สร้างโรงพยาบาลขนาดกลาง 4 แห่ง (พิษณุโลก / ฉะเชิงเทรา / แพร่ / ราชบุรี) ขนาดเล็ก 13 แห่ง (ลพบุรี / ประจวบคีรีขันธ์ / สมุทรสงคราม / สมุทรสาคร / นครปฐม / สิงห์บุรี / สระบุรี / ปทุมธานี / อ่างทอง / เพชรบุรี / กาญจนบุรี / นนทบุรี / สมุทรปราการ) รวมเป็นเงินที่ต้องจ่าย ทั้งหมด 4,051,000 บาท[29]

          โครงการนี้รัฐบาลได้รับหลักการจากมติคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2477 และส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการคลังพิจารณาเรื่องงบประมาณต่อไป โดยในปีแรกกำหนดว่าจะสร้างโรงพยาบาลขนาดกลางขึ้น 2 แห่ง และโรงพยาบาลขนาดเล็ก 8 แห่ง มียอดงบประมาณ 641,200 บาท ต่อมาในหนังสือตอบ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2477 (นับตามแบบปัจจุบันคือ ปี 2478) กระทรวงการคลังได้ตอบเลขาธิการคณะรัฐมนตรีว่า เรื่องงบประมาณที่เสนอมายังไม่ได้พิจารณาเนื่องจากเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีใหม่จึงระงับเรื่องไว้ แต่ก็ถามไปยังกระทรวงมหาดไทยว่าจะให้พิจารณาตามที่เสนอมาแต่เดิมหรือไม่ แต่ปรากฏว่าเรื่องเงียบหายไปมาปรากฏเรื่องต่อเนื่องเอาหลังสงคราม คือ หนังสือลง วันที่ 30 เมษายน 2489 กระทรวงสาธารณสุขที่ตั้งใหม่ขึ้นมาในปี 2485 ได้อ้างถึงโครงการสร้างโรงพยาบาลให้ครบทุกจังหวัด แต่เปลี่ยนเรื่องเป็น “การบูรณะการพยาบาล” เพราะมีเรื่องการปรับปรุงโรงพยาบาลที่เสียหายพร้อมกันด้วย โดยได้สรุปว่าขณะนั้นยังมีจังหวัดที่ไม่มีโรงพยาบาลอีก 37 จังหวัด จึงควรสร้างโรงพยาบาลขนาดกลางรับผู้ป่วยได้ 50 เตียง เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด โดยมีงบประมาณต่อแห่ง จำนวน 1,790,448 บาท งบประมาณทั้งสิ้น 66,246,576 บาท รวมทั้งบูรณะและสร้างโรงพยาบาลเฉพาะทางต่างจังหวัดตามความจำเป็นเพราะงบประมาณจำกัด แต่ตามแผนจะสร้างโรงพยาบาลให้ครบทุกจังหวัดในเวลา 4 ปี และสร้างตามความพร้อมของแต่ละจังหวัดแต่ยังให้ยึดหลักการ “เริ่มจากชายเขตต์แดนเข้ามาหาศูนย์กลางของประเทศ เพราะเกี่ยวแก่ prestige ของชาติ”[30] และต่อมาก็ได้ตั้ง “องค์การกุศลสาธารณสุข” เพื่อช่วยระดมเงินและที่ดินวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ เพื่อผลสำเร็จของการสร้างโรงพยาบาลประจำจังหวัดให้ได้แทนที่จะรองบประมาณจากรัฐเพียงอย่างเดียว เพราะหลังสงครามขาดงบประมาณอย่างมาก ซึ่งสุดท้ายโครงการสร้างโรงพยาบาลครบทุกจังหวัดมาสำเร็จเอาเมื่อปี พ.ศ. 2497 ไม่เป็นไปตามแผนเพราะเกิดสงครามโลกครั้ง 2 และเกิดความผันผวนทางการเมืองภายในคณะราษฎรที่ไม่ได้มีเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงการสาธารณสุขและการแพทย์ของประเทศชัดเจนเหมือนรัฐบาลคณะราษฎร

การเร่งสร้างโรงพยาบาลให้ครบทุกจังหวัดก่อน “กึ่งพุทธกาล”

          ขณะเดียวกันช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งโลกกำลังตกอยู่ภายใต้ภาวะสงครามเย็น ขณะนั้นรัฐบาลไทยเดินตามนโยบายการป้องกันภัยคอมมิวนิสต์ โดยทั้งรัฐบาลไทยและสหรัฐต่างใช้การแพทย์เพื่อประโยชน์ทางการเมือง โดยวิธีการสร้างโรงพยาบาลและออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อแย่งชิงมวลชนในเขตชนบทตามแผนการ "โคลัมโบ" ที่ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2493 มีเป้าหมายชัดเจนว่า “เป็นแผนการร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางเศรษฐกิจเพื่อจะช่วยให้ประชาชนในภาคพื้นเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพื่อเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันภัยคอมมิวนิสต์”[31] โดยมีเงินช่วยเหลือด้านการพัฒนาการแพทย์ และส่งแพทย์ไปเรียนต่อต่างประเทศด้วย เพื่อขยายการบริการทางการแพทย์ให้ทั่วถึงในชนบทอันจะเป็นการสร้างความกินดีอยู่ดีให้เกิดขึ้นในชนบท เพื่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในชนบทจะได้ไม่เข้าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ในการต่อสู้กับรัฐบาล ซึ่งก็อ้างว่าต้องเข้ามาช่วยเหลือประชาชนชาวชนบท เนื่องจากไม่ได้รับความสนใจในความเป็นอยู่จากรัฐบาล

          นโยบายที่สำคัญที่สุดด้านการขยายบทบาทของงานด้านสาธารณสุขก็เห็นจะได้แก่การเร่งสร้างโรงพยาบาลให้ครบทุกจังหวัดก่อนการฉลองกึ่งพุทธศตวรรษ และเพิ่มการผลิตแพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุข เพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอ โดยนโยบายขยายโรงพยาบาลไปสู่ภูมิภาคของกรมการแพทย์นี้ ปรากฏเป็นจริงระหว่างปี 2492-2500 โดยดูจากงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข ร้อยละ 40-50 ได้จัดสรรเพื่อสร้างโรงพยาบาลในส่วนภูมิภาค ซึ่งส่งผลให้การแพทย์ขยายตัวสู่ประชาชนอย่างขนานใหญ่ในขอบเขตทั่วประเทศ จนกระทั่งในปี 2497 ประเทศไทยมีโรงพยาบาลครบทุกจังหวัด นอกจากนั้นอัตราการเพิ่มของแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่การแพทย์ และการสาธารณสุขเพิ่มขึ้นจำนวนมาก เนื่องจากมีการตั้งคณะแพทย์ขึ้นใหม่ เช่น โรงเรียนแพทย์ที่เชียงใหม่ก่อนจะโอนมาเป็นคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลังตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้ขึ้น จำนวนแพทย์ที่จบมีอัตราเพิ่มขึ้นมากในทศวรรษ 2490 จาก จำนวน 16 คน ในปี พ.ศ. 2475 กลายเป็นร้อยกว่าคนและมากถึง 221 คน ในปี พ.ศ. 2494 และ 213 คน ในปี พ.ศ. 2496 และงบประมาณด้านสาธารณสุขก็เพิ่มจำนวนขึ้นมากในทศวรรษ 2490 โดยเฉพาะช่วงปลายทศวรรษที่มีโครงการด้านสุขภาพจำนวนมาก และเป็นช่วงของการขยายให้มีโรงพยาบาลครบทุกจังหวัดของรัฐบาล และสามารถทำสำเร็จในปี พ.ศ. 2497[32]

          ดังนั้นจึงอาจพูดได้ว่า ในช่วงที่คณะราษฎรผลัดกันมาเป็นรัฐบาลในห้วง 15 ปีแรก ของระบบประชาธิปไตย นโยบายหลายอย่างยังคงมีความต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นก็คือการขยายระบบการดูแลสุขภาพประชาชนผ่านโรงพยาบาลที่เข้าไปจัดตั้งให้ถึงมือประชาชนทั่วประเทศ จนพูดได้ว่าการพัฒนาการแพทย์ในสมัยรัฐบาลที่มีการปกครองที่ค่อนข้างจะเป็นเผด็จการ หรืออำนาจนิยมตั้งแต่สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต่อเนื่องไปถึงสมัย จอมพลสฤษดิ์_ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม_กิตติขจรนั้น มีข้อน่าสงสัยอย่างยิ่งว่า น่าจะเป็นการขยายอำนาจรัฐเหนือประชาชนไปในตัวพร้อมกันด้วย โดยมีโรงพยาบาลที่เป็นสถาบันทางการแพทย์เป็นเครื่องมือหรือเป็นเทคโนโลยีแห่งอำนาจที่สำคัญ ซึ่งได้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนกระบวนการดังกล่าวอยู่ด้วยทั้งทางตรงและทางอ้อม

บรรณานุกรม

ชาติชาย มุกสง. 2564. ประวัติศาสตร์สุขภาพและการแพทย์ไทย. กรุงเทพฯ: บริษัทมีดีกราฟฟิคจำกัด.

ถนอม บรรณประเสริฐ และคณะ, บรรณาธิการ. 2563. ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย. กรุงเทพฯ: แพทยสภา.

เพ็ญศรี  กวีวงศ์ประเสริฐ. 2528. “บทบาทของรัฐต่อปัญหาสุขภาพของประชาชน (พ.ศ. 2325-หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475).” วิทยานิพนธ์สังคมศาสตร์มหาบัณฑิต คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.

สุกิจ  ด่านยุทธศิลป์. 2533. “การสาธารณสุขแบบสมัยใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2453-2468).” วิทยานิพนธ์ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตประสานมิตร.

 

เชิงอรรถ

[1]ชาติชาย มุกสง, 2564, ประวัติศาสตร์สุขภาพและการแพทย์ไทย. กรุงเทพฯ: บริษัทมีดีกราฟฟิคจำกัด, น. 198-199.

[2] สรรใจ แสงวิเชียร, ผู้เรียบเรียง, 2532, ศิริราชร้อยปี: ประวัติและวิวัฒนาการ, กรุงเทพฯ: คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล,  น. 1,10.

[3] ยุวดี ตปนียกร, 2522, “วิวัฒนาการของการแพทย์แผนไทยตั้งแต่สมัยเริ่มต้นจนถึงสิ้นสุดรัชกาลสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว,” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบันฑิต สาขาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, น. 155-156.        

[4] สรรใจ แสงวิเชียร, ผู้เรียบเรียง, ศิริราชร้อยปี: ประวัติและวิวัฒนาการ, น. 17.

[5] เรื่องเดียวกัน, น. 60.

[6] ยุวดี ตปนียกร, 2522, “วิวัฒนาการของการแพทย์แผนไทยตั้งแต่สมัยเริ่มต้นจนถึงสิ้นสุดรัชกาลสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว,” น. 146-149.

[7] ถนอม บรรณประเสริฐ และคณะ, 2563, บรรณาธิการ, ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย, กรุงเทพฯ: แพทยสภา, น. 648-649.

[8] สุกิจ  ด่านยุทธศิลป์, 2533, “การสาธารณสุขแบบสมัยใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2453-2468),” วิทยานิพนธ์ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตประสานมิตร, น. 138.

[9]กรุณาดูในภาคผนวก ก. เอกสารระบุว่า คัดจากต้นฉบับที่นำทูลเกล้าฯ ถวาย ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ 102/4480 ลงวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2464 อ้างใน สุกิจ  ด่านยุทธศิลป์, 2533, “การสาธารณสุขแบบสมัยใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2453-2468),” น. 192-193.

[10] เรื่องเดียวกัน, น. 138-140.

[11] คาร์ล ซี. ซิมเมอร์แมน, 2525, การสำรวจเศรษฐกิจในชนบทแห่งสยาม, แปลโดย ซิม วีระไวทยะ, กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำรามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, น. 136-139.

[12] สจช. (สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ), รัชกาลที่ 7 กระทรวงมหาดไทย ม-ร. 7 ม/70 – ม.7.1/4 โรงพยาบาลนครสวรรค์ (6 - 13 ส.ค. 2469).

[13] สจช., รัชกาลที่ 7 กระทรวงมหาดไทย มร 7 ม/70 - ม7.1/5 โรงพยาบาลมณฑลปัตตานี (14 - 30 ส.ค. 2469).

[14]สจช., ม.7.1/3 (ม-ร.7ม/10) โรงพยาบาลจังหวัดขอนแก่น (3 - 13 ก.ค. 2469).

[15] สจช., รัชกาลที่ 7 กระทรวงมหาดไทย มร 7 ม/70 - ม7.1/6 โรงพยาบาลจังหวัดสุพรรณบุรี (13 - 17 ธ.ค. 2469).

[16] สจช., รัชกาลที่ 7 กระทรวงมหาดไทย มร 7 ม/70 - ม7.1/10 โรงพยาบาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี (3 - 11 มิ.ย. 2472).

[17] สจช., รัชกาลที่ 7 กระทรวงมหาดไทย ม-ร. 7 ม/70 – ม.7.1/13 โรงพยาบาลจังหวัดปทุมธานี (8 - 17 ก.ค. 2472).

[18] สจช., รัชกาลที่ 7 กระทรวงมหาดไทย ม.7.1/11-ม-ร.7ม/10 โรงพยาบาลจังหวัดเพ็ชรบุรี (หรือเอื้อนอนามัย) (5 - 7 มิ.ย. 2472).

[19] สจช., รัชกาลที่ 7 กระทรวงมหาดไทย ม-ร. 7 ม/70 – ม.7.1/17 โรงพยาบาลจังหวัดสระบุรี (1 - 9 พ.ค. 2473).

[20] สจช., รัชกาลที่ 7 กระทรวงมหาดไทย ม-ร. 7 ม/70 - ม.7.1/18 โรงพยาบาลจังหวัดบุรีรัมย์ (20 - 30 มิ.ย. 2474).

[21] สจช., รัชกาลที่ 7 กระทรวงมหาดไทย ม-ร. 7 ม/70 - ม.7.1/20 โรงพยาบาลจังหวัดกระบี่ (24 ก.ย. - 8 ต.ค. 2474).

[22] สจช., รัชกาลที่ 7 กระทรวงมหาดไทย ม-ร. 7 ม/70 - ม. 7.1/19 โรงพยาบาลจังหวัดอ่างทอง (7 - 17 ก.ย. 2474).

[23] พระบำราศนราดูร, 2500, “ประวัติกระทรวงสาธารณสุข,” ใน  อนุสรณ์ 15 ปีกระทรวงสาธารณสุข, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์พระจันทร์, น. 40-41.

[24] คาร์ล ซี. ซิมเมอร์แมน, 2525, การสำรวจเศรษฐกิจในชนบทแห่งสยาม, น. 139-142.

[25] “พระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการสํานักงานและกรมในกระทรวงมหาดไทย พุทธศักราช 2476," ราชกิจจานุเบกษา 50 (30 มกราคม 2476): 894-897.

[26] รายงานกรมสาธารณสุขประจำปีพุทธศักราช 2479,  2482, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรมพัสดุ, น. 9.

[27] เพ็ญศรี  กวีวงศ์ประเสริฐ, 2528, “บทบาทของรัฐต่อปัญหาสุขภาพของประชาชน (พ.ศ. 2325-หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475),” วิทยานิพนธ์สังคมศาสตร์มหาบัณฑิต คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, น. 181.

[28]สจช., เอกสารสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ม (2) สร 0201/211 เรื่อง โครงการสร้างโรงพยาบาลหัวเมืองของกระทรวงมหาดไทย.

[29] สจช. เอกสารสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ม (2) สร 0201/211 เรื่อง โครงการสร้างโรงพยาบาลหัวเมืองของกระทรวงมหาดไทย.

[30] สชจ., เอกสารสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ม (2) สร 0201/211 เรื่อง โครงการสร้างโรงพยาบาลหัวเมืองของกระทรวงมหาดไทย.

[31] วัลภากร วรวรรณ, 2505, “ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขจากองค์การระหว่างประเทศและต่างประเทศ,” ใน กระทรวงสาธารณสุข, อนุสรณ์กระทรวงสาธารณสุขครบรอบ 20 ปี พ.ศ. 2485-2505, พระนคร: โรงพิมพ์ไทยเขษม, น. 523.

[32] ดูรายละเอียดจากสถิติการปฏิบัติงานของกรมการแพทย์ที่รับหน้าที่สร้างโรงพยาบาลสนองนโยบายหลังตั้งกระทรวงสาธารณสุขได้ ใน พระบำราศนราดูร, บรรณาธิการ, 2500, อนุสรณ์ครบรอบ 15 ปี กระทรวงสาธารณสุข, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์พระจันทร์, น. 105-145.