นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย)
ผู้เรียบเรียง : ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต
“ให้ผมกลับไป
กรมพลศึกษาอีกก็ยังได้”
นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย)[1]
นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย)
“กรมพลศึกษา” เป็นหน่วยงานราชการที่ปัจจุบันอยู่ในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก่อตั้งขึ้นมาใน พ.ศ. 2476 ภายหลังการปรับปรุงโครงสร้างราชการหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โดยเป็นไปเพื่อ ให้เสริมสร้างให้ประชาชนมีร่างกายแข็งแรง ใจคอหนักแน่น อันจะเป็นประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติได้สมบูรณ์เต็มที่ ในการนั้นมีอธิบดีคนแรกคือ “นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย)” ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิก “คณะราษฎรฝ่ายทหารเรือ” ที่มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยนาวาเอก หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) เป็นผู้เดินทางไปกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เสด็จกลับมาเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ต่อมาเมื่อดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพลศึกษา นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย ได้มีส่วนสำคัญในการก่อสร้าง “กรีฑาสถานแห่งชาติ” หรือ “สนามกีฬาแห่งชาติ” หรือที่ประชาชนทั่วไปรู้จักกันในนาม “สนามศุภชลาศัย” นอกจากนี้นาวาเอก หลวงศุภชลาศัยยังดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ประวัติการศึกษาและชีวิตครอบครัว
นาวาเอก หลวงศุภชลาศัยเกิดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2438 ตรงกับวันพุธ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 ปีมะแม ณ ตำบลถนนพระอาทิตย์ อำเภอชนะสงคราม จังหวัดพระนคร เป็นบุตรของนายเบี้ยว ศุภชลาศัย และนางพ่วง ศุภชลาศัย มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดา ทั้งสิ้น 13 คน แต่เหลือรอดชีวิตเพียง 2 คน เท่านั้นคือ นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย และน้องสาวชื่อ นางสาววรรณ ศุภชลาศัย[2]
นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย เริ่มเข้ารับการศึกษาเบื้องต้นที่วัดชนะสงคราม จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และได้ย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ก่อนจะย้ายไปศึกษาต่อในระดับมัธยมที่โรงเรียนวัดราชบูรณะ (โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย) หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมแล้ว ได้ไปสมัครเข้าเป็นนักเรียนนายเรือ โดยเจ้าพระยาราชศุภมิตร (อ๊อด ศุภมิตร) เป็นผู้รับรอง และฝากเข้าเรียนเมื่อต้น พ.ศ. 2455[3] เหตุที่ท่านอยากเรียนทหารเรือ เนื่องจากตอนเด็ก ๆ เคยหนีโรงเรียนไปดูเรือพิฆาตตอร์ปิโด ซึ่งทางราชการได้สั่งจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามา ทำให้ท่านชื่นชอบและอยากเป็นทหารเรือ[4]
ระหว่างที่เรียนอยู่ในโรงเรียนนายเรือ นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย ได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอย่างดีเยี่ยม จนสามารถสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือ เมื่อ พ.ศ. 2461 โดยสอบได้คะแนนเป็นชั้นโท[5]
สำหรับชีวิตครอบครัวนั้น นาวาเอก หลวงศุภชลาศัยสมรสครั้งแรกกับนางสวาสดิ์ หุวนันท์ มีบุตร-ธิดา รวมทั้งสิ้น 6 คน คือ นางโกสุม ประคุณหังสิต นางประทุม อาภรณ์ศิริ นายประมุข ศุภชลาศัย นายประวิตร ศุภชลาศัย นางสาวรัตนา ศุภชลาศัย และนายสุทธิลักษณ์ ศุภชลาศัย และได้สมรสครั้งที่สองกับท่านหญิงจารุพัตรา ธิดาในพลเรือเอก กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มีบุตร-ธิดา รวมทั้งสิ้น 5 คน คือ นางอาภา กฤดากร ณ อยุธยา เรือโท ภากร ศุภชลาศัย นางจารุพันธุ์ วสุธร นางพรศุภศรี จามรมาน และนางพัตราพร จารุศร[6]
หน้าที่การงานและตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ
นาวาเอก หลวงศุภชลาศัยรับราชการครั้งแรกในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2461 ในตำแหน่งสำรองราชการ เรือหลวง สุครีพครองเมือง ต่อมาได้รับตำแหน่งทำการต้นเรือ เรือหลวง ตอร์ปิโด 2 นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย ได้รับคัดเลือกให้เป็นนายธงเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เสนาธิการทหารเรือ ขณะที่ยังดำรงยศเพียงเรือตรี นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย ได้รับราชการในกองทัพเรือในตำแหน่งต่าง ๆ มาด้วยดี จนกระทั่ง พ.ศ. 2475 ก็ได้รับยศนาวาตรี ตำแหน่งนายทหารฝ่ายเสนาธิการกองทัพเรือ (กองเรือยุทธการ) ต่อมาในปี พ.ศ. 2476 นาวาเอก หลวงศุภชลาศัยได้รับตำแหน่งเป็นผู้บังคับการกองเรือปืน, ได้รับยศนาวาโท และได้รับตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการทหารเรือ[7] ตามลำดับ
นาวาเอก หลวงศุภชลาศัยได้มีส่วนร่วมกับผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 ด้วยเหตุนี้นาวาเอก หลวงศุภชลาศัยจึงถูกย้ายจากราชการทหารเรือไปรับราชการกระทรวงศึกษาธิการ ในตำแหน่งอธิบดีกรมพลศึกษา ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับตำแหน่งนี้เป็นคนแรกของประเทศไทย ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2477[8]
สำหรับตำแหน่งทางการเมืองนั้น นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย ดำรงตำแหน่งที่สำคัญทางการเมืองทั้งสิ้น 15 สมัย โดยได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีลอย 6 สมัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 จนกระทั่ง พ.ศ. 2480 นาวาเอก หลวงศุภชลาศัยได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ ทั้งสิ้น 7 กระทรวง ได้แก่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ดำรงตำแหน่งระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. 2480 – เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดำรงตำแหน่งระหว่างเดือนมีนาคม พ.ศ. 2485 – เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2485, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ดำรงตำแหน่งระหว่างเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2485 – เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2487, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ดำรงตำแหน่งระหว่างเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2487 – เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดำรงตำแหน่งระหว่างเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2488 – เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ดำรงตำแหน่งเพียง 17 วัน ระหว่างวันที่ 1 – 17 เดือนกันยายน พ.ศ. 2488 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ดำรงตำแหน่งอยู่ 3 สมัย ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2489 – เดือนเมษายน พ.ศ. 2491[9] และนับว่าเป็นตำแหน่งทางราชการสุดท้ายของนาวาเอก หลวงศุภชลาศัยซึ่งขณะนั้นอายุ 53 ปี
นาวาเอก หลวงศุภชลาศัยได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครใน พ.ศ. 2500 ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ แต่ใน พ.ศ. 2501 ได้เกิดการยึดอำนาจและยุบสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงงดใช้รัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ทำให้ผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาไม่ได้ทำประโยชน์เต็มที่อย่างที่คิดไว้ หลังจากสิ้นสภาพผู้แทนราษฎร นาวาเอก หลวงศุภชลาศัยได้ศึกษาหาความรู้ทางพุทธศาสนาเพื่อแสวงหาความสงบสุขในบั้นปลายของชีวิต รวมถึงได้บริจาคทรัพย์ส่วนตัวเพื่อสาธารณประโยชน์ จนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรมใน พ.ศ. 2508[10]
ผลงานที่สำคัญในทางการเมือง
นาวาเอก หลวงศุภชลาศัยมีผลงานที่สำคัญในทางการเมืองอยู่หลายด้าน ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งต่อการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน โดยสามารถแบ่งออกเป็น ผลงานในคณะราษฎร ผลงานในคณะรัฐมนตรี และผลงานในวิชาการพลศึกษา
“ผลงานในคณะราษฎร” ของ นาวาเอก หลวงศุภชลาศัยโดยนาวาเอก หลวงศุภชลาศัยเข้าร่วมในคระราษฎรตามคำเชิญชวนของหลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) ซึ่งขณะนั้นเป็นนายทหารประจำกรมเสนาธิการทหารเรือ โดยนาวาเอก หลวงศุภชลาศัยมีอายุ 36 ปี ถือว่าเป็นนายทหารเรือที่มีอายุมากที่สุดในคณะราษฎรสายทหารเรือ[11] โดยในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อันเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย ได้จัดพิมพ์ข้อความคำสั่งปลอมขึ้นมา เพื่อระดมผู้บังคับการเรือรบหลวงทุกลำให้นำกำลังเข้ามาในพระนคร เพื่อสนับสนุนฝ่ายคณะราษฎร โดยนาวาเอก หลวงศุภชลาศัยได้พิมพ์ข้อความว่า
“ขณะนี้จีนในกรุงเทพฯ ได้ก่อการจลาจลขึ้นแล้ว
ให้ผู้บังคับการเรือรบทุกลำ ติดไฟเตรียมพร้อม และรอรับคำสั่ง”[12]
จากข้อความดังกล่าวเป็นผลให้คณะราษฎรประสบความสำเร็จในการก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนี้ และได้มีการมอบหมายให้นาวาเอก หลวงศุภชลาศัยถือหนังสือกราบบังคมทูล ฯ ชี้แจงความประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และขอให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ[13] โดยเดินทางไปพร้อมกับเรือรบหลวงสุโขทัย ไปถึงพระราชวังไกลกังวลในเวลา 10.00 น. ของวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยจอดเรือห่างจากชายฝั่งเล็กน้อย และลงเรือเล็กไป โดยก่อนไปได้สั่งแก่ทหารบนเรือว่า หากตนยังไม่กลับมาในเวลาที่เหมาะสม ให้ระดมยิงได้เลยโดยไม่ต้องห่วงตน เมื่อถึงฝั่งนาวาเอก หลวงศุภชลาศัย ได้เข้าเฝ้า ฯ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นนาวาเอก หลวงศุภชลาศัย ได้มีรับสั่งว่า “ตาบุง เอากับเขาด้วยหรือ?”[14] ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิเสธที่จะเดินทางกลับมาพร้อมเรือหลวงสุโขทัย เนื่องจากคับแคบเกินไปไม่สมกับพระเกียรติยศ แต่ได้ส่งพระราชสาสน์ ตอบรับกลับมายังคณะราษฎร โดยนาวาเอก หลวงศุภชลาศัยเป็นผู้อัญเชิญกลับมา[15] และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระนิวัติพระนครด้วยรถไฟขบวนพิเศษ ในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2475
“ผลงานในคณะรัฐมนตรี” ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ “สี่ทหารเสือลาออก” และนำไปสู่การยึดอำนาจวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ระหว่างนั้น นาวาเอก หลวงศุภชลาศัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีลอยอยู่ และได้เข้าร่วมกับหลวงพิบูลสงคราม (แปลก_พิบูลสงคราม) ในการยึดอำนาจครั้งนี้ด้วย[16] หลังจากนั้นจึงได้ร่วมรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ทุกสมัย แต่มีเหตุให้กระทบกระทั่งกับทหารบกในช่วงเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” เนื่องจากนาวาเอก หลวงศุภชลาศัยและกองทัพเรือได้ประกาศวางตัวเป็นกลาง[17] และในช่วงเวลาแห่งสงครามโลกครั้งที่ 2 นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย ขณะนั้นสนับสนุนงานกลุ่มเสรีไทยอยู่ เมื่อได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ท่านจึงวางตัวเป็นกลาง เพื่อให้กองทัพญี่ปุ่นไว้วางใจมากขึ้น อันจะช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการถูกโจมตี 2 ทาง[18]
“ผลงานในวิชาการพลศึกษา” ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2477 เมื่อมีการจัดตั้งกรมพลศึกษาขึ้นอย่างเป็นทางการ นาวาเอก หลวงศุภชลาศัยได้รับการโอนจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารเรือ มาเป็น ‘อธิบดีกรมพลศึกษาคนแรก’ ซึ่งในเวลานั้นสังกัดกระทรวงธรรมการ โดยมีหน้าที่ดูแลวิชาพลศึกษา วิชาลูกเสือ และวิชาอนุกาชาด (ยุวกาชาดในปัจจุบัน) นอกจากนี้ผลงานสำคัญในขณะที่นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพลศึกษา คือ การผลักดันให้มีการสร้าง “กรีฑาสถานแห่งชาติ” หรือ “สนามกีฬาแห่งชาติ” หรือที่ประชาชนทั่วไปรู้จักกันในนาม “สนามศุภชลาศัย” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย[19] ทั้งนี้ นาวาเอก หลวงศุภชลาศัยมุ่งมั่นให้กับการทำงานในกรมพลศึกษาอย่างดียิ่ง โดยเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนพลศึกษา และดำเนินการสอนวิชาจรรยา ควบคู่กับพลศึกษาด้วยตนเอง อีกทั้งยังมีการติดตามประเมินผลการเรียนการสอนวิชาพลศึกษา วิชาลูกเสือ และวิชาอนุกาชาด ด้วยตนเองเสมอมา นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ออกแบบสัญลักษณ์ของกรมพลศึกษาด้วยตัวเอง โดยใช้ลักษณะวงกลม 3 วง อันหมายถึง พุทธิศึกษา จริยศึกษา และพลศึกษา[20]
บรรณานุกรม
กระทรวงมหาดไทย. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ '41 เรื่องจดหมาเหตุชอพ่อค้าฝรั่งเศสซึ่งเข้ามา ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ตอนแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พิมพ์เป็นอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย),' (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง, 2508).
กุหลาบ สายประดิษฐ์', เบื้องหลังการปฏิวัติ '2475, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มิ่งมิตร, 2543).
แชน ปัจจุสานนท์, กรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส และการรบที่ปากน้ำเจ้าพระยาสมัย ร.ศ.112 ตอนที่ 4 บรรยายการรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย ป.ม., ท.ช., (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2508).
นายหนหวย, ทหารเรือปฏิวัติ, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2555).
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. '2475,' (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, 2553).
สุพจน์ ด่านตระกูล, ปฏิวัติ ประชาธิปไตยสยาม '24 มิถุนายน 2475', (นนทบุรี : สถาบันวิทยาศาสตร์ สังคม(ประเทศไทย), 2552).
เว็บไซต์
ประวัตินักกีฬาที่สร้างชื่อเสียง, เข้าถึงจาก <http://web2.sat.or.th/museum/index.php?option=com_sportperson&id=25&task=view,> เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2559.
อ้างอิง
[1] คำปรารภที่มีต่อกรมพลศึกษาของนาวาเอก หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) , ที่มา แชน ปัจจุสานนท์, กรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส และการรบที่ปากน้ำเจ้าพระยาสมัย ร.ศ. 112 ตอนที่ 4 บรรยายการรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย ป.ม., ท.ช.. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2508), น. (18).
[2] เพิ่งอ้าง, น. (1).
[3] เพิ่งอ้าง.
[4] เพิ่งอ้าง.
[5] เพิ่งอ้าง, น. (2).
[6] เพิ่งอ้าง, น. (4) – (5).
[7] กระทรวงมหาดไทย. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 41 เรื่องจดหมายเหตุชองพ่อค้าฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ตอนแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พิมพ์เป็นอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง, 2508), น. ก-ง.
[8] เพิ่งอ้าง.
[9] เพิ่งอ้าง.
[10] แชน ปัจจสานนท์, อ้างแล้ว, น. (4).
[11] นายหนหวย, ทหารเรือปฏิวัติ, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2555), น. (13).
[12] เพิ่งอ้าง, น. 62.
[13] กุหลาบ สายประดิษฐ์, เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มิ่งมิตร, 2543), น. 90.
[14] สุพจน์ ด่านตระกูล, ปฏิวัติ ประชาธิปไตยสยาม 24 มิถุนายน 2475, (นนทบุรี : สถาบันวิทยาศาสตร์สังคม(ประเทศไทย), 2552), น. 17.
[15] กุหลาบ สายประดิษฐ์, อ้างแล้ว, น. 113.
[16] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, 2553), น. 346.
[17] เพิ่งอ้าง, น. 406.
[18] แชน ปัจจสานนท์, อ้างแล้ว, น. (8).
[19] เพิ่งอ้าง, น. (12) – (14).
[20] ประวัตินักกีฬาที่สร้างชื่อเสียง, เข้าถึงจาก http://web2.sat.or.th/museum/index.php?option=com_sportperson&id=25&task=view, เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2559.