ชาติสังคมประชาธิปไตย (พ.ศ. 2492)
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พรรคชาติสังคมประชาธิปไตย (2492)
พรรคชาติสังคมประชาธิปไตย เป็นหนึ่งในพรรคการเมืองซึ่งก่อตั้งขึ้นในยุคแรกของการมีระบบพรรคการเมือง กล่าวคือ ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 ซึ่งมีบทบัญญัติรับรองเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นครั้งแรก ปรากฏว่าได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายกลุ่มเคลื่อนไหวรวมตัวกันจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในสภา พรรคการเมืองแรก ๆ ที่ก่อตั้งขึ้นในช่วงนี้ ได้แก่ พรรคก้าวหน้า และพรรคประชาธิปไตย ซึ่งมีสมาชิกร่วมก่อตั้งพรรคประกอบด้วยนักการเมืองทั้งในและนอกสภา
ในช่วงเวลาระหว่างการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 ปรากฏว่าการเมืองในรัฐสภาเป็นไปอย่างคึกคัก ในขณะเดียวกันกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ก็มีการรวมตัวจัดตั้งพรรคการเมืองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ พรรคสหชีพ พรรคแนวรัฐธรมนูญ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคธรรมาธิปัตย์ และกลุ่มอิสระ หลังจากนั้นเมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอีกครั้ง หลังจากนายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอันเนื่องมากจากการบีบบังคับของคณะทหาร เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 ปรากฏว่าได้มีพรรคการเมืองจัดตั้งขึ้นใหม่อีกอย่างน้อย 4 พรรค คือ พรรคสหพรรค พรรคกสิกรรมกร พรรคกสิกร และพรรคชาติสังคมประชาธิปไตย
พรรคชาติสังคมประชาธิปไตย มีหัวหน้าพรรค คือ พล.ท. บัญญัติ เทพหัสดินทร์ สมาชิกพรรคชาติสังคมประชาธิปไตยส่วนใหญ่ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ให้การสนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงคราม เช่นเดียวกับพรรคกสิกรรมกร และพรรคสหพรรค ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีจุดยืนสนับสนุนผู้นำทางการเมืองฝ่ายทหารอย่างชัดเจน
พรรคการเมืองทั้งหมดที่กล่าวมา ถือได้ว่าเป็นพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของบรรดานักการเมืองตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรอง กล่าวคือ มาตรา 14 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 บัญญัติไว้ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในร่างกาย ทรัพย์สิน การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา การศึกษาอบรม การชุมนุมสาธารณะ การตั้งสมาคม การตั้งคณะพรรคการเมือง การอาชีพ ทั้งนี้ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย”
แม้ว่าการตั้งพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นในช่วงเวลานี้ จะมีบทบาทสำคัญในการส่งผู้สมัครของพรรคลงแข่งขันในการเลือกตั้งทั่วไป แต่การจัดตั้งพรรคการดังกล่าวก็ไม่มีการจดทะเบียนจัดตั้งอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด เนื่องจากในขณะนั้นยังไม่มี “พระราชบัญญัติ” หรือกฎหมายพรรคการเมืองออกมาบังคับใช้ การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองเหล่านี้จึงตั้งอยู่บนสิทธิในการรวมตัวเป็นพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ในที่สุดพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ก็ต้องยุติบทบาททางการเมืองลงโดยสิ้นเชิง เมื่อเกิด “การรัฐประหารเงียบ” ในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 ซึ่งมีการประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 และนำเอารัฐธรรมนูญ ฉบับวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 มาประกาศใช้อีกครั้ง ในขณะเดียวกันก็มีการประกาศห้ามชุมนุมทางการเมือง จึงส่งผลให้พรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นในช่วงก่อนหน้าที่ทั้งหมด ไม่สามารถเคลื่อนไหวดำเนินกิจกรรมและแสดงบทบาทในฐานะพรรคการเมืองได้อีก จนกระทั่งมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 ซึ่งถือเป็นกฎหมายพรรคการเมืองฉบับแรกของไทย การเคลื่อนไหวรวมตัวเพื่อจัดตั้งพรรคการเมืองจึงเป็นไปอย่างคึกคัก และมีการจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองอย่างเป็นระบบเป็นครั้งแรกอีกด้วย
ที่มา
ขจัดภัย บุรุษพัฒน์, กำเนิดพรรคการเมืองในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2510
ประจวบ ทองอุไร, พรรคการเมืองไทย, พระนคร : สำนักพิมพ์ก้าวหน้า, 2508
จเร พันธุ์เปรื่อง, 'พรรคการเมืองกับการเลือกตั้งทั่วไป 2526, รัฐสภาสาร ปีที่ 31 ฉบับที่ 4 (เมษายน 2526), หน้า 10-26.
เสนีย์ คำสุข, ข้อมูลพื้นฐานพรรคการเมือง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475-2544, รัฐสภาสาร ปีที่ 49 ฉบับที่ 11 (พฤศจิกายน 2544), หน้า 17-70.