ชวลิต ยงใจยุทธ (พลเอก)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง พิษณุ สุ่มประดิษฐ์

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง


พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 22 ของไทย และเป็นเจ้าของสมญา "ขงเบ้งแห่งกองทัพบก" เคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็น สมาชิกวุฒิสภา ขณะดำรงตำแหน่งทางทหาร เป็นผู้ก่อตั้ง และหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ และเป็นอดีต ส.ส.หลายสมัย มีคะแนนเสียงหนาแน่นในจังหวัดนครพนม สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป เรียก พล.อ.ชวลิต ว่า "บิ๊กจิ๋ว" และในพื้นที่ภาคอีสาน เรียก พล.อ.ชวลิต ว่า "พ่อใหญ่จิ๋ว"

ประวัติ

พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เกิดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 ณ บ้านพักของบิดาย่านนางเลิ้ง ซึ่งอยู่ติดกับบริเวณ “วังไชยา” ซึ่งในปัจจุบันกลายเป็นสำนักทะเบียนกลางกรุงเทพมหานคร บิดาคือ ร้อยเอก ชั้น ยงใจยุทธ และมารดา คือ นางละมุน ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น สุรีย์ศรี ยงใจยุทธ

นามสกุล “ยงใจยุทธ” ประทานโดย จอมพล สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช (จอมพลคนแรกของกองทัพไทย) ผู้ทรงเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทรา พระบรมราชินี

เนื่องจากบิดาเคยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีจังหวัดนครพนม และมีญาติอยู่ในจังหวัดนี้ ดังนั้นเมื่อพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ลงสมัคร ส.ส. ที่นครพนม จึงกล่าวได้เต็มปากว่าเป็นลูกหลานชาวนครพนม และเป็นชาวอีสาน

ในวัยเด็ก พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ มีชื่อเล่นเดิมว่า “ตึ๋ง” หรือ “หนู” แต่ต่อมาเพื่อน ๆ นายทหารมักเรียกว่า “จิ๋ว”

สมรสครั้งแรกกับ คุณวิภา มีบุตร 3 คน เป็นชาย 1 คน และหญิง 2 คน บุตรชายคือ คฤพล ยงใจยุทธ (ต๋อย) บุตรสาวคือ อรพิน นววงศ์ (ติ๋ม) และพันตำรวจตรีหญิงศรีสุภางค์ โสมกุล (แต๋ว) ในเวลาต่อมาได้สมรสอีกครั้งกับคุณประเสริฐศรี ซึ่งจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ให้เกียรติมาร่วมงานมงคลสมรสในครั้งนั้นด้วย แต่หลังจากนั้นไม่นานก็ต้องหย่าร้างกับภริยาผู้นี้

สมรสกับคุณหญิงพันธุ์เครือ ยงใจยุทธ (ลิมปิภมร) หรือคุณหญิงหลุยส์ ภริยาคนปัจจุบัน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2507

สถานที่พักคือ บ้านปิ่นประภาคม ต.ตลาดขวัญ อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี

ประวัติการศึกษา

พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เริ่มการศึกษาชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนแถววังบูรพาภิรมย์ เข้าศึกษาชั้นมัธยมที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ ในรุ่น “ลมหวน” ซึ่งเป็นรุ่นที่โด่งดังรุ่นหนึ่ง และพลเอก สุจินดา คราประยูร อดีตผู้บัญชาการทหารบก และนายกรัฐมนตรี คนที่ 19 ก็เคยศึกษาที่โรงเรียนนี้เช่นกัน ในเวลาต่อมาได้เข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7 หรือในชั้นเตรียมอุดมปีที่ 1 ณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เรียนได้เพียงเทอมเดียว)

ในปี พ.ศ. 2491 โรงเรียนนายร้อยทหารบก ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ให้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า” และเริ่มปรับเปลี่ยนหลักสูตรเวสต์ปอยท์รุ่นแรกแทนหลักสูตรเก่า จึงหันเหมาศึกษาสายทหารในสถานศึกษาแห่งนี้ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2492 ซึ่งเป็นรุ่น จปร.1

นนร. ชวลิต ยงใจยุทธ ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าหมวด มีเพื่อนนักเรียนนายร้อยร่วมรุ่นที่สนิทสนมกันมากในเวลานั้นคือ นนร. สุนทร คงสมพงษ์ หรือ “บิ๊กจ๊อด” ซึ่งต่อมาคือพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ซึ่งยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลของพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534

ในขณะที่ศึกษาวิชาทหารอยู่นั้น ได้เกิดเหตุการณ์กบฎแมนฮัตตั้น ในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2494 นนร. ชวลิต ยงใจยุทธ และเพื่อน ๆ ถูกส่งไปรักษาการณ์ร่วมกับกำลังของฝ่ายรัฐบาล จนได้รับพระราชทานเหรียญทองมงกุฎไทยเป็นบำเหน็จความดีความชอบ สำหรับประวัติการศึกษา และวุฒิกิตติมศักดิ์ที่สำคัญตามลำดับดังนี้

พ.ศ. 2492 : มัธยมศึกษา โรงเรียนอำนวยศิลป์ , โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพมหานคร
พ.ศ. 2496 : ปริญญาตรี วิทยาศาสตร์บัณฑิต โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
พ.ศ. 2502 :

โรงเรียนสื่อสารกองทัพบก ฟอร์ตบอร์นมัธ ประเทศสหรัฐอเมริกา
(หลักสูตรการซ่อมเครื่องไมโครเวฟ เป็นหลักสูตรระยะสั้น 1 เดือน ระหว่าง 18 มิถุนายน ถึง 17 กรกฎาคม)
พ.ศ. 2504 : กองทัพน้อยที่ 9 เกาะริวกิว โอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น (หลักสูตรฝึกงานการประกอบซ่อมเครื่องมือสื่อสาร)
พ.ศ. 2505 : โรงเรียนทหารสื่อสาร ประเทศไทย (หลักสูตรผู้บังคับกองพัน)
พ.ศ. 2506 :

โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ประเทศไทย (หลักสูตรหลักประจำชุดที่ 42 และสอบได้ที่ 1 ของรุ่น
ด้วยคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 86.21 จึงได้รับทุน M.A.P. ให้ไปศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ประเทศสหรัฐอมริกา)
พ.ศ. 2507 :



โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ณ ฟอร์ตลีเวินเวิร์ท เมืองลีเวินเวิร์ท มลรัฐแคนซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา (หลักสูตรเสนาธิการกิจ)
อนึ่ง โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนเสนาธิการที่เป็นศูนย์ฝึกอบรมเสนาธิการทางทหารของสหรัฐฯ ที่ใหญ่และสำคัญที่สุด
ซึ่งบรรดาผู้นำทางทหารของสหรัฐฯ และประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมักถูกส่งมาเข้าอบรมที่นี่ บิล คลินตันประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา
ก็เคยผ่านหลักสูตรของโรงเรียนเสนาธิการทหารแห่งนี้ด้วยเช่นกัน
พ.ศ. 2511 : หลักสูตรกระโดดร่ม ชั้น Novice ประเทศสหรัฐอเมริกา
พ.ศ. 2512 : หลักสูตรกระโดดร่มนายทหารชั้นผู้ใหญ่ รุ่นที่ 2 ประเทศไทย

วุฒิกิตติมศักดิ์

ปริญญา นิติศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยเปปเปอร์ไตน์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ปริญญา นิติศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
ปริญญา วิทยาศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ปริญญา ศิลปศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ปริญญา วิศวกรรมศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติศักดิ์ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์

ประวัติการรับราชการ

พล.อ.ชวลิต รับราชการทหารเหล่าสื่อสาร เป็นคนแรก ๆ ที่แต่งตำราการซ่อมโทรทัศน์ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2490 - 95 เคยเป็นผู้บัญชาการทหารบก ลำดับที่ 25 (27 พ.ค. 2529 - 28 มี.ค. 2533) และรักษาราชการผู้บัญชาการทหารสูงสุด (1 ต.ค.2530 - 28 มี.ค. 2533)

การดำรงตำแหน่งทางราชการ

พ.ศ. 2497 : ประจำกองกลาง กรมการทหารสื่อสาร (ประดับยศ “ว่าที่ร้อยตรี” วันที่ 25 ม.ค. 2497)
พ.ศ. 2498 : ครูช่างซ่อมวิทยุแผนกอิเล็คทรอนิกส์ โรงเรียนการสื่อสาร กรมการทหารสื่อสาร (รับพระราชทานยศร้อยตรี เมื่อ ม.ค.2498)
พ.ศ. 2499 : รับพระราชทานยศร้อยโท
พ.ศ. 2500 : อาจารย์ผู้ช่วยประจำกองวิศวกรรมไฟฟ้า กองการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
พ.ศ. 2501 : ประจำแผนก กรมการทหารสื่อสาร
พ.ศ. 2502 : รับพระราชทานยศร้อยเอก (ม.ค.2502)
พ.ศ. 2503 : ผู้บังคับกองร้อยซ่อมบำรุงเครื่องสื่อสารเขตหลัง กรมการทหารสื่อสาร
พ.ศ. 2504 : รับพระราชทานยศพันตรี (1 ต.ค. 2504)
พ.ศ. 2508 : อาจารย์ที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกและรับพระราชทานยศพันโท ในเดือน ต.ค.2508
พ.ศ. 2510 :


เดินทางไปราชการสงครามเวียดนามในช่วงปี พ.ศ. 2510 – 2511
ในตำแหน่งนายทหารฝ่ายยุทธการและการฝึกของกรมทหารอาสาสมัคร “จงอางศึก”
ซึ่งเป็นหน่วยที่สร้างเกียรติประวัติแก่กองทัพไทยและเป็นที่ประจักษ์แก่นานาชาติสืบมาจนถึงปัจจุบัน
พ.ศ. 2511 : หลังกลับจากสงคราม ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2511 ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำกรม กรมยุทธการทหารบก
พ.ศ. 2512 : รับพระราชทานยศพันเอก
พ.ศ. 2514 :

หัวหน้ากอง กรมยุทธการทหารบก วางแผนด้านยุทธการและการข่าวในการต่อกรกับ ผกค.
โดยเฉพาะบุกเบิกจัดตั้ง “กองกำลังทหารเสือพราน” หรือ “ทหารพราน”เพื่อใช้รบแบบ“จรยุทธ์ปราบจรยุทธ์”
พ.ศ. 2522 :

ได้รับพระราชทานยศเป็น “พลตรี” และเป็นนายทหารคนสนิทของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ รมว.กระทรวงกลาโหม
(ในรัฐบาลที่มีพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี) และประจำกองบัญชาการทหารบก
พ.ศ. 2523 : เจ้ากรมยุทธการทหารบก
พ.ศ. 2524 : เจ้ากรมยุทธการทหารบกและหัวหน้าฝ่ายธุรการ กองอำนวยการรักษาความสงบแห่งชาติ
พ.ศ. 2525 : ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ และรับพระราชทานยศ พลโท ในเดือน ต.ค. 2525
พ.ศ. 2526 :



รองเสนาธิการทหารบก และปฏิบัติหน้าที่พิเศษในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ยุทธการกองทัพบก
และหัวหน้าฝ่ายยุทธการศูนย์ปฏิบัติการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน
และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์
และได้รับเลือกเป็น “สมาชิกวุฒิสภา” ในปีนี้เช่นกัน
พ.ศ. 2528 :

เสนาธิการทหารบก และรับพระราชทานยศ พลเอก ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่โด่งดังมาก
เนื่องจากบทบาทนักประสานสิบทิศ จนได้รับฉายาว่า “ขงเบ้งแห่งกองทัพบก”
พ.ศ. 2529 : ผู้บัญชาการทหารบก (27 พ.ค.2529 ดำรงตำแหน่งแทนพลเอก อาทิตย์ กำลังเอก)
พ.ศ. 2530 : ผู้บัญชาการทหารบก และ รักษาราชการผู้บัญชาการทหารสูงสุด อีกตำแหน่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2530

ราชการพิเศษหรือตำแหน่งพิเศษ

พ.ศ. 2494 : ราชการพิเศษกรณีปราบจราจล 29 มิถุนายน 2494 (กบฎแมนฮัตตั้น)
พ.ศ. 2510 : เดินทางไปราชการสงคราม ณ ประเทศเวียดนาม
พ.ศ. 2512 : ราชการพิเศษกรณีปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์
พ.ศ. 2524 :

ราชองค์รักษ์เวร (14 พ.ค. 2524) และ นายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์
และประจำกรมทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (26 ต.ค.2524)
พ.ศ. 2525 : นายทหารพิเศษประจำกรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ (13 ก.ย. 2525)
พ.ศ. 2526 :

ราชองค์รักษ์พิเศษ นายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์
นายทหารพิเศษประจำกรมทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์
พ.ศ. 2529 : นายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ และประจำกรม นายร้อยรักษาพระองค์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
พ.ศ. 2531 :



นายทหารพิเศษ ประจำกองนักเรียนนายเรือรักษาพระองค์ โรงเรียนนายเรือ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ
ประจำกองบัญชาการ กรมทหารราบที่ 3 รักษาพระองค์ กรมนาวิกโยธิน
ประจำกรมนักเรียนนายเรืออากาศ รักษาพระองค์ โรงเรียนนายเรืออากาศ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ
และประจำกองพันทหารอากาศโยธินที่ 1 รักษาพระองค์ กรมทหารราบอากาศโยธิน

บทบาททางการเมือง

ในระยะที่พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 ครั้นถึงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 อันเป็นวันแรกของการเปิดสภาผู้แทนราษฎรของปีนี้ รัฐบาลแพ้มติในสภาฯ โดยสภาฯ ไม่อนุมัติพระราชกำหนดฉบับหนึ่งที่รัฐบาลเสนอ รัฐบาลจึงยุบสภาผู้แทนราษฎรในคืนวันนั้น คือภายหลังจากที่ทราบผลการแพ้เสียงในสภาฯ ประมาณ 6 ชั่วโมง และกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ ซึ่งในช่วงก่อนการเลือกตั้งได้มีการโยกย้ายตำแหน่งทางการทหาร โดยให้พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก พ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดแต่เพียงตำแหน่งเดียว แล้วให้พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เสนาธิการทหารบก ซึ่งเป็นคนที่นายกรัฐมนตรีวางใจขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ โดยต่อมาได้รักษาราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 และได้ลาออกจากราชการในตำแหน่งทั้งสอง ในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2533 เพราะเคยประกาศไว้แล้วว่าจะลาออกก่อนเกษียณอายุราชการ โดยพลเอก สุจินดา คราประยูร ได้รับการแต่งตั้งให้เข้าดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2533 และพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ได้เข้าดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2533

ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคความหวังใหม่

ในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2533 ได้มีการยื่นขอจดทะเบียนก่อตั้ง “พรรคความหวังใหม่” โดย “วีระ สุวรรณกูล” เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง และปรากฏชื่อ “พรรคความหวังใหม่” ในทำเนียบรายชื่อของสำนักงานทะเบียนพรรคการเมือง สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2533 ซึ่งในระยะแรกมีหัวหน้าพรรคชื่อ “วีระ สุวรรณกูล” แต่หัวหน้าพรรคในเวลาต่อมา คือพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งเข้าดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2533

เมื่อพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ได้ลาออกจากตำแหน่งทางราชการ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เชิญเข้าร่วมรัฐบาลโดยมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2533 แต่เนื่องจากไม่มีฐานทางพรรคการเมือง และเกิดความขัดแย้งกับนักการเมืองในรัฐบาลที่เข้าดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ จึงลาออกจากทั้งสองตำแหน่งเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2533

หลังจากที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. เข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลของพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 และสนับสนุนให้นายอานันท์ ปันยารชุน เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (คนที่ 18) โดยรัฐบาลได้จัดการยุบสภาฯ และจัดการให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 16

ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ส.ส. พรรคความหวังใหม่ซึ่งเพิ่งลงสนามเป็นครั้งแรกได้รับเลือกเข้ามาจำนวน 72 ที่นั่ง โดยหัวหน้าพรรค คือ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ลงรับสมัครเลือกตั้งสมัยแรกเช่นกัน ได้รับเลือกเป็น ส.ส. จังหวัดนนทบุรี เขต 1 และได้เป็นฝ่ายค้านร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมี ส.ส. ได้รับเลือกเข้าสู่สภาฯ 44 ที่นั่ง โดยพรรคสามัคคีธรรม มี ส.ส. ได้รับเลือกเข้าสู่สภาฯ สูงสุดถึง 79 ที่นั่ง แต่นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคไม่สามารถเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ เพราะถูกกล่าวหาว่าพัวพันคดียาเสพติด พลเอก สุจินดา คราประยูร จึงได้รับการสนับสนุนจากบรรดาพรรคการเมืองที่ถูกขนานว่าเป็นพรรคฝ่ายมาร ให้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (คนที่ 19) แต่ได้เกิดการประท้วงคัดค้านนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและเป็นการสืบทอดอำนาจของ รสช. จนเหตุการณ์ลุกลามและมีการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงด้วยมาตรการรุนแรงในช่วงเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ระหว่างวันที่ 17 – 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พลเอก สุจินดา คราประยูร ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายอานันท์ ปันยารชุน ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยรัฐบาลมีภารกิจสำคัญ คือ การยุบสภาผู้แทนราษฎรและจัดการให้มีการเลือกตั้งใหม่ด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2535 หลังการเลือกตั้ง ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกเข้ามามากที่สุด นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรค จึงเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (คนที่ 20) ในวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2535 โดยพรรคความหวังใหม่ซึ่งมี 51 ที่นั่งได้เข้าร่วมรัฐบาล และพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคซึ่งได้เป็น ส.ส. นนทบุรี สมัยที่ 2 ได้ดำรงตำแหน่ง รมว.กระทรวงมหาดไทย แต่ต่อมาเกิดความคิดเห็นขัดแย้งกับรัฐบาลเนื่องจากคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 198, 199 (การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น) ในขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลอื่นให้การสนับสนุน พรรคความหวังใหม่จึงต้องออกจากการร่วมรัฐบาล และพรรคชาติพัฒนา ของพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ฉีกตัวจากพลพรรคฝ่ายค้านเข้าเสียบร่วมรัฐบาลแทน

ต่อมาในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 รัฐบาลของนายชวน หลีกภัย ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากเหตุการณ์การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลโดยเฉพาะกรณี สปก.4-01 ซึ่งพรรคพลังธรรมซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลประกาศจะไม่ยอมยกมือสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล

ในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ หรือการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 18 หลังการเลือกตั้งปรากฏว่า ส.ส. พรรคชาติไทยได้รับเลือกเข้ามาด้วยคะแนนเสียงมากที่สุดถึง 92 ที่นั่ง นายบรรหารศิลปอาชาหัวหน้าพรรคจึงเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ของประเทศไทย และพรรคความหวังใหม่ซึ่งมี 57 ที่นั่งได้เข้าร่วมรัฐบาลอีกครั้ง โดยพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคเปลี่ยนไปลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. จังหวัดนครพนม เขต 1 ครั้งแรก ได้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงกลาโหม แต่เมื่อบริหารประเทศได้ประมาณ 1 ปี รัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา ก็ประกาศยุบสภาฯ เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2539

การก้าวเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 22

หลังจากมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 หรือการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 19 ส.ส. พรรคความหวังใหม่ อันมีพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นหัวหน้า ได้รับเลือกเข้ามามากที่สุดถึง 125 ที่นั่ง จึงสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (คนที่ 22)

วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้ง พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 163 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2538 โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ต่อมาในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี จำนวน 53 ตำแหน่ง โดย พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงกลาโหม นายสุขวิช รังสิตพล เป็นรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ นายอำนวย วีรวรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงการคลัง นายกร ทัพพะรังสี เป็นรองนายกรัฐมนตรี และ มว.กระทรวงอุตสาหกรรม นายมนตรี พงษ์พานิช เป็นรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงสาธารณสุข นายสมัคร สุนทรเวช เป็นรองนายกรัฐมนตรี นายเสนาะ เทียนทอง เป็น รมว.กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น

ในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2539 คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภาและเปิดโอกาสให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาอภิปรายโดยไม่มีการลงมติและต่อมามีการแต่งตั้งนายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้นำฝ่ายค้าน ในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2539

นอกจากประเด็นหาเสียงในการชู “ดรีมทีมเศรษฐกิจ” และ “การเดินไกล 200,000 กิโลเมตร เพื่อรับฟังปัญหาของประชาชน และเข้าสู่เส้นทางการเมืองในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ปัญหาของประเทศชาติด้วยความสง่างาม” อันเป็นสิ่งที่พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ นำมาใช้ในการเลือกตั้งคราวนี้ เพื่อขายความคิดในเรื่องการแก้ปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจ สาเหตุหนึ่งที่ ส.ส.พรรคความหวังใหม่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นอันดับหนึ่ง ก็เนื่องจากในการประกาศยุบสภาฯ ของรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2539 เกิดการย้ายพรรคของ ส.ส. เช่น ส.ส. กลุ่มวังน้ำเย็นจากพรรคชาติไทยได้ย้ายตามนายเสนาะ เทียนทอง มาเข้าพรรคความหวังใหม่ถึง 37 คน และบางพรรคเช่น พรรคนำไทยไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ทำให้พรรคใหญที่มีความพร้อมและเป็นคู่แข่งสำคัญกันมีเพียง 3 พรรคเท่านั้น คือ ประชาธิปัตย์ ความหวังใหม่ และชาติพัฒนา จึงเป็นที่คาดการณ์กันว่านายกรัฐมนตรีจะต้องเป็น 1 ใน 3 ช. ผู้เป็นหัวหน้าพรรคทั้ง 3 คือ นายชวน หลีกภัย พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ และพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ

แต่ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาข้างต้นทำให้พรรคความหวังใหม่มี ส.ส. ได้รับเลือกเข้ามาเป็นอันดับ 1 ถึง 125 ที่นั่ง ตามด้วย พรรคประชาธิปัตย์ 123 ที่นั่ง และพรรคชาติพัฒนา 52 ที่นั่ง

รัฐบาลชุดนี้ประกอบด้วย 6 พรรค ได้แก่ พรรคความหวังใหม่ 125 เสียง พรรคชาติพัฒนา 52 เสียง พรรคกิจสังคม 20 เสียง พรรคประชากรไทย 18 เสียง พรรคเสรีธรรม 4 เสียง และพรรคมวลชน 2 เสียง รวม 221 เสียง

เหตุการณ์สำคัญระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ในระหว่างที่พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีเหตุการณ์ที่สำคัญ สรุปพอสังเขป ดังนี้

จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และปฏิรูปการเมือง

เนื่องจาก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พุทธศักราช 2539 มาตรา 211 กำหนดให้คนนอกจำนวน 99 คน ยกร่างรัฐธรรมนูญเรียกว่า สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ

ในการดำเนินการดังกล่าว พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 99 คน ในวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2539 และมีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2540 ทั้งนี้ มีนายอุทัย พิมพ์ใจชน ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ และนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ขึ้น

ส่วนการปฏิรูปการเมืองหลังสภาร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2540 สภาร่างรัฐธรรมนูญส่งมอบร่างที่ผ่านความเห็นชอบในวาระที่ 3 ให้กับประธานสภาผู้แทนราษฎร

หลังจากสภาร่างรัฐธรรมนูญผ่านวาระ 3 แล้ว จึงมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2540 เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการพระราชทานรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ สาระของรัฐธรรมนูญจะมีลักษณะการปฏิรูปการเมืองการปกครอง มีการทำประชาพิจารณ์ทุกจังหวัด ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักในความสำคัญของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนและดีที่สุดตั้งแต่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมา

แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการ

ในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2540 มติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้ปี พ.ศ. 2540 เป็นปีต่อเนื่องแห่งการส่งเสริมการบริการประชาชนของรัฐ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการ มีสำนักงานคณะกรรมการการปฏิรูประบบราชการขึ้นต่อสำนักนายกรัฐมนตรี มีหน่วยงานถาวรส่งเสริมสนับสนุนให้การปฏิรูประบบราชการบรรลุเป้าหมาย

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

ขณะที่บริหารประเทศภายใต้การนำของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี ประเทศได้ประสบกับปัญหาด้านการคลัง จนทำให้นายอำนวย วีรวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลาออก เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2540 สาเหตุมาจากการลดค่าเงินบาท และต่อมาให้นายทนง พิทยะ เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการประทรวงการคลัง แต่เหตุการณ์และปัญหาด้านการเงินการคลังยังรุนแรงมาก ทำให้บริษัทเงินทุนขณะนั้นประสบกับภาวะขาดทุนจนต้องระงับการดำเนินธุรกรรมทางการเงินถึง 16 สถาบันด้วย ขณะที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้ รัฐบาลจึงประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2530 ทำให้เกิดการโจมตีค่าเงินบาทจากกองทุนต่างประเทศ ต้องนำทุนสำรองพยุงค่าเงินบาทไว้ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จนต้องประกาศให้ค่าเงินบาทลอยตัว ส่งผลให้เกิดวิกฤตทางการเงิน การคลังของประเทศจนในที่สุด วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2540 รัฐบาลประกาศระงับการดำเนินกิจการชั่วคราวของสถาบันการเงินถึง 42 แห่ง จนที่ประชุมของกรุงโตเกียวระดมเงินทุนช่วยเหลือประเทศไทยจาก 12 ประเทศจนถึงวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2540

หลักจากวิกฤตทางการเงินครั้งนี้ ทำให้พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้ตัดสินใจรับความช่วยเหลือจาก I.M.F.(International Monetary Fund)หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ในวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2540 เป็นการขอรับความช่วยเหลือด้านการเงินและวิชาการจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้กลับคืนมาโดยเร็วที่สุด โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้ลงนามในหนังสือแสดงความจำนงปฏิรูประบบเศรษฐกิจและการเงินของไทย ขอรับความช่วยเหลือแต่จะต้องปฏิรูประบบสถาบันการเงิน การเข้าควบคุมสถาบันการเงินที่อ่อนแอ ให้กองทุนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินรับประกัน ผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ในสถาบันการเงินที่ดี รวมทั้งการใช้มาตรการภาษีอากร เช่น การปรับภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 10 การกำหนดงบประมาณเกินดุลในปีงบประมาณ 2541 ไม่เกินร้อยละ 1 ของจีดีพี ส่งผลให้รัฐบาลตกอยู่ในกระแสวิกฤติศรัทธา และขณะนั้นฐานะทางการเงินการคลังเกิดวิกฤติอย่างรุนแรง

การเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ

ในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2540 ผู้นำฝ่ายค้าน(นายชวน หลีกภัย)และหัวหน้าแกนนำ ยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลหรือในข้อกล่าวหาว่า“รัฐบาลบริหารผิดพลาดก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศชาติ โดยเฉพาะเศรษฐกิจถึงขั้นล้มละลาย ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ความเชื่อถือ เกียรติภูมิ และศักดิ์ศรีของประเทศชาติโดยรวม จนเกิดภาวะวิกฤติศรัทธาต่อผู้นำรัฐบาล รัฐบาลและระบบการเมืองของพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ขาดความรับผิดชอบทั้งคำพูด การแสดงออก การตัดสินใจ ไร้ความสามารถ ไร้ประสิทธิภาพ ปราศจากภาวะเป็นผู้นำ ขาดวิสัยทัศน์ มีพฤติกรรมฉ้อฉล เห็นแก่ประโยชน์และพรรคพวก เลือกปฏิบัติ ปล่อยปละละเลยให้มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ไม่ให้ความเป็นธรรมต่อข้าราชการประจำ มีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จงใจปิดบังบิดเบือนข้อมูลเท็จจริงที่สาธารณชนพึงรับรู้ ปล่อยให้มีการคุกคามการเสนอข่าวของสื่อมวลชน และลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน” ล้วนเป็นข้อกล่าวหาที่หนักมาก

การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ในการอภิปรายของพรรคร่วมฝ่ายค้านในครั้งนี้ ปรากฎว่าพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ได้รับความไว้วางใจจากพรรคร่วมรัฐบาล แม้จะผ่านศึกการอภิปรายได้ แต่วิกฤติศรัทธาต่อรัฐบาลได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ ต้องเผชิญกระแสการคัดค้านการดำรงตำแหน่งต่อไป และมีการต่อต้านจากนักธุรกิจและประชาชน ในที่สุดพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ จำต้องลาออกจากตำแหน่งหลังจากที่เข้ามาบริหารประเทศได้ประมาณ 11 เดือนเศษ

หลังการลาออกของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ พรรคการเมืองอื่นที่เคยร่วมรัฐบาลก็ไปสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ได้แก่ พรรคชาติไทย กิจสังคม เสรีธรรม เอกภาพ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคนของพรรคประชากรไทย ซึ่งภายหลังถูกเรียกว่า “กลุ่มงูเห่า” ร่วมเสนอชื่อนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา

วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายชวน หลีกภัย เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง (เป็นสมัยที่ 2)

คณะรัฐมนตรี คณะที่ 52 สิ้นสุดลง เนื่องจากพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 เนื่องจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเพื่อให้หาผู้ที่เหมาะสมแทนเพื่อจัดตั้งรัฐบาล

พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (คนที่ 22) เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 – วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อมา คือ นายชวน หลีกภัย (คนที่ 20 สมัยที่ 2)

รวมระยะเวลาดำรงตำแหน่งประมาณ 11 เดือนเศษ

เมื่อพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ยังคงดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่อไปในฐานะหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ โดยภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 20 เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2544 พรรคความหวังใหม่ ได้เข้าร่วมรัฐบาลที่ พล.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

สรุปตำแหน่งสำคัญทางการเมืองของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ

24 เมษายน พ.ศ. 2524 : ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พลเอก เปรม ติณสูลานนท์)
23 มีนาคม พ.ศ. 2527 : สมาชิกวุฒิสภา
22 เมษายน พ.ศ.2530 : สมาชิกวุฒิสภา
30 มีนาคม พ.ศ. 2533 : รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (สมัยรัฐบาล พลเอก ชาติชาย ชุณหวัณ)
16 ตุลาคม พ.ศ.2533 : หัวหน้าพรรคความหวังใหม่
22 มีนาคม พ.ศ. 2535 : สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนนทบุรี
15 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 : ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
13 กันยายน พ.ศ. 2535 : สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนนทบุรี
29 กันยายน พ.ศ. 2535 : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (สมัยรัฐบาล นายชวน หลีกภัย 1 และ 2)
23 กันยายน พ.ศ. 2536 : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
14 กรกฎาคม พ.ศ. 2537 : รองนายกรัฐมนตรี
2 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 : สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครพนม
18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 : รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (สมัยรัฐบาล นายบรรหาร ศิลปอาชา)
17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 : สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม
25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 : นายกรัฐมนตรี คนที่ 22 ของประเทศไทย
29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 : นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
10 เมษายน พ.ศ. 2540 : ประธานคณะผู้บริหารความหวังใหม่
26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 : ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
2 กันยายน พ.ศ. 2541 : ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
12 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 : ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 : รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (สมัยรัฐบาล พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร)
24 กันยายน พ.ศ. 2551 : รองนายกรัฐมนตรี (สมัยรัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญตรา

พ.ศ. 2490 เหรียญทองมงกุฎไทย (ร.ท.ม.)
พ.ศ. 2504 เบญจมาภรณ์ช้างเผือก (บ.ช.)
พ.ศ. 2505 จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย (จ.ม.)
พ.ศ. 2507 จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.)
พ.ศ. 2509 เหรียญจักรมาลา และ ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)
พ.ศ. 2510 เหรียญราชการชายแดน (ร.ช.ด.)
พ.ศ. 2511 เหรียญชัยสมรภูมิ (ร.ช.ส.) และ เหรียญชัยสมรภูมิ (เวียดนาม) ต่อมาได้รับเครื่องหมายเปลวระเบิด สำหรับแพรแถบเหรียญ
พ.ศ. 2513 ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.), เหรียญรัตนาภรณ์ ชั้นที่ 4 (ภ.ป.ร.) และ เหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 22 (ร.ส.ช.)
พ.ศ. 2517 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)
พ.ศ. 2519 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)
พ.ศ. 2523 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)
พ.ศ. 2525 ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ต.จ.ว.) และ ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)
พ.ศ. 2526 มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
พ.ศ. 2527 ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) และ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
พ.ศ. 2529 เหรียญพิทักษ์เสรีชน (ส.ช.ชั้นที่ 1)
พ.ศ. 2530 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.)
พ.ศ. 2533 รามาธิบดี ชั้นที่ 2 มหาโยธิน (ม.ร.) และ เหรียญรามกีรติ ลูกเสือสุดดีชั้นพิเศษ
พ.ศ. 2539 ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ (ป.ภ.)

หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ

ชาน สีทอง, (2543) “เอาบ้านเมืองอยู่รอด แก้วิกฤตโดย พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ”, กรุงเทพฯ : สหพันธ์ชาวอีสาน.

ธนากิต, (2545) “ประวัตินายกรัฐมนตรีไทย”, กรุงเทพฯ : ปิรามิด.

พิสุทธิ์ อังจันทร์เพ็ญ, (2542) “บทบาทพรรคความหวังใหม่ : การเป็นรัฐบาล ฝ่ายค้าน และบทบาทในอนาคต”, นนทบุรี : สถาบันพระปกเกล้า.

พีระพงษ์ สิทธิอมร และคณะ, (2549) “ประวัติศาสตร์การเมืองไทย”, กรุงเทพฯ : ซี แอนด์ เอ็น.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักกฎหมาย, (2549) “รวมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (2475 - 2549)”, กรุงเทพฯ : สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร,กรุงเทพฯ.

บรรณานุกรม

ชาน สีทอง, (2543) “เอาบ้านเมืองอยู่รอด แก้วิกฤตโดย พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ”, กรุงเทพฯ : สหพันธ์ชาวอีสาน.

ธนากิต, (2545) “ประวัตินายกรัฐมนตรีไทย”, กรุงเทพฯ : ปิรามิด.

พิสุทธิ์ อังจันทร์เพ็ญ, (2542) “บทบาทพรรคความหวังใหม่ : การเป็นรัฐบาล ฝ่ายค้าน และบทบาทในอนาคต”, นนทบุรี : สถาบันพระปกเกล้า.

พีระพงษ์ สิทธิอมร และคณะ, (2549) “ประวัติศาสตร์การเมืองไทย”, กรุงเทพฯ : ซี แอนด์ เอ็น.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักกฎหมาย, (2549) “รวมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (2475 - 2549)”, กรุงเทพฯ : สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร,กรุงเทพฯ.