ความสัมพันธ์ระหว่างคณะรัฐมนตรีกับรัฐสภา
ผู้เรียบเรียง ศรันยา สีมา
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
การปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาของประเทศไทยนั้นยอมรับหลักการที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยนั้น มีการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตยออกเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ได้แก่รัฐสภา ฝ่ายบริหาร ได้แก่คณะรัฐมนตรี และฝ่ายตุลาการ ได้แก่ศาล ซึ่งองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 องค์กรนั้น ต่างมีสถานะเท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญ มีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของตน แต่เพื่อเป็นการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและป้องกันมิให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจเกินเลยจากที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้อำนาจไว้ รัฐธรรมนูญจึงได้กำหนดให้ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในลักษณะการตรวจสอบถ่วงดุลควบคุมการใช้อำนาจซึ่งกันและกัน
คณะรัฐมนตรี
“คณะรัฐมนตรี” คือ คณะบุคคลซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คน ใช้อำนาจบริหาร มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน[1] เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา มีการจัดระเบียบราชการบริหาร 3 ส่วนด้วยกัน คือ ราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น เป็นเครื่องมือในการบริหารประเทศ[2]
รัฐสภา
“รัฐสภา” คือ สถาบันทางการเมืองที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ มีหน้าที่ในการตรากฎหมาย ควบคุม และดูแลการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี และการให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญของประเทศ เช่นการให้ความเห็นชอบในการประกาศสงครามหรือการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ การพิจารณาบุคคลให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง เป็นต้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้กำหนดรูปแบบให้รัฐสภาประกอบด้วย 2 สภา คือ “สภาผู้แทนราษฎร” มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 480 คน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 400 คน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนจำนวน 80 คน[3] และ “วุฒิสภา” มีสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 150 คน มาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 1 คน จำนวน 76 คน และมาจากการสรรหาอีกจำนวน 74 คน[4]
เมื่อพิจารณาเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างคณะรัฐมนตรีกับรัฐสภาแล้วจะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทั้งสองในลักษณะของการตรวจสอบถ่วงดุลกันตามหลักการคานอำนาจ เพื่อป้องกันมิให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งใช้อำนาจตามอำเภอใจเกินเลยไปจากอำนาจที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ความสัมพันธ์ระหว่างคณะรัฐมนตรีกับรัฐสภานี้ สามารถแบ่งแยกลักษณะความสัมพันธ์ออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ การควบคุมคณะรัฐมนตรีโดยรัฐสภา และการควบคุมรัฐสภาโดยคณะรัฐมนตรี
การควบคุมคณะรัฐมนตรีโดยรัฐสภา
1. การให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก[5]
2. การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา การกำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องแถลงนโยบายและชี้แจงการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐต่อรัฐสภาก่อนเข้าบริหารราชการแผ่นดิน[6] ทั้งนี้เพื่อที่รัฐสภาจะได้ทราบแนวทางการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี และจะได้สามารถตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีว่าเป็นไปตามที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาหรือไม่
3. การตั้งกระทู้ถาม การตั้งกระทู้ถามนี้เป็นการเปิดโอกาสให้รัฐสภาตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้ โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาทุกคนมีสิทธิตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องการทำงานในหน้าที่ต่อที่ประชุมสภาที่ตนสังกัดได้ กระทู้ถามมี 2 ประเภท คือ “กระทู้ถามสด” เป็นกระทู้ถามในเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่เป็นปัญหาสำคัญที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เป็นเรื่องที่กระทบถึงประโยชน์ของประเทศชาติหรือประชาชน หรือเป็นเรื่องที่เร่งด่วน โดยสมาชิกสภาผู้แทนราฎรที่จะถามจะต้องยื่นเรื่องเสนอก่อนเริ่มประชุมในวันนั้น และ “กระทู้ถามทั่วไป” เป็นกระทู้ถามที่ต้องเสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือ มีข้อความเป็นคำถามในข้อเท็จจริงหรือนโยบายและระบุว่าจะให้รัฐมนตรีตอบในที่ประชุมสภาหรือให้ตอบในราชกิจจานุเบกษา[7]
เมื่อมีสมาชิกรัฐสภายื่นกระทู้ถามแล้ว คณะรัฐมนตรีสามารถที่จะใช้โอกาสนี้ในการชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนั้นได้ แต่ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่าเรื่องนั้นยังไม่ควรเปิดเผยเพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีมีสิทธิที่จะไม่ตอบกระทู้ถามนั้น[8] แต่ด้วยเหตุที่ว่าการตั้งกระทู้ถามเป็นเรื่องที่ไม่มีผลกระทบต่อคณะรัฐมนตรีมากเท่าใดนักเนื่องจากไม่มีการลงมติ คณะรัฐมนตรีจึงมักไม่ค่อยให้ความสำคัญในการตอบกระทู้ถาม เช่น ไม่มาร่วมประชุมรัฐสภาเพื่อตอบกระทู้ถาม หรือตอบกระทู้ถามไม่ชัดเจนตรงประเด็น เป็นต้น ดังนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จึงได้กำหนดให้เป็นหน้าที่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีต้องเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาเพื่อชี้แจงหรือตอบกระทู้ถามในเรื่องนั้นด้วยตนเอง เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้[9]
4. การตั้งคณะกรรมาธิการ “คณะกรรมาธิการ” คือ คณะบุคคลที่สภาแต่งตั้งประกอบเป็นคณะกรรมาธิการเพื่อให้พิจารณากฎหมายหรือกระทำกิจการใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภา แล้วรายงานต่อสภา[10] คณะกรรมาธิการแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ “คณะกรรมาธิการสามัญ” คือ คณะกรรมาธิการที่ประกอบด้วยบุคคลผู้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาที่สภามีมติแต่งตั้งให้เป็นกรรมาธิการ และ “คณะกรรมาธิการวิสามัญ” คือ คณะกรรมาธิการที่ประกอบด้วยบุคคลซึ่งเป็นหรือไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาที่สภามีมติแต่งตั้งให้เป็นกรรมาธิการ[11]
การตั้งคณะกรรมาธิการนั้นมีความสำคัญยิ่งในการทำงานของรัฐสภา เนื่องจากการตั้งคณะกรรมาธิการนั้นมักจะตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ศึกษารายละเอียดหรือสอบสวนหาข้อเท็จจริงในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ ทำให้รัฐสภาได้ทราบถึงข้อมูลที่แท้จริงในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว แม้การทำงานของคณะกรรมาธิการจะมีอำนาจในการเรียกบุคคลให้มาชี้แจงข้อเท็จจริง หรือส่งเอกสารที่อยู่ในความครอบครองมายังคณะกรรมาธิการ อันมีลักษณะเป็นการกระตุ้นและตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีก็ตาม แต่การควบคุมตรวจสอบคณะรัฐมนตรีโดยการตั้งคณะกรรมาธิการนี้ก็มิได้มีผลกระทบต่อคณะรัฐมนตรีเท่าใดนัก[12]
5. การควบคุมการใช้งบประมาณแผ่นดิน การใช้จ่ายเงินงบประมาณของประเทศนั้น รัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อรัฐสภาเพื่อขออนุมัติ ซึ่งในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้น รัฐสภามีอำนาจในการพิจารณาปรับลดงบประมาณแผ่นดิน หรือไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัติหรือไม่อนุมัติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้หากการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นไปตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา การควบคุมคณะรัฐมนตรีของรัฐสภาโดยวิธีนี้ส่งผลต่อเสถียรภาพความมั่นคงของคณะรัฐมนตรี เนื่องจากหากรัฐสภาไม่อนุมัติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีแล้ว คณะรัฐมนตรีย่อมไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้ ส่งผลให้คณะรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งได้[13]
6. การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนี้เป็นการให้อำนาจแก่รัฐสภาในการบังคับให้คณะรัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีนั้นจะต้องได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภาการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีนั้นต้องมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร โดยจะต้องเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปด้วยจึงจะกระทำได้ และเมื่อมีการเสนอญัตติแล้วจะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้ด้วย[14] ในขณะที่การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลนั้น ต้องมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 6 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร[15] การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีนี้ เป็นวิธีการควบคุมคณะรัฐมนตรีโดยรัฐสภาที่รุนแรงที่สุด มีผลกระทบต่อเสถียรภาพของคณะรัฐมนตรี เนื่องจากหากรัฐสภาลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีแล้ว คณะรัฐมนตรีย่อมต้องพ้นจากตำแหน่งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
การควบคุมรัฐสภาโดยคณะรัฐมนตรี
ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภานั้น หลักการคานอำนาจระหว่างองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยเป็นหลักการที่สำคัญ ดังนั้นการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภาจึงย่อมต้องถูกควบคุมตรวจสอบเช่นเดียวกัน การควบคุมรัฐสภาโดยคณะรัฐมนตรีมีมาตรการที่สำคัญ คือ การยุบสภาผู้แทนราษฎร
การยุบสภาผู้แทนราษฎร เป็นศัพท์ทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ หมายถึง การที่ประมุขของรัฐในระบบรัฐสภา ประกาศให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาสิ้นสุดลงพร้อมกันทุกคนก่อนครบวาระ เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เร็วขึ้นกว่าวาระปกติของสภา[16] ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 การยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ แต่เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง พระมหากษัตริย์จะทรงใช้พระราชอำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎรก็ต่อเมื่อนายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำให้ยุบสภาผู้แทนราษฎร[17] การยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้นจะกระทำในเวลาใดก็ได้ภายในอายุของสภาผู้แทนราษฎร เว้นแต่ในกรณีที่มีการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีจะกราบบังคับทูลเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้[18] และในเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร[19]
การยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทยเกิดขึ้นทั้งหมด 12 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ในสมัยพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี การยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทยนั้นมีสาเหตุหลายประการ เช่น การเกิดความขัดแย้งระหว่างคณะรัฐมนตรีกับรัฐสภา เกิดความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลจนคณะรัฐมนตรีไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้ และการเกิดวิกฤตทางการเมือง เป็นต้น[20]
การยุบสภาผู้แทนราษฎรส่งผลให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรีทั้งคณะสิ้นสุดลงต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่แม้การยุบสภาผู้แทนราษฎรจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้ผลนัก แต่ก็ถือเป็นการคืนอำนาจการตัดสินใจให้ประชาชน เพื่อให้ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตัดสินใจโดยวิธีการเข้ามาใหม่ วิถีทางนี้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยตามหลักถ่วงดุลหรือคานอำนาจกันระหว่างฝ่ายคณะรัฐมนตรีกับรัฐสภา
อ้างอิง
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 171, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก , 24 สิงหาคม 2550, หน้า 65.
- ↑ สถาบันดำรงราชานุภาพ, หลักการประชาธิปไตยและความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, 2548, หน้า 5.
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 93, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก , 24 สิงหาคม 2550, หน้า 30.
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 111, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก , 24 สิงหาคม 2550, หน้า 39.
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 172, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก , 24 สิงหาคม 2550, หน้า 65.
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 176, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก , 24 สิงหาคม 2550, หน้า 66.
- ↑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, อำนาจหน้าที่ของรัฐสภา, กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2547, หน้า 20.
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 146, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก , 24 สิงหาคม 2550, หน้า 54.
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 162, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก , 24 สิงหาคม 2550, หน้า 60.
- ↑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, อำนาจหน้าที่ของรัฐสภา, กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2547, หน้า 23.
- ↑ จีระศักดิ์ ช่วยชู, ปัญหาการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ : ศึกษากรณีการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540, วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2543, หน้า 23-27.
- ↑ จีระศักดิ์ ช่วยชู, ปัญหาการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ : ศึกษากรณีการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540, วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2543, หน้า 26.
- ↑ ระศักดิ์ ช่วยชู, ปัญหาการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ : ศึกษากรณีการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540, วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2543, หน้า 27-28.
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 158, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก , 24 สิงหาคม 2550, หน้า 59.
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 159, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก , 24 สิงหาคม 2550, หน้า 60.
- ↑ มานิตย์ จุมปา, สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) หมวดองค์กรทางการเมือง เรื่อง 7. การยุบสภา, กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2544, หน้า 2.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 13-14.
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 158, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก , 24 สิงหาคม 2550, หน้า 59.
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 108, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก , 24 สิงหาคม 2550, หน้า 38 .
- ↑ วัชรา ไชยสาร, ยุบสภา 2549 : ยุทธวิธีแก้ไขปัญหาทางตันทางการเมืองหรือเหตุนำไปสู่ทางตัน, รัฐสภาสาร, ปีที่ 54, ฉบับที่ 5, พฤษภาคม 2549, หน้า 14-22.
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
จีระศักดิ์ ช่วยชู. ปัญหาการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ : ศึกษากรณีการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540. วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง. 2543.
มนตรี รูปสุวรรณ. ดุลยภาพและความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร. เอกสารประกอบการประชุมสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 8 ประจำปี 2549, 3-5 พฤศจิการยน 2549.
วัชรา ไชยสาร, ยุบสภา 2549 : ยุทธวิธีแก้ไขปัญหาทางตันทางการเมือง หรือเหตุนำไปสู่ทางตัน, รัฐสภาสาร, ปีที่ 54 ฉบับที่ 5 พฤษภาคม 2549.
อัครเมศวร์ ทองนวล. สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) หมวด องค์กรทางการเมือง เรื่อง 11. ความสัมพันธ์ระหว่างคณะรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี. กรุงเทพฯ : องค์การค้าคุรุสภา, 2544.
บรรณานุกรม
จีระศักดิ์ ช่วยชู. ปัญหาการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ : ศึกษากรณีการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540. วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยรามคำแหง. 2543.
พรชัย เลื่อนฉวี. กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง. (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต), 2550.
มนตรี รูปสุวรรณ. ดุลยภาพและความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร. เอกสารประกอบการประชุมสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 8 ประจำปี 2549, 3-5 พฤศจิการยน 2549.
มานิตย์ จุมปา. สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) หมวดองค์กรทางการเมือง เรื่อง 7. การยุบสภา. (กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา), 2544.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก. 24 สิงหาคม 2550.
วัชรา ไชยสาร. ยุบสภา 2549 : ยุทธวิธีแก้ไขปัญหาทางตันทางการเมือง หรือเหตุนำไปสู่ทางตัน. รัฐสภาสาร. ปีที่ 54 ฉบับที่ 5 พฤษภาคม 2549.
สถาบันดำรงราชานุภาพ. หลักการประชาธิปไตยและความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร. 2548.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. อำนาจหน้าที่ของรัฐสภา. (กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร). 2547.
หยุด แสงอุทัย. หลักรัฐธรรมนูญทั่วไป. (กรุงเทพฯ : วิญญูชน), 2538.
อัครเมศวร์ ทองนวล. สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) หมวด องค์กรทางการเมือง เรื่อง 11. ความสัมพันธ์ระหว่างคณะรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี. (กรุงเทพฯ : องค์การค้าคุรุสภา), 2544.
ดูเพิ่มเติม
หน้าหลัก |
---|