คณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยการปฏิบัติตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการปกป้องฯ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

บทนำ

ภายใต้พิมพ์เขียวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เมื่อมีการรวมตัวกันและเปิดประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 2015 ก็จะก่อให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างประเทศสมาชิกในด้านต่างๆมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือความร่วมมือในด้านของแรงงานฝีมือ[1] ด้วยความต้องการแรงงานที่มีมากขึ้นส่งผลให้เกิดการย้ายถิ่นฐานของแรงงานจากประเทศหนึ่งไปสู่อีกประเทศหนึ่งมาก ปัญหาสำคัญที่ตามมาจากการโยกย้ายนี้ก็คือ ปัญหาด้านการคุ้มครองแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งจะส่งผลต่อกำลังการผลิตและคุณภาพของแรงงานได้ รวมไปถึงปัญหาการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากแรงงานและการกระทำอันไม่ยุติธรรมต่อแรงงาน ซึ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่ทุกชาติสมาชิกในอาเซียนควรจะร่วมมือกันแก้ไขเพื่อให้การพัฒนาของประชาคมอาเซียนเป็นไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน [2]

ประวัติความเป็นมา

ก่อนจะมีการก่อตั้งคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยการปฏิบัติตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการปกป้องและส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติ (ACMW) อาเซียนมีความพยายามในการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ด้วยการออกแผนปฏิบัติการหรือความตกลงร่วมกันในเรื่องต่างๆ เช่น ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยเรื่องอาชญากรรมข้ามชาติ (1997) ซึ่งมุ่งที่จะควบคุมดูแลการตรวจคนผ่านเข้าเมืองให้เป็นไปอย่างถูกต้องและป้องกันการค้ามนุษย์ แผนปฏิบัติการฮานอย (1998) ที่เน้นไปที่การป้องกันการค้าเด็กและสตรี และ ความตกลงกรุงเทพว่าด้วยเรื่องการโยกย้ายที่ผิดปกติ มุ่งที่จะให้การเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาตินั้นเป็นไปตามกฎหมายและขั้นตอนที่ใช้ยับยั้งการค้ามนุษย์ [3]

ต่อมาในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 12 ในปี ค.ศ.2007 ได้มีการออกปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและปกป้องสิทธิของแรงงานข้ามชาติขึ้น ซึ่งเนื้อหาโดยรวมของปฏิญญาฉบับคือการให้ประเทศผู้รับและประเทศผู้ส่งแรงงานนั้นส่งเสริมความสามารถและให้เกียรติแก่แรงงานข้ามชาติทั้งหลาย ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาแรงงานที่เสียใบอนุญาตทำงานไปโดยมิใช่ความผิดของตัวเองและสร้างความมั่นคงให้แก่แรงงานและครอบครัวของเขาที่อาศัยอยู่ในประเทศผู้รับ [4]

และเพื่อให้มีการดำเนินการตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและปกป้องสิทธิของแรงงานข้ามชาติ และช่วยให้การดำเนินการนั้นเป็นไปโดยสะดวก จึงได้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยการปฏิบัติตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการปกป้องและส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติ (ACMW) ขึ้น

โครงสร้างของคณะกรรมการACMW

ประกอบไปด้วยผู้แทนอาวุโสจากแต่ละประเทศสมาชิกและตัวแทนจากสำนักเลขาธิการอาเซียน โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติของแต่ละประเทศเป็นผู้ที่คอยช่วยผู้แทนอาวุโสเหล่านี้ในการดำเนินการต่างๆ ส่วนหัวหน้าคณะทำงานนั้นให้ตัวแทนที่มาจากประเทศที่เป็นประธานคณะกรรมการประจำอาเซียนหรือประเทศที่เป็นประธานอาเซียนในปีนั้นๆ และมีเลขานุการที่คอยให้ความช่วยเหลือจากสำนักเลขาธิการอาเซียน [5]

หน้าที่ของคณะกรรมการ ACMW

1. ศึกษาแนวทางในการดำเนินงานเพื่อให้วัตถุประสงค์ตามปฏิญญาสำเร็จลุล่วงไปได้

2. อำนวยความสะดวกในการแบ่งปันแนวทางปฏิบัติต่างๆเพื่อให้เป็นประโยชนต่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติ

3. ส่งเสริมความร่วมมือในทั้งในระดับภูมิภาคและทวิภาคีเพื่อให้เกิดความช่วยเหลือกันในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ

4. อำนวยความสะดวกในการแบ่งข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาต่างๆเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดทำนโยบายและโครงสร้างที่จะคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติทั้งในประเทศผู้ส่งและผู้รับ

5. ส่งเสริมกลไกการประสานงานระหว่างประเทศผู้รับและประเทศผู้ส่งให้มีการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติในเรื่องของการป้องกันการค้ามนุษย์

6. ส่งเสริมให้องค์กรระหว่างประเทศซึ่งเป็นคู่เจรจาของอาเซียนและประเทศอื่นๆเคารพหลักการและสนับสนุนพร้อมให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรการที่ประกาศใช้

7. ทำงานร่วมกับสำนักเลขาธิการอาเซียนในการจัดทำรายงานส่งให้แก่ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน

8. พัฒนาเครื่องมือต่างๆที่จะใช้ในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติ [6]

แผนการทำงานของคณะกรรมการ ACMW

1. เพิ่มระดับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติจากการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบหรือการกระทำอันไม่เป็นธรรม

2. สร้างความเข็มแข็งให้กับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติโดยการพัฒนาหลักการเกี่ยวกับสิทธิดังกล่าวในภูมิภาคอาเซียน

3. ร่วมมือกันในระดับภูมิภาคเพื่อต่อสู้กับองค์กรค้ามนุษย์

4. พัฒนาเครื่องมือในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ [7]

ที่ประชุมเสวนาอาเซียนเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ (AFML)

ในการดำเนินการตามแผนงานทั้ง 4 ข้างต้นนั้นมีหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องมากมาย ที่ประชุมเสวนาอาเซียนเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ

ที่ประชุมเสวนาอาเซียนเกี่ยวกับแรงงานข้ามแดนถูกจัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2008 โดยที่ประชุมของคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยการปฏิบัติตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการปกป้องและส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติ(ACMW) ณ ประเทศสิงคโปร์เพื่อที่จะส่งเสริมความเข้มแข็งในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติภายใต้แผนการดำเนินงานข้อที่2 ของ ACMW [8]

วัตถุประสงค์ของหน่วยงานนี้มี 3 ประการหลัก คือ

1.ติดตามการดำเนินการตามคำแนะนำที่ทางหน่วยงานมีโดยการให้สมาชิกร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์ ความท้าทาย และแนวทางการปฏิบัติที่เกิดขึ้น

2.การตรวจสอบรายละเอียดของบทบัญญัติในปฏิญญาเซบูเกี่ยวกับหน้าที่ของประเทศผู้รับและประเทศผู้ส่ง

3.การร่างข้อแนะนำที่ได้จากการหารือกันภายในหน่วยงาน [9]

โครงการหลักของหน่วยงานนี้ก็คือ Tripartite Action for the Protection and Promotion of the Rights of Migrant Workers in the ASEAN Region (ASEAN TRIANGLE project) ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งให้การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากตัวแรงงานข้ามชาตินั้นลดน้อยลงผ่านการทำให้แรงงานเหล่านั้นกลายเป็นแรงงานถูกกฎหมายและส่งเสริมความปลอดภัยควบคู่ไปกับการพัฒนาการคุ้มครองสิทธิแรงงานเหล่านั้น โดยโครงการดังกล่าวมีทั้งการสร้างความเข้มแข็ง การพัฒนาปรับปรุง และการเพิ่มขีดความสามารถของนโยบาย การปฏิบัติงานของรัฐบาล กฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงความร่วมมือจากสังคม [10]

ผลของการประชุมที่น่าสนใจ อาทิ

การประชุมเสวนาอาเซียนเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติครั้งที่ 4 ณ อินโดนีเซีย ที่ต้องการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่แรงงานข้ามชาติ และส่งเสริมให้เกิดความรู้ความเข้าใจในสิทธิของแรงงานเหล่านี้ นอกจากนี้ยังหายุทธวิธีที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้แรงงานข้ามชาติที่กลับสู่ถิ่นฐานเดิมมีความมั่นคงได้ [11]

การประชุมเสวนาอาเซียนเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติครั้งที่ 5 ณ กัมพูชา พยายามส่งเสริมให้แรงงานข้ามชาติได้รับสิทธิในที่ทำงานตามหลักสากล ส่งเสริมให้มีการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างโปร่งใส มีความรับผิดชอบ และลดค่าใช้จ่ายในการแลกเปลี่ยนแรงงาน รวมไปถึงการแบ่งปันข้อมูลและสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนในเรื่องของการเป็นแรงงานในต่างแดน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายและการทำเอกสารทางราชการต่างๆเช่น วีซ่า ใบอนุญาตทำงาน และเพิ่มศักยภาพในการตรวจสอบและรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ พร้อมกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากหลายๆภาคส่วนในเรื่องของแรงงานข้ามชาติ [12]

การประชุมเสวนาอาเซียนเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติครั้งที่ 6 ณ บรูไน ส่งเสริมการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติผ่านการรวบรวม แบ่งปัน และอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลระหว่างประเทศผู้ส่งและประเทศผู้รับ รวมทั้งการเข้าถึงระบบกฎหมายและการพิจารณาคดีของแรงงานด้วย นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีกลไกในการรับเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย [13]

การประชุมเสวนาอาเซียนเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติครั้งที่ 7 ณ เมียนมาร์ ส่งเสริมให้มีการจ้างงานอย่างดี เป็นธรรม และเหมาะสมทั้งในแง่ของค่าจ้าง การเข้าถึงงานและสภาพความเป็นอยู่ พร้อมทั้งช่วยอำนวยความสะดวกในการย้ายถิ่นฐานของแรงงานข้ามชาติไม่ว่าจะไปในการย้ายออกหรือกลับคืนสู่ถิ่นฐานเดิมพร้อมกับการเตรียมความพร้อมในการทำงานให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ [14]

การประชุมเสวนาอาเซียนเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติครั้งที่ 8 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งล่าสุดที่จัดขึ้น ณ มาเลเซีย ในเดือนตุลาคม ค.ศ.2015 ที่ประชุมได้พูดคุยกันใน 2 ประเด็นหลัก คือ การส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีและปลอดภัย และ การคุ้มครองสิทธิขั้นต่ำให้แก่แรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นการพัฒนาในสอดคล้องกับปฏิญญาเซบู [15]

บรรณานุกรม

น้ำผึ้ง ทัศนัยพิทักษ์กุล. 2014. “แรงงานข้ามชาติ CLMV : ปัญหาที่อาเซียนต้องร่วมกันแก้ไข.” http://www.itd.or.th/research-article/577-ar (accessed June 22, 2015)

FORUM-ASIA.2013. “ASEAN Committee on Migrant Workers.” http://humanrightsinasean.info/asean-committee-migrant-workers/about.html (accessed June 20,2015)

International Labour Organization. ASEAN Forum on Migrant Labour (AFML) : Background information booklet. Bangkok: ILO, 2014.

International Labour Organization (ILO), 2014 “Tripartite Action for the Protection and Promotion of the Rights of Migrant Workers in the ASEAN Region (ASEAN TRIANGLE project).” http://www.ilo.org/asia/whatwedo/projects/WCMS_193023/lang--en/index.htm (accessed June 22, 2015)

Kelegama Saman. Migrant,Remittances and Development in South Asia. India: SAGE Publications, 2011.

อ้างอิง

  1. AEC Blueprint (2003)
  2. น้ำผึ้ง ทัศนัยพิทักษ์กุล. 2014. “แรงงานข้ามชาติ CLMV : ปัญหาที่อาเซียนต้องร่วมกันแก้ไข.” http://www.itd.or.th/research-article/577-ar (accessed June 22, 2015)
  3. FORUM-ASIA.2013. “ASEAN Committee on Migrant Workers.” http://humanrightsinasean.info/asean-committee-migrant-workers/about.html (accessed June 20,2015)
  4. Kelegama Saman. Migrant,Remittances and Development in South Asia. (India: SAGE Publications, 2011.), page 316.
  5. Statement of the Establishment of the ASEAN Committee on the Implementation of the ASEAN Declaration on the Protection and Promotion of the Rights of Migrant Workers (2007)
  6. Statement of the Establishment of the ASEAN Committee on the Implementation of the ASEAN Declaration on the Protection and Promotion of the Rights of Migrant Workers (2007)
  7. ASEAN Committee on the Implementation of the ASEAN Declaration on the Protection and Promotion of the Rights of Migrant Workers (ACMW) Work Plan (2008)
  8. International Labour Organization. ASEAN Forum on Migrant Labour (AFML) : Background information booklet. (Bangkok: ILO, 2014.), page 2
  9. Ibid 8, page 3.
  10. International Labour Organization (ILO), 2014 “Tripartite Action for the Protection and Promotion of the Rights of Migrant Workers in the ASEAN Region (ASEAN TRIANGLE project).” http://www.ilo.org/asia/whatwedo/projects/WCMS_193023/lang--en/index.htm (accessed June 22, 2015)
  11. Ibid 8, page 14-17.
  12. Ibid 8, page 18-21.
  13. Ibid 8, page 23-27.
  14. RECOMMENDATIONS THE 7th ASEAN FORUM ON MIGRANT LABOUR 20-21 November 2014, Nay Pyi Taw, Myanmar. (2014).
  15. International Labour Organization (ILO), 2015 “8th ASEAN Forum on Migrant Labour National Tripartite Preparatory Meetings.” http://www.ilo.org/jakarta/whatwedo/eventsandmeetings/WCMS_407760/lang--en/index.htm (accessed Jan 12, 2016.)